กูฏทันตสูตร พร้อมคําอธิบายประกอบ

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2567

670627_b46.jpg

 

บทที่ ๗
กูฏทันตสูตร พร้อมคําอธิบายประกอบ

 


คำอธิบาย : ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์นับพันๆ ปีก่อนพุทธกาล ประชากรมีไม่มาก แว่นแคว้นต่างๆ ไม่ใหญ่โต การปกครองของแต่ละอาณาจักรไม่สลับซับซ้อน พระราชาปกครองตนเองด้วยหลักทศพิธราชธรรม โดยถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติส่วนตน แต่การปกครองแว่นแคว้นพระองค์ทรงใช้หลักราชสังคหวัตถุ คือหลักสงเคราะห์ของพระราชาซึ่งเรียกกันว่า “ยัญ ๕” มีดังนี้
 

๑. สัสสเมธะ ฉลาดในการทำนุบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหารโดยเก็บภาษีที่นาร้อยละ ๑๐ ตามความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อทำนุบำรุงเหล่าเกษตรกร
 

๒. ปุริสเมธะ ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ โดยให้ค่าจ้างบำเหน็จรางวัลแก่ทหารทุก ๆ ๖ เดือน
 

๓. สัมมาปาสะ ความรู้จักผสมผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา ๓ ปี
ประชาชน

 

๔. วาชเปยยะ การมีวาจาอันดูดดื่ม ด้วยการพบปะให้โอวาท
 

๕. นิรัคคะ บ้านเมืองสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงกัน บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอนยัญ ๔ ประการแรกเป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผลแต่ต่อมาเมื่อหลายร้อยปีก่อนยุคพุทธกาล มีพราหมณ์บางคนบางกลุ่มบางพวกไม่ซื่อตรงต่อวิชาความรู้ของตน ได้ดัดแปลงการบูชายัญเพื่อกำจัดศัตรูการเมือง และผลประโยชน์ส่วนตน โดยเปลี่ยน
 

๑. สัสสเมธะ เป็นอัศวเมธะ คือการฆ่าม้าบูชายัญ
 

๒. ปุริสเมธะ เป็นการฆ่าคนบูชายัญ
 

๓. สัมมาปาสะ เป็นการทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอด เมื่อไปตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่นบูชายัญ
 

๔. วาชเปยยะ การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อมจิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ
 

๕. นิรัคคฬะ การฆ่าครบทุกอย่าง
 

การบูชายัญโดยการฆ่าสัตว์ก็แพร่ระบาดไปทั่วชมพูทวีป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบูชายัญ ให้กลับมาเป็นราชสังคหวัตถุตามเดิม ดังเหตุการณ์ในกฏทันตสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ซึ่งมีเรื่องราวดังต่อไปนี้

 

(๓๒๓) ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวมคธชื่อ ขาณุมัต ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัตสมัยนั้น พราหมณ์กฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมายมีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร เป็นราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
 

คำอธิบาย : สมัยพุทธกาล แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่ เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพิมพิสารต่อมากษัตริย์พระองค์นี้ได้บรรลุธรรมขั้นต้นเป็นพระโสดาบันในเวลานั้น พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมพิธีบูชามหายัญโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ตัว ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อฆ่าบูชายัญ
 

(๓๒๔) พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขาณุมัต ได้ฟังข่าวว่าท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลเสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านขาณุมัต ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่าแม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
 

๑. เป็นพระอรหันต์
๒. ตรัสรู้เองโดยชอบ
๓. เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
๔. เสด็จไปดี
๕. รู้แจ้งโลก
๖. เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรได้อย่างยอดเยี่ยม
๗. เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. เป็นพระพุทธเจ้า
๙. เป็นพระผู้มีพระภาค

 

คำอธิบาย : บทพุทธคุณทั้ง ๙ นี้ ชาวพุทธใช้สวดสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งปัจจุบัน
ไม่ว่าชาวพุทธประเทศใดๆ เมื่อมาประชุมพร้อมกันก็จะสวดสรรเสริญคุณของพระองค์ได้เหมือนกันทั่วโลกพระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้คนอื่นรู้ตามทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้นมีความงามในท่ามกลางมีความงามในที่สุดทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ก็การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

 

(๓๒๕) ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขานุมัติ ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา

คำอธิบาย : แสดงว่าประชาชนในยุคพุทธกาลจิตใจใฝ่ธรรมเป็นอย่างยิ่ง
 

(๓๒๖) ขณะนั้น พราหมณ์กฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณปราสาทชั้นบน มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านออกจากหมู่บ้านขามัต เดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”

คำอธิบาย : แสดงถึงความเอาใจใส่สอดส่องดูแลประชาชนสมเป็นผู้นำของกูฏทันตพราหมณ์
 

(๓๒๗) อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัติโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”

คำอธิบาย : เมื่อผู้นำดี แม้ที่ปรึกษาก็ย่อมได้รับการฝึกอบรมจึงหูไว ตาไว การข่าวรวดเร็วทันใจ ไม่คลาดเคลื่อน
 

(๓๒๘) ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า เราได้ยินมาว่าพระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ทางที่ดี เราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖
 

คำอธิบาย : การบูชายัญเป็นพิธีกรรมที่ยอมรับถือปฏิบัติในชมพูทวีปมาเป็นระยะเวลายาวนานนับแต่โบราณกาล วิธีบูชาก็มีหลากหลายรูปแบบ จนไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ารูปแบบใดถูกต้องกูฏทันตพราหมณ์เป็นผู้คงแก่เรียน มีปัญญามาก ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการบูชายัญมามากมาย บังเกิดความสงสัยลึกๆ ในใจว่าบูชายัญคืออะไร เพราะหลักฐานต่างๆ แสดงชัดว่าเป็นพิธีกรรมที่นำความสุขความเจริญมาให้แก่มหาชนได้จริง แต่ที่ปฏิบัติการบูชายัญกันมีแต่การเบียดเบียนเข่นฆ่าพิฆาตให้อาสัญ แล้วจะนำความสุขมาให้ได้อย่างไรจากข้อมูลเชิงลึกซึ่งสืบเสาะค้นมาสาวไปถึงอดีต จนพบว่ามีการบูชามหายัญที่ประกอบด้วยยัญ ๓ บริวาร ๑๖

               เป็นยัญที่ยิ่งใหญ่ให้ผลมากยัญประเภทนี้มีวิธีปฏิบัติอย่างไร กูฏทันตพราหมณ์เป็นผู้มีบุญบารมีจะได้เป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน จึงบังเกิดความสงสัยค้างคาใจมาตลอดเวลาว่า การบูชามหายัญคืออะไร ประกอบกับกูฏทันตพราหมณ์เป็นนักปกครอง ทั้งยังเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ และที่สำคัญคือไม่มีทิฐิมานะ อวดดื้อถือตัว แต่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนครั้งนี้ตนจะบูชามหายัญตามความเชื่อดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมาเพื่อความสุขความเจริญของหมู่บ้านที่ปกครอง พราหมณ์ตะขิดตะขวงใจเหลือเกินที่จะทำตามแบบดั้งเดิม เพราะฉะนั้นเงื่อนงำการบูชามหายัญ จึงอยู่ที่ยัญ๓ บริวาร ๑๖ ว่าคืออะไร ประกอบกับการข่าวของกูฏทันตพราหมณ์ยอดเยี่ยมมากๆ จึงรู้ว่าผู้ที่จะไขข้อข้องใจของตนได้ตลอดทั้งชมพูทวีปมีเพียงผู้เดียวเท่านั้น คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาถึงหมู่บ้านของตนจึงดีใจ รีบไปเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลถามเรื่องการบูชามหายัญ ซึ่งมียัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนจากพระพุทธองค์ทันที


(๓๒๙) พราหมณ์กฏทันตะจึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่าพ่ออำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอกอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กฏทันตะจะไปเฝ้า
พระสมณโคดมด้วย"อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กฏทันตะแล้วเข้าไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขามัต ครั้นแล้วก็บอกว่า "ท่านขอรับพราหมณ์กฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย"

 

 

คำอธิบาย : พราหมณ์กูฏทันตะแม้จะเป็นหัวหน้ามีอำนาจสูงสุดในการปกครองหมู่บ้าน แต่ก็ไม่โอ้อวดแสดงความบ้าอำนาจถือยศศักดิ์กลับแสดงความมีมารยาทอันงดงาม ด้วยการพูดจาไพเราะเสนาะหูแก่ชนชั้นผู้ใต้ปกครอง

 

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ 
 

(๓๓๐) เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัตเพราะตั้งใจจะบริโภคมหายัญของพราหมณ์กฏทันตะ พอได้ฟังว่า “พราหมณ์กฏทันตะจักไปเฝ้าพระสมณโคดมด้วย” จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ
 

คำอธิบาย : เนื้อที่เกิดจากการฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นประโยชน์มหาศาลแก่พวกพราหมณ์โดยตรง ในฐานะผู้เป็นเจ้าพิธี ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของพราหมณ์ดีกว่าพวกวรรณะอื่น

(๓๓๑) ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ"พราหมณ์กฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดว่าจักไปเฝ้าพระสมณโคดม”พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านกูฏทันตะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเลย ท่านกฏทันตะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เกียรติยศของท่านกูฏทันตะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะเพราะว่าท่านกูฏทันตะเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและมารดาถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ท่านกฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะทำตาม อนึ่ง

              ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯปริว เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ชำนาญโลกายตศาสตร์และมหาบุรุษเป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหมมีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนักเป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญเป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานแบบชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่ายเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจากทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านกูฎทันตะท่านกฏทันตะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัยล่วงกาลวัยมามาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ
 

ท่านกูฏทันตะเป็นผู้ที่เจ้าพิมพิสารจอมทัพและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมท่านกูฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัตซึ่งมีประชากร และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ด้วย ธัญญาหาร เป็นราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทาน ปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านกฏทันตะจึงไม่ควรไป เข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ”
 

คำอธิบาย : เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทุกยุคทุกสมัย เมื่อใครก็ตามที่รู้ว่าตนจะต้องเสียผลประโยชน์ จะยกเหตุผลข้างๆ คูๆ ต่างๆนานามาอ้างเพื่อให้ประชาชนคล้อยตาม โดยอาศัยความเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ความสามารถในการพูด การมีวาทะคมคาย มีวาจาเชือดเฉือนจึงเป็นธรรมดาที่พราหมณ์ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านพราหมณ์นั้นๆ จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนด้วยการอ้างเหตุผลต่างๆเหตุผลที่นำมาอ้างเพื่อการถือตัวว่าเหนือกว่าผู้อื่นในทุกยุคทุกสมัยก็มักจะอยู่ในทำนองเดียวกัน คือ


๑. อ้างชาติตระกูล
๒. อ้างความร่ำรวย
๓.อ้างความรู้ การศึกษา
๔. อ้างบุคลิกรูปร่าง
๕. อ้างศีล และความเคร่งครัด
๖. อ้างความสามารถในการพูด
๗. อ้างความสามารถในการสอน ความเป็นครูอาจารย์
๘. อ้างอายุ
๙.อ้างความยิ่งใหญ่ของลูกศิษย์
๑๐. อ้างผลงานที่ทำมาตลอดชีวิต

 

พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพุทธคุณ
(๓๓๒) เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์กฏทันตะได้กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่าพระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เมื่ออ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา
เราต่างหากควรไปเฝ้าท่านพระโคดมท่านทั้งหลาย ข่าวว่าพระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว (ไม่ได้ถูกขับไล่ แต่บวชด้วยความเต็มพระทัย)ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมาย ทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศออกผนวชแล้วพระองค์กำลังหนุ่มแน่น มีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกจากพระราชวังออกผนวชเป็นบรรพชิตเมื่อพระชนกและชนนีไม่ทรงปรารถนา (จะให้เสด็จออกผนวช)มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ ทรงกันแสงอยู่ พระสมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกพระราชวัง
ไปผนวชเป็นบรรพชิตพระองค์มีรูปร่างน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็นกุศลมีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่ายทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่ชนมากมายทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่งทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพราหมณ์ผนวชแล้วจากตระกูลสูง คือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ประชาชนต่างบ้านต่างเมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดมทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่งพระสมณโคดมมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้

 


             พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรีอ่อนหวาน ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อนทรงเป็นผู้ที่บริษัท ๔ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมเทวดาและมนุษย์มากมายเลื่อมใสพระสมณโคดมพวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่บ้านหรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรงเป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่นๆ ไม่ทรงรุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ผู้เรืองยศ

               ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศเพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยมพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสีราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะพราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถือพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโดคมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสักการะ เคารพ นับถือบูชา นอบน้อมพระองค์เป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือบูชา นอบน้อมพระสมณโดคมเสด็จมาถึงหมู่บ้านขาณุมัติโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่าเป็นแขกของเรา ซึ่งเราควรสักการะ เคารพนับถือ บูชา นอบน้อม พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของพวกเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรจะเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียงเท่านี้ แต่พระสมณ
โคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้วพระสมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้”

คำอธิบาย : ถ้าชาวพุทธสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นเรื่องปกติ เพราะสาวกย่อมสรรเสริญคุณของศาสดาตน แต่นี่เป็นการสรรเสริญคุณของผู้ที่อยู่นอกศาสนา ทั้งยังท่ามกลางมหาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระพุทธองค์ ย่อมเป็นคำกล่าวที่น่าเชื่อถือยิ่ง และเป็นการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง การกระทำอันกล้าหาญของกูฏทันตพราหมณ์นี้ เป็นสิ่งยืนยันเหตุผลที่พระเจ้าพิมพิสารทรงตัดสินพระทัยมอบหมู่บ้านขาณุมัตให้กูฏทันตพราหมณ์ปกครองทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นราชนิกูลกูฏทันตพราหมณ์สรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างละเอียดลออน่าเลื่อมใส ซึ่งแสดงถึงความเป็นนักปราชญ์มหาบัณฑิต เป็นผู้นำ มีความรอบรู้ ไม่หลงภูมิใจติดยึดความรู้ของตนแต่ขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และมีความสามารถในเชิงการข่าวเป็นเยี่ยม พฤติกรรมของกูฏทันตพราหมณ์นี้กล่าวได้ว่า เป็นคุณสมบัติของนักรัฐศาสตร์ตัวจริง ซึ่งสรุปได้ ๔ ประการ คือ 


๑. เป็นนักปราชญ์มหาบัณฑิต ไม่หลงตนเอง แต่ฝักใฝ่แสวงหาความรู้ตลอดเวลา


๒. มีความสามารถในการข่าวเป็นเยี่ยม


๓. มีวาทศิลป์ที่เฉียบคม สามารถยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่หลบประเด็น แต่อธิบายทีละประเด็น ดังพราหมณ์ ๕๐๐ คนอ้างเหตุแห่งการถือตัว ๑๐ ประการ ตั้งแต่ชาติตระกูลโภคทรัพย์ฯลฯ กูฎทันตพราหมณ์ก็อ้างเหตุผลโดยยกคุณสมบัติของพระพุทธองค์ที่เหนือกว่าตนมาหักล้างโดยไม่หลบประเด็นแม้แต่ข้อเดียว มีแต่หักทีละประเด็นๆ ทั้งยังยกคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พราหมณ์ไม่สามารถมีได้เพิ่มมาอีกหลายเท่าตัว


๔. เป็นผู้ที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาแต่ใจ ไม่เห็นแก่พวกพ้องและไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าจากพฤติกรรมของพราหมณ์ทั้ง ๕๐๐ คนเป็นสิ่งตอกย้ำว่า ไม่ว่าทุกยุคทุกสมัย ถ้าตราบใดยังไม่ซาบซึ้งในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ คนก็จะมีความเชื่อฝังใจว่า ความดีความชั่วของคนขึ้นอยู่กับชาติตระกูล การศึกษา ความร่ำรวย หาใช่ที่การกระทำไม่ ความเชื่อเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง อย่างบางคนบรรพบุรุษของตนมีประวัติไม่งาม มีความผิดพลาดทางการเมือง หรือไม่ได้กระทำผิด แต่ประชาชนหลงเข้าใจผิดว่าทำผิด บุคคลเหล่านั้นก็หมดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าไม่ว่าในด้านใดๆ เพราะประชาชนยึดถือผิดๆ ว่าคนดีคนเลวอยู่ที่ชาติตระกูล หาใช่ที่การกระทำไม่กูฏทันตพราหมณ์หาเป็นเช่นพราหมณ์ ๕๐๐ คนไม่ แต่เป็นผู้ที่มีธรรมทั้ง ๔ ประการนี้อย่างมั่นคง จึงชนะใจมหาชนอย่างสิ้นเชิง

(๓๓๓) เมื่อพราหมณ์กฏทันตะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า “ท่านกฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไป
ก็ควร” พราหมณ์กฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน”

 

คำอธิบาย : ตรงนี้สะท้อนว่ากูฏทันตพราหมณ์เป็นผู้เลือกคบคนสมกับเป็นนักรัฐศาสตร์ มหาปราชญ์ มหาบัณฑิต เลือกคบคนที่มีเหตุมีผล ฝึกคนในบังคับบัญชาให้มีเหตุมีผล ให้เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่เมื่อพราหมณ์ ๕๐๐ คนได้ฟังวาทศิลป์อันเฉียบคมของกูฎทันตพราหมณ์จึงยอมรับความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเหตุและผล มิใช่ด้วยความเกรงใจกูฏทันตพราหมณ์ จึงเต็มใจที่จะไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทุกคน

 

เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช


(๓๓๔) ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควรฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตบางพวกกราบพระผู้มีพระภาค
บางพวกสนทนา (ทักทาย)บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาคบางพวกก็ประกาศชื่อและตระกูล
บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

 

คำอธิบาย : เมื่อศรัทธาคือความเชื่อ ปสาทะคือความเลื่อมใสตลอดจนสติคือระลึกรู้ตัว และปัญญาในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น
การแสดงออกต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมแตกต่างกันไป

 

 

(๓๓๕) พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดมข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ
ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

 

คำอธิบาย : วิสัยของนักปราชญ์บัณฑิต ผู้ประพฤติธรรมที่เหมือนกันก็คือ มีความกระหายความรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ค้างคาใจจะรีบซักถามทันที โดยไม่มีการอ้อมค้อม
 

 

(๓๓๖) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมาท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพัง ทรงคิดคำนึงว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน
 

คำอธิบาย : เรื่องบูชายัญเป็นเรื่องราชสงเคราะห์เป็นหลักรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้ง และถูกบิดเบือนมาเป็นระยะเวลานานมาก จนเกิดความเข้าใจผิดฝังลึกๆ อยู่ในใจมหาชน การจะพลิกความเข้าใจผิดมาเป็นความเข้าใจถูก จำเป็นต้องมีตัวอย่างประกอบการอธิบาย แทนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงไขข้อข้องใจของกูฏทันตพราหมณ์ทันที กลับทรงระลึกชาติในอดีตของพระองค์ที่เกี่ยวกับการบูชายัญมาเล่าให้พราหมณ์และมหาชนฟังด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อให้มหาชนที่มีฐานความรู้ ฐานความเชื่อแตกต่างกันได้เข้าใจพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจะคิดเหมือนพระเจ้ามหาวิชิตราช คือ ลืมความแก่ ลืมความตาย ปรารถนาจะครองความยิ่งใหญ่นานๆ
กษัตริย์เมื่อรบชนะข้าศึกมามากมักปรารถนาจะบูชามหายัญเพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของตน แม้การประกอบพิธีบูชายัญจำต้องใช้
เครื่องมือมาก ใช้ทรัพย์มาก เครื่องประกอบพิธีย่อมต้องใช้มากก็ต้องยอม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อายุยืนยาวเป็นหมื่นๆ ปีพรั่งพร้อมด้วยกามสุขทั้งหลาย เมื่อละโลกแล้วให้เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลนาน ซึ่งหมายถึงความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย หรือเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดีย


(๓๓๗) ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า“พราหมณ์ วันนี้เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคทรัพย์สมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์
สุขแก่เราตลอดกาลนาน”


(๓๓๘) เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า“บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน
ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่
ไม่สมควร"พระองค์ทรงมีพระราชดำริอย่างนี้ว่า “เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม ตำหนิโทษ หรือเนรเทศอย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะว่าโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้คือ


๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์
 

๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
 

๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

คำอธิบาย : ทุกยุคทุกสมัยในการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ต้องการผู้รู้จริง มีความซื่อสัตย์ และกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างชาญฉลาดต่อผู้บังคับบัญชา ดังเช่นพราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบ ๓ ประการ คือ
 

๑. มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้ามหาวิชิตราชอย่างแท้จริง
 

๒. มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาความรู้ของตน สมกับที่เป็นนักปราชญ์ผู้รู้จริง พราหมณ์ปุโรหิตรู้ว่าการบูชามหายัญด้วยการฆ่าสัตว์นั้นไม่ถูกต้องผู้ประกอบพิธีกรรมคือพราหมณ์เป็นผู้ได้ผลประโยชน์ แต่ทุกข์หนักกลับตกอยู่ที่ประชาชน ถ้าพราหมณ์ปุโรหิตคิดจะแสวงหาผลประโยชน์จาก
การบูชายัญก็สามารถที่กระทำได้โดยง่าย แต่ท่านกลับไม่ทำ เพราะตัวท่านมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาความรู้

 

๓.มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ในฐานะเป็นปุโรหิตของราชสำนัก ท่านจึงมีความเกรงกลัวต่อบาปจากคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการของพราหมณ์ปุโรหิต แทนที่ท่านจะแนะนำพระเจ้ามหาวิชิตราชให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ ท่านกลับแนะนำให้ทรงกระทำการเตรียมพร้อมจะทำราชสงเคราะห์ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความเฉียบแหลมของพราหมณ์ปุโรหิตใน ๒ เรื่อง คือ
 

๑. ท่านมองปัญหาหนักพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชได้ทะลุปรุโปร่ง ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ทรงมีความเชี่ยวชาญในการรบ เมื่อรบได้ชัยชนะเหนือข้าศึกทั้งปวงแล้ว ผลของการรบแผ่ขยายอำนาจ ขยายราชอาณาเขตของพระองค์ ได้ก่อความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าแก่ประชาชน ทำให้ต้องพลัดพรากจากที่อยู่ต้องถูกฆ่าตาย เศรษฐกิจของประชาชนตกต่ำย่อยยับ ลุกลามเป็นปัญหาการเมือง ถึงกับมีโจรปล้นเมือง ความหนักพระทัยนี้ทำให้ทรงคิดอย่างกษัตริย์นักรบ คือจะพึ่งอำนาจของเทพยดา ด้วยการฆ่าสัตว์บูชามหายัญตามลัทธิพราหมณ์ในยุคนั้น จะได้ขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนของประชาชนให้หมดไปได้ โดยทรงหารู้ไม่ว่าจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจทั้งภาคประชาชนและประเทศให้ทรุดหนักลงไปอีก
 

๒. พราหมณ์ปุโรหิตท่านใช้วิจารณญาณตรองดู ท่านก็รู้ว่าปัญหาหนักพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชนี้มิใช่ปัญหาทางการทหารมิใช่ปัญหาโจรผู้ร้าย มิใช่ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจขั้นวิกฤต ซึ่งลุกลามกลายเป็นปัญหาโจรผู้ร้ายและผู้ก่อการร้ายท่านจึงไม่โยงความผิดให้โจรและผู้ก่อการร้ายว่าเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนของแผ่นดิน ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจัดการปราบโจรจึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งในประเทศไทยเคยใช้ความรุนแรงในการปราบโจร โดยไม่เฉลียวใจว่าโจรเหล่านั้นไม่ใช่โจรโดยสันดาน แต่เป็นโจรเพราะความจำเป็น เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาผู้รักชาติต้องหนีเข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก คนไทยจึงต้องฆ่ากันเองอย่างน่าอนาถเมื่อท่านมองปัญหาได้ถูกต้องว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ที่ระดับรากหญ้าเป็นอันดับแรก โดยที่พราหมณ์ได้แบ่งประชากรในระดับรากหญ้าออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
 

๑. กลุ่มเกษตรกร


๒. กลุ่มพ่อค้าแม่ขาย


๓.กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย


ถ้าจะแก้ให้ถูกจุดจึงต้องแก้ที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะตรงบุคคลระดับรากหญ้า ๓ กลุ่มนี้ซึ่งเดือดร้อนมากที่สุด และต้องแก้อย่างรัดกุมเร่งด่วนพลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียนประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้อง
ปิดประตูบ้าน

 

คำอธิบาย : สิ่งที่แสดงวิสัยทัศน์ของที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาคือสามารถบอกวิธีประเมินความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการแก้ปัญหานั้นได้ชัดเจนถูกต้อง ซึ่งเท่ากับรับรองผลของวิธีการที่ตนเองแนะนำจึงจะได้ชื่อว่าเป็นที่ปรึกษาที่แท้จริง คือสามารถบอกวิธีการและพยากรณ์ผลลัพธ์ของการปฏิบัติการได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องและแม่นยำพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์พลเมืองเหล่านั้นผู้ขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และได้มีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน
ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน

 

คำอธิบาย : การสงเคราะห์ช่วยเหลือใดๆ จะต้องให้ถูกคน ให้ได้สิ่งที่เขาขาดแคลน ให้อย่างเหมาะสม ให้แล้วผู้รับสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ ไม่สูญเปล่า เข้าทำนองถ้าให้ข้าวเขาไป กินได้ไม่กี่มื้อก็หมดแต่ถ้าสอนวิธีปลูกข้าวให้ เขาจะมีข้าวกินตลอดชีวิต หรือเขาปลูกข้าวเป็นอยู่แล้วแต่ยังขาดพันธุ์ข้าว ก็รีบจัดหาพันธุ์ข้าวให้เขาเร็วๆ แล้วจะดีเอง

ความสำเร็จของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงอยู่ที่
๑. การจัดกลุ่มบุคคลเป้าหมาย หรือกลุ่มปัญหาได้อย่างถูกต้องชัดเจน
๒. แก้ปัญหาที่ระดับรากหญ้าเป็นอันดับแรกก่อน
๓.เพิ่มทุนให้เหมาะสมกับบุคคลและอาชีพ
๔. มีการคัดบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่มีความขยันขันแข็งในอาชีพนั้นๆ มาเป็นผู้รับทุนเพื่อให้เป็นบุคคลต้นแบบ มิใช่ให้ทุนแบบเหวี่ยงแห่ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคนเกียจคร้าน จึงจะเป็นการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน ผลย่อมออกทันตาเห็น

ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า“ท่านผู้เจริญ เราได้กำจัดเสี้ยนหนามคือโจรหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่านและได้มีกองราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนามไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัวอยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญ ที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน"

คำอธิบาย : เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับรากหญ้าประสบผลสำเร็จตามที่พราหมณ์ปุโรหิตเสนอแนะ โดยที่ยังทรงเข้าพระทัยผิดว่าเป็นเพียงการเตรียมการบูชามหายัญให้มีความศักดิ์สิทธิ์เต็มที่เท่านั้น จึงทรงปรารภการบูชามหายัญกับพราหมณ์ปุโรหิตอีก
ตรงนี้แสดงถึงอัจฉริยภาพของพราหมณ์ปุโรหิตในการใช้กลยุทธ์อันแยบคาย ที่จะทำให้พระเจ้ามหาวิชิตราชซึ่งทรงมีความเชื่อฝังพระทัย
ว่าการบูชามหายัญจะต้องกระทำด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเท่านั้น ให้ทรงมีความเข้าใจถูกเสียใหม่ว่าการบูชามหายัญคือการทำราชสงเคราะห์ แต่แทนที่พราหมณ์จะบอกตามตรงว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยผิด แต่กลับค่อยๆ แนะนำให้ทรงกระทำตามการบูชายัญที่ถูกต้องอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่สำคัญพราหมณ์ยึดเป้าประสงค์ของพระเจ้ามหาวิชิตราชเป็นที่ตั้ง และถนอมน้ำพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเป็นอย่างยิ่ง ไม่ยอมหักความเชื่อของพระองค์เลย เพราะพราหมณ์ปุโรหิตแยกความเชื่อส่วนพระองค์เกี่ยวกับการบูชามหายัญออกจากพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่บ้านเมืองตลอดกาลนานพร้อมกันนั้นพราหมณ์ปุโรหิตกลับนำความเชื่อส่วนพระองค์มาเป็น
เส้นทางไปสู่เป้าประสงค์ที่พระองค์ต้องการ โดยที่พระเจ้ามหาวิชิตราชไม่ทรงรู้พระองค์เลย

 

(๓๓๙) พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราช
อาณาเขตของพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน”

 

คำอธิบาย : พราหมณ์ปุโรหิตเมื่อถูกพระเจ้ามหาวิชิตราชทวงถามเกี่ยวกับการบูชามหายัญอีก พราหมณ์ก็ไม่ขัดพระทัยเพราะท่านเป็น
ผู้มีปัญญาและมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้ามหาวิชิตราชเป็นอย่างยิ่งพราหมณ์จึงกราบทูลถวายคำแนะนำให้พระองค์ทรงสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มบุคคลระดับบน ๔ กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย

 

๑. กลุ่มเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งเป็นกลุ่มพลังอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
 

๒. กลุ่มอำมาตย์ราชบริพาร ซึ่งเป็นกลุ่มพลังอำนาจข้าราชการประจํา
 

๓. กลุ่มพราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นกลุ่มพลังอำนาจวิชาการและมีฐานะดี
 

๔. กลุ่มคหบดี ซึ่งเป็นกลุ่มพลังเศรษฐกิจหากทั้ง ๔ กลุ่มร่วมมือกันได้ย่อมเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแผ่นดินให้แข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ทั้ง ๔ กลุ่มระดับบนนี้แม้มีจำนวนคนน้อยแต่มีพลังอำนาจมากทั้งด้านการเมือง ด้านกำลังคน ด้านสติปัญญา ทรัพย์สินและเครือข่ายในขณะที่ ๓ กลุ่มระดับรากหญ้ามีจำนวนคนมากมายมหาศาลแต่ก็ไม่มีพลังขับเคลื่อน มีแต่พลังการผลิต จึงต้องนำพลังระดับบนของทั้ง ๔ กลุ่มมาเป็นพลังขับเคลื่อนการผลิตในระดับรากหญ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้วรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน” คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิดตอนนี้เป็นเวลาบูชายัญ” บุคคล ๔ พวกนี้ที่เห็นชอบตามพระราชดำริจัดเป็นองค์ประกอบของยัญนั้น

 

คำอธิบาย : พระเจ้ามหาวิชิตราชเสด็จมาเป็นองค์ประธานเพื่อสร้างความร่วมมือกับ ๔ กลุ่มระดับบน โดยทรงใช้กลยุทธ์การให้เกียรติและปิยวาจา แทนที่จะทรงใช้พระราชอำนาจสั่งการ กลับทรงให้ความเป็นกันเอง ทรงใช้วาจาไพเราะเพื่อผูกมัดจิตใจกลุ่มบุคคลระดับบนทั้ง ๔ กลุ่มให้เกิดความรู้สึกว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระองค์ ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขาดแคลนของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพราะต่างก็มีโภคทรัพย์สมบัติ สติปัญญา ความรู้ ความสามารถและเครือข่าย แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดคือขาดการได้รับการยอมรับนับถือจากผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน เมื่อพระองค์ทรงเลือกใช้วิธีการให้เกียรติ จึงตรงใจ โดนใจกลุ่มบุคคลระดับบน ๔ กลุ่มเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนับว่าเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของพราหมณ์ปุโรหิต

คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง 


(๓๔๐) พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง คือ 


๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนีถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล


๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
 

๓.ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง
 

๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยทัพ ๔ เหล่าอยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ


๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรงเป็นทานบดีมิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้าคนเดินทางวณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนืองๆ 


๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้นๆ ไว้มาก

 

๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆ
 

๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีตอนาคตและปัจจุบันได้พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง
ดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้

 

คำอธิบาย : การจะให้มหาชนทั้งแผ่นดินโดยเฉพาะกลุ่มกำลัง ๔ กลุ่มระดับบนยอมรับจนหมดใจ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่หาที่ติไม่ได้เพราะฉะนั้นกษัตริย์ที่จะครองใจคนทั้งประเทศได้จึงต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๘ ประการคือ


๑. มีชาติตระกูลดี
๒. มีพระรูปงดงาม
๓. มีโภคทรัพย์สมบัติมาก
๔. มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร
๕. มีความใจบุญมีเมตตา
๖. มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เพื่อรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี
๗. มีความเป็นนักปราชญ์บัณฑิตเต็มภาคภูมิ
๘. มีวิสัยทัศน์


คุณสมบัติทั้ง ๘ ประการจัดเป็นองค์ประกอบของยัญ เพราะ


๑. การบูชามหายัญเป็นการทำราชสังคมสงเคราะห์ให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชนทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ดังนั้น ประชาชนทุกกลุ่มทั้งระดับบนและระดับรากหญ้าจะต้องร่วมมือประสานใจทั้งด้านสติปัญญา ความรู้ความสามารถมาช่วยกันจึงจะสำเร็จ
 

๒. ผู้มาเป็นศูนย์รวมใจในการบูชามหายัญ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือ ไม่มีข้อตำหนิทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เพื่อป้องกันความกินแหนงแคลงใจ การดูถูกในใจอยู่ลึกๆ ทั้งต่อหน้าและลับหลังโดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลระดับบนเมื่อเทียบกับผู้เป็นศูนย์รวมใจแล้วก็ให้ระย่อท้อถอย ไม่อาจคิดเปรียบเทียบได้เลย บุคคลเช่นนี้จึงจะทำให้ทุกคนทุ่มเททำงานให้หมดทั้งกายทั้งใจ

 

คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง
 

(๓๔๑) พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างคือเป็น

๑.ผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล


๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิมัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ
 

๓.เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
 

๔. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชาพราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบแห่งยัญโดยแท้
 

คำอธิบาย : การบูชามหายัญจะประสบความสำเร็จได้นอกจากจะต้องมีผู้เป็นศูนย์รวมใจแล้ว จะต้องมีผู้วางแผนดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเหมาะสม บุคคลที่จะรับผิดชอบเช่นนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ๔ ประการคือ
 

๑.มีชาติตระกูลดี ซึ่งสะท้อนถึงการได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาอย่างมากพอจนหาที่ตำหนิไม่ได้
 

๒. มีความรอบรู้ในสรรพวิชาความรู้
 

๓. มีศีล เพื่อความไว้วางใจว่าไม่เป็นผู้มีนอกมีใน มีความบริสุทธิ์ เป็นที่น่าไว้วางใจ
 

๔. เป็นบัณฑิตมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหา อย่างน้อยเป็นลำดับที่ ๒ ของปราชญ์ทั้งแผ่นดินการบูชามหายัญครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งแผ่นดิน เป็นการทุ่มเทกำลังคน ทรัพย์สิน สติปัญญาของคนทั้งแผ่นดิน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน จึงต้องการที่ปรึกษาและเสนาธิการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ๔ ประการ ดังเช่นพราหมณ์ปุโรหิตจึงจะทำได้สำเร็จ

 

ยัญพิธี ๓ ประการ 


(๓๔๒) ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการ

ถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า

๑.เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง


๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป


๓.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่ากองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้วพราหมณ์ปุโรหิต

แสดงยัญวิธี ๓ ประการดังกล่าวมานี้ถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญ
 

คำอธิบาย : ยัญพิธี ๓ ประการนี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพใจผู้นำใน ๒ ประเด็นคือ


๑. คุณภาพใจผู้นำกับตำแหน่งมีผลต่อความสงบสุขของมหาชนผู้นำที่มีตำแหน่งใหญ่แต่ใจแคบ การดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนย่อมทำไม่ทั่วถึง ประชาชนจะประสบความลำบากผู้นำที่มีตำแหน่งเล็กแต่ใจใหญ่ ประชาชนจะประสบสุขแต่ตนเองจะเดือดร้อนผู้นำที่มีตำแหน่งเล็กและใจแคบ บ้านเมืองจะเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าผู้นำที่มีตำแหน่งใหญ่และใจใหญ่ บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง
 

๒. ยัญพิธี ๓ ประการ แท้จริงเป็นกุศโลบายขยายใจผู้นำให้มีความเมตตากรุณา เห็นประโยชน์สุขของคนทั้งแผ่นดินทั่วหน้า ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่เห็นแก่ความสิ้นเปลือง แม้ชีวิตก็สละได้เพื่อคุ้มครองปกป้องคนทั้งแผ่นดิน ผู้ที่มีใจใหญ่เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสมมติเทพ เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในชาตินี้โดยไม่ต้องรอชาติหน้า

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

(๓๔๓) ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนทรงบูชายัญ คือ

๑.ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นจากการฆ่าสัตว์ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์จักได้ผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นจากการฆ่าสัตว์เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด


๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของ
พระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาคทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

๓.ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามจักได้รับผลกรรมของเขาเองขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด


๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จจักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเท็จจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียด จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียดจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้นพวกที่กล่าวคำหยาบจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้นแล้วทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขาจักได้รับผลกรรมของเขาเองขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการเพ่งเล็งอยากได้ของ
ของเขาเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

 

๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิตพยาบาทจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิดพราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญ
 

คำอธิบาย : คำแนะนำ ๑๐ ประการของพราหมณ์ปุโรหิตเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการถวายคำแนะนำเพื่อให้พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงตระหนักถึงภาษิตที่เกี่ยวกับการทำงานใหญ่ว่า “ปลามาได้ งูก็มาได้”เมื่อมหาชนจำนวนมากมารับบริจาคทานก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีทั้งคนมีศีลและไม่มีศีลธรรมประจำใจ ยากที่จะคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีศีลเท่านั้นให้เข้ารับบริจาคทาน เพราะฉะนั้นพระองค์จึงควรตัดพระทัย วางอุเบกขา ทรงแผ่เมตตาแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ที่เข้ามารับบริจาคทานให้เสมอทั่วถ้วนหน้า และกำหนดพระทัยแน่วแน่ว่าจะทรงบริจาคแต่เฉพาะผู้มีศีลมีธรรมเท่านั้นนอกจากนี้ ควรประกาศคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้ามารับบริจาคทานของพระองค์ให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน

               แม้มีพวกแปลกปลอมปะปนเข้ามา พวกนี้ก็จะได้รู้ตัวว่าตนเองไม่มีสิทธิ์รับ ถึงเข้ามารับก็จะรับด้วยความแหนงใจ ด้วยความเก้อเขิน สำหรับคนดีมีศีลมีธรรมมีสิทธิ์เข้ามารับก็จะเกิดความปลาบปลื้มใจว่าพระองค์ทรงรับรู้เห็นคุณงามความดีของตนและทรงสนับสนุน ก็จะได้ตั้งใจทำคุณงามความดีทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พวกที่ไม่ดีก็จะได้รู้ตนเอง จะได้เร่งปรับปรุงตนให้ถึงมาตรฐานคนดีตามที่พระองค์ทรงกำหนดไว้การกระทำของพราหมณ์ปุโรหิตครั้งนี้แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีจิตวิทยาอันสูงส่ง เข้าใจสภาพจิตใจของผู้ให้และผู้รับริจาคทานเป็นอย่างดีจึงกล่าวได้ว่า ผู้จะทำงานใหญ่ให้ประสบความสำเร็จลำพังแค่การตัดสินใจถูกต้องยังไม่เพียงพอ จะต้องตัดใจและทำใจให้ถูกต้องอีกด้วย ก็เพราะพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงตัดพระทัยใน ๑๐ เรื่องดังกล่าวได้ จึงทรงได้ยัญสมบัติ ๓ ประการ คือมีจิตใจผ่องใสตลอดทั้งวาระของการให้ คือก่อนให้ กำลังให้ และให้แล้ว

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

(๓๔๔) พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติเจ้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชา
มหายัญให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ

 

๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๓.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด


๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ไม่ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้นก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงามไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึงกระนั้นก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใสพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลังถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลังโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

๘.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญโดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็งประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรงเป็นทานบดี ทรงปิดประตูไว้ ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรงเป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางวณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนืองๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงท่าพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่สืบทอดต่อกันมานั้นๆ ไว้มาก ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรมเพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่สืบทอดต่อกันมานั้นๆ ไว้มาก โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงท่าพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

 

๑๑.เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่านี้เป็นจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่านี้เป็นจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงท่าพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิตไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงสามารถที่จะดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่ใช่ผู้ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชาทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
 

๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใครๆ จะกล่าวว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา โปรดทรงทราบตามนี้เถิดขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนาและทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิดพราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เจ้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล

 

(๓๔๕) ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิดไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักบูชายัญไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่นแม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายบริกรรมแท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยขึ้น นมเปรี้ยวน้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
 

(๓๔๖) ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทพวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราชกราบทูลว่า“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับไว้เถิด"ท้าวเธอตรัสว่า “อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์สินจำนวนมากมาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็นของพวกท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก"คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า “การที่พวกเราจะรับทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้นเป็นการไม่สมควรเลย พระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญเอาเถอะ พวกเรามาร่วมบูชายัญโดยเสด็จพระราชกุศลกันเถิด”

 

คำอธิบาย : เป็นพระจริยาวัตรที่งดงามมากของพระเจ้ามหาวิชิตราชเมื่อทรงทำงานใหญ่ย่อมมีผู้ให้ความร่วมมือมาก นำข้าวของมาถวายเพื่อ
โดยเสด็จพระราชกุศลในการบริจาคทานซึ่งบางคนบางพวกอาจไปรีดไถยักยอกจากประชาชนทั้งระดับบนและระดับรากหญ้า ถ้าพระองค์ทรงรับสิ่งของเหล่านี้ไว้ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศ เพราะทรงเป็นต้นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อนด้วยพระปรีชาชาญ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับผู้นำสิ่งของมาถวายอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับทางอ้อมให้บุคคลเหล่านั้นต้องนำทรัพย์สิ่งของที่ได้รับพระราชทานและที่นำมาถวายนำกลับไปบริจาคให้แก่มหาชนในท้องที่ของตนการกระทำของพระเจ้ามหาวิชิตราชนับเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสําหรับผู้บริหาร

 

(๓๔๗) ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญพวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางใต้แห่งหลุมยัญพวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญพวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญแม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญาไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรมแท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้นสิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖
 

(๓๔๘) เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า “โอ! ยัญ โอ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กฏทันตะว่า “เหตุใดท่านกูฏทันตะจึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าว
ถูกต้องเล่า"พราหมณ์กฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่
แม้ผู้ที่ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม
ไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนี้ควรเป็นอย่างนี้แต่พระองค์ตรัสว่า “เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่นนี้
ได้มีแล้วในการนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าพระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช ผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์
ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัดหรือว่าผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการ
บูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายไปแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายไปแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัยนั้นเราได้ (เกิด) เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้
อำนวยการบูชายัญนั้น"

 

ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน
 

(๓๔๙) พราหมณ์กฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดมมียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการจัดเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้"พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์เขาทูลถามว่า “ ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญที่ใช้ทุนทรัพย์ในการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ นี้เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัยให้นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์ในการตระเตรียมน้อยกว่าแต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ นี้"พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตมรรค จึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น”ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีลนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนั้นได้ เพราะในยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้างฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”

(๓๕๐) เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้"

(๓๕๑) เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และมากกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้"พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้"

(๓๕๒) เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมากว่าวิหารทานและกว่าสรณคมณ์นี้พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย คือ

เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์
เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ
เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น
เหตุแห่งความประมาทนี้ เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ
๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทานและกว่าสรณคมณ์นี้"

(๓๕๓) เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมากว่าวิหารทาน กว่าสรณคมณ์ และกว่าสิกขาบทเหล่านี้"พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (จึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯบรรลุปฐมฌานอยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ ฯลฯบรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌาน นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ ฯลฯน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ ฯลฯ ไปดูกันนี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ ฯลฯรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อนๆ พราหมณ์ไม่มียัญสมบัติอื่นๆ ที่จะดียิ่งกว่า ประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว"

พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

(๓๕๔) เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กฏทันตะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก“ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้น
จงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น กระแสลมอ่อนจงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด"

 

พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

(๓๕๕) ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ

ทรงประกาศเรื่องทาน
เรื่องศีล
เรื่องสวรรค์
เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม
และอานิสงส์ในการออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ

 

เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบอ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนาคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลสปราศจากมลทินเกิดขึ้นแก่พราหมณ์กูฏทันตะบนที่นั่งนั่นเองว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา”เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

(๓๕๖) ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม
บรรลุธรรม
รู้ธรรม 
หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใดๆ
มีความแกล้วกล้าไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลักคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณี

 

(๓๕๗) ที่นั้น พราหมณ์กูฏทันตะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่วงราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
 

(๓๕๘) ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังโรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กฏทันตะพร้อมกับภิกษุสงฆ์ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป

 

 

 

กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0027474800745646 Mins