วิปัสสนาภาวนา

วันที่ 07 กย. พ.ศ.2566

7-9-66-BL.jpg

วิปัสสนาภาวนา

               ที่กล่าวจบลงไปนั้นเป็นการเจริญภาวนาชนิดสมถกรรมฐาน ๔๐ วิธี การเจริญภาวนาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
              วิปัสสนาภาวนา คือการเจริญภาวนาเพื่อให้เห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบโดยมีความเห็นว่า

               ๑.ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นแต่เพียง รูปกับนาม เท่านั้น ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากสองสิ่งนี้
               ๒. ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ความเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ และอสุภะ เท่านั้น

                  การเห็นแจ้งเป็นพิเศษ คือ การมีปัญญาชนิดพิเศษ ปัญญาแปลว่า ความฉลาด
               ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาธรรมดา ได้แก่ปัญญาที่รู้จักกันดีอยู่โดยทั่วไป เช่น ปัญญาในวิชาชีพต่าง ๆ ในศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ส่วนปัญญาที่ให้เห็นแจ้งเป็นพิเศษ คือ วิปัสสนาญาณที่ประกอบด้วยกุศลจิต สามารถพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจํ ทุกขํ อนัตตา ในนามและรูป

                คำว่าลักษณะ หมายความว่า เป็นเครื่องหมายของสังขารธรรม สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ทั้งภายในภายนอกจะมีลักษณะ คือเครื่องหมาย ๓ อย่าง อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ครบถ้วนบริบูรณ์

                    อนิจจํ ได้แก่ ความสิ้นไป ดับไป การดับไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันของสังขตธรรมเป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ถึงความไม่เที่ยง ลักษณะดังนี้เรียกว่า “อนิจจลักษณะ”
                     ทุกขํ ได้แก่ความทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป เป็นภัยที่น่ากลัว ความทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันของสังขตธรรม เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ จำได้ สภาวะนี้ชื่อว่า “ทุกขลักษณะ”
                อนัตตา ได้แก่ความไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการ เครื่องหมายให้รู้ถึงสภาวะดังนี้เรียกว่า "อนัตตลักษณะ”

                การพิจารณาเนือง ๆ เรียกว่า อนุปัสสนา (อนุ แปลว่า เนือง ๆ ปัสสนาแปลว่าการรู้เห็น)
                อนิจจานุปัสสนา คือการพิจารณารู้เห็นรูปนาม ที่เป็นอนิจจังอยู่เนือง ๆ จนอนิจจลักษณะปรากฏ
                ทุกขานุปัสสนา คือการพิจารณารู้เห็นรูปนาม ที่เป็นทุกขังอยู่เนือง ๆ จนทุกขลักษณะปรากฏ
                อนัตตานุปัสสนา คือการพิจารณาเห็นรูปนามที่เป็นอนัตตาอยู่เนือง ๆ จนอนัตตะลักษณะปรากฏ

                เมื่อมีการพิจารณาเนือง ๆ ปัญญาย่อมเกิดกว้างขวางเป็นมหาวิปัสสนา ๑๘ อย่าง คือ
                ๑. เมื่อผู้ปฏิบัติทำให้อนิจจานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่ารูปนามไม่เที่ยงเจริญขึ้น ย่อมละนิจจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยงให้หมดไปได้
                ๒. เมื่อทำให้ทุกขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์เจริญขึ้น ย่อมละสุขสัญญา ความสำคัญว่าสุข ให้หมดไปได้
                ๓. เมื่อทำให้อนัตตานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นว่ารูปนามมิใช่ตนเจริญขึ้น ย่อมละอัตตสัญญา ความสำคัญว่าเป็นตน ให้หมดไปได้
                ๔. เมื่อทำให้นิพพิทานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนามเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่ายเจริญขึ้น ย่อมละนันทิ ความเพลิดเพลินให้หมดไป
                ๕. เมื่อท่าวิราคานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนามเป็นสิ่งน่าคลายความกำหนัดเจริญขึ้น ย่อมละราคะความกำหนัดให้หมดไปได้
                ๖. เมื่อทำให้นิโรธานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นความดับไปของรูปนามเจริญขึ้นย่อมละสมุทัย ความเกิด ให้หมดไปได้
                ๗. เมื่อทำให้ปฏินิสสัคคานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นความสละคืนจากการถือว่ารูปนามเป็น นิจจ-สุข-อัตต-สุภสัญญาแล้ว น้อมนึกในพระนิพพานเจริญขึ้น ย่อมละอาทานะกล่าวคือ ยอมให้กิเลสเกิดโดยที่มิได้เห็นโทษของสังขตธรรมหมดไปได้
                ๘ เมื่อทำให้ขยานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นความสิ้นไปแห่งรูปนามเจริญขึ้นย่อมละมุนสัญญา ความสำคัญว่าเป็นกลุ่ม เป็นกองเป็นแท่ง ให้หมดไปได้
                ๙. เมื่อทำให้วยานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นความเสื่อมไปของสังขารธรรมที่ดับไปแล้ว และจักมีขึ้นในข้างหน้า โดยเปรียบเทียบกับความเสื่อมไปของสังขารธรรมที่กำลังมีอยู่เฉพาะหน้าเจริญขึ้น ย่อมละอายุหนะ ความดิ้นรนเพื่อความสุขความก้าวหน้า ให้หมดไปได้
                ๑๐. เมื่อทำให้วิปริณามานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นความแปรไปไม่คงที่เจริญขึ้น ย่อมละธุรสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยง คงที่ ให้หมดไปได้
                ๑๑. เมื่อทำให้อนิมิตนุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่าไม่มีนิมิต รูปร่างสัญฐานซึ่งเป็นที่ตั้งอยู่เจริญขึ้น ย่อมละนิมิตทั้งสอง มี ฆนนิมิตและนิจจนิมิต ความมีรูปร่างสัญฐานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งมั่น คงที่อยู่ ให้หมดไปได้
                ๑๒. เมื่อทำให้อัปปณิหิตานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่น่ายินดี น่าปรารถนาเจริญขึ้น ย่อมละปณิธิ ความยินดีปรารถนาในเวทยิตสุขให้หมดไปได้
                ๑๓. เมื่อทำให้สุญญตานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นว่ามีแต่ความว่างเปล่าจากเราเขา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ๆ ทั้งสิ้นเจริญขึ้น ย่อมละอภินิเวสะ ความถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเบา อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ให้หมดไปได้
                ๑๔. เมื่อทําอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นแต่เพียงรูปกับนาม อันเป็นสังขตธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่คงที่อยู่ ต้องหมดไป สิ้นไป หาใช่มีเรามีเขาเป็นผู้หมดสิ้นไปไม่ อาศัยการเห็นอย่างประจักษ์ชัดของการดับไปของรูปและนาม ย่อมละสาราทานาภินิเวสะ ความงมงายถือมั่นว่าเป็นแก่นสารทนยืนนาน ให้หมดไปได้
                 ๑๕. เมื่อทำให้ยถาภูตญาณทัสสนะวิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนาม และธรรมที่เป็นปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงเจริญขึ้น ย่อมละสัมโมหาภินิเวสะ การถือมั่นด้วยความหลงอยู่ในวิจิกิจฉาว่า เป็นเราหรือไม่หนอ เป็นต้น และละทิฏฐิว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกเป็นต้น ให้หมดไปได้
                 ๑๖. เมื่อทำให้อาทีนวานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นโทษในรูปนาม โดยอาศัยความดับไปสิ้นไปที่น่ากลัวเจริญขึ้น ย่อมละอาลยาภินิเวสะ ความยึดมั่นจดจ่อในรูปนามว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัย ให้หมดไปได้
                  ๑๗. เมื่อทำให้ปฏิสังขานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนาม มีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น เพื่อจะสลัดเลิกละอารมณ์ที่เป็นรูปนาม เจริญขึ้น ย่อมละ อัปปฏิสังขา ความไม่พิจารณาให้แจ้งกระจ่างในรูปนามนั้น ๆ อันเป็นตัวโมหะ ให้หมดไปได้
                  ๑๘. เมื่อทำให้วิวัฏฏานุปัสสนา คือปัญญาที่เห็นรูปนามมีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดการท้อแท้ใครที่จะปล่อยปละละทิ้ง อันเป็นตัวสังขารุเปกขาญาณอนุโลมญาณเจริญขึ้น ย่อมละสังโยคาภินิเวสะ ความยึดมั่นประกอบติดอยู่ในรูปนามอันเป็นตัวตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้หมดไปได้

                   การเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อได้กำหนดรู้ กำหนดเห็น และพิจารณา ตามหลักปฏิบัติสมบูรณ์ดีแล้ว วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่เห็นแจ้งเป็นพิเศษย่อมเกิดขึ้นตามลำดับขั้น คือ
                   (๑.) สัมมสนญาณ                  ญาณกำหนดรู้รูปนามเป็นพระไตรลักษณ์
                   (๒) อุทยัพพยญาณ                ญาณกำหนดรู้ความเกิดดับของรูปนาม
                   (๓.) ภังคญาณ                       ญาณกำหนดรู้ความแตกสลายไปของรูปนาม
                   (๔.) ภยญาณ                         ญาณกำหนดรู้รูปนามเป็นภัยที่น่ากลัว
                   (๕.) อาทีนวญาณ                   ญาณกำหนดรู้โทษของรูปนาม
                   (๖.) นิพพิทาญาณ                   ญาณกำหนดรู้ความเบื่อหน่ายในรูปนาม
                   (๗.) มุญจิตุกัมยตาญาณ          ญาณที่เกิดความปรารถนาใคร่จะหลุดพ้นไปจากรูปนาม
                   (๔.) ปฏิสังขาญาณ                 ญาณที่พิจารณาทบทวนว่ารูปนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกครั้งหนึ่ง
                   (๙.) สังขารุเปกขาญาณ           ญาณที่วางเฉยในรูปนาม
                   (๑๐.) อนุโลมญาณ                  ญาณที่เห็นสอดคล้องกับวิปัสสนาญาณข้างต้น

 


หลักในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

                    ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจในธรรมะ ๖ อย่างให้ถ่องแท้ คือ
                    ๑. ขันธ์ ๕ ประการ
                    ๒. อายตนะ ๑๒ ประการ
                    ๓. ธาตุ ๑๘ ประการ
                    ๔. อินทรีย์ ๒๒ ประการ
                    ๕. อริยสัจ ๔ ประการ
                    ๖. ธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เช่น ปฏิจจสมุปบาทธรรม อาหาร ๔ เป็นต้น

                    เมื่อพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งธรรมทั้ง 5 ชนิด แล้วยึดหน่วงเอาไว้เป็นอารมณ์ต่อจากนั้นบำเพ็ญศีลวิสุทธิเป็นรากฐาน บำเพ็ญสมาธิให้สำเร็จมั่นคง แล้วเจริญวิสุทธิอีก ๕ ประการ ไปตามลำดับ จะเป็นทางให้เกิดปัญญาญาณเอาตนพ้นจากวัฏฏสงสารได้ (รายละเอียดการปฏิบัติจะกล่าวในตอนท้ายของเรื่อง)

                                      ๑ วิสุทธิศีลเสมือนท่าแพงแก้ว                วางแนวเจ็ดชั้นมั่นธรรมะขลัง
                                      ควบคุมกายวาจาใจง                              ปกติจึงหวังพราวปัญญาพราย
                                                                                                 อังคาร กัลยาณพงศ์




เชิงอรรถ
* ทิฏฐิวิสุทธิ์ กังขาวิตรณวิสุทธิ์ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ ปฏิปทาญาณวิสุทธิ์ และญาณทัสสนวิสุทธิ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0095455646514893 Mins