เคล็ดลับสู่ความสุข
ทุกคนอยากมีความสุขทุกคนอยากมีความสำเร็จมิใช่เพียงแค่ในหน้าที่การงาน แต่ในทุกด้านของชีวิตมิใช่เพียงแค่ความสุขชั่วครู่หรือความสำเร็จชั่วคราวแต่เป็นความสุขและความสำเร็จที่มั่นคงยั่งยืน แล้วเหตุใดโลกทุกวันนี้ จึงมีน้อยคนนักที่สมปรารถนา
การที่ชีวิตคนเรายังไม่อาจประสบความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืน น่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง
คนเราทุกคนต่างก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เราเองก็ยังไม่สมบูรณ์ยังมีข้อบกพร่อง คนอื่นก็ยังมีข้อบกพร่อง เราลองถามตัวเองหรือถามคนรอบข้างดูสิว่า ใครคิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ ไม่มีข้อบกพร่องเลยบ้าง ซึ่งเราจะพบว่า ไม่มีเลย
แล้วถ้าหากมีใครสักคน บอกว่าตนเองนี่แหละสมบูรณ์แบบ ทุกคนคงจะอึ้ง แล้วมองว่าคนผู้นั้นเป็นคนที่หลงตัวเองอย่างหนักก็เป็นได้
ประการที่สอง
คนเราทุกคนต่างมีทิฐิมานะ คือ ความถือตัว ถือตนว่าเราทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว หรืออยู่ในสถานะที่ดีแล้วใครทำอะไรที่มากระทบศักดิ์ศรีของเราเข้าหน่อย เป็นต้องมีเรื่องขัดใจกัน
ประการที่สาม
คนเรามักลืมความดีของผู้อื่น เวลาที่มีเรื่องไม่ชอบใจทั้งสามประการนี้เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้คนเราประสบ
ความสุขความสำเร็จอย่างยั่งยืนทั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดกระบวนการบั่นทอนศักยภาพของแต่ละบุคคลอีกด้วย โดยมีขั้นตอนการเกิดขึ้นดังนี้
เมื่อคนเราทำงานร่วมกัน หรือใช้ชีวิตร่วมกัน แม้จะเข้ากันได้ดีมีความสุข แต่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็คงต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง เนื่องจากคนแต่ละคนล้วนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เมื่อไรข้อบกพร่องมากระทบกันเข้าก็มักจะเกิดเรื่อง ประกอบกับแต่ละคนก็ล้วนมีทิฐิมานะถือดีถือว่าตัวเราเป็นฝ่ายถูก เขาเป็นฝ่ายผิด
เรื่องราวจึงบานปลาย ยิ่งมาบวกกับการเป็นคนขี้ลืม คือลืมความดีของอีกฝ่าย เพราะมัวแต่นึกถึงข้อบกพร่องของเขา ทั้งที่ส่วนดีของเขาก็มีอยู่ไม่น้อย เคยช่วยเหลือกันมาก็มาก แต่กลับนึกไม่ออก
เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันจึงไม่มีใครยอมใคร เราก็จะเลือกว่าถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี ยิ่งคิดยิ่งหงุดหงิด ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจ ยิ่งคิดยิ่งแค้น ทำไมเขาถึงทำกับเราอย่างนี้ จะมีแต่คำว่า "ทำไม .. ทำไม" อยู่ในใจ
สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดความคิดที่ว่า เราสู้อุตส่าห์ทุ่มเททำงานมาขนาดนี้ ทำไมถึงไม่เห็นความสำคัญของเราไม่ให้เกียรติเรา เมื่อคิดอย่างนี้ เวลาทำงานก็จะเริ่มเกิดอาการเฉื่อยชา ทำอะไรก็ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่อยากทำ ด้วยหมดกำลังใจ พร้อม ๆ กับเกิด
ความคิดหนึ่งขึ้นมาในใจอีกว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" จึงลดฝีมือการทำงาน ลดความทุ่มเทในงาน และบางคนก็ถึงกับลาออกจากงาน เพื่อจะให้ผู้อื่นเห็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากไม่มี "ฉัน" ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง
คนที่มีความคิดว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" นั้น สุดท้ายคนที่จะต้องรู้สึกเดือดร้อนมากที่สุดก็คือตัว "ฉัน" ที่ยึดมั่นถือมั่น ถือตนถือตัวนั่นเอง
ดังนั้นผู้ปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องไม่มีความคิดที่ว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" เกิดขึ้นมาในใจโดยเด็ดขาด
การแก้ปัญหาโดยเอากิเลสมาข่มกันไม่เคยเกิดผลดี การเอาชนะคะคานกันด้วยทิฐิมานะ ล้วนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการหนีปัญหาก็ไม่ใช่ทางออกของชีวิต เพราะคงต้องหนีไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่สาเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ เมื่อรู้ว่าเราเองมีอาการขี้ลืมก็ให้รู้จักทบทวนความดีของผู้อื่น ทบทวนให้มากให้ตรงตามความเป็นจริง เขามีข้อดีตรงไหนบางอย่างเป็นความดีที่เขาทำกับเราโดยตรง บางอย่างเป็นสิ่งที่เขาทำให้เกิดผลดีต่อหมู่คณะ ต่อองค์กร เราก็จะเห็นความดีที่เขามีอยู่
อย่างไรก็ตามถ้าคิดถึงความดีของผู้อื่นไม่ออก หรือไม่อยากจะคิด เพราะความโกรธ ความหงุดหงิด ความน้อยใจขอแนะนำว่าให้ใช้วิธีเขียน เพราะการเขียนจะช่วยจัดระเบียบความคิดให้เป็นขั้นเป็นตอน
เมื่อเราได้ค่อย ๆ พิจารณาทบทวนไป ความทรงจำถึงความดีนั้นจะค่อยๆคืนมา เมื่อเห็นถึงความดีของผู้อื่นใจเราก็จะสบายสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้ดีขึ้นได้ การบริหารจัดการในหมู่คณะก็จะราบรื่น ประสานกันได้ดี
ขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับมามองดู ข้อบกพร่องของตัวเราเอง ว่าตัวเรามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง เพราะเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการกระทบกระทั่งกันนั้น เราเองก็มีส่วนอยู่ด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ลองพิจารณาดูข้อบกพร่องของตัวเองบ่อย ๆ ดูความดีของคนอื่นเขาบ่อย ๆ เช่นนี้แล้ว เราก็จะปรับสมดุลได้ โรคขี้ลืมจะเริ่มหาย ทิฐิมานะก็จะเบาบาง เพราะพบว่าเราเองก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ ข้อบกพร่องก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เมื่อตระหนักอย่างนี้ก็พอจะยอมรับกันและกันได้ ความขุ่นมัวก็จะคลาย ใจจะเริ่มใสขึ้น เริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆตามความเป็นจริง รู้ว่าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
ถ้าตัวเรามีสติอีกสักนิด ทำอะไรให้รอบคอบรัดกุมอีกสักหน่อย ก็คงจะไม่เกิดเรื่อง ใจที่เปิดแล้วจะทำให้เราแก้ปัญหาได้ง่าย โดยแก้ที่ตัวเราเองก่อน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วชีวิตเราก็จะก้าวหน้า เพราะได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
นักทำงานคนไหนที่คิดได้อย่างนี้ เมื่อมีเรื่องมากระทบก็จะไม่หงุดหงิด ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะถูกผู้ใหญ่ว่ากล่าว ตำหนิเพราะความเข้าใจผิด ก็จะไม่น้อยอกน้อยใจ เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกเหล่านั้นมีแต่จะบั่นทอนตัวเอง
ดังนั้นเมื่อมีเหตุมากระทบ ขอแนะนำให้ทำใจนิ่ง ๆ แล้วก็ทำความดีต่อไปอย่างไม่ลดละ ด้วยความสุขุมรอบคอบ ด้วยสติและด้วยปัญญา สักวันความจริงก็จะปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และเมื่อนั้น คุณค่าในตัวเราที่ได้ตั้งใจทำงานด้วยความหนักแน่น ก็จะทำให้เราได้รับความเชื่อถือไว้วางใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ดังนั้น เมื่อตัดสินใจทำอะไรจึงต้องมองให้ไกล อย่าไปติดใจแค่ประเด็นเฉพาะหน้า อย่าปล่อยให้ความคิดลบมาบั่นทอนศักยภาพ และอย่าหนีปัญหา จนตัดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ตรงข้ามถ้าเราหนักแน่นมั่นคง เดินหน้าพัฒนาศักยภาพ ทำงานออกมาให้ดียิ่งขึ้น ความดีที่ทำจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้
ในด้านอื่น ๆ ของชีวิตก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การสร้างครอบครัว หรือการสร้างบารมีหากเราได้นำหลักการเหล่านี้ไปประคองชีวิต เราก็จะสามารถสั่งสมคุณค่าในตนเอง จนสามารถพบกับความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้
จากการสังเกตเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้พบว่าชนเผ่าเร่ร่อนเป็นกลุ่มชนที่ยากจะสร้างอารยธรรมที่รุ่งเรืองได้ เช่นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย เมื่อเร่ร่อนไปพบว่าพื้นที่ตรงไหนมีแอ่งน้ำ ทุ่งหญ้า ก็จะต้อนฝูงสัตว์ไปกินหญ้ากินน้ำตรงนั้น พอหญ้าหมด น้ำหมด ก็ย้ายไปที่ใหม่ แสวงหาไปเรื่อย ๆ
การดำรงชีวิตเช่นนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นชีวิตที่สบายไม่ต้องเสียเวลาปลูกหญ้า อาศัยของธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ เช่นนี้จึงทำให้ไม่มีความคิดที่จะตั้งหลักแหล่งสร้างบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรงถาวร
กรณีของคนทำไร่เลื่อนลอยก็เช่นกัน ใช้วิธีเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูก เมื่อปลูกพืชไปจนดินหมดสภาพก็จะย้ายที่ไปเผาป่าที่อื่นต่ออีกจึงไม่ได้พัฒนาความรู้ในการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่สามารถลงหลักปักฐานหรือคิดสร้างสรรค์อะไรที่ยั่งยืนได้เลย
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่อากาศหนาวเย็น โดยส่วนใหญ่จะมีความเจริญทางอารยธรรมมากกว่าเขตร้อน เพราะถูกบีบคั้นจากสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศขณะที่กลุ่มชนในเขตร้อนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายกว่า อากาศไม่หนาวเกินไปไม่ร้อนเกินไป นอนใต้ต้นไม้ก็ยังอยู่ได้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หาเช้ากินค่ำก็อยู่ได้ไม่อดตาย เมื่อธรรมชาติไม่ค่อยบีบคั้นจึงดำเนินชีวิตไปแบบสบาย ๆ
ส่วนในเขตเมืองหนาว ถ้าคิดทำงานแค่หาเช้ากินค่ำจะไม่สามารถรอดได้ เพราะจะอดตายในฤดูหนาว ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนซึ่งพอจะแสวงหาอาหารได้ จึงต้องเตรียมเสบียงไว้สำหรับฤดูหนาว
นอกจากนี้การจะรับภัยหนาวได้นั้นจะต้องสร้างบ้านเรือนอย่างมั่นคงก่อด้วยอิฐหินอย่างแน่นหนา เรียกว่าธรรมชาติบังคับ ทำให้คนรู้จักต่อสู้กับอุปสรรค รู้จักการวางแผนระยะยาว อย่างน้อยก็ต้องปีชนปี เพราะความอดทนยืนหยัดสู้เช่นนี้ จึงสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้
ตรงกันข้าม ถ้าพบอุปสรรคแล้วหนีไปเรื่อยๆอพยพเร่ร่อนไปเรื่อยๆไปหาที่สบายกว่าดีกว่าย่อมไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าได้
ชีวิตของเราก็เช่นกันไม่ว่าจะทำงานที่ใด ย่อมมีอุปสรรคทั้งนั้น ถ้ามีอุปสรรคแล้วน้อยใจลาออก ย้ายที่หนีไปเรื่อย ๆ
สุดท้ายก็จะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้ายืนหยัดสู้ ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเอง ไม่หนีปัญหาสุดท้ายเราจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสุขและความสำเร็จอย่างยั่งยืน
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ