เอกายนมรรค

วันที่ 13 มิย. พ.ศ.2567

130667b01.jpg

เอกายนมรรค

พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพานทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตาอย่ากดลูกในตา หลับให้พอสบาย ๆ พอสบาย ๆ นี่มันคล้าย ๆ กับจะปรือ ๆ ตานิด ๆ คล้าย ๆ กับหลับตาไปค่อนลูกอ่ะ ปรือ ๆ นิดหน่อย อย่าถึงกับไปบีบหัวตานะ อย่าบีบเปลือกตา แบบคนทำตาหยีอย่างนั้นไม่เอา ผิดวิธีนะจ๊ะ สำคัญนะตรงนี้สำคัญ อย่าดูเบานะจ๊ะตรงนี้ ปิดเปลืกตาเบา ๆ จะเป็นหรือไม่เป็นก็ตรงนี้แหละ ถ้าหลับตาเป็นเดี๋ยวจะเห็นภาพภายใน ปิดตานอกมันก็จะเปิดตาในได้ เบา ๆ นะหลับเบา ๆ นะจ๊ะทำงี้นะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ขยับให้กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยขยับให้ดี ทำเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เราจะได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัวอย่างสบาย ๆ โดยมีท่านั่งมาตรฐานท่านี้น่ะ ขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นี่เป็นท่านั่งมาตรฐานนะจ๊ะ ซึ่งถอดแบบออกมาจากพระธรรมกายในตัว ท่านก็นั่งตรง ๆ อย่างนี้แหละ แต่ว่ากายของท่านเป็นกายมหาบุรุษ เพราะฉะนั้นท่านนั่งกายตรง แต่ว่าเราก็ตรงพอดี ๆ ไม่ถึงจะยืดเกินไปจนเมื่อย หรือย่อจนกระทั่งตัวงอก็ไม่ใช่นะจ๊ะ ปรับตรงนี้ให้ดี 

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ ศึกษาทำความเข้าใจสักครั้งเดียว ให้จำท่านี้ ไว้ให้ดีนะ แล้วก็จำการปิดเปลือกตานี้ไว้ให้ดีจำตรงนี้ หลับตาแค่ค่อนลูกค่อนลูกนะหลับตา แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี ให้เลือดลมในตัว เดินได้สะดวก ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายให้หมดเลย ทั้งเนื้อทั้งตัว ตั้งแต่เปลือกตา หน้าผาก ศรีษะ ต้นคอ บ่าทั้งสอง ไหล่ทั้งสอง แขนทั้งสองไปถึงปลายนิ้วมือ ผ่อนคลายให้หมดเลย ผ่อนคลายนะ เวลาเรานั่งกันจริง ๆ แล้วบางทีมันเกร็ง นิ้วมันจะกระดก นิ้วมันกระดก หัวแม่มือนี่กระดกเลย นั่นเกร็ง เพราะฉะนั้นตอนนี้เราผ่อนคลายให้สังเกตดี ๆ พอผ่อนคลายแล้วมือเราวางอย่างเนี้ย อยู่ในท่าปกติ เขาเรียกว่ามืออยู่เป็นสุข คือเวลามือมันอยู่เป็นสุขนะมันอยู่จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เกร็งไม่เครียดไม่เคลื่อนไหวอะไรน่ะ มืออยู่เป็นสุข คราวนี้ก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวของเรา ตั้งแต่ตัวของเราไปเลยนะ อกไปเรื่อยท้องผ่อนคลายให้หมด ขาทั้งสองไปถึงปลายนิ้วเท้า อ่ะผ่อนคลายกันสัก ๑ นาทีนะจ๊ะ ผ่อนคลายให้หมดเลย นี่คือการเตรียมตัวเตรียมร่างกายสำหรับการปฏิบัติธรรม ถ้าหากเราทำอย่างนี้ จนกระทั่งติดเป็นนิสัยแล้วเนี่ย เวลาต่อไป นั่งครั้งต่อไปก็ง่าย แต่จำตรงนี้ไว้ให้ดีนะอย่าเกร็งนะจ๊ะ

 


                ต้องให้คลายสบายอกสบายใจไปด้วยให้ร่างกายสบาย และก็ทำใจให้สบายไปด้วย ใจจะสบายจะต้องเป็นใจที่ ไม่ติดข้องกับสิ่งใดเลย คือเราถอนความยินดียินร้าย จากคนจากสัตว์สิ่งของต่าง ๆ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ถอนความพอใจและความไม่พอใจ ออกจากในโลกทั้งปวง ภาษาง่าย ๆ คือออกจากเรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งของคือจะว่ามีความพึงพอใจชอบสิ่งนั้นก็ไม่ได้ เดี๋ยวใจมันก็จะไปวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น ที่เป็นสิ่งที่อยู่ในโลก ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่แท้จริงน่ะ แล้วก็ต้องถอนความไม่พอใจด้วย เกิดความขุ่นมัวขัดเคืองอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับคนสัตว์สิ่งของอะไรต่าง ๆ เราถอนความรู้สึกเหล่านั้นน่ะ คือไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในคนในสัตว์ในสิ่งของในโลกทั้งปวง ถ้าเราจะให้หลุดพ้นจากโลกไปสู่ภูมิพ้นโลก จะต้องไม่ติดอะไรเลยในโลก นี่เป็นหลักเลยนะจ๊ะ เหมือนเราจะข้ามจากฝั่งนี้ไปอีกฝั่งจะกระโดดข้ามไปเนี่ย มันต้องไม่ติดอีกฝั่งนึง มันถึงจะกระโดดข้ามไปอีกฝั่งนึงได้ ต้องไม่ติดเลย

 

 

                ที่ท่านสอนไม่ให้ติดน่ะ ก็เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้น่ะ มันไม่ใช่ของจริงจังของแท้ ไม่มีสิ่งอะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นสารเลยน่ะ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วมันก็เสื่อมไปสลายไป ไม่เป็นจริงเป็นจังอะไรทั้งนั้นน่ะตั้งแต่ของใกล้ตัวเราก็ดี คนใกล้ตัวเราก็ดีเนี่ย  เราจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลายหายไป พลัดพรากกันไป อย่าว่าแต่ของนอกกายเลย แม้แต่ร่างกายเรา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ในตัวเนี่ย มันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นให้ถอนความพอใจและไม่พอใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นใด ๆ ทั้งสิ้นนี่เป็นหลักเลยนะจ๊ะ ว่าถ้าเราไม่ติดในโลกมันก็พ้นจากโลกนี้ไป ไปสู่ภพภูมิอันวิเศษที่ปราณีตกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ ดังนั้นต้องถอนใจออกจากสิ่งเหล่านั้นนะจ๊ะ ถ้าทำได้อย่างนี้ ใจของเราก็จะมีสภาพเป็นกลาง ๆ มีสภาพเป็นกลาง ๆ ใจที่สุดมีสภาพเป็นกลาง ๆ อย่างนี้แหละ เป็นใจที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงธรรมภายใน ใจที่มีสภาพเป็นกลาง ๆ คือไม่ติดในความยินดียินร้าย ความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ในที่สุดมันก็จะกลับเข้ามาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา ที่ตั้งดั้งเดิมของใจเราอยู่ในกลางกาย กลางตัวของเรานะจ๊ะ 

 

 

                กลางกายเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมุติเราเอาเส้นด้าย ๒ เส้นนำมาขึงให้ตึง เส้นด้ายเส้นหนึ่ง สมมุติว่าเราขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท เพราะฉะนั้นจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ก็จะเล็กนิดเดียวเท่ากับปลายเข็ม ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปตั้งไปทาบบนตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเป็นฐานที่ตั้งใจของเรา ตรงนี้เป็นฐานที่ตั้งใจของเรานะจ๊ะ ท่านเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งใจของเรา เพราะฉะนั้นให้ถอนความยินดียินร้ายทั้งหลายที่เราติดข้องอยู่ในโลกนั่นน่ะ เอามาตั้งอยู่ที่ตรงนี้ เอามาหยุดอยู่ตรงนี้นะ หยุดเป็นกลาง ๆ ให้ใจนิ่ง หยุดนิ่งเฉย ๆ ตรงกลาง ถ้าหากว่าเราไม่ทราบว่ามันจะอยู่ที่ตรงไหน ก็ให้กำหนดเครื่องหมายขึ้นมา กำหนดเครื่องหมายขึ้นมานะจ๊ะ กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้กำหนดเครื่องหมาย ให้ใสสะอาดทีเดียวนะจ๊ะ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายกับขนแมวน่ะ คือใสบริสุทธิ์จริง ๆ โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเครื่องหมายตรงฐานที่ ๗  ตรงนี้นะ 

 


                คำว่าเครื่องหมายก็หมายความว่า เป็นที่หยุดใจของเรานั่นเอง คือเมื่อใจเราถอนจากความยินดียินร้ายทั้งหลาย ในคนในสัตว์ในสิ่งของ ก็จะต้องมาตั้งอยู่ที่ตรงนี้แหละ กำหนดขึ้นมา กำหนดก็คือการสร้างมโนภาพ สมมุติเอาคือนึกภาพเอา มีเครื่องหมายที่กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรานะ ให้ใส นึกเบา ๆ นะจ๊ะ นึกถึงความใสบริสุทธิ์ของเครื่องหมายนี้แหละ เป็นบริกรรมนิมิต นึกถึงความใสบริสุทธิ์ของเครื่องหมายนี้เป็นบริกรรมนิมิต วิธีนึกก็ต้องนึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับการนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือนึกถึงสิ่งที่เรารักนะจ๊ะ นึกอย่างสบาย ๆ ลองนึกอย่างสบายสิจ๊ะนึกตามไปนะ เครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา เคยส่องกระจกดูแก้วตาใช่ไหมจ๊ะว่าโตแค่ไหน ของใครของมันน่ะ ให้กำหนดเครื่องหมาย คือนึกอย่างสบาย ๆ ตรงนี้มักจะทำกันไม่ค่อยจะเป็นกัน พอบอกให้นึกก็มักจะไปเพ่งไปจ้อง คือมักจะเอาลูกในตาเนี่ยกดลงไปดู เพราะฉะนั้นนี่ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็เลยมีวิธีการ ที่จะไม่ให้ใช้ลูกในตาไปดู ถ้าให้กำหนดตั้งแต่เริ่มต้นเลย ที่ปากช่องจมูก เพราะตรงนี้เรามีความรู้สึกกับมันง่าย ง่ายกว่าในท้อง 

 


                ท่านจะให้เริ่มต้นที่ปากช่องจมูก เป็นเครื่องหมายแบบเดิมนั่นแหละ ที่ใสบริสุทธิ์เป็นเพชร ท่านหญิงให้กำหนดที่ปากช่องจมูกซ้าย ท่านชายกำหนดที่ปากช่องจมูกด้านขวา คือให้นึกตรงนี้ รู้สึกมันจะง่ายหน่อยมันใกล้ต่อลูกในตานึกง่าย นึกแค่นี้ยังไม่พอท่านป้องกันไม่ให้ใจเราฟุ้งซ่าน ก็ให้ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้งนะจ๊ะ ที่ปากช่องจมูกเนี่ย ภาวนาพร้อมกับนึกถึงภาพด้วย ภาพเพชรใส ๆ ปากช่องจมูกนะ นึกเบา ๆ ถ้านึกเบา ๆ ก็เห็นเลยเนี่ยนึก บางคนก็นึกได้ชัด บางคนก็ไม่ค่อยชัดก็ไม่เป็นไรค่อย ๆ นึก นึกแล้วเลื่อนมา มาหยุดอยู่ที่หัวตา ท่านหญิงอยู่ข้างซ้ายหัวตาซ้ายนะ ท่านชายอยู่ที่หัวตาขวานึกเป็นดวงใส เครื่องหมายใสบริสุทธิ์ เพชรลูกเม็ดเดิมน่ะ นึกให้ใสแล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง พอนึกแล้วก็ค่อย ๆ เหลือกตาช้อนค้างขึ้นไปเลยนะ เหมือนคนตาเหลือกค้าง เพื่อให้ความเห็นกลับเข้าไปสู่ข้างใน ช้อนไปด้วยแล้วก็นึก เพชรเม็ดนั้นน่ะเครื่องหมายนั่นน่ะเคลื่อนตามไป แล้วก็ปล่อยลูกตาตามปกติ ความเห็นมันอยู่ตรงกลางตรงนั้นน่ะ ให้ระดับเดียวกับหัวตาของเรา ตรงกลางกั๊กศีรษะ 

 


                ท่านใช้คำนี้เลยว่าให้ตาเหลือกช้อนค้าง เหมือนคนใกล้จะตาย ท่านใช้คำนี้คนใกล้จะตายเนี่ยมันเหลือกขึ้น นิมิตก็จะตามมาอยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ก็หายใจหยุดนิ่งตรงนี้แหละ ค่อย ๆ ทำไปช้า ๆ นะ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้งก็นึกถึงเครื่องหมายไปด้วย อย่าให้คลาดจากใจนะ เลื่อนลงมาอีกที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ใจก็ยังนึกถึงเครื่องหมาย ที่ใสเหมือนกับเพชรนะจ๊ะ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ เคลื่อนลงมาเรื่อย ๆ เลย เคลื่อนต่อมาอีกที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ตรงนี้ท่านสอนให้สมมุติว่า ปากช่องคอเหมือนปากถ้วยแก้ว เครื่องหมายก็ให้มาอยู่ตรงนี้แหละ ตรงกลาง ตรงกลางปากถ้วยแก้ว ปากช่องคอนั่นแหละนะ เรายังคงนึกถึงเครื่องหมายอยู่อีก อย่าเผลอนะอย่างสบาย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ก็เคลื่อนไปอย่างสบาย ๆ ไม่ให้คลาดจากเครื่องหมายที่ใสบริสุทธิ์ เข้าไปในท้องแล้ว ในท้องที่สมมุติว่าไม่มีตับ ไต ไส้พุงน่ะ เป็นที่โล่ง ๆ เครื่องหมายนั้นก็ลอยไปเลย แล้วก็ดูเพลินไปเลย พอหยุดอยู่ตรงจุดเส้นด้ายทั้งสองตัดกัน ในระดับเดียวกับสะดือ 

 


                ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงดวงใสนะ คืนนึกไปเรื่อย ๆ นึกให้ต่อเนื่องแล้วก็ใจจดจ่อ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงใส กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย ก็ภาวนาสัมมาอะระหังสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้งก็เลื่อนเครื่องหมาย ยกสูงจากที่เดิมขึ้นมาหรือยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเป็นที่ตั้งสุดท้ายของเครื่องหมาย เครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดไปเรื่อยนะ เครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาตรงนี้แหละให้ใจเราอยู่ที่ตรงนี้ ตลอดเวลาเลยหยุดตลอดไป พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อยไป เราจะภาวนากี่ครั้งก็ได้น่ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านบอก ท่านใช้คำว่าจะภาวนาไปร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งหรือมากกว่านี้ก็ได้ ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุด  นี่ท่านมุ่งไปตรงนี้นะ ให้ภาวนาไปร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งหรือยิ่งกว่านั้นน่ะ จนกว่าใจจะหยุด  นี่ท่านมีความหมายอย่างนี้นะ มุ่งหมายจะให้ใจหยุด เพราะฉะนั้นเราก็ภาวนาอย่างนี้ พร้อมกับนึกถึงภาพไปด้วย ถึงภาพไปด้วยเลยนะ อย่าเผลอนะ ถ้าหากว่าเราภาวนาไป นึกดวงไป เดี๋ยวเผลอแว๊บ ไปคิดเรื่องที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียนพอเรารู้ตัวก็ดึงกลับมาใหม่นะจ๊ะ

 


                ดึงกลับมาใหม่ กลับมาแล้วก็มาภาวนาอย่างนี้แหละ สัมมาอะระหัง ๆ ภาวนาไปเรื่อย ให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิตนี่สำคัญตรงนี้แหละ ให้เสียงของคำภาวนาเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อนดังออกมาจากบริกรรมนิมิต นี่เทคนิคอยู่ตรงนี้นะ แล้วก็มีข้อสังเกตอีกถ้าเราภาวนาสัมมาอะระหัง แล้วรู้สึกเหนื่อยแสดงว่าภาวนาไม่ถูกวิธี ถ้าถูกวิธีแล้วต้องไม่เหนื่อย ต้องรู้สึกมีความเพลิน มีความสนุกเพลิดเพลินต่อการภาวนา และการนึกถึงบริกรรมนิมิต นี่คือข้อสังเกตนะ ถ้ามีความรู้สึกเพลิดเพลินสนุกสนาน ต่อคำภาวนาสัมมาอะระหัง และนึกถึงบริกรรมนิมิตอย่างนี้ถูกวิธี มันก็เป็นหลักสากลเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าหากเราทำแต่ความสุขและก็สนุกสนานเพลินต่อสิ่งนั้นน่ะ เราจะมีความรู้สึกเราไม่เบื่อและสิ่งนั้นจะง่ายแล้วเดี๋ยวเราก็จะได้ ได้สิ่งนั้นแหละ สิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นการภาวนาตรงนี้ กับการนึกถึงนิมิตตรงนี้เนี่ย ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะจ๊ะสำคัญนะตรงนี้คือ ต้องมีความสนุกและเพลินต่อการภาวนา แล้วสังเกตดูต้องไม่เหนื่อย ถ้าสมมุติเราภาวนาสัมมาอะระหังถี่ยิบแล้วรู้สึกเหนื่อยนั่นไม่ถูกวิธีแล้ว ต้องภาวนาอย่างสบาย ๆ เหมือนเราร้องเพลงในใจเห็นไม๊จ๊ะ เรายังไม่เห็นรู้สึกเหนื่อยเลย รู้สึกเพลิน แต่นี่แทนที่จะเป็นเพลงที่เราร้องในใจ ก็เป็นคำภาวนาสัมมาอะระหัง ซึ่งเป็นถ้อยคำอันบริสุทธิ์ มีความหมายที่ลึกซึ้งทีเดียว 

 


                สัมมาแปลว่าชอบ มาจากมรรค ๘ อรหันต์ก็ห่างไกลจากกิเลส จากเครื่องเศร้าหมอง จากสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ จากความทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นเป็นถ้อยคำที่ศักดิ์สิทธิ์ และบริสุทธิ์ที่ลึกซึ้งมากทีเดียวยิ่งเราภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อยไปเนี่ย ก็เท่ากับเรากลั่นกาย วาจา ใจของเราเนี่ยให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ด้วยถ้อยคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความหมายลึกซึ้ง ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงพระนิพพานทีเดียว ภาวนาสัมมาอะระหังอย่างนั้นเรื่อยไปน่ะ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่เนี่ย กระแสบุญก็ยิ่งเกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันทีเดียว ต่อเนื่องจนถึงจุด ๆ หนึ่งที่บุญเต็มเปี่ยม พอบุญเรา ของเราเต็มเปี่ยม คำภาวนาสัมมาอะระหังนั่นแหละ เราค่อยคล้ายกับจะลืมภาวนาไปเลย คือคำภาวนาสัมมาอะระหังนั้นได้แปลเป็นความบริสุทธิ์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราเหมือนกับเราจะลืมคำภาวนาไป คำภาวนานั้นก็จะหายไปเลย เหลือแต่ใจที่หยุดนิ่ง ๆ อย่างเดียวกับบริกรรมนิมิต คือเห็นแต่ดวงอย่างเดียวแต่คำภาวนาหายไปนั่นเองน่ะ เห็นดวงใสของบริกรรมนิมิตใสแจ่ม นี่ถ้าหากว่าความบริสุทธิ์ของเราเต็มเปี่ยมแล้วนะจ๊ะ มันจะแปลไปเลยคำภาวนานั้นมันจะเลือนไปเลย ถ้าถึงตอนนี้อย่าย้อนกลับไปภาวนาสัมมาอะระหังอีกนะจ๊ะ เพราะพอถึงตอนนี้ความบริสุทธิ์เราเต็มที่แล้ว เราจะเห็นเครื่องหมายชัดแจ่ม ใจหยุดนิ่งสบายสบายและไม่คิดเรื่องอื่นเลย ใจเป็นกลาง ๆ จริง ๆ เลย 

 


                เมื่อถึงตรงนี้แล้วนั่นเราเดินถึงที่หมายในเบื้องต้นแล้ว บริกรรมนิมิตได้หยุดกึ๊กไป นิ่ง    เป็นดวงใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน ไม่มีความคิดปรุงแต่งเลย  ความรู้สึกที่ร่างกายเราก็จะเลือนหายไป คล้ายกับเราไม่มีร่างกายคล้าย ๆ กลืนไปกับบรรยากาศไปเลยน่ะ เหลือใจที่นิ่งบริสุทธิ์อย่างเดียว เป็นกลาง ๆ ที่มีความสุข ใจที่เป็นกลาง ๆ ที่มีความสุขนะจ๊ะ มีความบริสุทธิ์ ความสุขมาพร้อมกับความบริสุทธิ์ ที่เราถอนความพอใจและไม่พอใจจากสิ่งทั้งปวงออกไปแล้ว ใจจะเป็นกลาง ๆ ที่เขาเรียกว่าอัพยากฤตเป็นกลาง ๆ เพราะถอนความยินดีเลยออกหมดเลย ความพอใจกับความไม่พอใจน่ะ ให้ใดใดออกหมดเหลือแต่ความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นพร้อมกับความสุขที่ละเอียดปนกันอยู่ในนั้นทีเดียวน่ะ เป็นหนึ่งจิตเป็นหนึ่งทีเดียว เป็นหนึ่งเลยไม่มีเรื่องอื่นเลย ให้คิดก็ไม่คิดแล้วก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะคิดอะไร มันเป็นที่ปลอดความคิดเป็นสถานที่ที่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเราเองซึ่ง ณ ตรงนี้เนี่ย จะทำให้เรามีความสุขมาก แตกต่างจากที่เราเคยเจอมาเลย ใจจะนิ่งนี่คือปฐมมรรคซึ่งแปลว่า เบื้องต้นของทางมรรคผลนิพพาน เบื้องต้นของทางอริยมรรค ทางของพระอริยเจ้า ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ทางสายกลางที่มีอยู่ในตัวของเรานี้ มีอยู่เส้นเดียวนะจ๊ะ 

 


                ถ้าเปรียบก็เหมือนกับท่อน้ำใหญ่ ๆ ท่อใหญ่ ๆ แล้วเราเดินเข้าไปในท่ออยู่คนเดียวนั้นน่ะ  จะเดินจะคลานอะไรก็แล้วแต่น่ะ เป็นท่อเดียวเลยนะจ๊ะ ไม่มีท่อแยก เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นเส้นทางเดียวนี้ ท่านเรียกว่าเอกายนมรรคเป็นทางเอกสายเดียว ไปสู่อายตนนิพพาน  ดังนั้นการไปสู่อายตนนิพพาน นี้เนื่องจากเป็นเส้นเดียวเหมือนท่อน้ำใหญ่ ๆ อย่างนั้นนะจ๊ะ เราจะไม่มีทางลัดอื่นใดเลย ไม่มีทางลัดอื่นคือจะออกนอกท่อละอ้อมข้าง ๆ ไปแล้วไปโผล่อีกทาง อย่างนี้ไม่ใช่นะจ๊ะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นทางที่เป็นทางเดียว เมื่อเป็นทางเดียวสิ่งที่จะเจอภายในน่ะ สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้รู้แจ้งเห็นแจ้งในตรัสรู้ธรรม กับสิ่งที่ท่านสอนให้เราทำตามท่านน่ะ แล้วเราก็เห็นตามท่านน่ะ แบบเดียวกันไปเลย ไม่มีลัดขั้นตอนและจะต้องเห็นไปตามขั้นตอนด้วย เห็นไปตามลำดับ จะไม่มีทางลัดอื่นใดเลยเนี่ย

 

 

                ถ้าหากว่าใครเห็นแล้วมีความรู้สึก เอ้อเรามาทางลัดได้ให้มาเริ่มต้นใหม่ที่สัมมาอะระหังนะจ๊ะ แสดงว่าเข้าใจผิดไปแล้วหลงผิดไปเข้าใจผิดไป แต่ผิดไปแล้วก็ไม่เป็นไรเรากลับไปย้อนใหม่ เพราะเราเรียนในเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อความพ้นทุกข์ให้เขาถึงความสุขอันเป็นอมตะคืออายตนนิพพานนี่คือวัตถุประสงค์ของเรา เพราะฉะนั้นเส้นทางแห่งสายเดียวนี้ก็เริ่มต้นจากตรงนี้ และต้องเห็นไปตามขั้นตอน เพราะมันมีเส้นทางเดียวมันไม่มี ๒ ทาง ๓ ทางหรือหลาย ๆ ทาง ดังนั้นต้องเห็นไปตามขั้นตอน ขั้นตอนเห็นเป็นยังไงคือ จากนี้ไปเนี่ยมันจะต้องเห็นดวงธรรมต่าง ๆ ไปก่อน เห็นดวงธรรมแล้วก็เห็นกายภายใน แล้วจึงจะเข้าไปถึงพระธรรมกายก็จะเห็นได้ชัด ๆ เลยน่ะ มีทั้งหมด ๑๘ กายน่ะซ้อนกันอยู่ภายใน ข้ามขั้นตอนไปไม่ได้เลย ไม่ใช่พอหยุดตรงนี้ปั๊บ โผล่พลวดไปเห็นกายธรรมอรหันต์ไปโน่นนะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นขั้นตอนมันต้องเป็นไปตามขั้นตอนเนี่ย หลวงพ่อวัดปากน้ำนี่ เวลาท่านเห็นท่านก็เห็นไปตามขั้นตอนนะ ถ้าใครเห็นข้ามขั้นตอนนี้ไม่เหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำนะจ๊ะ นั่นเป็นทางที่เราค้นพบใหม่ แต่ทางที่หลวงพ่อวัดปากน้ำค้นพบ เป็นทางเดียวกับพระพุทธเจ้าเนี่ย ท่านเห็นไปตามขั้นตอนเลย ท่านเห็นอย่างนี้ พอหยุดเข้าไป พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธรรมดวงแรก เรียกว่าดวงศีลที่เรียกว่าดวงศีลนี่ไม่ใช่ว่าท่านมาเรียกของท่านเองนะ พอเข้าไปถึงตรงนั้นน่ะพอเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดวงธรรมดวงนี้เนี่ย จนกระทั่งเข้าใจถึงดวงธรรมดวงนี้อย่างทั่วถึงแล้ว ถึงรู้ว่าดวงนี้เรียกว่าดวงศีล ในกลางดวงศีลก็มีดวงสมาธิ มีดวงซ้อนกันอยู่ พอใจหยุดในกลางดวงสมาธิเดี๋ยวก็เข้าถึงดวงปัญญา เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงปัญญาเดี๋ยวก็เข้าถึงดวงวิมุติ พอใจอยู่ในกลางดวงวิมุติเดี๋ยวเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ๖ ดวงจาก ๖ ดวงธรรมจะซ้อนกันอยู่นะจ๊ะ จะซ้อนกันอยู่คือดวงธรรมที่ละเอียดจะซ้อนอยู่ในกลางดวงธรรมที่หยาบกว่า แล้วก็ซ้อน ๆ ๆ เข้าไป พอสุดกลางดวงธรรม ดวงที่ ๖ ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเห็นกายมนุษย์ละเอียด และก็ต้องหยุดให้สนิททีเดียว จนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายนี้เลย กับกายมนุษย์ละเอียดนี้เลย เป็นอันเดียวกัน พอเป็นแล้วเราจะรู้สึกว่า เวลาเป็นกายมนุษย์ละเอียด มันไม่เหมือนกับเป็นกายมนุษย์หยาบ จะรู้เองจ้ะ ถึงตอนนั้น แล้วก็เข้าไปอย่างนี้แหละ 

 


                หยุดไปกลางกายมนุษย์ละเอียด เดี๋ยวก็เห็นดวงธรรมอีก ๖ ดวง ก็เข้าถึงกายทิพย์ จะมีกายที่เรียกว่ากายทิพย์ และทำไมเรียกว่ากายทิพย์ไปถึงตรงนั้นเดี๋ยวก็รู้เองแหละเห็นเอง เห็นแล้วก็จะรู้ขึ้นมาเมื่อเราเป็นแล้วก็เดี๋ยวจะเห็นในกลางกายทิพย์ ก็เห็นอีก ๖ ดวง พอสุดดวงที่ ๖ ก็ถึงกายรูปพรหม ในกลางกายรูปพรหมหยุด ลงไปในนั้นอีกตรงกลางก็เข้าถึงอีก ๖ ดวงพอสุดดวงที่ ๖ ก็เข้าถึงกายอรูปพรหม เนี่ยท่านเข้าไปอย่างนี้แหละจนกระทั่งสุดกลางดวงวิมุติญาณทัสสนะ กายอรูปพรหมก็เข้าถึงกายธรรมโคตรภู  และในกลางกายธรรมโคตรภูก็มีอีก ๖ ดวงไปอย่างนี้เรื่อยเลยนะจ๊ะ จนกระทั่งถึงกายธรรมพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต มีทั้งหมด ๑๘ กาย มีหยาบมีละเอียด มีกายมนุษย์หยาบกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบทิพย์ละเอียด พรหมหยาบพรหมละเอียด รุปพรหมหยาบ รูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบโคตรภูละเอียดเรื่อยไปเลยตามลำดับ หยาบละเอียดเรื่อยไป ถึงกายธรรมอรหัตละเอียดนั่นแหละ ๑๘ กาย ต้องเป็นขั้นตอนอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่เห็นตามนี้ นักศึกษาผู้ใคร่ที่จะพ้นทุกข์อยากจะรู้แจ้งเห็นจริงของจริง ก็ต้องมาทำให้ได้อย่างนี้ซะก่อน ทำอย่างนี้แหละให้คล่องให้ชำนาญทีเดียวน่ะ หลังจากนั้นถึงจะศึกษาวิชชาธรรมกายได้ ซึ่งมันลึกซึ้งมากวิชชาธรรมกายมากมายก่ายกองทีเดียว พูดไม่หมดในที่นี้แหละ เรื่อยไปเลยเนี่ย เห็นในวิชชาธรรมกายเนี่ย 

 


                คุณยายของเรา คุณยายอุบาสิกาจันทร์ของเรา ทุ่มเทชีวิตจิตใจศึกษาวิชชาธรรมกายกับหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตลอดชีวิตของท่านมาหลายสิบปี ท่านก็เรียนไปตามลำดับจากนี้แล้วก็เห็นไปตามลำดับ ไปเรื่อยเลยจนกระทั่งถึงระดับที่ทำวิชชาได้ เพราะฉะนั้นต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจเป็นเดิมพัน ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง ๕ ไม่มีภารกิจไม่มีเครื่องกังวลไม่ต้องทำมาหากิน กลางวันนั่ง ๖ ชั่วโมงกลางคืน ๖ ชั่วโมง เวลาปกติก็ ก็ตรึกอยู่ในธรรมตลอด ท่านทำทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้แหละเรื่อยไปเลย ตลอดชีวิตของท่านที่ผ่านมา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็เห็นไปตามลำดับอย่างนี้ ไม่มีทางลัดอื่นใดนะจ๊ะ 

 


               เพราะว่าเป็นเอกายนมรรค เป็นทางเอกสายเดียวต้องเห็นกันไปตามลำดับอย่างนี้ ให้ทุกท่านทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กลางกายอย่างสบาย ๆ ตรึกนึกถึงดวงใสหยุดไปที่กลางดวงใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจสัมมาอะระหัง ๆ ๆ เรื่อย ๆ นะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ ใจเรายังอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันทุก ๆ คนนะจ๊ะ เอาใจหยุดไปตรงกลางกายอย่างเดิมอย่างนั้นแหละ ในเส้นทางของอริยมรรค เส้นทางของพระอริยเจ้า ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางเอกสายเดียว ไม่มี ๒ ทางเป็นทางสายกลาง ที่อยู่ภายในตัวของพวกเราทุกคน ใจหยุดไปตามลำดับนะจ๊ะ นิ่งไปตรงกลางฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังแล้วนะจ๊ะ หยุดนิ่ง ๆ สบาย ๆ ใครเข้าถึงดวงธรรมก็เอาใจหยุดไปกลางดวงธรรม ใครเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเอาใจหยุด ไปกลางกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายทิพย์ ใครเข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปกลางกายรูปพรหม ใครเข้าถึงเข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปในกลางกายอรูปพรหม  ใครเขาถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปกลางกายธรรม  หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อย ๆ ถ้าใครเข้าถึงกายธรรมในกายธรรมก็หยุดในหยุดเข้าไปนะจ๊ะ หยุดอย่างเดียว  

 


                หยุดเป็นตัวสำเร็จ อยากเป็นตัวไม่สำเร็จมีความนึกคิดอะไรก็ไม่สำเร็จต้องหยุดอย่างเดียว หยุดนิ่ง ๆ ในเส้นทางสายกลางซึ่งไม่มีทางลัดอื่นใดนอกจากหยุดกับนิ่ง แล้วก็ต้องเห็นไปตามลำดับนี้น๊ะจ๊ะทำอย่างนี้นะ  เราก็เอาใจหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งให้ดีทีเดียว  หยุดอย่างสบาย ๆ ตรงสภาวธรรมที่เราเข้าถึงนะจ๊ะ เราเข้าถึงไหน เราก็หยุดตรงนั้นแหละให้สนิทจนกระทั่งมันเป็นอันเดียวกันไปเลย กับสิ่งนั้น เช่นถ้าเข้าถึงดวงธรรมก็หยุดไปในกลางดวงธรรม ให้เป็นดวงธรรมไปเลย ไม่ใช่ผุดผ่านมาเฉย ๆ หรือกายผ่านมาเฉย ๆ โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือองค์พระผ่านเฉย ๆ มันก็ยังไม่รู้เรื่องราวอะไร นั่นแสดงว่าเราหยุดได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องฝึกฝนต่อไป ฝึกจนกว่าจะหยุดสนิท เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกองค์เลย  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกกาย  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกดวงธรรม ไปตามลำดับอย่างนี้ไม่มีลัดขั้นตอน

 

 

                เพราะฉะนั้นบุญก็เกิดขึ้น บุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจรดที่ศูนย์กลางกาย ท่อธารแห่งบุญ ปุญญาภิสันธาร เกิดขึ้นในกลาง เกิดขึ้นในกลางใสบริสุทธิ์ ติดอยู่ในกลางกายของพวกเราทุกคนเลย ยิ่งหยุดสนิทมาก บุญก็เกิดขึ้นเต็มที่ไปตามกำลัง ให้ผลบุญส่งผล ให้ได้เป็นบุญปัจจุบันทันตาเห็น ให้ทุกคนมีความสุขมีความเจริญ คิดอะไรให้สมความปรารถนา ให้มีดวงตาเห็นธรรม ให้ธุรกิจการงานก็ให้มีความเจริญรุ่งเรือง อุปสรรคต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นในชีวิตก็ให้ละลายหายสูญไปให้หมด โครงการเศรษฐกิจตกต่ำก็ด้วยอนุภาพแรงบุญดลบรรดาลให้พลิกสถานการณ์ให้ตรงกันข้ามกันเลย   ให้เชื่อมโยงสายสมบัติมาติดหมดทุกคนติดหมดเลยไปตามกำลังส่วนกำลังบุญตามส่วน สัดส่วนกันไปให้ได้ผลบุญเต็มเปี่ยมไปเลยน่ะ เอาบุญนี้เชื่อมสายสมบัติติดหมด ที่เขาย่อยแยกไปแค่ไหนก็ไปรวมเอามาติดให้หมดเลย แล้วก็เก็บผังสำเร็จที่เขาบังคับเอาไว้ บังคับโดยย่อยก็ดีบังคับผังรวมก็ดีเนี่ย ที่ทำให้ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำรบราฆ่าฟัน เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัติต่าง ๆ เก็บละลายหายสูญไปให้หมด ให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้นให้ลูก ๆ ทุก ๆ คนอย่าท้อ อย่าท้อถอยอย่าวิตกกังวล

 


                บุญนั่นแหละเป็นที่พึ่งของเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องนึกถึงบุญที่เราได้ทำมาน่ะ กี่ภพกี่ชาติ ให้มาช่วยเราในปัจจุบัน ให้เดินตามแบบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าท่านเจออุปสรรค เจอภัยจากพยามารน่ะ  ท่านไม่ได้ไปสู้รบตบมือกับพยามารด้วยสิ่งไรเลย นั่งนิ่งอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์น่ะ นิ่งสงบนึกถึงบารมี บุญบารมีของท่าน ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน  เมตตา อุเบกขาบารมี บารมี ๓๐ ทัศทั้งหมดมารวมกัน นึกถึงแต่บุญนึกถึงแต่ความดี เอาชนะพยามารนั้นได้ พวกเราทุกคนมาตามในภาวะที่เกิดสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในยามนี้น่ะ เพราะกระแสบาปมันแรงน่ะ จะชนะได้ก็ต้องนึกถึงกระแสบุญ บุญพวกเราทำมาไม่น้อยเลย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เรียกมาสิจ๊ะนึกถึงบ่อย ๆ วิธีนึกก็เอาใจหยุดนิ่งไปตรงกลางตรงนั้นแหละ และก็นึกเบา ๆ ว่าอานุภาพแห่งบุญบารมี ๓๐ ทัศ ที่ข้าพเจ้าทำมากี่ภพกี่ชาติ จะระลึกได้ก็ดีระลึกมิได้ก็ดี ภาวะของข้าพเจ้าในตอนนี้คับขันจริง ๆ แล้ว ขอให้บุญนี้ดลบันดาลพลิกผันสถานการณ์นี้เนี่ย ให้ตรงกันข้าม จากมืดไปสว่าง จากความทุกข์ไปความสุข จากความหายนะเป็นความสำเร็จเป็นความเจริญรุ่งเรือง 

 


                นึกไปทุกวันและทำใจให้ชุ่มอยู่ในกลาง ทำใจให้ชุ่มให้ใจหยุด เดินแบบเดียวกับพระพุทธเจ้าไปเลยอย่างนี้ อย่างนี้แหละไม่ช้า ไม่ช้าก็จะเห็นผลเกิดขึ้นมา แต่ว่าปัจจุบันนี้เนี่ย เราทำบ้างเป็นบางครั้งคราว ผสมปนเปกันไปกับความวิตกกังวล ก็ยังเชื่อมั่นไม่เต็มที่ มีความวิตกกังวลเข้าแทรก เพราะฉะนั้นบุญก็ไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส บาปมันได้ช่องมากกว่า วิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์มันก็เข้าแทรก ดังนั้นการหยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ ที่จะเชื่อมโยงบุญที่เราได้ทำมานับไม่ถ้วนจนกระทั่งบัดนี้เนี่ย มาช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายตรงนี้ให้พลิกกลับเป็นดีไปได้ ถ้าพวกเรามีบุญน้อยไม่มีโอกาสหรอกที่จะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายเกี่ยวกับเรื่องวิชชาธรรมกาย จะไม่มีโอกาสมาร่วมประชุมกันปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงธรรมกาย เพราะฉะนั้นกำลังบุญของเราน่ะมีไม่น้อย แต่ว่าเราไม่ได้เอามาใช้ เราเอาความวิตกกังวลมาใช้ เพราะฉะนั้นเมื่อเอาความวิตกกังวลมาใช้ ก็ได้ความวิตกกังวลได้ความทุกข์ทรมานไป ดังนั้นให้เปลี่ยนทัศนะคติใหม่ ตั้งแต่วันนี้ไปเนี่ย ให้ใจมั่นแน่วแน่ ๆ อยู่ในบุญ ส่วนหยาบ ๆ ก็แก้ไขไปด้วยสติและปัญญา ให้ถอนใจออกจากความยินดีและยินร้ายทั้งหลาย ให้ใจเป็นกลาง ๆ วินิจฉัยอะไรจะได้ไม่ผิดพลาด ดูอะไรให้เป็นกลาง ๆ น่ะ แล้วเราจะไม่ผิดพลาดไปทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเนี่ย จะต้องสั่งสมบุญของเราให้เต็มที่ ในขณะที่เงินบาทมันลดค่าลง สิ่งที่เราควรจะทำคือ ฝากฝังทรัพย์ที่มีอยู่นี่ไว้ในพุทธศาสนา ให้มันเป็นบุญเป็นกุศลติดไปในภพเบื้องหน้า ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ใจเด็ดเดี่ยวเหมือนท่านเมณฑกเศรษฐีสมัยที่สร้างบารมีอยู่กว่าจะได้มาเป็นมหาเศรษฐีนั้นน่ะ ท่านลำบากทุกข์อย่างยิ่งกว่าเราในยุคนี้ ท่านเกิดในยุคที่สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ ขนาดต้องเอาข้าวสารเอาข้าวเปลือกที่คลุกกับโคลน ฉาบทาฝาบ้าน ฝาผนังน่ะ เอามาล้างน้ำ เอามาตำและท่านก็เอามาทำบุญ การทำบุญของท่านด้วยข้าวสารด้วยข้าวสุก ๑ มื้อนั้นน่ะแก่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านหวังไปเอาดีในภพเบื้องหน้า เป็นคนที่ใจเด็ดทีเดียว เมื่อท่านทำสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้ยากในโลก เวลาบุญส่งผลให้มีสมบัติเต็มที่ ก็มีสมบัติที่ยาก ๆ ที่ยากที่ใครในโลกจะได้ ท่านได้สมบัติจักรพรรดิ์บังเกิดขึ้นมาทีเดียว เป็นมหาเศรษฐีก็ตั้งหลายชาติ เราสถานการณ์ไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น ใจต้องมั่นอยู่ในบุญกุศลให้เต็มที่ ปฏิบัติธรรมก็ทำให้เต็มที่ ศีลรักษาให้บริบูรณ์ ทานบารมีก็อย่าให้บกพร่อง ทำอย่างนี้เราจะได้ยอดแห่งบุญ สนองกลับคืนมาให้เรามีความสุข ยิ่งกว่าใคร ๆ ที่ได้รับทั้งมวล ให้ทุกคนตั้งใจหยุดนิ่ง แล้วอธิษฐานจิตตามใจชอบกันนะจ๊ะ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010270317395528 Mins