ภาวิตา พหุลีกตา

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2563

ภาวิตา พหุลีกตา

 

  630909_b.jpg

 

         วันพรุ่งนี้ขึ้นอยู่กับวันนี้
หากทำดีก็ต้องดีซิลูกเอ๋ย
มันขึ้นอยู่กับเราใช่อื่นเลย
อยากเสบยก็ทำให้ใจสบาย
                  หากลูกหวังอยากเป็นนักรบกล้า
จงอุตส่าห์ฝึกฝนตนขวนขวาย
ให้นิ่งหยุดถึงจุดได้ธรรมกาย
สิ่งที่หมายจะสมหวังดังตั้งใจ

ตะวันธรรม

               

               หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ขยับเนื้อขยับตัวให้ดีนะ ต้องผ่อนคลาย ต้องสบายๆ แล้วก็ทำใจให้ใสๆ ใจเย็นๆ ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง และก็รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ

 

              ใจแตะตรงกลางไปเบาๆ นิดๆ อย่างสบาย แล้วก็ผ่อนคลายให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ

 

              ถ้าใจเราใสๆ ใจเย็นๆ จะทำให้เราวางใจได้ถูกส่วนที่กลางกายได้อย่างง่ายๆ จะไม่ติดบริเวณลูกนัยน์ตาหรือศีรษะเลย มันจะลงไปในตรงกลางตัวเลยอย่างง่ายๆ แต่ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ปรือๆ ตานิดหน่อย เหมือนเราชำเลืองดูศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ อย่างง่ายๆ

 

             ต้องง่าย ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ตรงนี้เราต้องทำให้เป็น มันจะกลับตาลปัตรกับงานหยาบที่เราทำ อย่างนั้นต้องใช้ ความหยาบ ต้องต่อสู้ ต้องพยายาม แต่ถ้านั่งหลับตาแล้วมัน ตรงกันข้าม มันต้องง่าย ถ้ายากไม่ใช่ ต้องผ่อนคลาย ต้องสบาย

 

             ใจถ้ายังวางลงตรงกลางไม่ได้ก็ต้องเอาความ สบายก่อน ผ่อนคลายก่อน สบายตรงไหนเรา ก็เอาตรงนั้นก่อน เช่น สมมติว่า สบายที่ไหน สักแห่งหนึ่ง เช่น บริเวณเปลือกตาบ้าง จมูกบ้าง ตามฐานต่างๆ เราสบายตรงไหนก็วาง ตรงนั้นไปก่อน

 

             ถ้าเราผ่อนคลาย เราจะลงตรงกลางได้อย่างง่ายๆ แล้ว ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนไปเลย เวลาใจวางไว้ในกลางกายได้ มันจะหลุดจากหยาบ แม้ตรงกลางกายเรายังไม่เห็นอะไรก็ตาม แต่ถือว่าเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียร ทำถูกหลักวิชชา ใจจะกลับเข้าไปสู่ภายในได้อย่างง่ายๆ ให้ไปอยู่ในบริเวณกลางกาย ในกลางท้องของเราก่อนอย่างง่ายๆ เอาตรงนี้ สำหรับบางคน ที่จิตยังหยาบอยู่นะ

 

ภาวิตา พหุลีกตา            

 

          แต่ถ้าเราคุ้นเคย มันก็ไม่ยาก แต่แม้ทำได้แล้ว ก็ต้องทำ ซ้ำๆ คำว่า “ภาวิตา พหุลีกตา” ต้องซ้ำๆ บ่อยๆ เนืองๆ ถ้าทำตรงนี้ได้คล่อง เท่ากับเรากำชัยชนะในการที่จะเข้าถึงวิชชา ธรรมกาย กำความสำเร็จไว้เลย แค่วางใจไว้ได้ตรงกลาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เห็นอะไรก็ตาม   

 

         พยายามฝึกตรงนี้ซ้ำๆ แล้วเดี๋ยวจะโล่งเอง มันจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ไปตามขั้นตอนของสมาธิ ซึ่งจะทำให้เรารัก การปฏิบัติ อยากอยู่กับตัวเอง ไม่อยากเสียเวลาไปใน ทางที่ไม่ เกิดประโยชน์เลย อยากหยุดอยากนิ่งในกลางกาย

 

         แม้โล่ง โปร่ง เบา สบาย ก็ต้องทำซ้ำๆ ฝึกซ้ำๆ จนกระทั่ง ข้างในมันกลวง โล่ง ว่าง ใจก็เพิ่มความละเอียดมากเข้า สบายกายสบายใจเพิ่ม เดี๋ยวความสว่างก็มาเอง หรือไม่ก็ภาพของดวง ใสๆ บ้าง องค์พระใสๆ บ้าง ก็จะมาอย่างเลือนราง ทำให้เรามี ความรู้สึกว่า มีอยู่ มีดวงใสๆ อยู่กลางกาย มีองค์พระใสๆ อยู่ในกลางกาย แม้ยังไม่ชัดเจนก็ตาม ก็ถือว่าก็เป็นรางวัลสำหรับ ผู้ที่ทำความเพียรเพิ่มขึ้น

 

          แม้เลือนรางอย่างนี้ก็ต้องฝึกซ้ำๆ แล้วก็ต้องทำทุกอิริยาบถ ฝึกซ้ำๆ และเมื่อได้รัวๆ รางๆ แล้ว อย่าไปเน้น อย่าไปเค้น แม้ไม่ได้ดั่งใจ ให้รักษาความพึงพอใจในระดับนั้น เอาไว้ก่อนและก็หมั่นชำเลืองดูในอิริยาบถต่างๆ ที่นอกเหนือจากการนั่ง จากรัวๆ รางๆ ก็จะชัดเพิ่มขึ้นๆ ในระดับที่เรายอมรับว่า การเห็นได้เกิดขึ้นภายใน เช่น ชัดเจนเหมือนเราดึงของออกจากที่ สลัวมาอยู่กลางแจ้งนิดๆ กระเถิบออกมาสู่กลางแจ้ง เราก็ดูไปเฉยๆ แม้มีความชัดเพิ่มขึ้นจาก ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รักษาความพึงพอใจและใจเย็นเอาไว้ให้ดี

 

           เร่งอย่างถูกวิธี คือ พึงพอใจในระดับที่เรามี ประสบการณ์ภายใน ในช่วงนั้น ชัดแค่ไหน เอาแค่นั้น แล้วก็ฝึกซ้ำๆ อย่าไปเน้น อย่าไปเค้นภาพ ให้ดูไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ทำใจให้สบายๆ เราคงยังรักษาความผ่อนคลายเอาไว้เรื่อยๆ ฝึกซ้ำๆ ความชัดก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเอง แม้เพิ่มขึ้นเราก็ต้องยังรักษาความพึงพอใจเอาไว้ เท่าที่มีให้ดู

 

           ถ้าเราสามารถรักษาใจเย็นๆ อย่างนี้ได้ความชัดจะเกิดขึ้นเอง จากชัดน้อยก็มาชัดมากขึ้นๆ ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ทำบ่อยๆ ควบคู่กับ งานหยาบ เพราะเราจะไปคอยความพร้อมว่า ให้งานหยาบเสร็จเสียก่อน อย่างนั้นไม่ได้ต้องควบคู่กันไป พอเราทำซ้ำหนักเข้าๆ ก็จะชัดเพิ่มขึ้น ๗๐ เปอร์เซ็นต์บ้าง ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แม้ชัด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังต้อง ทำแบบเดิม คือ ดูเฉยๆ

 

           ไม่ว่าจะเป็นดวง เป็นกาย หรือเป็นองค์พระ ดูเฉยๆ อย่าเพิ่งไปเก็บรายละเอียด เพราะเดี๋ยวเราจะเห็นรายละเอียดเอง ครบหมดเลย มีให้ดูแค่ไหนให้ดูแค่นั้นไปก่อน อย่างสบายๆ และผ่อนคลาย ลูกต้องจำที่แนะนำนะ และก็เอาไปทำให้ได้ด้วย อย่าตกแม้แต่คำเดียวนะ เราต้องพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่เมื่อเราทำผิดวิธี และเริ่มต้นใหม่อย่างสบายๆ อย่างนี้แหละ เดี๋ยวมันก็จะกลับไปสู่สภาวะ นั้นได้เอง

 

          การทำซ้ำๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก จะทำให้ เราคล่อง ชำนาญ และใจติดอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่ในกลางกาย เดี๋ยวความชัด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็มาพร้อมกับความสุข ความบริสุทธิ์ ความชัด ความใส ความสว่าง องค์ประกอบก็จะครบเองคือ จะได้สุขกับเฉยๆ เฉยอย่างมีความสุข คือ ใจนิ่ง นุ่ม เบา สบาย เห็นภาพ มีความสุขจน กระทั่งไม่อยากจะเลิกนั่ง ความชัด ความใส ความสว่าง ความสุข ความบริสุทธิ์ ก็จะมาพร้อมๆ กัน

 

        ตอนนี้เราจะสนุกกับการนั่ง เกิดมาชาตินี้มีกำไรแล้ว เรามีที่พึ่งภายใน มีที่ยึดที่เกาะของใจเราแล้ว ที่ทำให้จิตของเรา บริสุทธิ์ ธาตุในตัวบริสุทธิ์

 

         พอเราทำซ้ำๆ รายละเอียดก็จะชัดเพิ่มขึ้น ภาพก็จะขยาย ใหญ่ไปเอง จะเป็นดวง เป็นองค์พระ เป็นอะไรก็แล้วแต่ จะขยายและการเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในก็จะเกิดขึ้นเองอย่างง่ายๆ

 

         จนกระทั่งมีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ และมีความภาคภูมิใจว่า เราตัดสินใจถูกแล้วที่เราได้ทิ้งทุกอย่างวางทุกสิ่งวิ่งเข้าวัดมาสร้าง บารมี ใจจะเป็นใหญ่ในตัว มีความปลื้มอยู่ในตัว มีความรู้สึก เหมือนเราไม่ได้ขาดแคลนอะไรเลย มันอิ่มมันเต็มอยู่ในตัวเลย


        ลูกฝึกอย่างนี้ซ้ำๆ ให้ใจใสๆ ใจละเอียด ต่างคนต่างนั่ง กันไปเงียบๆ นะ

 

หลวงพ่อธัมมชโย

วันจันทร์ที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ 

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0060638348261515 Mins