PERFECTIONIST  สำเร็จอย่างไรให้โลกจำ

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2563

15-8-----4br.jpg

PERFECTIONIST  สำเร็จอย่างไรให้โลกจำ

ขึ้นชื่อว่า คำว่า "สมบูรณ์เเบบ"
ใครๆ ก็อยากให้เกิดขึ้นในชีวิต
บางท่านถึงขั้นเสพติดความสมบูรณ์เเบบในทุกๆ เรื่อง
จนบางครั้งมองเเต่ผล จนอาจจะมองข้าม
วิธีการเเละคนรอบข้างไปเลยก็มี

 

โรคเสพติดความสมบูรณ์เเบบ

                  ความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เป็นสิ่งที่ดีแน่นอน การทำอะไรให้ไม่มีข้อบกพร่อง นั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้เกินเลยไป จนเกิดผลเสียต่อด้านอื่นๆ

                  ความสมบูรณ์แบบนั้นเกิดเกินเลยไปได้โดย เมื่อดูจากจริตของคนซึ่งมีอยู่ “6 จริต” ด้วยกัน จัดได้เป็น 3 กลุ่มหลัก แต่เราจะพิจารณาใน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ “สัทธาจริต” คนที่เชื่อง่าย กับ “ราคจริต” คนติดรักสวยรักงาม ชอบความพิถีพิถัน ความประณีต กลุ่มที่ 2 คือ “โทสจริต” คนที่ใจเร็ว ใจร้อน กับ “พุทธิจริต” คนที่ชอบเหตุผล

                  ประเทศญี่ปุ่นโดยประชาชาติอัธยาศัยค่อนไปทางเนี้ยบหรือเรียบร้อยดูดีทุกกระเบียดประณีตพิถีพิถันไม่มีที่ติ ยกตัวอย่างบรรจุภัณฑ์สินค้าญี่ปุ่นขนมแต่ละชิ้นถูกบรรจุอยู่ในกล่อง พอเปิดกล่องออกมา แต่ละชิ้นยังถูกบรรจุอยู่ในห่ออีกชั้น ห่อแล้วห่ออีกไม่รู้กี่ชั้น อาหารของเขาไม่ได้กินด้วยปากที่รสชาติเพียงอย่างเดียวแต่เขากินด้วยตาด้วย

                  อย่างหัวผักกาดขาว ถ้าผิวขาวเนียนจะขายได้ราคาดี สมมุติว่าขายราคา 100 บาท เชื่อหรือไม่ว่าลูกที่ผิวมีจุดดำๆ หรือเป็นตำหนิอะไรขึ้นมาบ้างสัก 2-3 จุด จากราคา 100 บาท จะลดลงเหลือ 50 บาท ทันที

                  ถ้าเป็นเราเจอจุดที่มีตำหนิก็เอามีดฝานออกก็พอแล้ว แต่คนญี่ปุ่นไม่เป็นอย่างนั้น พอสินค้ามีตำหนิราคาตกทันที ยิ่งถ้ามีตำหนิ ดำๆ เพิ่มมาสัก 7-8 จุด หรือยิ่งถ้าหัวผักกาดขาวรูปทรงออกโค้งงอไม่ตรงยาวด้วยแล้ว ขายไม่ได้เลย ไม่มีคนซื้อ

                  พอให้ความสำคัญกับความสวยงามของสินค้ามาก ผลที่ตามมาคือ บรรจุภัณฑ์สินค้าในประเทศญี่ปุ่นแต่ละชิ้นต้องเนี้ยบหมด ทำให้สินค้าญี่ปุ่นตีตลาดโลกได้เพราะ Package หรือบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม

                   สมัยนี้บรรจุภัณฑ์สำคัญมากเพราะเป็นความประทับใจแรก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ ที่ประเทศญี่ปุ่นพอเราไปซื้อของ เขามักจะห่อของขวัญให้เลย อย่างถ้าไปซื้อหนังสือ เขาก็จะมีกระดาษห่อให้เลยทุกเล่ม

                   แต่ในประเทศไทยถ้าเราจะซื้อของขวัญเราต้องบอกพนักงานในห้างสรรพสินค้าให้เขาห่อให้ แล้วในประเทศไทยจะห่อของขวัญชิ้นหนึ่งต้องใช้สกอตซ์เทปปิดเป็น 10 ชิ้น ตอนแกะห่อต้องมาไล่แกะสกอตซ์เทปทีละชิ้น แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นเขาใช้วิธีห่อของขวัญเหมือนกันทั้งประเทศ คือใช้สกอตซ์เทปเพียงชิ้นเดียวในตำแหน่งสุดท้าย พอตอนแกะห่อก็แกะสกอตช์เทปออกชิ้นเดียวเปิดได้หมด ง่ายมาก แล้วก็สามารถนำกระดาษห่อกลับไปใช้ต่อได้อีก

                    พอมีคนคิดค้นวิธีห่อของขวัญแบบนี้ออกมา แล้วเห็นกันว่าดีสะดวก เขาก็จะเรียนรู้ต่อๆ กัน แล้วทำตามกันทั้งประเทศ ไม่ว่าร้านเล็กร้านใหญ่ ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งทำเหมือนกันหมด ใช้สกอตซ์เทปชิ้นเดียวจบ อะไรที่ทำแล้วดี เขาก็จะทำแล้วขยายผลไป นี่คือลักษณะ Perfectionist อย่างหนึ่ง อาตมภาพยังนึกว่าทำไมประเทศไทยเราไม่ทำบ้าง

                    คนญี่ปุ่นลงรายละเอียดต่างๆ ได้ดีมาก ซึ่งเป็นนิสัยจุดเด่นของประชาชาติเลยทีเดียว เราก็ต้องกลับมาสังเกตตนเองว่า งานที่เราทำคืองานอะไร ถ้าทำให้เนี้ยบ ละเอียดลออ ผลงานก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าแลกกับบางอย่างที่มากเกินไป เราก็ต้องชั่งน้ำหนักด้วยเช่น เราอยากให้งานออกมาสมบูรณ์แบบจึงทุ่มเวลาทำงานจนต้องเข้านอนตีสามทุกคืนอย่างนี้ก็ไม่ไหว งานอาจจะออกมาดีแต่ว่าผ่านไปเจ็ดวันร่างกายทรุด ป่วยเข้าโรงพยาบาลก็ไม่คุ้มกัน

                    ต้องยอมว่าชีวิตจริงเราต้องวิ่งมาราธอนทุกวัน ไม่ได้วิ่งแค่วันละ 2 ชั่วโมงแล้วนอน เพราะฉะนั้น เราต้องรักษาสุขภาพให้ได้ในระยะยาว อะไรที่ต้องแลกกับเวลา หรือแลกกับสุขภาพมากเกินไป เราก็ต้องปรับให้พอเหมาะพอสม

 

สภาพอารมณ์ของคน  รักความสมบูรณ์แบบ

                  ถ้าพูดถึงสภาพอารมณ์ของคนที่รักความสมบูรณ์เเบบ คนที่เป็น Perfectionist หรือชอบความสมบูรณ์เเบบก็มีหลายประเภทนะ ประเภทหนึ่งเขาเรียกว่า Adaptive perfectionists แปลว่า คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบที่ปรับตัวได้ ยืดหยุ่นได้ด้วย

                 มีบางคนเป็น Perfectionist แบบ Maladaptive perfectionism คือสมบูรณ์แบบชนิด ที่ไม่มีการปรับตัว ยืดหยุ่นไม่ได้ คนที่อยู่ใกล้ก็มักจะอึดอัด ยกตัวอย่างหนุ่มสาวที่ต้องแยกทางกันไป เพียงเพราะฝ่ายหญิงเป็นผู้บริหารฝีมือดี เฉียบเนี้ยบ ทุกอย่างจนผู้ชายที่อยู่ด้วยรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า สุดท้ายก็ต้องจากลากันไป แล้วไปชอบพอกับหญิงคนใหม่ที่เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง

                  ส่วนฝ่ายหญิงที่ถูกทิ้งไปอาจจะรู้สึกว่าตนเองดีขนาดนี้ มีความรู้ความสามารถ หน้าตาก็สวยงาม ดีกว่าเขาทุกอย่าง แล้วทำไมผู้ชายถึงทิ้งตนเองไปชอบพอคนอื่นซึ่งดูอย่างไรก็สู้เราไม่ได้ ผู้ชายให้เหตุผลว่าเธอสมบูรณ์แบบเกินไป อย่างนี้ก็มี เพราะฉะนั้น มีความสมบูรณ์แบบดีอยู่แล้ว แต่ขอให้ยืดหยุ่นได้


รับมือกับบุคคลนิยม  ความสมบูรณ์แบบ

                   สตีฟ จอบส์ เป็น Perfectionism ที่ก้ำกึ่งระหว่าง Adaptive กับ Maladaptive คือ ปรับตัวได้และไม่ปรับตัว ซึ่งเขาตั้งมาตรฐานไว้สูง แล้วเรียกร้องทุกคนให้เข้ามาสู่มาตรฐานนี้ ในช่วงแรกๆ นั้นเกิดปัญหามากขนาดทำให้สุดท้าย สตีฟ จอบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตนเองสร้างขึ้น

                    สตีฟ จอบส์ คิดค้นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แล้วตั้งบริษัทแอปเปิ้ลขึ้นมา  เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุเพียง 20 กว่าปี มีทรัพย์สินประมาณหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทุกๆ ปี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

                   เขารู้ว่าตนเองยังบริหารงานไม่เก่ง มีความคิดสร้างสรรค์แต่ฝีมือในการบริหารปกครองพนักงาน
เป็นพันๆ คนนั้นถือว่าประสบการณ์ยังน้อย เขาจึงพยายามหาคนมาช่วยบริหารบริษัทโดยการไปชวน CEO ของบริษัทเป็บซี่ ซึ่งใหญ่กว่าบริษัทแอปเปิ้ลในตอนนั้น

                    โดย สตีฟ จอบส์ ใช้คำชวนว่า “คุณจะนั่งขายน้ำดำไปตลอดชีวิต หรือคุณจะมาเปลี่ยนโลกกับผม” คำพูดนี้โดนใจ CEO เป็บซี่มาก เขาจึงลาออกมาเป็นผู้บริหารให้แอปเปิ้ลในที่สุด

                   หนึ่งปีผ่านไป CEO คนใหม่จากเป็บซี่ประชุมกรรมการบริษัท ลงมติไล่ สตีฟ จอบส์ ออกจากบริษัท เพราะเขาทำความปั่นป่วนให้บริษัทมากเกินไป

                   เนื่องจาก สตีฟ จอบส์ ค่อนข้างเชื่อมั่นในตนเองมาก จนเรียกได้ว่าไม่ให้เกียรติผู้อื่นเท่าที่ควร พฤติกรรมเขาค่อนข้างแข็งกร้าวจน CEO คนใหม่ทนไม่ไหวด้วยความที่เขาเป็นผู้ใหญ่กว่า และเคยเป็น CEO ของเป็บซี่มาก่อน

                    คนอื่นให้ความเชื่อถือ สตีฟ จอบส์ เพราะเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาก็จริง แต่พอบริษัทเติบโตขึ้น มีทุนทรัพย์มากขึ้น สตีฟ จอบส์ ไม่ได้ถือหุ้นเกิน 50% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท CEO และคณะกรรมการบริษัทจึงสามารถลงมติปลด สตีฟ จอบส์ ออกได้สำเร็จ เขาอกหักเพราะถูกผู้บริหารที่ตนเองดึงมาร่วมงานในบริษัทที่สร้างมาเองกับมือไล่ออกจากบริษัท

                     แต่หลังจากนั้นไม่นาน สตีฟ จอบส์ ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ แล้วได้ไปร่วมงานกับมูลนิธิการกุศลต่างๆ บ้าง 10 ปีผ่านไป จากเดิมที่เขาเป็นคนค่อนข้างหนักไปทาง Maladaptive perfectionism คือสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีการปรับตัว ก็เริ่มได้บทเรียนครั้งใหญ่ในชีวิต เขาเริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเพราะมีโอกาสได้ออกไปทำงานเพื่อสังคม ได้ ไปเล่นกับเด็กๆ ไปช่วยเหลือคนลำบากยากจนและได้รู้จักชีวิตมากขึ้น

                     10 ปีผ่านไป แอปเปิ้ลกำลังจะเจ๊ง เพราะขาดความคิดสร้างสรรค์ที่เดิมมาจาก สตีฟ จอบส์ พอเขาไม่อยู่แอปเปิ้ลก็ได้แต่นั่งกินบุญเก่า ไม่นานบริษัทก็ค่อยๆ ขาดความก้าวหน้าและใกล้จะล้มละลาย สุดท้ายผู้บริหารต้องกลับไปเชิญ สตีฟ จอบส์ ให้มากู้วิกฤตบริษัท

                    พอเขาได้กลับเข้ามา ก็ยังคงมีความเป็น Perfectionism อยู่ คือทำทุกอย่างเนี้ยบแต่มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม รู้จักถนอมน้ำใจคนอื่นมากขึ้น

                     ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของแอปเปิ้ลต้องเนี้ยบทุกรายละเอียด โดยเขาออกแบบ iPhone ขึ้นมาด้วยความเนี้ยบและสวยหรูทุกรายละเอียด เขาบอกว่าไม่ใช่ขายคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว แต่ขายดีไซน์ ให้เหมือนกับเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อนเราคิดไม่ถึงเลย แต่ สตีฟ จอบส์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีกลายเป็นสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญกับดีไซน์ จนเป็นเทรนด์ไปทั้งโลก

                     แอปเปิ้ลไม่ผลิต iPhone เอง แต่จ้างที่อื่นผลิตทั้งหมด โดยตั้งมาตรฐานผลิตที่สูงมาก เช่น เคสต้องเป็นโลหะเท่านั้น เป็นต้น บริษัทผู้ผลิตที่รับงานไปต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรให้ทุกรายละเอียดออกมาดีที่สุด และผลิตสินค้าให้ ได้มาตรฐานตรงตามที่เขากำหนด

                      ผลสุดท้าย iPhone โด่งดังไปทั่วโลก ใครได้ใช้ก็เกิดความรู้สึกภูมิใจ แล้วผลิตภัณฑ์ของเขาก็ทนทานจริงๆ ถ้าเทียบกับสินค้าของยี่ห้ออื่นในยุคนั้น iPhone ราคาแพงกว่า แต่สวยงามกว่าทนทานกว่าประสิทธิภาพการใช้งานก็ดีกว่า

                      สตีฟ จอบส์ เป็น Perfectionism จากที่ไม่ปรับตัวเลย กลายเป็นปรับตัวน้อยๆ จนกลายเป็นคนที่ปรับตัวมากขึ้นได้ แล้วนำจุดแข็งของตนเองขยายไปสู่ความสำเร็จของบริษัทได้ในที่สุด

                     สมมุติว่าถ้าเรามีโอกาสได้ทำงานกับคนแบบ สตีฟ จอบส์ เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร เราควรคิดทางบวกว่าเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้พัฒนาตนเอง ถ้าอยู่กับหัวหน้าที่มีมาตรฐานสูง เราก็ต้องพยายามถีบตนเองขึ้นไป ซึ่งจะเป็นจังหวะที่เราสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างดี แล้วให้เรามองวิกฤตเป็นโอกาส

                     ข้อดีของคนที่เป็น Perfectionism คือกล้าเปลี่ยนแปลงคนทั่วไปอาจจะประนีประนอมไปเรื่อยๆ อาจจะเพราะเกรงจะกระทบน้ำใจคนอื่น แต่ สตีฟ จอบส์ ใช้มาตรฐานที่สูงของตนเองเป็นที่ตั้ง ถ้าใครเข้าสู่มาตรฐานของเขาไม่ได้ก็ไม่ยอมให้ผ่าน กล้าดุ กล้าปรับ กล้าเปลี่ยน ผลคือเขาสามารถเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทจนนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

                      ตอนที่ สตีฟ จอบส์ เสียชีวิต หุ้นของบริษัทแอปเปิ้ลมีมูลค่าสูงประมาณ 500,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็มากกว่าเงินที่คนไทย 60 กว่าล้านคนหาได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเขาใช้เวลาในการกอบกู้บริษัทจากที่กำลังจะล้มละลายเพียง 10-15 ปี ก็กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นสูงที่สุดในโลก

                      ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ว่าเงินที่เขาทำกำไรได้นั้นมากแค่ไหน ให้นำเงินแบงก์พันของไทยมาใส่ท้ายรถสิบล้อให้เต็ม จะต้องใช้รถสิบล้อขนประมาณ 1,000 กว่าคัน นั่นคือเงินที่เขาทำได้ในระยะเวลา 10 กว่าปี ด้วยความเป็น Perfectionism ของเขาแล้วปรับตัวจากแบบ Maladaptive เป็นแบบ Adaptive ได้ในที่สุด

                     ถ้าเราเป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ก็ขอให้เป็นคนเนี้ยบที่ยืดหยุ่นได้ รู้จักปรับตัวและเข้าใจคนรอบข้างบ้าง แข็งบ้างผ่อนบ้างตามสมควร

                    ตัวเราเองยังมีข้อบกพร่อง คนอื่นก็มีข้อบกพร่องเช่นกัน ถ้าเราไปหวังให้คนอื่นทำถูกต้องสมบูรณ์แบบทั้ง 100% อย่างที่เราต้องการนั้นเป็นไปไม่ได้ และย่อมเกิดปัญหาแน่นอน

                    มนุษย์โดยทั่วไปต้องการความสมบูรณ์แบบ ทั้งเรื่องของผลงาน รวมไปถึงการกระทำต่างๆ แต่ว่า Perfectionism ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ถ้าเราเลือกที่จะใช้มันให้อยู่ในจุดที่สมดุลก็จะทำให้เกิดงานที่สมบูรณ์แบบได้อย่างลงตัว

                     ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่ควรตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป ควรยืดหยุ่นได้บ้าง ควรเห็นแก่ตนเองและเห็นแก่คนรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือคนในครอบครัว เราจะได้อยู่กันอย่างสดชื่น เบิกบาน และมีความสุข

จากหนังสือ PERFECTIONIST สไตล์พุทธะ

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034214150905609 Mins