ประวัติความเป็นมา
วันอัฏฐมีบูชา คือ วันบูชาพระในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " วันถวายพระเพลิง" นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะหลังจากวิสาขบูชาเพ็ญเดือน ๖ มาอีก ๘ วัน เป็นวันถวายพระเพลิง พระบรมศพของพระพุทธเจ้าเรื่องเกี่ยวแก่พระบรมศพมีอยู่ว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วบรรดาท่านที่เป็นพระอรหันต์ต่างก็เกิดธรรมสังเวช บรรดาท่านที่ยังไม่ได้มรรคผลต่างก็มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยถึงพระบรมศาสดา บรรดากษัตริย์มัลลราชเมื่อได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็นำผ้าสาฎก ๕๐๐คู่ นำมาสักการะพระบรมศพ พร้อมด้วยดอกไม้ของหอมนานาประการ ได้ทำสักการะบูชาพระบรมศพอยู่ ๗ วันพอถึงวันที่ ๘ คือ วันอัฏฐมี จึงได้เชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐานไว้ ณ มกุฏพันธเจดีย์ แล้วเตรียมการถวายพระเพลิง จะพูดถึงการตกแต่งพระบรมศพซึ่งพระอานนท์ได้ชี้แจงให้พวกมัลลกษัตริย์ทรงทราบ คือ ห่อพระบรมศพด้วยผ้า ๒ ชั้นเนื้อดี แล้วเอาด้ายผูกให้แน่น แล้วเอาผ้าหุ้มห่อพระบรมศพโดยนัยนี้ถึง ๕๐๐ ชั้น เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพใส่ลงในพระหีบทอง ซึ่งพระบรมศพขึ้นเชิงตะกอนนั้นทำด้วยแก่นจันทร์สูง ๑๒๐ ศอก
ครั้นได้เวลาถวายพระเพลิง กษัตริย์มัลลราช ๔ พระองค์ก็นำไฟเข้าไปจุดแต่เพลิงก็หาได้ลุกไม่ เมื่อตรัสถามพระอนุรุทธได้ความว่า เทพดาที่รักษาพระบรมศพปรารถนาจะให้คอยพระมหากัสสป ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ก่อน ในวันนั้นเอง พระมหากัสสปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ พอถึงกลางทางก็ได้ความจากอาชีวกว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว บรรดาพระภิกษุที่เป็นปุถุชนเมื่อได้ฟังบอกเล่าของอาชีวกองค์นั้น ต่างล้มกลิ้งเกลือกร้องไห้ร่ำไร รำพันว่า โอ้พระศาสดามาด่วนดับขันปรินิพพานเสียแล้วดวงประทีปแก้วส่องโลกดับสูญสิ้นเสียแล้ว ฝ่ายท่านที่เป็นขีณาสพก็บังเกิดธรรมสังเวช
ขณะนั้นมีภิกษุแก่รูปหนึ่งชื่อ"สุภัททะ"กล่าวห้ามปรามพระสงฆ์ว่า ท่านทั้งหลายจะเศร้าโศกร้องไห้ร่ำไรไปทำไม ? บัดนี้เราพ้นจากอำนาจพระมหาสมณะแล้วพระมหาสมณะเมื่อยังมีพระชนม์อยู่ ย่อมว่ากล่าวตักเตือนจู้จี้ บัดนี้ท่านนิพพานแล้วพวกเราปรารถนาจะทำได้ตามชอบใจ ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาห้ามปรามแล้ว
พระมหากัสสปเถระถวายบังคับพระบรมศพ
ฝ่ายพระมหากัสสปได้กล่าวธรรมถา ระงับความโศกของพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วพารีบไป ยังมกุฏพันธเจดีย์ ใกล้เมืองกุสินารา เข้าไปยังพระเชิงตะกอนถวายนมัสการกระทำประทักษิณพระเชิงตะกอน ๓ รอบ เสร็จแล้วเข้าไปยืนทางเบื้องพระบาทพระบรมศพ แล้วถวายอภิวาทกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระพุทธเจ้าชื่อมหากัสสป เป็นสาวกของพระองค์ พระองค์ทรงตั้งข้าพระพุทธเจ้าไว้ในที่อันเลิศฝ่ายธุดงคปฏิบัติ ข้าพระพุทธองค์มีความเคารพต่อพระองค์อย่างที่สุดแล้ว ด้วยคำสัตย์ของข้าพระองค์นี้ ขอให้พระบาทยุคลจงเหยียดยื่นออกมาจากพระหีบทองรับหัตถ์ทั้งสองของข้าพระองค์ผู้ชื่อกัสสป อันประนมน้อมนบอภิวาทอยู่ในบัดนี้ ”
ทันใดนั้นพระบาททั้งคู่ได้ชำแรกผ้า ๒ ชั้นซึ่งหุ้มห่อพระวรกายอยู่ถึง ๕๐๐ ชั้น ออกมาปรากฏ ณ ภายนอก พระมหากัสสปก็เหยียดหัตถ์ทั้งสองออกรับพระพุทธบาท แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระบรมครู ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ในอริยภูมิ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ล่วงพระพุทธโอวาท ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ตลอดมา อนึ่ง พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาแก่ข้าพระบาทอย่างมาก แต่ข้าพระบาทมิได้อยู่ ปฏิบัติพระองค์ ขอพระองค์จงทรงพระมหากรุณาโปรดอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าในบัดนี้เถิด ”
เมื่อพระมหากัสสปกล่าวเสร็จแล้วก็ถวายนมัสการพระบาทยุคล ทันใดนั้นพระบาททั้งสอง ก็ถอยถดหดหายจากหัตถของพระมหากัสสปะกลับคืน เข้าสู่พระหีบทองดังเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่เป็นปกติมิได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด นับเป็นปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่งและทันใดนั้นเอง พระเพลิงก็พลันพวยพลุ่งโชติช่วงขึ้นเอง บนเชิงตะกอนเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ ๗ วัน เมื่อไฟมอดดับลง พระอัฐิ (กระดูก) , พระเกศา (ผม) , พระโลมา (ขน) , พระนขา (เล็บ) , และพระทันตา (ฟัน) กับผ้าอีกคู่หนึ่งยังคงเหลือเป็นปกติอยู่ มิได้ถูกไฟไหม้เป็นผุยผงไปด้วย นอกจากนี้ ถูกไฟไหม้จนหมดสิ้น มิได้มีปรากฏหลงเหลืออยู่เลย มัลลกษัตริย์เก็บพระสารีริกธาตุทะนานทอง แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุขึ้นหลังช้างแห่เข้าสู่พระนคร ประดิษฐานนรัตนบังลังก์ภายใต้เศวตฉัตร จัดให้มีมหรสพสมโภชพระบรมธาตุ ๗ วัน ( พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๕๙-๑๖๒)
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในพิธีวันอัฏฐมีบูชา
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว คงมีไม่กี่วัด เฉพาะในกรุงเทพ ที่ยังจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันนี้อยู่ เช่นวัดราชาธิวาส ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลด้วย เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์
หนังสืออ้างอิง
๑. หนังสือ " พุทธประวัติ" ปีพัฒนาการศึกษาสงฆ์ ๒๕๓๗ -๒๕๓๙ ฝ่ายวิชาการ กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ http://www.geocities.com/bhikkhu 5 k/adtamibucha.html
๒. วัดชลอ บางกรวย นนทบุรี http://www.geocities.com/watchalow/atthamee.htm
๓. วัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง http://www.watkoh.com/data/ssn_phitee/arthamee.php
วุฑฒิวงศ์