รูปแบบการตีความพุทธศาสนสุภาษิต

วันที่ 13 กค. พ.ศ.2567

 

670713_b91.jpg

รูปแบบการตีความพุทธศาสนสุภาษิต
              การตีความพุทธศาสนสุภาษิตเท่าที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆซึ่งพระบุรพาจารย์ได้แสดงไว้มีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบสั้นพอให้เข้าใจความได้ มีทั้งแบบยาวซึ่งขยายความออกไปโดยพิสดารครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งแต่ละรูปแบบที่อยู่ในขอบเขตแห่งการตีความทั้งสิ้น แต่เมื่อจะประมวลกล่าวถึงรูปแบบแห่งการตีความพุทธศาสนสุภาษิตทั่วไปอาจได้เป็น ๔ รูปแบบ คือ


(๑) แบบจํากัดความ
(๒) แบบขยายความ
(๓) แบบอธิบายความ
(๔) แบบวินิจฉัยความ

 

                ใน ๔ แบบนี้ขอขยายความพร้อมตัวอย่างพอเป็นแนว โดยจะแสดงเน้นไปที่การตีความพุทศาสนสุภาษิตเป็นหลัก เพื่อให้สามารถตีความพุทธศาสนสุภาษิตได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเพื่อสามารถนำไปใช้ในการเทศน์ในการบรรยายธรรม หรือในการเขียนหนังสืออธิบายข้อธรรมต่างๆ


(๑) ตีความแบบจำกัดความ
                 คือตีความโดยการกำหนดความหมายให้ความหมายอย่างกะทัดรัด เป็นการกำหนดกรอบความหมายไว้พอเป็นสังเขปเพื่ออธิบายขยายความต่อไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการตีความศัพท์หรือข้อความสั้นๆ อาจเป็นการแปลศัพท์ ให้ความหมายศัพท์ หรือแสดงรูปวิเคราะห์ศัพท์ และนิยมใช้คำว่า คือ, หมายถึง, แปลว่า ได้แก่ มาเป็นองค์ประกอบ ดังตัวอย่างที่ท่านตีความแบบนี้ไว้ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น
-การไม่คบหา การไม่เป็นสหาย การไม่เข้าเป็นพวกด้วย ชื่อว่า การไม่คบ
-ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างมีฆ่าสัตว์เป็นต้นชื่อว่า คนพาล
-พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับมาก
-ศิลปะ คือความเป็นผู้ฉลาดในหัตถกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
-วินัย คือการฝึกฝนกาย วาจา และใจ
-คำว่า ทมะ ในที่นี้หมายถึงความสำรวมอินทรีย์

 

(๒) ตีความแบบขยายความ
                  คือความด้วยการขยายประเด็นความที่จำกัดความไว้แล้วให้ชัดเจนกระจ่างขึ้น โดยขยายใจความ แยกแยะเนื้อหา หรือตั้งประเด็นอธิบายไว้เป็นข้อๆ เช่น
-ชาคริยานุโยค แปลว่า การประกอบความเพียรโดยการตื่นตัวอยู่เสมอ ขยายความว่าหมายถึงการหมั่นประกอบความเพียรโดยไม่เห็นแก่นอนมากนัก การทำกิจต่างๆ ด้วยความมีสติสัมปชัญญะตื่นตัวอยู่เสมอ มีให้ความเกียจคร้านเข้ามาครอบงำจิตใจจนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง มุ่งแต่จะนอนอย่างเดียว กล่าวคือความไม่เห็นแก่นอนนั่นเอง
-พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับมาก หมายถึงการได้ศึกษาเล่าเรียนมาก การมีความรู้มีประสบการณ์มาก พาหุสัจจะนั้นเกิดจากการศึกษาที่ผ่านกระบวนการ 4 แบบคือ ด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการสอบถาม และด้วยการจดจำ ซึ่งมีคำย่อว่า สุ.จิ.ปุ.ลิ. (ฟัง คิด ถาม จด)
-โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นเครื่องสนับสนุนให้ตรัสรู้ธรรมให้บรรลุมรรคผล เป็นเครื่องปลุกใจให้รู้ ให้ตื่นตัว ให้เบิกบาน ไม่ให้กิเลสครอบงำทำให้มืดบอด หลับใหล หดหู หรือฟุ้งซ่าน


(๓) ตีความแบบอธิบายความ
               คือการตีความด้วยการอธิบายคำจำกัดความหรือประเด็นความที่ขยายแยกแยะไว้แล้วให้พิสดารกว้างขวางออกไปจนถึงที่สุดจนเกิดความสมบูรณ์ ได้เนื้อหาสาระ สามารถมองเห็นข้อธรรมนั้นๆได้อย่างชัดเจน เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยหรือปมโต้แย้งได้ เป็นต้น ในคำอธิบายนั้นประกอบด้วยเนื้อหาที่มีการคิดวิเคราะห์ มีเหตุผล มีประเด็นข้อปลีกย่อย มีรายละเอียด มีอุปมามีตัวอย่าง เป็นต้น และมีการจัดลำดับการอธิบายอย่างมีระบบเรียบเรียงเนื้อหากลมกลืนรับกันสมกัน ใช้ภาษาถ้อยคำ ที่สละสลวยเข้าใจง่าย เป็นภาษาร่วมสมัย เป็นต้น การตีความแบบนี้อาจสั้นหรือยาวก็ได้ แล้วแต่ข้อความที่จะอธิบายหรือแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการอธิบาย คัมภีร์ธรรมบทก็ดีคัมภีร์มงคลทีปนี้ก็ดี คัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดี ล้วนเป็นตัวอย่างการตีความแนวนี้ได้เป็นอย่างดีตัวอย่างการตีความแบบอธิบายความ

 

พระพุทธพจน์
ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล         ปณฑิตํ ปฺยิรุปาสติ
น โส ธมฺมํ วิชานาติ         ทพฺพิ สูปรสํ ยถา ฯ

 

คนพาลแม้หากจะเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตจนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมได้ เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น ฯ


อธิบายความว่า
               “ธรรมดาว่าคนพาลคือคนเขลานั้น ถึงจะเข้าไปหาไปนั่งใกล้บัณฑิต ก็ย่อมจะไม่รู้ธรรม ๒ อย่าง คือไม่รู้ปริยัติธรรมว่า นี้เป็นพระพุทธพจน์ ข้อความเท่านี้เป็นพระพุทธพจน์ หรือไม่รู้ปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรมว่า ธรรมข้อนี้เป็นธรรมสำหรับอยู่ ธรรมข้อนี้เป็นธรรมสำหรับประพฤติ ธรรมข้อนี้มีโทษ ข้อนี้ไม่มีโทษ ข้อนี้ควรเสพ ข้อนี้ไม่ควรเสพเป็นต้น เปรียบเหมือนกับอะไร เปรียบเหมือนกับทัพพี่ไม่รู้รสแกง กล่าวคือทัพพี่แม้จะคลุกกลั้วอยู่กับแกงต่างชนิดจนสึกกร่อนไป ก็ไม่รู้รสแกงได้ว่า นี่เค็ม นี่จืด นี่ขม นี่เผ็ด นี่เปรี้ยว เป็นต้น ฉันใดคนพาลก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตจนตลอดชีวิตก็ย่อมไม่รู้ธรรมดังกล่าวข้างต้นได้” (จากอรรถกถาธรรมบท)


(๔) ตีความแบบวินิจฉัยความ
                คือการตีความด้วยการตัดสินชี้ขาดข้อธรรมหรือพุทธศาสนาสุภาษิตที่มีความหมายหรือเนื้อหาสาระหลายประเด็น มีข้อเลือกหลายอย่าง ว่าความหมายที่แท้จริงหรือที่ต้องประสงค์เป็นอย่างนี้ๆโดยอาศัยการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ พินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่รอบคอบแล้ว การตีความแบบนี้ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ตลอดถึงวิจารณญาณอย่างสูง บางเรื่องต้องอาศัยประสบการณ์ หลักฐานอ้างอิง และถ้อยคำของเหล่าบุรพาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย หาไม่แล้วการวินิจฉัยนั้นอาจผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์ได้


                ตามปกติศัพท์ธรรมแม้มีชื่อเหมือนกันแต่มีความหมายมีความลุ่มลึกต่างกัน ใช้ในกรณีต่างกันก็มีอยู่ ต้องอาศัยภูมิปัญญาทางการศึกษาเรียนรู้และวิจารณญาณอย่างรอบคอบจึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าในที่นี้ในกรณีนี้ศัพท์นี้มีความหมายอย่างนี้ แต่เมื่อไปปรากฏอยู่ในอีกหมวดธรรมหนึ่งจะมีความหมายเพียงแค่นี้ การตีความพระพุทธพจน์หรือพุทธศาสนสุภาษิตด้วยการวินิจฉัยจึงมักผิดพลาดได้ง่ายหากไม่ถ้วนถี่ โดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอย่างเดียวกันเพราะเป็นศัพท์เดียวกัน เช่น ศัพท์ว่า ทุกข์ มีทั้งในหมวดสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ มีทั้งในหมวดอริยสัจ ศัพท์ว่า ปัญญา มีในหมวดธรรมต่างๆ มากมาย เป็นต้น ตัวอย่างการตีความแบบวินิจฉัยความที่ท่านแสดงไว้ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแบบได้ เช่น พระพุทธพจน์ในพระคัมภีร์ธรรมบทว่า


มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา             มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน                ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ              จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ


                  ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจถูกประทุษร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดีทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขาเพราะเหตุนั้น ดุจวงล้อเกวียนตามรอยเท้าโคที่นำแอกเกวียนไปอยู่ฉะนั้น ฯ ในพระบาลีนี้ ท่านวินิจฉัยคำว่า มโน กับคำว่า ธรรม ไว้ชัดเจนดังนี้ว่า“จิตที่เป็นไปในภูมิสี่แม้ทั้งหมด อันต่างโดยจิตมีกามาวจรกุศลจิตเป็นต้น ชื่อว่า มโน ในพระคาถานั้น ถึงอย่างนั้น ในพระคาถานี้เมื่อนิยม กะ กำหนดลงด้วยอำนาจจิตที่เกิดแก่หมอนั้นในคราวนั้นย่อมได้เฉพาะแก่ จิตที่เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ประกอบด้วยโทสะ คำว่า ธรรม หมายถึงธรรม ๔ ประการ คือ คุณธรรม เทศนาธรรม ปริยัติธรรม และนิสสัตตนิชชีวธรรม

 

                  ใน ๔ ประการการนี้ ธรรมในประโยคว่า “ธรรมและอธรรมทั้งสองให้ผลเสมอกันหามิได้ อธรรม ย่อมนำไปสู่นรก ธรรมนำให้ถึงสุคติ” ชื่อว่า คุณธรรม (แปลว่าธรรมคือคุณ) ธรรมในประโยคว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น... แก่เธอทั้งหลาย” ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เทศนาธรรม (แปลว่าธรรมคือเทศนา) ธรรมในประโยคว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรบางพวกในโลกนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ...” ดังนี้เป็นต้นชื่อว่า ปริยัติธรรม (แปลว่าธรรมคือปริยัติ) ธรรมในประโยคว่า “ก็โดยสมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี ขันธ์ทั้งหลายย่อมมี” ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า นิสสัตตธรรม (แปลว่าธรรมคือสภาวะที่มิใช่สัตว์) แม้นิชชีวธรรม (แปลว่าธรรมคือสภาวะที่มิใช่ชีวะ) ก็นัยนี้เหมือนกัน ในพระคาถานี้ ทรงพระประสงค์เอานิสสัตตนิชชีวธรรมโดยใจความ นิสสัตตนิชชีวธรรมได้แก่อรูปขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ อรูปขันธ์ ๓ ประการนั้นจึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า เพราะใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ ๓ ประการนั้น


                   มีคำถามว่า ก็ใจมีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดในขณะเดียวกันพร้อมกับธรรมเหล่านั้น ไม่ก่อนไม่หลังกว่ากัน จะชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้นได้อย่างไรมีคำแก้ว่า ใจได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้น ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างเมื่อพวกโจรเป็นอันมากทำโจรกรรมมีปล้นบ้านเรือนกันอยู่ เมื่อมีคนถามว่าใครเป็นหัวหน้าของพวกมัน โจรคนใดเป็นปัจจัยหลักของพวกมัน คือพวกมันอาศัยโจรคนใดจึงทำกรรมนั้นกัน โจรผู้นั้นจะชื่อว่าทัตตะก็ตาม ชื่อว่ามัตตะก็ตาม เขาก็เรียกว่าหัวหน้าของพวกมันฉันใด ใจก็ชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลายนั่นด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมทั้งหลายนั้นให้เกิดขึ้น ฉันนั้น”


                   ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่าท่านวินิจฉัยคือตัดสินลงความเห็นว่าใจหมายถึงอะไร ธรรมหมายถึงอะไร แต่เป็นการวินิจฉัยเฉพาะคำว่าใจกับคำว่าธรรมเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา เป็นอาทิเท่านั้น ซึ่งก็แปลความได้ว่า คำว่าใจกับคำว่าธรรมหากปรากฏอยู่ในที่อื่นอาจมีความหมายเช่นที่แสดงไว้ข้างต้นก็ได้ อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่นก็ได้


                   และข้อความข้างต้นนี้ทั้งหมดเป็นแบบแห่งการตีความที่สมบูรณ์แบบ อาจเรียกได้ว่าแบบครบวงจร คือมีทั้งแบบจำกัดความแบบขยายความ แบบอธิบายความ และแบบวินิจฉัยความ นำให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจนในข้อความที่ต้องการตีความเป็นอย่างยิ่งทั้งสี่รูปแบบที่แสดงมาพร้อมตัวอย่างพอสังเขปนี้จัดได้ว่าเป็นขอบเขตความหมายของคำว่าตีความในทางปฏิบัติ หมายความว่าการจำกัดความก็ดี การขยายความก็ดี การอธิบายความก็ดี การวินิจฉัยความก็ดี ล้วนเป็นเรื่องหรืออยู่ในกรอบของการตีความทั้งสิ้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038281432787577 Mins