สาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรม

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2567

670627_b44.jpg

 

สาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรม


                การฟังธรรมในยุคสมัยปัจจุบันเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆที่มีฟังกันอยู่ที่เป็นไปตามธรรมเนียมนิยมเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือเมื่อมีงานทำบุญสำคัญที่นิยมมีเทศน์กันมาเช่นงานศพ งานฉลอง ก็จัดให้มีเทศน์ด้วยเพื่อให้ถูกธรรมเนียม แต่ก็มีแบบพอให้เป็นกิริยาบุญว่าได้ทาแล้วหรือพอให้ได้เป็นอานิสงส์เท่านั้น มิได้หวังผลอานิสงส์แห่งการฟังธรรมตามที่ควรจะเป็น หรือแม้แต่การมีเทศน์ในวันพระหรือวันธรรมสวนะก็จัดให้มีแบบรักษาธรรมเนียมปฏิบัติมิให้ขาดหายไปบางแห่งก็งดไปเลย หรือมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น

 

                สำหรับผู้ฟังเทศน์ไม่ว่าจะเป็นในวัดหรือในบ้านก็มีเฉพาะเจ้าภาพและผู้สูงวัยเป็นหลัก คนหนุ่มคนสาวและเด็กๆ จะมีอยู่บ้างก็น้อย เมื่อเป็นดังนี้ก็เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับอนาคตของพระพุทธศาสนาและของวัดตลอดถึงของพระสงฆ์เองด้วย เพราะเมื่อประชาชนไม่ชอบที่จะฟังความห่างเหินธรรมหรือฟังไปตามธรรมเนียมโดยมิได้สนใจในเนื้อหาแห่งธรรมหรือความรู้ความเข้าใจทางธรรมที่จะนำไปปฏิบัติตามธรรมก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จะมองเห็นเพียงว่าการฟังเทศน์เป็นธรรมเนียม วัดเป็นเพียงสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา พระสงฆ์เป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วต่างคนก็ต่างไปเมื่อไม่มีพิธีกรรมก็ไม่สนใจวัดไม่สนใจพระสงฆ์ ต่างคนต่างอยู่อันสาเหตุที่แท้จริงในเรื่องนี้หากไม่โยนกลองไปที่ฝ่ายผู้สดับคือชาวบ้านว่าเขาไม่สนใจฟังเอง เพราะเขาไม่มีเวลา เขาไม่มีศรัทธาเขาไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนา เขาไม่อย่างนั้นอย่างนี้ปัญหาก็คงแก้ไม่ได้ เพราะไปมองหรือไปเหมาเอาว่าปัญหาเกิดจากชาวบ้าน

 

                หากย้อนกลับมาคิดกันใหม่ว่าสาเหตุที่คนไม่อยากฟังธรรมกันนั้นมาจากฝ่ายผู้แสดงคือพระสงฆ์เองในฐานะที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาก็อาจแก้ปัญหานี้ได้ ในสมัยพุทธกาลนั้นผู้คนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อน ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระสงฆ์สาวกเสียด้วยซ้ำไป ทั้งยังมีศาสนามีลัทธิที่ตัวเองนับถืออยู่แล้ว พระพุทธเจ้าและพระสาวกต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในการเผยแผ่ศาสนาที่เดียว ไหนจะทำให้เขาเลิกนับถือของเดิม ไหนจะนำเสนอของใหม่ให้เขานับถือนับเป็นงานยากไม่น้อย แต่ก็ทำกันได้จนวางฐานพระพุทธศาสนาสำเร็จและแพร่หลายไปทั่วแต่สมัยปัจจุบันโดยเฉพาะในบ้านเมืองเราที่ผู้คนนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว รู้จักพระสงฆ์ดีอยู่แล้ว เป็นแต่ว่ากำลังจะห่างเหินจากศาสนาไปเท่านั้น ปัญหานี้ดูจะไม่เป็นงานยากเหมือนสมัยพุทธกาล เพราะเป็นงานแค่ดึงศรัทธาประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้กลับคืนมา หรือเพียงสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่คนรุ่นใหม่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นพุทธศาสนิกชนอยู่แล้วแต่ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนาดีพอเท่านั้น

 

                จากการวิจัยและวิจารณ์ของนักวิชาการและท่านผู้รู้ทั้งหลายพบว่า ปัญหาการที่ประชาชนไม่สนใจที่จะฟังธรรม ไม่อยากฟังธรรมนอกจากมีสาเหตุมาจากตัวประชาชนแล้ว ยังพบว่าสาเหตุหลักมาจากแวดวงของพระสงฆ์เองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

 

๑. สาเหตุจากตัวผู้เทศน์
                 สาเหตุข้อนี้ถือว่าเป็นสาเหตุหลักและเป็นสาเหตุใหญ่ เป็นที่มาของเรื่องนี้เลยทีเดียว เพราะผู้เทศน์เป็นผู้นำแสดงหรือเป็นผู้แสดงนำ เหมือนนักแสดงที่เป็นพระเอกของเรื่องที่สามารถจะดึงดูดผู้ชมได้ไม่น้อยไปกว่าเนื้อเรื่อง บทบาทของนักแสดงนำที่แสดงได้ดีและตีบทแตกย่อมโน้มน้าวใจผู้ชมให้อยากดูอยากชมและติดตามการแสดงของผู้นั้นไปเรื่อยๆ จะแสดงเรื่องใดที่ไหนก็ติดตามชมเป็นแฟนประจำ เช่นเดียวกันผู้เทศน์ที่ดีและเก่งย่อมสามารถเรียกศรัทธา สร้างความประทับใจให้เกิดแก่ผู้ฟัง สามารถนำพาให้ผู้คนสนใจมาฟังและติดตามฟังเป็นเจ้าประจำได้ตรงกันข้ามหากเขาได้ฟังเทศน์จากท่านรูปใดแล้วผิดหวัง ไม่เกิดความประทับใจไม่ได้ความรู้ใหม่หรือเห็นความไม่พร้อมของผู้เทศน์ศรัทธาในการฟังเทศน์ก็ไม่เกิด ที่เคยมีก็ลดน้อยถอยลง

                 หากพบเห็นเช่นนั้นบ่อยเข้าก็จะล้มเลิกความคิดที่จะยอมเสียเวลามาฟังเทศน์ตลอดไป กลายเป็นคนไม่สนใจฟังธรรม เบื่อที่จะฟัง และเมื่อมีความจำเป็นต้องฟังในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ทนฟังไปด้วยความอึดอัดใจสาเหตุหลักที่เกิดจากผู้เทศน์ที่ทำให้ผู้คนเบื่อที่จะฟังเทศน์ ไม่สนใจที่จะฟังเทศน์ เพราะเกิดความรู้สึกต่อผู้เทศน์ในทางลบ คือรู้สึกว่าผู้เทศน์นั้นไม่มีความพร้อม คือกายไม่พร้อมบ้าง วาจาไม่พร้อมบ้างใจไม่พร้อมบ้าง ซึ่งความไม่พร้อมนี้จะปรากฏชัดเจนตั้งแต่ก่อนขึ้นธรรมาสน์จนถึงขณะเทศน์ ผู้ฟังสามารถมองออกว่าผู้เทศน์พร้อมหรือไม่พร้อม เต็มใจหรือไม่เต็มใจ เตรียมตัวมาดีหรือไม่ได้เตรียมมาเลย

                  ผู้เทศน์ที่ขาดประสบการณ์ก็ดี นุ่งห่มไม่เรียบร้อยก็ดี ร่างกายไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะเทศน์ก็ดี ไม่ได้ฝึกฝนการวางท่วงท่าในการขึ้นธรรมาสน์ การจับการเปิดคัมภีร์ ลีลาการอ่าน เป็นต้นมาเลยเทศน์ไปตามใจชอบอย่างไม่มีแบบมีแผน เหล่านี้ล้วนแสดงว่าไม่มีความพร้อมทั้งสิ้นที่จะเทศน์ไม่มีความรู้ คือผู้เทศน์ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมไม่อาจแยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังได้แจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีความรู้ในหลักการเทศน์เพราะไม่มีประสบการณ์และไม่ได้ฝึกฝนมาในเรื่องนี้ ตลอดถึงไม่มีความรู้วิชาที่เป็นองค์ประกอบสำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบในการเทศน์ เช่นความรู้ทั่วไป วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาวรรณคดี เป็นต้นตามที่กล่าวแล้วในตอนต้น เมื่อผู้เทศน์ไม่มีความรู้หรือรู้ไม่ละเอียดลึกซึ้ง เมื่อเทศน์ก็จะเทศน์ไปตามความรู้ที่มีอยู่ ทำให้ขาดตกบกพร่อง เกิดความไม่ถูกต้องไม่ชัดเจนได้ง่าย ซึ่งผู้ฟังที่พอมีความรู้ในวิชาต่างๆ ข้างต้นอยู่บ้างก็จะฟังออกและคิดว่าการฟังเทศน์ของตนครั้งนี้ไม่ได้รับประโยชน์ทางด้านเนื้อหาสาระ ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้เข้าใจในธรรมข้อใหม่ๆ ให้ กล่าวคือไม่ได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมนั่นเอง ก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะฟังเทศน์อีก
 

                 ไม่มีการเตรียมการ คือผู้เทศน์ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ไม่เตรียมเรื่องที่จะเทศน์ ไม่เตรียมคิดหรือค้นหาคำอธิบายข้อธรรมเพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน ไม่สอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวกับงานอันเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเป็นเครื่องประกอบเวลาเทศน์เช่นเป็นงานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพเป็นต้น จะได้เทศน์ได้ถูกงานและถูกคนเมื่อไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า เวลาเทศน์จึงขาดข้อมูล ขาดประเด็นสำคัญของข้อธรรมที่ควรแสดงในงานเช่นนั้น ท้ายที่สุดก็จะเทศน์แบบสุกเอาเผากิน พอให้ผ่านไป พอเป็นกิริยาบุญ ผู้ที่ฟังเทศน์เมื่อซึ่งประสบกับภาวะเช่นนี้บ่อยๆ หรือเป็นประจำก็จะเกิดความระอาใจ เกิดความเบื่อหน่ายที่จะมานั่งทนฟังในสิ่งที่ไม่ถูกกับความประสงค์ไม่ก่อให้เกิดสติปัญญาอะไรมากนัก บางครั้งอาจได้บาปเสียด้วยเนื่องจากนึกตำหนิพระเทศน์อยู่ในใจ กลายเป็นโทษไปไม่คุ้มเลย จึงไม่ฟังเสียดีกว่า

                 แม้จะไม่ได้บุญแต่ก็ไม่ได้บาปติดตัวเพราะนึกตำหนิพระหรือเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการเทศน์ของท่านไม่มีความกระตือรือร้นในการเทศน์ คือผู้เทศน์ขาดความตั้งใจในการเทศน์ ไม่คิดอยากจะเทศน์แต่จำใจต้องเทศน์เพราะเหตุผลบางอย่าง หรือไม่พร้อมที่จะเทศน์เพราะไม่มีอารมณ์ที่จะเทศน์บ้างกำลังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ้าง ไม่ได้เตรียมตัวบ้าง ต้องรีบไปทำกิจอื่นบ้างต้องผละงานที่กำลังทำมาเทศน์เพื่อฉลองศรัทธาเจ้าภาพหรือเพราะหน้าที่บังคับบ้าง ภาวะเหล่านี้ทำให้ขาดความกระตือรือร้น เมื่อเทศน์ก็เทศน์แบบเสียไม่ได้ เทศน์พอเป็นพิธี แต่ผลลัพธ์ก็คือทำให้เจ้าภาพหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ บางรายถึงกับน้อยเนื้อต่ำใจในตัวผู้เทศน์ว่าไม่เห็นความสำคัญแก่เขาและงานของเขา ทำให้ศรัทธาในตัวผู้เทศน์ลดลงไป สำหรับผู้ฟังทั่วไปจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการฟังเทศน์ด้วยเห็นว่าแม้ตัวผู้เทศน์เองยังไม่กระตือรือร้นในเรื่องนี้จะมีประโยชน์อะไรที่มาเสียเวลาฟังอะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดความเสียหายทำลายศรัทธาในการฟังเทศน์ลงไปโดยไม่สมควรเป็น
 

๒. สาเหตุจากบทเทศน์
                 สาเหตุข้อนี้เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระแห่งบทเทศน์ที่ผู้เทศน์ถ่ายทอดไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งมีความบกพร่อง ขาดความสมบูรณ์ ขาดเนื้อหาสาระที่สำคัญ จับประเด็นไม่ได้ ไม่น่าฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่สร้างความประทับใจ ไม่ดึงดูดจิตใจให้ติดตาม เป็นต้น สาเหตุที่เกิดขึ้นจากบทเทศน์ได้แก่เนื้อหาสาระของบทเทศน์นั้นไม่ตรงกับงานคือผู้เทศน์ยกเรื่องหรือข้อธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำ เพราะงานแต่ละงานย่อมมีวัตถุประสงค์และรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่ผู้เทศน์มิได้แยกแยะงานออกให้ชัดเพื่อจะได้เลือกหัวข้อธรรมและเลือกอธิบายให้เหมาะสมกับงานอันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไปกันได้ ไม่ขัดแย้งกับงานนั้นๆ เมื่อเรื่องที่เทศน์กับงานไปคนละทาง จึงไม่ดึงดูดความสนใจและทำให้เกิดความรู้สึกว่าขัดแย้งไม่ตรงความต้องการ คือผู้ฟังเทศน์มีความประสงค์จะฟังเรื่องเช่นนี้ ฟังข้อธรรมเช่นนี้

                 แต่ผู้เทศน์ไม่อาจรู้ถึงความต้องการของผู้ฟังได้ จึงเทศน์ไปตามความต้องการของตัวเองซึ่งได้เตรียมมาหรือมีความเห็นว่าเรื่องนี้ธรรมข้อนี้น่าจะเหมาะจะควร เลยทำให้ผู้ฟังรู้สึกผิดหวัง ไม่ได้ฟังตามที่ต้องการ แม้ว่าเรื่อง ข้อธรรม และเนื้อหาสาระที่ผู้เทศน์ได้แสดงไปนั้นจะมีความถูกต้องชัดเจนก็ตามแต่ไม่ตรงกับความต้องการของเขาเท่านั้นเป็น ไม่มีเนื้อหาน่าสนใจ คือผู้เทศน์ไม่อาจแยกแยะอธิบายขยายความหัวข้อธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เนื้อหาที่เทศน์ก็ไม่น่าสนใจเช่นไม่ตรงประเด็นบ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงบ้าง เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรใหม่บ้าง จึงกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ไม่น่าฟังไป หากผู้เทศน์สามารถอธิบาย อ้างเหตุผล ใช้ภาษาที่เหมาะสม

                 มีมุมมองใหม่ให้คิด มีแง่มุมใหม่ให้รู้ เนื้อหาที่แม้จะเก่าและรู้กันทั่วอยู่แล้วก็จะน่าสนใจขึ้นโดยพลัน เพราะผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าได้รู้อะไรใหม่เพิ่มขึ้นไม่กระทบใจคือบทเทศน์หรือคำเทศน์ที่ผู้เทศน์ได้แสดงออกไปนั้นไม่มีคำในประโยคใดที่น่าประทับใจ ที่ทำให้เกิดความสะดุดใจเพราะโดนใจอย่างจังด้วยตรงกับความรู้สึกตรงกับเรื่องราวชีวิตของตัวหรือตรงกับความต้องการอยากจะรู้อยู่พอดี บทเทศน์ที่แสดงไปตามปกติ พื้นๆ แสดงแต่ความคิดความเห็นของตนไปตลอด ไม่มีคำคมไม่มีคำภาษิต ไม่มีคำเป็นหลักฐานซึ่งมีที่มาที่ไปชัดเจน อย่างนี้ย่อมจะไม่กระทบใจผู้ฟังนัก ผิดกับคำที่พิเศษ คำที่มีความหมายลึก คำที่เป็นคำคมคำภาษิต เป็นคำคล้องจอง มีความหมายกินใจ คำเช่นนี้แม้จะเป็นเพียงคำหรือประโยคสั้นๆ แต่อาจจะโดนใจกระทบความรู้สึกเต็มที่เพราะให้สติให้ปัญญาผู้ฟังได้เป็นอย่างดี และอยากจะจดจำไว้เป็นข้อปฏิบัติ
 

๓. สาเหตุจากวิธีนำเสนอ

วิธีนำเสนอ คือเทคนิค ศิลปะ และกลวิธีในการถ่ายทอดธรรมไปสู่ผู้ฟัง ข้อนี้ก็เป็นเครื่องชี้วัดว่าการเทศน์นั้นน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ ในการเทศน์แต่ละครั้งแม้ผู้เทศน์จะเตรียมตัวมาดี เนื้อหาสาระก็ดี แต่ขาดศิลปะในการถ่ายทอดเวลาแสดงธรรม ย่อมทำให้ความน่าสนใจลดน้อยลงไปมากทีเดียว ในการเทศน์แต่ละครั้งจำต้องอาศัยศิลปะในการแสดงเข้าช่วย เช่นลีลาท่าทาง การวางเสียง ความดังของเสียง จังหวะคำ ความชัดเจนของภาษา เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เหมือนนักร้องและนักแสดงลิเกที่ปรับเสียงร้องให้เข้ากับบรรยากาศของเพลงที่ร้องหรือเรื่องที่แสดง ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมถึงกับหลั่งน้ำตาก็มีจริงอยู่ การเทศน์นั้นมีขีดจำกัดในการนำเสนอ เพราะไม่อาจใช้วิธีหลากหลายตามใจชอบเหมือนการเผยแผ่ธรรมแบบอื่นได้ แต่ก็สามารถใช้ศิลปะต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเข้ามาช่วยได้ และจำเป็นต้องอาศัยทุกครั้ง มิเช่นนั้นการเทศน์แต่ละครั้งจะดูจืดชืด ไปเรื่อยๆไม่มีอะไรให้น่าสนใจฟัง ผู้เทศน์ที่มีวิธีนำเสนอที่ดี มีลีลา และมีประสบการณ์ แม้บางครั้งอาจไม่ได้เตรียมตัวมาดี แม้บางครั้งจะไม่พร้อม หรือเป็นผู้มีเสียงไม่ใสไม่ชัดเจนเป็นปกติ แต่ฉลาดในการนำเสนอมีลีลาในการเทศน์ ก็สามารถดึงดูดความสนใจ

                 เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงได้เช่นกัน ตรงกันข้ามผู้เทศน์แม้จะมีการเตรียมตัวมาอย่างดีเตรียมเรื่องเทศน์มาอย่างดี ทั้งอธิบายความได้ถูกต้องชัดเจน แต่ขาดลีลา ขาดประสบการณ์ ขาดหลักวิธีในการเทศน์ ก็ทำให้เสียอรรถรสและความน่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งถ้าขาดทั้งความพร้อม ทั้งเนื้อหาสาระ และวิธีนำเสนอด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นตัวเร่งผลักดันให้ผู้คนเบื่อต่อการฟังเทศน์มากยิ่งขึ้น เท่ากับเป็นผู้มีส่วนทำลายระบบการเผยแผ่ธรรมด้วยการเทศน์ที่เดียว เพราะมีผลกระทบต่อระบบการเทศน์โดยภาพรวม และมีผลเป็นลบสืบเนื่องในระยะยาวสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนไม่สนใจที่จะฟังธรรมเหล่านี้เป็นภาพรวมที่เห็นได้ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาที่มีผลให้คนเบื่อที่จะฟังเทศน์เมื่อจำเป็นต้องฟังก็ฟังพอเป็นพิธี ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่สนใจที่จะฟัง เมื่อพระใช้เวลาเทศน์นานก็บ่นไม่พอใจ หรือบางครั้งถึงกับมาพูดขอร้องว่าเทศน์เท่านั้นเท่านี้นาทีก็พอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและหาทางแก้ไขกัน มิเช่นนั้นจะบานปลาย

                 ทำให้ผู้คนเห็นการเทศน์เป็นเพียงพิธีกรรมตามหลักศาสนพิธีเท่านั้น เมื่อถึงเวลานั้นก็เท่ากับว่าการเทศน์ซึ่งเป็นวิธีเผยแผ่ธรรมที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดมาแต่อดีตถูกลดความสำคัญลงจนแทบจะไม่มีความหมายอะไรแล้วเมื่อเป็นเช่นนี้การเผยแผ่ธรรมที่แจ่มชัดรัดกุม มีที่มาที่ไปยาวนาน มีหลักฐานอ้างอิงได้ และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นหลักในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาตลอดก็จะไม่มีใครให้ความสำคัญ ไม่มีการสืบสานต่อด้วยการปฏิบัติให้จริงจัง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาโดยตรง
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014020323753357 Mins