แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา (ตอน๒)

วันที่ 18 กย. พ.ศ.2547


โดย นาง ปาริชาต นนทกานันท์
วิทยานิพนธ์ : หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

..... ส่วนในทางจิตนั้นสตรีก็มีธรรมชาติที่แตกต่างจากบุรุษ แม้สตรีจะอดทน แต่สตรีก็มีจิตใจที่อ่อนโยน อ่อนไหวเป็นกังวลได้ง่าย และมักเป็นไปตามอำนาจของอารมณ์ ไม่หนักแน่นเข้มแข็งเท่าบุรุษ

ข้อแตกต่างนี้เป็นความแตกต่างกันโดยธรรมชาติซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าความแตกต่างนี้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เพศใดเหนือหรือด้อยกว่าเพศใดโดยอัตโนมัติ ทั้งยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะแบบเหนือกว่า ด้อยกว่า แต่เป็นความแตกต่างที่ต่างก็บทบาทในลักษณะที่เกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เป็นความจริงที่ว่าพุทธปรัชญาเห็นว่าสตรีนั้นแตกต่างจากบุรุษ แต่ความแตกต่างนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความด้อยกว่าเสมอไป สิ่งที่ต่างกันก็มีคุณสมบัติหรือคุณค่าที่ต่างกันไปในตัวของมันเอง เหมือนกับสีแดงที่ต่างจากสีเขียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีแดงด้อยกว่าสีเขียว หรือเขียวด้อยกว่าแดง ทั้งสองก็มีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ต่างกัน แต่คุณสมบัตินั้นก็ไม่ได้ทำให้สีใดสีหนึ่งด้อยกว่าอีกสีหนึ่ง ความด้อยหรือเหนือกว่านั้นมันไม่ได้มีอยู่ในตัวมันเอง แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมันอยู่ในเงื่อนไขหรือสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ฯลฯ มนุษย์ชายหญิงก็เช่นกัน สำหรับเงื่อนไขก็คือ สภาพสังคมและค่านิยมในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นเอง ในยุคที่สังคมมนุษย์ต้องอาศัยแรงกายอย่างมากในการดำรงชีวิตอยู่นั้น บุรุษเพศผู้มีธรรมชาติทางกายที่แข็งแรงบึกบึนย่อมจะเหนือกว่าสตรีเพศอย่างแน่นอน แต่เมื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป แรงงานจากเครื่องจักรกลได้เข้ามาช่วยเบาแรงกายของมนุษย์ และความสามารถในทางสติปัญญาเริ่มเข้ามาแทนที่ความสำคัญของแรงกาย บุรุษเพศจะยังเหนือกว่าสตรีเพศอยู่ดังแต่ก่อนอยู่อย่างไร เมื่อเงื่อนไขได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการตัดสินกันด้วยความรู้ความสามารถ สติปัญญาแล้ว สตรีควรจะเป็นผู้เสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษในทุก ๆ ด้าน ความแตกต่างในทางสรีระที่เคยถือเป็นข้อตัดสินความด้อยกว่า เหนือกว่าของบุคคลนั้นก็ไม่น่าจะเป็นข้ออ้างใช้ได้อีกต่อไป

ประการที่สอง พระพุทธศาสนาถือสตรีเท่าเทียมและเสมอบุรุษโดยคุณธรรมปัญญาและความสามารถ ในทางสังคมก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสตรีมีสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถและเป็นบัณฑิตได้เช่นเดียวกับบุรุษ ในทางศาสนาก็ถือว่าทั้งสตรีและบุรุษอยู่ในฐานะสูงเท่า ๆ กันคือ สามารถเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดคือนิพพานได้เท่าเทียมกัน พุทธศาสนายอมรับความเท่าเทียมกันในด้านนี้ดังจะเห็นได้จากการที่พระพุทธองค์ทรงจัดให้มีพุทธบริษัท ๔ มีภิกษุณี และยกย่องสตรี ให้เป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับบุรุษ

อันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างบางอย่างของชายและหญิงที่เป็นไปโดยธรรมชาตินี้ทำให้ต้องยอมรับว่าในทางสรีระแล้วหญิงด้อยกว่าชาย ไม่ว่าจะเป็นโดยธรรมชาติที่แท้จริงของสตรีเพศ หรือโดยการเลี้ยงดูอบรมของสังคม ที่มีส่วนในการหลอมให้สตรีเป็นเช่นนั้นก็ตาม สภาพทางกายนี้เป็นอุปสรรค หรือจำกัดการประพฤติปฏิบัติในบางอย่างของสตรี เช่น การปฏิบัติตนเป็นอนาคาริกเที่ยวปฏิบัติธรรมในที่สงบวิเวกปลอดผู้คนนั้นย่อมกระทำได้ไม่สะดวกหรือทำได้โดยเสี่ยงอันตราย ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เพราะธรรมชาติทางกายของสตรีนั้นไม่อำนวยให้สตรีกระทำได้โดยสะดวกเช่นบุรุษ ดังนั้นในการกระทำเพื่อให้บรรลุสิ่งใดนั้น สตรีจะกระทำได้ก็ด้วยการมีความตั้งใจและความอุตสาหะพยายามมากกว่าบุรุษยิ่งนักในการที่จะให้ได้มาหรือบรรลุซึ่งสิ่งเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่างหญิงหรือชาย ยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงเป้าหมายบางอย่างของสตรี เช่น เป็นข้อจำกัดทำให้สตรีเป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ พรหม ท้าวสักกะ พญามารไม่ได้

การที่พระพุทธองค์อนุญาตให้มีภิกษุณีในพระพุทธศาสนานั้นมองได้ว่า เป็นการยอมรับทางภูมิปัญญาและความสามารถของสตรีในการสำเร็จมรรคผล ศีลหรือระเบียบวินัยของภิกษุณีมีจำนวนมากและเคร่งครัดกว่าภิกษุนั้น ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษนั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงของธรรมชาติทางกาย จิตใจ และเพื่อสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของภิกษุณีเป็นส่วนใหญ่

ส รุปผลการวิจัยประการที่สาม สตรีด้อยกว่าบุรุษในทางกาย ซึ่งข้อนี้ก็มีผลในการจำกัดการกระทำและเป้าหมายของสตรีในสมัยนั้นในบางด้าน แต่ในด้านภูมิปัญญา ความสามารถแล้วสตรีเสมอบุรุษ และสามารถดำรงตำแหน่งบางอย่างได้เช่นเดียวกับบุรุษ แต่ความแตกต่างในธรรมชาติของสตรีและบุรุษนั้นมีอยู่โดยธรรมชาติ ทำให้ต่างปฏิบัติหน้าที่แห่งเพศของตน แต่ไม่จำเป็นต้องให้เพศ ความแตกต่างทางเพศนั้นมาเป็นอุปสรรคกีดขวาง หรือใช้มันเป็นเครื่องมือทำให้เพศหนึ่งด้อยกว่าอีกเพศหนึ่ง

การที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้สตรีเป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ ก็เป็นการยืนยันถึงการยอมรับในความสามารถเสมอบุรุษอีกระดับหนึ่ง การอนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณีก็จัดเป็นการเปิดทางใหม่สำหรับสตรี เป็นความพยายามและเป็นวิธีการของพระองค์ที่จะช่วยยกระดับฐานะและสถานภาพของสตรีให้ดีขึ้นกว่าเดิมทั้งในทางโลกและทางธรรม ฐานะทางศาสนาในครั้งกระนั้นทั้งสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาลเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อฐานะทางสังคมอย่างมาก โดยที่สถานภาพทางศาสนาเป็นสิ่งที่กำหนดหรือแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม การยอมให้สตรีบวชนั้นในทางศาสนาก็เป็นการให้สตรีมีเสรีภาพ มีอิสระ เป็นตัวของตัวเองในการที่จะเลือกนับถือศาสนา ปฏิบัติวัตรทางศาสนาหรือบวชในศาสนา อนึ่งการให้สตรีมีสิทธิแห่งการเข้าเป็นสมาชิกในสังฆมณฑลนั้นก็เป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้มีโอกาสศึกษาธรรมจากพระพุทธองค์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการยกฐานะสตรีในด้านการศึกษาอีกโสตหนึ่งด้วย ส่วนในทางสังคมนั้น การอนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณีก็จัดเป็นการเปิดทางใหม่สำหรับสตรี ทั้งยังแสดงถึงการยอมรับว่าสตรีก็เป็นผู้ที่มีปัญญา มีเจตจำนง มีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตน และมีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระที่จะทำตามที่ตนปรารถนาด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการที่ให้มีภิกษุณีในพุทธศาสนานั้นแม้จะมีปัญหาหรือมีผลลบต่อพุทธศาสนาอยู่บ้างในบางแง่ แต่สำหรับที่เป็นการยกระดับสตรีแล้วนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของสตรีที่สำคัญไม่น้อย เพราะพุทธานุญาตครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้น และกรุยทางสำหรับงานด้านการยกระดับฐานะสตรีให้สูงขึ้นและเท่าเทียมบุรุษอันจะมีมาในภายหลัง

 

อ้างอิง ปาริชาต นนทกานันท์ . “ แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001148780186971 Mins