เหตุการณ์สำคัญบางตอนในพระพุทธกิจทั่วไป

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2566

5-4-66-1-b.png

บทที่ ๑๓
เหตุการณ์สำคัญบางตอนในพระพุทธกิจทั่วไป


               ในประเทศอินเดียยุคนั้น มีนักบวชลัทธิต่างๆ มาก บ้างก็ชอบอวดอิทธิฤทธิ์ที่ดูเป็นเรื่องอัศจรรย์ หรืออวดการกระทำที่ผู้อื่นทำไม่ได้ เพื่อเรียกความเลื่อมใสจากประชาชน บางพวกแสวงหาความพ้นทุกข์ด้วยวิธีผิดๆ เช่น การทรมานร่างกาย เปลือยกายล่อนจ้อน แสดงว่าไม่ยึดถือในร่างกาย ยืนขาเดียวตลอดเวลา กำมือไว้แน่นไม่คลายกระทั่งเล็บงอกขาวทะลุฝ่ามือ นั่งบนตะปู อ้าปากแหงนดูดวงอาทิตย์ หรืออื่นๆ ซึ่งยังสืบเชื้อสายการกระทํามาจนทุกวันนี้
 

               แต่เมื่อมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น พระราชาและผู้คนในแคว้นต่างๆ พากันนิยมเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักบวชนิกายอื่นเกลียดชัง บางพวกคิดอิจฉาริษยา บางพวกคิดทําลายด้วยกลอุบายต่างๆ
 

               ขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จไปที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล พวกนักบวชเดียรถีย์เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ และพระองค์คงทรงห้ามพระองค์เองด้วย จึงท้าพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพวกตน พระองค์ตรัสตอบรับว่า พระองค์ทรงห้ามสาวก แต่ไม่ได้ห้ามพระองค์เอง ทรงรับคำท้า จะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ (แสดงคู่) ซึ่งไม่มีผู้ใดแสดงได้มาก่อน เช่น แสดงน้ำคู่กับไฟ ที่โคนต้นมะม่วง
 

             เมื่อพวกเดียรถีย์ทราบว่าพระบรมศาสดาจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วงก็ให้คนไปเที่ยวโค่นต้นมะม่วงจนหมด จะได้ไม่มีที่ให้ทรงแสดง
 

              พอถึงวันกำาหนดนัดหมาย มีผู้นำผลมะม่วงสุกมาถวาย พระบรมศาสดาทรงฉันแล้ว รับสั่งให้ฝังเมล็ดมะม่วงลงในดิน ใช้น้ำล้างพระบาทรดลง ทันใดนั้นต้นมะม่วงก็งอกขึ้นโดยเร็วพลัน เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาถึง ๕๐ ศอก เป็นอัศจรรย์ให้ปรากฏแก่สายตามหาชน
 

             แล้วทรงสําแดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นพระรูปกายในพระอิริยาบถต่างๆ อย่างละหนึ่งคู่ ทรงบันดาลให้ท่อน้ำใหญ่พุ่งจากพระวรกายเบื้องบน เปลวไฟพุ่งเป็นลำออกจากพระวรกายเบื้องล่าง เป็นต้น พวกเดียรถีย์เห็นดังนั้นก็ยอมพ่ายแพ้ด้วยความอัปยศ จนต้องไปโดดน้ำตาย ผู้คนก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
 

เสด็จโปรดพระพุทธมารดา
 

              เมื่อพระบรมศาสดาเผยแผ่พระศาสนาได้ ๗ พรรษา และทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วทรงรำลึกถึงพระพุทธมารดา ทรงเห็นว่าแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในอดีตกาลนั้น เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว จะเสด็จไปทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 

               จึงทรงดำริเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ซึ่งทรงบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต แต่ที่เสด็จไปแค่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเปิดโอกาสให้เทพยดาชั้นต้นๆ ได้ฟังพระธรรมเทศนาด้วย เพราะในเทวภูมินั้น สวรรค์ชั้นสูงขึ้นไปมากๆ มีแสงสว่างเจิดจ้ามาก เทพยดาชั้นต่ำไม่สามารถขึ้นไปได้ แต่เฉพาะสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนเป็นเทวภูมิชั้นกลางๆ เทวดาชั้นต่ำกว่าหรือสูงกว่าพากันมาได้หมด
 

               พระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนแท่นศิลาที่ปูลาดด้วยผ้ากัมพลทิพย์สีแดง เรียกว่า บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ โคนต้นปาริฉัตร
 

               พระอินทร์จอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงป่าวประกาศให้เทพยดาทั้งหลายมาชุมนุมฟังพระธรรมเทศนา เทพบุตรสิริมหามายาพระพุทธมารดา ก็ได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต พร้อมทั้งเทพบุตรอื่นๆ มาฟังธรรมด้วย
 

                พระบรมศาสดาทรงแสดงพระอภิธรรม ธรรมชั้นสูง) ตลอดพรรษานั้น พระพุทธมารดาพร้อมเทพยดาอื่นๆ ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นอันมาก
 

                ในระหว่างพรรษาซึ่งพระบรมศาสดาประทับอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์เสด็จบิณฑบาตที่โลกมนุษย์อีกโลกหนึ่งชื่อ อุตตรกุรุทวีป แล้วกลับไปเสวยที่ศาลาป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่นั่น พระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่เหล่าเทพยดาให้พระสารีบุตรฟังโดยสังเขป พระสารีบุตรนำมาสอนลูกศิษย์ ๕๐๐ คน ที่เคยมีอุปนิสัย เพราะได้ฟังคำสาธยายพระอภิธรรมสมัยที่ตนเกิดเป็นค้างคาว ๕๐๐ ตัว อยู่ในถ้ำ ซึ่งมีพระภิกษุในพุทธกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ สวดสาธยายพระอภิธรรมกถาที่นั้น
 

                ศิษย์ทั้ง ๕๐๐ ของพระสารีบุตร สามารถศึกษาพระอภิธรรมได้แตกฉาน
 

                 เมื่อหมดฤดูฝนออกพรรษา พระบรมศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ พระอินทร์เนรมิตบันได ๓ ชนิด พาดจากยอดเขาสิเนรุ ลงที่ประตูเมืองสังกัสนคร มีบันได แก้วอยู่กลางสาหรับพระบรมศาสดา ข้างขวาเป็นบันไดทอง สําหรับเทพยดาทั้งหลาย ข้างซ้ายเป็นบันไดเงิน สําหรับท้าวมหาพรหม
 

                 ขณะพระบรมศาสดาประทับยืนอยู่บนบันไดแก้วมณีนั้น เบื้องบนก็เปิดให้เห็นได้ ทั้งเทวโลกและพรหมโลก เบื้องล่างนิรยนรกทั้งหลายก็เปิดโล่ง เทวดา พรหม มนุษย์ และ สัตว์นรกแลเห็นซึ่งกันและกัน ต่างได้แลเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์พร้อมๆ กัน ก็พากันมีจิตคิดปรารถนาจะได้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าบ้างด้วยกันทุกคน
 

                ทุกวันนี้เหล่าพุทธศาสนิกชนยังนิยมถือว่า วันออกพรรษาเป็นวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์จึงมีพิธีทำบุญเรียกว่า ตักบาตรเทโว (ย่อมาจาก เทโวโรหณะ แปลว่า ลงจากเทวโลก) หรือตักบาตรดาวดึงส์ บางแห่งผู้คนแน่นมาก นำของใส่บาตรเข้าไม่ถึงพระภิกษุ จึงทำเป็นห่อข้าวมีหางยาวไว้จับโยนเข้าไปให้ถึงบาตร เรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน อย่างทางภาคใต้เป้นต้น
 

 ทรงระงับข้อพิพาทระหว่างเหล่าภิกษุสงฆ์ที่กรุงโกสัมพี
 

                 แม้พระพุทธเจ้าของเราจะมีพระพุทธานุภาพมากเพียงใดก็ตาม แต่บางเรื่องก็ต้องปล่อยไปตามแต่อำนาจกิเลสของคนเหล่านั้น เช่น พระเทวทัต พระเจ้าสุปปพุทธะ ซึ่งถูกแผ่นดินสูบทั้งสองคน
 

                 หรืออย่างเรื่องการทะเลาะวิวาทของเหล่าภิกษุชาวเมืองโกสัมพีก็เช่นเดียวกัน ภิกษุผู้เป็นอาจารย์ทางฝ่ายพระนักเทศน์เข้าวัจจกุฎี(ส้วม) ใช้น้ำในภาชนะไม่หมด ไม่เทคืนแล้วหงายภาชนะไว้ อาจารย์ฝ่ายพระวินัย (พวกรักษาศีลเคร่งครัด) เข้าไปพบเข้า ออกมาต่อว่า ว่าผิดวินัย
 

                 อาจารย์ฝ่ายนักเทศน์ชี้แจงว่า ตนไม่ทราบ บัดนี้ทราบแล้วต่อไปจะไม่ทำอีก อาจารย์ฝ่ายพระวินัยตอบว่า เมื่อไม่ทราบก็ไม่ผิด ต่างฝ่ายต่างแยกกันไป แต่อาจารย์ฝ่ายพระวินัยอดไม่ได้ นำเรื่องไปเล่าให้ลูกศิษย์ของตนทราบ ฝ่ายลูกศิษย์ก็นำไปกล่าวเยาะเย้ย ลูกศิษย์พระนักเทศน์ว่าวินัยเล็กน้อยแค่นี้ก็ไม่รู้ เมื่อความทราบถึงอาจารย์ฝ่ายพระนักเทศน์ก็บันดาลโทสะและต่างเพ่งโทษซึ่งกันและกัน จึงเกิดการทะเลาะวิวาทบานปลายกันใหญ่โต แตกแยกกันไปหมดทั้งเมือง ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ประชาชน จนตลอดเทวโลก และพรหมโลก
 

                 พระบรมศาสดาทรงทราบข่าว ได้ส่งคณะสงฆ์มาทำการไกล่เกลี่ยหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ แม้พระองค์เสด็จมาเองก็ทรงแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีผู้ใดยอมฟัง กลับพูดจาไม่เคารพยำเกรงว่า ขอให้พระองค์ทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด หมายถึงพูดทำนองว่า อยู่เฉยๆ เถิดธุระไม่ใช่ พวกเขาอยากทะเลาะกัน พระองค์ทรงเห็นว่าสาวกดื้อรั้น จึงทรงปลีกตัวเสด็จตามลำพัง ไปอาศัยอยู่ในป่าป่าเรไลยก์
 

                 ที่นั่นมีช้างเชือกหนึ่งเบื่อโขลง หนีออกมาอยู่ตามลำพัง เห็นพระบรมศาสดามีใจเลื่อมใส จึงเข้ามาปรนนิบัติต่างๆ นับตั้งแต่ใช้งวงถือกิ่งไม้ปัดกวาดทำความสะอาดที่พัก กลางคืนอยู่ยามป้องกันสัตว์ร้าย ตอนเช้าเข้าป่าหาผลไม้มาถวาย ตอนเย็นต้มน้ำให้สรง โดยใช้งวงสูบน้ำใส่แอ่งหินที่กลางวันมีแดดส่องจนร้อนจัด หรือมิฉะนั้นก็เอากิ่งไม้เขี่ยหิน ที่เผาไฟจนร้อนลงในแอ่งน้ำ
 

                  ส่วนลิงน้อยตัวหนึ่ง ออกมาอยู่นอกฝูงตามลำพัง เห็นช้างปรนนิบัติพระบรมศาสดา มีความพอใจใคร่ทำตามอย่างจึงไปหักรวงผึ้งทั้งรวงมาถวาย พระองค์ทรงรับไว้ แต่ไม่ทรงฉัน ลิงพิจารณาดูเห็นตัวผึ้งอ่อนติดอยู่ จึงหยิบออกเสีย แล้วถวายใหม่เฉพาะที่เป็นส่วนน้ำผึ้ง ทรงรับแล้วเสวย ลิงใจกระโดดโลดเต้น พลัดตกกิ่งไม้ตาย ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 

                  พระบรมศาสดาทรงจําพรรษาอยู่ ณ ป่าป่าเรไลยก์นี้ตลอดพรรษา ฝ่ายในเมืองโกสัมพี เมื่อการทะเลาะวิวาทแผ่ไปกว้างขวาง จนเป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน อีกทั้งชาวเมืองทราบเรื่องที่เหล่าภิกษุดื้อดึงต่อพระพุทธเจ้า ทำให้พระองค์ต้องเสด็จไปหลีกเร้นอยู่ในป่า ชาวเมืองไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า จึงพากันโกรธเคืองภิกษุเหล่านั้นพากันไม่ถวายอาหารบิณฑบาต ทำให้ภิกษุทั้งหลายอดอยากไปทั่วหน้าทั้งสองฝ่าย เมื่อต้องหิวโหย ทิฏฐิมานะก็ลดลง หันหน้าเข้าปรึกษาหารือกัน ยอมรับผิดทั้งสองฝ่าย แต่ชาวเมืองไม่ยอมให้อภัย ให้นําพระบรมศาสดาคืนมา
 

                  เหล่าภิกษุเมืองโกสัมพีจึงวิงวอนให้พระอานนท์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อกราบทูลให้ยกโทษ เมื่อพระอานนท์เดินทางไปถึงช้างปาเรไลยก์เห็นแต่ไกล เข้าใจว่าจะมาทำอันตราย จึงเตรียมวิ่งเข้าไปทำร้าย พระบรมศาสดาตรัสห้ามไว้ ช้างฟังแล้วเข้าใจจึงคอยทีอยู่ แต่เมื่อเห็นพระอานนท์แสดงความเคารพเป็นอย่างยิ่ง ช้างคิดเป็นมิตรด้วย พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้เหล่าภิกษุเมืองโกสัมพีเข้าเฝ้า ช้างจึงมีโอกาสหาผลไม้มาถวายเหล่าภิกษุ
 

                 เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับการขมาโทษจากเหล่าภิกษุชาวเมืองโกสัมพีแล้ว ต้องทรงกลับออกจากป่าเพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชนต่อ ช้างเดินทางตามมาด้วย พอเข้าเขตหมู่บ้าน พระองค์ตรัสให้ช้างกลับเข้าป่าตามเดิม เพราะมาใกล้แดนมนุษย์มีอันตรายมาก ช้างยืนนิ่งส่งด้วยความเสียใจ เมื่อพระบรมศาสดาและเหล่าภิกษุจากไปลับตา หัวใจของช้างปาเรไลยก์ก็แตกสลายตายไปบังเกิดในสวรรค์
 

ทรงปลงอายุสังขาร
 

                 พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาไปตามแว่นแคว้นต่างๆ เป็นเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่วันตรัสรู้ กระทั่งพระชนม์ ๘๐ พรรษา พระศาสนาเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้พุทธบริษัททั้ง ๔ สามารถสืบทอดต่อและดำรงตนอยู่ในพระสัทธรรมตามอุปนิสัย เป็นประโยชน์แก่มนุษย์และเทพยดาเป็นอันมาก
 

                ในพรรษากาลที่ ๔๕ เสด็จจำพรรษาครั้งสุดท้ายที่บ้านเวฬุวคาม ในเขตเมืองไพศาลี ทรงอนุญาตให้เหล่าภิกษุจำพรรษาตามสถานที่ต่างๆ ที่คุ้นเคย ในเมืองเดียวกัน
 

                 ระหว่างพรรษา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประชวรด้วยโรคชราอาพาธหนัก ทรงมีทุกขเวทนาแรงกล้า พระองค์ทรงดำรงพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นในทุกขเวทนาเหล่านั้น ทรงทำความเพียรในอิทธิบาทภาวนา ได้แก่ ฉันทะ (มีใจรักในธรรมนั้นๆ) วิริยะ (พยายามทำให้ธรรมนั้นเกิด) จิตตะ(เอาใจใส่ ฝักใฝ่ในธรรมนั้น) วิมังสา (พิจารณาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง สอบสวนหาเหตุผลในธรรมนั้น) ขับไล่ความเจ็บไข้เหล่านั้นให้หายไป
 

                 พระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากเข้าเฝ้ากราบทูลความในใจที่เห็นพระองค์ทรงประชวรว่า รู้สึกเป็นทุกข์เหมือนร่างกายเจ็บป่วยงอมระงมไปด้วย ใจคอมืดมนไปทั่วทุกทิศ ธรรมะทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะความวิตกกังวลในพระอาการประชวร แต่อุ่นใจอยู่นิดหนึ่งที่พระองค์ยังไม่ตรัสพุทธพจน์ใดเป็นการสั่งลา คงยังไม่ปรินิพพาน เมื่อได้เห็นพระองค์ทรงหายดีแล้วรู้สึกดีใจ
 

                พระบรมศาสดาตรัสว่า ร่างกายของพระองค์ชรามาก เหมือนเกวียนชำรุดแล้ว เอาไม้ไผ่มาซ่อมแซมไว้ ส่วนเรื่องตรัสพุทธพจน์สั่งสอนอีกนั้น พระองค์ได้สอนจนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่อีกเลย
 

                ครั้นแล้วพระพุทธองค์ทรงกล่าวให้พระอานนท์ได้คิด ที่จะกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่จนถึงอายุกัป (เวลานั้นมนุษย์มีอายุ ๑๐๐ ปี) หรือเกินกว่านั้น ตรัสแสดงถึงคุณของการภาวนาอิทธิบาท ๔ ว่ามีอานุภาพทำให้ผู้บำเพ็ญมีอายุยืนถึงหนึ่งอายุกัป หรือเกินกว่านั้น ได้ตรัสเรื่องนี้ซ้ำๆ ถึง ๓ ครั้ง แต่ฝ่ายมารเข้าดลใจพระอานนท์ ทําให้คิดอะไรไม่ออก งงงวยไปเสีย ฟังแล้วไม่เข้าใจพระประสงค์ พระองค์จึงให้พระอานนท์ออกไปนั่งที่อื่น
 

                 ขณะนั้นเองมารก็เข้าไปทวงสัญญาว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่ฉลาด ยังไม่สามารถแสดงธรรมได้ลึกซึ้งกว้างขวาง ทั้งการบวชประพฤติพรหมจรรย์ยังไม่แพร่หลายไปทั่ว ได้รับความสำเร็จบริบูรณ์ด้วยดี ทำให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก ทั้งเทพยดาและมหาชนแล้ว พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน บัดนี้ทุกสิ่งที่ทรงต้องการ เป็นไปตามพระประสงค์แล้ว ขอพระองค์จงปรินิพพานเถิด เป็นเวลาอันสมควรแล้ว
 

                 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ต้องวุ่นวายอะไร พระองค์จะปรินิพพานในเวลาต่อจากนั้นอีก ๓ เดือน ครั้นแล้วทรงมีพระสติสัมปชัญญะมั่นปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลี เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวใหญ่ เสียงกลองทิพย์บันลือลั่นในอากาศ พระอานนท์เถระแปลกใจมาก จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาทูลถามสาเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว
 

พระองค์ตรัสชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวมี ๘ ประการ คือ
๑. ลมกำเริบ (เกิดขึ้นเอง)
๒. ผู้มีฤทธิ์ทําให้เกิด
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
๖. พระตถาคตเจ้าเริ่มแสดงธรรม ประกาศพระศาสนา
๗. พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน

 

              แผ่นดินไหวขณะนั้นเป็นเพราะพระองค์ทรงปลงอายุสังขาร พระอานนท์ได้สติกราบทูลอาราธนาให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไปจนถึงกัปหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย พระบรมศาสดาทรงห้าม พระอานนท์วิงวอนถึง ๓ ครั้ง อ้างว่า พระองค์ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ แคล่วคล่องชำนาญย่อมทรงดำรงพระชนม์ต่อไปได้
 

              พระบรมศาสดาได้ตรัสต่อไปว่า พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาถึง ๓ ครั้งแล้ว พระอานนท์ไม่เข้าใจเอง จึงเป็นความผิดของพระอานนท์ผู้เดียว เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว (คือตั้งใจกำหนดวันปรินิพพาน) ไม่สามารถแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้
 

               นอกจากนั้นพระบรมศาสดายังตรัสย้อนไปถึงเวลาอื่นๆ ที่ทรงเปิดโอกาสให้ทูล อาราธนาในสถานที่ต่างๆ ถึง ๑๖ ตำบล คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล ที่เมืองเวสาลี ๖ ตำบล
 

              พร้อมกันนั้นได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่พระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ เราได้บอกมาแต่ต้นแล้วว่า บรรดาสัตว์ หรือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา(สังขาร) ซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจทั้งหมดทั้งสิ้น ย่อมต้องพลัดพราก มีอันเป็นไปต่างๆ ไม่คงทนถาวรอยู่ได้ตามที่เราต้องการ ของสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเที่ยงแท้แน่นอน ที่เหล่าสัตว์ประสงค์อยากได้นั้น ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนๆ สิ่งใดมีปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดมา สิ่งนั้นก็ต้องสิ้นสูญไปเป็นธรรมดา การร่ำร้องทะยานอยากไปว่าขอสิ่งเหล่านั้นอย่าเสื่อมสูญไปเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
 

               “ดูก่อนอานนท์ สิ่งใดที่พระตถาคตได้สละแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว วางแล้ว จะให้เปลี่ยนเอากลับคืน เพราะเห็นแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
 

ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ป่ามหาวัน
 

                เมื่อตรัสสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้ว เสด็จไปยังศาลาที่ป่ามหาวัน ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลีมาเข้าเฝ้า ตรัสประทานโอวาทมีเนื้อความว่า
 

               ไม่จำเป็นที่ภิกษุทั้งหลายจะปรารถนาให้พระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ต่อไปอีกนานๆ เพราะธรรมทั้งหลายที่ภิกษุปฏิบัติแล้ว ตรัสรู้ในชาตินี้ เป็นความรู้เหนือโลก ได้ปัญญาขั้นโลกุตตระ (พ้นการเวียนว่ายตายเกิด) พระองค์ได้สั่งสอนไว้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งแล้ว ขอให้ภิกษุทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ก็จะเป็นผลสำเร็จ ได้รับประโยชน์ ผู้ใดยังไม่บรรลุมรรคผล ให้รีบขวนขวาย อย่ามัวประมาท อย่ามัวเสียใจ
 

                เมื่อเหล่าภิกษุพากันกระทำตามคำสอนนี้ให้มากเข้า พระศาสนาก็จะตั้งอยู่ได้นานไม่เสื่อมสูญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สุขต่อมหาชนเป็นอันมาก เป็นการอนุเคราะห์สัตว์โลก พร้อมทั้งเทพยดาทั้งปวง
 

                ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เป็นอย่างดีแล้วนี้คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (ธรรมที่เกื้อหนุนให้รู้แจ้ง) ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

               เมื่อภิกษุพากันศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ทั้งเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็สำเร็จเช่นเดียวกัน

 

               สติปัฏฐาน ๔ คือ ธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ (สติคือความนึกได้ การคุมใจไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง) มีตั้งสติกำหนดพิจารณาใน กายเวทนา (ความรู้สึก) จิต และธรรม
 

                สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียร ๔ อย่าง เพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้หมด เพียรไม่ให้ความชั่วใหม่เกิด เพียรรักษาความดีที่มีอยู่เอาไว้ เพียรสร้างความดีใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้น
 

                 อิทธิบาท ๔ คือ ทางแห่งความสำเร็จ มีฉันทะ (ความพอใจรักใคร่) วิริยะ (ความเพียรทำ) จิตตะ (การเอาใจฝักใฝ่) และวิมังสา (การพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญา)
 

                 อินทรีย์ ๕ ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
 

                 พละ ๕ ธรรมที่มีกําลังมาก ๕ ประการ เหมือนอินทรีย์ ๕
 

                  โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตรัสรู้ คือ
๑. สติ การนึกได้ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
๒. ธัมมวิจยะ การพิจารณาเลือกธรรม การสอดส่องสืบค้นธรรม
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปิติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ
๖. สมาธิ ใจตั้งมั่น ใจแน่วแน่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
๗. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง

 

                  มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ มีความถูกต้องในเรื่อง ๘ อย่าง ได้แก่ ความคิดเห็น การดำริ การพูดจา การงาน การเลี้ยงชีวิต ความเพียร สติ และสมาธิ
 

                  ต่อจากนั้นพระองค์ตรัสถ้อยคำแสดงความสลดใจ ให้ผู้ฟังเกิดความสังเวช เตือนใจให้เกิดความสำนึก ที่จะน้อมใจมาทางกุศล รวมทั้งตรัสสอนเรื่องธรรมคือความ ไม่ประมาท ด้วยพระวาจาว่า
 

                  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า สังขาร (สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาท่านทั้งหลายจงยัง(กระทำ)ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม(สำเร็จ)บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด เราตถาคตจักปรินิพพานเร็วๆ นี้ คืออีก ๓ เดือนข้างหน้า
 

                   คนทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นคนหนุ่ม คนแก่ คนฉลาด มั่งมีหรือยากจน ล้วนต้องตายด้วยกันทุกคน มีความตายคอยอยู่ข้างหน้า เหมือนภาชนะที่ปั้นด้วยดินที่ช่างปั้นทำขึ้น ทั้งที่มีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ยังไม่ได้เผาหรือเผาสุกแล้ว ไม่ว่าชนิดใด ต้องแตกทำลายในที่สุด
 

                   ชีวิตสัตว์ทั้งหลายก็ในทำนองเดียวกัน แตกทำลายไปในที่สุด เราตถาคตมีวัยชรามากแล้ว ชีวิตของเราเหลือน้อยแล้ว เราต้องจากพวกท่านไปก่อน เราเองทำที่พึ่งให้ตนเองไว้แล้ว
 

                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเลิศ จงมีความดำริให้มั่นคง จงตามรักษาจิตของตนเอง ใครก็ตามอยู่ในธรรมวินัยนี้อย่างไม่ประมาท คนคนนั้นจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จะเป็นผู้สิ้นทุกข์”
 

                   พระบรมศาสดาตรัสสอนเรื่องให้สลดใจ และสอนไม่ให้ประมาทด้วยประการฉะนี้
 

                   ครั้นรุ่งเช้าเป็นเวลาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเวสาลี เมื่อเสด็จกลับพ้นตัวเมือง ทรงหันพระวรกายกลับทั้งพระองค์ (หันหลังกลับ) ทอดพระเนตรตัวเมือง ตรัสว่า
 

                  “ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตจักเห็นเมืองเวสาลี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้จะไม่ได้เห็นอีกแล้ว ดูก่อนอานนท์ เวลานี้เราเดินทางต่อไปยังบ้านภัณฑุคามกันเถิด”
 

พระโอวาทที่บ้านกัณทุคาม
 

                   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาที่บ้านภัณฑุคาม เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ เป็นอริยสัจธรรม ๔ ประการ มากกว่าตรัสสอนอย่างอื่น
 

                    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่เราไม่ตรัสรู้ รู้แจ้ง) ไม่แทงตลอดในธรรมทั้ง ๔ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ นี้ เราทั้งหลายคือทั้งตถาคตและสาวกทั้งหมด จึงพากันท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดต่างๆ สิ้นเวลาช้านานนัก โมหะ อันเป็นความโง่ หลง เป็นความมืด ปกปิดไม่ให้เกิดปัญญาตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ นี่เอง เป็นเหตุให้เราทั้งหลายต้องตกอยู่ในสังสารทุกข์อันวิจิตรเป็นอเนกประการ
 

                     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาบัดนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ซึ่งเป็นอริยธรรมเหล่านั้น เราทั้งหลายได้ตรัสรู้แจ้งแล้ว ได้แทงตลอดแล้ว ตัณหาที่จะก่อภพให้เราเกิด เราตัดทิ้งไปหมดแล้ว ตัณหาอันเป็นบ่วงร้อยรัดเราให้ติดอยู่ในภพ เหมือนเชือกผูกเท้ากา ทำให้บินหนีไปไหนไม่ได้ หลุดจากเราแล้ว ตัณหาไม่สามารถทำภพอะไรให้เราต้องเกิดอีก ต่อไปนี้เราตถาคตและพวกท่านทั้งหลายจะไม่เกิดอีก”
 

                      พระบรมศาสดาตรัสแสดงอานิสงส์ของอริยธรรมทั้ง ๔ นี้ว่า
 

                     "ศีล เป็นที่ตั้งพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของคุณธรรมเบื้องสูง เหมือนผืนแผ่นดินเป็นฐานสําหรับอาศัยทำกิจการทั้งปวงที่ต้องทำด้วยเรี่ยวแรง(ทำด้วยกาย) เมื่ออบรมศีลได้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี จะอบรมสมาธิได้ดี สมาธิเมื่ออบรมได้ดีแล้ว มีอานิสงส์ใหญ่ เพราะสมาธิจะอบรมให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาอบรมดีแล้ว จิตจะมีวิมุตติหลุดถอนพ้นจากอาสวะทั้งหลายที่ดองอยู่ในสันดาน มีดองด้วยกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ดองด้วยภาพ (เกิดในที่ต่างๆ) ดองด้วยอวิชชา (คือความไม่รู้อะไรตามความเป็นจริง)
 

                     เมื่อจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงแล้ว ย่อมพ้นจากสังสารทุกข์ทั้งสิ้น สิกขาทั้ง ๓ นี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางให้ถึงวิมุตติ (ความหลุดพ้น) เป็นแก่นของพระธรรมวินัย สาวกจะบรรลุวิมุตตินี้ได้ ก็ด้วยทำไตรสิกขาให้บริบูรณ์”
 

พระโอวาทที่โภคนคร


                   เมื่อเสด็จถึงโภคนคร ตรัสสอนเหล่าภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่อง มหาปเทส ๔ เพื่อเป็นหลักสำหรับที่ภิกษุสงฆ์จะใช้ตัดสินว่า สิ่งใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นพระพุทธพจน์หรือมิใช่ โดยตรัสว่า “ถ้าจะมีภิกษุใดมาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นพระพุทธพจน์ ที่พระศาสดาทรงสอนไว้ ที่สงฆ์บัญญัติไว้ ที่คณะต่างๆ กล่าวไว้ หรืออ้างบุคคลใดก็ดี พวกเธออย่ารีบด่วนเชื่อถือ ยินดีรับคำพูดเหล่านั้น แต่อย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้สอบทานคำสอนเหล่านั้นให้ถี่ถ้วนแน่นอน เทียบดูในพระสูตร (พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆ ) เทียบดูในพระวินัย (ข้อห้ามต่างๆ ที่ทรงกำหนดไว้)
 

                ถ้าถ้อยคำเหล่านั้นเทียบในพระสูตรก็ไม่ตรง เทียบในพระวินัยก็ไม่ตรง ให้เข้าใจได้ว่าไม่ใช่คำพูดของตถาคต ผู้บอกรับมาผิด จำมาคลาดเคลื่อน แต่ถ้าเทียบดูแล้ว เข้ากัน ได้ทั้งพระสูตรและพระวินัย ไม่มีสิ่งใดคลาดเคลื่อน ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นคำสอนของ
พระผู้มีพระภาคแน่แล้ว ผู้บอกรับฟังมาด้วยดี ไม่วิปริต"

 

มหาปเทส ๔ หลักอ้างอิงเทียบเคียงเกี่ยวกับพระวินัย ๔ ประการ
๑. สิ่งใดไม่ทรงห้าม ว่าเป็นสิ่งไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งไม่สมควรต่อสมณะสิ่งนั้นไม่สมควร
๒. สิ่งใดไม่ทรงห้าม ว่าเป็นสิ่งไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งที่ควรต่อสมณะสิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดไม่ทรงอนุญาตว่าเป็นสิ่งสมควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งไม่สมควร สิ่งนั้นไม่สมควร
๔. สิ่งใดไม่ทรงอนุญาตว่าเป็นสิ่งสมควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งสมควร สิ่งนั้นควร

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013239820798238 Mins