มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ

วันที่ 24 สค. พ.ศ.2564

24-8-64-3-b.jpg

๑.ศรัทธา
๑.๑ บุคคลไม่ควรคบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มีน้ำ... ถ้าแม้บุคคลจะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม
       บุคคลควรคบคนที่เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นคนที่ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้คนที่เลื่อมใส เหมือนคนผู้ต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ ฉะนั้น
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๖๒/๗๘


๑.๒ ต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยกมีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของชนเป็นอันมาก
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๘๗


๑.๓ ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีปัญญาในกุศลทั้งหลาย กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังได้ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเสื่อม


       ดูก่อนสารีบุตร เปรียบเหมือนกลางคืน หรือกลางวันของพระจันทร์ในปักษ์ข้างขึ้น ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยวรรณะ ย่อมเจริญด้วยมณฑล ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาว และกว้าง
อัง. ทสก. (พุทธ) มก. ๓๘/๒๑๒

 

๑.๔ ศรัทธามีความผ่องใสเป็นลักษณะ เหมือนน้ำที่ขุ่นมัว ไสได้ด้วยแก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น
มิลิน. ๔๙

๑.๕ ธรรมดากาลักน้ำดูดน้ำขึ้นมาแล้วไม่ปล่อยน้ำลงไป ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เมื่อเกิดความเลื่อมใส ก็ไม่ควรปล่อยความเลื่อมใสนั้นทิ้ง ควรทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

มิลิน. ๔๖๑
 

๑.๖ เปรียบเหมือนบุรุษดำลงไปในห้วงน้ำลึกแล้วพึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดมีอยู่ในหม้อนั้น จะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลง สิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะลอยขึ้น ฉันใด
 

       จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ตลอดกาลนาน กายของผู้นั้นมีรูปอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายย่อมกัดกินกายนี้ ส่วนจิตของผู้ซึ่งอบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน
บรรลุคุณวิเศษ ฉะนั้น
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๑/๓๒๖

 

๑.๗ ผู้ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญา ผู้นั้นพึงหวังได้ความเสื่อม เหมือนพระจันทร์ในกาฬปักษ์ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์ย่อมเสื่อมจากความสว่าง
 

        ส่วนผู้ใดมีศรัทธาในกุศลธรรม ผู้นั้นพึงหวังได้ความเจริญ เหมือนพระจันทร์ในปักษ์ข้างขึ้น ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์ย่อมเจริญด้วยความสว่าง
อัง.ทสก. (เถระ) มก. ๓๘/๒๐๙

 

๑.๘ ขณะที่กสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเลี้ยงอาหารบริการอยู่ในทุ่งนา พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปประทับยืนบิณฑบาต พราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ไถ และหว่านแล้วจึงบริโภค แม้พระพุทธองค์ก็จงไถ และหว่านแล้วบริโภค
 

      พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า พระองค์ก็ไถ และหว่านแล้วบริโภคเหมือนกัน
      พราหมณ์กราบทูลว่า ไม่เห็นการไถของพระบรมศาสดา
      พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาล และประตัก
      เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะไปจนตลอดชีวิต
สัง.ส. (พุทธ) มก. ๒๕/๒๔๓

 

 

2-3-65-2-b.jpg

๒. ประโชน์ชาตินี้

๒.๑ บุคคลผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนเเม้เล็กน้อย ดุจบุคคลก่อไฟอันน้อยให้โพลงขึ้นได้ ฉะนั้น.
อัง.เอก. (พุทธ) มก. ๓๒/๓๕๑


๒.๒ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งสร้างรัง โภคสมบัติย่อมถึงความเพิ่มพูน ดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น
ที.ปา. (พุทธ) มก. ๑๖/๘๗


๒.๓ หากว่านรชนจะเป็นผู้มีชาติกำเนิดเลวทราม แต่เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีปัญญาประกอบด้วยอาจาระ และศีล ย่อมรุ่งเรืองสุกใส เหมือนกองไฟในยามราตรี ฉะนั้น
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๑๑๓


๒.๔ รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่งหรือลูกมือคนชั่งตาชั่ง ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญ และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก

อัง.สัตตก. (พุทธ) มก. ๓๗/๕๖๑

 

 

3-3-65-5-b.jpg

 

๓. ประโยชน์ชาติหน้า


๓.๑ นายมาลาการพึงทำพวงดอกไม้ให้มากจากกองดอกไม้ แม้ฉันใด สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ควรทำกุศลไว้ให้มาก ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓


๓.๒ ในฤดูสารทเดือนท้ายฤดูฝน เมื่อฝนซาลง เมฆก็จากไปแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นสู่ท้องฟ้า กำจัดความมืดในอากาศ ย่อมส่องแสงแจ่มจ้า แม้ฉันใด การถือมั่นสิ่งที่มีสุขทั้งในปัจจุบัน และต่อไปก็ยังมีผลเป็นสุขอีก ขจัดคำติเตียนของสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นได้ แล้วย่อมสว่าง
แจ่มแจ้ง และรุ่งเรือง ฉันนั้นนั่นแล.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๓๗๙


๓.๓ นมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสโลกกล่าวว่า เลิศกว่านมสดเป็นต้นเหล่านั้น ฉันใด
       กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้วย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น นี้เป็นผู้เลิศประเสริฐเป็นใหญ่สูงสุด ฉันนั้น
อัง.ทสก. (พุทธ) มก. ๓๘/๒๙๖


๓.๔   บุคคล ๔ จำพวก
๑. บุคคลมืดมาแล้วมืดไป บางคนเกิดในตระกูลต่ำแล้วยังประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อจะตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ นรก
๒. บุคคลมีดมาแล้วสว่างไป บางคนเกิดในตระกูลต่ำ แต่ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อจะตายย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
๓. บุคคลสว่างมาแล้วมืดไป บางคนเกิดในตระกูลสูง แต่ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อจะตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ นรก
๔. บุคคลสว่างมาแล้วสว่างไป บุคคลบางคนเกิดในตระกูลสูง ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อจะตายย่อมเข้าสุคติโลกสวรรค์.
อัง.จุตกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๒๔๖


๓.๕   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกมีอยู่ในโลก ได้แก่
๑. บุคคลตาบอด คือ ไม่มีดวงตา (ปัญญา) ที่เป็นเหตุจะให้ได้โภคทรัพย์อันยังไม่ได้ ที่เป็นเหตุจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้น ทั้งไม่มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้รู้ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล และอกุศล
๒. บุคคลตาเดียว คือ มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ที่เป็นเหตุจะทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้น แต่ไม่มีดวงตาที่เป็นเหตุจะให้รู้ธรรมทั้งหลาย อันเป็นกุศล และอกุศล
๓. บุคคลสองตา คือ มีดวงตาที่เป็นเหตุจะทำให้ได้โภคทรัพย์ ทั้งมีดวงตาที่เป็นเหตุจะทำให้รู้ธรรมทั้งหลาย
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๙๔


๓.๖  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจนเป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก คนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้ยืม กู้แล้วต้องรับใช้ดอกเบี้ย หากไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา หากทวงแล้วไม่ได้ย่อมถูกติดตาม และถูกจองจำ เหล่านี้เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้า
       เมื่อเขาประพฤติทุจริตนั้นเหมือนการกู้ยืม เขาย่อมมีความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดกาย ทุจริตนั้นย่อมคิดว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา แล้วกล่าววาจาว่าชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เป็นเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริต เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดมโนทุจริตนั้น

       การทวงดอกเบี้ย คือ อกุศลวิตกที่เป็นบาปเกิดขึ้น ประกอบด้วยความเดือดร้อนเข้าครอบงำ เจ้าหนี้ติดตามเขาผู้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
       เมื่อตายไปแล้วย่อมถูกจองจำในเรือนจำ คือ นรก ในเรือนจำคือ กำเนิดดิรัจฉาน
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเลยที่ร้ายกาจเป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมอันเกษมจากโยคะ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉานเลย
อัง.ฉกก. (พุทธ) มก. ๓๖/๖๖๔


๓.๗ ผ้าเศร้าหมอง ช่างย้อมหย่อนลงไปในน้ำย้อมใดๆ ผ้าย้อมนั้นย่อมเป็นผ้าที่มีสีย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองทุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้น เหมือนกัน ช่างย้อมผ้าจะพึงนำผ้าที่สะอาดหมดจด ใส่ลงในน้ำย้อมสีใดๆ ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ดี มีสีสดใส เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าสะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๗/๔๓๓

 

 

4-3-65-5-b.jpg

 

๔. ประโยชน์อย่างยิ่ง


๔.๑   เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวยวะตั้งไว้เหมาะ มือหรือเท้าเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือยตั้งไว้เหมาะแม้ฉันใด
        ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ เพราะมรรคภาวนาตั้งไว้ชอบ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๑๕๐


๔.๒ ธรรมดาเรือย่อมพาคนเป็นอันมากข้ามฟากไปได้ โดยความเป็นระเบียบของไม้จำนวนมากที่นำมาขนานกันได้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรข้ามทั้งโลกนี้ และเทวโลกที่ขนานกันอยู่ไปได้พร้อมๆ กันด้วยธรรมทั้งหลายอันได้แก่ อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ ฉันนั้น
มิลิน. ๔๓๐


๔.๓ ในอดีตชาติของพระเจ้ามิลินท์ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นสามเณรเคยอธิษฐานไว้ว่า ด้วยบุญกรรมที่ข้าพเจ้าหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้ เมื่อข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพาน ข้าพเจ้าไปเกิดที่ใดก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้ามีเดชเหมือนดวงอาทิตย์เที่ยงวัน ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไว ทันเหตุผล มีปัญญาไม่รู้จัก
สิ้นสุด เหมือนกับลูกคลื่นในแม่น้ำคงคา

        ในอดีตชาติของพระนาคเสน เมื่อครั้งเกิดเป็นพระอาจารย์ของสามเณร เคยอธิษฐานไว้ว่าข้าพเจ้ายังไม่สำเร็จนิพพานตราบใด ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไว ไม่รู้จักสิ้นสุดเหมือนกับฝั่งแม่น้ำคงคา ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาปฏิภาณทั้งปวงที่สามเณรไต่ถามได้สิ้น สามารถชี้แจงเหตุผลต้นปลายได้ เหมือนกับบุรุษที่ม้วนกลุ่มด้าย ที่มีสายด้ายอันยุ่ง ให้รู้ว่าข้างต้นข้างปลายเป็นฉะนั้น ด้วยอำนาจบุญที่ข้าพเจ้าได้กวาดวัด และใช้สามเณรให้นำหยากเยื่อมาทิ้งนี้เถิด
มิลิน.๗

 

 

7-3-65-3-b.png

 

๕. การเสื่อมจากประโยชน์อย่างยิ่ง


๕.๑ บุคคลประสงค์จะกินผลมะเดื่อ เขย่าต้นมะเดื่อที่มีผลสุก ผลเป็นอันมากหล่นลงมาด้วย การเขย่าคราวเดียวเท่านั้น เขากินผลที่ควรจะกิน ทิ้งผลเป็นอันมากนอกนี้ไปเสีย ฉันใด  บุคคลใดสุรุ่ยสุร่าย กระทำรายจ่ายให้มากกว่ารายได้ บริโภคโภคะ บุคคลนั้นเขาเรียกว่า กินทิ้งกินขว้าง เหมือนกุลบุตรผู้กินผลมะเดื่อคนนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อัง.สัตตก. (อรรถ) มก. ๓๗/๕๖๖


๕.๒ หางแหลมของเมล็ดข้าวสาลี หรือหางแหลมของเมล็ดข้าวเหนียวที่บุคคลตั้งไว้ไม่ตรง มือหรือเท้าเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหางแหลมของเมล็ดข้าวอันบุคคลตั้งไว้ไม่ตรง ฉันใด  ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตตั้งไว้ผิด
อัง.เอก. (พุทธ) มก. ๓๒/๙๓


๕.๓ พวกคนเขลาไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมซบเซาดังนกกะเรียนแก่ ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลา ฉะนั้น  พวกคนเขลาไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่าเหมือนลูกศรที่ตกจากแล่ง ฉะนั้น
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๑๔๒


๕.๔ บุคคลผู้มากด้วยการไม่ใส่ใจโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพอยู่ร่ำไป เปรียบเหมือนเรือซึ่งถูกแรงลมพัดทำให้โคลง และเปรียบเหมือนฝูงโคซึ่งตกลงไปในแม่น้ำไหลวน.
มู.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๑๕๘


๕.๕ บุคคลผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ ย่อมขจัดผลแห่งความเป็นสมณะให้กระจัดกระจายไป เหมือนดุ้นฟืนในที่เผาผีฉิบหายไปอยู่ ฉะนั้น
ขุอิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๕๗๓


๕.๖ กุลบุตรผู้ประกอบความเพียรในสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ก็ย่อมไม่ประสบความรู้เลยทีเดียว ย่อมจะจมลงในห้วงอันตรายอย่างเดียว เหมือนกวางวิ่งโลดโผนไปในซอกผา ตกจมเหวลงไปในระหว่างทาง ฉะนั้น
ขุ.ธ. (โพธิ) มก. ๖๑/๑๑๓


๕.๗ บุรุษผู้ตกอยู่ในหลุมคูถ เห็นสระมีน้ำเต็มเปี่ยม ไม่ไปหาสระนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของสระไม่ ฉันใด เมื่อสระ คือ อมตะสำหรับเป็นเครื่องชำระมลทิน คือ กิเลสมีอยู่ เขาไม่ไปหาสระนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของสระ คือ อมตะไม่ ฉันนั้น
ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๑๘


๕.๘ คนเมื่อถูกศัตรูรุมล้อม เมื่อทางหนีไปมีอยู่ ก็ไม่หนีไป ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของทางไม่ ฉันใด คนที่ถูกกิเลสกลุ้มรุม เมื่อทางปลอดภัยมีอยู่ ไม่ไปหาทางนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของทางที่ปลอดภัยนั้นไม่ ฉันนั้น

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๑๘


๕.๙ คนผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ ไม่ยอมให้หมอรักษาความเจ็บป่วยนั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของหมอนั้นไม่ ฉันใด คนผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วย คือ กิเลสเบียดเบียนแล้วไม่ไปหาอาจารย์นั้น ข้อนั้นหาเป็นโทษผิดของอาจารย์ผู้แนะนำไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๑๘

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01611043214798 Mins