สัมมาสมาธิ

วันที่ 18 พค. พ.ศ.2567

180567b01.jpg


สัมมาสมาธิ
๓ ธันวาคม ๒๕๓๘
พระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 


                เมื่อเรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ให้ทุกคนตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ทุกคนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาส เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คนนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอก็ให้ลงมือปฏิบัติธรรมได้เลย ส่วนท่านที่มาใหม่ ยังไม่เคยปฏิบัติ ก็ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ คล้ายกับเรานอนหลับทุก ๆ คนนะจ๊ะ ทำให้สบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน ขยับเนื้อขยับตัวให้ดีนะ

 


                ท่านั่งที่แนะนำไปนี้เป็นท่านั่งที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านถอดแบบออกมาจากพระธรรมกายภายใน เพราะฉะนั้นศึกษาเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ เมื่อเราเข้าใจแล้ว เวลากลับไปที่บ้าน จะได้นำวิธีนั่งที่ถูกต้องนี้ไปทำต่อ แต่ถ้านั่งท่านี้ใหม่ ๆ ยังรู้สึกไม่ถนัด จะนั่งขัดสมาสชั้นเดียวก็ได้ ให้อยู่ในอิริยาบถที่มีความรู้สึกว่าสบาย หลับตาก็เช่นเดียวกัน ต้องหลับพอสบาย ๆ คล้ายกับเรานอนหลับให้สังเกตเวลานอนหลับ เราไม่ได้บีบหัวตา ไม่ได้กดลูกนัยน์ตา หลับตาเฉย ๆ การทำสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน หลับเฉย ๆ พอหลับตาแล้วก็ให้ทําใจ

 


                ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของการปรับใจ ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่าให้มีเครื่องกังวลใจอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงานหรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลดปล่อยวางไปชั่วขณะ ที่เราจะเจริญภาวนาทำใจให้เข้าถึงสมาธิภายใน ปลดปล่อยวาง ทำใจให้ว่าง ๆ นะจ๊ะ ให้สบาย ท่านที่มาใหม่ก็ให้สังเกตดู ว่าท่านั่งเราสบายไม๊ ใจเราปลอดโปร่งไม่มีเครื่องกังวลใจแล้วหรือยัง ให้สังเกตดูนะ ให้สังเกตตรงนี้ให้ดี เพราะการเข้าถึงสมาธินั่นน่ะ กายและใจนั้นต้องสบาย กายสบาย ใจปลอดโปร่ง ถึงจะเข้าถึงสมาธิได้

 


                สัมมาสมาธินี่มีอานิสงส์ใหญ่ พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า อานิสงส์ของการทำสัมมาสมาธิ จะได้รับประโยชน์อย่างน้อยก็ ๕ ประการ คือ
                      ประการแรกได้ความสุขในปัจจุบัน
                      ประการที่สองก็ได้ฌานสมาบัติ
                      ประการที่สามได้วิปัสสนา 
                      ประการที่สี่ ก็ได้นิโรธสมาบัติ
                      ประการที่ห้าได้ภพอันวิเศษ 

 


                ห้าอย่างนี้เป็นประโยชน์ต่อ ที่เกิดจากการทำสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือการทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายในนั่นเอง ให้ใจหยุดนิ่งถูกส่วน ใจที่แวบไปแวบน่ะ เอานำกลับเข้ามาสู่ภายใน ให้หยุดให้นิ่ง ให้ใจหยุดนิ่ง แล้วเราก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ในเบื้องต้น เข้าถึงความสว่าง เมื่อใจบริสุทธิ์แล้วมันจะสว่าง มันจะใส และความสว่างนั้นเห็นได้ สัมผัสได้ มีความใส และก็มีความสุขภายใน เป็นความใส ความสว่างและความสุขที่มาพร้อม ๆ กันเมื่อใจเราหยุดนิ่งดีแล้ว เพราะฉะนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ข้อแรก ที่เราจะได้รับจากการทำใจให้หยุดนิ่งหรือสัมมาสมาธินี้ ก็คือ ความสุขที่แท้จริง ตั้งแต่สุขเล็กน้อย สุขพอประมาณกระทั่งถึงความสุขอย่างยิ่ง ความสุขก็แปลว่าความสบายกายสบายใจ ใจของเราจะมีความรู้สึกว่า ปลอดโปร่งโล่ง เบาสบาย อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้ไป นาน ๆ มีความปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย อยากจะอยู่กับตรงนี้ไปนาน ๆ ความสุขนี้เป็นรากฐานของชีวิตทั้งมวล ของชีวิตทุกระดับ ความสุขคือสิ่งที่ทุกชีวิตปรารถนา 

 


                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ สุขกามานิ ภูตานิ สัตว์โลกทั้งหลายมีความปรารถนาอย่างยิ่ง ก็คือความสุข สุขจากการได้เห็น สุขจากการได้ยิน สุขจากการได้ดมกลิ่น สุขจากการได้ลิ้มรส สุขจากการได้สัมผัส สุขจากการนึกคิดต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นความสุขที่ไหลผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ นั่นแหละ ที่อยากเห็นภาพสวย ๆ งามๆ ดูแล้วสบายใจ สบายตา สบายใจ อยากได้ยินเสียงเพราะ ๆ ฟังแล้วระรื่นหู สบายหูสบายใจ อยากได้กลิ่นที่หอม ๆ ดมแล้วก็ชื่นอกชื่นใจ สบายใจ อยากได้ลิ้มรสอาหารอร่อย รสชาติอร่อย ดื่มเข้าไปแล้วก็สบายใจ อยากได้สัมผัสของที่นิ่มนวล นุ่มนิ่ม นุ่มนวล สัมผัสแล้วสบายกาย สบายใจ อยากนึกคิดที่คล่องแคล่วปลอดโปร่ง นึกคิดอย่างนั้นแล้วก็สบายอกสบายใจ นี่คือความปรารถนาของมนุษย์ แต่รวมสรุปแล้วก็จะไปลงอยู่ที่ใจ จะเห็นก็ดี ได้ยินได้ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส นึกคิด ก็ไปรวมลงที่ใจ

 


                 เพราะฉะนั้นจะมีคำที่เราเคยได้ยินว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ใจเป็นที่รวมของทุกสิ่ง เหมือนแผ่นดิน ก็เป็นที่รวมของต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา ทะเลเป็นที่รวมของน้ำจากห้วยหนองคลองบึงอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ใจก็เป็นที่รวมของทุกสิ่ง ที่มาจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ มารวมอยู่หมด เป็นที่รวมอยู่เพราะฉะนั้น สิ่งที่มนุษย์ต้องการอย่างแท้จริง ก็คือความสุข แต่ความสุขที่มนุษย์ได้สัมผัสตามรสนิยมเป็นความสุขเพียงเล็กน้อย ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง บางครั้งท่านก็เรียกว่าความเพลิน ๆ ความเพลิน ดูอะไรเพลิน ๆ ไปดูป่าภูเขา ดูชายทะเล ดูภาพสวย ๆ ดูเพลิน ๆ ไปแล้วน่ะ ให้มันลืมเรื่องราวของความทุกข์ไปชั่วคราว กลับมาแล้วก็ลืมหมด แถมเหนื่อยเสียอีก นั่นยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง 

 


                จะลิ้มรสอะไรก็ตามเดี๋ยวนี้มีรสนิยมใหม่ เขาดื่มไวน์กัน วายวอด เขาจะเรียกไวน์อะไรก็ไม่ทราบ หลวงพ่อบอกมันชื่อวายวอด ให้มันมึน ๆ ทึม ๆ ลืมเรื่องราวอะไรน่ะ ไปชั่วคราวสนุกสนานกันไปน่ะ แต่ถ้าหากเรามีประสบการณ์ภายในนะจ๊ะ พอใจเราหยุดนิ่งอยู่ภายในกลางกายของเราเบี้ยเราจะพบอารมณ์ชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเจออารมณ์ของใจที่โล่งโปร่งเบาสบาย ใจขยายกว้างขวางไปอย่างไม่มีขอบเขต เป็นอารมณ์ที่แตกต่างจากที่เคยเจอไม่เหนื่อยไม่เพลีย ไม่มึน ไม่ซึม ไม่ทึม ๆ ไม่มีตื่นเต้น ไม่มีได้มีเสีย เหมือนเล่นการพนันน่ะ ตื่นเต้นมีได้มีเสีย แต่นี้เป็นอารมณ์ที่ปราณีตละเอียด แตกต่างกันทีเดียว หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข นั่งนอน ยืนเดิน ก็เป็นสุข อารมณ์ดี อารมณ์สบายกันทั้งวันทั้งคืนจิตใจเบิกบานแช่มชื่น นี้คือความสุข ซึ่งเป็นอานิสงส์หรือประโยชน์ข้อแรกที่จะได้จากการทำสัมมาสมาธิ 

 


                เวลาใจเป็นสุขแล้วนี่ จะคิดอะไรมันก็คล่อง จะพูดจาจะทำอะไรมันก็สะดวกสบายเพราะว่าแหล่งที่มาของความคิดภายในน่ะ มันบริสุทธิ์ สะอาด เต็มเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา ความสุข สบาย ความบริสุทธิ์ มันกลั่นให้ความคิดของเราบริสุทธิ์ คิดแต่เรื่องที่จะดี ๆ พูดก็ดี ๆ ทำก็ดี ๆ ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นมีความสุข สบาย สบายตลอดเลย นี่เป็นประโยชน์ของการทำสมาธิ สัมมาสมาธิ ซึ่งใคร ๆ ก็ทำได้ ถ้าอยากได้ความสุขชนิดนี้ และอารมณ์ชนิดนี้เป็นทุกสิ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ถ้าได้อารมณ์ตรงนี้ ใจที่เป็นสมาธิ มีอารมณ์ปลอดโปร่งเบา สบาย มีความสุขภายในเนี่ย จะเรียนรู้ก็ง่าย จำก็คล่อง สอบก็สะดวก รู้แจ้งแทงตลอดในความรู้ของครูบาอาจารย์ 

 


                จะเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็จะครองเรือนด้วยสันติสุข ขจัดข้อขัดแย้งภายในที่มีอยู่กันในครัวเรือน จะทำงานก็จะสะดวก มีบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร จะนึกคิดอะไรก็ทะลุปรุโปร่งไปหมด ปัญหาอะไรมันก็แจ่มแจ้ง เพราะใจมันใส ใสมันสบาย จะทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าใจเป็นสมาธิ ใส สว่าง บริสุทธิ์ มีความสุขภายในเท่ากับเรา ความสำเร็จเอาไว้ถึงล้านเปอร์เซ็นต์ทีเดียว และจะแตกต่างจากที่เราเคยเจอมาก่อน นี่คือความสุขที่เราจะได้รับเป็นเบื้องต้น เป็นอานิสงส์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะได้จากสัมมาสมาธิ ถ้าใจเราหยุดแนบแน่นเข้าไปเรื่อย ละเอียดลงไปตามลำดับ 

 


                ใจหยุดนิ่งสนิทแนบแน่นเป็นอัปนาสมาธิ ไม่ว่าเราจะนั่ง นอน ยืน เดิน เห็นดวงธรรมใสแจ่ม เห็นกายภายในใสแจ่ม ติดตลอดเวลา ไม่ว่าจะหกคะเมนตีลังกายังไงก็ยังเห็นกายภายใน ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหมอยู่ภายในตลอดเวลา อย่างนี้เขาเรียกว่าได้ฌานสมาบัติ กายมนุษย์ละเอียด เป็นปฐมฌาน กายทิพย์ก็ทุติยฌาน พรหมก็ตติยฌาน อรูปพรหมก็จตุถฌาน เรื่อยไปถึงอรูปสมาบัติ เห็นชัดใสแจ่ม เราจะเห็นกายภายในซ้อนอยู่ภายใน เข้าถึงเป็นอันเดียวกับกายภายในทีเดียว การที่ได้ฌานสมาบัตินี้ นอกจากได้ความสุขภายในแล้วเนี่ย ยังได้ความบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้น ใจเราจะเกลี้ยงเกลา จะมีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น และก็มีความรู้แจ้งเพิ่มขึ้น เพราะว่าใจเราใส ใจเราจะสว่างดวงตามนุษย์นี้มีขอบเขตจำกัดของการเห็น จะเห็นวัตถุอะไรก็แล้วแต่ จะเห็นอย่างจำกัด แต่ว่าเมื่อไรที่เอาแว่นขยายมาส่อง เราก็จะเห็นได้มากขึ้น แตกต่างจากที่เราเห็นด้วยตามนุษย์ธรรมดา ยิ่งแว่นขยายนั้นมีกำลังขยายมาก ๆ เราก็จะยิ่งเห็นได้มาก เห็นได้มากแค่ไหน ก็มีความรู้ได้กว้างขวางขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น 

 


                การเข้าถึงฌานสมาบัติภายใน ถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ก็เหมือนเรามีเลนส์ของใจ ที่ซ้อนกันอยู่ภายในกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม เป็นเลนส์ใจที่ซ้อนกัน ทำให้เรามีกำลังขยาย มองเห็นเรื่องราวของชีวิตเราไปตามความเป็นจริง ทั้งในอดีตก็ดี ของเราก็ดี อนาคต ปัจจุบันของผู้อื่นก็ดี แทงทะลุหมดไปถึงตามกำลังของความบริสุทธิ์ ของกำลังขยายของเลนส์ใจบริสุทธิ์ นี่เราจะได้ฌานสมาบัติบังเกิดขึ้น เป็นอานิสงส์หรือประโยชน์ข้อที่สอง ที่เราจะได้จากการทำสัมมาสมาธิ ประโยชน์ข้อที่สามก็คือ ได้วิปัสสนา วิปัสสนานี้มันแปลว่าเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ เห็นได้แตกต่างจากดวงตาธรรมดา เห็นไปตามความเป็นจริง

 


                อย่างตามนุษย์เรานี่เห็นอะไรนี่มันก็ถูกบ้างผิดบ้าง เช่นหลวงพ่อเคยยกตัวอย่าง เกี่ยวกับเชือกที่เปียกน้ำ ถ้าอยู่ที่ในที่สลัวนี่เรามองเห็นอะไรยาว ๆ จะเข้าใจผิดว่าเป็นงูได้ แต่เมื่อไรเราถึงออกมาสู่ที่แจ้ง สู่ที่สว่าง ก็จะเห็นได้ชัดเจน ว่านี้อ้อมันเชือกเปียกน้ำไม่ใช่งู ความสะดุ้งหวาดกลัวอะไรต่าง ๆ มันก็หายไป เพราะเห็นไปตามความเป็นจริง วิปัสสนาก็แปลว่าเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ เห็นได้แตกต่างจากตามนุษย์ ตาของกายทิพย์ ตาของพรหม ตาของอรูปพรหม แตกต่างจากที่เค้าเห็นกันอยู่ เมื่อเค้าเห็นไปถึงไหน ความรู้ของเค้าก็ไปถึงที่นั่น เพราะความรู้ของเค้ามันยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการเห็นมันยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่วิเศษ ยังไม่แจ้ง ยังไม่ต่าง เพราะฉะนั้นเห็นถึงไหน รู้ถึงนั่น รู้ถึงไหนก็เข้าใจว่ายังงั้น ว่ามันสมบูรณ์ จริง ๆ แล้ว ยังมีการรู้ความเห็นที่แตกต่างจากนี้ที่สมบูรณ์กว่า คือการรู้เห็นได้ด้วยธรรมกายด้วยธรรมจักขุ 

 


                ธรรมจักขุ คือ ดวงตาธรรมของพระธรรมกาย กายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว กายของสรณะที่พึ่งภายในนั้นน่ะ เห็นแตกต่างจากดวงตาต่าง ๆ แล้วก็มีญาณทัศนะหยั่งรู้ได้กว้างไกลกว่า ดวงตาที่สรรพสัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งสาม จะเป็นตาของมนุษย์ก็ดี ตาทิพย์ก็ดี ตาพรหมหรืออรูปพรหมก็ดี มันจะเห็นได้แตกต่างกว้างไกลกันออกไป เพราะดวงตานั้นเป็นดวงตาที่เห็นได้รอบตัว เห็นได้ทุกทิศทุกทาง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และก็ในอนาคต เห็นไปตามความเป็นจริงอย่างแท้จริงและเป็นความจริงของพระอริยเจ้า ไม่ใช่ความจริงของปุถุชนธรรมดา แต่ความเห็นเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราจะได้เห็น เห็นด้วยธรรมจักขุ รู้ด้วยญาณทัศนะของธรรมกาย เห็นปกติเราก็เห็นเพียงสั้น ๆ แคบ ๆ เช่น เราเห็นว่าเราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ แล้วก็ไปสิ้นสุดที่เชิงตะกอน บางพวกเห็นอยู่แค่นี้จริง ๆ เห็นสั้น ๆ พวกที่เห็นไกลกว่านี้ ก็ยังเห็นว่า เอ้ย เกิดไปแล้วเนี่ย ไปรวมอยู่ในสถานที่ที่มีอายุยาวนาน จนกระทั่งเข้าใจว่าเป็นอมตะเป็นนิรันดรอย่างเช่น เห็นว่าสวรรค์นี้เป็นนิรันดร เห็นพรหมเป็นนิรันดร เห็นพรหมเป็นผู้สร้างในสรรพสิ่งทั้งหลาย 

 


                แต่ธรรมจักขุเห็นเกินไปกว่านั้นว่าไม่ใช่ ไอ้นั่นมันชั่วคราว แต่ว่ายาวนานเท่านั้นเอง อยู่ตรงนั้นยังชั่วคราว แต่ว่าระยะเวลามันยาวนาน นานจนกำหนดไม่ได้ด้วยความรู้แจ้งเรายังไม่พอ แต่ธรรมจักขุของธรรมกายนั้น รู้แจ้งได้ไกลกว่านั้นว่าตรงนั้นชั่วคราว แต่ตรงที่ท่านกำลังอยู่นี้ถาวร เห็นชั่วคราวกะถาวร ได้อย่างชัดเจนทีเดียว เพราะฉะนั้นคำว่าวิปัสสนานี้ จะบังเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเข้าถึงธรรมกาย ถึงธรรมกายภายใน ถึงพระธรรมกาย พระในตัว รู้แจ้งเห็นแจ้งจึงจะเกิด นี่คือ ได้วิปัสสนา เป็นประโยชน์และอานิสงส์ข้อที่สาม ข้อถัดไปกว่านั้นก็เป็นเรื่องของพระอริยเจ้า คือการได้เป็นพระโสดาบัน ได้เป็นพระสกิทาคามี ได้เป็นพระอนาคามี 

 


                จนกระทั่งได้เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านจะเข้านิโรธสมาบัติได้ เพราะใจท่านไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้ง กิเลส ไม่หุ้มห่อ ไม่มีอะไรผูกพัน ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรต่าง ๆ ละลายหายสูญสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปหมดแล้ว มีแต่กายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสบริสุทธิ์ แจ่มกระจ่างตลอดวันตลอดคืนตลอดเวลา ใจไปเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับท่าน จึงเข้านิโรธสมาบัติได้ นิโรธแปลว่า ดับได้ แปลว่าหยุด หยุดก็ได้ นิโรธะ หยุด คือใจหยุดนิ่งอย่างดีแล้ว หยุดจากความอยากทั้งมวล เมื่อหยุดก็สว่าง เมื่อสว่างก็เห็น เมื่อเห็นก็รู้ พอรู้ก็หลุด ใจหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บริสุทธิ์สว่าง เข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน นี่เป็นอานิสงส์หรือประโยชน์ข้อที่สี่

 


                ส่วนที่ห้า คือ ภพอันวิเศษก็ได้แก่ อายตนนิพพาน เป็นภพที่วิเศษกว่าภพใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ในอายตนนิพพานมีแต่พระธรรมกายล้วน ๆ มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะที่เข้าบังคับบัญชาครอบงำอยู่ มีแต่ผู้รู้อย่างนี้ทั้งนั้น บริสุทธิ์ล้วน ๆ ธรรมกายล้วน ๆ ปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน ในภพอันวิเศษ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยห้าอย่างนี้คืออานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในมรรคแปดประการ และเป็นประการสุดท้ายที่สำคัญ เรียงกันตั้งแต่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเรื่อยมาเลย และก็มาลงสัมมาสมาธิตรงนี้แหละ สัมมาสมาธิตรงนี้แหละ เป็นจุดที่จะเข้าถึงอานิสงส์ห้าอย่าง ดังนั้นให้ทุกคนตั้งใจทำใจให้เป็นสัมมาสมาธิ ทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายในให้ได้นะจ๊ะ วิธีการทำสมาธินั้นน่ะไม่ยากอะไร วิธีการทำให้ใจเข้าถึงสมาธินั้นไม่ยาก เป็นวิธีง่าย ๆ เพราะปกติเราก็มีสมาธิกันอยู่แล้ว คือใจจรดจรดจ่อไปในเรื่องราวต่าง ๆ แต่ว่ายังไม่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ได้อานิสงส์ห้าอย่าง 

 


                แต่ถ้าสัมมาสมาธินั้นคือการนำใจกลับเข้ามาสู่ที่ตั้งภายในใจ ใจ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านค้นพบว่าประกอบไปด้วย ๔ อย่าง คือ ความเห็นอย่างหนึ่ง ความจำอย่างหนึ่ง ความคิดอย่างหนึ่ง ความรู้อย่างหนึ่ง สี่อย่างรวมหยุด รวมเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ เอาทั้ง ๔ มารวมกันเรียกว่าใจ แต่ถ้าพูดอย่างนี้นี่ในแง่ของการปฏิบัติแล้วเนี่ย เราจะไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยรู้เรื่องกัน เอาเป็นว่าเอาความนึกคิดทั้งมวลน่ะ มาทำความรู้สึกอยู่ภายในตัวของเรา ตรงฐานที่ตั้งของใจ ตรงฐานที่ตั้งของใจของเรา เมื่อพูดถึงฐานที่ตั้งของใจ เราก็จะต้องศึกษาต่อไป

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ว่าฐานที่ตั้งของใจหรือทางเดินของใจนั้นน่ะ มีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่สองอยู่ที่เพลาตา ที่หัวตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายก็อยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา กึ่งกลางศีรษะ สมมุติกระโหลกศีรษะของเราไม่มีมันสมอง เอามันสองออก เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กึ่งกลางกระโหลกที่ระดับหัวตา ตรงนั้นแหละเรียกว่ากลางกั๊กศีรษะ เป็นฐานที่ ๓ ฐานที่ ๔ อยู่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก 

 


                สมมติปากช่องคอเรากลมเหมือนปากถ้วยแก้วนะจ๊ะ กึ่งกลางปากถ้วยแก้วหรือปากช่องคอ ตรงนั้นแหละฐานที่ ๕ ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้อง กลางกายของเรา ระดับเดียวกับสะดือ สมมติเราเอาเส้นด้ายสองเส้นมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งขึงจากสะดือ ทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวา ทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ฐานที่ ๗ ก็ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือนั้นแหละ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทั้งหมด ๗ ฐานนะจ๊ะ 

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ฐานที่ ๑ ที่ปากช่องจมูก ฐานที่ ๒ หัวตา เพลาตา ฐานที่ ๓ กลางถูกศีรษะ ฐานที่ ๔ เพดานปากฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ กลางท้องกลางกายระดับเดียวกับสะดือ ฐานที่ ๗ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นั่นแหละฐานที่ ๗ เจ็ดฐานนี้เป็นทางเดินไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลก ของตัวเราแหละพูดง่าย ๆ และก็ของทุก ๆ คนด้วย เจ็ดฐานนี้ต้องศึกษาไว้ให้เข้าใจนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ เวลาเรามาเกิดนี่เราเข้าทางฐานที่ ๑ น่ะปากช่องจมูก เรื่อยมาเลย เนี่ยเข้ามาจากปากช่องจมูกของบิดา แล้วมาอยู่กลางกายบิดา ตรงฐานที่ ๗ แล้วก็บังคับบิดาให้คิดถึงมารดา เพื่อที่จะประธาตุธรรมหยาบกัน

 


                 เมื่อประกอบธาตุธรรมหยาบกับมารดา ตกศูนย์เข้าพอดี ก็เดินทางออก กายละเอียดนั้นน่ะ  กายทิพย์นั้นก็เดินทางออก ไปตามฐานตั้งแต่ ๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ เรื่อยไปเลย แล้วก็เข้าสู่ปากช่องจมูกของมารดา ไปตามฐานเช่นเดียวกัน แล้วก็ไปหยุดที่กึ่งกลางกายของมารดา อยู่กลางธาตุธรรมหยาบที่ประกอบกัน มันดูดเข้าหากันเลย ประกอบกันพ่อแม่ลูก พ่อแม่มีธาตุธรรมหยาบ ธาตุหยาบ ๆ ธรรมหล่อเลี้ยงรักษาเอาไว้ ส่วนของลูกนั้นคือกายละเอียดเข้าไปอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็ห่อหุ้มด้วยธาตุหยาบ อยู่กึ่งกลางกายธาตุหยาบพอดี กึ่งกลางธาตุหยาบของบิดามารดาน่ะ นี่เวลาเกิดมากันอย่างนี้นะ 

 


                แล้วก็เจริญเติบโตด้วยอาหารหล่อเลี้ยงของมารดา เรื่อยมาเลย คือเวลาไปเกิด เวลาตัวเราจะตายเนี่ย มันก็ไปสวนทางกัน ตั้งแต่เวลาตาเหลือกค้างชักขึ้นมา เพราะทุกขเวทนาบีบคั้น ก็จะถูกดึงดูดมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ แล้วก็ตกศูนย์ไปฐานที่ ๖ ถอยหลังเรื่อยไปเลย ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ ออกจากฐานปากช่องจมูกของร่ายกายหยาบเราเนี่ย แล้วก็ไปแสวงหาที่เกิดกันต่อไป เพราะฉะนั้นทางเดินทั้ง ๗ ฐานนี้ ท่านที่มาใหม่รู้จักไว้นะจ๊ะ เป็นสิ่งที่สำคัญ ไปเกิดมาเกิดเดินสวนทางกันอย่างนี้นะ 

 


                ทีนี้มีอีกทางหนึ่ง ซึ่งค้นพบโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นทางสายกลางภายใน เพราะถ้าเข้าถึงทางสายกลางภายในตรงนี้แล้ว จะไปสู่อายตนนิพพาน จะหลุดพ้นจากกิเลส จากอาสวะ ที่บังคับบัญชาครอบงำมาตลอด ทำให้มีความทุกข์ทรมาน เวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่างก็ตาม มีทุกข์ทั้งนั้น หรือจะไปเกิดเป็นเปรตอสูรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉานก็เป็นทุกข์ จะไปเกิดเป็นเทวดา พรหม อรูปพรหม ก็ยังเป็นทุกข์ แต่ทุกข์ก็ลดลงไปเรื่อย ๆ ยังไม่พ้นจากทุกข์แล้วก็อยู่ได้ชั่วคราว เดี๋ยวก็วนเวียนกันอีกอยู่อย่างนั้นน่ะ 

 


                เพราะฉะนั้น มีหนทางหนึ่งอยู่ในกลางกายตรงนี้ของทุก ๆ คนเลย คือทางสายกลาง ที่เริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เมื่อใจหยุดกันไปตรงนี้ ถูกส่วนเข้า พอใจหยุดเข้าน่ะ พอถูกส่วนก็จะหลุดพ้นจากหยาบ สิ่งที่เค้าบังคับให้ติดอยู่ที่หยาบ มีความรู้แคบ ๆ ของหยาบ ก็จะเข้าไปถึงดวงธรรม ซึ่งเป็นของละเอียดภายในน่ะ และก็จะไปพบชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชั้น ๆ เข้าไปเลย ซ้อนกันอยู่ภายใน พบกายภายในอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย ว่าไม่น่าเชื่อเลยจะมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ซ้อนกันอยู่ภายใน มีกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหมกายอรูปพรหม และก็กายธรรม กายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เป็นสรณะอย่างแท้จริงนี้ อยู่ภายในเนี่ยเมื่อใจเราหยุดนิ่งสนิทที่กึ่งกลางกาย ตรงฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญน่ะ สำคัญมากนะจ๊ะ 

 


                ตรงฐานที่ ๗ นี่สำคัญ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านว่าเอาไว้อย่างนี้ ถ้าอยากจะไปเกิด ก็เดินนอกออกไป ถ้าอยากจะไม่เกิด ก็เดินในเข้าไป ฟังยากซักนิดหนึ่งนะจ๊ะ ถ้าอยากจะไปเกิด ก็เดินนอกออกไป ก็คือส่งใจไปเรื่องราวต่าง ๆ ข้างนอก ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้มรส สัมผัสถูกต้องอะไรอย่างนั้นน่ะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ส่งไปเรื่อยเปื่อยไปเลย เรื่องราวคน สัตว์ สิ่งของวนเวียนกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ วกวนกันไปเรื่อย หากจะไปเกิด ท่านว่าอย่างนั้นน่ะ ส่งไปข้างนอก ไปเรื่อยไปเลย และถ้าจะไม่เกิด ก็ต้องเดินในเข้ามา เดินเข้าไปข้างใน คือทำใจหยุด

 

 

                ใจหยุดนี่แหละเป็นวิธีเดียว ที่จะหลุดพ้นจากสิ่งที่ครอบงำเรา ครอบงำให้เรามีทุกข์ ให้เรามีอุปสรรค ให้เรามีใจที่ไม่มีคุณภาพ ทำอะไรก็ไม่ได้ตั้งใจเลย มันบังคับเราอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไปทีเดียว นี่บังคับกันเป็นชั้น ๆ เข้าไปเลย ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบก็ถูกบังคับ กายทิพย์ กายพรหม รูปพรหม ถูกบังคับหมดเลย แม้กระทั่งกายธรรมโคตรภู พระโสดา สกิทาคา อนาคา ถูกบังคับหมด ยกเว้นกายธรรมอรหัต กายธรรมพระอรหันต์นั่นแหละ กายธรรมอรหัตนั้นไปถูกบังคับ และจะเข้าถึงได้ จะหลุดพ้นจากสิ่งที่เค้าบังคับได้ หยุดอย่างเดียวเท่านั้น เอาใจเนี่ยหยุดนิ่งอย่างเดียวในกลาง แล้วก็หยุดตรงฐานที่เจ็ดที่เดียวเท่านั้นน่ะ หยุดตรงนั้นน่ะ หยุดนิ่งเลย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย พอถูกส่วนเดี๋ยวมันก็หลุดเข้าไปเรื่อย ๆ หลุดพ้นไป เห็นไป รู้เรื่องไป อย่างเนี้ยไปตามลำดับเข้าไปเรื่อย ๆ เลย เป้าหมายก็ต้องการให้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ซึ่งเป็นกายที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่เค้าบังคับบัญชาครอบงำเอาไว้ได้ นั่นน่ะคือเป้าหมายนะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นวันนี้นี่ท่านที่มาใหม่ ให้เข้าใจวิธีการที่เราจะทำสัมมาสมาธิ ให้ได้รู้เรื่องราวของประโยชน์ ของการทำสัมมาสมาธิ แล้วก็วิธีการ ก่อนที่เราจะประกอบบุญใหญ่ ทำความเข้าใจอย่างนี้ซักหน่อยนะจ๊ะ ส่วนท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอน่ะ ท่านเข้าใจกันอย่างดีแล้ว และก็กำลังลงมือปฏิบัติกันอยู่ในขั้นปฏิบัติ ส่วนท่านที่มาใหม่อยู่ในขั้นปริยัติ ส่วนท่านที่มาสม่ำเสมออยู่ในขั้นปฏิบัติ คือลงมือทำกันแล้ว และก็บางท่านอยู่ถึงขั้นปฏิเวธแล้ว คือมีประสบการณ์ภายใน ได้เข้าถึงดวงธรรม ได้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม จนกระทั่งถึงกายธรรม ถึงกายธรรมก็มีมากมาย เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันก็เยอะแยะแล้ว เหลือแต่ท่านที่มาใหม่ ที่มาช้าไปหน่อย เพราะว่ายังไม่รู้เรื่องราว เกี่ยวกับเรื่องธรรมกายภายใน พญามารเขายังบังคับบัญชาอยู่ ตรึงเราไปติดในเรื่องราวที่ไม่ได้เรื่องได้ราวอย่างนั้นน่ะ 

 


                แต่วันนี้บุญบันดาล ได้เดินทางกันมาเนี่ย มาได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ จะได้หมดเวรหมดกรรม หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะกันซักทีหนึ่ง หมดกิเลสก็หมดกรรม หมดกรรมก็หมดวิบาก คือผลของกรรม หมดกิเลสก็หมดกรรม หมดกรรมก็หมดวิบากคือผลที่จะส่งกันต่อไปในภพชาติกันต่อ ๆ กันไป เพราะฉะนั้นหลักใหญ่คือทำให้หมดกิเลส นี่เป็นเรื่องหลักนะจ๊ะ บางคนบอกมีกรรมมาก แต่ไปใช้วิธีทำกันอย่างอื่นนะ ไปสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิตอะไรกันไปอย่างนั้นน่ะ อย่างนั้นทำอย่างไรมันก็ไม่หมดกรรม แต่ก็ดีหน่อยก็ได้บุญบ้าง พอเป็นเชื้อที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราเข้าถึงความหมดกิเลส เพราะฉะนั้นต้องจำไว้นะจ๊ะ หมดกิเลสจึงจะหมดกรรม หมดกรรมเมื่อไหร่ ก็หมดวิบากคือผลของกรรมเพราะฉะนั้นหลักใหญ่ต้องหมดกิเลสก่อน กิเลสจะหมดได้น่ะ อยู่ที่การทำใจให้มันหยุด ให้มันนิ่ง ถ้าไม่หยุดนิ่งเค้าก็บังคับได้ บังคับก็ยังอยู่ในครอบงำเค้า ยังหลุดพ้นไม่ได้ จะหลุดได้ต้องหยุดอย่างเดียวน่ะ เอาใจนั่นน่ะหยุดกลับมาสู่ภายใน

 


                เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป จะสอนวิธีทำสมาธิอย่างง่าย ๆ ให้กับผู้ที่มาใหม่ เพื่อที่จะได้จำได้ แล้วไปทำต่อที่บ้านเอานะจ๊ะ วิธีการทำใจให้เข้าถึงสมาธิ ง่าย ๆ ก็เอาใจของเรานะจ๊ะ มาหยุด มานิ่งมานึกคิดอยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางท้อง จำง่าย ๆ ว่ากลางท้องนะ เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือน่ะ แต่ไม่ต้องถึงกับต้องกังวล จะต้องไปนั่งเล็งไปนั่งวัดกันว่าตรงไหม ไม่ต้องถึงขนาดนั้นนะจ๊ะ เพราะฐานที่ ๗ จริง ๆ เนี่ยเวลาเราจะเข้าถึงจริง ๆ ต่อเมื่อใจมันหยุดแล้ว ถึงจะเห็นว่าอ้อมันตรงพอดี แต่ตอนที่ใจเรายังไม่หยุด เรายังเริ่มต้นอยู่นั่นน่ะ ให้เราสมมติเอา คาดคะเนเอา ว่าเราจะเอาใจไปอยู่ในกลางท้องตรงนี้แหละ เรียกว่าฐานที่ ๗ แล้วก็ทึกทักเอา คาดคะเนเอา จะได้ไม่ต้องสงสัยหรือกังวล ว่ามันตรงฐานที่ ๗ ไม๊ จำง่าย ๆ ว่าเอาใจมาตั้งไว้กลางท้องนะจ๊ะ แล้วก็หาเครื่องหมายซะหน่อย มันจะได้มีที่ยึดที่เกาะของใจน่ะ 

 


                เครื่องหมายนี้หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนเอาไว้ ให้กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นี่ท่านสอนเอาไว้อย่างนี้นะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรรูปที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ ให้นึกถึงดวงแก้วใส ๆ กลม ๆ โตเท่าแก้วตา หรือจะโตใหญ่กว่านั้น ถ้ากลัวเล็กไป ก็นึกเอา แต่กำหนดก็คือนึกถึงภาพดวงแก้วใส ๆ ที่โตเท่าแก้วตา ที่ใสเหมือนกับเพชรนะจ๊ะ ทุกคนคงเคยเห็นเพชรกันแล้วนะ ใสเหมือนเพชรน่ะ หรือจะใสเหมือน้ำแข็ง ใส่เหมือนกระจกที่ส่องเงาหน้าก็ได้ หรือกระจกที่ทุบแตกแล้วโดนแสงมันใสอย่างไง นึกอย่างนั้นก็ได้นะจ๊ะ หรือเหมือนน้ำแข็งที่เราเห็นอยู่น่ะ นึกให้ใส แล้วกำหนดเครื่องหมายอย่างนี้นะ กำหนดคือการนึกอย่างเบา ๆ สบาย ๆ คล้ายกับนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนในบัว หรือน้ำค้างที่อยู่ที่ปลายยอดหญ้า นึกอย่างงั้นน่ะ

 


                ถ้าจะให้นึกถึงดวงแก้วนี่เรามันจะนึกกันไม่ค่อยจะออก บางคนก็ไม่เคยเห็นดวงแก้วกลม ๆ แต่ให้นึกถึงน้ำที่กลิ้งบนใบบัว หรือน้ำค้างปลายยอดหญ้า หรือเพชรสักเม็ดหนึ่ง ที่ใส ๆ บริสุทธิ์ ไม่ไม่ขีดไม่มีส่วนคล้ายขนแมวเนี่ย โตเท่าแก้วตา นี่ท่านสอนให้กำหนดโตเท่ากับแก้วตานะจ๊ะ แต่บางคนแก้วตานี่ก็ไม่เคยสังเกต ไม่เคยดู เอาเป็นว่า โตขนาดไหนก็ได้ที่ใจเราชอบ แต่ก็ให้นึกเหมือนน้ำบนใบบัว น้ำค้างปลายยอดหญ้า น้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัวใบบอนอย่างนั้นนะ นึกอย่างงั้นน่ะ นึกอย่างสบาย ๆ ตรงนี้สำคัญ บางคนไม่เข้าใจตรงนี้จะไปเค้นภาพ จะให้ภาพดวงแก้ว หรือเพชรสักเม็ด ทะลักออกมาอยู่ในกลางท้องน่ะ อย่างนั้นไม่ใช่นะจ๊ะ 

 


                เป็นการเห็นที่ไม่ใช่ลูกนัยน์ตา แต่ว่าเห็นได้ ลองนึกนึกซิว่ามันเป็นอย่างไร เป็นการเห็นภายในท้อง ที่ไม่ได้มองด้วยลูกนัยน์ตาเนื้อ เห็นภาพในท้องที่ไม่ได้มองด้วยลูกนัยน์ตาเนื้อ เหมือนเห็นภาพน้ำกลิ้งอยู่บนใบบัว ที่เราไม่ได้มองด้วยตาเนื้อ แต่ภาพนั้นมาปรากฏก็ให้นึกถึงสิ่งนั้นนะจ๊ะ เป็นเครื่องหมาย คือที่ยึดที่เกาะที่ใจของเรา เป็นเครื่องหมายว่าตรงเนี้ยนะฐานที่ ๗ เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ นึกอย่างนี้นะ นึกให้ชัด อย่างสบาย ๆ หลวงพ่อมีคำว่าสบาย ๆ ต่อท้ายด้วย นึกให้ชัดอย่างสบาย ถ้านึกชัดแล้วปวดหัวไม่ใช่นะจ๊ะ ไม่ถูกวิธี นึกแล้วชัด แต่ไม่ถึงกับปวดหัว แต่ว่าดึงขมับ ก็ไม่ใช่นะจ๊ะ 

 


                นึกแล้วชัด แต่หัวคิ้วอุ่น เหมือนมีแม่เหล็ก ขั้วเหนือใต้ดูดเข้าหากันเลย อย่างนั้นก็ไม่ใช่ นึกแล้วตึง เกร็งไปทั้งตัว เกร็งนิ้วมือ ไหล่นี่ยกขึ้น เกร็งหน้าท้อง อย่างนี้ก็ไม่ใช่ ถ้านึกอย่างสบาย ๆ ก็ต้องนึกแล้วไม่มีอาการเหล่านั้นเลย นึกแล้วสบายสบาย แม้จะเห็นชัดไม่มากก็ยังสบายอยู่ แม้เห็นแค่เป็นรูปเป็นร่างของดวงใส ๆ ใสสลัวเหมือนอยู่ในที่สลัว ๆ ก็ยังสบายใจ นั่นละถูกวิธีแล้วนะจ๊ะ ตรงนี้สำคัญ นึกอย่างงั้นแหละ 

 


                ถ้าใครสามารถนึกชัดได้ทันทีเนี่ยเลยยิ่งดี แต่นาน ๆ จะมีสักคน นึกแล้วชัดเลย แต่ส่วนมากมักจะนึกแล้วสลัว ๆ ลาง ๆ ตรงนั้นล่ะถูกต้องแล้ว แล้วก็เอาใจนึกถึงเครื่องหมายอย่างนั้นอย่างสบาย ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไปถ้าใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ก็ภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้เสียงคำภาวนาสัมมาอะระหังดังออกมาจากในกลางท้องเลยนะจ๊ะ เทคนิคมันอยู่ตรงเนี้ยะ ต้องกลางท้อง เสียงดังก้องออกมาจากในกลางท้องอย่างสบาย ๆ ทำแล้วเพลิน มีความรู้สึกเหมือนเล่นๆ ไม่ใช่หน้าที่ เหมือนเล่น ๆ เพลิน ๆ สบ๊ายสบายอย่างนี้นะอย่างนี้ถูกต้อง ถูกวิธีการ ให้นึกถึงดวงแก้ว นี่หลวงพ่อพูดกับท่านที่มาใหม่นะ ส่วนท่านที่มาเก่า เข้าถึงดวงธรรมแล้ว เห็นองค์พระแล้วเราก็หยุดต่อไป ดูเรื่อยไปเท่านั้น 

 


                ส่วนท่านที่มาใหม่ก็ลองนึก นึกตามหลวงพ่อไป สัมมาอะระหัง เรื่อยไป ภาวนาไปแค่ไหน ภาวนาไปจนกว่าขี้เกียจภาวนา เบื่อไม่อยากภาวนา อยากจะทำใจให้นิ่งเฉย ๆ ดูดวงใส ๆ รู้สึกมันสบายสบาย ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้นะ หยุดภาวนาไปเลย และจริง ๆ แล้วคำภาวนามันหยุดไปเอง ถ้าเราเพลินต่อการนึกคิดถึงเครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูก โตเท่าแก้วตา เพชรลูกที่ไม่มีขีดข่วน คล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตา จริง ๆ แล้วเพชรลูกนี่เรานึกกันง่ายนะ เพชรมันก็คือเพชรนั่นแหละ เพชรเวลาตั้งกลางแดด มันจะมีประกายมีแสงสะท้อนออกมาใส บริสุทธิ์ที่เดียวน่ะ ใส เนี่ยนึกอย่างนี้นะนึกให้สบายแต่อย่าให้คิ้วย่นเข้าหากับหน้า อย่าให้มึน ให้ซึม อย่าให้เกร็งหน้าท้อง อย่าให้นิ้วยก นิ้วกระดก ไหล่ยกอย่างนั้น ไม่เอานะ

 


                นึกแล้วต้องสบาย ผ่อนคลายทั้งกล้ามเนื้อทั้งจิตใจ ทำอย่างนี้แหละไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ ไปอย่างนี้นะ ไม่ช้าเราจะสมหวัง แต่ว่าการทำภาวนามันก็เหมือนการขี่จักรยานอย่างนั้นนั่นแหละ ใหม่ ๆ มันก็ขี่แล้วก็ล้ม ล้มแล้วก็จับมาขี่ใหม่ ขี่ใหม่ล้มอีก เข่าถลอกปอกเปิกมั่ง ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาจับจักรยานขี่ใหม่ ทำกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ไม่ช้าเนี่ยเราก็จะขี่จักรยานได้ ใหม่ ๆ เราก็นึกได้มั่ง ฟุ้งมั่ง ง่วงมั่ง เมื่อยมั่งมืดมั่ง ก็ชั่งมัน เราก็ทำของเราไปเรื่อย ๆ ๆ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญทีเดียว เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้จักตัวของเราเอง เพราะตอนนี้เรายังไม่รู้จักตัวของเราเลยนะ ว่าเราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริง นี่เรายังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรของตัวเราเลยนะจ๊ะ 

 


                การทำสัมมาสมาธิ ตรงนี้แหละจะเป็นจุดที่จะนำใจของเราให้ได้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง เห็นไปตามความเป็นจริงของชีวิตของเรา จะรู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง จากการทำใจที่หยุดนิ่ง แล้วเราจะได้อานิสงส์ ๕ ประการอันนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นะจ๊ะ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ดังนั้น ถ้าเข้าใจวิธีทำแล้ว จะได้กลับไปทำที่บ้านต่อ เอาใจหยุดนิ่ง ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปในกลางความใสบริสุทธิ์ ของเครื่องหมายตรงนั้นนะที่นี้ บางท่านกำหนดเครื่องหมายอย่างนี้น่ะ แต่ก็แปลกองค์พระกลับมาปรากฏแทนที่ก็มีเหมือนกันนะ มีองค์พระแก้วใสๆ ปรากฏมาแทน ก็อย่าไปสับสนนะให้ดีใจไว้เลยพระท่านมาโปรดเราเนี่ย เราก็ดูองค์พระเรื่อยไปอย่างสบาย ๆ ให้ทำกันอย่างนี้นะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ

 


                คราวนี้เราก็เอาใจของเราหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดิมที่เดียวนะจ๊ะ และก็เป็นที่ที่ดี ที่ไปสู่อายตนนิพพาน ใครใจหยุดนิ่งได้เข้าถึงดวงธรรม หยุดไปในกลางดวงธรรม ใครเข้ากายภายในได้ ก็เอาใจหยุดไว้ที่กลางกายภายในนะจ๊ะ ใครเข้าถึงกายธรรม ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายธรรม เอาใจหยุดนิ่งให้สนิทอย่างดี อย่างสบาย ๆ อย่าไปตั้งใจมากเกินไปนะจ๊ะ เดี๋ยวใจจะไม่ละเอียด คราวนี้เราก็นึกน้อมเอาเครื่องไทยธรรม อันมีดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว นึกน้อมมาตั้งไว้ น้อมเข้ามาไว้ในกลางฐานที่ ๗ ของเราตัวเรา ใครเข้าถึงสภาวธรรมไหนก็หยุดรวมไปตั้งไว้ตรงนั้นใครเข้าถึงกายธรรมก็หยุดรวมเอาไว้ในกายธรรม หยุดนิ่งให้ดีนะหยุดให้สนิททีเดียว


        การบูชาข้าวพระก็คือการน้อมนำ เอาเครื่องไทยธรรมซึ่งเป็นของหยาบนี้ กลั่นให้เป็นของบริสุทธิ์ละเอียดเท่าพระธรรมกาย โดยวิธีการทำใจหยุดนิ่ง อย่างนี้ เมื่อเครื่องไทยธรรมนั้นละเอียด เท่ากับพระธรรมกายแล้ว ก็ทำให้ละเอียดยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยการหยุดนิ่งภายใน ความละเอียดนี้เท่าเทียมกันอายตนนิพพาน พอถูกส่วนเข้าอายตนนิพพานก็จะดูดเข้าไป ไปปรากฏอยู่ในท่ามกลางพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มีแต่พระธรรมกาย ปรากฏในอายตนนิพพาน นับพระองค์ไม่ถ้วนทีเดียว ต้องอาศัยหยุดอย่างเดียวหยุดนิ่งให้สนิท หยุดสนิทพอถูกส่วนเข้าก็เครื่องไทยธรรมก็ใสบริสุทธิ์ กายธรรมก็ใสสว่าง กายธรรมเกตุดอกบัวตูมใสสว่าง แล้วก็เข้ากลางไปเรื่อยเลย 

 


                ยิ่งหยุดก็ยิ่งเข้ากลางเข้าไป ใจก็ดิ่งเข้ากลางไปเรื่อย พระธรรมกายองค์ถัดไปก็ผุดซ้อนขึ้นมารับส่งต่อไป เครื่องไทยธรรมก็ใสบริสุทธิ์ ต่อ ๆ ๆ เข้าไปเรื่อย จนกระทั่งถูกส่วนพรึบขึ้นไป การบูชาข้าวพระเป็นพุทธบูชานี้มิได้หมายถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานท่านจะเสวยอาหารละเอียดนี้เหมือนกับพระสงฆ์ขบฉันนะจ๊ะ เพราะท่านไม่ต้องเสวยอะไรแล้ว ท่านมีสุขนิ่งอยู่ในกายนิโรธสมาบัติ แต่เราจะกลายเป็นพุทธบูชา เหมือนการที่เราบูชาข้าวพระที่บ้าน ที่เตรียมสำรับอาหารหวานคาว ถ้วยเล็กๆ ตั้งไว้ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา โดยมีพุทธปฏิมากร พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระบรมศาสดาเอาใจเราก็น้อมไปถึงท่าน นั้นเรียกว่าบูชาข้าวพระแบบขอถึงแต่ที่เราจะบูชาข้าวพระวันนี้แบบเข้าถึง ถึงตัวจริงที่ท่านเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า คือธรรมกายนั่นเอง 

 

 

                การบูชาข้าวพระอย่างนี้มีอานิสงส์มาก อานิสงส์ใหญ่ เพราะว่าถูกเนื้อนาบุญคือพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า วันนี้คุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คุณยายอาจารย์ของเรา ท่านจะน้อมนำเอาเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ไปถวายเป็นพุทธบูชา เพราะท่านทำมาอย่างชำนาญแล้ว คล่องแคล่วเชี่ยวชาญ ชำนาญจะนับจะประมาณมิได้ทีเดียว ท่านชำนาญทีเดียวในการเข้าสู่อายตนนิพพาน หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านพูดเอามาคำหนึ่ง ตอนที่ท่านเทศน์ ยังมีเสียงของท่านปรากฏอยู่ ท่านบอกไปพระนิพพานจะยากอะไร คำของท่านนะจ๊ะ ตดปึ๋งเดียวก็ถึงนิพพานแล้ว หมายถึงว่า ใจท่านหยุดนิ่งอยู่ในกลางธรรมกายในอายตนนิพพานตลอด เวลานึกทีเดียวก็ถึงแล้ว เพราะความละเอียดของท่าน ทำละเอียดอยู่ตลอดเวลา จึงเข้าถึงได้ อันนี้ก็เช่นเดียวกันเนี่ย

 


                คุณยายท่านก็จะได้น้อมขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชา ทับทวีเข้าไปเรื่อยธรรมกายของท่าน ก็ทับทวีเต็มไปหมดเลย ออกไปเรื่อยทับทวี เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสน เป็นล้านองค์ เป็นหลาย ๆ ล้านองค์ เป็นโกฏิเป็นปฏิโกฏิ จนกระทั่งเป็นอสงไขยโกฏิ กระทั่งนับพระองค์ไม่ไหว ทับทวีไปเรื่อยเลย เครื่องไทยธรรมก็เต็มไปหมด ทับทวีไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระธรรมกายทั้งหมด พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็รับเครื่องไทยธรรม วิธีรับของท่านนี้ไม่เหมือนพระสงฆ์รับประเคน เป็นที่แปลกทีเดียว เมื่อไหร่เข้าถึงเราจะเห็นทีเดียว ท่านรับอย่างไงนะจ๊ะ ก็ทับทวีขึ้นไปถวาย ทั่วถึงให้สุดรู้สุดญาณไปกันเรื่อยเลย ทับทวีไปเรื่อย ถวายเครื่องไทยธรรมเต็มไปหมดในอายตนนิพพาน แล้วคุณยาย ก็กราบขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิ์เฉียบขาดของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนให้ถึงกับพวกเราทุก ๆ คน ผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องไทยธรรม ให้บุญนี้มาจรดที่กลางกาย ให้เต็มทีเดียว ให้บุญนี้ ให้ได้ทับทวี ให้ได้ผลบุญในปัจจุบัน เป็นบุญศักดิ์สิทธิ์


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010120352109273 Mins