พื้นฐานสำคัญในการตีความพุทธศาสนสุภาษิต

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2567

670711_b85.jpg

 

พื้นฐานสำคัญในการตีความพุทธศาสนสุภาษิต

               ได้กล่าวมาแล้วว่าการตีความพุทธศาสนสุภาษิตโดยเฉพาะการตีความพระพุทธพจน์มีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงอบายไม่น้อยหากไม่รอบคอบ ตีความด้วยขาดสติหรือด้วยความมีอคติ แต่การตีความที่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจึงเพื่อป้องกันโทษในข้อนี้ ผู้มีความจำต้องสร้างเกราะป้องกันตัวไว้อันเกราะป้องกันตัวนั้นได้แก่สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการตีความกล่าวคือผู้ที่ความต้องมีพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับเป็นเครื่องมือในการตีความ เพื่อจะได้ตีความได้ถูกต้องแม่นยำ ไม่ผิดพลาด อันจะก่อให้เกิดโทษภายหลังเพราะพื้นฐานแห่งการตีความนั้นจะทำหน้าที่เป็นหลักประกันให้ นอกเหนือไปจากทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันให้แล้วอันพื้นฐานที่ผู้มีความจำต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นนั้น คือ


(๑) เจตนาที่บริสุทธิ์
(๒) ความรอบรู้
(๓) ความรอบคอบ

 

(๑) เจตนาที่บริสุทธิ์
               คือผู้มีความพึงตั้งเจตนาให้บริสุทธิ์ในการตีความ โดยตั้งเจตนาว่าขอความเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่นเพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อแก้ข้อกังขา เพื่อรักษาพระพุทธพจน์ไว้ เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อไป เป็นต้นเว้นเจตนาที่มุ่งร้ายต่อพระพุทธพจน์ เช่นมุ่งจับผิดเพื่อโต้แย้งมุ่งบิดเบือนให้คลาดเคลื่อนเพื่อให้เข้าใจผิด มุ่งกดให้ต่ำลงเพื่อลดความสำคัญ เป็นต้น เว้นเจตนาที่ประกอบด้วยอคติ เช่นตีความเพราะชอบในเรื่องการตีความจึงทดลองตีความพระพุทธพจน์ดู โดยปราศพื้นฐานการเรียนรู้พระพุทธศาสนามาก่อน

              ที่ความเพราะเห็นเป็นเรื่องสนุกน่าลองด้วยโมหะ เป็นต้น เจตนาเหล่านี้ถือว่าเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เมื่อไปตีความพระพุทธพจน์เข้าย่อมเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความไขว้เขวสำหรับผู้ไม่รู้จริง ยิ่งผู้ที่ความเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เป็นคนฉลาดรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ แต่ขาดความรู้ในพุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ใช้หลักตรรกะมาตีความพระพุทธพจน์ ยิ่งสามารถชี้นำและโน้มน้าวข้อความ ข้อวินิจฉัย หรือข้ออธิบายของตนให้ผู้คนหลงเชื่อได้อย่างสนิทใจ

              โดยมิพักต้องหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ความบิดเบือนเลือนหายไปแห่งข้อเท็จจริงและสาระสำคัญแห่งพระพุทธพจน์ย่อมเกิดขึ้นจากแหล่งข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งหากแต่เมื่อตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ มุ่งมั่นให้การตีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีผลในทางถูกต้องถ่องแท้ โดยอาศัยเครื่องมือคือกระบวนการตีความมาเป็นตัวช่วย ก็จะนำให้การตีความนั้นเกิดผลเป็นบวก ทำให้พระศาสนามั่นคงและเจริญวัฒนาสถาพรต่อไปได้ดังเช่นที่พระบุรพาจารย์ทั้งหลายได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แม้ในการเทศน์ก็จำต้องอาศัยเจตนาที่บริสุทธิ์ในการตีความหรืออธิบายขยายความข้อธรรมเช่นเดียวกัน เมื่อมีเจตนาบริสุทธิ์ในเบื้องต้น บทเทศนานั้นก็จะเริ่มบริสุทธิ์ในเบื้องต้นเช่นเดียวกัน
 

(๒) ความรอบรู้
               คือความรู้อันเป็นเครื่องมือในการตีความซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเป็นต้นทุนสำหรับเริ่มลงมือตีความได้อย่างถูกต้อง เหมือนอย่างความรู้ที่เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพการงาน ขาดความรู้เสียแล้ว แม้จะมีทรัพย์เป็นต้นทุนอยู่ที่ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่รู้ว่าจะจับจะทำอย่างไรหรือจะจับจะทำอะไรก่อนหลังอันความรอบรู้ซึ่งเป็นอุปการะช่วยเหลือในการตีความนั้นแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

ก. รู้หลักวิชา คือ ผู้ที่ความจำต้องมีความรู้ภาษาอย่างดีทั้งภาษามคธซึ่งเป็นต้นแบบให้ตีความ และภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่ต้องถ่ายทอดเพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจ ตลอดถึงไวยากรณ์ของทั้งสองภาษา เพราะถ้าสามารถรู้วิธีไวยากรณ์ของภาษามคธ เช่นวิธีการสร้างศัพท์ การวางศัพท์ การสร้างประโยค เป็นต้นเป็นอย่างดีก็จะสามารถตีความเบื้องต้นตามพยัญชนะได้ และถ้าสามารถรู้วิธีไวยากรณ์ของภาษาไทย เช่นการใช้คำ การใช้ประโยค การเรียบเรียงคำให้สละสลวย การแยกแยะความต่างกันแห่งภาษาพูดกับภาษาเขียนได้ เป็นต้น ก็จะสามารถใช้ภาษาไทยสื่อความหมายข้อธรรมได้ชัดเจนและทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้ โดยไม่ต้องแปลหรือต้องมาอธิบายไทยเป็นไทยกันอีก

 

ข. รู้หลักวิธี คือ รู้เทคนิค หลักการ วิธีการแห่งการตีความตลอดถึงตัวอย่างที่ท่านทำไว้เป็นแบบอย่าง เพราะการตีความเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์จึงมีท่านผู้รู้วางแนววิธีไว้หลากหลายแบบ ซึ่งล้วนสามารถยึดถือเป็นต้นแบบได้ทั้งสิ้น เช่น แบบปกรณนัย คือแนววิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแบบคัมภีร์เดิม คือ เนตติปกรณ์ เปฎโกปเทส มิลินทปัญหา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบที่เก่าที่สุด แบบอัฏฐกถานัย คือแนววิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแนวพระอรรถกถาจารย์ เช่นคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ ที่พิมพ์แพร่หลายอยู่ทั่วไป

                   แบบอาจริยมตินัย คือแนววิธีการอธิบายพระพุทธพจน์ตามแนวของอาจารย์รุ่นหลังๆ ตั้งแต่พระฎีกาจารย์ลงมาจนถึงนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันหลักวิธีหรือแนววิธีที่ความทั้งแบบเก่าและแบบใหม่เหล่านี้สามารถยึดถือเป็นบรรทัดฐานแห่งการตีความพุทธศาสนสุภาษิตได้ทั้งสิ้นแม้จะนำมาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดก็ย่อมทำได้ข้อสำคัญผู้ที่ความจำต้องมีความแม่นยำในรูปแบบและวิธีการต่างๆเท่านั้นย่อมมีความได้ดี ไม่น้อยหน้าบุรพาจารย์เท่าใดเลยรู้หลักธรรม คือ มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมครอบคลุมทั้งหมด มิใช่เฉพาะบทหรือตอนที่ต้องการจะตีความเท่านั้นเพราะข้อธรรมทั้งหลายในพระไตรปิฎกจะมีความเกี่ยวเนื่องประสานความกันโดยตลอด และส่วนหนึ่งข้อธรรมมีชื่อเรียกเหมือนกัน

                 แต่อยู่ต่างหัวข้อกัน หรืออยู่ต่างสูตรต่างปิฎกกัน มีความหมายเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง มีความหมายกว้างแคบต่างกันบ้าง ดังนั้นจำต้องศึกษาให้รู้ตลอดสาย และรู้ให้ละเอียดถึงบริบทแห่งข้อธรรมที่จะตีความนั้นว่าอยู่ในสูตรใด ในปิฎกใด มีที่มีที่ไปอย่างไร เป็นต้นเพื่อเป็นองค์ประกอบในการตีความกล่าวโดยรวมว่าหลักธรรมที่ควรรู้นั้นปกติที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะพระสูตรกับพระอภิธรรม ในพระวินัยนั้นมีน้อย และในการตีความนั้นหากได้ศึกษาเรียนรู้พระอภิธรรมช่ำชองจนสามารถกำหนดองค์ธรรมได้ ก็จะเป็นอุปการะแก่การตีความไม่น้อย เพราะจะสามารถอธิบายและชี้ให้เห็นประเด็นสาระแห่งข้อธรรมนั้นๆ ได้ชัดเจน

                  ในการเทศน์ซึ่งเป็นการตีความแบบหนึ่งก็จำต้องอาศัยความรอบรู้ในหลักวิชา หลักวิธี และหลักธรรมนี้เช่นเดียวกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถเทศน์ให้ถูกต้องตรงประเด็นนำให้เกิดอานิสงส์แห่งการฟังธรรมแก่ผู้ฟังได้ ความรอบรู้จึงเป็นต้นทุนสำหรับนักเทศน์ที่ต้องเก็บตุนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อันจะสามารถหยิบฉวยมาใช้เทศน์ใช้อธิบายความได้ทันทีเมื่อต้องการ


(๓) ความรอบคอบ
                  คือความมีโยนิโสมนสิการ มีความพินิจพิเคราะห์ มีความละเอียดในการตีความ ไม่มีความแบบมักง่าย แบบสุกเอาเผากิน หรือด่วนสรุปด่วนตัดสินว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยขาดการวิเคราะห์คิดค้นหาเหตุผล หาข้อมูลหลักฐานและแบบอย่างมาประกอบก่อน ความรอบคอบเกิดจากการใคร่ครวญ พินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่ และอาศัยสติปัญญาหรือความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาเป็นองค์ประกอบการตีความด้วยความรอบคอบย่อมมีทางผิดพลาดน้อย และจะได้ความละเอียดความลึกซึ้ง ข้อเท็จจริง ตลอดถึงประเด็นปลีกย่อยต่างๆอนึ่ง ความรอบคอบนี้เป็นเพื่อนผู้มีอุปการคุณต่อความรอบรู้กล่าวคือมีความรอบรู้แต่ขาดความรอบคอบคอยประคับประคองคอยเป็นห้ามล้อ ความรอบรู้นั้นอาจผลีผลาม ด่วนตัดสิน ลงความเห็นหรือรีบถลันผลุนผลันไปข้างหน้า แล้วประสบกับความล้มเหลวความผิดพลาด หรือความไม่ถูกต้องได้ เหมือนรถที่มีความเร็วสูงแต่ปราศจากห้ามล้อ ย่อมมีแต่จะนำไปสู่ความวิบัติเท่านั้น

                  ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำกล่าวเกิดขึ้นว่า รอบรู้ต้องคู่กับรอบคอบการตีความในการเทศน์โดยการอธิบายขยายความข้อธรรมด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และตั้งอยู่บนฐานแห่งความรอบรู้ย่อมนำผลที่ประเสริฐมาให้สถานเดียว ความผิดพลาดบกพร่องความไม่สมบูรณ์แห่งเนื้อหา และความล้มเหลวแห่งการเทศนาย่อมจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนการตีควาพระพุทธพจน์หรือพุทธศาสนสุภาษิตโดยรวมย่อมต้องอาศัยพื้นฐานแห่งการตีความ ๓ ประเภทใหญ่นี้ไปพร้อมๆกัน เพราะต้องอิงอาศัยกันเหมือนเสาไม้ ๓ ต้นอิงกันอยู่จึงตั้งอยู่ได้หากชักออกเสียต้นหนึ่ง ที่เหลือก็ย่อมล้มลงแน่นอน ฉันใดก็ฉันนั้นแล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0034783482551575 Mins