พระรัตนตรัยภายใน ฐานที่ ๗

วันที่ 22 กพ. พ.ศ.2567

220267b01.jpg  พระธรรมเทศนาหลวงพ่อธัมมชโย,  ธรรมกาย, สรณะ, ที่พึ่ง, อิสรภาพ, เข้าถึงธรรมกาย, พุทธปฏิมากร, เกตุดอกบัวตูม, ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน, พระรัตนตรัยภายใน

พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

พระรัตนตรัยภายใน ฐานที่ ๗

 

                ที่พวกเราทั้งหลายมาประชุมกันในวันนี้ เพราะว่าเห็นคุณค่าของธรรมกาย ว่าธรรมกายนี่แหละเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก ขจัดทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ เข้าถึงธรรมกาย ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว อันเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ให้พ้นจากทุกข์ ถึงแล้วก็มีความสุข อันเป็น เป็นสิ่งตอบแทน เป็นความสุขที่กว้างขวางกว่าความสุขที่เราเคยพบเคยประสบมา ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ พระธรรมกายนี่แหละ เป็นหลักของทางพระพุทธศาสนา หลักของชีวิต ทุกคนได้เกิดกันมาในโลกนี้ จะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม มีเป้าหมายอยู่อย่างเดียวเท่านั้นต้องการให้เข้าถึงสรณะภายใน ถึงที่พึ่งภายในตัว ถ้ายังไม่ถึงที่พึ่งภายในตัวแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ชีวิตของบุคคลนั้น จะมีแต่ความระทมทุกข์อยู่ตลอดเวลา 

 


                เพราะฉะนั้นเกิดมาก็ต้องการแสวงหาที่พึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวของพวกเราทุก ๆ คน พระธรรมกายนี่แหละเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกของพวกเราทั้งหลาย เกิดมาถ้ายังไม่พบธรรมกาย ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป นี่คือเป้าหมายของชีวิตของทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาไหน จะเป็นใครก็ตาม จะต้องมีเป้าหมายอันเดียวกันอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ที่ยังไม่ถึงเป้าหมายอันนี้ ก็เพราะว่ายังไม่รู้จักว่าธรรมกายเป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหน และวิธีการที่เราจะเข้าถึงน่ะ จะเข้าถึงได้อย่างไร เมื่อไม่ทราบก็แสวงหาหนทางกันต่อไป แสวงกันเรื่อย ๆ ไป นี่เป็นอย่างนี้นะ

 


                บัดนี้วัดพระธรรมกาย ได้ประกาศเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายให้ปรากฏในสากลโลก ว่าธรรมกายนี้อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นี่เอง สิงสถิตอยู่ที่ฐานที่ ๗ ภายในตัวของทุก ๆ คน มีลักษณะคล้ายพุทธปฏิมากร แต่ว่างามกว่า สวยกว่า ปราณีตกว่า งามไม่มีที่ติ คำว่าไม่มีที่ติก็หมายถึงว่า จะเป็นชาติไหน เป็นภาษาไหน จะเป็นใครก็ตาม จะเป็นหญิงเป็นชาย ทุกคนในโลกนี้ มองแล้วลงความเห็นอันเดียวกันว่างามไม่มีที่ติ ทุกอย่างพอเหมาะ ที่ว่างามไม่มีที่ติ เนื่องจากประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วนทุกประการ ๓๒ ประการ ครบถ้วนบริบูรณ์หมด จะมองสัดส่วนไหนก็งามหมด ลักษณะพุทธลักษณะที่ได้มานี้ ก็เนื่องมาจากบารมีที่ได้สั่งสมเอาไว้

 


                เมื่อมีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของทุกคนเต็มเปี่ยมแล้ว ก็จะได้ลักษณะมหาบุรุษอย่างนี้ นี่คือที่มาของคำว่างามไม่มีที่ติ เป็นสิ่งที่นาน ๆ ครั้ง จะปรากฏให้เห็นได้ด้วยตามนุษย์ กัปป์กัปป์หนึ่ง บางครั้งลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการนี้ บางกัปป์เกิดขึ้นได้หนึ่งองค์ บางกัปป์ก็ ๒ องค์ บางกัปป์ ๓ บางกัปป์ ๔ และก็บางกัปป์ ๕ องค์ แต่ว่าไม่เกิน ๕ องค์ กัปป์ไหนมีเกิดขึ้น ๑ องค์ ชื่อกัปป์นั้นก็เรียกไปตามลักษณะ ของมหาบุรุษอันนี้ ของพระพุทธเจ้า ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า อย่างกัปป์ที่ของเราอยู่นี้เรียก ภัทรกัปป์ เพราะว่ามีลักษณะของมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าถึง ๕ พระองค์ ถึงได้เรียกว่า ภัทรกัปป์

 


                ใครเห็นก็ไม่มีที่ติ งามไม่มีที่ติ จะเป็นพุทธบริษัทเห็นก็ตาม จะเป็นพวกเดียรถีย์ อัญเดียรถีย์เห็นก็ตาม หรือจะเป็นใครก็ตาม เห็นแล้วยอมรับหมดว่างามไม่มีที่ติ นี่ยากนักใครที่จะไปรู้ไปเห็นได้ ลักษณะมหาบุรุษอย่างนี้ สิ่งนี้แหละรวมประชุมอยู่ในธรรมกาย ที่อยู่ที่ฐานที่ ๗ ของพวกเราทุก ๆ คน ธรรมกายนี้เป็นกายตรัสรู้ธรรมของทุก ๆ คน ใครได้เข้าถึงกายนี้ ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธเจ้าภายในตัว เมื่อเข้าถึงแล้วก็จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว รู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริงของชีวิต ความจริงของชีวิตคืออะไรก็รู้หมด ว่าความเกิดแก่ตายนี่เป็นทุกข์ก็รู้ ก็เห็น ความทะยานอยากเป็นเหตุให้เกิดแก่ตาย เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ก็รู้ก็เห็น ความดับความทะยานอยาก ไม่ให้เกิด แก่ ตาย ก็รู้เห็นอีกเหมือนกัน 

 


                วิธีที่จะเข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงความดับเหตุให้เกิด ให้แก่ ให้ตายนี่ ก็รู้เห็น นี่ก็เรียกผู้รู้ คำว่าผู้รู้นี่แหละ ประชุมรวมกันอยู่ในธรรมกาย ใครเข้าถึงก็จะรู้อย่างนี้ รู้ความเป็นไปของชีวิต ผู้ตื่นก็คือตื่นจากกิเลส กิเลสอาสวะที่ครอบงำอยู่นี่ ทำให้เราหลับ คนหลับนี่มันเหมือนคนที่ตายแล้ว ไม่รู้อะไรเลย ถูกกิเลสครอบงำกันไปหมด ให้แสดงละครไปตามกิเลสที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หลับเพราะกิเลส คนหลับนี่ไม่รู้อะไร เหมือนเรานอนหลับอย่างนั้น นี่ตื่นจากหลับ คือตื่นขึ้นหายงัวเงีย มามองโลกไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่จมอยู่ในโลกของความฝัน หลับด้วยกิเลส นั่นจมอยู่ในโลกของความฝัน ของมารยา ของความไม่จริงของชีวิต วนเวียนกันอยู่มาหลายภพหลายชาติ นับภพนับชาติกันไม่ถ้วน

 


                แต่ถ้าตื่นจากหลับคือกิเลส ก็จะรู้ความเป็นจริงของชีวิต การที่ตื่นจากกิเลสนี้นี่แหละ บังเกิดขึ้นพร้อมกับการบังเกิดของธรรมกาย ผู้เบิกบานแล้วก็เช่นเดียวกัน เบิกบานก็หมายเอาใจน่ะแหละ ใจที่เบิกบาน เพราะว่าไม่ถูกกิเลสครอบงำ เราไปมองดูซิว่าใจของเรานี่น่ะ ไอ้ที่มันไม่เบิกบานน่ะ มันเป็นเพราะว่าอะไร พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะเอาไว้ว่า มันมีอยู่ ๓ สิ่ง เข้าไปครอบงำบังคับเอาไว้ ทำให้ใจสูญเสียความเป็นอิสรภาพ ในการที่จะเสวยความสุขหรือนึกคิดอะไร ต่าง ๆ ได้ ที่เป็นกุศลที่เป็นความดีได้เต็มที่ เหมือนอยู่ในที่แคบ มันบานไม่เต็มที่ ๓ อย่างนั้นก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไปครอบงำใจอยู่ 

 


                โลภะเมื่อเข้าไปครอบงำใจอยู่ ทำให้ใจนั้นมันมีความหิวเป็นปกติ หิวเป็นปกติ คือมีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนแก้วก้นรั่ว ถ้าจะตักน้ำใส่เท่าไหร่มันก็ไม่เต็ม เพราะก้นมันรั่ว ใจที่ถูกกิเลสเข้าไปครอบงำอยู่ ถูกโลภะเข้าไปครอบงำอยู่ มันก็เหมือนอย่างนั้นแหละ ทำให้มีความหิว มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ได้เท่านี้แล้วก็จะเอาเท่าโน้น ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราได้มาน่ะมันน้อย แต่เพราะโลภะเข้าไปครอบงำ จึงทำให้เรามองเห็นว่ามันน้อย แล้วก็อยากอยู่ร่ำไป หิวอย่างเนี้ยเป็นนิจ ใจดวงนี้จึงไม่เบิกบาน เป็นใจที่อาภัพ เสวยสุขได้ไม่เต็มที่  

 


                อีกอันหนึ่งคือโทสะ โทสะท่านเปรียบเหมือนไฟ เป็นของร้อน จิตร้อนใจร้อน เมื่อโทสะเข้าไปครอบแล้ว มันไม่เบิกบาน เหมือนอยู่ในที่แคบ ถูกบังคับให้คิดแต่เรื่องร้อน ๆ เหมือนไฟไหม้บ้านน่ะ ของอะไรอยู่ในบ้านมันไหม้หมด จะเอาของดีของวิเศษแค่ไหนใส่ลงไปมันก็ไหม้ เพชรนิลจินดา ใส่ลงไปไหม้หมดเหมือนกัน ถ้าโทสะเข้าไปครอบงำใจน่ะ มันก็ทำให้ใจเราร้อน มองอะไรมันก็ขวางหูขวางตากันไปหมด ตอนเช้า ๆ ก็ยังดีหน่อย ยังมีคนถูกใจอยู่คนหนึ่งคือตัวเอง ตัวของเราเองนี่ยังถูกใจ แต่พอตกบ่าย แดดแก่ ๆ หน่อย แม้แต่ตัวเองก็ไม่ถูกใจซะแล้ว มันขัดอกขัดใจกันไปหมด เป็นใจที่อาภัพ เสวยสุขได้ไม่เต็มที่ ไม่เบิกบาน นี่เพราะโทสะ เข้าไปครอบงำ

 

 

                อันที่ ๓ ก็คือ โมหะ เมื่อเข้าไปครอบงำแล้ว ทำให้ใจมืด ใจมืดก็เหมือนคนเดินอยู่ในที่มืดอย่างนั้นแหละ ความมืด ใครจะดูถูกไม่ได้ มันเป็นของที่ไม่มีคุณค่า แต่ว่ามีอิทธิพล ภูเขาทั้งลูกถ้าถูกความมืดครอบงำ แล้วมองไม่เห็น เพชรนิลจินดาเป็นของมีค่า ถ้าไปตกอยู่ในที่มืดก็ไร้ค่า ดอกไม้จะสวยสดงดงามแค่ไหน ตกอยู่ในความมืดครอบงำแล้ว จะมองให้ชื่นอกชื่นใจสักหน่อย มันก็มองไม่เห็น ใจคนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าถูกโมหะ ความมืดเข้ามาครอบงำได้แล้ว มันไม่เบิกบาน มันจะหดหู่ จะเห็นผิดเป็นถูก เห็นสิ่งที่ถูกมันผิด มันกลับตาลปัตรกันไปอย่างนั้นหมด ทำให้ใจไม่เบิกบาน 

 


                เมื่อ ๓ อย่างนี้หมดไปได้แล้ว ใจก็จะเบ่งบานเต็มที่ ขยายไปไม่มีขอบเขต เหมือนเราขึ้นจากบ่อน่ะ มาสู่โลกกว้าง จะไปที่ไหนมันก็ไปได้ ใจที่เบิกบานแล้วเนี่ย เสวยสุขด้วยตัวของมันเองได้เต็มที่ มีสุขอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง แล้วยังเป็นที่ฐาน ที่จะรองรับสุขอย่างอื่นด้วย เป็นสุขที่มีเสรี ไม่มีขอบเขต เพราะฉะนั้นการที่เข้าถึงธรรมกายได้นี้ จะทำให้ใจนั้นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น แล้วก็ผู้เบิกบานแล้ว ถึงได้เรียนให้ทราบแต่ต้นว่าธรรมกายนี้แหละ เป็นหลักของชีวิต เป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นหลักของทุก ๆ คน ที่พวกเราทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันในวันนี้ ก็ต้องการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายนั่นเอง ที่เราทราบว่า ธรรมกายอยู่ที่ฐานที่ ๗ เราทราบดีแล้วนะ 

 


                เพราะได้ยินได้ฟังกันบ่อย มาทุกอาทิตย์ต้นเดือน สำหรับท่านที่มาใหม่ ก็คงจะได้รับทราบว่าอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงเนี้ยะ อยู่ภายในตัว มีลักษณะคล้ายพุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ เมื่อเข้าถึงแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วต่อจากนี้จะได้ทราบวิธีที่เราจะเข้าถึงธรรมกายกัน ที่ว่าฐานที่ ๗ นี้น่ะ เอาอะไรเป็นเกณฑ์ ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตา หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาจุดกึ่งกลางฐานที่ ๓ ฐานที่ ๔ เพดานปาก ตรงที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในระดับเดียวกับสะดือ ถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากขวาทะลุไปข้างซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ถ้าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันไปทาบที่จุดนี้ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเค้าเรียกว่าฐานที่ ๗ จำเอาไว้ให้ดีนะ

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังน่ะ ถ้าบอกว่าฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้ ตรงจุดที่ตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ที่เราขึงจากสะดือทะลุหลังขวาทะลุซ้าย ขึ้นมา ๒ นิ้วมือในกลางท้องของเรานะ ตรงนี้แหละเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นที่สิงสถิตของธรรมกาย  ๗ ฐานนี้เป็นทางเดินของใจเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลก เวลาเราจะมาเกิดก็เข้าตามฐานอย่างนี้แหละ ตั้งแต่ฐานที่ ๑ เรื่อยมา จนกระทั่งมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ ไปเกิด หรือว่าเวลาตาย ก็เดินจากฐานที่ ๗ เนี่ยเรื่อยไป สวนทางกันไป ออกไปตามฐานที่ ๑แล้วก็แสวงหาที่เกิดกันต่อไป ไปเกิดกับมาเกิดเดินสวนทางกันอย่างนี้ แต่ว่าต้องเดินตามฐานทั้ง ๗

 


                 ธรรมกายสถิตอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตำแหน่งที่เหนือจากเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแสวงหาธรรมกายนั้น จะต้องเอาใจที่แวบไปแวบมา คิดแวบไปแวบมา เอามาหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วประคองให้มันหยุดนิ่ง หยุดนิ่ง พอถูกส่วนเข้า จะเห็นดวงใส ดวงใสคล้ายกับเพชร กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เกิดขึ้นที่ฐานที่ ๗ ดวงที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค แปลว่าเบื้องต้น ที่จะเข้าถึงธรรมกาย

 


                หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย แล้วหลังจากนั้นก็ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ ผ่านเข้าไปสู่ภายใน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ผ่านไป ทางศีล ทางสมาธิ ทางปัญญา ทางวิมุตติ ทางวิมุตติญาณทัสสนะ เรื่อยไป ให้เห็นกายในกาย เห็นกายในกายเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม พอสุดกายอรูปพรหม จึงจะถึงธรรมกาย ซ้อนกันอยู่ภายในเข้าไปตามลำดับ เหมือนต้นไม้ที่ห่อหุ้มกันเข้าไปตามลำดับ ตั้งแต่สะเก็ด เปลือก กะพี้ แก่น เข้าไป หุ้มกันเข้าไป แก่นของต้นไม้อยู่ตรงกลางฉันใด แก่นของชีวิตก็อยู่ที่ตรงกลางใจของเราฉันนั้นเหมือนกัน 

 


                เพราะฉะนั้นจะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ที่เดียวเท่านั้น จึงจะพบธรรมกาย เอาใจหยุดนอกตัวก็จะไม่พบ หยุดที่ฐานที่ ๑ ไม่พบอีกเหมือนกัน หยุดเรื่อยมาตามลำดับ ฐานที่ ๒ ๓ ๔ ฐานที่ ๕ หรือฐานที่ ๖ ก็ไม่พบ ฐานที่ ๗ ที่เดียวเท่านั้น จึงจะพบธรรมกาย ทั้งเนื้อทั้งตัวมีอยู่แค่นี้ อยู่ตรงฐานที่ ๗ จำเอาไว้ให้ดีนะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไป จะได้แนะนำวิธีให้ใจหยุดนิ่ง ว่าทำยังไงใจถึงจะหยุดนิ่ง เข้าถึงปฐมมรรค และก็เห็นกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม ให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงที่จะได้แนะนำกันต่อไปนะ

 


                เราก็ทำใจของเราให้สบาย ๆ ทำใจให้สบาย ๆ ให้ผ่อนคลายให้หมด กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย หรือโตเท่ากับแก้วตาของเราก็ได้ ท่านที่มีดวงแก้วมณีโชติรส จะนึกถึงดวงแก้วมณีโชติรสก็ได้ กำหนดให้ดีนะ กําหนดคือการนึก นึกสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ ให้เห็นคล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง และให้มันต่อเนื่องกันไป จำคำนี้เอาไว้ให้ดีนะ คือนึกสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ นึกถึงดวงแก้ว นึกตรงฐานที่ ๗ ตรงฐานที่ ๗ ว่าตรงนี้มีดวงแก้วใส ๆ คล้ายกับเพชร กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย เกิดขึ้นอยู่ที่ตรงนี้ เป็นดวงใส กลมรอบตัว ใสคล้ายกับเพชร โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย นึกให้ดีนะ 

 


                นึกตรงฐานที่ ๗ ตรงนั้นน่ะ ให้ชัดเจนคล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไร ซักเรื่องหนึ่ง ที่ง่าย ๆ โดยไม่ได้ใช้ความพยายามในการนึกคิด นึกสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจของเรา เบา ๆ คิดอย่างสบาย ๆ ให้ใจเย็น ๆ และให้มันต่อเนื่องกันไป อย่าให้ขาดตอน เป็นดวงแก้วที่ใส กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย อยู่ตรงฐานที่ ๗ ถ้าใครกำหนดฐานที่ ๗ ไม่ได้ จะเริ่มต้นจากฐานที่ ๑ ก็ได้ เริ่มต้นจากฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก พอชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๒ ที่หัวตา ชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ ชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๔ เพดานปาก ชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๖ ในระดับเดียวสะดือ ชัดเจนดีแล้วก็เลื่อนถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ อย่างนี้ก็ได้ สำหรับท่านที่กำหนดฐานที่ ๗ ยังไม่ได้ จะเลื่อนขึ้นลงอย่างนี้ก็ได้

 


                 หยุดนิ่งให้ดี ค่อย ๆ ประคับประคองให้ดี ที่ศูนย์กลางกายอยู่ที่ตรงนี้ พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนา ให้เสียงคำภาวนาดังออกมา จากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ตรงฐานที่ ๗ ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ตรงฐานที่ ๗ แล้วก็ภาวนาในใจของเราเบา ๆ พร้อมกับนึกคิดถึงดวงแก้ว ว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เราภาวนา เราจะต้องไม่ลืมนึกถึงความใสของดวงแก้ว นึกถึงขนาดของดวงแก้ว อยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ จะต้องให้ควบคู่กันไปอย่างเนี้ย เราจะภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุด เห็นดวงแก้วใส ๆ

 


                ถ้าใจหยุดเห็นดวงแก้วใส ๆ เราก็ตรึกนึกถึงแต่ดวงแก้ว ทิ้งคำภาวนาไปเลย นึกตรึกถึงความใสของดวงแก้ว แล้วก็หยุดเข้าไปในกลางดวงแก้ว ทำอย่างนี้นะ นี่คือเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกายภายในตัว เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนที่มาใหม่ ให้ตั้งอกตั้งใจทำอย่างที่ได้แนะนำเอาไว้นั้นน่ะ เอาล่ะ ต่อจากนี้ไปขอให้ทุกคน ต่างคนต่างทำไปเงียบ ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงดวงแก้วใส ๆ กันทุก ๆ คน กล่าวคำบูชาเสร็จก็นั่งเข้าที่อีกครั้งหนึ่งนะ นั่งเข้าที่ขัดสมาธิ เหมือนเมื่อสักครู่นี้ แล้วเราก็หลับตาเบา ๆ ทุก ๆ คน บางท่านที่มาใหม่ก็ดีนะ หลับตาไม่พูดไม่คุยกันนะจ๊ะ ตั้งใจให้ดี 

 

        
                ตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญมาก เราก็หลับตาของเราเบา ๆ เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตอนนี้ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังนะ วางใจของเราเฉย ๆ ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ปล่อยใจของเราให้ว่าง ๆ สบาย ๆ ท่านที่ยังไม่เห็นดวงธรรมก็วางใจนิ่งเฉย ๆ ถ้าเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ให้ตรึกอยู่ที่กลางดวงใส ๆ อยู่ตรงนั้นแหละ วางนิ่ง ๆ ให้หยุดกับนิ่ง หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง เฉย ท่านที่เห็นกายในกาย เห็นกายตัวเอง ให้เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายภายใน กายมนุษย์ละเอียด ท่านที่เห็นกายไหนก็ตาม เห็นกายทิพย์ก็หยุดในกลางกายทิพย์ เห็นกายพรหมก็หยุดอยู่ในกลางกายพรหม เห็นกายอรูปพรหม ก็หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ถึงกายธรรมก็หยุดอยู่ในศูนย์กลางของกายธรรม ท่านถึงกายไหนก็หยุดตรงกายนั้น ถึงดวงก็หยุดอยู่ที่ กลางดวง ยังไม่เห็นอะไรเลยก็วางใจนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ฐานที่ ๗ ปล่อยอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ทำใจให้นิ่งๆ นะ

 


                  เมื่อสักครู่เราได้กล่าวคำบูชาดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว แด่บรมพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และก็ในอนาคต เราได้กล่าวนอบน้อมไปพร้อม ๆ กัน ทุก ๆ คนแล้ว ต่อจากนี้ก็จะเป็นเรื่องการนำเอาของละเอียด เครื่องไทยธรรมที่ละเอียดไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เราจะต้องทำความเข้าใจซะก่อนว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรม เข้าถึงธรรมกายถึงกายธรรมของท่าน กายธรรมอรหันต์ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าตัก ๒๐ วา อยู่ที่ศูนย์กลางกาย โดยผ่านกายต่าง ๆ ของท่านไปน่ะ คือเมื่อเราเข้าถึงกายธรรมแล้วเนี่ยะ ท่านมาพิจารณามองย้อนหลัง ว่าภพทั้งสาม กามภพ รูปภพ หรือ อรูปภพ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลาย ไม่คงที่ เที่ยงแท้ถาวร 

 


                ท่านมองเห็นทั้งหมด ว่าทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นสาระ เป็นแก่นสารเลย จะมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นพรหมก็ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอรูปพรหมก็ดี อยู่ในภพทั้งสามนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นสารคงที่ เป็นตัวเป็นตนได้เสวยสุข ได้เต็มที่ก็ไม่มีเลย มองดูมีแต่สุขปนทุกข์ สุก ๆ ดิบ ๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์ สูงต่ำแค่ไหนก็ตาม เมื่อใจยังถูกกิเลสครอบงำอยู่ ความทะยานอยากก็แล่นไป ทำให้แสวงหาไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่เคยทำให้ใจนั้นเต็มเปี่ยมเลย มีแต่ความหิว ทุรนทุราย อยากจะได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ เป็นอยู่อย่างนี้แหละ มัวแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลาย เป็นของธรรมดาอยู่ในสิ่งนั้น มีการแตก การสลายเป็นของธรรมดา เมื่อได้มาแล้วมันก็นำความทุกข์ ความสุข ความกังวล มาสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยติดตามแก้ไขให้หมดสิ่งนี้ ความทุกข์ จะไปเกิดเป็นชาวสวรรค์ก็ดีมันก็ยังไม่มั่นคง เป็นทิพย์ เป็นพรหม ไม่มั่นคง

 


                 จนกระทั่งมาถึงธรรมกายนี่แหละ เข้าถึงธรรมกาย ถอดกายต่าง ๆ ออกหมด ที่ถอดกายออกได้เพราะว่าปล่อยวางกายเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นกายเหล่านั้น ว่าเป็นจริงเป็นจัง เป็นสาระเป็นแก่นสาร เมื่อปล่อยวางใจก็ไม่ติด เหมือนเราทิ้งอะไร เราวาง เราทิ้งอะไร สิ่งนั้นก็หลุดไป ใจถ้าปล่อยวางขันธ์ ๕ ของกายมนุษย์ มันก็หลุดจากกายมนุษย์ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ของกายทิพย์ มันก็หลุดจากกายทิพย์ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ของกายพรหม ก็หลุดจากกายพรหม ปล่อยวางขันธ์ ๕ ของกายอรูปพรหม ก็หลุดออกจากกายอรูปพรหม หลุดแล้วก็ติดอยู่ในกายธรรม ติดอยู่ในธรรมขันธ์ของกายธรรมน่ะ ติดหมดเลย กายนอกนั้นปล่อยวางหมด เพราะว่าไม่มีสาระไม่มีแก่นสารอะไร สิ่งที่เนื่องด้วยกายต่าง ๆ ของกายมนุษย์ก็ดี กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต จะมีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครอง ที่เป็นทรัพย์ เป็นสิ่งที่คิดว่าทำให้เกิดความสุขที่เนื่องด้วยกายต่าง ๆ เหล่านั้นน่ะ เท่าไหร่ก็ปล่อยวางหมด 

 


                พอปล่อย จิตก็แล่นถึงกายธรรม พอถึงกายธรรมได้ ที่เรียนให้ทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า กายธรรมนี้เป็นทั้งผู้รู้ เป็นทั้งผู้ตื่น เป็นทั้งผู้เบิกบานแล้ว ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้สมบูรณ์ที่สุด มีความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ไม่มีขาดตกบกพร่องเลยเนี่ย มีความคงที่ เที่ยงแท้ถาวร ไม่แปรปรวน แล้วก็ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเนี่ย เสวยสุขอยู่อย่างเดียว เขาเรียกว่า เอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียวล้วน ๆ เป็นสุขที่เสรี เพราะไม่มีกิเลสอาสวะเข้าไปครอบงำ ทำให้จิตหิว จิตมืด จิตร้อนจิตมืด หมดสิ้นไปหมดเลย เป็นจิตที่มีความเย็นอยู่ตลอด เป็นจิตที่มีความสว่าง ดับกระหายได้ ไม่มีความหิว นั่นคือจิตของกายธรรม พอถึงอย่างนี้ เห็นของจริงอย่างนี้เข้า ใจก็ติดอยู่ตรงนี้ เห็นของจริงน่ะ เอาติดอยู่ 

 


                 เมื่อท่านดับขันธปรินิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพาน ก็ถอดกายมนุษย์ออก ทุก ๆ กายออกหมด เอากายธรรมเข้าสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นในอายตนนิพพานจึงมีแต่ธรรมกายของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลายเต็มไปหมดเลย หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ งามไม่มีที่ติ ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ ครบบริบูรณ์หมด นั่งเข้านิโรธสมาบัติ เสวยวิมุตติสุข อยู่ในอายตนนิพพาน ในอายตนนิพพานนะ จึงมีพระพุทธเจ้า นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔ ถ้าเราเข้าถึงธรรมกาย ตัดกิเลสอาสวะได้ ก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน อายตนนิพพานก็จะดึงดูดไปอยู่ที่เดียวกันอย่างนั้น แล้วก็ไปเสวยวิมุตติสุข เป็นสุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย แม้แต่นิดเดียว 

 


                วันนี้ที่เราจะบูชาข้าวพระ นำเครื่องไทยธรรม ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว ขึ้นไปถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน แล้วเราก็จะต้องไปโดยอาศัยธรรมกาย กายธรรมที่อยู่ในตัวเนี่ยน้อมนำเครื่องไทยธรรม ขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชา เหมือนเราน้อมนำของหยาบมาถวายแด่พุทธปฏิมากร ตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คล้ายกันอย่างนั้น แต่นี่ของละเอียดไปถวาย น้อมกันขึ้นไป เมื่อของละเอียดเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในอายตนนิพพาน อายตนะนั้นใสเป็นแก้ว คำว่าแก้วในที่นี้ ไม่ใช่แก้วทึบ ๆ เป็นแก้วที่มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เป็นแท่งทึบอย่างที่เราเข้าใจ มีความใส มีความละเอียดอยู่อย่างนั้นน่ะ  เครื่องไทยธรรมก็จะละเอียดตามกันไป พอ ๆ กันไป ถ้าเราได้น้อมนำถวายอย่างนี้ได้นะ บุญกุศลที่จะเกิดขึ้นกับพวกเรานั้นน่ะ

    


                มันเป็นมหากุศล มันเป็นกุศลใหญ่ ที่เป็นไปเพื่อความสุขตลอดทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน และสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก รู้ยาก เห็นยาก และก็ทำได้ยาก การที่เราจะเข้าถึงธรรมกายในอายตนนิพพานได้นั้นน่ะ เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ ดังนั้นเราจึงอาศัยกายธรรมของคุณยาย คุณยายจันทร์ท่านจะได้คุมเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ มีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว รวมขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชา และพวกเราทุกคนก็น้อมใจขึ้นไป น้อมใจขึ้นไปพอน้อมใจขึ้นไป คุณยายก็คุมกายละเอียดทั้งหมดเหล่านี้ไปถวายได้หมด บุญกุศลที่เกิดขึ้น ก็จะหลั่งไหลผ่านเข้ามาหยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายของพวกเราทุก ๆ คน เราทำอย่างนี้ซักครั้งหนึ่งเนี่ย อานิสงส์จะได้มากกว่า เราทำอย่างธรรมดาเนี่ย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียวเนี่ย ตลอดชีวิตเป็นพันชาติ ก็ไม่เท่าขนาดนี้ 

 


                ไอ้ที่พูดอย่างนี้เนี่ย เอาอะไรมาเป็นหลัก ก็มองดูที่ธรรมกายนั่นแหละ คนที่ทำบุญแบบธรรมดา เวลาบุญเกิดขึ้นน่ะ มันเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายไม่มาก นิดหน่อยเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่รู้หลัก ไม่รู้หนทางที่จะเข้าไปถึงได้ บุญที่เกิดขึ้นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หก ๆ หล่น ๆ กันไปอย่างนั้น ส่วนบุญนี้คนที่เค้าถอดกายต่าง ๆ จนกระทั่งเข้าไปถึงกายธรรม นำเข้าไปถวายเป็นพุทธบูชาได้ อาศัยกายธรรมอันนั้นแหละ ถึงจะได้บุญเต็มเปี่ยมเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นทำบุญด้วยกายธรรมกับทำบุญด้วยกายมนุษย์เนี่ย บุญจึงได้แตกต่างกันออกไปตามความบริสุทธิ์ของใจเรา นี่ให้เข้าใจกันอย่างนี้นะ เมื่อเข้าใจกันอย่างนี้นะ ต่อจากนี้ไป ขอให้ทุกคนหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใครถึงกายไหนก็ให้หยุดอยู่ที่กายนั้น ถึงดวงไหนหยุดอยู่ดวงนั้น ยังไม่เห็นดวงก็ให้หยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ เฉย ๆ ทำใจให้สงบ เมื่อใจสงบผ่องใสเบาสบายแล้ว 

 


                คุณยายก็น้อมขึ้นไปหมด พวกเราก็น้อมใจของเรา น้อมเครื่องไทยธรรม อาหารหวานคาว ที่ศูนย์กลางกายกระดิกจิตของเรานึกในใจน่ะ น้อมขึ้นไปถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ขอได้ทรงโปรดได้รับเครื่องไทยธรรม อันเป็นบรรณาการของคนยาก ของพวกเราทั้งหลายเนี่ย เพื่อประโยชน์และความสุข เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่อให้ได้บรรลุผลบุญในปัจจุบันนี้ อันเป็นเหตุแห่งความสุขในปัจจุบันเนี่ย ด้วยกันทุก ๆ คน แล้วก็น้อมกันไปอย่างนั้นนะ พอเราน้อมขึ้นไปถวาย เครื่องไทยธรรม แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขาดจากใจ ปุญญาภิสันธาร บุญกุศลที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายก็เป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติเกิดขึ้นเป็นดวงใสสว่าง ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของพวกเราทุก ๆ คน ติดกันหมดทุกกาย ติดที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรม ติดหมดทุกกาย 

 


                บุญกุศลที่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงนี้น่ะ จะเป็นชนกกรรมนำเราไปเกิดในภพภูมิที่ดีที่ปราณีตไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนนึกน้อมจิต หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายนะ นึกถึงบุญที่เราได้น้อมถวายเครื่องไทยธรรมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย จะมีอานิสงส์มากน้อยเพียงใดก็ดี เราก็อธิษฐานจิตนึกถึงบุญนี้ ให้เรามีความสุขมีความเจริญ ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้ได้เข้าถึงพระธรรมกาย และให้ได้ผลบุญในปัจจุบันนี้ ให้เรามีความสุขในปัจจุบัน ท่านที่ทำธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่อง กำไรงาม ท่านที่ทำราชการก็ให้ผู้หลักผู้ใหญ่เมตตาปราณี สงสารรักใคร่เอ็นดู ช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนให้โครงงานนี้บรรลุเป้าหมาย ไปสูงสุดในสายนั้น ท่านที่ศึกษาเล่าเรียนก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา ให้อธิษฐานอย่างนั้นนะ แล้วก็อธิษฐานรวมใหญ่ให้ประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของเราเนี่ย มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ ปราศจากศึกเสือเหนือใต้ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เราก็อธิษฐานจิตกันไปอย่างนี้นะทุก ๆ คน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017576400438944 Mins