พลิกมุมคิดชีวิตสมดุล
ด้วย กฎ 80-20 เเห่งพาเรโต
ทุกท่านเชื่อหรือไม่ เรื่องสำคัญๆ ในทุกมิติของคนเรา ทั้ง เวลา ตัวเงิน กำลังกาย กำลังใจ ที่เราทุ่มลงไป อาจเป็นส่วนน้อยแค่ 20 % แต่นำมาซึ่งผลส่วนใหญ่ถึง 80 % และในทางกลับกัน ที่เราเสียไปวันละ 80 % แต่เกิดผลกลับมาสู่เราเพียงแค่ 20 % ก็มี
โดยสรุปหลักการก็คือ เรื่องส่วนน้อยให้ผลส่วนใหญ่ แต่เรื่องส่วนใหญ่ให้ผลส่วนน้อย
อันนี้เป็นเรื่องจริง ในทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามองในแง่เกี่ยวกับเรื่องการใช้เวลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “มนุษย์เราเหมือนคนที่มัวเพลินเที่ยวชมสวนอยู่”
มัวเก็บดอกไม้เพลิดเพลินจนเวลาในชีวิตหมดไปวันๆ ลืมไปว่าเราเกิดมาทำไม เป้าหมายปลายทางของชีวิตอยู่ตรงไหน พอเป็นอย่างนี้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตก็หมดไปกับเรื่องที่ไม่ควร เหลือเวลาที่ใช้เพื่องานหลักจริงๆ ของชีวิต อาจไม่ใช่ 80/20 แทบจะเป็น 99 กับ 1 เสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่เราทำแล้วเป็นสาระจริงๆ ของชีวิต เป็นบุญเป็นกุศล เป็นที่พึ่งให้ตัวเราจริงๆ เพียงแค่เปอร์เซ็นต์เดียวของเวลา
หรือบางคนแทบจะร้อยต่อศูนย์เลยทีเดียว ทั้งวันไม่ได้ใช้เวลาในการทำความดีเลย ไม่ได้สั่งสมบุญกุศลเลย หมดไปกับเรื่องทำมาหากิน เรื่องการไปเที่ยวเตร่เพลิดเพลิน คิดนั่นคิดนี่วุ่นวาย เรื่องที่จะใช้เวลาในการทำบุญทำกุศล ทั้งทำทาน รักษาศีล หรือทำสมาธิภาวนา ไม่มีเลยทั้งวันอย่างน่าเสียดาย
เมื่อรู้หลักความจริงอย่างนี้แล้ว เราควรทำอย่างไร คำตอบก็คือ เราควรจะต้องใช้เวลา ใช้กำลังกายกำลังใจ ความคิดสติปัญญาและทรัพยากรของเราให้คุ้มค่า คือ “ใช้อย่างมีสติ” ตั้งแต่เรื่องงานคือ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องสำคัญ ให้ใช้เวลา ความคิด ทุ่มทรัพยากร กับเรื่องนั้นมากหน่อย
เพราะมันให้ผลใหญ่กับเรา รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน จัดสรรเวลาและทรัพยากรทุกอย่างให้กับสิ่งนั้นให้สมส่วนกัน อย่างนี้ผลลัพธ์ก็จะดีขึ้น
เช่น ถ้าเราทุ่มเวลา 20 % ได้ผลลัพธ์ 80 % แต่ถ้าเราเพิ่มเวลาเป็น 40 ผลลัพธ์เราอาจจะเป็น 160 นั่นก็คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเราดีขึ้นกว่าเก่า
ยกตัวอย่าง ถ้ามองในแง่การใช้เวลาให้คุ้มค่า สิ่งหนึ่งที่ถือว่าใช้เวลากับชีวิตที่คุ้มค่าก็คือ การนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม เราอยู่ครองเรือนทางโลก มีภารกิจเรื่องทำมาหากิน เรื่องครอบครัว เรื่องผู้คน ปัญหาเยอะแยะมากมาย เรื่องทางโลกจะคอยพัวพันตัวเราเอาไว้ บางคนบอก อยากมาวัดอยากปฏิบัติธรรมแต่ไม่มีเวลา
แต่เราจะพบว่า จริงๆ แล้วที่อ้างไม่มีเวลา มันอยู่ที่การให้ความสำคัญ ยกตัวอย่าง
มีศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นมาบวชมาปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย พอรู้ถึงเป้าหมายชีวิต รู้ถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรมแล้ว กลับไปญี่ปุ่นยังนั่งสมาธิวันละ 4 ชั่วโมง
เป็นศาสตราจารย์ เป็นคณบดี เป็นผู้บริหาร เป็นนักวิชาการ ต้องสอนหนังสือค้นคว้าวิจัยภารกิจการงานมากมาย แต่มีเวลานั่งสมาธิวันละ 4 ชั่วโมง จริงๆ ก็คือ อยู่ที่การให้ความสำคัญ
ถ้ารู้และเห็นความสำคัญเราจะจัดสรรเวลาได้ เพราะรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ให้ผลใหญ่กับเราข้างหน้า อย่างอื่นที่หมดไปวันๆหนึ่ง เช่น ความงดงามของร่างกาย การบริหารขันธ์ ก็จำเป็น แต่ต้องใช้ให้พอดี เพราะร่างกายนี้ไม่ได้ตายตามเราไป ที่จะเหลือไปจริงๆ ก็คือบุญบาปที่อยู่ในใจของเรา ที่จะติดตัวไปเบื้องหน้าได้
เรื่องที่ติดตามใจเข้ามาพัวพันกับเรานั้น ก็ทำให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติธรรมของเราไม่เหมือนกัน เช่น นั่งสมาธิอยู่ด้วยกัน
บางคนคิดนั่นคิดนี่ นั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง แม้ขณะกำลังนั่งหลับตา แต่ผลแห่งการปฏิบัติได้จริงๆ อาจแค่ 20 % บางคนอาจแค่ 5 % ส่วนอีก 95 % เป็นเวลาฟุ้งซ่านก็มี เพราะฉะนั้นให้เราค่อยๆ ขมวดจากชีวิตที่ปล่อยสะเปะสะปะไป
ให้จัดเวลาปฏิบัติธรรมด้วย เวลาของการปฏิบัติธรรมคือเวลาที่ใช้ไปเป็นส่วนน้อย แต่จะให้ผลส่วนใหญ่กับชีวิต และในช่วงเวลาปฏิบัติธรรมนั่นแหละ เราอาจจะพบว่า เวลาเพียงแค่ 1% ของแต่ละวัน คือเวลาที่ให้ผลกับเราถึง 99% ก็เป็นไปได้
อย่างไรขอย้ำว่า ควรนั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง แล้วเราจะพบว่าเวลา 1 ชั่วโมง ไม่เฉพาะเป็นบุญกุศลอย่างเดียว แต่ว่ายังทำให้เราใช้เวลาอีก 23 ชั่วโมงที่เหลืออย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
ชีวิตโดยรวมดีขึ้นอย่างไม่รู้ตัว อารมณ์เราเบิกบานแจ่มใส จะเจรจาธุรกิจการงานราบรื่น จะคิดอ่านการใดก็ปลอดโปร่ง เพราะกำลังบุญหนุนส่ง เป็นวงจรบวกโดย automatic อย่างที่เราไม่รู้ตัว ผลลัพธ์ไม่ต้องรอชาติหน้า
แต่จะเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ชาตินี้ ตั้งแต่วันที่นั่งเป็นต้นไปเลยทีเดียว อย่างนี้ คือการให้ความสำคัญกับเรื่องที่สำคัญ อย่างถูกต้อง ถูกวิธี
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ