เรื่องของคนโกหก

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2563

เรื่องของคนโกหก

                ทุกคนชอบความจริงและทราบดีว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกถึงยังโกหกอยู่ คนเราเวลาเจอสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน หรือบางครั้งเกิดความกลัวไปเองก็เลยโกหกออกไป เพื่อเอาตัวรอดจนเกิดความโล่งอก

20040-1.jpg

                 คนโบราณใช้คำว่า “ขายผ้า เอาหน้ารอด” แต่หลังจากนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างแรก คือ ความกังวลใจ ความกลัวที่จะถูกเปิดเผยความจริง ยิ่งกลัวเท่าไรยิ่งมีโอกาสที่จะโกหกต่อเพื่อปกปิดหรือเบี่ยงเบนเรื่องราวต่อ ๆ ไป

                 จนบางทีเรื่องกลับกลายเป็นลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่คาดไม่ถึง ไม่สามารถกลับคำได้ แล้วกลายเป็นนิสัยโกหกถาวร พูดอะไรไม่ตรง เบี่ยงประเด็นไปมาแก้ไม่หาย

                 สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงอยู่ คือ “ความลับไม่มีในโลก” เพราะฉะนั้น ความจริงจะถูกเปิดเผยออกมา ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด และสุดท้ายผู้ที่โกหกจะกลายเป็นคนที่โดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครไว้ใจ

                  คนที่โกหกอย่าคิดว่าคนอื่นรู้ไม่ทัน แต่บางทีที่เขาไม่พูดเพื่อรักษามารยาท ถ้าเรื่องใหญ่ก็เก็บไปพูดกันลือลั่นสนั่นเมือง ทำให้ผู้พูดโกหกเสียหายหมดเครดิต ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย

20040-2.jpg

                 นักจิตวิทยาค้นพบว่า มนุษย์เราเริ่มโกหกตั้งแต่ทารกอายุ 6 เดือน คือ การแกล้งร้องไห้ ดูว่าจะมีใครมาโอ๋ไหม อายุ 2 ขวบ พูดได้ก็เริ่มโกหกด้วยคำพูด พออายุ 5 ขวบ วิธีการโกหกจะพัฒนามากขึ้นไปอีก

                 ตามหลักจิตวิทยามองว่าการโกหกของเด็กเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง คือ มีความบริสุทธิ์ใจ เพราะเด็กยังแยกจินตนาการกับความจริงไม่ออก เด็กมักโกหกเพราะความกลัว หรือต้องการเลียนแบบ คือ เลียนแบบจากสื่อทางทีวี เลียนแบบจากละครน้ำเน่า หรือเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่

                พอเติบโตขึ้น ระดับความโกหกจะซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผู้หญิงใช้สมองซีกขวาได้ดี สามารถเก็บอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงโกหกเพื่อรักษาหรือถนอมน้ำใจคนที่อยู่ใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน ผู้ชายมักจะโกหกเพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อปกปิดเรื่องราวบางอย่าง โดยเห็นว่าการโกหกเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด

                 ทางสถิติทั่วไปผู้ชายจะโกหกประมาณ 6 ครั้งต่อวัน ส่วนผู้หญิง โกหกประมาณ 2 ครั้งต่อวัน ผู้ชายโกหกมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า แต่เขา นับทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปด้วย เช่น ถามว่า สบายดีไหม อ๋อ ! ไม่เป็นไรสบายดี ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ค่อยสบาย แต่ไม่อยากจะคุย ไม่อยากจะพูดมาก หรือคิดว่าจะพูดให้คนอื่นเขารู้เรื่องของเราไปทำไม

               ประโยคโกหกยอดฮิตติดอันดับ คือ

               “คุณเป็นคนเดียวที่ฉันจะรัก ไปจนวันตาย”

               เคยมีการสอบถามว่า

               “ตกลงคุณรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า”

               คำตอบคือ “ไม่ครับ”

                แต่ว่าคนฟังรู้สึกดี เป็นการโกหกแบบขอไปที หรือประโยคที่ว่า “ฉันรับรองเลยว่า จะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ”

                นักจิตวิทยาจาก University of California ศึกษาวิจัยเรื่องการโกหกมากว่า 40 ปี เขาบอกว่า มนุษย์ทั่วไปยากจะหลีกเลี่ยงการโกหกได้

20040-3.jpg

                เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจว่าการโกหกที่เกิดขึ้นในชีวิตคือ อะไร แล้วพิจารณารูปแบบของการโกหกเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น

                เขาวิเคราะห์ออกมาว่าทำไมมนุษย์ถึงโกหก โดยจำแนกประเภทของการโกหกออกมาดังนี้

 

                 ประเภทแรก คือ

                 การโกหกเพื่อรักษาน้ำใจ หรือ “White Lies” หรือ “โกหกสีขาว” หมายถึง โกหกด้วยเจตนาถนอมความรู้สึกคนอื่น เกรงว่าถ้าบอกความจริงไป คนฟังโดยเฉพาะคู่รักหรือภรรยาอาจรับไม่ได้ แล้ว จะเสียใจหรือพาลโกรธไปเลย คำถามยอดฮิต เช่น

                 ถามว่า “ฉันอ้วนไหม”

                 ตอบว่า “ไม่อ้วนหรอก”

                 จริง ๆ คิดว่าคำว่าท้วมยังห่างไกลด้วยซ้ำไป

                 พอตอนลองเสื้อ “ชุดนี้สวยไหม” ตอบว่า “เออ...ดี สวยดี” จริง ๆ ไม่ชอบเลย

20040-4.jpg

              ถามว่า “ชอบของขวัญที่ซื้อไปให้หรือเปล่า”

              ตอบว่า “อ๋อ... ชอบมากเลย”

              บางทียังไม่ได้แกะกล่องด้วยซ้ำแถมบางคนจำไม่ได้อีกว่ากล่องไหน

             ถามว่า “กับข้าววันนี้อร่อยไหม”

              ตอบว่า “เอ้อ..อร่อยดี”

             ในใจคิดว่าสงสัยน้ำปลาหกใส่ หรือเผลอไปหยิบเกลือแทนน้ำตาล

             ทุกอย่างที่ตอบแบบอัตโนมัติเหล่านั้น ไม่ได้เป็นคำตอบจากใจ แต่เป็นคำตอบเพื่อรักษามารยาท ไม่ตอบตรงไปตรงมา มนุษย์เราเลยโกหก white lies กันมาก

 

              ประเภทที่ 2 คือ

              การโกหกเพื่อปกป้องตนเอง เพื่อเอาตัวรอด เช่น กลัวความผิด กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวเสียเกียรติ กลัวการเผชิญหน้า กลัวความผิดหวัง เป็นต้น

              การโกหกบางครั้ง ถึงขั้นโยนความผิดให้ผู้อื่น แม้กระทั่งการเป็นพยานในศาล บางทีเพื่อปกป้องตนเองเลยไปพูดใส่ความผิดให้คนอื่น เรื่องนี้เป็นลักษณะติดมาตั้งแต่เด็ก ถ้าผู้ใหญ่เข้มงวดมากเกินไป เด็กจะโกหกเพื่อปกป้องตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ

20040-5.jpg

              ประเภทที่ 3 คือ

             โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความลำบาก ความเดือดร้อน หรือคนอื่นมาขอความช่วยเหลือ เช่น

              ถาม “พรุ่งนี้ว่างไหม” ตอบ “ไม่ว่าง ติดธุระ”

              ที่จริงว่าง แต่ไม่อยากไปด้วย

              ถาม “มีเงินไหม” ตอบ “ไม่มี”

              ที่จริงมี แต่ไม่อยากให้ยืมเพราะกลัวไม่ได้คืน

              ถาม “ช่วยทำงานชิ้นนี้ให้หน่อยได้ไหม”

              ตอบ “ติดประชุม” หรือ “ติดนัด” ที่จริงไม่อยากทำ

              ถาม “เจ้านายไปประชุมต่างจังหวัดกับใคร”

              ตอบ “ไม่ทราบ” หรือ “ไม่ได้ไปกับใคร”

              ที่จริงทั้งรู้ทั้งเห็นว่าไปกับใคร

 

                ประเภทที่ 4 คือ

                โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการสนทนาที่ยาวนาน บางครั้งไม่อยากไปฟังคนมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กัน เลยอ้างเหตุปวดท้อง อ้างต้องรีบไปทำงานด่วน อ้างติดนัดใครต่อใครไว้จริง ๆ เป็นการหลีกเลี่ยง แต่เป็นเทคนิคที่เขามองว่าเป็นการโกหก

           

               ประเภทที่ 5 คือ

              โกหกเพื่อเข้าสังคม เพื่อยกระดับฐานะตนเองให้คนในสังคมยอมรับ

 

               ประเภทที่ 6 คือ

               โกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับ หรือได้รับความไว้วางใจ รักษาประโยชน์ตนเองไว้ ให้ได้งาน ได้ธุรกิจทำนองนี้

20040-6.jpg

Cr : nypost.com

 

               ประเภทที่ 7 คือ

               โกหกเพื่อโน้มน้าวใจคน เป็นคำโกหก ที่เรียงร้อยมาอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเกิดการคล้อยตามเพื่อหวังผลประโยชน์ตนเอง

 

              ประเภทที่ 8 คือ

              โกหกเพื่อยืนยันความคิดของตนเอง บางคนปักใจเชื่อความคิดตนเองว่าถูกต้อง มีความยึดมั่นในความคิดตนเองมากเกินไป เลยสรรหาคำพูดมาสนับสนุนความคิดตนเอง ไม่ยอมรับความผิดพลาด

 

              ประเภทที่ 9 คือ

              โกหกตนเอง ส่วนใหญ่คนจะโกหกตนเองก่อนโกหกคนอื่น หมายถึง หลอกตนเอง เช่น สูญเสียคนรักไป โกหกตนเองว่ายังไม่สูญเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่จริง เพื่อหวังคลายความทุกข์ไปชั่วขณะ ก็เลยโกหกตนเอง สุดท้ายก็โทษตนเอง

 

              เมื่อชีวิตนี้หลีกเลี่ยงการโกหกได้ยาก ถ้าไม่อยากให้เด็กหรือลูกเรา เป็นคนโกหก ก็อย่าไปไล่จี้หาความผิดเขา ทำให้เขาต้องปกป้องตนเอง นั่นคือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013361783822378 Mins