วิสาขามหาอุบาสิกา ตอนที่ ๔ คู่บุญคู่บารมี

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2547

วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๔ คู่บุญคู่บารมี

 

วิสาขามหาอุบาสิกา , คู่บุญคู่บารมี ,  เบญจกัลยาณี , ปุณณวัฒนกุมาร


    มหาสมบัติทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในโลก ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม บังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุญทั้งสิ้น ผลของกรรมดีที่ได้กระทำไว้ ไม่ได้สูญหายไปไหน จะกลายเป็นสมบัติติดตัวเราไปทั้งภพนี้และภพหน้า เป็นทั้งอริยทรัพย์และโลกิยทรัพย์ ไว้ใช้สร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

    เหมือนดังเรื่องราวของวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งคุณสมบัติ รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติ คือ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้รูปกายที่งดงามเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น และมีทรัพย์สมบัติมากไว้สร้างทานกุศลดังใจปรารถนา ซึ่งสมบัติทั้ง ๓ ประการนี้ ล้วนสำเร็จได้ด้วย บุญ ที่นางได้ตั้งใจทำไว้ดีแล้วในกาลก่อน

    วิสาขาเจริญเติบโตขึ้นที่กรุงสาเกตนั่นเอง เจริญวัยขึ้นด้วยความงาม งามอย่างจะหาหญิงใดเสมอเหมือนได้ยาก แต่เป็นผู้ไม่หยิ่งทะนงในความงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัย กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย สมเป็นกุลสตรีที่ได้อบรมมาดี บิดามารดาเอ็นดูรักใคร่บุตรีผู้นี้ปานดวงใจ

 

วิสาขามหาอุบาสิกา , คู่บุญคู่บารมี ,  เบญจกัลยาณี , ปุณณวัฒนกุมาร

   ฝ่ายในกรุงสาวัตถี มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “ มิคารเศรษฐี ” ท่านมีบุตรชายคนเดียวชื่อว่า “ปุณณวัฒนกุมาร” ด้วยความหวังที่อยากจะให้บุตรชายเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล เมื่อปุณณวัฒนกุมารเจริญวัยขึ้น อายุพอสมควรจะแต่งงานแล้ว บิดามารดาจึงปรารถนาให้บุตรหาหญิงคนใดคนหนึ่งมาเป็นภรรยา แต่ด้วยความไม่ยินดีในการครองเรือน มีความสงบ สันโดษเป็นนิสัย จึงไม่มีทีท่าว่าจะพอใจรักใคร่หญิงคนใดเป็นพิเศษ

    นานปีเข้า บิดามารดาเห็นว่าจะช้าเกินกาล จึงตัดสินใจปรารภกับบุตรชายว่า
    “ ลูกเอ๋ย บัดนี้ลูกก็เจริญวัยสมควรแล้ว จงเลือกหาหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นที่ถูกใจของลูกเถิด ”

   ปุณณวัฒนกุมาร คาดการณ์ไว้แล้วว่าสักวันหนึ่ง บิดามารดาคงต้องปรารภเรื่องนี้ จึงเรียนตอบว่า “ คุณพ่อคุณแม่ครับ กระผมไม่ต้องการมีภรรยา ขอรับ อยากจะอยู่ปฏิบัติบำรุงคุณพ่อคุณแม่อย่างนี้ไปนานๆ จะประเสริฐกว่า ”

    บิดามารดาจึงให้เหตุผลว่า
    “ ลูกเอ๋ย ลูกอย่าทำอย่างนี้ ตระกูลที่ไม่มีบุตรสืบทอดจะตั้งอยู่ไม่ได้ดอกนะ ”

    เมื่อบุพการีอ้อนวอนรบเร้าอยู่บ่อยๆ ปุณวัฒนกุมารจึงกล่าวว่า
    “ คุณพ่อคุณแม่ครับ ถ้าเป็นความประสงค์ของคุณพ่อคุณแม่อย่างนั้น กระผมก็จะยอมตาม    แต่มีข้อแม้บางประการว่า หญิงสาวผู้จะมาเป็นภรรยากระผมนั้น ต้องประกอบไปด้วยลักษณะ เบญจกัลยาณี คือ มีความงามพร้อม ๕ อย่าง กระผมจึงจะกระทำตามคำขอร้องของคุณพ่อคุณแม่ ขอรับ ”

    มารดาได้ฟังคำพูดของบุตรชายอย่างนั้น ให้ชวนสงสัยเป็นกำลัง ถามว่า
    “ ลูกเอ๋ย .. เบญจกัลยาณีคืออะไรเล่า ?”

   ปุณณวัฒนกุมารผู้มีปัญญาจึงเรียนชี้แจงว่า “ เบญจกัลยาณี ” คือ ความงามพร้อม ๕ ประการ อันเป็นบุญลักษณะอันเลิศของสตรี ได้แก่ ๑ . ผมงาม ๒ . เนื้องาม ๓ . กระดูกงาม ๔ . ผิวงาม ๕ . วัยงาม

  ผมของหญิงผู้มีบุญมาก ย่อมเสมือนกับกำหางนกยูง สีเหมือนดอกอัญชัญแวววาว มีความนุ่มละเอียดอ่อน เวลาคลี่สยาย ย่อมระถึงชายผ้านุ่ง แล้วกลับมีปลายผมงอนช้อนขึ้น นี้เรียกว่า ผมงาม

  ส่วนริมฝีปากนั้น หมายถึงริมฝีปากบาง โค้งเป็นรูปกระจับ มีสีแดงระเรื่อเหมือนสีผลตำลึงสุก เป็นเองโดยธรรมชาติ มิได้ตกแต่งแต้มทา ทั้งมีสีเรียบสม่ำเสมอและปิดมิดชิดสนิทดี นี้เรียก เนื้องาม

    ฟันของนางผู้เป็นเบญจกัลยาณี จะมีสีขาวเรียบเสมอไม่ห่างกัน งดงามดุจระเบียบแห่งไข่มุกที่นายช่างยกขึ้นตั้งไว้ หรือเป็นเหมือนระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีไว้ดีแล้ว นี้เรียกว่า กระดูกงาม

    ผิวพรรณของหญิงนั้น แม้ไม่ได้ลูบไล้ด้วยเครื่องประทินผิวต่างๆ เลย หากมีผิวคล้ำย่อมเกลี้ยงเกลา อมเลือดอมฝาดเหมือนดอกอุบลเขียว หรือเปล่งปลั่งคล้ายสีของน้ำผึ้งจากรวงใหม่ๆ แต่ถ้าผิวขาวย่อมขาวละเอียดอ่อนเหมือนดอกกรรณิกา นี้เรียกว่า ผิวงาม

   และเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แม้หญิงนั้นจะคลอดลูกแล้วตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็ยังเป็นเหมือนคลอดลูกเพียงครั้งเดียว ดูเป็นสาวสวยพริ้งอยู่เสมอ ทั้งในยามปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย เป็นผู้งามทุกวัย อย่างนี้เรียกว่า วัยงาม ขอรับ

 

วิสาขามหาอุบาสิกา , คู่บุญคู่บารมี ,  เบญจกัลยาณี , ปุณณวัฒนกุมาร

 ครั้นบิดามารดาพอทราบความต้องการของบุตรชายแล้ว ให้นึกประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยทราบลักษณะของหญิงผู้มีบุญมากเช่นนี้มาก่อน อีกทั้งยังไม่เคยพบเห็นว่าหญิงเช่นนี้จะปรากฎอยู่ที่ใด จึงประกาศเชิญพราหมณ์ผู้เป็นที่ยกย่องว่ามีความรู้มาก เป็นที่นับถือของชาวเมืองมาทั้งหมดจำนวน ๑๐๘ ท่าน ให้มาเลี้ยงอาหารยังเรือนของตน แล้วแจ้งความต้องการของบุตรชายให้ทราบ ถามว่า

    “ ท่านผู้เจริญ ลักษณะหญิงผู้มีบุญมากเช่นนี้ มีอยู่หรือไม่ ? ”

     พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า “ มีอยู่จ๊ะ "

 

วิสาขามหาอุบาสิกา , คู่บุญคู่บารมี ,  เบญจกัลยาณี , ปุณณวัฒนกุมาร

    มิคารเศรษฐีจึงกล่าวว่า “ ถ้าอย่างนั้น ขอให้พราหมณ์ ๘ คน จงไปเที่ยวแสวงหาเด็กหญิงผู้มีลักษณะเช่นนี้เถิด ” แล้วนำทรัพย์จำนวนมากมอบให้พราหมณ์เหล่านั้น พร้อมกับมอบพวงมาลัยทองคำมีค่ามาก ราคาหนึ่งแสนกหาปณะให้ กล่าวว่า

   “ พวกท่านจงพากันไปแสวงหาเด็กหญิงผู้มีลักษณะเบญจกัลยาณีเถิด และเวลาที่พวกท่านพบแล้ว ขอให้คล้องพวงมาลัยทองคำนี้กำนัลแก่นาง ”

 

   เช้าวันใหม่ของฤดูใบไม้ผลิ ใบเก่าของพฤกษชาติถูกสลัดร่วงลง และเหี่ยวแห้งอยู่บริเวณโคนต้น ใบอ่อนซึ่งผลิดอกใหม่ดูสวยงามสล้างเสลา มองดูเรียงรายเป็นทิวแถวน่าชื่นชม พระอาทิตย์เพิ่งจะยอแสงสาดพื้นพิภพมาไม่นานนัก พราหมณ์ทั้ง ๘ คน จึงเร่งรุดออกเดินทางเพื่อแสวงหาเด็กหญิงผู้มีลักษณะเบญจกัลยาณี ไปตามเมืองต่างๆ แต่ไม่พบเด็กหญิงผู้ประกอบด้วยบุญลักษณะเช่นนี้เลย เดินทางไปไกลนับได้หลายร้อยโยชน์ จากเมืองนั้นถึงเมืองนี้ ล่วงเวลาผ่านไปหลายเดือน รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเป็นที่ยิ่ง จึงตัดสินใจเดินทางกลับ การใช้เส้นทางผ่านแคว้นมคธมุ่งตรงยังแค้วนโกศล เดินทางรอนแรมเรื่อยมาจนถึงเมืองสาเกต ประจวบกับช่วงเทศกาลนักขัตฤกษ์ประจำเมือง จึงตัดสินใจพักค้าง ณ ที่นั้น .

 

……………( จบตอน )…………

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0029883821805318 Mins