การจัดการความเสี่ยง
ชีวิตของเรานั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทุกอนุวินาที ทำให้เราไม่ควรประมาทแม้เพียงวินาทีเดียว
การป้องกันความเสี่ยง สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์ ว่าเราจะป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องอะไร ด้านไหน
2. ต้องระบุความเสี่ยง เช่น โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลว ปัญหาและอุปสรรคมีอะไรบ้าง
3. ประเมินความเสี่ยง ด้วยการถามตัวเองก่อนว่า เราหวังที่จะประสบความสำเร็จอย่างไร พอกำหนดได้แล้ว เราก็จะทราบว่าเราต้องกังวลกับสิ่งใดบ้าง ที่อาจจะมีผลกระทบทำให้เราไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เราคาดหวังเอาไว้
4. สร้างแผนการ คือ กำหนดแผนการและตัวเลือกในเหตุการณ์นั้นๆ หลายๆ แผนการ
5. ติดตามและสอบทาน คือ ตรวจเช็ค แล้วประเมินความเสี่ยงว่า ได้เปลี่ยนไปหรือยัง
เมื่อทำตามทั้ง 5 ข้อได้แล้ว ก็ให้นำ 5 ข้อด้านบนมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้ครบทั้ง 2 ด้าน คือ ในด้านการดำเนินชีวิต และ ด้านจิตใจ
ด้านแรก...การดำเนินชีวิต
ให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลองสังเกตดูชีวิตของผู้คนทั้งหลาย เราจะพบว่า ช่วงที่เขารู้สึกว่าชีวิตกำลังลำเค็ญ หรืออยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้ ต้องทุ่มเท คนจำนวนไม่น้อยกลับสามารถผ่านไปได้
แต่เมื่อไรที่เขาเริ่มรู้สึกว่า ทุกอย่างราบรื่นเหมือนรถวิ่งบนทางราบ เมื่อนั้นคือสัญญาณว่ากำลังจะเสี่ยงต่อการล้มเหลว บริษัทก็เหมือนกัน ประเทศก็เหมือนกัน บุคคลก็เหมือนกัน ประมาทเมื่อไร เริ่มเสื่อม เริ่มเสี่ยงเมื่อนั้น เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างตอนนี้มันกำลังราบเรียบ เมื่อนั้นให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
ด้านสอง คือ ด้านจิตใจ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ
1. เราต้องรู้หลักความจริงว่า ทุกอย่างที่เราเจอ มันเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนของบุญและบาป เมื่อไรบาปส่งผล เราก็จะเจอวิกฤตในหลายๆ เรื่อง บางครั้งอาจจะเกินกว่าที่จะตั้งรับได้เหมือนอย่างเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา คนที่ทำธุรกิจรีสอร์ทอยู่ริมหาด กำลังไปได้ดี เกิดสึนามิครั้งเดียว เสียหายหมดทุกอย่าง แล้วจะบริหารความเสี่ยงจากสึนามิได้อย่างไร
เพราะวิทยาศาสตร์ของโลก ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ เราต้องรู้ว่าอกุศลกรรมที่เราเคยทำในอดีต นำมาซึ่งวิบากในปัจจุบัน เหมือนหินโสโครกซ่อนอยู่ใต้น้ำ จะทำให้นาวาชีวิตของเราต้องไปชนจนเรือแตก แต่ถ้าเราสร้างบุญมากๆ ก็เหมือนระดับน้ำขึ้นสูง แม้หินโสโครกยังอยู่ที่เดิม
แต่นาวาชีวิตของเราจะวิ่งผ่านไปได้อย่างสบายๆ ไร้ปัญหา การที่จะบริหารความเสี่ยงแบบนี้ เราจึงจำเป็นต้องสร้างบุญ ทั้งการให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องไม่ทำบาปอกุศลต่างๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตของเราอีก
2. ให้ชวนคนทำความดีมากๆ บริษัทประกันทุกบริษัทในโลกได้ใช้หลักเดียวกัน ในการรับประกัน คือ รับประกันลูกค้าจำนวนมากๆ รับประกันบ้านก็เป็นหมื่นหลัง เพราะบ้านไม่ได้ไหม้ทีเดียวพร้อมกันหมื่นหลัง เขาได้เบี้ยประกันจากบ้านหมื่นหลัง
ถึงคราวมีบ้านไฟไหม้ 3 หลัง 5 หลัง เขาก็เอาเบี้ยประกันนั้นไปจ่ายค่าสร้างบ้านใหม่ให้กับบ้านที่ไฟไหม้ เขาก็อยู่ได้ เป็นการประกันที่ใช้ของจำนวนมากๆ มาค้ำประกันความเสี่ยงของบุคคล ข้าวของจำนวนน้อยๆ การประกันความเสี่ยง
ในชีวิตทำได้ด้วยการชวนคนทำความดีเยอะๆ บุญตรงนี้ก็จะมาค้ำตัวเรา เพราะใจของเราบางครั้งยังไม่หมดกิเลส ใจมันก็มีขึ้นมีลง บางช่วงศรัทธาดี ก็ทำ ความดีเต็มที่ บางช่วงศรัทธาถอย จะเผลอไปทำบาปก็ยังมีอยู่ ถ้าเราชวนคนทำความดีไว้เยอะๆ ผลบุญจะส่ง จะค้ำประกันความเสี่ยงของตัวเราไว้ได้
ตอนเรากำลังแย่ ศรัทธากำลังตก จะเผลอไปทำบาป อานิสงส์จากการชวนคนทำความดี ก็จะทำให้มีกัลยาณมิตรมากมายมาช่วยดึงเรากลับมาสู่หนทางที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้เราถลำไปในทางที่เสื่อมนี้ คือการประกันความเสี่ยงในเส้นทางการสร้างความดีที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น ทำความดี อย่าทำคนเดียวให้ชวนกันทำ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฝากปัจฉิมโอวาทไว้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน (คือทำความดีของตัวเอง สร้างบุญสร้างกุศล หลีกเลี่ยงบาป) และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด (บำเพ็ญประโยชน์ท่านคือ ชวนคนอื่นๆ มาทำความดีให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)
การบริหารความเสี่ยงทั้งหมดนั้น มีอยู่ในปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาส้มพุทธเจ้า นั่นก็คือ
“บำเพ็ญประโยชน์ตน และบำเพ็ญประโยชน์ท่านชีวิตของเราก็จะไม่เสี่ยงทั้งชาตินี้ และชาติหน้าตลอดไป”
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ