ความสําคัญของการเทศน์

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2567

670621_b33.jpg

 

ความสําคัญของการเทศน์


          การเทศน์เป็นวิธีการเผยแผ่ธรรมวิธีหนึ่งในจำนวน ๗ วิธี คือธัมมเทสนากถาดังกล่าวแล้วข้างต้น และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ปฏิบัติมากที่สุดด้วยพระองค์เอง ทั้งได้ผลมากที่สุดจนสามารถวางรากฐานพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคงและแพร่หลายขยายตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลา ๔๕ ปีเศษ แสดงว่าการเทศน์นั้นย่อมมีความสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการศาสนาจะพึงตระหนักและให้ความสำคัญต่อเนื่อง โดยสืบสานปฏิบัติตามพระพุทธปฏิปทาและแนวทางที่บุรพาจารย์ได้ปรับประยุกต์ใช้จนเป็นระเบียบวิธีที่เหมาะสมมาตราบเท่าทุกวันนี้


          การให้ความสำคัญต่อการเทศน์เป็นเรื่องจำต้องทำต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหากต้องการที่จะอนุรักษ์วิธีการสอนธรรมแบบของพระพุทธเจ้าเข้าไว้ และหากประสงค์จะธำรงรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ชักนำให้ปวงชนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอยู่แล้วให้ศรัทธามั่นคงยิ่งขึ้นนำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใสขึ้น และนำให้เป็นแบบอย่างแบบแผนแก่พหูชนในภายหลังจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องชัดเจนเพราะเห็นแนวทางที่ถูกต้องชัดเจนทั้งมีหลักเกณฑ์ที่จูงใจให้ปรารถนาจะศึกษาและปฏิบัติตามที่จำต้องอนุรักษ์และสืบสานวิธีการเทศน์เข้าไว้นั้นก็เพราะการเทศน์มีความสัมพันธ์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีผลเป็นความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอันความสำคัญของการเทศน์นั้นอาจกล่าวโดยสรุปได้หลายประการ เป็นต้นว่า
 

         ๑. เป็นกิจการอย่างเดียวที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมและหลักการที่เป็นนามธรรม การที่ประชาชนจะเข้าใจ เข้าถึง และได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาที่โดยอาศัยการฟังเท่านั้น แม้ผู้ใดจะมีสติปัญญามาก สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง แต่ก็ไม่อาจรู้เข้าใจและเข้าถึงพระพุทธศาสนาจนถึงขั้นบรรลุธรรมระดับต่างๆ ด้วยตนเองเช่นพระพุทธองค์ได้เลยตัวอย่างเช่นพระสารีบุตรแม้จะปัญญามาก เรียนรู้ศาสตร์และลัทธิของอาจารย์จนเจนจบได้อย่างรวดเร็วก็ไม่อาจรู้ธรรมสูงสุดได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยฟังธรรมจากพระอัสสชิและพระพุทธเจ้าจึงได้บรรลุธรรม การเทศน์เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการฟัง เมื่อฟังแล้วทำให้ได้คิดไตร่ตรองพิจารณาจนเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น หลังจากนั้นก็เกิดศรัทธาและการปฏิบัติตามมา เมื่อเกิดศรัทธาและปฏิบัติได้ผลแล้วก็กลายเป็นพุทธมามกชน เป็นอริยสาวกตามลำดับ


          อันที่จริง การเทศน์เป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาไปสู่ผู้ฟังเพื่อหาสมาชิกทางศาสนา วัดเป็นแหล่งสำคัญที่จะทำกิจกรรมนี้ พระในวัดเป็นผู้ดำเนินการจัดทำและถ่ายทอดความรู้นั้นส่วนประชาชนเป็นผู้รับการถ่ายทอดนั้น ถ้าวัดและพระในวัดทำหน้าที่เช่นนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์จากวัดจากพระ และได้ประโยชน์จากศาสนาไปในตัว เมื่อประชาชนได้ประโยชน์จากวัด พระ และศาสนาเขาก็จะเห็นความสำคัญของวัด พระ และศาสนา พร้อมจะให้ความอุปถัมภ์ สนับสนุน ช่วยเหลือให้เจริญรุ่งเรือง ให้มีกำลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และป้องกันรักษาไว้มิให้เป็นอันตราย วัดก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ศาสนาก็ดีที่ดำรงอยู่มาได้ทุกวันนี้ก็เพราะวัด พระ และประชาชนมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กันเช่นนี้นัยตรงกันข้ามหากวัดและพระไม่ทำหน้าที่ไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติ คือไม่ทำหน้าที่สอน ไม่ทำหน้าที่เทศน์ และ
ไม่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ประชาชนก็จะไม่รู้จักไม่เข้าใจเรื่องศาสนาก็ทำให้เขามองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัดของพระ

 

          เมื่อไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญก็จะพากันเพิกเฉยละเลย ไม่อุปถัมภ์ไม่สนับสนุนด้วยประการทั้งปวง จะพากันทิ้งวัดหรือหันหลังให้วัดหรือบางครั้งอาจมองเห็นไปก็ได้ว่าวัดและพระสงฆ์เป็นกาฝากสังคมไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนให้สังคม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปสนับสนุนส่งเสริมหรืออุปถัมภ์บำรุง เมื่อเห็นเช่นนี้ก็จะทอดทิ้งไม่อุปถัมภ์บำรุง หรือหากมีภัยอันตรายเกิดขึ้นแก่วัด แก่พระ หรือแก่ศาสนาก็จะไม่ปกป้องรักษา ซ้ำร้ายบางทีก็เข้าร่วมวงในการทำลายล้าง หรือเป็นตัวการก่อภัยอันตรายให้แก่วัด พระ และศาสนาเสียด้วยซ้ำไป

 

          ข้อนี้เปรียบได้กับโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอไม่ว่าโรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ต่างก็มีหน้าที่หลักคือให้การศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่นนั้นๆ ครูมีหน้าที่สอนวิชาการและอบรมบ่มเพาะนิสัยที่ดีงามตลอดถึงประสบการณ์ชีวิตต่างๆให้แก่เด็กนักเรียนซึ่งเป็นศิษย์ของตน หากโรงเรียนไม่ทำหน้าที่หลักคือไม่ให้การศึกษา ครูไม่ทำหน้าที่สอนวิชาให้เต็มที่ เมื่อเด็กมาโรงเรียนแล้วก็ปล่อยให้เล่นให้ดูหนังสือไปตามเรื่อง ถึงเวลาก็ปล่อยให้กลับบ้าน นักเรียนก็ไม่ได้ความรู้เท่าที่ควรได้ ต่อไปผู้ปกครองเด็กก็จะทยอยนำลูกหลานของตนออกจากโรงเรียนนั้นไปฝากเรียนที่อื่นนักเรียนก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ คนใหม่ก็ไม่มีเข้ามา ไม่ช้าโรงเรียนนั้นก็ต้องถูกยุบไป เมื่อโรงเรียนถูกยุบ ครูในโรงเรียนก็ต้องถูกย้ายไปสอนที่อื่น โรงเรียนเดิมอยู่ไม่ได้แล้วเพราะไม่มีนักเรียน

 

          ทั้งนี้เพราะสาเหตุมาจากโรงเรียนและครูไม่ทำหน้าที่ของตนให้ดีนั่นเองข้อนี้ฉันใด วัดและพระก็ฉันนั้น หากไม่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ไม่ทำหน้าที่วัดให้สมบูรณ์ หรือทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่ช้าไม่นานผู้คนที่จะพากันทิ้งวัดทิ้งพระไป พระก็จะอยู่ลำบาก ต้องย้ายตัวเองไปอยู่ที่อื่นในที่สุดวัดก็ไม่มีพระและร้างไปในที่สุด เหตุผลโยงใยกันอยู่อย่างนี้วัดที่ยังดำรงอยู่ได้และยังเป็นที่อยู่อาศัยอย่างผาสุกของพระสงฆ์ได้ก็เพราะวัดยังทำหน้าที่หลักคือสอนศาสนาพระยังสอนธรรมแก่ชาวบ้าน ยังทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมให้ชาวบ้านได้เกิดศรัทธาและเห็นประโยชน์ เขาจึงยังอุปถัมภ์บำรุงและปกป้องผองภัยต่างๆ ให้
 

          จริงอยู่ แม้กิจการทางศาสนาอย่างอื่นๆ เช่นการปกครอง การศึกษา การก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัด รวมถึงการบริหารจัดการวัดด้านอื่นๆ จะเป็นความมั่นคงของวัดได้ก็จริง แต่แม้ว่ากิจการเช่นนั้นจะเข้มแข็งปานใด หากขาดการเผยแผ่การสอนธรรมเสียแล้ว ก็มิอาจเรียกศรัทธาจากชาวบ้านได้ เพราะการที่เขาจะรู้เรื่องศรัทธา รู้เรื่องประโยชน์ของการทำบุญ รู้เรื่องการอุปถัมภ์บำรุงวัดและพระสงฆ์ว่ามีอานิสงส์อย่างไร ก็เพราะเขาได้ยินได้ฟังจากคำสอนของพระสงฆ์เป็นสำคัญดินแดนพระพุทธศาสนาแต่เก่าก่อน เช่น อินเดีย อินโดนีเซียอัฟกานิสถาน อิหร่าน ตลอดถึงมณฑลซินเกียงดินแดนทางทิศตะวันตกของจีน ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา มีถาวรวัตถุที่ใหญ่โตและสำคัญ มีพระสงฆ์นับหมื่นนับพันอยู่ในดินแดนนั้น แต่ก็ล่มสลายกลายเป็นที่รกร้างผุพังไป ท่ามกลางพระสงฆ์จำนวนมากเช่นนั้น

          ซึ่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในดินแดนนั้นๆ ได้จารึกไว้แล้ว เป็นการบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้คนในยุคต่อมาในดินแดนนั้นมิได้นับถือพระพุทธศาสนา ที่ไม่นับถือเพราะอะไร เพราะพระสงฆ์ไม่ทำหน้าที่สอนไม่ได้แนะนำธรรมที่ถูกต้องที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ให้ผู้คนในดินแดนนั้นเข้าใจและเข้าถึง ไม่อาจทำให้ผู้คนรักษาศรัทธาต่อพระศาสนาและต่อพระสงฆ์ที่เคยมีมาแต่อดีตยาวนานให้มั่นคงแข็งแรงอยู่ได้เหมือนเดิม ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์และชี้ชัดลงไปได้ว่าการสอนการเผยแผ่ศาสนานั้นเป็นกิจกรรมที่จะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างแท้จริง
 

          ๒. เป็นการดึงดูดสมาชิกของศาสนาได้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะการเทศน์แต่ละครั้งเป็นการถ่ายทอดธรรมไปสู่พหูชนได้อย่างรวดเร็ว ด้วยว่าการเทศน์ส่วนใหญ่จะทำต่อหน้าผู้คนจำนวนมากและปัจจุบันนิยมทำกันเป็นพิธีการ มีการจัดสถานที่และสิ่งประกอบต่างๆ อันอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง ทำให้สามารถถ่ายทอดธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เทศน์สามารถแนะนำชี้แจงข้อธรรมให้ผู้คนจำนวนมากได้รู้และเข้าใจได้โดยใช้เวลาไม่มากสามารถดึงดูดใจและศรัทธาของผู้ฟังได้ครั้งละมากๆ

           ทำให้เกิดสมาชิกของพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแต่ละเรื่องแต่ละกัณฑ์จบแล้วจะมีผู้เข้าใจธรรมบรรลุธรรมจำนวนมากๆ และท่านเหล่านั้นบ้างก็ขอบวช บ้างก็แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็ว การเผยแผ่ธรรมด้วยวิธีแบบอื่น แม้จะได้สมาชิกศาสนา แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ได้คราวละไม่มากคน สู้วิธีแบบธัมมเทสนากถาไม่ได้
 

          ๓. เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับศาสนิก ดังกล่าวมาแล้วว่าการเทศน์นั้นเป็นการถ่ายทอดธรรมทางศาสนาไปสู่พหูชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นการหยิบยื่นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนในชีวิตและหาฟังได้ยากที่สุดให้แก่ปวงชน เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายศาสนาต่อปวงชน เมื่อปวงชนได้รับฟังธรรมแล้วย่อมเกิดความรู้สึกศรัทธาและเห็นแจ้งในธรรม ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจําชีวิตของตน กลายเป็นศาสนิกของศาสนาโดยปริยายต่อมาเมื่อทางฝ่ายศาสนาคือวัดและพระสงฆ์ได้หยิบยื่นธรรมให้ศาสนิกได้บ่อยๆ

          ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันในการเทศน์แต่ละครั้งนั้นทั้งผู้เทศน์และผู้ฟังย่อมมีการเตรียมด้วยกันคือฝ่ายผู้เทศน์ย่อมคัดเฟ้นหัวข้อธรรมที่เหมาะสมไปเทศน์ให้ฟัง เทศน์ด้วยความตั้งใจ มุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นหลัก ฝ่ายผู้ฟังก็เตรียมกายไปฟัง เตรียมใจรับฟัง และเตรียมเครื่องบูชาธรรมไปด้วยหวังบุญกุศลอีกส่วนหนึ่ง เมื่อมีการเทศน์เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายย่อมเกิดขึ้นและแน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับนัยตรงกันข้าม หากทางฝ่ายศาสนาไม่มีกิจกรรมเช่นนี้ ฝ่ายศาสนิกย่อมไม่ได้รับประโยชน์ส่วนนี้ เมื่อเขามาวัดแล้วได้แต่ทำบุญให้ทาน ได้ฟังพระสวดมนต์บ้างในบางคราว ก็ได้แต่เพียงได้ทำพิธีกรรมแต่ไม่ได้ฟังธรรมอันเป็นเนื้อหาสาระแห่งข้อธรรม อย่างน้อยก็สาระใจความแห่งบทสวดมนต์ที่ได้ยินหรือที่สวดเป็นประจำ แม้ต้องการอยากจะทราบแต่ก็ไม่ได้ฟังจากวัดจากพระ นานเข้าก็มองไม่เห็นประโยชน์ว่าฟังสวดมนต์ทำไม

           ท้ายที่สุดก็มองไม่เห็นว่าจะทำบุญไปทำไม ตักบาตรไปทำไม ให้ทานรักษาศีลไปทำไม สุดท้ายก็ห่างวัดไปจะมาวัดก็เพียงมาทำกิจกรรมตามประเพณีหรือเมื่อต้องการประโยชน์บางอย่างเท่านั้น วัดที่มีเพียงกิจกรรมตามประเพณี และมีเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับศาลเจ้าในความคิดของศาสนิกบางคนหรือบางหมู่ คือเขามาวัดเพียงแค่นำอาหารมาถวายพระ หรือมาเพื่อทำพิธีกรรมเท่านั้นแล้วก็กลับบ้านไปหากฝ่ายศาสนาคือวัดและพระมีกิจกรรมคือมีเทศน์ มีการแสดงธรรม มีการบรรยายธรรมให้ศาสนิกผู้มาวัดได้ฟังเป็นประจำควบคู่กันไปกับการมีพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณี ก็จะทำให้ศาสนิกเกิดความรู้สึกว่าวัดและพระเป็นผู้เอื้อประโยชน์ด้านชีวิตจิตใจให้แก่ตน ชี้ทางเดินที่ถูกต้อง แนะนำสิ่งที่ประเสริฐให้รู้ ให้สติให้ปัญญาในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับอำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญบุญและการทำพิธีตามประเพณีแก่เขาดังนี้เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับศาสนิกก็จะดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมถอยด้วยการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกัน
 

           ๔. เป็นพิธีสำคัญ กล่าวคือการแสดงธรรมหรือการเทศน์นี้พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มแรกตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน แม้จะทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยวิธีอื่นก็ไม่มากและบ่อยครั้งเท่ากับการเทศน์ แสดงว่าพระองค์ทรงให้น้ำหนักความสำคัญแก่การเทศน์ โดยทรงเห็นประโยชน์ของการเทศน์ว่าจะสามารถเผยแผ่พระศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากพระองค์จะทรงปฏิบัติเรื่องการเทศน์ด้วยพระองค์เองแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้อีกหลายอย่างที่แสดงว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้

           เช่นเมื่อพระองค์จะส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาอย่างเป็นทางการครั้งแรกอันเป็นต้นเหตุให้เกิดวันมาฆบูชานั้นพระองค์ก็ทรงแสดงเนื้อหาสาระแห่งธรรมที่สำคัญของพระศาสนาตลอดถึงวิธีการประกาศพระศาสนาให้ได้ผล กล่าวคือทรงวางรากฐานแห่งการเทศน์ให้พระสงฆ์สาวกได้นำไปปฏิบัติเวลาไปเทศน์ให้ชาวบ้านฟังนั่นเอง จึงปรากฏผลออกมาว่าพระสงฆ์สาวกเหล่านั้นได้นำหลักและวิธีการที่ได้รับฟังมาจากพระพุทธองค์ไปเป็นยุทธศาสตร์ประกาศพระศาสนาโดยแยกย้ายกันไปเทศน์ให้ชาวบ้านฟังในที่ต่างๆ และปฏิบัติการแบบดาวกระจายคือไปทุกทิศทุกทาง ไม่ซ้ำทาง ไม่ซ้ำหมู่บ้านตำบลกัน ทำให้แสงธรรมสว่างไสวไปทั่วชมพูทวีปได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วด้วยยุทธศาสตร์ที่พระพุทธองค์ประทานไว้ให้อีกประการหนึ่ง

           พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระผู้แสดงธรรมอยู่เหนือกว่าพระองค์ ดังมีประวัติแสดงไว้ว่าเมื่อพระองค์ปรารถนาจะฟังธรรมจากพระสาวกบางรูปเป็นพิเศษ ก็ทรงให้จัดอาสนะสำหรับผู้แสดงธรรมนั้นสูงกว่าอาสนะของพระองค์ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเคารพธรรมและพระผู้แสดงธรรม ทั้งที่ธรรมนั้นก็เป็นธรรมที่พระองค์ตรัสรู้และนำมาสั่งสอนเอง และพระผู้แสดงธรรมนั้นก็เป็นพระที่พระองค์อุปสมบทให้เอง
 

          ๕. เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือการเทศน์นั้นมิใช่จะเป็นเพียงพิธีสำคัญเท่านั้น ชาวพุทธโดยทั่วไปยังมีความรู้สึกเป็นพิเศษว่าการเทศน์เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านต่างก็เห็นว่าการเทศน์เป็นพิธีกรรมที่ต้องพิถีพิถันในการจัดในการทำ โดยมีความรู้สึกและยอมรับว่าการเทศน์เป็นการสืบสานพุทธปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิบัติมาตลอดพระชนม์หลังจากตรัสรู้แล้ว และยกย่องพระผู้เทศน์ว่าเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าในขณะที่แสดงธรรมอยู่เพราะเป็นผู้นำธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเปิดเผยชี้แจงให้แจ่มแจ้งเป็นประโยชน์แก่ตน เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นองค์พระพุทธเจ้า

           ดังนั้นจึงแสดงออกซึ่งการยกย่องบูชาอย่างสูงสุด เช่นตั้งอาสนะพิเศษให้ผู้เทศน์ คือเมื่อมีพิธีแสดงธรรมด้วยการเทศน์จะตั้งอาสนะพิเศษที่สูงกว่าอาสนะอื่นแม้จะเป็นอาสนะพระมหาเถระ ซึ่งอาสนะนี้เรียกว่าธรรมาสน์ เป็นที่นั่งเฉพาะของผู้เทศน์หรือผู้แสดงธรรม และธรรมาสน์จะมีลัษณะพิเศษ มีลวดลายวิจิตร มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ด้วยเห็นว่าเป็นอาสนะที่ประทับแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้เทศน์ก็เป็นเสมือนองค์พระพุทธเจ้า จึงคู่ควรแก่อาสนะพิเศษนี้ ส่วนการแสดงชี้แจงธรรมหรือการเผยแผ่ธรรมด้วยวิธีอื่นไม่นิยมจัดตั้งอาสนะเป็นพิเศษเช่นนี้ผู้เทศน์เมื่อรับหน้าที่เทศน์จะพิถีพิถันในการเทศน์ในการแสดงชี้แจงธรรม

          โดยสำรวมระวังทั้งอากัปกิริยาทั้งวาจาคำพูดและตั้งใจเป็นพิเศษ รวมไปถึงมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะขึ้นธรรมาสน์ เช่นเลือกเฟ้นข้อธรรมที่จะเทศน์ ค้นคว้าหาคำอธิบายข้อธรรมนั้นๆ เพื่อนำมาแสดงให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ฟัง ปฏิบัติให้ถูกธรรมเนียมของการเทศน์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมีความรู้สึกว่าตนกำลังเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้าในการแสดงธรรม ผู้ฟังธรรมไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือคฤหัสถชน ขณะฟังธรรมอยู่จะให้ความเคารพธรรมอย่างสูงสุดด้วยการตั้งใจฟังฟังด้วยความเคารพ สงบกายวาจา นั่งประนมมือนิ่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ทำให้บรรยากาศในขณะนั้นสงบ มีแต่เสียงของผู้เทศน์เท่านั้นที่ตั้งพอประมาณ เพราะบรรยากาศสงบ กายวาจาสงบ และใจนิ่งฟังด้วยความเคารพเช่นนี้ จึงทำให้การเทศน์แต่ละครั้งมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ มีประสิทธิภาพ เข้าถึงใจของผู้ฟัง

          ทำให้ผู้ฟังได้รับอานิสงส์แห่งการฟังเต็มที่จัดเครื่องบูชาธรรมเป็นพิเศษ กล่าวคือในการเทศน์แต่ละครั้งนั้นผู้ฟังจะจัดดอกไม้ ธูปเทียนตั้งไว้หน้าธรรมาสน์ และจัดสิ่งของอันควรแก่สมณบริโภคเพื่อถวายแก่ผู้เทศน์ สิ่งของเหล่านี้เรียกกันทั่วไปว่ากัณฑ์เทศน์ซึ่งจะจัดอย่างพิถีพิถันและอย่างที่เพื่อบูชาธรรมด้วยสิ่งของที่เรียกว่าอามิสบูชา

          เป็นการจัดด้วยความเคารพและศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างล้นพ้น ด้วยมีความรู้สึกว่าผู้เทศน์คือผู้แทนพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น และด้วยความรู้สึกว่าเมื่อจัดอย่างที่ประณีตย่อมได้รับอานิสงส์แห่งทานควบคู่ไปกับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมเพราะการเทศน์มีความสำคัญเพื่อความมั่นคงดำรงอยู่แห่งพระพุทธศาสนาดังนี้ จึงนิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป บางแห่งจัดอย่างมโหฬารให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นการสืบสานประเพณีสมัยพุทธกาลเข้าไว้ น่าเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของผู้จัดเป็นยิ่งนัก ดังนั้น


          ผู้ปรารถนาความเจริญมั่นคงและความแพร่หลายขยายตัวแห่งพระพุทธศาสนาจึงปกปักรักษาและปฏิบัติตามธรรมเนียมการมีเทศน์อย่างเคร่งครัด และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนเต็มความสามารถแห่งตน เพราะมองเห็นสอดคล้องต้องกันว่าการเผยแผ่ธรรมด้วยการเทศนานั้นเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะธำรงรักษาพระพุทธศาสนาเข้าไว้ได้ตลอดกาลนาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014248013496399 Mins