ทำงานเป็นทีมเเบบญี่ปุ่น

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2563

ทำงานเป็นทีมเเบบญี่ปุ่น

                   

                 คนญี่ปุ่นมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเรื่องการทำงานเป็นทีม ความรักในหมู่คณะ พร้อมที่จะเสียสละเพื่อหมู่คณะ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ได้นำความสำเร็จมาสู่หมู่คณะ องค์กร บริษัท และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น

20034-01.jpg

               แนวคิดสำคัญของการอยู่รวมกลุ่มกันของคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณมีอยู่ว่า สมาชิกแต่ละคนจะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ยึดถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่จะดูทิศทางและความคิดเห็นของหมู่คณะเป็นหลัก โดยทุกคนจะทุ่มเทอุทิศตนทำงานเพื่อหมู่คณะให้ดีที่สุด

 

               ในทางกลับกันหมู่คณะก็จะรับประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของสมาชิก กล่าวคือ ในทุก ๆ หมู่คณะจะมีแกนนำซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิก มาร่วมกันวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติตนของสมาชิก ผู้ที่ปฏิบัติตามก็จะได้รับหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเป็นการตอบแทน เช่น ระบบการจ้างงานตลอดชีพในบริษัทต่าง ๆ เป็นต้น

 

                การทำงานโดยคำนึงถึงหมู่คณะเป็นหลักนี้ เห็นได้จากการที่พนักงานบริษัทของประเทศญี่ปุ่นเกือบร้อยทั้งร้อย ไม่ค่อยใช้สิทธิ์ลาพักร้อน เพราะเขาไม่ได้คิดแต่เพียงว่า นั่นคือสิทธิ์ของเขา เขาย่อมลาได้ แต่กลับคิดว่า ถ้าหากเขาลาหยุดไป ก็เท่ากับว่าในขณะที่เขากำลังพักผ่อนอยู่นั่น พนักงานคนอื่น ๆ จะต้องทำงานหนักขึ้น คือต้องทำงานในส่วนของเขาด้วย

20034-02.jpg

                     เมื่อมีความรู้สึกห่วงใยในหมู่คณะเช่นนี้ พนักงานส่วนใหญ่จึงไม่ยอมลาพักร้อน จนกระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งในประเทศญี่ป่นต้องออกจดหมายเวียน ประกาศขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนช่วยกันใช้สิทธิ์ลาพักร้อนด้วย มิฉะนั้นทางบริษัทจะถูกเพ่งเล็งจากกระทรวงแรงงาน

 

                    ชาวญี่ปุ่นมีคติพจน์บทหนึ่งว่า "จงตีตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา" คือ ถ้ามีใครทำตัวผิดแปลกไปจากหมู่คณะ เช่น อวดเด่น อวดฉลาด ก็จงช่วยกันทุบให้จมลงไปเพื่อให้เกิดความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน คนต่างชาติฟังแล้วก็ตกใจ บางท่านตั้งคำถามที่น่าคิดว่า ถ้าทุกคนต้องทำอะไรเหมือน ๆ กันหมด ความคิดสร้างสรรค์จะถูกจำกัดหรือไม่ ?

 

                     คำตอบ คือ "ไม่" เพราะการทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับผู้อื่นนั่นไม่ได้หมายความว่า จะเสนอความคิดหรือทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์คิดหรือเสนอสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา แต่ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ผู้ที่มีความสามารถต้องเรียนรู้วิธีการนำเสนออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แสดงอาการโอ้อวดข่มทับผู้อื่น แต่มุ่งประโยชน์และความก้าวหน้าของหมู่คณะอย่างแท้จริง

 

                     เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกต่อต้านหรือหมั่นไส้ก็จะไม่เกิดขึ้น ทุกคนพร้อมรับฟังและให้ความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคีและความก้าวหน้าจึงเกิดขึ้นได้

20034-03.jpg

Cr : https://jopus.net/wp-content/uploads/2019/12/shutterstock_1173479044.jpg

 

                    ในประเทศญี่ปุ่น การที่คนจะเด่นจะดังขึ้นมาได้ต้องมาจากการทำความดีอย่างต่อเนื่อง หมั่นสร้างผลงาน จนทุกคนค่อย ๆ ยอมรับและยกย่องเชิดชู เพราะการยกย่องต้องมาจากผู้อื่นเท่านั้น ใครที่ยกตนเองขึ้นมาโอ้อวด ก็จะถูกทุบลงไปแทบจะในทันทีทันใด คนที่อยากเติบโตจึงต้องทำความดีมาก ๆ จะโตแบบกลวง ๆ ไม่ได้เลย

 

                   ตะปูที่โผล่ขึ้นมาแม้เพียงตัวเดียวก็สร้างความเสียหายได้ เปรียบเสมือนคนเก่งประเภทข้ามาคนเดียว ซึ่งทำให้หมู่คณะรวนได้ แม้คนญี่ปุ่นจะชื่นชอบคนเก่ง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับทีม เขาเลือกเอาทีมไว้ก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งคนเก่ง เพียงแต่ต้องการฝึกคนเก่งให้กลมกลืนเข้ากับหมู่คณะให้ได้ เพื่อนำความเก่งออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เขาจึงสอนให้ตีตะปูที่โผล่ขึ้นมา ไม่ได้ให้ถอนตะปูทิ้ง แต่ก็ไม่ทะนุถนอม ไม่เอาใจคนเก่งจนทำให้ทีมรวน

 

                   วิธีฝึกให้เกิดการทำงานเป็นทีมนั้น ผู้นำของทีมมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งการชี้แนะและการทำตัวเป็นแบบอย่าง ผู้นำ ต้องให้ความสำคัญกับทีมมากกว่าตัวบุคคล ควรยกย่องผู้ที่ทำงานเป็นทีม อีกทั้งต้องมอบหมายงานเป็นทีม ให้คุณให้โทษเป็นทีม และสิ่งที่สำคัญมากก็คือ ผู้นำต้องมีความยุติธรรม

20034-04.jpg

Cr : workinjapan.today

 

                      ปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า พนักงานในบริษัทญี่ปุ่นมีความจงรักภักดีต่อบริษัทอย่างมาก จนมีผู้วิเคราะห์ว่า ความจงรักภักดีนี้เป็นผลมาจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่น มุมมองเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเรามองในอีกมุมหนึ่งน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า คือมองว่า วัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่ง แม้จะมีผลต่อพฤติกรรมของคนชาตินั้น แต่วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

                     ความสำเร็จที่แท้จริง ย่อมมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ และการลงมือทำงานอย่างต่อเนื่องจริงจังต่างหาก เพราะเมื่อ 40 กว่าปีก่อน พนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่น ก็เคยเดินขบวนประท้วงบริษัทกันอย่างหนักไม่แพ้ชาติไหน ๆ จนทำให้บริษัทแทบล้มละลายไปตาม ๆ กัน ต่อมาผู้บริหารจึงปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออกของปัญหา ก็พบว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรม

 

                     ผลกำไรของบริษัทในแต่ละปีจะถูกแบ่งปันอย่างยุติธรรมให้กับทุกคน ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้สึกรักในบริษัทจึงเกิดขึ้น ทุกคนมีความรู้สึกว่าบริษัทเป็นของตนและต่างคนต่างทุ่มเททำงานกันเต็มที่

 

                      เพราะเมื่อบริษัทมีผลกำไรมาก ทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์มากตามไปด้วย พนักงานกับผู้บริหาร จึงไม่ใช่ศัตรูที่คอยจ้องจะตำหนิหรือเอาเปรียบกันอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนในทีมเดียวกัน มีผลได้ผลเสียร่วมกัน เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดและความสามารถของแต่ละคนเท่านั้น

 

                        เมื่อบริษัทหนึ่งทำแล้วได้ผล บริษัทอื่นก็ทำตามอย่าง จนทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมความจงรักภักดีต่อบริษัทของคนญี่ปุ่นนั้น ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อ 40 ปีมานี้เอง และในอนาคต ถ้าเงื่อนไขเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้

 

                       ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่คนไทย แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงไม่แพ้ใคร เคยมีผู้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า ถ้าคนไทยกับคนญี่ปุ่นแข่งกันตัวต่อตัว คนไทยเราชนะขาด ถ้าแข่งกันสองต่อสอง ผลคือ เริ่มจะสูสี แต่เมื่อไรแข่งขันเกินสามคนแล้วละก็ ญี่ปุ่นชนะขาด เพราะคนไทยมัวแต่ทะเลาะกัน ปัดแข้งปัดขากันเอง

20034-05.jpg

20034-06.jpg

20034-07.jpg

Cr : หนังสือพิมพ์สยามกีฬา , หนังสือพิมพ์โลกกีฬา , หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

                       อย่างไรก็ตาม ในอดีตเรื่องราวความสำเร็จของคนไทยที่สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างน่าภาคภูมิใจก็มีอยู่เช่นกัน ดังความสำเร็จของกลุ่มนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดบี หรือที่เรียกกันว่า ดรีมทีม ในการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งนักฟุตบอลในทีมชาติชุดนี้ ไม่มีใครที่โดดเด่นในระดับที่เป็นดาราดังเลยแม้แต่คนเดียว

 

                      แต่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจฝึกซ้อมอย่างหนักด้วยใจมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียวกัน จนสามารถเอาชนะทีมที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากต่างประเทศได้อย่างงดงาม ครองแชมป์ชนะเลิศได้ท่ามกลางความชื่นชมของผู้คนทั้งหลายอย่างเป็นประวัติการณ์

 

                     เมื่อตั้งใจจริง คนไทยก็ทำได้ ดังนั้นเรามาช่วยกันสร้างนิสัยทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นกับหมู่คณะของเรากันเถิด

 

"สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี"

"ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข"

(พุทธพจน์)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012750824292501 Mins