การศึกษาแนวความคิดเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท ( ๖ )

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2547


( พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน ( ผาทา ))

 

.....กรณีที่ ๓ นายเอก รู้ตัวว่าตัวเองคงไม่รอดเนื่องจากเป็นโรคเอดส์ขั้นสุดท้าย เขาได้แสดงเจตจำนงกับแพทย์ผู้ดูแลว่า ถ้าเขาเกิดไม่สบายขึ้นมา มีอาการหนักจริง ๆ ก็ขอให้แพทย์ได้ช่วยให้เขาจากไปโดยสงบโดยไม่ต้องทรมานด้วยวิธีใดก็ได้ เมื่อนายเอกป่วยหนักแพทย์จึงตัดสินใจฉีดยาพิษให้เขาจากไปอย่างสงบ

กรณีที่ ๔ นางวิภาดาได้รับอุบัติเหตุถูกรถชน อาการสาหัสเป็นตายเท่ากัน หมอได้เรียกญาตินางวิภาดาเข้าพบและแจ้งว่าผู้ป่วยอาจจะไม่รอด แม้ถ้ารอดก็เพียงแต่พยุงให้มีลมหายใจต่อไปเท่านั้น แพทย์ถามว่าจะยินยอมให้ใช้เครื่องหายใจช่วยชีวิตต่อไปหรือไม่ ญาติผู้ป่วยเห็นว่าควรให้เขาจากไปอย่างสงบ จึงแจ้งกับหมอว่ายังไงก็ไม่รอด ไม่ต้องยืดชีวิตเขาให้ทรมานอีกต่อไปเลย แพทย์จึงตกลงไม่ให้ออกซิเจนแก่นางวิภาดา ในที่สุดนางวิภาดาก็จากไปโดยอาการสงบ

จากตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สามารถสรุปวิธีการทำการุณยฆาตได้เป็น ๒ วิธี หลัก ๆ คือ

๑.Active euthanasia ได้แก่การทำให้ตายโดยตรง โดยการให้ยาพิษหรือฆ่าให้ตาย ซึ่งอยู่ในกรณีที่ ๑ และ ๓ หรือ การถอดสายออกซิเจนที่ให้แก่ผู้ป่วย อันเป็นเหตุให้ตายอย่างสงบตรงกับกรณีที่ ๒ ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยตายโดยตรง

๒.Passive euthanasia ได้แก่ การทำให้ตายโดยอ้อม โดยการงดเว้นไม่ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้าไปช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้มีชีวิตต่อไป แต่ปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปโดยวิธีการทางธรรมชาติ ซึ่งตรงกับกรณีตัวอย่างที่ ๔ และจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการทำการุณยฆาตโดยวิธีใดก็ตาม ก็จะมีจุดประสงค์เดียวกันก็คือ การฆ่าให้ตายอย่างสงบ หรือฆ่าด้วยความเมตตาทั้งนั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการฆ่าอย่างปราณีเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะโดยทั่วไปแล้วปัญหาการุณยฆาตนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำงานของแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาการทำการุณยฆาต นับว่ามีผลกระทบต่อระบบจริยธรรมของแพทย์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าโดยสามัญสำนึกของแพทย์นั้น เมื่อรับคนไข้มารักษาแล้วก็จำเป็นจะต้องให้การรักษาอย่างดีที่สุด นับว่าเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ตามอำนาจและขอบเขตของจรรยาบรรณอันดี แต่เมื่อเกิดกรณีที่ญาติของผู้ป่วยได้ขอร้องให้แพทย์ “ ฆ่า” ผู้ป่วยทิ้งเสียโดยการฉีดยาหรือถอดสายออกซิเจนออก เพื่อให้ชีวิตของผู้ป่วยสิ้นสุดลงและไม่ให้เกิดความทรมาน เพราะถึงแม้จะยึดชีวิตผู้ป่วยออกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จะเห็นได้ว่าปัญหาการุณยฆาตนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการมองปัญหาของบุคคล ๒ กลุ่ม ที่มองคนละด้าน บุคคล ๒ กลุ่มนั้น ได้แก่

๑. แพทย์ เห็นว่า การฆ่าเป็นการผิดจรรยาบรรณแพทย์ในขณะที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยพอที่จะรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตต่อไปได้ยาวนานที่สุดที่สมควรจะทำ

๒. ญาติผู้ป่วย เห็นว่า ถ้าปล่อยให้แพทย์ยืดชีวิตผู้ป่วยต่อไป ที่หมดทางรักษาแล้ว ทำให้ผู้ป่วยทรมาน แม้มีชีวิตอยู่ต่อไปก็ไม่แตกต่างไปจากผักปลา เพราะแม้มีชีวิตก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และที่สำคัญญาติจะต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล อาจจะเห็นว่าควรที่จะรักษาชีวิตของผู้ที่ยังอยู่มากกว่าที่จะยืดชีวิตของผู้ที่จะตาย

ประเด็นความขัดแย้งเนื่องจากการมองปัญหาคนละด้านของแพทย์และญาตินี้เอง ทำให้เป็นปัญหาจริยธรรมที่ได้รับการพูดถึงกันเป็นอย่างมากในกระแสสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีความทันสมัยในด้านเทคโนโลยี ( ติดตามตอนต่อไป ฉบับหน้า วันที่ )

อ้างอิง.. พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน ( ผาทา), การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท ,( กรุงเทพฯ : , โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๔๓.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0023538986841838 Mins