หลวงพ่อตอบคำถาม วิเคราะห์ “ทักษิโณมิกส์” กับรัฐศาสตร์เชิงพุทธ

วันที่ 25 มิย. พ.ศ.2567

670625_b42-1.jpg

 

บทที่ ๖
หลวงพ่อตอบคำถาม วิเคราะห์ “ทักษิโณมิกส์”

กับรัฐศาสตร์เชิงพุทธ


            บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ เรียบเรียงจากคำถามคำตอบ ซึ่งคณะบรรณาธิการได้รับความเมตตา จากพระเดชพระคุณหลวงพ่อทตฺตชีโว (พระภาวนาวิริยคุณ) ในการตอบคำถามเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่ความรู้จากพระไตรปิฎก ซึ่งหลวงพ่อและทีมงานวิชาการอาศรมบัณฑิตได้ค้นคว้าศึกษามาเป็นเวลานานปี และค้นพบว่าในพระสูตรต่าง ๆ นั้นเป็นที่รวมแห่งสรรพวิชาความรู้ทางการปกครอง ทางเศรษฐศาสตร์ ทางสังคมศาสตร์ และที่สำคัญคือทางมนุษยศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์

            ในยุคที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำรัฐบาลได้เรียกร้องให้คนไทยทุกอาชีพทุกสังคม ได้ออกมาช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหาบ้านเมืองเสนอความคิดในทางสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการรวมพลังแผ่นดินเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า ก้าวสู่ความเป็นอารยประเทศแน่นอน ในที่สุดหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศจะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้อยู่ในระดับแข่งขันได้บนเวทีโลกในยุคโลกาภิวัตน์ 

              เป้าหมายสำคัญของบทวิจารณ์นี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเติมช่วยสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศีลธรรม คุณธรรม ทำให้เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความเจริญทางศีลธรรมซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นแตกต่างจากทุกประเทศเพราะเรามีทุนทรัพย์ที่สำคัญยิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตลอดเกือบหนึ่งพันปี คือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ ที่เป็นอริยทรัพย์ที่เป็นหลักชัยของประเทศตลอดมา และนี่คือจุดได้เปรียบที่สำคัญที่ประเทศอื่นเทียบได้ยาก และทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลกอย่างแท้จริง เป็นที่ยอมรับของนานาชาติในอนาคต เป็นประเทศแห่งศีลธรรมคำถามคำตอบต่อไปนี้ คือการประยุกต์ความรู้ในพระพุทธศาสนาเพื่อวิเคราะห์ทิศทางของการบริหารประเทศไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป

 

คําถาม
นโยบายทักษิโณมิกส์ของท่านนายกฯ ทักษิณ มีส่วนคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคพุทธกาลหรือไม่อย่างไร
 

หลวงพ่อ

             จะเรียกว่าเหมือนก็คงไม่ใช่ น่าจะเรียกว่ามีแนวทางที่น่าสนใจคล้ายคลึงกัน แต่ส่วนที่แตกต่างกันในรายละเอียดก็มีมากในส่วนที่เหมือนกัน อันนี้ก็แปลก เพราะเรื่องราวในพระสูตรกูฏทันตสูตรที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทำพิธีบูชามหายัญแบบใหม่เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง มาตรงกับสมัยนี้ที่ใช้คำว่าปฏิรูปการปฏิรูปเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช เริ่มต้นด้วยใช้วิธีแบ่งคนเป็นสองระดับคือ ๔ กลุ่มระดับบน และ ๓ กลุ่มระดับล่างเมื่อเราลองนำมาเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน กลายเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่เหมือนกันแทบจะถอดแบบ แสดงว่าไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความคิดขอมนุษย์กี่พันปีก็ยังคล้ายคลึงกัน


             จากเรื่องราวในพระสูตรนี้ ทำให้เรารู้ว่า กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในทางการเมืองในสมัยก่อน ถ้ารองจากเจ้าผู้ครองนครลงมาก็จะได้แก่บุคคล ๔ กลุ่ม คือกลุ่มเจ้าเมืองประเทศราช กลุ่มอำมาตย์ กลุ่มพราหมณ์ และกลุ่มคหบดี ซึ่งก็ตรงกับปัจจุบันที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองสำคัญ คือกลุ่มนักการเมือง กลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กลุ่มนักวิชาการและสื่อมวลชน และกลุ่มพ่อค้าใหญ่กลุ่มระดับบนนี้จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่งคั่ง มีอำนาจ มีอิทธิพล ฐานะความเป็นอยู่ดี มีทรัพย์สมบัติอยู่อย่างสบายตรงกันข้ามกับ ๓ กลุ่มระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินประกอบด้วย ชาวไร่ ชาวนา ทำมาหากินทางเกษตรกรรม กสิกรรมเลี้ยงสัตว์ บรรดาพ่อค้าแม่ขาย อาชีพอิสระ รายเล็กรายน้อย และบรรดาข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งถ้ามาเทียบกับปัจจุบันก็คล้ายคลึงกันมากคือ บรรดาเกษตรกร กสิกร พ่อค้ารายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่จะมีเพิ่มขึ้นมาก็คือ กรรมกร ผู้ใช้แรงงานเพราะสมัยก่อนยังไม่มีอุตสาหกรรม รวมไปถึงบรรดาลูกจ้างตามองค์กรต่าง ๆ

             ๓ กลุ่มระดับล่างนี้จะมีฐานะยากจน มีรายได้น้อย มีความเป็นอยู่ลำบาก นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดิ้นรนแข่งขัน อยากมั่งมีอยากร่ำรวย เกิดความโลภ เกิดกิเลส ทำให้มีโอกาสมากที่จะผิดศีลผิดธรรม เกิดอาชญากรรม เกิดความไม่สงบ เช่นเดียวกับเมื่อสองพันกว่าปีทุกประการพราหมณ์ปุโรหิตที่ทำหน้าที่ราชบัณฑิตที่ปรึกษาได้เล็งเห็นช่องว่างระหว่างชนชั้นตรงนี้ จึงได้เสนอความคิดการทำมหาทานที่เรียกว่าพิธีบูชามหายัญ เสนอให้มีการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความทุกข์ยากด้วยการแจกพันธุ์พืชสำหรับชาวไร่ชาวนา แจกอาหารและทรัพย์สินสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย และแจกทุนทรัพย์สำหรับพ่อค้าเล็กพ่อค้าน้อยไว้ทำทุนตรงนี้เองที่ถ้าจะเรียกว่าเหมือนกัน น่าชื่นชมที่รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณ ได้ประกาศนโยบายไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงคือ นโยบายประกาศสงครามกับความยากจน และประกาศสงครามกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งแรก ๆ คนก็สงสัยว่าจะทำได้จริงหรือไม่

             แต่ถ้าจะเรียกว่านโยบาย หรือภาษาสมัยนี้ที่เรียกว่าวิสัยทัศน์แสดงว่าคณะที่ปรึกษาของท่านนายกฯ มีสายตาที่ใช้ได้ทีเดียว มองเห็นปัญหาความยากจนของประเทศเป็นปัญหาอันดับแรกที่จะต้องแก้ไข จึงประกาศนโยบายซึ่งเรียกตามภาษาสมัยนี้ว่า “ประชานิยม” หลวงพ่อคิดว่าน่าจะแปลว่าสร้างความนิยมให้กับประชาชนส่วนใหญ่เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายพักหนี้เกษตรกร นโยบายกองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละล้านบาท นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นโยบายธนาคารประชาชนสำหรับพ่อค้ารายเล็กรายน้อย นโยบายบ้านเอื้ออาทร รวมไปถึงการจดทะเบียนคนจนและประกาศว่าจะทำให้ประชาชนหายยากจนเท่านั้นเท่านี้ปี

             อันนี้หลวงพ่อว่า แก้ได้ตรงเป้าเหมือนกับพระเจ้ามหาวิชิตราชตั้งพระทัยจะทำให้บ้านเมืองของพระองค์ร่มเย็นเป็นสุขถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากระดับรากหญ้าแทนที่จะให้ความสนใจแต่ ๔ กลุ่มระดับบน คือ เอาคนจนเป็นเป้าหมายอันดับแรก จากนั้นก็ไปชักชวน ๔ กลุ่มอิทธิพลระดับบนมาร่วมมือกันช่วยกันทำ ช่วยกันเอาทรัพย์ออกมาแจก ฉันแจกบ้าง แกแจกบ้างแจกอย่างไม่เสียดาย ไม่ต้องกลัวหมด อันนี้หลวงพ่อว่าดีนะ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างสัมมาทิฏฐิข้อแรก คือเชื่อเรื่องบุญดีจริง ทานดีจริงยิ่งทำยิ่งได้ ที่สำคัญเป็นการขจัดความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดีและที่หลวงพ่อชอบมากก็ตรงนี้แหละ ที่อีตาพราหมณ์ปุโรหิตแกจะกำชับนักหนาว่า ให้ทำด้วยจิตใจที่ยินดี แค่คิดจะให้ก็ดีใจ ขณะให้ก็ทำด้วยใจที่เลื่อมใสเต็มใจ เมื่อให้แล้วคิดถึงทีไรก็ยิ่งปลื้มใจ ไม่เสียดายเรียกว่าตัดสินใจแล้วต้องทั้งตัดสินและตัดใจ ต้องให้เหมือนกับพ่อให้ลูกในไส้ ให้ด้วยความรัก ให้ด้วยความไม่หวง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีจิตใจใหญ่ครอบคลุมทั้งแผ่นดิน อย่างนี้แหละถูกหลักรัฐศาสตร์แท้ถ้าจะบอกว่าเหมือนกันก็เหมือนกันที่ตรงนี้แหละ แต่ยังมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันก็ว่ากันไป

คําถาม
           การที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตลงมาเป็นประธานทำพิธีบูชามหายัญ เท่ากับพระองค์ลงมาแก้ปัญหาความยากจนด้วยพระองค์เอง เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยตรง ตรงกับแนวทางการบริหารประเทศในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

หลวงพ่อ
           อันนี้หลวงพ่อว่าน่าสนใจนะ เพราะตั้งแต่มีการประกาศนโยบายปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปราชการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการสาธารณสุข ปฏิรูปคุณภาพชีวิตหลวงพ่ออ่านข่าวก็เห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแบบใหม่
อันนี้ก็ไปเหมือนกับอปริหานิยธรรม ในวัสสการสูตร ที่แปลว่าธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความเจริญฝ่ายเดียว ไม่มีความเสื่อม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญ คือการหมั่นประชุมเป็นเนืองนิตย์ ประชุมบ่อย พร้อมเพรียงกันประชุม ซึ่งเป็นการสร้างความสามัคคีความเข้าใจกัน ซักซ้อมกันหลวงพ่อเห็นมีการประชุมที่เรียกว่า เวิร์กชอป เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกกระทรวงตั้งแต่เสนาบดีที่สำคัญ ๆ ลงมา แล้วว่าพร้อมกันเลยทีเดียวจะเอาเรื่องอะไรก็เอาให้จบเลยไม่ทิ้งค้าง จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา ฯลฯ

 

            และที่สำคัญก็คือท่านนายกฯ ทำหน้าที่เป็นประธานเอง อยู่ประชุมจนดึก ไม่เสร็จไม่เลิก สั่งการเอง ตัดสินใจเอง และติดตามกำกับตลอดว่าทำไปถึงไหนเพราะฉะนั้นก็เหมือนกับเป็นประธานทำพิธีบูชามหายัญ ลงมาจากระดับนโยบายข้างบน ลงมาจับปัญหาเอง ฟังเองไตร่ตรองปรึกษากันหาทางแก้ไข ตัดสินใจ แล้วลุยทำเลย อันนี้หลวงพ่อว่าเข้าท่าตรงนี้เท่ากับเป็นการปิดช่องว่างของระบบราชการ ให้ผู้ใหญ่ลงมาจากหอคอยงาช้าง ไม่ใช่เอาแต่รอรับรายงาน สั่งไปแล้วรอฟังผลในห้องแอร์ ถ้าผู้นำลงมาจับปัญหาเองอย่างนี้ ก็จะรู้ข้อเท็จจริง รู้ปัญหาที่แท้ตัวอย่างที่ท่านนายกฯ แจกทุนเด็กนักเรียน แล้วก็ฟังเด็กนักเรียนเล่าถึงความทุกข์ยากของเด็กยากจนที่ไม่มีเงินเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็ยากจน ฟังแล้วสะท้อนใจ จนหนังสือพิมพ์ไปพาดหัวข่าว ว่านายกฯหลั่งน้ำตาด้วยความสงสาร เพราะคนที่เกิดมาลำบากเท่านั้นจึงจะรู้ซึ้งถึงความลำบากของคนอื่นอย่างนี้

 

             ฉะนั้นสิ่งที่ท่านทำไปก็เท่ากับเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการระบบใหม่ไปพร้อมกัน ด้วยการทำตัวอย่างให้เห็น ทำให้ข้าราชการแตกตื่นไปหมด ต้องปรับตัวใหม่ ผู้ว่าฯ ก็ต้องเป็นผู้ว่าฯ บูรณาการ หรือผู้ว่าฯ ซีอีโอ แปลว่า เป็นผู้ว่าฯ แบบเบ็ดเสร็จ ว่าได้ทุกเรื่องในจังหวัด
ของตัวเอง ตัดสินใจได้ สั่งการได้ มาอ้างอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นผู้ว่าฯ ก็ถือว่าใหญ่ที่สุดแล้ว ว่าราชการแทนนายกฯ ได้เลย สมัยก่อนเรียกว่า ข้าหลวง แปลว่า เป็นข้าราชบริพารของในหลวง ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระองค์ท่านได้เลยอันนี้ตรงกับหลักของพระพุทธศาสนาเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงปฏิบัติตนเป็นต้นแบบแห่งความดีงามทั้งปวง สละราชสมบัติมหาศาลสละอำนาจออกบวช แล้วจาริกเผยแผ่พระธรรมการจะสอนอะไรใครก็ต้องลงมือทำเองเป็นต้นแบบ ทำให้ดูจริง ๆ เลย และไม่ใช่เพียงแต่พูด ต้องลงมือทำจริง ๆ ด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ

คำถาม
             วิธีการที่ว่านี้จะคล้ายคลึงกับการปฏิรูปประเทศเกาหลีหรือไม่ตรงที่รัฐบาลเขาลงมือช่วยชาวบ้านระดับล่างที่ยากจน ด้วยการสร้างชุมชนใหม่มาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูชาติ และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลาไม่ช้า

หลวงพ่อ
             หลวงพ่อว่าเกาหลีเขาก็ทำเข้าท่านะ จะเรียกว่าเหมือนกันหรือไม่หลวงพ่อไม่รู้ แต่โครงการที่เขาเรียกว่า แชมาอึล อุนดอง (Saemaul Undong) ของประธานาธิบดีปักจุงฮี ที่แปลว่า ขบวนการสร้างชุมชนใหม่ก็คงจะได้ไอเดียมาจากอิสราเอลนั่นแหละหลักการก็คล้ายกันนั่นแหละ ก็คือ ผู้นำต้องให้ความสนใจปัญหาความยากจนในระดับล่างของชาวบ้านทั้งแผ่นดิน ต้องสนใจจริง ๆ นะไม่ใช่ปากพูดว่าสนใจ แต่ไม่เคยทำอะไรให้คนจนเลย ดีแต่วิจารณ์อันนี้ใช้ไม่ได้แนวความคิดของเขาก็คือ การจะสร้างชุมชนให้สำเร็จได้ ก็ต้องสร้างคนในชุมชนก่อน สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมสวัสดิการในชนบท เร่งรัดพัฒนาสาธารณูปโภค การสุขาภิบาลสาธารณสุขให้ประชาชนมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี การแพทย์เข้าไปถึงทุกที่ทุกจังหวัด เร่งสร้างเศรษฐกิจชาวบ้าน สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดรายได้เพิ่มในระดับรากหญ้าที่เขาทำได้สำเร็จเพราะเขาอยู่ในสภาวะสงคราม เขายังมีปัญหาเรื่อง ๒ เกาหลีที่แบ่งประเทศกัน เผชิญหน้ากัน ทำให้การรวมใจเขาทำได้ง่าย ต่างกับเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่เคยเป็นขี้ข้าใครทุกอย่างก็เลยสบาย ๆ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จนกระทั่งมาเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ นี่แหละถึงได้ตื่นขึ้นมาปฏิรูปกันยกใหญ่

               หลวงพ่อว่าที่เขาทำเข้าท่าก็ตรงที่เขาเข้าไปสร้างจิตสำนึกในชุมชนสร้างผู้นำระดับท้องถิ่นจากชาวไร่ชาวนา จากชาวบ้าน สร้างจากกลุ่มเล็ก ๆ ให้รวมใจกัน ให้รักกัน คิดเหมือนกัน ห่วงใยสังคมด้วยกันเขาแก้ที่คนพร้อมกันไปกับการแก้เศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหล่ะที่แตกต่างกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เพราะตอนนี้เรามุ่งแก้เศรษฐกิจให้คนมีรายได้เพิ่ม ให้ค้าขายเก่ง ให้สู้กับเขาได้ในระดับโลกแต่เรายังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าได้มีการพัฒนาจิตใจคนให้ควบคู่กันไปอย่างไร ยังไม่มีองค์กรไหน หน่วยงานไหน ในเมืองไทยที่ลุกขึ้นมาจับเรื่องนี้ เราสร้างแต่คนเก่ง แต่ไม่สร้างให้เป็นคนดีเสียก่อนคนเก่งแต่ไม่ดีจะมีประโยชน์อะไรหลวงพ่อว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ผู้นำนั่นแหละ ถ้าผู้นำรัฐบาลไปวัดทุกวันอาทิตย์ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรมทุกวันพระ สอนให้คนถือเอาแค่ศีลห้า เอาให้ได้กันจริง ๆ สอนให้คนละเลิกอบายมุขได้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ประเทศก็จะพลิกโฉมเป็นมหาอำนาจได้อย่างแน่นอน ไม่ต้องเอาถึงกับเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เอาแค่เศรษฐกิจพอเพียง ทุกคนอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิต แต่เป็นมหาอำนาจทางศีลธรรม หลวงพ่อว่าจะเข้าท่ากว่านะ

คําถาม
ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อคิดว่า ผู้นำประเทศจะต้องตั้งเป้าอย่างไรประเทศชาติถึงจะร่มเย็นเป็นสุขแบบยั่งยืน มีความอยู่ดีกินดี ไพร่ฟ้าหน้าใส โจรผู้ร้ายหมดไป ทุกคนมุ่งแต่ทำมาหากิน และอยู่อย่างมีความสุข

หลวงพ่อ
เรื่องที่หลวงพ่ออยากจะให้ทุกคนทำความเข้าใจถูกก่อนก็คือการตั้งเป้ามี ๒ ประเภท คือ


๑. ประเภทเป้าหมายระยะสั้นเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นเฉพาะเป็นปีๆไป ได้แก่ เป้าหมายในการแก้ปัญหาประเทศชาติในขณะนั้นเป็นเรื่องๆเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาคอร์รัปชัน ฯลฯ แล้วทุ่มเททำกันไปจนกว่าจะสําเร็จ
 

๒. ประเภทเป้าหมายระยะยาว ต้องยึดถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดชีวิต เป้าหมายชีวิตระยะยาวมีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน หากใครสามารถบรรลุได้ครบทั้ง ๓ ระดับ ย่อมประสบความสุขยั่งยืนถาวรอย่างแน่นอนเป้าหมายชีวิตระยะยาวระดับแรก จะเรียกว่าเป้าหมายบนดินหรือเป้าหมายระดับมนุษย์ก็ได้

           นั่นก็คือ ทำอย่างไรจะให้มีความสุข ความสุขในที่นี้คือความสุขในฐานะมนุษย์ ได้แก่ ต้องมีเงินมีทอง มีปัจจัย ๔ มีบ้าน มีงานทำมีความปลอดภัย มีเกียรติยศ มีตำแหน่ง มีความพอใจในงาน โดยไม่ต้องไปทำความเดือดร้อนให้ตนเอง รวมทั้งใครๆ ด้วยเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้นำประเทศทุกคนก็ย่อมมีเป้าหมายชีวิตระดับพื้นดินที่จะทำให้ประชากรทั้งประเทศมีความสุขที่สุด มีคุณภาพชีวิตมีเศรษฐกิจดี มีความมั่นคง มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่เบียดเบียนกัน ถ้าประเทศใดทำได้ดังนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และส่วนใหญ่ประเทศที่เจริญในโลกนี้ก็มักจะทำได้จะเห็นว่าบ้านเมืองเขาจะสวยงามเป็นระเบียบ มีกฎหมาย มีความมั่นคง มีระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมีส่วนร่วม
ประชาชนมีการศึกษา มีคุณภาพชีวิต มีทุกสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาทุกคนต้องการแต่แค่นี้ยังไม่พอ

 

           จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าประเทศไหนที่ว่าเจริญก้าวหน้าแล้ว สุดท้ายก็ยังไม่มีความสงบสุขอยู่นั่นเอง ยังมีปัญหาเรื่องผู้ก่อการร้าย เรื่องความไม่สงบ การต่อสู้แย่งชิงกันในสังคม แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเจริญอย่างไร ศีลธรรมก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ กิเลสก็ยังครอบงำ ความเอารัดเอาเปรียบก็ยังเป็นสิ่งที่แก้ยาก อบายมุขก็ยังเกลื่อนกลาด คนจนก็ยังจนอยู่ทุกประเทศ คนรวยก็รวยล้นฟ้าผู้นำประเทศที่สมบูรณ์จึงจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจหลักวัฏฏสงสารในชีวิตของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาสุดท้ายไม่พ้นความตายกันทุกคน ทุกอย่างมีเจริญมีเสื่อม ประเทศที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็เสื่อมได้ทุกประเทศ ไม่ว่ายุคอียิปต์ ยุคกรีก ยุคโรมัน มาจนถึงยุคจักรวรรดินิยมยุโรป สเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่ครองโลกจนได้ชื่อว่าดินแดนอาทิตย์ไม่ตกดิน แล้วเป็นยังไงในวันนี้ ถึงเวลาก็เสื่อมทุกประเทศแสดงว่าความเจริญทางวัตถุเท่านั้นยังไม่พอ ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดความเจริญที่ยั่งยืน ยังมีความเจริญที่สามารถทำให้เกิดสันติสุขต่อโลกต่อมนุษยชาติยิ่งขึ้นไปอีก

 

            ยังมีเป้าที่สูงกว่านี้ นั่นก็คือเป้าหมายชีวิตระดับที่สอง จะเรียกว่า เป้าหมายบนฟ้า หรือเป้าหมายระดับสวรรค์ก็ได้ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถเตือนสติประชาชนให้ร่วมใจกันตั้งเป้าหมายบนฟ้าด้วย หมายความว่าอย่างไรผู้นำที่ดีต้องพัฒนาจิตใจตนเองให้เข้าใจเรื่องทาน เรื่องศีลเรื่องกฎแห่งกรรม เข้าใจเรื่องนรกสวรรค์ เข้าใจเรื่องชาตินี้ชาติหน้าอย่างช่ำชอง แต่ละคนไม่ใช่เกิดมามีชาติเดียว ใครจะทำชั่วยังไงก็ได้ตายแล้วไม่ว่าจะไปไหน ช่างหัวมัน ผู้นำต้องสามารถชี้แจงประชาชนให้ได้ว่า แท้จริงแล้วบรรดาจักรพรรดิ นักรบที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทั้งโลก ที่ก่อกรรมทำเข็ญ ยึดดินแดนของเขา ฆ่าคน กวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลย ปล้นทรัพย์สมบัติแผ่นดินของเขา มีอนุสาวรีย์เด่นสง่าให้นกเกาะเล่น แต่ผลสุดท้ายก็ต้องไปรับกรรมในอบายภูมิ ต้องตกนรกทุกคนไม่มียกเว้น

 

            น่าเสียดายแทนผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นที่แสงธรรมแห่งพระพุทธศาสนาส่องไปไม่ถึง ทำให้พวกเขาหลงใช้ความเก่ง ความกล้า ความสามารถมาทําลายล้างผลาญตนเองอย่างยับเยินยังมีคนอีกมากที่มีความเชื่อผิด ๆ บางคนถึงกับคิดว่าการฆ่าคนตายจะได้ขึ้นสวรรค์ เพราะหลงเข้าใจผิดว่าเป็นการทำให้พระเจ้าของเขาพอใจ ใครอ่านประวัติศาสตร์ในยุโรปยุคกลาง จะพบว่ามีการฆ่ากันตายมากในเรื่องศาสนา ก็เพราะความเชื่อผิด ๆ ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมไม่เชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้า ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์

             ด้วยเหตุนี้จึงยังสามารถก่อกรรมทำเข็ญ ใช้อำนาจสร้างกรรมใหญ่สั่งรบ สั่งประหาร สั่งทำสงคราม สั่งยึดอำนาจ สั่งทำลายคู่ต่อสู้ เพราะยังยึดอยู่แค่เป้าบนดิน และจิตใจก็เตี้ยอยู่เพียงแค่นั้น เมื่อไม่มีเป้าบนฟ้าไม่กลัวบาป ไม่ละอายต่อบาป ก็ต้องไปรับกรรมที่ก่อเวรวนเวียนอย่างนั้นทุกภพทุกชาติและด้วยเหตุที่ไม่มีการตั้งเป้าหมายชีวิตบนฟ้า มีแต่ระดับเป้าหมายชีวิตบนดิน ซึ่งเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจและความอยู่รอดของมนุษย์ เป็นเป้ามุ่งวัตถุและสมบัติอย่างเดียว ไม่มีเป้าทางจิตใจมนุษย์ทุกวันนี้จึงแก่งแย่งแข่งขัน ต่อสู้ โดยคำนึงถึงตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของความคิด การทำผิดศีลธรรม ผิดคุณธรรม จึงกลายเป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ การแสวงหาอำนาจ แสวงหาเงินทอง แสวงหา
ทรัพย์สมบัติ ด้วยการคอร์รัปชัน ประกอบมิจฉาอาชีวะ มัวเมาในอบายมุข

 

             จึงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่แก้ไขได้ยาก เพราะคนไม่กลัวกฎแห่งกรรม คนไม่กลัวนรก ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เชื่อเรื่องการกอบโกยเข้าหาตัวให้มากที่สุด คิดว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีความละอาย การเอาเปรียบ การทำบาป ทำผิดกฎหมาย จึงกลายเป็นมาตรฐานปรกติของสังคมฉะนั้นการจะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันในระบบราชการ จึงอยู่ที่การพัฒนาจิตใจให้มนุษย์รู้จักตั้งเป้าบนฟ้าดังกล่าวนี้ให้ได้ ให้เอา “สัมมาทิฏฐิ ๑๐” เข้าไปอยู่ในใจให้ได้ มิฉะนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้ก็จะยากที่จะประสบความสำเร็จผู้นำแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบเชิงพุทธ จึงต้องรู้จักตั้งเป้าหมายบนฟ้าที่ว่านี้ด้วย 

 

              จะสังเกตว่า ธรรมะสำหรับผู้ปกครองแผ่นดิน ที่เราใช้คำว่า ทศพิธราชธรรม ไม่ได้หมายความว่าใช้สำหรับพระราชาพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นใหญ่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับโลก ถ้าเข้าถึงธรรมะข้อนี้ ก็จะกลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มีบารมีที่ยั่งยืนถ้าเป้าแรกถือว่าเป็นเป้าแห่งมนุษยสมบัติ เป้าที่สองก็จะหมายถึงสวรรค์สมบัติ เป็นอริยทรัพย์ที่มีค่ามหาศาลกว่าสมบัติธรรมดาจักนับจักประมาณไม่ได้ เพราะสามารถติดตัวติดใจข้ามภพข้ามชาติได้จะไปเกิดชาติไหนๆ ก็จะได้เสวยสุข เสวยผลแห่งบุญที่นำติดตัวไปได้ทุกชาติยังมีเป้าที่สูงกว่านี้อีกหรือไม่ ไม่น่าเชื่อ มีจริง ๆ เสียด้วยเป้าหมายชีวิตที่สูงสุดของผู้นำที่จะยิ่งใหญ่จนถึงระดับเหนือจักรวาลเป็นเป้าที่ยากยิ่ง แต่

                สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเป็นต้นแบบทําไว้แล้วเป้าหมายชีวิตระดับที่ ๓ คือ เป้าหมายเหนือฟ้า หรือเป้าหมายพระนิพพานหมายความว่าอย่างไร ถ้าเป้าหมายแรกคือการแสวงหามนุษยสมบัติเป้าที่สองคือการสะสมสวรรคสมบัติ เป้าสุดท้ายนี้คือนิพพานสมบัติซึ่งถือว่าสูงที่สุด และเป็นเป้าหมายที่อมตนิรันดร์ เพราะผู้บรรลุเป้าหมายนี้จะต้องปราบกิเลสในตนให้หมดโดยสิ้นเชิงตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกูฏทันตสูตร คือ เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ได้ฟังเรื่องราวของพระมหาวิชิตราชทำพิธีบูชามหายัญแบบใหม่ที่น่าชื่นชมโสมนัสจนจิตใจเปี่ยมปีติ จนได้ข้อคิดว่า การทำทานที่เตรียมการน้อยแต่มีผลมากมหาศาลที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้ทางสว่างให้นั้น ถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดแล้ว แต่ด้วยความสงสัยตามประสาผู้มีปัญญา จึงทูลถามพระองค์ว่า

“ยังมียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่ามหายัญดังกล่าวหรือไม่”


ตรัสตอบว่า “มี คือ นิตยทาน (การให้ทานเป็นประจำแก่ผู้มีศีล)”


ทูลถามว่า “มียัญอย่างอื่นที่มีผลมากกว่านิตยทานหรือไม่”


ตรัสตอบว่า “มี คือ การถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง” 


ทูลถามว่า “มียัญอย่างอื่นที่มีผลมากกว่าการถึงพระรัตนตรัยหรือไม่” 


ตรัสตอบว่า “มี คือ การสมาทานศีล ๕” 


ทูลถามว่า “มียัญอย่างอื่นที่มากกว่าสมาทานศีล ๕ หรือไม่”


ตรัสตอบว่า “มี คือ การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ชั้น บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ แล้วเจริญภาวนาจนได้วิชชา ๘”
ปรากฏว่ากูฏทันตพราหมณ์มีความพึงพอใจในคำตอบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนาประกาศตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แล้วสั่งปล่อยสัตว์ทั้งหมดที่เตรียมไว้ เมื่อได้ฟังอนุปุพพิกถา (คือเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกบวช) ต่อไปอีกก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้น เริ่มรับผลขั้นสูงคือ นิพพานสมบัติ
เป้าหมายเหนือฟ้าหรือนิพพานสมบัติ คือเป้าหมายที่สูงสุดของมนุษยชาติจักแสวงหา อย่างที่เราตั้งเป้าหมายชีวิตว่า “เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี” และ “นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ แปลว่า เป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน"

            ในเรื่องรัฐศาสตร์เชิงพุทธนี้ ถ้าผู้นำถือว่ายังห่างไกลตัวเกินที่จะทำน่าจะเอาแค่มนุษยสมบัติกับสวรรค์สมบัติ ก็ถือว่ายังดีและเพียงพอที่จะทำให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มีบารมีเกริกไกร สามารถนำมนุษยชาติไปสู่ความสันติสุขอันถาวร ทำให้เกิดสันติสุขแก่โลกทั้งโลกได้อย่างแท้จริงและถ้าผู้นำไทยสามารถตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อพัฒนาประเทศชาติเป็นรายปีและทำจนกระทั่งบรรลุผลได้ดังนี้ รวมทั้งโน้มน้าวประชาชนให้ร่วมใจกันตั้งเป้าหมายชีวิตระยะยาวทั้ง ๓ ระดับ แล้วพยายามทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ทั้งเป้าหมายบนดิน บนฟ้า และเหนือฟ้า ประเทศไทยก็จะกลายเป็นไทยมหารัฐ เป็นมหาอำนาจแห่งคุณธรรม เป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างสันติภาพให้แก่โลก และเป็นเมืองหลวงพระพุทธศาสนาของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012733658154806 Mins