ความอดทน (ต่อ)

วันที่ 26 สค. พ.ศ.2563

26-8-63-3-b.jpg

ความอดทน (ต่อ)

             

                   หลวงพ่อโชคดีที่มีคุณยายอาจารย์เป็นกัลยาณมิตร เพราะตามธรรมดาคนเราถ้ามีแต่ความเคารพอย่างเดียว เมื่องานมันมากขึ้น ๆเพดานความอดทน มันยกตามขึ้นไปไม่ได้ มันชักเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไม่กระตือรือร้น เร่งก็ไม่ขึ้น คุณยายอาจารย์ท่านรู้วาระจิตของคน ท่านรู้ว่า
ลูกศิษย์คนนี้ชักไม่ไหว ชักล้าเสียแล้ว ท่านเตือนเลยเตือนให้เราเกิดความกตัญญูกตเวทีขึ้นมา แต่ท่านไม่พูดตรง ๆ ใช้วิธีพูดอ้อม ๆ เอาเรื่อง
เก่า ๆ มาเล่าใหม่ พอได้จังหวะท่านวกปั๊บเลย

 

              "โอ๊ย... หลวงพ่อทัตตะน่ะเหรอ กว่าจะเอาตัวมาได้ยายเหนื่อยแทบตาย" ท่านพูดแค่นี้ใจเรากระตุกวูบเลย นึกถึงวันเก่าๆที่ท่านทุ่มเทให้กับลูกศิษย์ เวลาที่ท่านทุ่มเทให้กับหลวงพ่อธัมมชโยเรื่องอื่นท่านไม่เอาเลย  เวลานั้นถ้าใครเอาโลกทั้งโลกมาตั้งต่อหน้า แล้วบอกขอแลกเอาหลวงพ่อธัมมชโยไป รู้ได้เลยว่าท่านจะเขี่ยสมบัติทั้งโลกทิ้ง มาถึงคราวหลวงพ่อเองก็เหมือนกัน รู้ได้เลยว่าทั้งหลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายกสมบัติทั้งโลกให้ก็ไม่เอา จะเอาทัตตะชีโว ได้รู้ได้เห็นน้ำใจท่านมานาน ซํ้าเจอคำพูดของคุณยายประโยคนี้เข้าอีก ที่เรื่อยๆ เฉื่อยๆ มันเฉื่อยไม่ได้แล้ว

 

               เพราะนึกออกเป็นฉาก ๆ ว่าท่านทุ่มเทให้เรามาตั้งเท่าไหร่ ทั้งมารหยาบมารละเอียดที่ตามมาผจญหลวงพ่อไม่รู้กี่ฝูง ๆ ท่านปัดกระเด็นหมด สิ่งเหล่านี้เองถ้าพวกท่านสังเกตจะเห็นว่าตลอดเวลาหลวงพ่อไม่ได้หยุดนิ่งเลย มีแรงทำงานหยาบได้ก็ทำ ถ้าทำงานหยาบไม่ไหวก็ขอพักทำภาวนาสักพัก พอภาวนาจนใจละเอียดเข้าแล้ว ก็ลุกมาลุยงานต่อ

 

               ที่พูดมานี่ไม่ใช่มายกตัวเองว่าวิเศษ แต่กำลังจะบอกว่าคนเรานั้นเมื่อมันยังมีกิเลสใจมันก็มีขึ้นมีลง เมื่อมีขึ้นมีลงก็ต้องมีหลักยึดว่า
เมื่อขึ้นไปแล้วก็ต้องพยายามไม่ให้มันลง ถ้ามันขืนลงมาจนได้ก็ต้องหาทางยึดให้มันหยุดแค่นั้น ไม่ให้ตกต่ำไปกว่านั้นอีก แล้วหาทางเหนี่ยวนำให้มันก้าวไปข้างหน้าต่อไปอีก แต่เนื่องจากไม่สามารถหาวัตถุมาเหนี่ยวนำได้ จึงต้องอาศัยคุณธรรม คุณธรรมในตัวเองเท่าที่พบก็มีเป็นลำตับ ๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว

 

               ถ้าไปดูในมงคล ๓๘ ท่านก็จะได้เห็นอย่างที่หลวงพ่อเห็น
คารโว จ    มีความเคารพ
นิวาโต จ    มีความถ่อมตน
สนฺตุฏฐี จ    มีความสันโดษ
กตญฺญุตา    มีความกตัญญู
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ    ฟังธรรมตามกาล
เอตมฺมํคลมุตฺตมํ    ทั้งหลายนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง


              มีความเคารพแล้วก็มีความกตัญญู ๒ ตัวนี้เมื่อก่อนหลวงพ่อมองไม่ออก แต่เมื่อมาเจอเข้ากับตัวเองแล้วมันก็มองออก แต่กลัวว่าพวก
เราจะมองกันไม่ออกเลยต้องยกขึ้นมา เผื่อว่าในเวลาภายภาคหน้าขณะที่พวกเรากำสังบำเพ็ญบารมีอยู่ดี ๆ เกิดมีการกระทบกระทั่งกันขึ้น จะได้อด ๆ ทนๆ กันไป อย่าปล่อยให้มีความท้อทอยเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของนักปฎิบัติธรรมอย่างพวกเรานี้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ต้องให้ถึงขนาดมีการยั่วเย้าเย้ายวนอย่างคนที่อยู่ในทางโลก แค่ติดสุขอยากให้มีความสะดวกสบายให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็แย่แล้ว

 

              คนเราพอติดสุขติดสบายเข้าไปแล้วมันมักมีความรู้สึกว่า ความสุขความสบายที่ได้นี้ยังน้อยกว่าที่คนอื่นได้  มันน่าจะได้มากกว่านี้
แต่พอลำบากเข้าสักหน่อยกลับมีความรู้สึกว่า เราลำบากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกความอดทนของเราให้ดี และวิธีฝึกก็ไม่มีอะไรดีเท่าการนั่งสมาธิเมื่อตอนเริ่มสร้างวัดใหม่ๆพอคุณยายสังเกตเห็นว่าพวกเราชักเหนื่อยจัดชักจะมีความเห็นไม่ตรงกันขึ้นมา ท่านจะไล่ให้ไปนั่งสมาธิกันทั้งกลุ่ม จะมานั่งประชุมออกความเห็นอะไรกันไม่ได้ทั้งนั้น พอออกจากสมาธิ เออ...ไอ้ที่ขุ่นๆ ขวางๆ กัน ไม่รู้มันหายไปไหนหมด ออมชอมกันได้ คิดอยากจะสร้างวัดให้เสร็จแล้วก็ให้ดีที่สุดเท่านั้น

 

             เดี๋ยวนี้หลวงพ่อธัมมชโยก็ยังนำวิธีของคุณยายมาใช้กับพวกเราจะเห็นเสมอว่าหลวงพ่อเองมักเคี่ยวเข็ญให้ท่านหมั่นนั่งสมาธิกัน จริง ๆ แล้วเคยตั้งเป็นกติกากันในวัดเลยว่า ภาคเช้าเป็นเวลาของการนั่งสมาธิ ฉันเพลแล้วภาคบ่ายถึงค่ำ ใครมีหน้าที่อะไร มีงานอะไร ค่อยไปดูไปทำกันหลวงพ่ออยากให้ทุกคนในวัดของเรารักษาธรรมเนียมนี้ไว้ให้ดีๆ

 

              พอนั่งสมาธิจนใจมันยกขึ้นมาพอสมควรแล้ว ต้องรีบยกระดับความเคารพให้สูงขึ้นอีก ไตร่ตรองคุณงามความดีของท่านให้ถ้วนถี่ คิดให้เป็นด้วย หลวงพ่อมีวิธีคิดอย่างไรจึงอยู่สร้างบารมี และอดทนฝึกคนมาได้จนถึงทุกวันนี้

 

             หลวงพ่อคิดว่า พระพุทธศาสนานี่กว่าจะมาถึงเรา เขาเหนื่อยกันมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว เปรียบเหมือนเรือใหญ่ที่พายรับคนจะจมน้ำ ถ้าคนที่อยู่บนเรือมาก่อนคิดว่า โฮ้ยเหนื่อยแล้วโว้ย ไอ้เรือลำนี้ หยุดเสียทีเถอะ ไม่พายแล้ว ถ้าเรือหยุดเสียก่อนที่จะมาถึงเรา เรามิจมนํ้าตายไปแล้ว
หรือ ถ้าก่อนที่หลวงพ่อจะเข้าวัดคุณยายอาจารย์มีความรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ฉันแก่แล้วไม่สอนใครละ หลวงพ่อก็เป็นลูกหมาตกนํ้าตายไปแล้ว

 

              แต่นี่ คุณยายท่านเคารพครูบาอาจารย์ของท่าน คือ หลวงพ่อวัดปากนํ้าฯ ตั้งใจแทนคุณเต็มที่เราจึงมีวันนี้ หลวงพ่อวัดปากนํ้าฯ ท่านสั่งให้คุณยายเผยแผ่วิชชาธรรมกายเพื่อช่วยคนทั้งโลก ท่านก็ทำตามชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ถ่ายทอดวิชชาให้หลวงพ่อธัมมชโย ให้หลวงพ่อเท่านั้นยังไม่พอ ตามมาช่วยสร้างวัดพระธรรมกายให้อีก หวังให้เป็นที่สร้างบุญสร้างบารมีด้วยการเผยแผ่พระพุทธคาสนา ให้มนุษย์มีความสุขกันทั้งโลก นี่เป็นเพราะท่านคิดแทนคุณท่านจึงสร้างบุญสร้างบารมีได้มากเป็นพิเศษ

 

             คิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องมานั่งตรองแล้วว่า หลวงพ่อธัมมชโย คุณยายอาจารย์ มีคุณธรรมอะไรเราจึงเคารพท่าน มันเกินที่จะเอามาตรอง เพราะมันเป็นสันดานเสียแล้ว เห็นอะไรที่มันเป็นความดี เป็นประโยชน์ แก่วัด แก่พระพุทธศาสนา รีบทำเลยเพราะรู้ว่าจะถูกใจครูบาอาจารย์

 

             พวกเราทำงานอะไรเหนื่อยหน่อยก็อย่าบ่นเลย คุณยายท่านแก่แล้ว ท่านยังคิดช่วยแก้ทุกข์ชาวบ้านได้ทุกวี่ทุกวัน  นั่งรับแขกสอนธรรมะช่วยพูดปลอบใจคน ชี้ทางถูกให้คนนี่เมื่อยปากเมื่อยตัวไม่หยอกนะ สมองก็ต้องหาคำพูดดี ๆ มาอธิบายให้เขาเข้าใจ คนต่างถิ่นต่างฐาน ร้อยพ่อพันแม่ จะให้ถูกใจพอใจทุกคนนี่ยากมาก เคารพท่าน จะแทนคุณท่านก็ต้องทำภาวนาให้มาก ฝึกปฏิบัติ เรียนปริยัติให้แตกฉาน สร้างคุณธรรม ความอดทนให้ฝังเป็นสันดาน รับรองถูกใจคุณยายถูกใจหลวงพ่อแน่ อยู่เรือลำเดียวกันได้สบายๆ

 

             นี่คือวิธีคิดเพื่อยกระดับเพดานความอดทนของหลวงพ่อให้สูงขึ้นมาเป็นลำดับ ส่วนต่อไปจะมีวิธียกยังไงยังตอบไม่ได้ เรื่องที่หลวงพ่อต้องอดทนมันดาหน้ากันมาไม่ซํ้าแบบหรอก แต่รู้อยู่บัดนี้ว่า ตัวของข้าพเจ้าได้ทำตามพระโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ให้ไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ ข้อแรกที่ว่า "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา  :  ความอดทนคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง" แล้ว

 

              ส่วนที่ ๒ "นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา  :  ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม" หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องไปนิพพานให้ได้ เพราะเป็นเป้าหมายอันสูงสุดทุกอย่างนั้น เอาเถอะ ตอนนี้ยังไปไม่ได้ ยังนั่งอยู่กับพวกเราตรงนี้ แต่วันหนึ่งต้องไปให้ได้ เรื่องเปลี่ยนใจนั้นไม่ต้องพูดกัน

 

              สำหรับข้อ ๓ "นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สมโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต  :  บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะ" จำได้ว่าตั้งแต่บวชมานี่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาหมด ก่อนหน้านี้ฆ่าสัดว์มานักต่อนัก เพราะเรียนเกษตรทางสัตวบาล จบแล้วยังมีอาชีพขายยาฆ่าแมลงอีก แต่เมื่อมาบวชแล้วก็เลิกเด็ดขาด แม้ถูกปองร้ายหมายชีวิต ก็ไม่คิดย้อนไปทำร้ายใคร หลวงพ่อนี่ตอนยังไม่บวชไม่มีค่าหัวนะ แต่พอบวชแล้วมีค่าหัว ทางฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหารเขามากราบแจ้งให้ทราบ

"ท่าน ท่านมีค่าหัวแล้วนะ"

"อ้าว เหรอมีก็มี"

"ท่านอย่าประมาทนะ"

"ก็ไม่ประมาทหรอก แต่ว่าจะให้ไปซื้อเกราะมาใส่หรือยังไง"

"ถึงยังงั้นท่านก็ต้องระวัง รถท่านนี่ ท่านไม่ควรจะนั่งซํ้าคันนะครับ" แล้วกันจะให้หลวงพ่อไปเหมารถมานั่งหรือไง เขาก็แนะอย่างโน้นอย่างนี้ด้วยความหวังดี ก็ขอบใจเขา แล้วตอบเขาไปว่า

"ผู้การฯ ถ้าอาตมาปอดแหกถึงขนาดนั้น ลูกศิษย์วัดเขาจะนึกยังไง เฮอะ...หลวงพ่อปอดแหกยังงี้ เรากลับไปนอนบ้านดีกว่า ขืนอยู่เดี๋ยวถูกลูกหลงตายก่อน อีกอย่างชีวิตหลวงพ่อนี้ยกให้พระพุทธเจ้าไปแล้ว เป็นตายยังไงก็เพื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้เสียดมเสียดายอะไรหรอก"

เขาส่ายหน้าแล้วพูดอะไรต่อรู้ไหม...เขาพูดว่า

"ผมเห็นคนดื้อมาก็มากแล้ว พอแก้ได้ แต่พระดื้อนี่ไม่รู้จะทำยังไง..."

 

               ดูซิเขามาแหย่เรา แต่แหย่เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อไม่สะดุ้งสะเทือนหรอก ก็ตั้งหน้าปรับปรุงพื้นที่สร้างธุดงสถานเรื่อยไป อนนี้ชาวบ้านที่อยู่ในเขดพื้นที่ของวัด ก็ยอมรื้อบ้านออกไปหมดแล้ว พวกเดินขบวนจะมาเผาวัดก็เงียบไป แต่วันข้างหน้าจะมีอุปสรรคหนักหนายังไง ยังไม่รู้ รู้อย่างเดียวว่าเมื่อตั้งใจจะทำความดีแล้ว ดราบใดที่ยังไม่ถึงเบ้า จะไม่ยอมเลิกเด็ดขาด ที่ตั้งใจมั่นคงอย่างนี้เพราะอย่างน้อยก็ไต้เห็นผลของความตั้งใจจริงมาแล้ว ดอนนั้นถ้าใจไม่มั่นคงว่าจะแทนคุณหลวงพ่อธัมมชโย ปฏิเสธ

 

              ท่านเรื่องสร้างธุดงคสถาน อ้างว่าเหนื่อยมามากขออยู่เงียบ ๆ หรือขอไปอยู่ที่วัดที่บ้านเกิดเมืองกาญจน์ ถ้าคิดอย่างนี้ หรือตอบท่านไปอย่างนี้เมื่อครั้งนั้น โดยไม่คิดถึงเรื่องบุญคุณที่ท่านปั้นหลวงพ่อขึ้นมาละก็ พวกเราที่นั่งกันอยู่ที่นี่คงไม่มีโอกาสได้มาเจอกัน ใครจะไปอยู่ขุมไหน ชั้นไหนก็ไม่รู้กันละ

 

             หลวงพ่อทบทวนดูชีวิตของตัวเองมาอย่างนี้ทุกปี ลูกของหลวงพ่อทุกคนใครยังไม่เคยทำ ไปทำเสียนะ ผลของของความอดทนที่พวก
เรารักษากันมาตลอด ๒๐ ปี ของการสร้างวัดพระธรรมกายน่ะ เป็นบุญเป็นบารมีมากจนประมาณไม่ได้เชียวละ วัดทั้งหลายในประเทศไทยที่เขา
สร้างกันมา ๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปี ๒๐๐-๓๐๐ ปีก็มี วัดที่ว่าใหญ่ ๆ ปรากฏว่าในพรรษาหนื่ง ๆ เขามีพระอย่างมากก็ ๔๐๐ ไม่เกิน ๕๐๐ รูป อันดับหนึ่ง
อันดับสองที่ชิงกันอยู่ก็มีวัดมหาธาตุฯ กับวัดปากนํ้าภาษีเจริญ บางปีวัดปากน้ำฯ ก็มีพระมากที่สุดในประเทศไทย บางปีก็เป็นวัดมหาธาตุฯ ส่วน
วัดพระธรรมกายของเราเพิ่งสร้างมาได้ ๒๐ ปี ก็มีพระอยู่จำพรรษามากเป็นอันดับที่ ๓ ของประเทศแล้ว ถือว่าไม่ใช่ธรรมดานะนี่ ได้เห็นหน้าพวกเราตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมกันในช่วงเข้าพรรษานี้ทั้งพระทั้งเณรก็ ๔๓๓ รูป ตอนช่วงอบรมธรรมทายาท เดือนเมษายนอีกเกือบ ๑,๐๐๐ รูป คิดเป็นตัวเลขแล้วมันครึ้มใจ ดีเหมือนกัน

 

             มีพระมาก มีพื้นที่มาก จัดให้ดี ๆ ก็มีประชาชนอยากมาปฏิบัติธรรม ตอนนี้เข้าใจว่าวัดเราจะเป็นวัดที่มีคนฟังเทศน์มาปฏิบัติธรรมมากที่สุดในประเทศไทยคือวันอาทิตย์ธรรมดาก็ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คน วันอาทิตย์ต้นเดือนนี่ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ คน เคยมีบางเดือนถึง ๑๐,๐๐๐ คน ส่วนงานใหญ่ คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และวันทอดกฐินนั้น อย่างน้อยก็ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คน เมื่อธุดงค์ราชบูชา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ เกือบ ๑
แสนคน เฉพาะพระที่มาร่วมอยู่ธุดงค์ ๗ วัน ก็เกือบหมื่นรูปเข้าไปแล้ว นี่ขนาดยังสร้างธุดงคสถาน ไม่เสร็จตามโครงการนะ

 

              ผลของความอดทนผลแห่งความมีขันติของเราโดยอาคัยความเคารพครูบาอาจารย์ด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วย ทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญ สร้างบารมีได้เต็มที่อย่างนี้ นับเป็นวาสนาใหญ่ของเรา นึกอย่างนี้ก็ชื่นใจ ชื่นใจแล้วก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าให้ได้รับรู้กันไว้ จะได้มีกำลังใจสร้างขันติบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ต่อไปในวันข้างหน้า พวกท่านจะมีโอกาสสร้างบารมีได้ง่ายกว่าหลวงพ่อ เพราะได้รู้ขั้นตอนเหลี่ยมคูของพวกมารผลาญความดีมาบ้างแล้วสมัยที่หลวงพ่ออายุเท่าพวกท่านขณะนี้ไม่เคยมีใครมาอธิบายให้ฟัง
 

             ทุกอย่างต้องคิดค้น ตัดสินถูกผิด ทำไม่ทำเอาเอง กว่าจะได้บวชอายุก็ปาเข้าไปตั้ง ๓๑ ปี กว่าจะอธิบายถ่ายทอดเหตุผลให้พวกท่านได้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ ก็ลุยมาโชกจนอายุขึ้นเลข ๕ พวกท่านตอนนี้อายุเท่าไหร่ สามเณรน้อยนั่นอายุเท่าไหร่...๑๒ ปี

 

            อายุ ๑๒ ปี ก็ได้ยินเรื่องอย่างนี้แล้ว โชคดีกว่าหลวงพ่อเยอะ หลวงพ่อเพิ่งมาคิดเหตุผลได้เมื่ออายุ ๕๐ ปีบริบูรณ์ ท่านสมบุญล่ะอายุเท่าไหร่แล้ว... ๓๐ ปี ...โอ้โฮ อายุ ๓๐ นี่ได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้แล้ว นับว่าเป็นบุญของท่าน หลวงพ่อเมื่อตอนอายุ ๓๐ ก็ไม่เคยมีใครมาเล่าให้ฟังเรื่องแบบนี้ ก็เรื่องมันยังไม่เกิดยังไม่เท่านั้นนะ อายุ ๓๐ ท่านสมบุญได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว กำลังวังชาก็ยังดี มีโอกาสลุยงานพระศาสนาทำความเจริญร่มเย็นให้ชาวโลกได้อีกนาน รักษาความมีโชคเอาไว้ให้ดี แล้วตั้งหน้าประพฤติปฎิบัติธรรมของท่านเรื่อยไป

" ท่านจะต้องรู้ต่อไปว่า... ควร
ประพฤติปฎิบัติตนต่อไปอย่างไร
ก่อนอื่นท่านต้องตอบตัวเอง
ให้ได้ก่อนว่า... ที่มาบวชครั้งนี้
ตั้งใจจะมาฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยตัวเอง
ให้มันดียิ่งขึ้นๆ ไป ทำตามอย่างที่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำไว้ "

 

 

 

 

จากหนังสือ มองอย่างนักคิด ทำอย่างนักสู้

คุณครูไม่เล็ก

โหลด หนังสือ ได้ที่ http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=885

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00095285177230835 Mins