แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา (ตอน๑)

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2547



โดย นาง ปาริชาต นนทกานันท์
วิทยานิพนธ์ : หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

.....ในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน การให้ความสำคัญเกี่ยวกับสตรีมีบทบาทและมุมมองที่น่าสนใจ รวมทั้งคำถามที่ควรแก่การหาคำตอบอยู่ไม่น้อย

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ก็เช่นกัน ผู้ทำการวิจัยมีจุดมุ่งหมายจะศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา และพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวความคิดนี้กับหลักธรรมบางอย่างในพุทธศาสนา นอกจากนั้นก็จะเป็นการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ดูบทบาทของพุทธศาสนาในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับสถานภาพสตรีในด้านต่าง ๆ

โดยในงานวิจัยนี้ ได้เริ่มวิจัยจากการกล่าวถึงสภาพของสตรีในสมัยก่อนพุทธกาล และสมัยพุทธกาล เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพที่เปลี่ยนไปของสตรี และแสดงให้เห็นบทบาทของพุทธศาสนาที่มีส่วนช่วยยกระดับสถานภาพของสตรีในฐานะต่าง ๆ ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้เห็นว่าหลักธรรม แนวความคิดบางอย่างในพุทธปรัชญานั้นทำให้ทรรศนะในทางที่เห็นและปฏิบัติต่อสตรีอย่าง ผู้ที่ด้อยกว่านั้นน้อยลงและลดความสำคัญลงไปทั้งทางตรง คือ โดยการต่อต้าน คัดค้าน เช่นการต่อต้านพิธีสตี เพราะขัดกับหลักธรรมข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา หรือโดยทางอ้อม เช่น การไม่สืบต่อการประกอบพิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ความเชื่อบางอย่าง เช่น ความเชื่อที่ว่าบุตรชายจะช่วยให้บิดาไปสวรรค์และพ้นจากนรกขุมที่ชื่อว่าปุตตะได้ เพราะในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าการจะไปสวรรค์นรกของผู้ใดก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ไม่ได้ขึ้นต่อบุตรหรือสามี บุคคลจะเป็นเช่นไรก็ด้วยกรรมของตน คือตนเป็นผู้กระทำและรับผลจากการกระทำทั้งสิ้น หลักการเช่นนี้ไม่ได้สนับสนุนความคิดความเชื่อแบบเก่า และมีส่วนช่วยส่งเสริมสถานภาพ สิทธิของสตรีให้ดีขึ้น

ในสมัยพุทธกาล โดยทั่วไปแล้วสถานภาพของสตรีในด้านที่เกี่ยวกับทางโลก คือสถานภาพของสตรีในฐานะบุตร ภริยา มารดา หญิงหม้าย และผู้ประกอบอาชีพนั้นดีขึ้น ได้รับการยกย่องนับถือ มีเกียรติมากขึ้น โดยสตรีผู้เป็นบุตรหญิงนั้นก็ได้รับการต้อนรับที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะพุทธศาสนาไม่เชื่อในความสำคัญที่จะต้องมีบุตรชายเพื่อประกอบพิธีกรรมให้แก่บิดาเมื่อเสียชีวิต สตรีผู้เป็นภริยาก็มีอำนาจในกิจการบ้านเรือนมากขึ้น อีกทั้งเป็นผู้มีอำนาจร่วมกับสามี ภริยาจัดว่า เป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับความสุข การยกย่องนับถือ ไม่ใช่ทาสในครัวเรือนดังแต่ก่อน ส่วนสตรีในฐานะมารดานั้น พุทธปรัชญาก็ได้ให้ความสำคัญไม่น้อยในฐานะเป็นผู้มีพระคุณ และยกย่องว่ามารดาเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก และมีอุปการะอย่างยิ่ง สถานภาพสตรีในฐานะหญิงหม้ายก็ดีขึ้นโดยหญิงหม้ายที่เป็นพุทธศาสนิกไม่ต้องได้รับการ ดูถูกเหยียดหยามและเป็นที่รังเกียจดังแต่ก่อน ทั้งมีเสรีภาพในการรับผิดชอบต่อชีวิตของตนมากขึ้น

นอกเหนือจากสถานภาพในทางสังคมแล้ว สถานภาพของสตรีในทางศาสนาก็ดีขึ้น เพราะสตรีไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสามีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่สามารถประกอบพิธีกรรมได้โดยอิสระ มีตนเป็นผู้กำหนด เป็นที่พึ่งของตน สตรีสามารถเลือกนับถือศาสนา เข้าบวช และบรรลุถึงนิพพานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใด เมื่อสตรีได้รับโอกาสให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาทั้งในฝ่ายที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิตแล้ว ก็มีสตรีจำนวนไม่น้อยที่แสดงความสามารถในทางธรรม และทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการทำให้สตรีเป็นที่ไว้ใจ ยอมรับ ยกย่องในสังคมมากขึ้น ซึ่งก็มีผลทำให้สถานภาพของสตรีดีขึ้นโดยปริยาย

และหลังจากพิจารณาสถานภาพของสตรีแล้ว ผู้วิจัยได้กล่าวถึงแนวความคิดหลักธรรมบางอย่างในพุทธศาสนาเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหลักธรรม แนวความคิดนั้น ๆ กับทรรศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรี ซึ่งจากการวิจัยสรุปได้ว่า หลักไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม แนวความคิดเรื่องทุกข์ นิพพานและปัญญานั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับทรรศนะที่พุทธปรัชญามีต่อสตรีหลักธรรมและแนวความคิดเหล่านี้ มีส่วนในการทำให้พุทธปรัชญามองหญิงชายในฐานะที่เท่าเทียมเสมอภาคด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมนุษย์ทั้งชายและหญิงนั้นจำต้องอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม เผชิญกับความทุกข์ในโลกด้วยกันทั้งนั้น นอกจากนี้เป้าหมายสูงสุดคือนิพพานอันจัดเป็นความสุขอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนานั้นยังเป็นสิ่งที่หญิงชายทุกคน ก็มีสิทธิเข้าถึงหรือบรรลุได้หากประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง และท้ายสุดรสแห่งความสุขของนิพพานอันเป็นวิมุตติรสก็เป็นรสเดียวกันทั้งสิ้น นับได้ว่าเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมที่จุดเริ่มต้น ( คือตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ ) และที่เบื้องปลายคือเป้าหมายสูงสุดในทางศาสนาที่บุคคลพึงบรรลุได้

ผลจาการวิจัยทำให้ทราบว่าแนวความคิดเกี่ยวกับสตรีของพุทธปรัชญานั้นมีลักษณะเด่น คือ แตกต่างจากแนวคิดในปรัชญาศาสนาอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน และทรรศนะเกี่ยวกับสตรีนี้ก็มีความสัมพันธ์กับหลักธรรมและแนวคิดบางอย่างของพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้นการวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของพุทธศาสนาที่มีส่วนในการยกระดับสถานภาพของสตรีในด้านต่าง ๆ โดยสิ่งที่พุทธศาสนาได้กระทำไปในสมัยนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการริเริ่มเปิดยุคใหม่ และกรุยทางสำหรับงานที่จะส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศอันจะมีภายหลัง ทั้งนั้นนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของสตรี นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนทางเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธนั้น ก็ตระหนักในเรื่องความเสมอภาคทางเพศนี้มานานแล้ว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เป็นไปโดยได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกในภายหลังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เสียเลยทีเดียว เพราะท่าทีและการเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับสตรีนี้ได้เคยปรากฏแล้วแต่ครั้งพุทธกาล หากแต่ไม่ใคร่มีผู้มีทรรศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวความคิดของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรี หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่พุทธศาสนาได้ทำไว้ในด้านนี้

อนึ่งการวิจัยนี้ทำให้ทราบว่า แนวความคิดของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรีนั้นไม่ได้เป็นการมองสตรีในแง่มุมเดียว หรือสรุปได้เป็นประเด็นเดียว หากแต่เป็นการมองในหลายด้าน ดังนั้นการสรุปแนวความคิดจึงไม่สามารถสรุปว่า แตกต่างกัน เท่ากัน ด้อยกว่ากัน หรือเหนือกว่ากัน อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาสรุปเป็นด้าน ๆ ไป ซึ่งพอสรุปได้เป็น ๔ ด้านคือ

ประการแรก พุทธปรัชญาเห็นว่าธรรมชาติของสตรีและบุรุษนั้นแตกต่างกัน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ คือต่างกันในรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมายหรือสภาพความเป็นอยู่ นิสัย และกิริยาอาการ

ในทางสรีระวิทยาแล้วหญิงไม่ใคร่มีกำลังกาย ไม่แข็งแรง บึกบึนเท่าชาย ( ยกเว้นแต่ในกรณีของนางวิสาขาที่ได้กล่าวไว้ว่ามีกำลังเท่า ๕ ช้างสาร อันหมายถึงว่ามีกำลังมาก ซึ่งในกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยการที่นางได้เช่นนี้ เป็นเพราะบารมีบุญญาธิการที่นางได้กระทำไว้ จึงไม่ได้เป็นกรณีที่เป็นมาตรฐานสำหรับสตรีโดยทั่วไป ) จึงยากที่สตรีจะปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยได้เมื่อถึงคราวประสบภัย ยิ่งกว่านั้นสตรียังมีความทุกข์ทางกายบางอย่างที่ต้องประสบนอกเหนือไปจากบุรุษ เช่น การมีระดู การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร เป็นต้น นับว่าสตรีนั้นมีชีวิตที่เป็นทุกข์มากว่าชาติโดยธรรมชาติ

 

อ้างอิง ปาริชาต นนทกานันท์ . “ แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019636682669322 Mins