มารู้จักตนเองกันเถิดว่า “เราคือใคร ”

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2565

เราคือใคร
มารู้จักตนเองกันเถิดว่า “เราคือใคร”

เราคือใคร, Who we are, ถวิล วัติรางกูล, เกิดมาทำไม, ตายแล้วไปไหน, ภูมิมนุษย์, มนุษย์, เกิด แก่ เจ็บ ตาย, ภพภูมิ, กิเลส, ตัวเรา, รูปธรรม, นามธรรม, ดวงจิต, สรรพสัตว์

             ในขณะที่เราทุกคนลืมตาเกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในโลกนี้ สิ่งจำเป็นที่สุดที่ควรรู้ คือต้องรู้ว่าเราคือใคร เกิดอยู่ที่ไหน เกิดมาทำไม และควรทำอะไรจึงจะได้รับประโยชน์มากที่สุดในการเกิดของเราครั้งนี้

        แต่กลับเป็นเรื่องน่าแปลก สิ่งที่จำเป็นสมควรต้องรู้ดังกล่าว กลับถูกลืมเลือนโดยสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่ลืมเรื่องนี้เสียจนตลอดชีวิต มีจำนวนน้อยเหลือเกินที่ระลึกได้พยายามแสวงหาคำตอบ และไขว่คว้าหาประโยชน์ที่ควรได้ และในจำนวนคนอันน้อยนั้นก็ยังมีผู้ที่หาคำตอบได้ แต่แสวงหาประโยชน์ไม่ได้ หรือไม่ทัน เพราะอยู่ในสภาวะที่สายเกินไปปะปนอยู่ด้วยกันจำนวนไม่น้อยเลย

            นี่คือความจริงที่ปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดของโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นความจริงที่ไม่มีทางโต้เถียงคัดค้าน และคงจะเป็นอยู่ดังนี้ตลอดไปชั่วกาลนาน

          ขอให้เราได้เป็นคนหนึ่งในจำนวนคนน้อยนิด ที่สามารถแสวงหาคำตอบและได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเกิดครั้งนี้ อย่าได้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็น “ชาติคน” เลย

              จากคำถามแรกว่า “เราคือใคร หรือเราคืออะไร”

              หากมีผู้คิดจะตอบ คำตอบคงมีมากมายหลายชนิดตามระดับภูมิปัญญาของคนตอบ อาจจะตอบกันว่า

              "ไม่รู้ ไม่รู้เหมือนกันว่า ตนเองเป็นใคร เป็นอะไร

              “รู้ว่า ถูกตั้งชื่อว่าเป็นลูกคนนี้ หลานคนนั้น ในสกุลโน้น”

              “เป็นคนน่ะซี คนคือสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ถือกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์อื่น”

              “เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดอยู่ในภพภูมิมนุษย์

              ตอบกันได้หลายแบบเรื่อยไป จนอาจกระทั่งถึงคำตอบที่ว่า

              “ความจริง ไม่มี “ตัวเรา” สักหน่อยเดียว”

             ไม่ว่าใครจะตอบแบบใดก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นคำตอบจริงและถูกต้องตามระดับความคิดนึกของเขา ความจริงและความถูกต้อง เราสามารถแยกออกได้เป็น ๒ ระดับ คือ จริงโดยสมมติ (สมมติสัจจะ) และจริงโดยแท้จริง (ปรมัตถสัจจะ)

            ความจริงโดยสมมติ เรียกว่าสมมติสัจจะ เป็นความจริงที่ผู้คนในสังคมใดสังคม หนึ่งบัญญัติ สมมติ แต่งตั้ง วางกำหนดกฎเกณฑ์ ทำข้อตกลงยินยอมรับกัน มีขอบเขตมีกำหนด มีระยะเวลา ส่วนใหญ่แสดงออกด้วยการใช้ทั้งภาษาทางกาย ภาษาพูด ภาษาเขียน เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน

            ตัวอย่างเช่น เมื่อใครได้รับการตั้งชื่อว่าชื่อใด เมื่อมีผู้เรียกชื่อนั้นขึ้น ย่อมหมายความถึงคนผู้นั้น จะกำหนดเจาะจงไว้จนตลอดระยะเวลาที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อใดคนนั้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อตนเองเสียใหม่ ชื่อเดิมย่อมเป็นอันล้มเลิก ไม่ใช้อีกต่อไป

           ความจริงโดยสมมติ จึงเป็นสมมติโวหารที่ชาวโลกแต่งตั้ง บัญญัติขึ้น เป็นของไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่การวางกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมมนุษย์

                ความจริงโดยแท้จริง เรียกว่าปรมัตถสัจจะ เป็นธรรมหรือธรรมชาติที่มีอยู่ จริงตามสภาวะลักษณะ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เช่นคำว่า “คน” แต่ละชาติเรียกชื่อไม่เหมือนกัน ตามแต่สมมติโวหารที่ชาตินั้น ๆ บัญญัติขึ้น แต่ลักษณะของคนที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ประการคือ ส่วนที่เป็นร่างกาย (รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ (นาม) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะเป็นคนของชาติใด

               ปรมัตถสัจจะ แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ สภาวสัจจะ และอริยสัจจะ

               สภาวสัจจะ เป็นความจริงแท้ตามสภาวะของสรรพสิ่งต่าง ๆ นั้น ทั้งที่เป็นฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม

               อริยสัจจะ คือธรรมที่เป็นจริงสำหรับพระอริยบุคคลโดยเฉพาะ ได้แก่อริยสัจจ์ ๔ มีทุกขสัจ เป็นต้น

           เมื่อความจริงแบ่งออกได้หลายขั้นตอนดังกล่าวมาแล้ว การตอบคำถามว่า เราคือใคร จึงแตกต่างกันออกไปตามระดับความจริงที่ผู้ตอบยึดถืออยู่ในขณะนั้น

             เมื่อตอบตามความจริงระดับสมมติสัจจะ ซึ่งชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจและยินยอมรับรองกัน เราก็คือชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาในโลก มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลต่าง ๆ มีบิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้มีอุปการคุณอื่น ๆ เกิดมาแล้วก็ดำเนินชีวิตไปตามครรลองที่สังคมวางกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ผู้ใดฉลาดย่อมเลือกดำเนินชีวิตในฝ่ายดี ทำหน้าที่ของตนในสังคมอย่างดีที่สุด เช่น

               ในวัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียนแสวงหาความรู้ อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของผู้ใหญ่

              ในเวลาเติบโต ประกอบสัมมาอาชีพเป็นหลักฐาน ดารงวงศ์สกุลให้เจริญรุ่งเรืองประพฤติตนในคุณธรรมอันดีงาม ทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัมพันธชนบุคคลอื่น

               เมื่อเข้าใกล้วัยชรา เร่งสร้างกุศลให้มากกว่าวัยธรรมตาอื่นที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์สุขในชีวิตนี้ และสัมปรายภพ

               ในอีกแง่หนึ่ง สำหรับผู้ตอบคำถาม “เราคือใคร” ในระดับปรมัตถสัจจะ ยังสามารถตอบได้เป็น ๒ ระดับ คือ

               ระดับที่หนึ่ง ยังตอบในฐานะ “มีตัวเรา”

               ระดับที่สอง ในฐานะ “ไม่มีแม้แต่ตัวเรา”


ระดับที่หนึ่ง เมื่อยังคิดยึดถือว่า “มีตัวเรา”

              ในระดับนี้ควรทราบว่า ตราบใดที่เรายังมีกิเลสนอนเนื่องติดค้างอยู่ในสันดานตราบนั้นเราจะต้องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด โดยไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนที่จะต้องเกิดเป็นอะไรบ้างขึ้นอยู่กับผลของกรรมที่สั่งสมกระทำไว้ ขณะเมื่อได้เกิดในแต่ละครั้งๆ

               ภพ (ที่อยู่) ภูมิ (ที่เกิด) ที่จะต้องเวียนตายเวียนเกิดสำหรับผู้ยังมีกิเลส มีอยู่ด้วยกัน ๓๑ แห่ง แบ่งเป็นประเภทใหญ่ได้ดังนี้

               ๑. อบายภูมิ มี ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย

               ๒. กามสุคติภูมิ มี ๗ คือ มนุสสภูมิ และเทวภูมิ 5 ชั้น ชื่อ จาตุมหาราชิกา ตาวติงสา ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และ ปรนิมมิตวสวัตดี

            ๓. รูปภูมิ มี ๑๖ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ชื่อ ปาริสัชชา ปุโรหิตา และมหาพรหมา ทุติยฌานภูมิ ๓ ชื่อ ปริตตาภา อัปปมาณาภา และอาภัสสรา ตติยฌานภูมิ ๓ ชื่อ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา และสุภกิณหา จตุตถฌานภูมิ ๗ ชื่อ เวหัปผลา อสัญญสัตตา และสุทธาวาสภูมิ ๕ ชื่อ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา

               ๔. อรูปภูมิ มี ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ

              สถานที่ตั้ง ๓๑ แห่งที่กล่าวแล้ว เป็นที่ที่เรามีสิทธิ์ทำให้ “ตัวเรา” อุบัติบังเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุจากกรรมที่ตัวเราเองเป็นผู้ประกอบ เป็นปัจจัยเครื่องอุดหนุน นำส่งเราไปยังกำเนิดนั้น ๆ ส่วนกรรมชนิดใดนำส่งสู่ภพภูมิใด และที่นั้น ๆ มีความเป็นอยู่ทุกข์สุขอย่างใดจะกล่าวในโอกาสต่อไป


ระดับที่สอง ในการตอบตามปรมัตถสัจจะ ไม่มีตัวเรา”

         ในการพูดระดับนี้ ขอยกเอาสิ่งของหลาย ๆ อย่างในโลกมาเป็นเครื่องอุปมาเปรียบเทียบ เช่น บ้านเมืองสถานก่อสร้าง ยานพาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราสมมติเรียกชื่อไว้ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ความจริงที่แท้ สิ่งนั้น ๆ ประกอบด้วยของบางอย่าง หรือหลายอย่างนำมาประกอบรวมกันไว้ หากเราจับของเหล่านี้แยกออกเป็นส่วน ๆ เป็นจำพวก ๆ ไปของที่ถูกแยกแล้วเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่เรียกได้ตั้งชื่อที่เราเรียกเมื่อของรวมกันอยู่ เช่น บ้าน เมื่อเราจับบ้านแยกออกดู จะพบว่าประกอบด้วย ไม้ เหล็ก ปูน กระเบื้อง สี ฯลฯ ไม่มีสิ่งใดเรียกว่า “บ้าน” จนอย่างเดียว

            อุปมาข้างต้นนี้เป็นฉันใด ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลของเราก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคือ “เรา” ประกอบด้วยสภาวธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือองค์ประกอบที่ทำให้เป็นรูปร่างกาย (รูปธรรม) และองค์ประกอบที่ทำให้เกิดเป็นฝ่ายจิตใจ (นามธรรม) เมื่อใดเกิดญาณปัญญาแก่กล้าพิจารณาแยกส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ออก เมื่อนั้นย่อมสามารถละทิ้งคำว่า “เรา” ลงได้สิ้นเชิงเด็ดขาด ย่อมจะเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนว่าคำว่าเรา เกิดขึ้นเพราะความประจวบเหมาะของการผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างสิ่งต่าง ๆ อย่างไร และสิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่าในการยึดถืออย่างไร เมื่อเกิดปัญญาขึ้นถึงระดับนี้ ย่อมเป็นการยุติชีวิตมิให้วนเกิดเวียนตายในที่ ๓๑ แห่งนั้นอีกต่อไป

             นี่คือคำตอบของชีวิตในระดับสูงสุด ซึ่งจะกล่าวละเอียดอีกครั้งภายหลัง

สรรพธรรมะทั้งหลายใต้หล้า         หัวหน้าคือใจเป็นใหญ่หลวง
ประเสริฐสุดสำเร็จทั้งปวง             เพราะดวงใจทำสำคัญนัก

อังคาร กัลยาณพงศ์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003199299176534 Mins