เรื่องที่ ๑๖ กว่าจะรู้ว่าพ่อรัก

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2567

2567%2007%2008%20%20b.jpg

 

กว่าจะรู้ว่าพ่อรัก

2567%2007%2008%20b.16.jpg


      ตั้งแต่โยมพ่อมีอายุประมาณ ๕๐ ปี เป็นต้นมา ท่านเริ่มมีสุขภาพไม่ค่อยดี ท่านจึงอบรมลูกโดยการฝึกงานให้ทุกชนิด  เผื่อว่าท่านจะเป็นอะไรไปในเวลากะทันหันลูกๆ จะได้ช่วยตัวเองกันได้


     ไม่ว่างานในสวน   ในไร่  ในบ้านเรือนทุกอย่าง  ท่านเริ่มฝึกให้อย่างหนักขึ้น  โดยเฉพาะอาตมาซึ่งเป็นลูกชายโดนเข้มงวดมากเป็นพิเศษ จนแทบไม่ค่อยมีโอกาสได้เที่ยวเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ มีแต่งาน งาน และงาน และเมื่อทำอะไรผิดพลาดก็จะต้องถูกลงโทษเลยทำให้เกิดความรู้สึกทั้งเกรงและกลัวโยมพ่อ แม้บางครั้งอาตมาจะไม่นึกรักท่าน แต่ก็ไม่ถึงกับเกลียดท่าน ในตอนนั้นก็ไม่คิดหรือเข้าใจว่า ใจของเราที่มีต่อโยมพ่อเช่นนั้น จะถูกหรือผิด

 

     ต่อเมื่อมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  จึงรู้สึกซาบซึ้งในความรักความห่วงใยของท่านที่มีต่ออาตมา เพราะรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้ระบบอาวุโสอย่างเคร่งครัดดุเดือดอยู่ไม่น้อย เพื่อนคนอื่นๆ พากันเดือดร้อนกับระบบนี้ แต่สำหรับอาตมารู้สึกธรรมดา เพราะเคยมีประสบการณ์มาจากโยมพ่อ

 

     ดังนั้น   ในการทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกันกับรุ่นพี่   จึงมักได้รับความไว้วางใจ  ให้เป็นแม่งานสั่งงานเองได้ ซึ่งโดยธรรมดานักศึกษาที่เป็นน้องใหม่ทั่วไปจะไม่มีโอกาสเช่นนั้น นี่ก็เป็นผลมาจากการฝึกลูกๆ ของโยมพ่อ


      ความรู้สึกรักและเข้าใจโยมพ่อมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ประทับใจอีกเรื่องหนึ่งกล่าวคือ เมื่อตอนใกล้จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย พวกเราได้ชักชวนกันไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ณ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง


      สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น มีเด็กอยู่ประมาณ  ๑๐๐  คน ส่วนใหญ่อายุราว ๓-๔ ขวบ พอเขาเห็นพวกเราไป ก็วิ่งกรูกันเข้ามา เพื่อแย่งกันให้พวกเราอุ้ม และเรียกนิสิตชายว่า 'พ่อ' เรียกนิสิตหญิงว่า 'แม่' ถึงกับทำให้นิสิตหญิงบางคนอายจนหน้าแดงไปก็มี


      ได้เห็นพวกเด็กๆ   เหล่านั้นแล้วรู้สึกสลดใจ   แววตาของพวกเขาเลื่อนลอยเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจไร้ความหวัง ไร้ที่พึ่ง ขาดความอบอุ่น ในการแจกเสื้อผ้า หากได้กันไม่ครบทุกคน คนที่ไม่ได้ก็จะยื้อแย่งเอาจากเด็กคนอื่น จนถึงกับเสื้อผ้าฉีกขาดเพราะความอิจฉา เวลากินอาหารก็แย่งกันกิน ทำให้วินิจฉัยได้ว่าเด็กเหล่านี้มีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเด็กทั่วไปที่เขามีพ่อมีแม่

2567%2007%2008b.16.jpg
      สมัยที่เราเป็นเด็ก เรารู้สึกว่าเด็กๆ ข้างบ้านล้วนเป็นเพื่อนเล่นของเรา และเราก็อยากมีเพื่อนมากๆ เพื่อจะได้เล่นกันให้สนุกไม่เคยมีพฤติกรรมเหมือนเด็กเหล่านี้เลย ที่เป็นเช่นนั้นคงจะเป็นเพราะท้องเราอิ่ม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็พร้อม ความอบอุ่นจากพ่อแม่ก็มี


     พวกเด็กๆ   กำพร้าเหล่านั้นกลับมีความรู้สึกตรงกันข้ามกับความรู้สึกของเราเมื่อตอนเด็ก เพราะเขาอาจจะคิดว่า ทุกคนที่อยู่ร่วมกันเป็นร้อยนั้นไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นศัตรู ที่มาแย่งเสื้อผ้า อาหารและแย่งคนที่จะมาอุ้มเพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเรียกว่า 'พ่อ' หรือ 'แม่' นั่นเอง


      เห็นเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว  ทำให้นึกถึงเมื่อตอนเป็นเด็กขณะนั้นมีสงครามโลกครั้งที่  ๒  พอเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น โยมพ่อจะไม่เอาอะไรเลย นอกจากคว้าตัวอาตมามาอุ้มไว้ โยมแม่ก็รีบจูงพี่ๆ พากันลงหลุมหลบภัย อะไรๆ ท่านไม่ต้องการ ขอแต่ให้ลูกๆ ปลอดภัยเท่านั้น


      ตั้งแต่นั้นมา   ไม่ว่าอาตมาจะไปไหนก็คิดถึงแต่โยมพ่อ  และคิดพยายามตอบแทนพระคุณของท่านอยู่เสมอมา  และเมื่อมีโอกาสได้บวช ก็ตั้งใจชวนท่านให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนาอย่างเต็มที่


          โบราณท่านว่า ไม่ว่าพ่อแม่นั้นจะเลี้ยงดูเราหรือไม่ก็ตามอุปมาว่า

       ถ้าใช้ภูเขาสูงเยี่ยมเทียมเมฆมาแทนปากกา  ท้องฟ้าแทนกระดาษน้ำหมึกหมดมหาสมุทรทั้งสี่แทนหมึก เขียนประกาศพระคุณของพ่อแม่ เขียนจนกระทั่งภูเขาคือปากกาสึกเหี้ยนไปแล้ว ตัวอักษรก็เต็มท้องฟ้าอันกว้างใหญ่แล้ว แม้กระนั้นก็ยังสรรเสริญพระคุณของพ่อแม่ยังไม่หมดสิ้น


         เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครๆ  ในโลกจะเขียนพรรณนาพระคุณของพ่อแม่สักเท่าใด ก็เป็นเพียงเสี้ยวธุลีหนึ่งแห่งคุณความดีเท่านั้น


          เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เช่นกัน  เป็นประวัติส่วนหนึ่งของโยมพ่อของอาตมา ผู้เป็นครูชีวิตคนแรกอบรมฝึกฝนให้อาตมารู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักการทำงาน วางพื้นฐานนิสัยใจคอให้เป็นอย่างดี จนทำให้อาตมาใฝ่ดี และกุศลได้ส่งให้อาตมาได้มารู้จักกับหลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และได้มาบวชอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001216999689738 Mins