แนวการตีความทั่วไป

วันที่ 12 กค. พ.ศ.2567

670712_b87.jpg

 

แนวการตีความทั่วไป


                 โดยปกติการตีความที่ปรากฏอยู่ทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบหลากหลายแนว แล้วแต่ความถนัดและความประสงค์ของผู้ตีความใครถนัดชำนาญอย่างใดก็ดีความไปตามที่ตนถนัดชำนาญ หรือตนประสงค์จะอธิบายในแง่ใดมุมใด ก็ตีความไปในแง่นั้นมุมนั้น จึงทำให้แนวการตีความมีมากจนยากที่จะกำหนดได้ แม้การตีความพุทธศาสนาสุภาษิตที่ปรากฏตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็มีหลายรูปหลายแนว แต่ก็พอกำหนดจับหลักสำหรับศึกษาแนวการตีความของท่านได้เป็น ๕ แนวด้วยกัน คือ
 

(๑) ตีความตามพยัญชนะ
(๒) ตีความตามข้อเท็จจริง
(๓) ตีความตามความรู้
(๔) ตีความตามความเชื่อ
(๕) ตีความตามกระแส (นวยุค)


(๑) ตีความตามพยัญชนะ

            คือการตีความหรือไขความไปตามตัวอักษรหรือศัพท์ที่ปรากฏเพื่อขยายความให้กว้างออกไป หรือเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยใช้ความรู้ทางหลักภาษา แยกแยะศัพท์ออกไปว่ามาจากเครื่องปรุงอะไรเป็นศัพท์ประเภทใด เป็นต้น ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “คือ, ได้แก่, หมายถึง, หมายความว่า” เป็นเครื่องแสดงถึงการอธิบายขยายความคำหรือศัพท์ที่ต้องการตีความ เช่นการตีความพระพุทธพจน์เรื่องจิต ก็อธิบายความไปในทำนองดังนี้ว่า

            “คำว่า จิต ในที่นี้แปลว่า ธรรมชาติที่นึกคิดอารมณ์, ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, ธรรมชาติที่วิจิตร, ธรรมชาติที่สั่งสมกุศลและอกุศล เป็นต้นหรือ แปลว่า ความคิด ก็ได้ แต่โดยทั่วไปเรียกจิตว่า ใจ อันจิตนี้มีลักษณะรับ จำ คิด รู้อารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ” การอธิยายเช่นนี้เรียกว่าการตีความตามพยัญชนะหรืออักษรที่ปรากฏ โดยยกคำหรือข้อความที่ต้องการตีความเป็นบทตั้งแล้วแปลวิเคราะห์ ให้ความหมาย หรือขยายความไปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง ทำให้คำหรือข้อความนั้นๆ เป็นที่เข้าใจได้แจ่มแจ้งชัดเจน การตีความแนวนี้เป็นที่นิยมกันทั่วไปมาแต่โบราณ แม้ในการตีความสมัยปัจจุบันก็นิยมเดินตามแนวนี้
 

(๒) ตีความตามข้อเท็จจริง
            คือการตีความไปตามเรื่องหรือตามเหตุการณ์ที่มีจริงเป็นจริงซึ่งเป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว โดยอิงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นๆ ไม่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ขัดแย้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเข้าไป ทำนองว่าไปตามเนื้อผ้า ผิดถูกเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง มิใช่เรื่องสันนิษฐานหรือคาดเดาเอาการตีความแนวนี้ผู้ที่ความจำต้องสร้างความคิดความรู้สึกของตนย้อนยุคไปให้ถึงกาลเวลาที่เรื่องหรือเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจึงจะสามารถตีความได้ชัดเจนและเป็นไปถูกต้องตามข้อเท็จจริง

             หากนำความคิด ความรู้สึก หรือสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันเข้าไปจับหรือไปตีความ ย่อมไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เพราะต่างยุคต่างสมัยกัน เช่นเรื่อง การประสูติของพระพุทธเจ้าที่เมื่อประสูติแล้วสามารถดำเนินได้ ๗ ก้าว เรื่องพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เรื่องสัตว์พูดได้ในชาดกต่างๆ เรื่องพุทธวิสัย เรื่องยมกปาฏิหาริย์ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องอาศัยการตีความด้วยความรอบรู้และรอบคอบ เป็นเรื่องภูมิปัญญาระดับสูง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการตีความไปตามความเชื่อหรือทัศนะส่วนตัวไป
 

(๓) ตีความตามความรู้
              คือการตีความตามความรู้ความเข้าใจพื้นฐานประสบการณ์ หรือตามตรรกะของตน กล่าวคือตนมีความรู้ความเข้าใจหรือมีประสบการณ์เช่นใด ก็มักจะตีความไปในทางนั้น เช่นการตีความในพระไตรปิฎก คนที่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ก็มักจะมองว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์เข้ากันได้กับหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการตีความหรืออธิบายสาระแห่งข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็มักจะให้น้ำหนักและอธิบายความไปในแนวคือมองว่าวิทยาศาสตร์ ตามความรู้และความเข้าใจของตน

               คนที่เป็นแพทย์มักจะตีความให้น้ำหนักและเน้นไปในทางวิชาการแพทย์ข้อนั้นเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการแพทย์ กลมกลืนกับการแพทย์ เป็นต้นเรียกว่ามองไปตามมุมของตน เรื่องเดียวกันแต่มองเห็นต่างกันตามความรู้ความเข้าใจอันเป็นพื้นฐานของตนการตีความแบบนี้จะถึงหรือไม่ถึง ถูกหรือไม่ถูก ก็อยู่ที่ความรู้ของผู้ตีความ อาจถูกต้องทั้งหมด อาจไม่ถูกเลย หรือถูกเป็นบางส่วนผิดเป็นบางส่วนก็ได้ ข้อนี้ผู้ที่รู้กว่า เข้าใจกว่า หรือเข้าถึงเรื่องหรือข้อธรรมนั้นๆ มากกว่าเท่านั้นจึงจะตัดสินได้ การตีความแบบนี้จึงมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวแล้วแต่กรณี
 

(๔) ตีความตามความเชื่อ
              คือตีความไปตามศรัทธาและทัศนะของตน กล่าวคือตนมีความเชื่อและมีความคิดเห็นเช่นนั้นเช่นนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงตีความไปตามความเชื่อและความคิดเห็นนั้น พร้อมเพิ่มเติมความคิดเห็นของตนผสมเข้าไป เช่น ตีความเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องบุญบาป เรื่องการทำดีทำชั่ว เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีความเชื่อและคิดเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงเป็นจริงก็จะตีความด้วยการอธิบายขยายความไปอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงเป็นจริง แต่ถ้าไม่เชื่อ ก็จะตีความไปในทางตรงกันข้าม

               ด้วยการอธิบายเหตุผลนานาประการเพื่อให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงไม่เป็นจริงการตีความแบบนี้มีปรากฏอยู่ทั่วไปเป็นการตีความแบบเข้าข้างตนเอง ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้เช่นเดียวกับการตีความตามความรู้แต่ก็มีทั้งคุณและโทษอยู่ คือหากผู้ที่ความเป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้ที่คนยอมรับกันทั่วไป แต่ชอบยึดถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่น ไม่รับรู้ความคิดเห็นของใคร เมื่อตีความหรืออธิบายเรื่องใดไป ผู้คนก็จะเชื่อและยึดถือเป็นแนวทางอ้างอิง หากการตีความของผู้นั้นถูกต้องตรงข้อเท็จจริงก็เป็นคุณ หากไม่ถูกต้องก็เป็นโทษ เพราะเป็นเหตุให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด และเดินทางผิดไปด้วย
 

(๕) ตีความตามกระแส
               คือการตีความไปตามเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นตีความเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ พยายามอธิบายโน้มเข้าหาเหตุการณ์เช่นกระแสสังคมในขณะนั้นนิยมถวายสังฆทาน ก็อธิบายขยายความเรื่องการสังฆทานว่ามีประโยชน์มีอานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ผู้คนถวายสังฆทานกันมากขึ้น หรือกระแสสังคมกำลังรณรงค์เรื่องการงดสุรางคบุหรี่ ก็นำข้อธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาขยายความ เพื่อให้เห็นโทษของสุราหรือบุหรี่ ทำให้ผู้คนเห็นคล้อยตาม สามารถงดสุรางดบุหรี่ได้ หรือทำให้ผู้คนรังเกียจสุราหรือบุหรี่ได้ เป็นต้น อย่างนี่เรียกว่าตีความตามกระแสการตีความตามกระแสนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักเทศน์นักบรรยายธรรมตลอดมา

               เพื่อแสดงให้ผู้ฟังเห็นว่าเป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์สามารถนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาประกอบการอธิบายข้อธรรมได้อย่างเหมาะเจาะ และมักจะเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ฟังไม่น้อย แต่การตีความแบบนี้ย่อมมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดเสียหายต่อพระศาสนาอยู่ไม่น้อย หากการตีความแบบนี้มุ่งให้ถูกใจสังคมมากกว่าถูกธรรมถูกข้อเท็จจริง เพราะกระแสสังคมนั้นนิยมความถูกใจมากกว่าความถูกธรรมเป็นพื้นอยู่แล้วเมื่อตีความไหลเลื่อนไปตามกระแสเช่นนั้นก็อาจเลยเถิดไปก็เป็นได้ แต่หากตีความแบบนี้เป็นไปอย่างรอบรู้และรอบคอบ ประกอบกับถูกต้องตามข้อเท็จจริงโดยอิงกระแสและเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นฐาน ก็ย่อมให้การตีความนั้นบรรลุผลสมปรารถนาและมีคุณค่าควรแก่การจดจำนำไปสืบสานให้เป็นรูปธรรมต่อไป

               การตีความ ๕ แนวนี้อาจถูกหลักถูกเกณฑ์บ้าง ไม่ถูกหลักเกณฑ์บ้าง แต่ก็มีปรากฏให้เห็นกันตลอดมา และคงจะมีตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีการตีความกันอยู่ และตราบเท่าที่หลักเกณฑ์การตีความที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับเป็นสากลยังไม่แพร่หลายและยังไม่ได้ศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติกันอย่างจริงจังและอย่างทั่วถึง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022113680839539 Mins