ไตรสรณาคมน์

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2567

170267b.01.jpg

พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
๓ เมษายน ๒๕๒๖

ไตรสรณาคมน์

        ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิ สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก วางสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ แค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าเม้มตาแน่น อย่าบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาของเราเฉย ๆ ทำใจของเราให้สบาย ให้ปลอดโปร่ง ให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ในใจของเรา ปลดวางภารกิจเครื่องกังวลที่มีอยู่ในใจของเราให้หมด จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงาน เรื่องการศึกษาเล่าเรียนทุกสิ่งทุกอย่าง ปลดปล่อยวางให้หมด ทำใจของเราให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ให้ไร้กังวล ให้นึกคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสารอะไรทั้งสิ้น เหมือนอย่างกับที่เราสวดมนต์เมื่อสักครู่นี้ รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาสังขารวิญญาณทุกอย่างนี้ไม่เที่ยง ทุกสิ่งทั้งหมดไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ใครบังคับบัญชาก็ไม่ได้

        พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนให้ให้เราได้ทราบว่าสิ่งที่เราได้เห็นได้เจอะได้เจอ ได้ยินได้ฟัง ถูกต้องลิ้มรสสัมผัสอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เราเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ที่ให้เราเคยเข้าใจว่าไอ้สิ่งเหล่านี้เนียเป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นสิ่งที่คงที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ความสุขแก่เราได้อย่างแท้จริง ไอ้ที่เราเข้าใจอย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นที่เราสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็ดีวัตรเย็นก็ดี ก็ต้องการที่จะแนะนำสั่งสอนให้เราได้หมั่นพิจารณา ระลึกนึกถึงสิ่งเหล่านี้ไปตามความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม อะไรก็ตาม แม้กระทั่งความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉย ๆ มันก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และมันก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สุขก็สุขประเดี๋ยวประด๋าว ทุกข์ก็ประเดี๋ยวประด๋าว อะไรอย่างนั้น 

        ความจำในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เราเคยได้เห็นได้ยินได้ฟัง ถูกต้องลิ้มรสอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสารอะไรทั้งนั้น ยังให้เราได้เสวยความสุขได้ไม่เต็มที่ เป็นความสุขที่มีขอบเขตจำกัด และก็มีความทุกข์เจือ คือสิ่งที่เราจะต้องคอยแก้ไขอยู่ตลอดเวลา สังขารก็ดี ความคิดที่เราปรุงแต่ง คิดดีมั่ง ชั่วมั่ง เฉย ๆ มั่ง คิดมันสารพัดไปหมด ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน การรู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน มันไม่จริงไม่จังอะไรทั้งนั้น หรือสรุปโดยรูปย่อว่า ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในรูป ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ มีชีวิตก็ดี ไม่มีชีวิตก็ดี 

        ถ้าเรามัวไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไร้สาระ ก็จะให้เราเป็นทุกข์ มีทุกข์ มีความโศกเศร้าเสียใจ ความแห้งใจ ความคับแค้นใจ ความร่ำพิไลรำพันอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจเหล่านี้ ก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เราเข้าใจผิดว่าสิ่งเหล่านี้เนี่ยคือสิ่งที่คงที่ ให้ความสุขแก่เราอย่างแท้จริง มั่นคง ไม่มีขอบเขต บังคับบัญชาได้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เมื่อไหร่ละก็ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้น่ะมันเปลี่ยนแปลงไปโดยตัวของมันเองและก็เราก็บังคับบัญชาไม่ได้ ดังนั้นที่เราสวดมนต์ก็ต้องการให้มาพิจารณาอย่างนี้แหละ ของนอกกายเราก็ดี ของหุ้มห่อกายเราก็ดี ร่างกายเราก็ดี กระทั่งสิ่งที่อยู่ในจิตในใจเราก็ดี เป็นสิ่งที่เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ต้องปล่อยมันไป โดยพิจารณาให้เห็นว่าไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร พอเราปล่อยไปอย่างนี้ ใจของเราก็จะปลอดจากกังวล ไม่มีอะไรที่เราจะห่วง ไม่มีอะไรที่เราจะกังวล ไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นถือมั่น 

        เราจะปล่อย จิตของเราก็จะอยู่ในสภาวะที่ว่างเปล่า จากสิ่งที่เข้าใจผิด รู้ผิด หลงผิดเหล่านั้น เมื่อปลอดโปร่งว่างเปล่าอย่างนี้ นี่แหละเป็นสภาวะจิตที่ควรแก่การฝึกฝน ควรแก่การอบรม ควรแก่การทำใจให้หยุดให้นิ่ง เข้าไปถึงพระสัทธรรม คือธรรมที่เป็นจริง ธรรมที่บริสุทธิ์ที่สะอาด ที่สว่าง ที่ให้สันติสุขแก่เราอย่างแท้จริง ซึ่งอยู่ภายในตัวของเรา ดังนั้นก่อนที่เราจะมาถึงจุดนี้เนี่ย เราจะต้องปล่อยวางจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้หมด จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ลูกหลานเหลนครอบครัว ทุกอย่างปล่อยหมด ปล่อยวาง ตอนนี้เราไม่มีภารกิจอะไรเป็นเครื่องกังวลทั้งนั้นปล่อยทั้งหมดเลยนะ 

        เอาล่ะ เมื่อปล่อยอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป เราจะได้ฝึกฝนอบรมใจของเราให้เข้าไปถึงพระสัทธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คงที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ให้ความสุขแก่เราได้อย่างแท้จริง ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา วิธีการที่เราจะเข้าถึงพระสัทธรรมภายในตัวของเรา ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเครื่องนำใจของเราให้พ้นทุกข์เราจะต้องรู้จักว่าที่ตั้งของพระสัทธรรมน่ะอยู่ที่ตรงไหน และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะทำยังไงถึงจะเข้าถึง ที่ตั้งของพระสัทธรรมน่ะมีอยู่ที่เดียวอยู่ที่ศูนย์กลายกายฐานที่ ๗ นั่นแหละเป็นที่ตั้ง ที่อื่นไม่ใช่ที่ตั้ง
 
        ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรากำหนดได้ดังนี้ สำหรับท่านที่มาใหม่นะ สมมติว่าเรามีเส้นเชือกอยู่ ๒ เส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้เราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะ จุดที่เหนือจากเส้นเชือกทั้งสองที่ตัดกัน ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ในกลางตัวของเรา นั่นเรียกว่าฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละเป็นที่ตั้งของพระสัทธรรม ธรรมที่เป็นจริง ที่มีชีวิต ที่ทำให้เราเสวยสุข พ้นจากทุกข์ทั้งหลายได้นะ อยู่ที่ตรงนี้

        สัทธรรมเบื้องต้นหรือที่เราเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมเบื้องต้นที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์น่ะ มีลักษณะกลม กลมรอบตัว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ โต กลมเหมือนลูกแก้ว กลม ๆ ลูกปิงปองอย่างนั้น แต่ว่าใสบริสุทธิ์ ใสเป็นกระจก ใสเหมือนเพชร ใสเหมือนน้ำแข็งอย่างนั้น กลมรอบตัว อยู่ที่ตรงนี้ นี่พระสัทธรรมตั้งอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ตรงฐานที่ ๗ ที่เดียว ไม่ใช่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไปแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ ถ้าเราไปแสวงหานอกกายละก็ หรือที่ตั้งที่อื่นละก็จะไม่พบ เพราะที่ตั้งพระสัทธรรมมีที่เดียว อยู่ตรงนี้ที่เดียว ผิดจากนี้ไปก็เป็นไม่ใช่ พระสัทธรรมอันนี้ บางทีท่านก็เรียกว่าปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นไปสู่พระนิพาน เรียกว่าปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย เป็นทีซึ่งทั้งที่ระลึกอยู่ที่ตรงนี้แหละ นี่เบื้องต้น 

        บางทีท่านก็ใช้คำว่าเอกายนมรรค ว่าถ้าถึงตรงนี้เป็นทางสายเดียวที่มุ่งตรงสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ทั้งหลาย เข้าสู่เส้นทางนี้เส้นทางเดียว ถ้าเข้าตรงนี้ล่ะก็ไปที่เดียวที่สุดท้ายปลายทางน่ะ เป็นพระนิพพาน แต่ต้นทางเป็นปฐมมรรค ปลายทางเป็นพระนิพพาแต่ถ้าเข้าผิดที่ปลายทางก็ไม่ใช่นิพพาน ดังนั้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุด มาตรึกมานั่งอยู่ที่ตรงนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ตั้งแต่นาน ๑ นาที ๒ นาที เรื่อยไปจนกระทั่งตลอดชีวิตตลอด ๒๔ ชั่วโมง วางอยู่ที่ตรงนี้แหละ วางให้ใส วางให้หยุดให้นิ่ง ตั้งแต่มันหยุดนิ่งชั่วคราว จนกระทั่งหยุดนิ่งอย่างถาวรมั่นคง ถึงตรงนี้ได้เมื่อไหร่ละก็ ความสุขทั้งหลายก็จะบังเกิดขึ้น เป็นความสุขไม่มีประมาณ เค้าเรียกว่านิรามิสสสุข สุขที่ไม่ได้อาศัยวัตถุภายนอก ที่มีข้อบกพร่องในตัวนะ เป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการเอาใจของเราหยุดนิ่ง ว่างเปล่าจากการยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ นี่แหละเค้าเรียกว่าพระสัทธรรม

        พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี หรือในอนาคตก็ดี จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ล้วนแต่เคารพในพระสัทธรรมทั้งนั้น นี่เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ การเคารพก็เพราะว่า ท่านทราบดีว่าพระสัทธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล ถ้าเอาใจไปวางไว้อยู่ที่ตรงนี้ละก็ ไม่ผิดทาง จะไม่หลงทาง ถ้าเอาใจวางไว้ตรงนี้ ให้หนักแน่น ให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่น จะมุ่งตรงสู่พระนิพพานอย่างเดียว ไม่ไปที่ไหนเลย จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เจือเลย ทุก ๆ พระองค์ท่านตระหนักถึงคุณค่าของพระสัทธรรมอันนี้ จึงมีความเคารพนักหนา มีความเคารพ มีความบูชายกย่อง 

        เพราะฉะนั้นใจของท่านก็จะระลึกนึกถึงอยู่ตรงนี้อยู่ตลอดเวลา สิ่งอะไรที่เรามีความเคารพบูชา เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขจัดทุกข์โศกโรคภัยได้ ขจัดสิ่งที่เลวร้ายทั้งหลายได้ ความเศร้าหมองใจได้ ขจัดภัยในสังสารวัฏ ในอบายภูมิในทุคติต่าง ๆ ได้ ใจของเราก็จะแล่นไปที่นั่นไปจรดอยู่ที่ตรงนั้นไปวางเอาไว้ตรงนั้น ไปหยุดอยู่ที่ตรงนั้น ไปนั่งอยู่ที่ตรงนั้น เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น นี่เค้าเรียกว่าเคารพ เค้าเรียกว่าบูชา ให้ความไว้วางใจในพระสัทธรรมอย่างเต็มที่ อย่างเต็มเปี่ยม พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ท่านยังเป็นอย่างนี้เลย จะกี่พระองค์ก็ตาม  ใจท่านจะมาอยู่ที่ตรงนี้แหละ ไม่ไปที่ไหน ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ นี่แห่งเดียว เราเป็นสาวกของท่านเราก็จะต้องเดินตามอย่างพระบรมครูของเรา 

        พระบรมศาสดาของเรา ท่านเคารพอย่างนี้ ทำให้ท่านพ้นทุกข์สุขอย่างเต็มเปี่ยม เราก็จะต้องเคารพตรงนี้เหมือนกัน เอาใจของเรามาหยุด เอาใจของเรามาตรึก เอาใจของเรามานิ่ง นิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ไม่ให้หวั่นไหว เหมือนภูเขาแท่งทึบไม่มีโพรง ไม่มีปล่อง ไม่มีถ้ำ ลมพัดมาในทิศทั้ง ๔ ไม่หวั่นไหวเลย หรือเสาเขื่อนที่เค้าปักตรึงแน่น น้ำซัดมาก็ไม่หวั่นไหว ใจของเราเช่นเดียวกัน ถ้าเคารพอย่างมั่นคง หยุดนิ่งเฉยอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน เป็นอจลศรัทธา คือวางใจไว้ติดแน่นที่เดียว ไม่ย้ายไปติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ แล้วละก็ จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว แล้วได้ชื่อว่าเดินตามพระพุทธเจ้า ตามรอยบาทของพระพุทธองค์ หยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ ถ้าถึงสัทธรรมอย่างนี้ ท่ามกลางสัทธรรมอันนี้ ปฐมมรรคนี้เป็นเบื้องต้น ท่ามกลางจะถึงธรรมกาย เบื้องปลายถึงพระนิพพาน อยู่ที่ตรงนี้ นี่จำหลักอันนี้เอาไว้ให้ดีนะ

        ที่นี่ใจของเราเนี่ยจะหยุดจะนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระสัทธรรมตรงนี้เนี่ย มีวิธีการทำอยู่ เราจะต้องกำหนดบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนาควบคู่กันไป อย่าให้เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ บริกรรมนิมิตก็ได้แก่ การกำหนด กำหนดนิมิต นึกมโนภาพขึ้นมาทางใจว่าที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ มีดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา หรือจะกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ เกตุดอกบัวตูมปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับเราก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ใจเราชอบ เราชอบอย่างไหนเราก็เอาอย่างนั้น เป็นบริกรรมนิมิต ชอบดวงแก้วก็เอาดวงแก้วเป็นบริกรรมนิมิต ชอบพระแก้วก็เอาพระแก้วเป็นบริกรรมนิมิต ดวงแก้วก็ดี พระแก้วก็ดี นี่เป็นสิ่งที่เราสมมติกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา 

        ใจของเราจะได้ไม่คิดไปในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ไม่คิดไปในเรื่องรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ผ่านมาแล้วก็ดี กำลังผ่านอยู่ก็ดีหรือที่จะผ่านต่อมาในอนาคตที่ดี มันจะหยุดหมด ใจจะมาหยุดอยู่ที่ดวงใส ๆ ที่เราสมมตินี่แหละ หรือองค์พระใส ๆ ที่เราสมมตินี่แหละ พอเรากำหนดนิ่งถูกส่วน พอถูกส่วนเข้า ใจก็จะนิ่งเฉย ไม่ช้าจิตก็จะตกไปที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ นิมิตทั้ง ๒ อย่างก็เลือนไป แล้วก็ลอยเกิดขึ้นมาเป็นดวง ดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมาที่ฐานที่ ๗ เกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อเราละวางสิ่งที่เราสมมติไปแล้ว นั่นแหละเรียกว่าปฐมมรรค อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน 

        เพราะฉะนั้นเราต้องกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้ว หรือพระแก้วใส ๆ ใสเหมือนกับเพชรอย่างนั้นนะ ตั้งไว้อยู่ที่ตรงนี้เนี่ยกำหนดนึกอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง ง่าย ๆ อย่าไปคิดเพ่งแรงเกินไป ถ้าเราไปเพ่งแรงเกินไปแล้วเราจะเครียด จะทำให้เราหงุดหงิด แล้วกลุ้ม ลมมันจะหยาบ เพราะฉะนั้นเราต้องนึกอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึก นึกถึงดวงแก้วใส ๆ พระแก้วใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ ไม่ใช่เอา ๒ อย่าง เอาอย่างเดียว แล้วไม่ต้องไปวิตกกังวลว่าถ้าเรากำหนดดวงแก้วแล้วเห็นเป็นองค์พระ เลยเปลี่ยนองค์พระมาเป็นดวงแก้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนมัน เห็นอย่างไรเราก็มองไปอย่างนั้น ใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง กำหนดดวงแก้วเห็นเป็นองค์พระ ก็ช่างมัน ดูเรื่อยไป กำหนดเป็นพระแก้วเห็นเป็นดวงแก้ว เราก็ดูเรื่อย ๆ ไป ในขณะเดียวกับเราก็ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจมันจะหยุด คำภาวนามันหายไป เหลือแต่ดวงแก้วหรือพระแก้วใส ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ หรือเหลือแต่ใจที่หยุดนิ่งเฉย อยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ นี่ให้ทำกันอย่างนี้นะ

        วันนี้วันอาทิตย์ต้นเดือน เราจะนำอาหารหวานคาวมาบูชาข้าวพระ บูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจเบื้องต้นของเราในตอนนี้ เราจะพยายามชำระกาย วาจา ใจของเราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญ รองรับกุศลกันต่อไป เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปขอให้ทุกคนพึงตั้งใจ เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กำหนดนึกถึงบริกรรมนิมิต เป็นดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดขึ้นมา พร้อมกับภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นะ เมื่อใจเราหยุดนิ่งดีแล้ว บริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้ว เราจะได้ประกอบพิธีบูชาข้าวพระกันต่อไป ต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ นะ

        กล่าวคำบูชาข้าวพระเสร็จเรียบร้อย ก็นั่งเข้าที่อย่างเดิมนะนั่งเข้าที่ขัดสมาธิ เหมือนอย่างเมื่อสักครู่นี้น่ะ เราก็หลับตาทำใจของเราให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ทางไปสู่มรรคผลนิพพานนะ ต้องเข้าทาศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แห่งเดียวเท่านั้น ทางอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าถึงได้ยืนยันไว้ว่าเอกายนมรรค ทางเดียว สายเดียว และก็ต้องเดินในตัว อยู่ในตัวของเรา อย่างนี้ ถ้าผิดจากนี้ไปก็ไม่ถึง เข้าอันนี้ไม่ถูกไม่ถึงธรรมกาย ไม่ถึงธรรมกาย ก็ไม่ถึงพระนิพพาน ไม่ถึงพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายนี่สำคัญ สำคัญมาก 

        เราจะสร้างบุญให้เป็นมหากุศล จะให้ทานเป็นมหากุศล รักษาศีลเป็นมหากุศล หรือเจริญภาวนา ให้เป็นมหากุศลละก็ จะต้องทำเพื่อให้มุ่งตรงไปสู่พระนิพพาน สร้างทานก็เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนให้ไปถึงพระนิพพาน รักษาศีลก็ให้เป็นเครื่องสนับสนุนให้ใจเราบริสุทธิ์ จะได้ไปถึงพระนิพพาน เจริญภาวนาก็เหมือนกัน จะให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใสไปพระนิพพานได้ ต้องเอาใจมาตั้งไว้อยู่ที่ตรงนี้แหละ เป็นมหากุศล เพราะว่าทางนี้ตรงไปสู่พระนิพพาน ถ้าเอาใจไปตั้งที่อื่นมันก็ไม่ตรง กุศลที่เราได้เนี่ย มันก็ได้ไม่เต็มที่ มันก็หกๆ หล่น ๆ เพราะฉะนั้นต้องจำหลักเอาไว้ที่เดียวนะ จะไปทำที่ไหนก็ตาม ต้องหยุดที่ศูนย์กลางตรงนี้ที่เดียว ผิดจากนี้ไปไม่ใช่ และก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้

       เพราะว่าพอหยุดถูกส่วน ให้ทานถูกส่วนเข้า เห็นเป็นดวงใส เห็นทานบารมีเป็นดวงใส รักษาศีลถูกส่วน เห็นเป็นดวงใสของศีล เจริญภาวนาถูกส่วนเห็นเป็นดวงใสของปฐมมรรค เกิดตรงนี้ หนทางตรงนี้ที่เดียว เนี่ยตรงนี้สำคัญจริง ๆ พวกเราทั้งหลายนี้ยังประมาทอยู่ ยังประมาทกันนัก บางคนประมาทเพราะไม่รู้หนทางไปสู่พระนิพพาน ว่าอยู่ที่ตรงไหน บางคนทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหนทางไปสู่พระนิพพานอยู่ตรงนี้ ก็ยังประมาท ไอ้คนไม่รู้ว่าหนทางไปสู่พระนิพพานอยู่ตรงไหน ประมาทนั้นน่ะ ยังพอให้อภัยกันได้ แต่พวกที่รู้ว่าหนทางไปสู่นิพพานอยู่ที่ตรงนี้แล้วยังประมาท พวกนี้ไม่น่าให้อภัย น่าเอาไม้เฆี่ยน

        เพราะที่ศูนย์กลางตรงนี้ เราก็รู้แล้วที่เดียวเท่านั้นไปสู่พระนิพพาน เราจะพยายามฝึกฝนอบรมใจให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ จะนั่งก็ดี นอนยืนเดิน ต้องให้หยุด เฉย นิ่ง หลับตาเห็น ลืมตาเห็น นั่ง นอน ยืน เดินเห็นใส แจ่มสว่างอยู่ตรงนี้แหละใช้ได้ แต่ส่วนมากไม่อย่างนั้น เอาใจไปจรดที่ลูกมั่ง เอาที่ครอบครัวมั่ง เรื่องงานเรื่องการ เรื่องสารพัดเรื่องข้อบกพร่องของคนอื่นเค้า จะให้คนอื่นเค้ามายกย่องมาบูชาเรา มาสรรเสริญเรา พอเค้าไม่ทำอย่างนั้นเข้าก็เป็นทุกข์ พอเค้ายกย่องชมเชยเข้าหน่อยก็หน้าบานทีเดียว ไปติดอยู่ไอ้ที่สรรเสริญอย่างนั้น พอเค้าไปสรรเสริญก็เป็นทุกข์อีกแล้ว พอเค้าไม่เอาใจหน่อยก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันไม่เที่ยง มันไม่คงที่ มันของไม่มั่นคง ลาภก็ดี ยศก็ดี ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรารู้หลักนี้ จะต้องเอาใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้ นี่แหละเรียกว่าสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่หยุดอยู่ตรงนี้ก็ไม่ใช่เดินตามรอยแล้ว ไปเดินตามรอยใครก็ไม่ทราบแล้ว เดียรถีย์อย่างนั้น นอกทางพระพุทธศาสนา 

        พระพุทธศาสนานี้ต้องจับหลักที่ศูนย์กลางตรงนี้ ที่ศูนย์กลางตรงนี้เนี่ยแค่เฉียด ๆ เฉียดความเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แต่ว่าถูกทางต้นทางที่จะเข้าเป็นสาวก จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ต้องเข้าถึงไตรสรณาคมน์ ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละจึงจะได้ชื่อว่าเป็นสาวกอย่างแท้จริง เพราะว่าพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นอยู่ตรงนั้นน่ะ ตรงที่ถึงไตรสรณาคมน์ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมากระทั่งบัดนี้ ว่ารากฐานของการเป็นพุทธมามกะ พุทธศาสนิกชนจะต้องเริ่มต้นจากไตรสรณาคมน์ที่เราสมาทานอยู่นะ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งสังฆัง สรณัง คัจฉามิ ถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งทั้งข้างนอกทั้งข้างใน 

        ถ้าถึงจุดนี้ได้นั่นแหละเรียกว่าไตรสรณาคมน์ เป็นพุทธมามกะ แต่จะเข้าถึงไตรสรณาคมน์ได้ต้องเข้าถึงปฐมมรรคอันนี้ก่อน เพราะฉะนั้นปฐมมรรค ปากทางของความเป็นพุทธศาสนิกชน ถ้าจะเป็นจริง ๆ หรือได้ชื่อว่าอุบาสกอุบาสิกา ผู้เข้าใกล้พระรัตนตรัย จริง ๆ โน่นต้องถึงไตรสรณาคมน์ ถึงพุทธรัตนะ ถึงธรรมกายภายในนั่นแหละ เห็นธรรมกายใสแจ่ม เห็นธรรมรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนะ กลมรอบตัว ใสสว่าง อยู่กลางธรรมกาย เห็นสังฆรัตนะ ธรรมกายละเอียดซ้อนอยู่อย่างนั้น หลับตาเห็น ลืมตาเห็น นั่งเห็น นอนเห็น ยืนเห็น เดินเห็น ทำภารกิจอะไรต่างๆ ก็เห็นแจ่มอยู่ตลอด นั่นจึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะ พุทธศาสนิกชน ลูกพระพุทธเจ้า

        พระพุทธเจ้าท่านเข้าถึงธรรมกายนี่ลูกของท่านก็ต้องถึงธรรมกายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงธรรมกายอรหัต องค์ที่สุดที่หมดกิเลสอาสวะ เป็นอันหนึ่งอันเดียว เราเป็นลูกท่านก็ต้องถึงกันมาตั้งแต่นั่นน่ะพระอนาคามีพระสกิทาคา พระโสดาบัน หรืออย่างต่ำเป็นโคตรภูบุคคล ถึงธรรมกาย ธรรมกายหน้าตักโตใหญ่เท่าตัวเรานั่นแหละ โตใหญ่เท่าตัวของเรานั่นน่ะ ใสแจ่ม เกตุดอกบัวตูม นั่นถึงจะเรียกลูกพระพุทธเจ้า ลูกมะม่วงมันออกมาก็ต้อง ออกจากต้นมะม่วง มันก็ต้องเป็นลูกมะม่วง ลูกมะพร้าวออกจากต้นมะพร้าว มันก็ต้องเป็นลูกมะพร้าว ลูกพระพุทธเจ้า มันก็ต้องเหมือนกัน มีอะไรเหมือน ๆ กัน คล้าย ๆ กันอย่างนั้น มันต้องคล้ายกันมั่ง พระพุทธเจ้าถึงธรรมกายภายในใส สว่าง เราลูกท่านต้องถึงเหมือนกัน ถ้าไม่ถึงน่ะไม่ใช่แล้ว เป็นอะไรก็ไม่ทราบ เป็นนายนั่นนายนี่ คุณนั่นคุณนี่ซะแล้ว ไม่ใช่ลูกพระพุทธเจ้า

        เพราะฉะนั้นนี่อย่าเพิ่งประมาทกันนะ ว่าเราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าน่ะ มันยังนะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกศิษย์ของพญามาร ไม่ค่อยเชื่อค่อยฟังท่านเท่าไหร่นัก เพราะว่าหนทางที่จะไปถึงท่านน่ะมันอยู่ตรงนี้ แต่เราเอาใจไปไว้ที่อื่น เอาวางเอาไว้นั้น ศาลพระภูมิมั่ง ต้นไม้มั่ง หมอดูมั่ง สารพัดหมด ออกนอกทางพระรัตนตรัยหมด เชื่อถือมงคลอะไรต่าง ๆ ตื่นข่าวกันอย่างนั้น ตื่นออกนอกทาง ศูนย์กลางไปหมดเลย นอกทางพระรัตนตรัยไปหมด เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะเข้าถูกช่องทางแล้วนะ จับหลักอันนี้เอาไว้ให้ดี ว่าต่อจากนี้ไปตั้งปณิธานเอาไว้ ภายหลังจากที่เราจะบูชาข้าวพระกันแล้วเนี่ย ว่าเราจะเป็นลูกพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จะต้องทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้นมาในใจของเราให้ได้ ไม่เห็นเป็นไม่เลิก ยอมตายทีเดียว ต้องเอาให้เห็น วันนี้ไม่เห็นพรุ่งนี้เอาใหม่ พรุ่งนี้ไม่เห็น มะรืนนี้เอาใหม่ ทำมันไปทุกวัน จนกว่าจะเข้าถึงให้ได้ ให้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าให้ได้ 

        เราทราบดีว่าพระพุทธเจ้า ธรรมกายอยู่ในตัวของเราที่ฐานที่ ๗ เราก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ นั่งก็อยู่ตรงนี้ นั่งนอนยืนเดินอยู่ตรงนี้ หยุดนิ่ง เฉย ใหม่ ๆ มันก็มืด ๆ คุ่ม ๆ ค่ำ ๆ กันไปก่อน พอฝึกฝนอบรมกันไปหนักเข้า เรามีสติ มีปัญญา มีศรัทธา มีความเพียร ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่งเฉย ใสแจ่ม นั่งเห็น นอนเห็นยืนเห็น เดินเห็น หลับตาเห็น เห็นอยู่ตลอดเวลา นี่ต้องทำกันอย่างนี้นะ คราวนี้เราก็เอาใจหยุดนิ่งเฉย ให้ถูกส่วนทีเดียวนะ ที่ศูนย์กลาง ใครที่กำหนดไม่ได้ก็ให้วางใจนิ่งเข้าไว้ ใครกำหนดเห็นดวงสว่างก็เอานิ่งไว้ที่ดวงสว่าง ใครกำหนดเข้าไปเห็นกายไหนก็ให้หยุดไว้ที่กายนั้น ใครถึงธรรมกายก็หยุดนิ่งเฉยอยู่ที่ตรงนี้นะ เพราะการบูชาข้าวพระ อาหารหวานคาว เป็นเรื่องที่คุณยายท่านทำ พวกเรายังเข้าไม่ถึงเราก็ทำกันยังไม่ได้ แต่ว่าเราก็มีวิธีคือน้อมใจของเราเนี่ย หยุดอยู่ในจุดที่เราหยุดอยู่ หยุดอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นนะ 

        แล้วก็นึกน้อมเอาดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาวน่ะ นึกกระดิกจิตด้วยใจของเรา ว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านี้เนี่ย ที่เราได้นำมาในวันเนี้ย น้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน มีมากมายกันนับไม่ถ้วน นั่งเข้านิโรธสมาบัติเต็มไปหมดอยู่อย่างนั้น เราจะนำเอาสิ่งเหล่านี้ขึ้นไปถวาย ถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า จะได้เป็นผลทานอันเลิศของพวกเราทั้งหลาย คุณยายท่านก็จะได้คุมพวกเราไป คุมเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ขึ้นไปถวายให้ถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า ส่วนพวกเราก็วางใจให้หยุดให้นิ่ง เฉย ๆ ปล่อยสบาย ๆ ทำใจของเราให้เย็น ๆ ไม่ให้คลางแคลง ไม่สงสัย ไม่ฝันอะไรทั้งสิ้น ปล่อยหมด ไม่ฝืนไม่ด้าน เฉย นิ่ง นิ่งหยุดอยู่ที่ตรงนี้นะ 

        ถ้าถูกส่วนแล้วปุญญาภิสันธา บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการถวายวัตถุทานขาดจากใจไปแล้ว ก็จะเกิดหลั่งไหลเข้ามาท่วมท้นอยู่ที่ศูนย์กลางกายในดวงใจของเราน่ะ เหมือนฝนที่ตกลงมาในจักรวาลที่ไม่มีลมพายุ เป็นสายบุญจรดที่ศูนย์กลางกายเมื่อมารวมที่ศูนย์กลางกายก็เป็นดวงใสแจ่ม สว่างทีเดียว ดวงอันนี้แหละจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขกับความสำเร็จในชีวิต ทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ความสุขตั้งแต่เป็นกายมนุษย์ก็สุขแบบมนุษย์ เป็นทิพย์ก็สุขแบบทิพย์ สุขเรื่อยไปเลย จนกระทั่งถึงบรมสุขคือพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยดวงบุญดวงนี้อันเดียวเป็นเหตุ เหตุที่เราทำตอนนี้แหละ จะไปเกิดเป็นมนุษย์ที่ไหนก็มีความสุขมาก เป็นทิพย์ก็มีความสุขมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเอาใจนิ่ง หยุดนิ่งเฉย ปล่อย สบาย ๆ เราน้อมขึ้นไปทีเดียวนะ ดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาว เรากระดิกจิตในใจ 

        คุณยายท่านคุมไปแล้ว ท่านชำนาญ มีความชำนาญมีความคล่องตัว เพราะทำอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้วไปถวายพระพุทธเจ้าหมดทุก ๆ พระองค์ ถวายทั่วถึงกันไปหมดเลย เครื่องไทยธรรมก็ไปสว่างไสว ใสเป็นแก้วอยู่ในอายตนนิพพานหมด สวยงามมาก พระพุทธเจ้าท่านรับประเคนเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ พอท่านรับประเคนบุญก็เกิดขึ้นมาเลยที่ศูนย์กลาง ถ้าใครเข้าถึงธรรมกายเราจะเห็นใสสว่างเกิดขึ้นทีเดียวน่ะ เกิดขึ้นรวมมาเป็นจุดเดียวกันเลยที่ศูนย์กลางกาย มองดูให้ดีนะ มองไปที่ศูนย์กลางกาย วางใจเบา ๆ วางเบา ๆ ใจเย็น ๆ เดี๋ยวเราจะเห็นบุญที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายเรา เป็นดวงใส ถ้าเห็นละเอียดกว่านั้นก็เป็นท่อลงมาทีเดียวน่ะ สายบุญจรดลงมา หยุดนิ่งให้ดีนะ ทุก ๆ คนหยุดนิ่งให้ดี วางเบา ๆ ใจเย็น ๆ ทำใจสบาย ๆ 

        บุญกำลังไหลไปสู่ศูนย์กลางกำเนิดของเรา ใครคลางแคลงบุญมันก็หก ไอ้ความคลางแคลงมันปิดบุญอยู่ ไอ้ความสงสัย สงสัยว่าจะไปถวายได้รึเปล่าอะไรอย่างนั้น จะเข้าถึงได้ไม้ ไอ้สงสัยนี่แหละมันปิดหนทางบุญ บุญมันก็หก คล้าย ๆ กับน้ำมันเต็มแก้วแล้ว ถ้าเดินดี ๆ มันก็ไม่หก ถ้าเราเดินวิ่งกระฉอก ๆ เข้า น้ำมันก็หก หก ๆ หล่น ๆ ไอ้ความสงสัยมันทำให้ใจเราวุ่น วุ่นมันก็เป็นบาป บุญมันหก ถ้าว่างมันก็เป็นบุญ ใจว่าง ๆ ใส ๆ ดูให้ดีนะ ที่ศูนย์กลาง เดี๋ยวเราจะเห็นสายบุญมาจรดที่ศูนย์กลาง คุณยายก็คุมทับทวีขึ้นไปเรื่อย นับอายุธาตุอายุบารมีไม่ถ้วน นับอสงไขยไม่ถ้วน ชนเท่านับเป็นหนึ่ง ถวายให้ทั่วถึง สุดรู้สุดญาณไปเรื่อยเลย ว่าเป็นผลทานของพวกเราทั้งหลายที่มาในวันนี้ 

        แล้วขอบุญ ขอบารมี ขอศีลขอพรของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ให้ท่านสวดมนต์ชยันโต ให้ศีลให้พรพวกเราทุกคน ให้มีความสุขมีความเจริญ ให้ได้สำเร็จมรรคผล ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านที่เป็นนักศึกษาก็ให้ศึกษาสำเร็จสมดังความปรารถนา ท่านที่เป็นนักธุรกิจให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงามไปทุก ๆ คนเลยไม่ให้มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ที่รับราชการก็ให้ไปได้ตลอดปลอดโปร่ง ผู้หลักผู้ใหญ่เมตตาปราณีหมด ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี เจ้านายที่ดีมีจิตเมตตารักใคร่เหมือนกับบุตรที่เกิดจากอกอย่างนั้นน่ะ 

        ขอศีลขอพรท่าน แล้วให้ทุกคนได้เข้าถึงธรรมกาย ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จะได้เป็นพุทธศาสนิกชนพุทธมามกะ ลูกของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ให้เข้าถึง ให้ครอบครัวเค้าอยู่เย็นเป็นสุข ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย ให้สามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ทำเหมือนกันเป็นนักสร้างบารมีที่ดีงาม คำว่าไม่มี ไม่ให้พวกเราได้รู้จัก ถ้าสิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ดีงามละก็ นึกจะสร้างบุญสร้างกุศล ให้มันมีสร้าง สร้างกันไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักหมดจักสิ้นกันไป ให้สร้างกันไปอย่างนั้น ให้ปลอดโปร่ง 

        เมื่อบริจาคทานแล้วไม่เสียดาย บริจาคท่านแล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจ ดีอกดีใจอยู่เสมอ และก็ให้ได้ผลบุญทันตาเห็น ทันตาเห็นว่าจะธิษฐานอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ดีงาม ที่ถูกที่ต้องที่ควร ที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ท่านทรงสรรเสริญว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ให้สมความปรารถนา ขอศีลขอพรของท่านอย่างนั้นนะ คุณยายท่านขอศีลขอพรหมดเลย และก็คุมบุญหมด คุมบุญแก้ไขทุกข์โศกโรคภัย ภัยพิบัติต่าง ๆ  อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย ภัยทุกชนิด สิ่งที่มีต่าง ๆ ให้ละลายหายสูญให้หมด เอาบุญนี่หล่อเลี้ยงกาย วาจา ใจ ให้ผ่องใส ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่นทุก ๆ คน หายทุกข์ หายโศก หายโรค หายภัย หายวิตกกังวล หายหมด หายสูญหมด 

        ให้มีแต่ความสุขกายสบายใจกันทุก ๆ คนเลย ให้องค์พระในตัวใสแจ่ม หลับตาเห็น ลืมตาเห็น นั่งเห็น นอนเห็น ยืนเห็น เดินเห็นหมดทุกๆ คนเลย คุณยายคุมบุญอันนี้นะ อาราธนาพระพุทธเจ้าท่านให้ศีลให้พร คุมหมด และให้ถ่ายทอดปกปักรักษาพวกเราทุก ๆ คน จะไปไหนมาไหนให้ปลอดภัยหมด ให้จิตใจชุ่มแช่อิ่มอยู่ในบุญอยู่ในกุศล มีความเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ให้เทวดาตามปกป้องรักษา ให้มนุษย์เห็นก็รัก ใครเห็นใครก็รักกันทั้งนั้น มีจิตเมตตาปราณีสงสารรักใคร่เอ็นดูไปหมดเลย สรรพมงคลอะไรต่าง ๆ ที่ดีงาม มงคล ๓๘ ประการ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสั่งสอนมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ให้เกิดประโยชน์สุข 

        ขอให้มงคลเหล่านั้นสิริเหล่านั้น มงคลเหล่านั้น ให้เข้ามาสวมกายสวมใจของพวกเราทุก ๆ คน ส่วนมงคลอะไรที่นอกเหนือในเขตของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นมงคลของนักคิด คิดเรื่อยเปื่อย ที่ความรู้เค้ายังไม่สมบูรณ์น่ะ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยกันไปอย่างนั้น เอาตะกรุดน้ำมูกน้ำมนต์ ทดถ้อหมอดู อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นมงคล มงคลเหล่านี้ให้ละลายหายสูญไปหมด ให้เหลือแต่มงคลทำ มงคลของนักปฏิบัติ มงคลของผู้ที่มีทั้งศรัทธาทั้งปัญญา ไม่ใช่มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวแต่ขาดปัญญา ให้สวมกายสวมใจ มีแต่สิริมงคลหลั่งไหลอยู่ตลอดเวลาเลย ใครก็ตามมีสิรีกับมงคลสวมกายสวมใจ ผู้นั้นเจริญ นั่งก็เจริญ ยืนก็เจริญ นอนก็เจริญ หลับตาลืมตาเจริญหมด จะเดินแห่งหนตำบลไหนก็มีแต่ความสุขความเจริญไปหมด นี่ขอศีลขอพรกันไปอย่างนี้ แล้วพวกเราก็อธิษฐานจิตตามใจชอบเราทีเดียวนะ

         แต่การอธิษฐานขอให้มุ่ง ว่าเป็นไปเพื่อการสร้างบารมี เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้คือยอดของความปรารถนาทั้งหลาย สิ่งอื่นอะไรที่เราดูว่าเรามีข้อบกพร่องอะไรในตัวของเรากายของเรานี่บกพร่อง เราก็อธิษฐานเอา ล้อมคอกเอาไว้ วาจาเราบกพร่องพูดอะไรไปเนี่ย คนไม่ค่อยรักเลย ทั้ง ๆ เราพูดความจริง เราก็อธิษฐานพูดอะไรไปก็ให้เป็นที่รักของทุก ๆ คน หรือใจเรานี่มักจะอิจฉาริษยาคนนั้นคนนี้ หรืออวดเก่งเสมอ ใครน่ะเก่งสู้เราไม่ได้ เราจะต้องเป็นหนึ่ง เป็นนัมเบอร์วันอะไรอย่างนี้ ก็อธิษฐานอย่าให้เราคิดอย่างนี้ ให้ใจเราบริสุทธิ์ผ่องใส จะมีลูกมีเต้าก็ให้มีลูกแก้ว และตัวของเราด้วยให้เป็นพ่อแม่แก้วด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่ตัวลูกแก้วอย่างเดียว แต่ตัวพ่อตัวแม่ไม่เอา พอถึงมงคลที่จะสอนลูกละก็พ่อแม่นั่งฟังตั้งอกตั้งใจทีเดียว พอถึงมงคลที่จะสอนพ่อแม่มั่งหายไปหมด เหลือแต่ลูกนั่งฟัง เพราะฉะนั้นเราไม่เอาอย่างนั้น อธิษฐานให้ดีทีเดียวนะ ว่าเราจะให้พร้อมหมด ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจ หาตำหนิไม่ได้เลย และพวกพร้องบริวารอะไรต่าง ๆ ก็ให้เรียบร้อย ให้สมบูรณ์ ให้บุญนี้น่ะดลบันดาลให้สมบูรณ์ให้เหมาะสม จะได้เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้ไปสู่พระนิพพานได้เร็วเข้า ต่างคนต่างอธิษฐานจิตตามใจชอบกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ตั้งใจกันให้ดี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038159000873566 Mins