ทรงเปลื้องคําปฏิญญา และได้อัครสาวก

วันที่ 15 กพ. พ.ศ.2566

16-2-66-3-b.png

บทที่ ๙
ทรงเปลื้องคําปฏิญญา และได้อัครสาวก

 

                เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเหล่าอรหันตสาวกจำนวนมากพอ สำหรับการเผยแผ่แล้ว ทรงระลึกถึงคำปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธจึงเสด็จจาริกพร้อมหมู่ลาว เข้าสู่นครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นนั้น
 

                เวลานั้นเรื่องราวของพระบรมศาสดาเป็นที่โจษขานเล่าลือกันไปในแว่นแคว้นต่างๆบ้างแล้ว โดยมีกิตติศัพท์ขจรไปว่า มีศาสนาใหม่เกิดขึ้น ผู้นำคือพระสมณโคดม ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งศากยราช ทรงละทิ้งราชสมบัติเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา ขณะนี้กำลังเสด็จพาภิกษุถึงพันรูป เดินทางมุ่งมาทางกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) พระองค์และภิกษุทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว เป็นที่น่าพบเห็นยิ่งนัก ประชาชนต่างตื่นเต้นแห่แหนพากันเดินทางไปเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมข้าราชบริพารออกไปเฝ้ายังที่นั้นด้วย
 

                เมื่อผู้คนไปพร้อมหน้ากันแล้ว แลเห็นชฏิล ๓ พี่น้องพร้อมบริวาร ซึ่งเป็นที่นับถือของผู้คนอยู่ในที่นั้นด้วย บางพวกเริ่มคลางแคลงสงสัยว่า ใครเป็นผู้นำกันแน่ ดังนั้นในบรรดาผู้คนทั้งหลายเหล่านั้น จึงมีอาการต่างๆ บางพวกแสดงความเคารพพระบรมศาสดา บางพวกเคารพชฏิล บางพวกไม่แสดงความเคารพไครเลย
 

                 พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ตระหนักในพระทัยว่าถ้าหมู่ชนยังไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์แน่วแน่แล้ว ย่อมไม่ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา พระองค์จึงตรัสถามอุรุเวลกัสสปะ ว่าเหตุใดจึงละทิ้งลัทธิบูชาไฟของตนเสีย
 

               ภิกษุอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า เพราะลัทธิเดิมไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การบูชาไฟมุ่งหวังผลให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส หรือแม้สตรี อันเป็นอารมณ์ที่สัตว์ปรารถนา ผลเหล่านั้นคือกาม เป็นมลทินเครื่องเศร้าหมอง ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส การบูชาที่มีความปรารถนาดังที่กล่าวนี้ เป็นมลทินอย่างเดียว
 

               เวลานี้ได้พบทางอันสงบที่พระบรมศาสดาประทานให้แล้ว ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่มีความห่วงกังวลใดๆ เหลืออยู่ ไม่ติดอยู่ในกามภพ เป็นธรรมที่ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น และไม่ใช่ธรรมดาที่ใครจะมาพูดให้เชื่อได้ เป็นสิ่งที่ปรากฏรู้ในใจของตนเองเท่านั้น
 

               ครั้นแล้วภิกษุอุรุเวลกัสสปะลุกจากที่นั่ง ซบศีรษะลงที่พระบาทพระบรมศาสดาประกาศให้มหาชนทราบทั่วกันว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระศาสดาของเหล่าชฏิลในที่นั้นทั้งหมด
 

                 ในขณะนั้นเองความคลางแคลงกระด้างกระเดื่องของหมู่ชนตลอดจนข้าราชบริพารก็พลันสิ้นสุดลงพากันน้อมจิตคอยฟังพระธรรมเทศนา
 

                  พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เหล่าชนในครั้งนั้นแบ่งเป็น ๑๒ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ๑๑ นหุต รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารด้วย ที่เหลือ ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์
 

                 พระเจ้าพิมพิสารเองเสด็จไปอภิวาทแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระองค์เป็นอุบาสก กราบทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้นพร้อมเหล่าพระสาวก ทั้งทรงเล่าความประสงค์ของพระองค์เมื่อก่อนครองราชย์ว่าทรงมี
ความปรารถนา ๕ ประการ อันได้แก่
๑. ขอให้ได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธ
๒. ขอให้ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ผู้รู้ผู้เห็นเองโดยชอบมาที่แว่นแคว้นของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์ได้ทรงนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
๔. ขอพระอรหันต์นั้นแสดงธรรมสั่งสอนพระองค์
๕. ขอให้พระองค์ทรงรู้ทั่วในธรรมของพระอรหันต์นั้น

 

                 บัดนี้สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์สำเร็จแล้ว
 

                 ความจริงในยุคนั้นมีผู้ตั้งตัวเป็นพระอรหันต์มากมายหลายสำนัก และก็อยู่ในแว่นแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระองค์ไม่แน่พระทัยว่าคนเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์จริง  เมื่อทรงฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ใต้ดวงตาเห็นธรรมด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงคลางแคลงพระทัยในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระบรมศาสดา จึงทรงถือว่าพระองค์ทรงบรรลุความปรารถนาทั้ง ๕ ประการ
 

                  วันรุ่งขึ้นพระบรมศาสดาเสด็จนำพระสาวกทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ไปยังพระราชนิเวศน์ หลังทรงกระทำภัตกิจเรียบร้อยแล้วพระเจ้าพิมพิสารเห็นว่าสวนตาลหนุ่มอยู่ห่างไกลเกินไป ขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่) เป็นพระอาราม นับว่าเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
แห่งแรกในโลก

 

                  ในการถวายมหาทานทั้งสองอย่างของพระเจ้าพิมพิสารครั้งนี้ พระองค์ทรงมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนพระราชกุศลนั้นให้แก่หมู่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้วแต่ประการใด
 

                  คืนนั้นเอง เหล่าพระญาติที่เคยท่าบาปอกุศล ขโมยกินของสงฆ์ไว้ในกัปที่ ๙๒ ตั้งแต่ในพุทธกัปของพระผุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า พากันเกิดเป็นเปรตมีอายุยืนยาวนานถึงหนึ่งพุทธันดร ไม่ได้รับการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ก็เสียใจเพราะได้รับความอดอยากและทุกขเวทนามานานแสนนาน จึงพากันส่งเสียงร้องโหยหวนคร่ำครวญ ขอส่วนบุญอื้ออึงเป็นที่น่าสะพรึงกลัว
 

                 รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปทูลถามพระบรมศาสดา พระองค์ทรงชี้แจงให้ทรงทราบ พระราชาจึงทรงถวายอาหารและผ้าจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระบรมศาสดาเป็นประธานอีกวาระหนึ่ง แล้วทรงกรวดน้ำว่า “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ” ขอกุศลผลบุญครั้งนี้จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ ข้อความนี้ใช้กันมาจนทุกวันนี้
 

                  ขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เวฬุวันนี่เอง มีชายหนุ่มสองคนเป็นเพื่อนรักกันมากชื่อ อุปติสสะ ลูกชายนางสารี หรือเรียกว่า สารีบุตร และโกลิตะ ลูกชายนางโมคคัลลี หรือเรียกว่า โมคคัลลานะ พากันไปเที่ยวดูมหรสพแล้วเกิดความสังเวชสลดใจ เห็นว่าใช้ชีวิตไร้สาระจึงพากันออกบวชอยู่ในสํานักสัญชัยปริพาชก ไม่ได้บรรลุธรรมที่ต้องการ สัญญากันไว้ว่า ถ้าใครบรรลุธรรมพิเศษก่อน ต้องบอกให้อีกฝ่ายทราบ
 

                เช้าวันหนึ่งพระอัสสชิ ซึ่งเป็นภิกษุในกลุ่มปัญจวัคคีย์เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ปริพาชกสารีบุตรเดินมาเห็นเข้า พอใจในอากัปกิริยาสำรวม มีอิริยาบถน่าเลื่อมใส ไม่เหมือนบรรพชิตในลัทธิที่มีกันอยู่เวลานั้น อยากจะทราบว่าใครเป็นศาสดาของท่าน จึงเดินตามท่านไปตลอดเวลา กระทั่งบิณฑบาตเสร็จและไปนั่งฉันภัตตาหารในที่สมควร ชายหนุ่มสารีบุตรได้ช่วยจัดแจงอุปัฏฐากต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงพูดกับท่านว่า “ท่านผู้มีอายุ ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก ใครเป็นศาสดาของท่าน?”
 

                 พระอัสสชิตอบว่า “ดูก่อนพ่อหนุ่ม พระมหาสมณะผู้เป็นโอรสของศากยสกุล เป็นพระศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของพระองค์”
 

                 สารีบุตรถามต่อว่า “พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไรบ้าง?"
 

                  พระอัสสชิเห็นว่าชายหนุ่มเป็นนักบวชในลัทธิอื่น แม้จะกล่าวสอนให้ ก็อาจไม่มีความเลื่อมใส จึงพูดบ่ายเบี่ยงไปว่า “เราเป็นคนเพิ่งบวชได้ไม่นาน คงไม่สามารถแสดงธรรมให้ท่านฟังได้กว้างขวาง ขอกล่าวย่อๆ พอรู้ความ ได้หรือไม่”
 

                 ชายหนุ่มตอบว่า “ขอรับ ท่านจะกล่าวสั้นหรือยาวก็ได้ทั้งนั้น ตามแต่จะกรุณา
 

                 พระอัสสชิ จึงกล่าวเพียงว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตทรงแสดงเหตุที่ทำให้ธรรมนั้นเกิด และแสดงวิธีดับธรรมนั้น พระสมณะมีปกติสอนอย่างนี้”

                 ชายหนุ่มฟังคําสอนแล้วเข้าใจทันทีเพราะความที่เป็นคนฉลาดมาก คือเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีสาเหตุทั้งสิ้น ถ้าดับที่ต้นเหตุนั้นเสีย ทุกอย่างก็หมดไป พระศาสดาของพระภิกษุรูปนี้ทรงสอนให้ระงับต้นเหตุเกิดทุกข์ได้แน่นอน

                พิจารณาตามคําสอนเพียงเท่านี้ ปัญญาญาณภายในใจก็บังเกิดขึ้น ให้ดวงตาเห็นธรรม พิจารณาได้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" ขณะนั้นสารีบุตรนึกยอมรับพระบรมศาสดาเป็นอาจารย์ทันที จึงถามว่า พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด
 

                 เมื่อพระอัสสชิตอบว่า อยู่ที่เวฬุวัน ชายหนุ่มขอให้พระอัสสชิไปก่อน ตนเองจะไปตามเพื่อนเข้าเฝ้าพร้อมกัน แล้วจึงเดินทางกลับสำนักไปเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้โมคคัลลานะทราบ
 

                 ผู้เป็นเพื่อนฟังคำสอนประโยคเดียว ก็ได้ดวงเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันทันที ทำนองเดียวกับสารีบุตร จึงพากันชวนเหล่าบริวารของตน ๕๐๐ ไปลาสัญชัยปริพาชก และชวนให้ไปด้วย สัญชัยปริพาชกเสียใจมาก เพราะลูกศิษย์ทั้งสองทำให้ตนมีหน้าตา ชื่อเสียงเพิ่มขึ้น แม้ทั้งสองคนจะชี้แจงให้เห็นดีเพียงใด ก็ยังดื้อดึงมีทิฏฐิ ไม่ยอมไปเป็นศิษย์ของใคร โดยตอบว่า คนในโลกนี้มีทั้งคนโง่และคนฉลาด คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด ดังนั้นให้คนฉลาดไปหาพระสมณโคดม ให้คนโง่มาหาตน ขณะเดินมาตามทางบริวารของสารีบุตรและโมคคัลลานะเปลี่ยนใจเดินทางกลับไปอยู่กับสัญชัยปริพาชกครึ่งหนึ่ง เมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา  (การบวชแบบนี้ผู้บวชมีบุญเก่ามาก จะมีเครื่องอัฐบริขารเกิดขึ้นเอง เพราะในอดีตชาติเคยถวายบริขารแด่สงฆ์มามาก) ทุกคน
 

                   พระโมคคัลลานะ ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ไม่บังเกิดผล เพราะมีแต่ความง่วง ครอบงำอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปอบรมสั่งสอนวิธีแก้ง่วงว่า
๑. ถ้านึกอะไรได้แล้วยังง่วง ก็นึกเรื่องนั้นให้มากๆ เข้า
๒. นึกแล้วยังไม่หายง่วง ให้ไตร่ตรองพิจารณาธรรมที่ได้ฟัง ได้เรียนมาแล้วด้วยความตั้งใจ
๓. พิจารณาธรรมแล้ว ยังแก้ไม่ได้ ให้ท่องบ่นสาธยายธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาโดยพิสดาร
๔. ท่องแล้วยังไม่หาย ให้ยอนหูทั้งสองข้าง และเอาฝ่ามือลูบหัว
๕. ถ้ายังแก้ง่วงไม่ได้ ควรลุกขึ้นยืน เอาน้ำลูบนัยน์ตา เหลียวไปมองสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว และแหงนมองดูดาวนักขัตฤกษ์ (สร้างความสนใจในสิ่งต่างๆ)
๖. ถ้ายังแก้ไขไม่สําเร็จ ให้ทำใจนึกถึงแสงสว่าง ตั้งใจว่ามีแต่กลางวันอย่างเดียว ไม่มีกลางคืน ให้ใจเป็นอิสระเปิดเผย ไม่มีอะไรห่อหุ้ม
๗. ถ้าความง่วงยังเกิดได้อีกให้อธิษฐานจิตเดินจงกรม กลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ไม่คิดเรื่องภายนอกตัว ให้ส่งจิตเข้าสู่กลางตัว
๘. ทำมาทั้ง ๗ อย่างข้างต้นก็ยังไม่หายง่วง ก็ให้ล้มตัวลงนอนท่าราชสีห์นอน คือ นอนตะแคงข้างขวาซ้อนเท้าเหลื่อมกัน ตั้งสติสัมปชัญญะให้มั่นคงว่าจะลุกเวลาใด พอตื่น รีบลุกทันที ให้รีบคิดว่าจะไม่หาความสุขจากการนอน จากการเอนหลัง จากการเคลิ้มหลับ

 

ต่อจากนั้นพระองค์ทรงสอนวิธีป้องกันความฟุ้งซ่านว่า
 

๑. เวลาเข้าไปบ้านใด ไม่ควรถือตัวว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ให้คิดเสมอว่าในแต่ละบ้านเหล่านั้น มีภารกิจยุ่งอยู่ ผู้คนในบ้านต้องมีธุระของเขา อาจจะไม่มีเวลาเอาใจใส่เรา ถ้าเราถือตัว เราก็จะคิดมากว่า มีอะไรผิดปกติ ใครมายุยงให้พวกเขาไม่พอใจเรา พอคิดอย่างนี้เราก็รู้สึกเก้อเขินที่เขาไม่แสดงอาการต้อนรับเท่าที่ควร พอเก้อเขินก็คิดฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่าน ใจก็ไม่รวม ทำสมาธิไม่ได้
 

๒. เมื่อต้องพูดกับใคร ไม่ควรพูดเรื่องที่ทำให้โต้เถียงกัน เพราะถ้าเถียงกันก็ต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็ต้องคิดวุ่นวายฟุ้งซ่าน ใจไม่สำรวมทำสมาธิไม่ได้
 

๓. การคลุกคลีกับหมู่คณะ ทำให้ไม่สงบ พระองค์ไม่สรรเสริญ ที่ใดเป็นที่อยู่เงียบสงัด ไม่มีคนผ่านไปมา ควรเป็นที่พักอันหลีกเร้นของสมณะ
 

                   พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า กล่าวอย่างย่อมีข้อปฏิบัติเพียงไร ในการทำให้ตัณหาสิ้นไป ทำโยคะ (กิเลสที่ประกอบสัตว์ติดไว้ในภพต่างๆ) ให้สิ้นไป ให้เป็นพรหมจารีบุคคล ได้ประโยชน์สูงสุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
 

                  พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
 

                   เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็จะมีปัญญาสูงสุดทราบธรรมทั้งปวง
 

                  เมื่อทราบธรรมทั้งปวง ก็ย่อมกำหนดรู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งใดในธรรมเหล่านั้น
 

                  เมื่อกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เวลามีเวทนาอย่างโตเกิดขึ้น คือรู้สึกทุกข์ก็ดี สุขก็ดี ไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ดี จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาด้วยปัญญาเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย พิจารณาด้วยปัญญาเห็นเป็นของควรระงับดับไป พิจารณาด้วยปัญญา เห็นเป็นของควรสละเวทนาเหล่านั้นออกไป
 

                  เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสของตนเองลงได้ เมื่อดับกิเลสได้ ย่อมทราบชัดว่า เลิกเกิดแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทํากิจหน้าที่ของชีวิตสําเร็จแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว
นี่คือข้อปฏิบัติโดยย่อของพระองค์

 

                  พระโมคคัลลานะปฏิบัติตามพุทโธวาททุกประการบรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง
 

                   ส่วนพระสารีบุตร ทำความเพียรอยู่ถึงครึ่งเดือน ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้น มีปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ ทีฆนขะ อัคคีเวสสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธองค์ ในถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ทีฆขนะกูลแสดงความคิดเห็นของตนซึ่งเขาคิดว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องว่าเขาไม่ชอบใจทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ต้องไม่ชอบใจความคิดเห็นของท่านด้วย " ครั้นแล้วพระองค์ประทานพระธรรมเทศนาว่า
 

                   สมณพราหมณ์บางพวกมีทิฏฐิคือความคิดเห็นว่า คนเราควรชอบทุกสิ่งทุกอย่าง บางพวกมีความคิดเห็นว่า คนเราไม่ควรชอบอะไรเลย บางพวกเห็นว่า บางอย่างควรชอบ บางอย่างไม่ควรชอบ
 

                   ความจริงแล้ว ความคิดเห็นทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง พวกแรกเน้นหนักไปในทางรัก พวกที่สองเน้นหนักไปในทางเกลียด พวกที่สามเน้นเรื่องบางอย่างรักบางอย่างเกลียด ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันดังนี้แล้ว ก็จะต้องถกเถียงกันไม่มีวันจบสิ้น เถียงกันก็ต้องวิวาททะเลาะกัน ทะเลาะกันก็จะต้องอาฆาตแค้นปองร้ายหมายพิฆาต ปองร้ายก็ต้องมีการเบียดเบียนตามมา
 

                   ผู้มีปัญญาเห็นโทษดังนี้แล้ว ไม่ถือความคิดเห็นทั้ง ๓ อย่างว่าถูกต้อง และไม่คิดถือความเห็นอย่างอื่นขึ้นมาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ควรถือมั่น เพราะกาย คือรูปร่างของเรานี้เกิดด้วย มหาภูตรูป ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) มาประชุมรวมกันเข้า มีพ่อกับแม่เป็นแดนเกิด ร่างกายเจริญเติบโตได้เพราะมีอาหารหล่อเลี้ยง ต้องกำจัดกลิ่นเหม็นด้วย ของหอมต่างๆ ต้องขัดสีฉวีวรรณให้สะอาด แต่ท้ายที่สุดก็แตกกระจัดกระจายไปเหมือนกันหมดทุกชีวิต
 

                    เราควรพิจารณาให้เห็นว่า กายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อดทนได้ยาก เป็นเหมือนหัวฝี (ปวดอยู่เสมอ) เหมือนลูกศร (ปลายแหลมคม บาดให้เจ็บได้ง่าย) อยู่ด้วยความยากลำาบาก ชำรุดทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตนอะไร
 

                    เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมละความรักใคร่พอใจความกระวนกระวายในกามลงได้
 

                     อีกอย่างหนึ่ง เวทนา (คือความรู้สึก) มี ๓ อย่าง ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์(เฉย) เวทนาเหล่านี้ไม่เที่ยง มีปัจจัย (คือส่วนประกอบ) แต่งขึ้น เมื่อมีขึ้นแล้วก็สิ้นไปเสื่อมไป จางไปดับไป เป็นธรรมดาอยู่ดังนี้
 

                     ผู้มีปัญญาเมื่อฟังแล้ว ได้พิจารณาเห็นตาม ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาทั้ง ๓ เหล่านั้น เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายจากความกำหนัด คือพอใจรักใคร่อยากได้ เมื่อหมดความกำหนัด จิตใจก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อใจพ้นแล้วก็เกิดญาณที่ทำให้รู้ว่าพ้นแล้ว
 

                     รู้ว่าไม่เกิดเป็นอะไรอีกแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หน้าที่ของชีวิตเสร็จสิ้นลงแล้ว กิจการอื่นๆ ที่ต้องทำให้ได้ประโยชน์ยิ่งกว่านี้ไม่มี ภิกษุที่พ้นแล้วอย่างนี้ จะไม่วิวาทโต้เถียงกับใครๆ คําพูดสิ่งใด ผู้คนพูดกันอยู่ในโลกตามที่สมมติกัน ก็พูดไปตามนั้น แต่ไม่คิดยึดถือ
มั่นด้วยทิฏฐิ

 

                      พระสารีบุตรฟังพระธรรมเทศนาทั้งหมดตั้งแต่ต้นตลอดมา ส่งใจเข้าภายในตัว คิดได้ว่าพระบรมศาสดาตรัสสอนให้ละการยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้แล้ว จิตก็พ้นอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
 

                       ส่วนทีฆขนะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน สิ้นความเคลือบแคลงในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า ไพเราะและแจ่มแจ้ง เข้าใจได้ชัดเจน เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องตะเกียงในที่มืด ทำให้คนตาดีมองเห็นทาง และปฏิญาณตนเป็นอุบาสกนับแต่วันนั้น
 

                      ต่อมา พระบรมศาสดาได้ทรงแต่งตั้งให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้เลิศด้วยการแสดงฤทธิ์ พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา พระเถระทั้งสองเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา
 

                       พระบรมศาสดาทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนามั่นคงในแคว้นมคธ แล้วเสด็จจาริกไปตามแว่นแคว้นอื่นๆ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนประชุมชนให้ได้มีความเสื่อมใส และปฏิบัติตาม บางพวกออกบวชในพระธรรมวินัย เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ช่วยกันประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายต่อๆ มา สมดังพระพุทธปณิธานที่ทรงตั้งไว้แต่เดิมโน้น

 

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้(ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)

อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง วัติรางกูล)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014676332473755 Mins