เปลี่ยนให้ทันโลก

วันที่ 28 สค. พ.ศ.2563

28-8-63-5-b.jpg

เปลี่ยนให้ทันโลก

         คนงานหาเช้ากินค่ำอาจจะไม่เข้าใจรายละเอียด
การเปลี่ยนเเปลงในโลกธุรกิจ
เเต่เชื่อมั่นว่าส่วนใหญ่สามารถสัมผัสความเปลี่ยนเเปลง
ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้อย่างเเน่นอน เช่น
เเต่ก่อนเราจะทำธุรกรรมอะไรก็ตาม
เราจะต้องหอบเอกสารเป็นปึกๆ ไปธนาคาร
เเต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเเล้ว
เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ
ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือของเราได้เลยทันที

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

             โลกเปลี่ยนไปไว ถ้าเรายังย่ำอยู่กับที่ ชินอยู่กับรูปแบบเดิมๆ แล้วเราจะตามคนอื่นทันได้อย่างไร ธุรกิจสมัยนี้ขึ้นชื่อว่ามาไวไปไว เราจึงควรปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลก หลักสำคัญคือต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง


              เราได้พ้นจากยุคที่ทำอะไรสำเร็จแล้วก็นั่งกินบุญเก่า ทำธุรกิจแบบเดิมๆ ต่อไปเรื่อยๆยาวนาน ยุคสมัยแบบนั้นมันผ่านไปแล้ว ในสังคมโลกยุคดิจิทัลทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากจนมีคนบอกว่านับจากนี้ไป 20 ปี โลกจะเปลี่ยนไปมากกว่าที่เปลี่ยนไปในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

 

              200 ปีก่อน โลกยังเป็นสังคมเกษตร จนรวดเร็วขนาดนี้ ธุรกิจใดที่ยังเอื่อยเฉื่อยไม่ปรับตัวบอกได้เลยว่ารอดยาก ยิ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการมากเท่าใด ก็ยิ่งล้มดังเท่านั้น

 

             ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย อย่างบริษัทโนเกียที่ถือกำเนิดในประเทศฟินเเลนด์ เมื่อ 10 ปีที่แล้วโนเกียยังเป็นโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งครองเเชมป์โลก มาร์เกตเเชร์เกินครึ่งของโลก จนบางคนเรียกประเทศฟินแลนด์ว่า “โนเกียแลนด์” เพราะจัดว่าเป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดและมีสัดส่วนที่ใหญ่มากใน GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศฟินแลนด์

 

                แต่เวลาผ่านไปเพียง 5-6 ปี บริษัทกลับล้มไปเสียดื้อๆ ไม่มีการผลิตโทรศัพท์มือถือโนเกียออกมาอีกแล้ว แล้วยังต้องกลายเป็นบริษัทลูกของ Microsoft ไปในที่สุด ถึงเคยเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ยังไม่รอด เพราะตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

 

               ในวันที่ต้องประกาศขายกิจการให้กับ Microsoft ผู้บริหารโนเกียแถลงทั้งน้ำตาว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่เราอยู่ไม่ได้ เราต้องจากวงการนี้ไปแล้ว เราเคยเป็นเบอร์หนึ่งและเราทำดีทุกอย่างเราไม่ได้ทุจริต เราขยันเราทุ่มเท แต่เราต้องเป็นผู้แพ้แล้วจากไปเอง

 

                ผลเกิดจากไม่ทันการเปลี่ยนเเปลงเเละไม่ปรับตัวนั่นเอง มัวแต่คิดว่าที่ทำอยู่นั้นดีเพียงพอแล้ว พอโลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ดูเขาเปลี่ยน แต่เปลี่ยนไม่ทันเขา ธุรกิจใดตั้งหลักไม่ทัน ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็ต้องตายลงไปในที่สุด

 

               อีกหนึ่งตัวอย่างที่เราคุ้นเคยในชื่อ ฟิล์มโกดัก สมัยก่อนในประเทศไทยมีร้านฟิล์มสีโกดักมากมายทุกหัวระแหง ทุกบ้านต้องไปซื้อกล้องโกดักบ้าง ซื้อฟิล์มโกดักบ้าง ไปอัดล้างภาพออกมาดูบ้าง แต่ในที่สุดโกดักก็ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไม่ทันต้องล้มละลายไป ทั้งที่โกดักเป็นผู้ผลิตกล้องดิจิทัลได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก

 

                วิศวกรของโกดักในปี ค.ศ. 1975 สามารถผลิตกล้องดิจิทัลได้สำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก และเขาไปรายงานเจ้านาย นึกว่าเจ้านายจะดีใจ เจ้านายกลับพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ดี” เพราะเจ้านายคิดว่าขายฟิล์มไปเรื่อยๆ ก็ได้กำไรดีอยู่แล้ว ถ้าผลิตกล้องดิจิทัล ฟิล์มก็ขายไม่ได้

 

                  เขามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่เมื่อมันสำเร็จขึ้นมาแม้ว่าจะยังไม่ได้บอกใคร จะช้าหรือเร็วก็ต้องมีคนค้นพบอยู่ดี แล้วเราจะไปกอดความสำเร็จเก่าๆ อยู่โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ก็เป็นไดโนเสาร์ไปเท่านั้นเอง


 

                ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ แข็งแรง แต่กลับต้องสูญพันธุ์เพราะปรับตัวไม่ทัน แต่สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ปรับตัวทัน กลับรอดชีวิต คนไหนไม่ปรับตัวก็จะเป็นเหมือนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ใหญ่เท่าไรก็ตายลงเหมือนโกดักและโนเกีย

 

               บริษัทโกดักยังคาดผิดว่า ถึงลูกค้าจะใช้กล้องถ่ายรูปแบบใดก็ตาม เขาก็ต้องมาล้างอัดภาพที่ร้านโกดักอยู่ดี ตนต้องได้กำไรจากการขายกระดาษล้างอัดภาพ แต่ปรากฏว่าคาดการณ์ผิด คนหันไปถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ ถ่ายเสร็จข้อมูลรูปภาพก็ถูกจัดเก็บอยู่ในนั้น อยากดูเมื่อใดก็เปิดดู ไม่ล้างอัดภาพอีกต่อไปแล้ว จึงทำให้โกดักล้มละลายในที่สุด ไม่เปลี่ยนแปลงหรือก้าวช้าเกินไปก็ไม่รอด


                 ไม่นานมานี้ อาลีบาบา (Alibaba) จะเข้ามาเซ็นสัญญาทำธุรกิจในเมืองไทย ธนาคารไทยต่างก็ผวากันเป็นแถว ต้องรีบประชุมเร่งด่วนเพื่อขอร้องรัฐบาลว่าอย่าเพิ่งนำระบบโอนเงิน Alipay เข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะธนาคารไทยยังมีระบบที่ไม่พร้อมจะสู้กับเขา เพราะเขาเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกธุรกิจออนไลน์ ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงสู่ธุรกิจธนาคาร

 

                เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้ระบบออนไลน์กัน ตู้เอทีเอ็มที่เดิมถือว่าสะดวกมากยังใกล้จะหมดไปแล้ว เด็กยุคนี้คงนึกไม่ออกว่าสมัยก่อนที่จะมีตู้เอทีเอ็ม เราจะถอนเงินแต่ละครั้ง ต้องไปธนาคาร เสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ เพื่อถอนเงินแค่ 200 บาท ต้องไปนั่งรอเจ้าหน้าที่ต่อคิวที่หน้าเคาน์เตอร์ กว่าจะได้เบิกถอนเงินมา 200 บาท

 

                ต่อมายุคสมัยเปลี่ยนไป เราเดินไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มแป๊บเดียวเสร็จ แต่มาถึงยุคนี้ตู้เอทีเอ็มเริ่มเป็นของโบราณไปอีกแล้ว เพราะใครๆ ก็ใช้บริการระบบออนไลน์แบงก์กิ้ง มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวโหลดแอปธนาคาร จะจ่ายเงินหรือโอนเงิน ทำธุรกรรมทางการเงินง่ายๆ ในโทรศัพท์มือถือใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหาตู้เอทีเอ็มอีกต่อไป

 

                ในประเทศจีนแม้แต่แม่ค้าขายของหาบเร่แผงลอยในตลาดยังจ่ายเงินออนไลน์ แขวนป้ายคิวอาร์โค้ดไว้หน้าแผงลอย พอลูกค้ามาซื้อของก็แค่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายคิวอาร์โค้ด จ่ายทางออนไลน์สะดวกมาก มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวจะจ่ายบิลซื้อของได้หมดทุกอย่าง

 

                ธนาคารต่างๆ ให้บริการกับฐานลูกค้าในวงจำกัด เช่น คนจะไปขอกู้เงินจากธนาคารได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ทำงานมีเงินเดือน มีรายได้ที่มั่นคง คนงานหาเช้ากินคำ พ่อค้าหาบเร่แผงลอย ยากจะไปขอกู้ธนาคารได้ แต่อาลีบาบาประกาศจะทำแบงค์กิ้งสำหรับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะลูกค้ารายเล็กหรือรายใหญ่อาชีพใดๆ อยากจะกู้เงินก็รองรับความต้องการทั้งหมด โดยใช้เวลาทำธุรกรรมทางการเงินเพียงไม่กี่นาที

 

               บริษัทอาลีบาบาทำได้ เพราะเมื่อลูกค้าทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ทั้งซื้อสินค้า จ่ายบิล ผ่าน Alipay ประวัติการใช้เงินของลูกค้าก็จะปรากฏในฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data) ของอาลีบาบาทั้งหมด เช่น ประวัติการสั่งซื้อ การผ่อนชำระในวงเงินต่างๆ ถ้าประวัติดีจ่ายหนี้ตรงเวลาทุกครั้ง โปรแกรม AI ของอาลีบาบาจะคำนวณได้ทันทีเลยว่าเครดิตทางการเงินของแต่ละคนเป็นอย่างไร


                 แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นนี้ จะสามารถคำนวณเครดิตผู้ขอยื่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แค่เอ่ยปากคำเดียวเจ้าหน้าที่ก็จะเช็กประวัติเดิมจากการใช้จ่ายจริง ระบบสามารถสรุปได้ทันทีว่าสามารถปล่อยกู้ให้ได้ในวงเงินเท่าไร จากนั้นระบบจะโอนเงินเข้าบัญชีออนไลน์ เป็นอันเสร็จเรียบร้อยในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที เราจะกู้เงินแต่ละครั้ง ไม่ต้องเดินทางไปธนาคารเพื่อทำเรื่องให้ยุ่งยากอีกต่อไป


               ปัจจุบันธนาคารต่างๆ ยังใช้ระบบเดิมคือให้พนักงานสินเชื่อที่มีประสบการณ์มานั่งวิเคราะห์เครดิตผู้ยื่นกู้ ซึ่งในความเป็นจริงพนักงานสินเชื่อต่อให้มีประสบการณ์สูงเท่าใด ก็สู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ที่สามารถวิเคราะห์การให้สินเชื่อจากประวัติการใช้จ่ายจริงทุกรายการของบุคคลได้อย่างละเอียด รวดเร็ว และแม่นยำ

 

                เพราะฉะนั้น อาลีบาบาสามารถให้สินเชื่อลูกค้าได้ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวสวนที่มีประวัติในการใช้จ่ายออนไลน์ อย่างนี้ธนาคารไหนๆ ก็ผวาไปตามๆ กัน เพราะต้องเจอกับคู่แข่งรายใหม่ในวงการคอมพิวเตอร์อย่างอาลีบาบานั่นเอง

 

                อาลีบาบามาพร้อมฐานลูกค้าที่ใช้ Alipay เกือบพันล้านคน ซึ่งข้อมูลการใช้จ่ายของผู้คนนั้นมีค่ามหาศาล บิ๊กดาต้าจึงมีค่ามากในโลกยุคใหม่ ใครกุมข้อมูลคนนั้นคือผู้กุมโลก เป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในโลก และเขาสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในทางธุรกิจแทบทุกวงการ

 

                ในโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ การแข่งขันข้ามวงการมักจะเกิดขึ้นเสมอ ใครจะคิดว่ากูเกิล (Google) จะไปเป็นคู่แข่งของโตโยต้า (Toyota) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) จะไปเป็นคู่แข่งของ ไครสเลอร์ (Chrysler) เพราะอยู่คนละวงการกัน แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กกำลังจะทำรถยนต์ไร้คนขับโดยอาศัยเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ รถยนต์ไร้คนขับจะเป็นเหมือนสมาร์ตโฟนในวงการรถยนต์ ที่สามารถโค่นยักษ์ใหญ่ในวงการเดิมที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบคาบ เหมือนที่โนเกียโดนมาแล้ว

 

                 จากเดิมผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่าไม่กล้านั่งรถที่ไม่มีคนขับ แต่ในอนาคตทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา การขับรถเองกลับเป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่า อย่างนี้บริษัทรถยนต์ค่ายใดยังผลิตรถยนต์แบบเก่าๆ ก็จะเจ๊งเพราะขายไม่ได้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงประเทศต่างๆ จึงหันมาแข่งกันด้านเทคโนโลยีรถไร้คนขับ รถไฟฟ้า รถไฮบริดกันอย่างเข้มข้นทั้งโลก

 

                 โลกเปลี่ยนไปมาก ยักษ์ใหญ่วงการนี้กระโดดไปแข่งขันในวงการโน้น วงการโน้นกระโดดมาแข่งวงการนี้ สลับหน้ากันไปหมดนี่คือ Digital Disruption ความก้าวหน้าของวงการเทคโนโลยีไอทีทำให้อะไรๆ ที่เคยเป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้

 

                โอกาสจะเพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ที่มองเห็นช่องทาง เช่นเดียวกัน คนที่เคยสำเร็จมาก่อน ถ้าหลับหูหลับตาไม่ดูการเปลี่ยนแปลงของโลกและไม่ปรับตัว ผลคือจะกลายเป็นไดโนเสาร์แล้วสูญพันธุ์ในเวลาไม่นาน ต่อให้ตอนนี้คุณยิ่งใหญ่เท่าไรก็ตาม อย่างบริษัทโนเกียจากเดิมที่คนเคยพูดถึงว่าสำเร็จได้อย่างไร ก็กลายเป็นถูกพูดถึงว่าสูญไปเพราะอะไร

 

                  เราต้องการให้คนอื่นพูดถึงเราว่าประสบความสำเร็จได้ เพราะอะไรหรืออยากให้เขาพูดว่าเราสาบสูญไปจากโลกนี้เพราะอะไรก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั่นเอง

 


อยากอยู่รอดต้องปรับตัว

                  ในโลกธุรกิจถ้าอยากอยู่รอดก็ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเสี่ยง

                 

                   เมื่อสถานการณ์รอบตัวเปลี่ยนแปลงเร็วมากการรองรับความเสี่ยงอย่างหนึ่งคือการมีสินทรัพย์สะสมไว้ ในแง่บุคคลคือควรมีเงินเก็บ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบของเงินในบัญชีธนาคารเสมอไป เราอาจจะกระจายสินทรัพย์ที่มีเป็นที่ดินบ้าง หุ้นบ้าง เงินฝากบ้าง เป็นต้น

 

                    ปัจจุบันเงินฝากผลตอบแทนต่ำมาก เมื่อ 30 ปีที่แล้วดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 7-10 ต่อปี แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 2-3 ก็ถือว่ามากแล้ว เพราะตอนนี้เงินท่วมโลก เราจะจัดการออมเงินหรือลงทุนในรูปแบบใดก็ควรศึกษาให้ดีก่อน

 

                  ในรูปแบบบริษัทก็มีแนวทางเดียวกันบริษัทใดมีหนี้ไม่มากและมีสินทรัพย์อยู่พอสมควร ถือว่ามีความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจสูง แต่ส่วนที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือไม่ว่าเราจะเป็นปัจเจกบุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทก็ตาม ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จนมีความรู้เท่าทันโลก และมองเห็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

                   หมดยุคสมัยของการมุ่งแค่เรียนหนังสือให้จบ ได้ปริญญามาหนึ่งใบแล้วคือจบชีวิตการเรียน จากนี้ไปทำงานอะไรสักอย่างไปตลอดชีวิต มันพ้นยุคสมัยแบบนั้นไปแล้ว เราต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา พอเห็นอะไรเปลี่ยนปั้นจำเป็นต้องปรับตัวทันที

 

                 ถ้าเรามีฐานความรู้ที่ดีพอ เราก็จะใช้เวลาปรับตัวไม่นาน ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่ถ้าเราไม่ศึกษา ถึงคราวจำเป็นต้องปรับตัวต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่น เราก็อาจไปไม่รอด

 

               เพราะฉะนั้น ต้องเพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถของตนเองตลอดเวลาในทุกด้าน พื้นฐานคือเทคโนโลยี ทั้งด้านไอที ด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน ในโลกอนาคตใครเก่งภาษาย่อมได้เปรียบเสมอ ที่สำคัญควรศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของโลกด้วย


                 หากเป็นนิติบุคคลต้องมีทางเลือกหลายๆ ทาง จะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ มักจะมีบริษัทลูกมาเกื้อหนุนกันทางธุรกิจ พอมองเห็นแนวโน้มอะไรบางอย่างเกิดขึ้นก็ต้องเตรียมรับมือ ยกตัวอย่าง บริษัทใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทย หรือธนาคารใหญ่ต่างๆ ที่จัดตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะ เขายินดีที่จะจ้างคนเก่งๆ จ่ายเงินเดือนหลักแสนเพื่อศึกษาเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเป็นแนวโน้มใหม่ๆ ของโลกโดยเฉพาะเขาเตรียมศึกษาค้นคว้ากันล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้วหลายปี พอถึงจังหวะของการเปลี่ยนแปลง ก็ต่อยอดความรู้ ก้าวหน้าตามโลกได้ทันท่วงที

 

                 บริษัทใดไม่ได้เตรียมสิ่งเหล่านี้ พอถึงเวลาปรับตัวก็ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ในโลกของธุรกิจมันช้าและไม่ทันการณ์ พอมีโอกาสต้องขยายธุรกิจไปให้ได้ หรือบางธุรกิจมีปัญหาก็หาธุรกิจอื่นมาช่วยค้ำช่วยเสริมกันได้ทัน ต้องมีไม้ค้ำยันหลายๆ ไม้ เป็นต้น

 

                 ในระดับประเทศก็จำเป็นต้องสร้างความพร้อมหลายๆ ด้าน เช่นกัน ยกตัวอย่างประเทศซาอุดีอาระเบียที่เคยมีภาพลักษณ์ ร่ำรวยหรูหรา ทัพนักกีฬาไปแข่งขันที่ใดต้องเหมาจองโรงแรมระดับห้าดาว เหมาเช่าเครื่องบินหรูยกลำ

 

                  แต่ปัจจุบันภาพจำเหล่านั้นได้หายไปแล้ว เพราะราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเริ่มปรับตัวขึ้นๆ ลงๆ อย่างไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากโลกมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นมา เป็นต้น อีกหน่อยน้ำมันอาจจำเป็นน้อยลงสำหรับโลกเรา ถ้าผู้คนหันไปใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น รวมทั้งมีแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เข้ามาเป็นคู่แข่ง เช่น Shale oil (น้ำมันที่ถูกกักอยู่ในชั้นหินดินดาน) แล้วซาอุดีอาระเบียก็พึ่งพารายได้จากน้ำมันที่มากเกินไปต่อ GDP ของประเทศ


                 ซาอุดีอาระเบียเริ่มปรับตัวโดยเริ่มขึ้นราคาน้ำมันในประเทศจากเดิมที่ราคาถูกมากและเริ่มหาทางสร้างธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีคนเสียผลประโยชน์มากมาย  จึงมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นไม่น้อย แต่ผู้บริหารประเทศก็รู้ว่าถ้าไม่เปลี่ยนอนาคตต่อไปประเทศเขาจะลำบาก เพราะฝากระบบเศรษฐกิจของประเทศไว้กับธุรกิจเพียงอย่างเดียวคือธุรกิจน้ำมัน


                 เพราะฉะนั้น เราจะเป็นผู้นำในองค์กร หรือธุรกิจระดับใด แม้กระทั่งการรับผิดชอบตนเองก็ตาม เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเสมอ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เราต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น


โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนเเปลงที่รวดเร็ว
เเละมีอัตราเร่งความเร็วที่มากขึ้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับตัวให้ทัน
ถ้าปรับตัวทัน เราจะอยู่ในสังคมโลกนี้ได้อย่าง
ชาญฉลาดเเละประสบความสำเร็จ

 

 

จากหนังสือ PERFECTIONIST สไตล์พุทธะ

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0084718306859334 Mins