กิจที่พึงกระทำในวันเกิด

วันที่ 18 มิย. พ.ศ.2564

19-6-64-1-b.jpg

กิจที่พึงกระทำในวันเกิด

              เมื่อเรารู้แล้วว่าการเกิดเป็นคนนั้นยาก กว่าจะได้เกิดจะต้องสร้างสมบุญมากพอ เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ก็ควรเร่งสร้างสมบุญไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันเกิดเวียนมาบรรจบ อย่างน้อย ๆ สิ่งที่เราจะต้องคิดถึงก็มีอยู่ ๒ อย่างคือ
๑. สร้างบุญต่อ เพื่อจะได้มีโอกาสเลือกเกิด 
๒. หาทางทดแทนพระคุณพ่อแม่

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนวิธีทำบุญไว้ถึง ๑๐ วิธี  ด้วยกันซึ่งเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. บุญสำเร็จด้วยการทำภาวนา
๔. บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง
๕. บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นในสิ่งที่ชอบ
๖. บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้กับผู้อื่น
๗. บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา เมื่อเห็นคนอื่นทำความดี
๘. บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นของเราให้ตรง

 

๑.บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน


              เมื่อถึงวันเกิดก็ควรทำบุญตามกำลัง ใครมีกำลังมาก จะนิมนต์พระสักเก้ารูป ไปถวายภัตตาหารก็ได้ ถ้ามีกำลังมากกว่านั้น ก็อาจจะถวายภัตตาหารพระทั้งวัด หรือจะตักบาตรพระเท่าอายุ หรือจะกี่ร้อยองค์ หรือจะนิมนต์พระมาที่บ้านให้เป็นกิจลักษณะได้ก็จะดีมาก เป็นการทำบุญให้ทานเต็มรูปแบบ การทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการยึดอายุพระพุทธศาสนา ให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณรให้มีเรี่ยวแรงปฏิบัติธรรมแล้ว ยังเป็นการฟอกจิตใจของเราให้พ้นจากอำนาจความตระหนี่อีกด้วย

 

               การทำบุญวันเกิดจะถือว่า เป็นการทำบุญปรารภชีวิตก็ว่าได้ คือเป็นการแสดงความปีติยินดี ที่เราได้มีชีวิตผ่านพ้นอันตรายรอบด้านมาได้ด้วยดีอีกปีหนึ่ง ชาวพุทธจึงถือเป็นประเพณีว่า พอถึงวันเกิดนอกจากจะทำบุญเลี้ยงพระแล้วก็มักจะไปปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า หรือปล่อยสัตว์ที่จะถูกฆ่าควบคู่ไปด้วย เป็นการให้ชีวิตเป็นทานเพราะไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่รู้จักรักชีวิต แม้แต่สัตว์ก็เช่นกัน การให้ชีวิตเป็นทานนอกจากจะเป็นการเพิ่มเมตตาบารมีให้แก่ตนเองแล้ว ยังมีอานิสงส์ส่งผลให้ผู้นั้นมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย

 

                 นอกจากนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสถึงอานิสงส์ของการให้ทานแบบต่าง ๆ อีกไว้ว่า


อนฺนโท พลโท โหติ วตฺถโท โหติ วณุณโท
ยานโท สุขโท โหติ ทีปโท โหติ จกฺขโท


ผู้ให้ข้าวเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้กำลัง
ผู้ให้เสื้อผ้าเป็นทานย่อมชื่อว่าให้ผิวพรรณ
ผู้ให้ยานพาหนะเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้ความสุข
ผู้ให้ประทีปเป็นทาน ย่อมชื่อว่าให้จักษุ

 

๒. บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล


                  นอกจากทำทานแล้ว ก็ควรตั้งใจรักษาศีลอย่างดี ถ้าตามธรรมดาศีล ๕ ก็ไม่เคยรักษา หรือรักษากะพร่องกระแพร่งเต็มที ในวันเกิดก็ควรจะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เลยทีเดียว แต่ถ้ารักษาศีล ๕ เป็นปกติอยู่แล้ว พอถึงวันเกิดก็ขอศีลแปดสักวันเถอะ ถ้าคิดจะทำบุญกันละก็ ต้องทำให้เต็มที่

 

                  ในสมัยโบราณเท่าที่อาตมาค้นพบ ผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา ในวันธรรมดาเขาจะถือศีล ๕ พอถึงวันพระก็จะถือศีลแปด พอวันเกิดเขาก็จะถือศีลแปดกันอีกทั้งสามีภรรยา ยกตัวอย่าง เช่น ภรรยาเกิดวันจันทร์ สามีเกิดวันอังคาร เขาจะถือศีลแปด ทั้งวันพระ วันจันทร์ และวันอังคาร เป็นอันว่าใน ๗ วัน เขาถือศีล ๘ เสีย ๓ วัน ถ้ามองในแง่ของการวางแผนครอบครัวก็เป็นวิธีที่ ได้ผลดีทีเดียวเรียกได้ว่า ในสัปดาห์หนึ่งมีการคุมกำเนิดเสีย ๓ วัน ถ้ามองในแง่บุญกุศล ก็บอกได้ว่า สามวันที่ทำใจให้เป็นบุญกุศลนั้นย่อมได้บุญมาก

 

                เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวลูกจะเกิด ก็จะได้ปฏิสนธิวิญญาณที่ดี ๆ มาเกิด เป็นชนิดเชิญเกิด ไม่ใช่ชิงมาเกิด อาตมาก็ขอฝากไว้กับพ่อบ้านแม่เรือนทั้งหลายด้วยนะ ถ้าอยากได้อภิชาตบุตร คือลูกที่ดีกว่าพ่อแม่ หรืออยากได้ลูกแก้วละก็ จะต้องสร้างเหตุที่ดี ด้วยการทำตัวให้เคร่งครัดเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องของการบริจาคทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา

 

 ๓. บุญสำเร็จด้วยการทำภาวนา 


                จิตของคนเราเป็นธรรมชาติรู้ที่ละเอียดสุขุม และมักจะตกไปในอารมณ์อันน่าใคร่ได้โดยง่าย แต่ถ้าได้รับการคุ้มครองไว้ดีแล้ว จิตของผู้นั้นก็ย่อมจะสว่างผ่องใส สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยใจเป็นกลาง ภาวะจิตเช่นนี้ จะนำสุขมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอย่างยิ่งทีเดียว

 

                ดังนั้น พอตื่นนอนตอนเช้าขึ้นมา ก็ให้กำหนดใจน้อมระลึกถึงพระธรรมกายในตัว ทำจิตให้สดชื่นแจ่มใส ตั้งใจกราบพระสามครั้งแล้วสมาทานศีลห้า หรืออุโบสถศีลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำลังศรัทธา แล้วเจริญภาวนาอย่างน้อย ๒๐-๓๐ นาที

 

                จากนั้นก็ระลึกถึงพระคุณของบิดา มารดา และบรรพบุรุษของเรา ระลึกถึงพระคุณของผู้มีอุปการคุณ เช่น ครูอาจารย์ ตามระลึกถึงความดีที่ได้บำเพ็ญมา ทั้งของตัวเราเอง ของญาติมิตร แม้กระทั่งของลูกน้อง ของลูกหลานและคนใกล้ชิดของเราเพื่อให้เกิดปีติโสมนัส หากมีสิ่งใดที่คิดแล้วทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ก็อย่าไปคิดอย่าไปทำเป็นอันขาด ประคองรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย และระลึกถึงธรรมกายเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา 

 

๔. บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน


                คนเราต่างมีความถือตัวด้วยกันทุกคน ความถือตัวนี่แหละเป็นอุปสรรคในการทำความดี ถ้ารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนเสียบ้าง ไม่ถือตัวว่าวิเศษกว่าใคร ๆ แล้วยกตนข่มผู้อื่น งานของเราก็จะไปได้ดี
 

                ดังนั้นพอถึงวันเกิด จึงควรที่จะไปแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเสียบ้าง เช่น ควรจะเตรียมของฝากของขวัญหรือแจกันดอกไม้ไปกราบแสดงคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ นับตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาเป็นต้น ท่านก็จะยิ่งเพิ่มความเมตตาเอ็นดูให้แก่เรา รวมทั้งไปขอขมาใครต่อใครที่เราเคยล่วงเกินไว้เสียด้วย ทำเสียให้ครบ การอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างนี้ยังเป็นวิธีปิดบัญชีบาปได้อย่างดี ทำแล้วใจสบาย ใจเปิด บุญจะไหลมาเทมาด้วยอำนาจของความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่


                ปู่ย่าตายายของเราทำมาอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าพอถึงวันเกิดจะมานั่งตัดเค้กเป่าเทียนให้ขึ้นควันฟุ้ง ร้องรำทำเพลง หรือกินเหล้าเมามายเป็นการแบกบาปต่อไปอีก

 

๕. บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นในสิ่งที่ชอบ


                 นอกจากจะสร้างคุณความดี เพื่อประโยชน์ของเราโดยตรงแล้วก็ควรจะช่วยสงเคราะห์ผู้ใกล้ชิดด้วย อาจจะประกาศขันอาสาว่า ใครมีอะไรจะให้ข้าพเจ้าช่วยบ้าง ขอให้บอกมา ยินดีจะทำให้ หรืออาจจะพาพ่อแม่ไปตรวจสุขภาพ หรือพาแม่บ้านไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ตามที่เขาปรารถนา พาลูกไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่ลูกขอร้อง สิ่งใดที่เป็นการบุญกุศลของคนอื่นเขาแล้วยังไม่เสร็จ เราช่วยได้ก็ช่วยจัดการให้ เป็นการยกภาระที่คั่งค้างอยู่ให้หมดไป ถึงคราวบุญนี้ส่งมาถึงเรา มีอะไรคั่งค้างอยู่ พอถึงวันเกิดก็ลุยได้เสร็จหมด 

 

                  ใครที่มีงานคั่งค้าง อยากจะทำแต่ก็ผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา ไม่ได้ฤกษ์สักที ก็ถือเอาฤกษ์วันเกิดนี่แหละลุยให้เสร็จไปเลย ปู่ ย่าตายายของเราก็ทำกันมาอย่างนี้ไม่เฉพาะแต่วันเกิดของตัวเองเท่านั้น วันเกิดของผู้มีพระคุณ หรือผู้ที่เราเคารพนับถือก็เอามาเป็นฤกษ์ได้ตอนนี้ก็ใกล้จะถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (๕ ธันวาคม) แล้ว ก็ควรจะถือเป็นฤกษ์ดีที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ ลุยโครงการต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นเสีย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน

 

๖. บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้กับผู้อื่น


                  อาจจะมีผู้สงสัยว่า การที่เราอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้คนอื่นแล้วนี่ เขาจะได้บุญจริงหรือ ได้สิ แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องอยากได้บุญด้วยนะ พระอรหันต์รูปหนึ่ง ท่านอุปมาไว้ทำนองนี้ สมมติว่า เราจุดเทียนเล่มหนึ่ง คนอื่น ๆ ต่างก็มีเทียน แต่เขายังไม่ได้จุด พอเราต่อเทียนให้เขาแล้วทุกคนต่างก็ต่อเทียนกันจนทั่ว ในที่สุดเทียนของทุกคนก็จะสว่างทั้งหมด

 

                 ข้อนี้ฉันใด การอุทิศส่วนกุศลและการอนุโมทนาบุญก็ฉันนั้น พวกเราที่นั่งกันอยู่ที่นี่หลายพันคน ทุกคนมีใจคนละดวง เปรียบเสมือนมีเทียนกันคนละเล่ม ขณะที่ใจของคนอื่นยังไม่เป็นบุญ แต่ใจของเราเป็นบุญแล้ว เพราะได้สร้างกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่เราทำกุศลกรรม ทุกคนก็เห็นอยู่ พอเราอุทิศส่วนกุศลปั๊บ ใจทุกคนก็รับได้หมดเหมือนเราต่อเทียน และถ้าเราต่อเทียนกันจริง ในสภาธรรมกายนี้ก็คงจะสว่างพรึบด้วยแสงเทียนหลายพันเล่ม เทียนดวงแรกก็ยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน ฉะนั้น เมื่อเราทำบุญทำกุศลแล้ว ก็ควรนึกอุทิศส่วนกุศลเสียด้วย ถ้าใครเขาอยากได้บุญเขาก็จะรออนุโมทนา ซึ่งก็พลอยให้เขาได้บุญไปด้วย

 

๗. บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาเมื่อเห็นคนอื่นทำความดี


                อนุโมทนา แปลว่า ยินดีกับการที่คนอื่นเขาทำความดี ในวันเกิดของเรา ถ้าเจอใครทำความดี แม้ว่าจะเป็นศัตรูกับเรา เป็นคนที่เราเกลียดแสนเกลียด เป็นคู่แข่งกับเราก็ตามที ก็จงอนุโมทนาบุญกันด้วยเถอะ ดีใจกับเขาด้วยที่เห็นเขาทำความดี หัดเปิดใจให้กว้างไว้ มุทิตาจิตก็จะเกิด

                การอนุโมทนาบุญเมื่อคนอื่นเขาทำความดี จะเป็นอานิสงส์ติดตัวไปว่า จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะอิจฉาใครไม่เป็น และเมื่อเราคิดจะทำความดีก็จะมีคนตามสนับสนุนอีก ซึ่งบุญนี้ก็จะติดตัวเรื่อยไป ในทำนองกลับกัน ถ้าเห็นใครทำความดี แล้วเราก็คอยแต่จะเหน็บแนมค่อนแคะเสียดสี หรือด่าส่ง ชาติต่อไปเราก็คงจะโดนแบบนี้เข้าบ้างแน่ ๆ

                 คนที่อนุโมทนาบุญเมื่อเห็นคนอื่นทำความดีนั้น ต่อไปเมื่อเราจะทำความดีอะไร ก็จะมีแต่คนเชียร์ จะไม่มีอุปสรรค ลองสังเกตดูเถอะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าพระองค์ท่านมีพระราชดำริโครงการอะไร ก็มีแต่คอยสนับสนุนกันทั้งบ้านทั้งเมือง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็บอกได้ว่า พระองค์ท่านอนุโมทนาบุญกับคนอื่นมาเยอะ พอถึงเวลาที่ทรงทำความดี คนอื่นก็พลอยอนุโมทนาด้วย ไม่เพียงแค่อนุโมทนาด้วยใจเท่านั้น ยังยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพระองค์ท่านอย่างเต็มอกเต็มใจอีกด้วย เพราะฉะนั้น อย่าละเลยเรื่องการอนุโมทนาเมื่อผู้อื่นเขาทำความดีกันล่ะ

                  เคยสังเกตบ้างไหม คนบางคนพอถึงวันเกิดก็จะมีโชคมีลาภแต่บางคนพอถึงวันเกิดก็ถูกรถเฉี่ยวเอาบ้าง ไฟไหม้บ้านบ้าง ฟ้องว่าคนอย่างนี้คงจะเคยฉลองวันเกิดแบบชั่วร้ายข้ามภพข้ามชาติมาทีเดียวพอถึงคราวครบรอบวันเกิดในชาตินี้ ผลกรรมตามมาทันจึงเป็นแบบนั้น

 

๘. บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม


                  พูดง่าย ๆ พอถึงวันเกิดก็ไปนมัสการหลวงปู่หลวงพ่อ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ นอกจากท่านจะอวยชัยให้พร แล้วท่านก็มักจะให้ธรรมะเป็นข้อคิดเตือนใจ ชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข หรือจะไปหาครูบาอาจารย์ หาผู้บังคับบัญชาขอฟังโอวาทพิเศษก็ได้ หากเรามีข้อผิดพลาดอย่างใด ก็ขอให้หัวหน้าว่ากล่าวได้เต็มที่ จะตั้งใจฟัง เพื่อจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นลูกน้องที่ดี ถ้าทำอย่างนี้ ความขุ่นข้องหมองใจก็จะหมดไป ปัญญาก็จะเกิดด้วยการฟังธรรมอย่างนี้แหละ แต่ถ้าไม่รู้จะไปฟังธรรมที่ไหน นั่งสมาธิมาก็หลายชั่วโมงแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ไปอ่านพระไตรปิฎกต่อก็แล้วกัน

 

๙. บุญสำเร็จได้ด้วยการแสดงธรรม


                  ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็ควรจะเรียกสมาชิกในบ้านมาให้พร้อมหน้ากัน เพื่อปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ ในบ้านเกี่ยวกับสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่อง สิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข ก็ว่ากันไปตามสมควร ถ้าเป็นผู้บังคับบัญชา ก็ควรจะเรียกลูกน้องมาให้พร้อมหน้า เลี้ยงอาหารสักมื้อหนึ่ง แล้วก็ให้โอวาท อย่างนี้ได้บุญทั้งนั้น

 

๑๐. บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นของเราให้ตรง


                 เพื่อให้มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ในกรณีนี้จะทำอย่างไร เมื่อนั่งสมาธิจนใจผ่องใสดีแล้วอย่าเพิ่งเลิก ให้มองนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกาย พิจารณาความประพฤติของตัวเราเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้าง เพื่อจะได้แก้ไขต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คือ ฟังเทศน์จากผู้ใหญ่มาแล้ว ตัวเองก็เทศน์ให้ลูกน้องฟังแล้ว งวดนี้จะต้องเทศน์ให้ตัวเองฟังบ้าง จำไว้เถอะ เทศน์ให้ใครฟังก็ไม่ยากเท่ากับเทศน์ให้ตัวเองฟังหรอก เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่คอยแต่จะเข้าข้างตัวเองทุกที               

                  เพราะฉะนั้น ในวันสำคัญ คือวันเกิดของเรานี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราควรจะได้ทำบุญให้ครบ ๑๐ ประการ ถ้าทำครบ ๑๐ ประการอย่างนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติสมควรกับวันเกิดของเราแล้ว

จากหนังสือวันเกิด

คุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0032732168833415 Mins