วิธีฝึกคนให้เห็นโทษเห็นภัยแม้ในสิ่งเล็กน้อย

วันที่ 03 กค. พ.ศ.2567

670703_b63.jpg

 

วิธีฝึกคนให้เห็นโทษเห็นภัยแม้ในสิ่งเล็กน้อย


           เรื่องแรกก่อน คือเรื่องของการฝึกคน เพื่อที่จะได้เป็นคนที่เห็นโทษเห็นภัยแม้ในสิ่งที่เล็กน้อยปู่ย่าตาทวดของเราได้ให้สูตรสำเร็จเอาไว้แล้ว ซึ่งความจริงทางทหารก็ได้นำมาใช้อยู่ แต่ว่าบางทีบางครั้งก็ลืมเน้นการฝึก และบางทีลืมเน้นในส่วนที่เป็นรายละเอียด เพราะฉะนั้น ขอปัดฝุ่นของเก่าให้ก็แล้วกัน หลักในการฝึกในการฝึกคนทั้งในพระพุทธศาสนาและในทางโลกนั้นตรงกัน ที่จะให้คนเป็นผู้ที่เห็นโทษแม้ในสิ่งที่เล็กน้อยนั้น ท่านมีหลักในการฝึกดังนี้ คือ


ข้อ ๑ เคารพ


          ฝึกให้มีความเคารพ ขอขยายความคำว่าเคารพ พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็มีความรู้สึกว่า ไม่น่าเอามาพูดเลย หญ้าปากคอกจะตาย ถ้าใครนึกอย่างนี้ ก็บอกว่านี้นะ ไม่เห็นโทษในสิ่งที่เล็กน้อยเสียแล้ว มีคำอยู่ ๒ คำที่พวกเราไขว้เขวกัน คือคำว่า

ความเคารพ กับคำว่า

การแสดงความเคารพ ๒ คำนี้ต่างกัน ความเคารพเป็นอย่างไร  

          ความเคารพ หมายถึง ความนับถือ ความสุภาพเรียบร้อย นิ่มนวล อ่อนโยน และเชื่อฟัง ไม่ดื้อกระด้าง ไม่เย่อหยิ่งและอวดดี ความเคารพในแง่เฉพาะบุคคล ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นเครื่องให้เกิดความสุขความเจริญ เป็นความดีงามและเป็นเหตุให้เกิดความดีงามต่าง ๆ ในแง่สังคม ถือว่าเป็นรากฐานของระเบียบวินัย ทำให้หมู่คณะอยู่กันอย่างสงบสุข เป็นเหตุให้เกิดความสามัคคีและรักษาความสามัคคีไว้ได้ ความเคารพเป็นเครื่องบอกถึงพื้นฐานของผู้แสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่เจริญแล้วด้วยวัฒนธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้เลิศในโลก ไม่มีใครที่จะสูงส่งยิ่งกว่าพระองค์ก็ยังเคารพสิ่งที่ควรเคารพ คือ ทรงเคารพพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระองค์ โดยทรงสั่งสอนว่า “ความเคารพเป็นมงคลสูงสุด”
 

         ความเคารพ เป็นเครื่องหมายของความสามัคคีอันแน่นแฟ้น หมู่ใดคณะใดขาดความเคารพ หมู่นั้นคณะนั้นย่อมขาดความสามัคคี การขาดความสามัคคีมีผลอย่างเดียวคือ ความพินาศประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกนั้นก็เพราะวัฒนธรรมเสื่อมไทยแตกสามัคคี กรุงศรีอยุธยาจึงพินาศล่มจม พ่ายแพ้แก่ข้าศึกฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาความสามัคคีไว้ โดยมีความเคารพต่อกัน ความเคารพนอกจากจะเป็นเหตุให้เกิดสามัคคีและรักษาสามัคคีไว้ได้แล้ว ยังเป็นวินัยอันสำคัญที่ร้อยกรองหมู่ชนให้งดงาม ทำหมู่คณะให้เป็นระเบียบ ทำประเทศชาติให้เจริญและมี แสนยานุภาพเข้มแข็ง เรื่องความเคารพเป็นเรื่องใหญ่ ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ถือเป็นอุดมคติ เพราะมีแต่ผลดีฝ่ายเดียว ผู้ที่มีวัฒนธรรมหรือผู้ที่เจริญแล้วด้วยประการทั้งปวง จะขาดจากวัฒนธรรมคือความเคารพไม่ได้เพราะผู้แสดงความเคารพไม่จำต้องเกรงว่า จะได้รับความเก้อเขินหรืออับอายขายหน้าในเมื่อเคารพต่อผู้หนึ่งผู้ใด วิสัยของผู้มีวัฒนธรรม ย่อมถือหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า “ผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ”
 

         ความเคารพ คือ ความที่จะพยายามค้นหาความดีของผู้อื่น สิ่งอื่นให้พบ พบแล้วก็จะนำความดีเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติด้วย เราจะได้ดีเหมือนอย่างกับเขา พูดง่าย ๆ ความเคารพ ถ้าจะพูดกันภาษาชาวบ้านก็คือ จับถูก ตรงข้ามกับคำว่า จับผิด มนุษย์เดี๋ยวนี้ชอบหาความดีความชอบด้วยการจับผิดคนอื่น เช่น การเขียนบัตรสนเท่ห์ ซึ่งเป็นการคิดทำลาย ส่วนจับถูกนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำ คือ ความเคารพ ยกตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง นักเคมี นักโลหะวิทยา เขาศึกษาเรื่องแร่ธาตุ เช่น ศึกษาเรื่องเหล็ก เรื่องทองแดง ศึกษาไปศึกษามา เขาก็พบว่าเหล็กมีคุณสมบัติคือ หนึ่ง มันแข็ง เมื่อเทียบกับพวกทองแดง เทียบกับพวกเงิน แล้วมันก็เป็นตัวนำความร้อนที่ดีพอประมาณ เป็นตัวนำไฟฟ้าที่พอใช้ ตรงกันข้าม

 

        เจ้าทองแดงมันอ่อนเมื่อเทียบกับเหล็ก ซึ่งแข็ง ขึ้นไปทำเป็นเส้นมันหักหมดในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเหล็กมันแข็ง เขาเอาไปทำของมีคมได้ดีเช่น เอาไปทำมีด แต่ไม่มีใครเอาทองแดงไปทำมีด เพราะลับคมไม่ได้ มันอ่อน เดี๋ยวหักหมด นักวิทยาศาสตร์ นักเคมี นักโลหะวิทยา
เขาพยายามค้นหาคุณสมบัติของสิ่งต่าง ๆ ให้ครบตามความเป็นจริง แล้วเอาส่วนดีไปใช้ จึงเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติจนกระทั่งทุกวันนี้
ปู่ย่าตาทวดของเรา ได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนาก็ถูกสอนให้มีความเคารพ คือ หาข้อดีของบุคคลอื่นให้พบ แล้วนำข้อดีเหล่านั้นมาฝึกให้เกิดขึ้นกับตัวเอง คุณธรรมนี้แหละที่เรียกว่าความเคารพ

 

          ส่วนการแสดงความเคารพนั้น เป็นเรื่องของการกราบการไหว้ การหมอบ การคลาน การวันทยหัตถ์ นั้นเป็นเพียงเปลือกนอกของความเคารพ หรือเป็นแค่เพียงการแสดง อย่าได้เอาเป็นอารมณ์นัก ถ้าเอาเป็นอารมณ์ ยึดถือกันหนักเข้า เดี๋ยวจะพลาดเพราะขณะที่คนหนึ่งกราบงาม ๆ ต่อผู้บังคับบัญชา วันทยหัตถ์อย่างงามต่อผู้บังคับบัญชา ปากหรือก็เจรจาความขอให้ท่านอายุยืนสักร้อยปีพันปี แต่ใจเขาอาจจะนึกเชือดคอเสียก็ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงแค่การแสดง เป็นระเบียบอย่างหนึ่ง อย่าเอามาปนกับความเคารพแต่ที่พูดนี้ ไม่ได้หมายความว่า การแสดงความเคารพกันจะกราบจะไหว้ หรือการวันทยหัตถ์ ไม่ดีไม่สำคัญไม่ได้พูดอย่างนั้นการแสดงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องมีข้อที่ควรระวัง เพราะการแสดงความเคารพเป็นการแสดงออกภายนอก อาจจะจริงใจหรือไม่จริงใจก็ได้ เราไม่ทราบ ส่วนเรื่องความเคารพแล้วเป็นเรื่องมาจากความจริงใจ แต่ว่าความเคารพนั้นไม่ใช่สิ่งที่ฝึกง่าย อย่าคิดว่าทำง่าย

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014449000358582 Mins