วิธีการเทศน์

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2567

670701_b58.jpg

 

ภาคที่ ๒
วิธีการเทศน์


               วิธีการเทศน์ คือระเบียบปฏิบัติในการเทศน์ เป็นการนำความรู้เรื่องหลักการเทศน์มาปฏิบัติ โดยมีหลักศาสนพิธีเป็นเครื่องเชื่อมประสานให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียว ลงตัว และเป็นแบบอย่างให้ปฏิบัติตามได้เป็นที่รู้กันแล้วว่าการเทศน์เป็นการเผยแผ่ธรรมที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์และเป็นพิธีกรรม คือมีระเบียบปฏิบัติต่างหากโดยเฉพาะมีขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ ต้องดำเนินไปตามจังหวะแห่งขั้นตอนจะตัดลัดขั้นตอนไปตามใจชอบหาควรไม่ เพราะที่ผู้คนให้ความสำคัญและยอมรับการเทศน์กันมาแต่โบราณนั้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากการรักษาระเบียบปฏิบัติไปตามขั้นตอนกันไว้ได้นั่นเองเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจและการปฏิบัติ จักได้
 

แยกขั้นตอนการปฏิบัติในการเทศน์ออกเป็น ๓ ขั้นตอนใหญ่คือ

- ขั้นตอนที่ ๑ ก่อนเทศน์ คือขึ้นตอนตั้งแต่ได้รับนิมนต์ให้เทศน์ไปจนถึงขึ้นนั่งบนธรรมาสน์
- ขั้นตอนที่ ๒ ขณะเทศน์ คือขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจับพัดให้ศีล จนถึงเทศน์จบ
- ขั้นตอนที่ ๓ หลังเทศน์ คือขั้นตอนหลังจากเทศน์จบแล้ว

 

ขั้นตอนที่ ๑ ก่อนเทศน์
               ขั้นตอนก่อนเทศน์เป็นชั้นเตรียมการและชั้นบุรพภาคเบื้องต้นแห่งการเทศน์ เป็นขั้นตอนที่เกี่ยวกับศาสนพิธีเป็นพื้น ซึ่งมีรายละเอียดสำหรับปฏิบัติมาก จึงจักแยกกล่าวไปตามลำดับเพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติ โดยแยกเป็น ๒ ส่วนคือ

-ส่วนเตรียมการ
-ส่วนศาสนพิธีและระเบียบปฏิบัติ

ส่วนเตรียมการ
                เนื่องจากการเทศน์เป็นเรื่องสำคัญ มิใช่ปฏิบัติเพียงแค่ให้ผ่านพ้นไปแบบสุกเอาเผากินหรือพอเป็นพิธีเท่านั้น มีผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อศรัทธาของชาวพุทธมิใช่น้อย เพราะชาวพุทธจะให้ความสนใจและเคารพต่อการฟังธรรมมาก ด้วยถือว่าพระผู้เทศน์นั้นเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า จึงจัดเตรียมสิ่งที่เกี่ยวกับการเทศน์ เช่นเตรียมสถานที่ เตรียมธรรมาสน์ เตรียมเครื่องบูชา เตรียมเครื่องกัณฑ์เป็นต้นเป็นพิเศษกว่าการทำบุญอย่างอื่นดังนั้นหากได้ฟังเทศน์ที่ได้เนื้อหาสาระดี ได้ประโยชน์จากการฟังได้ความซาบซึ้งในรสแห่งธรรม ก็จะเกิดปิติยินดี เกิดความแช่มชื่นเบิกบานใจ ไม่คิดเสียดายสิ่งของและเวลาที่จัดให้มีเทศน์ ทั้งย่อมคิดยกย่องชมเชยผู้เทศน์ด้วย ด้วยว่าชาวบ้านผู้ใฝ่ใจทางธรรมและชอบฟังธรรมเป็นทุนอยู่แล้วเมื่อได้ฟังธรรมแล้วย่อมรู้ได้ทันทีว่าผู้เทศน์นั้นตั้งใจเทศน์หรือไม่ เตรียมการมาดีหรือไม่ หรือเป็นผู้เทศน์ระดับใด เป็นต้นจึงเพื่อรักษาศรัทธาของชาวบ้านและรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องนี้ ย่อมเป็นการสมควรที่ผู้เทศน์จะพึงเตรียมการไว้ล่วงหน้าเมื่อได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ในงานต่างๆ หรือต้องเทศน์ตามหน้าที่เช่นเทศน์ในวันพระ เทศน์ในงานเทศกาลประจำของวัด เป็นต้นสิ่งที่จะพึงเตรียมก่อนไปเทศน์นั้นคือ
 

                (๑) เตรียมตัว คือเตรียมดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ไม่ให้เจ็บไข้โดยที่สุดแม้เป็นหวัดคัดจมูก ร่างกายต้องแข็งแรงอยู่เสมออันจะทำให้ดูองอาจ ผึ่งผาย มีบุคลิกที่ดีสมกับเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า หากปล่อยตัวให้เสียบุคลิกหรือให้เจ็บไข้ เมื่ออยู่ต่อหน้าชาวบ้านย่อมมีอาการเหมือนคนหมดแรง เหมือนไม่เต็มใจที่จะเทศน์ ขณะเทศน์เล่าก็ได้ไปเทศน์ไป เสียงก็สั่นเครือไม่น่าฟังหายใจก็หอบดังออกทางเครื่องเสียง ทำให้เสียศรัทธาและความรู้สึกของชาวบ้านได้การรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีเข้าไว้ย่อมได้เปรียบสำหรับนักเทศน์ เพราะทำให้มีบุคลิกที่ดี ดูมีสง่า ยิ่งหากหน้าตาดีด้วยแล้วยิ่งเพิ่มเสน่ห์ เป็นที่ถูกใจและถูกตาของคนประเภท “รูปัปปมาณิกา”คือผู้ที่นิยมชมชอบในรูปร่างเป็นยิ่งนัก คนประเภทนี้หากได้เห็นรูปที่ต้องใจแล้วเป็นศรัทธาเลื่อมใสทั้งสิ้นพระนักเทศน์ที่มีรูปร่างดีหรือมีบุคลิกดี องอาจผึ่งผาย และมีสุขภาพที่ดีด้วยยิ่งได้เปรียบ บางครั้งแม้จะเทศน์ไม่ได้อรรถรสอะไรมาก ฝีปากไม่คมเหมือนนักเทศน์ชื่อดังทั่วไป แต่ก็เป็นที่นิยมชมชอบอยู่ในระดับแนวหน้าของนักเทศน์ได้เช่นกันแต่แม้ว่ารูปร่างหน้าตาดูไม่มีเสน่ห์นัก หากแต่เข้าใจดูแลสุขภาพร่างกาย รู้จักวางท่า ฝึกฝนลีลาการเดิน การนั่ง การเจรจาให้ดี ฝึกฝนวาทะให้คมคาย ไพเราะ นิ่มนวล ก็จะสามารถเอาชนะใจคนได้ไม่แพ้กันการเตรียมการด้วยการเตรียมตัวต้องใช้เวลาและต้องพร้อมอยู่เสมอ จะมาเตรียมเอาตอนที่ได้รับนิมนต์แล้วบางทีก็ไม่ทันการกลายเป็นคนไม่พร้อมไปอย่างน่าเสียดาย
 

              (๒) เตรียมใจ คือสร้างความรู้สึกที่ดีต่อการเทศน์ ไม่ว่าจะเทศน์ตามหน้าที่หรือเทศน์ตามคำอาราธนาก็ตาม สร้างความรู้สึกว่าการเทศน์เป็นเรื่องของตนซึ่งเป็นศาสนทายาทจะต้องรับผิดชอบเพราะเป็นการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธบิดา เป็นการรักษาพระศาสนา เป็นการทำหน้าที่ถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นการตอบแทนชาวพาราที่อุปถัมภ์ตนด้วยปัจจัยสี่ สร้างความรู้สึกได้เช่นนี้ชื่อได้เตรียมใจไว้พร้อมเตรียมใจอีกอย่างหนึ่งคือเต็มใจที่จะเทศน์ในงานนั้นหรือในพิธีนั้น โดยไม่คิดว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ จะเป็นงานของคนมั่งมีหรือคนยากจน คิดมุ่งแต่จะสงเคราะห์ให้สำเร็จประโยชน์เป็นสำคัญ มุ่งจะรักษาศรัทธาเป็นหลัก เมื่อตระหนักได้อย่างนี้ก็จะไม่ตื่นเต้นพอใจด้วยสบอารมณ์เมื่อได้เทศน์งานใหญ่หรืองานมีระดับ และจะไม่ผิดหวังเสียใจไม่สบอารมณ์เมื่อได้เทศน์ในงานเล็กหรืองานชาวบ้านธรรมดาการวางใจเป็นกลางในงานต่างๆ ไม่แสดงอาการขึ้นลง เก็บอาการดีใจเสียใจไว้มิดชิด เตรียมการเต็มที่เหมือนกันทุกงานอย่างนี้จึงจะชอบ
 

             (๓) เตรียมเรื่อง คือกำหนดหัวข้อธรรมที่จะเทศน์ กำหนดเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญโดยเดินตามหลักตีความ กำหนดกรอบการอธิบาย กำหนดองค์ประกอบที่พึ่งนำมาเสริมการอธิบาย เช่นอุปมา อุทาหรณ์ คำสุภาษิต คำพังเพย หรือบทกวีที่เห็นว่าเข้ากันได้กับข้อธรรมที่จะอธิบาย รวมไปถึงกำหนดพุทธศาสนสุภาษิตที่อาจนำมาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนคำอธิบาย เหมือนการแต่งกระทู้ที่อ้างกระทู้อื่นมารับสมอ้าง
การเตรียมเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เหมือนนักแสดงลิเกหรือนักแสดงละครมืออาชีพ ก่อนที่จะออกงานก็ต้องรู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะแสดงเรื่องอะไร ต้องทำความเข้าใจท้องเรื่องหรือเนื้อหาของเรื่องนั้นอย่างชัดเจน ต้องท่องหรือจำบทเจรจาให้ได้แม่นยำที่สุด เป็นต้น มิเช่นนั้นจะแสดงได้ไม่ดี ไม่สมบทบาท ไม่เป็นที่ประทับใจของผู้ชม ฉันใดก็ฉันนั้น นักเทศน์ที่ดีก็ต้องเตรียมเรื่องเตรียมรายละเอียดของเรื่องไว้ล่วงหน้า เพราะอยู่ในฐานะนักแสดงเหมือนกันคือเป็นนักแสดงธรรมการเตรียมเรื่องและรายละเอียดดังกล่าวมานั้นควรถูกงานถูกบุคคล ถูกกาละ ถูกเทสะดังกล่าวมาแล้วด้วย กล่าวคือต้องคล้อยตามงานที่จัดให้มีเทศน์และได้ประโยชน์ในทางธรรมควบคู่กันไปด้วย ข้อนี้ถือว่าเป็นหลักใหญ่ของการเตรียมเรื่องที่จะเทศน์

 

              (๔) เตรียมเขียนบทเทศน์ คือเตรียมเขียนหรือแต่งเรื่องและบทเทศน์ตามที่ได้เตรียมรายละเอียดไว้แล้วเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อนำไปอ่านเทศน์ต่อไปดังรู้กันแล้วว่าการเทศน์นั้นนิยมกันเป็น ๒ แบบ คือเทศน์ปากเปล่ากับเทศน์อ่านคัมภีร์ ในกรณีเทศน์ปากเปล่านั้นเป็นการเทศน์ด้วยปฏิภาณโวหาร เป็นเรื่องของนักเทศน์ที่ชำนาญและมีประสบการณ์สูง สามารถเทศน์ได้โดยไม่ต้องเขียนบทเทศน์ก่อนไปเทศน์ เพียงเตรียมเรื่องที่จะเทศน์เท่านั้นเป็นใช้ได้ ส่วนการเทศน์แบบอ่านคัมภีร์นั้นหากเป็นการอ่านตามคัมภีร์ที่มีผู้แต่งไว้แล้วก็ไม่ต้องเตรียมอะไรเพราะมีพร้อมมูลแล้ว แต่ถ้าเทศน์โดยการอ่านบทเทศน์ที่ตัวเองแต่งทำนองชงเองกินเองนั้นต้องเขียนหรือแต่งบทเทศน์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งในการเขียนบทเทศน์นี้จะถือว่าเป็นสุดยอดของการเทศน์ก็ย่อมได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้ความสามารถและเทคนิคเฉพาะตัว จัดอยู่ในระดับวรรณกรรมกันเลยทีเดียวการเทศน์ในงานสำคัญ เช่นงานพระราชพิธี งานของผู้ใหญ่งานเผยแผ่ออกอากาศ เป็นต้น นิยมเขียนบทเทศน์ไปเทศน์ ไม่นิยมเทศน์ปากเปล่าซึ่งถือว่าเป็นการสุกเอาเผากิน ขาดการไตร่ตรองและคัดกรองถ้อยคำที่เหมาะสม ด้วยว่าการเทศน์ปากเปล่านั้นไม่มีเวลาให้คิดคำคิดประโยคมากนัก บางครั้งอาจใช้ภาษาถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้รายละเอียดพอ

                กล่าวสรุปคือการเทศน์ปากเปล่าย่อมไม่ได้ความสมบูรณ์แห่งเนื้อหานัก ส่วนการเทศน์อ่านคัมภีร์นั้นย่อมได้เนื้อหาสาระที่สมบูรณ์กว่า เพราะมีเวลาคัดกรองไตร่ตรอง เลือกเฟ้นใช้ภาษาใช้ประโยคมากกว่า ทั้งสามารถประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนที่ตรงกับเรื่องทำให้เกิดความประทับใจได้มากกว่าด้วยเหตุนี้การเตรียมเขียนบทเทศน์จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนเทศน์เพื่อความสมบูรณ์แห่งการเทศน์ และนอกจากจะรักษาความสำคัญศักดิ์สิทธิ์ของการเทศน์ไว้ได้แล้ว บทเทศน์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้านั้นย่อมเป็นผลงานที่เหลือเก็บไว้เป็นหลักฐานสำคัญต่อไปในอนาคต เป็นแบบอย่างของนักเทศน์รุ่นหลัง และเป็นประวัติศาสตร์ของผู้เทศน์เองอีกส่วนหนึ่ง ยิ่งนานวันยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้นบทเทศน์ที่แต่งนั้นต้องบรรจุรายละเอียดต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และมีขนาดความยาวตามความเหมาะสม ซึ่งแล้วแต่งานและสถานที่ที่เทศน์ อาจสั้นหรือยาวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเวลาเป็นสำคัญ โดยปกติก็ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาทีการเขียนบทเทศน์เป็นศาสตร์และเป็นศิลป์อีกอย่างหนึ่งซึ่งควรแสวงหาวิธีการและฝึกฝนเขียนให้เป็น เพื่อจะได้เป็นนักเทศน์ที่สมบูรณ์แบบ
 

               (๕) เตรียมซักซ้อม คือการฝึกทดลองทำให้คล่องแคล่วไม่ติดขัดก่อนที่จะเทศน์จริง การซักซ้อมนี้เป็นความจำเป็นมากเพราะเมื่อได้ซักซ้อมก่อนแล้วจะทำให้เกิดความมั่นใจ ทำได้ถูกต้องคล่องแคล่ว ราบรื่นไม่ติดขัดทุกขั้นตอนสิ่งที่จะต้องซักซ้อมก่อนนั้นคือ

              -ซักซ้อมอ่าน คือทดลองอ่านบทเทศน์ที่คนอื่นแต่งหรืออ่านบทเทศน์ที่ตัวเองแต่งให้ถูกต้อง คล่องแคล่ว ชัดเจน และได้จังหวะ บทเทศน์นั้นแม้จะมีรายละเอียดดี มีเนื้อหาสาระสมบูรณ์แต่ย่อมไม่น่าฟังไปเสียก็ได้ ถ้าผู้เทศน์อ่านไม่ถูกต้อง อ่านผิดๆถูกๆ อ่านตะกุกตะกักไม่ได้จังหวะ อ่านไม่คล่อง อ่านไม่ชัด อ่านผิดวรรค อ่านเร็วไป อ่านช้าไป เป็นต้นดังนั้น ก่อนเทศน์จึงควรอ่านให้คล่อง ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป อ่านให้ได้จังหวะ ให้ถูกวรรคตอน วางเสียงให้เหมาะ ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ดังเกินไป ไม่ค่อยเกินไป คำไหนประโยคไหนอ่านยากที่อ่านซ้ำ จับเวลาด้วยยิ่งดี ทดลองอ่านหลายๆ เที่ยวจนกระทั่งคล่องปากและชัดเจนหมดแล้วจึงออกแสดง ยิ่งเป็นการเทศน์ในพิธีใหญ่ๆด้วยแล้วยิ่งต้องซักซ้อมอ่านให้คล่องแคล่ว ได้จังหวะ และมีลีลาที่น่าประทับใจ จะได้ไม่ทำให้ผู้ฟังเกิดอกุศลจิตเพราะคิดตำหนิพระเทศน์ว่าบกพร่องไม่เตรียมตัวมาก่อน
             -ซักซ้อมจับตาลปัตร คือในการเทศน์นั้นจะต้องให้ศีลด้วยเมื่อให้ศีลจะต้องใช้ตาลปัตร ในการจับตาลปัตรที่มีวิธีการจับที่เป็นแบบนิยมอยู่ จึงต้องซักซ้อมวิธีจับตาลปัตรให้ถูกต้องไว้ล่วงหน้า

             -ซักซ้อมตั้งนโมและให้ศีล คือทดลองให้ศีลเหมือนอยู่ต่อหน้าผู้รับศีล โดยใช้ตาลปัตร และตั้งนโม ว่าสรณคมน์ ว่าศีล ๕ และสรุปศีล ทดลองดูว่าจะให้จังหวะอย่างไร จะวางเสียงสูงต่ำอย่างไรจึงจะเหมาะจะพอดี จะหยุดที่ตรงไหนอันเป็นความนิยมมิใช่ว่าส่งๆไปตามที่เคยชิน โดยไม่คำนึงถึงความนิยมหรือความถูกต้องเพราะในเรื่องนี้แม้เพียงการตั้งนโมก็ต้องฝึกว่าให้ถูกต้องแล้วเพียงตั้งนโมเท่านั้น ผู้รู้ก็ทราบได้แล้วว่าผู้เทศน์ได้รับการฝึกฝนมาหรือไม่ เป็นไก่โตในสำนักหรือไก่นอกสำนักดังคำโบราณว่าไว้

             -ซักซ้อมถือคัมภีร์ คือในการเทศน์ทุกครั้งผู้เทศน์ต้องใช้คัมภีร์ด้วย แม้ว่าเป็นการเทศน์ปากเปล่าก็ตาม ในเรื่องของคัมภีร์นี้ก็มีความนิยมเป็นข้อปฏิบัติอยู่ เริ่มตั้งแต่การเชิญคัมภีร์ การวางคัมภีร์ การหยิบคัมภีร์ที่วางอยู่ขึ้นมา การถือคัมภีร์ การเปิดคัมภีร์ขณะเทศน์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนต้องซักซ้อมทำให้คล่องแคล่วทั้งนั้น จึงจะไม่ติดขัดและดูดี
             -ซักซ้อมกราบ คือฝึกกราบพระให้ถูกลักษณะวิธีคือให้เป็นเบญจางคประดิษฐ์ เพราะในขณะนั้นผู้เทศน์เป็นเสมือนผู้แทนพระพุทธองค์ ผู้คนเขามองทุกอิริยาบถว่าเสงี่ยมงามและปฏิบัติถูกต้องแค่ไหน ทั้งจะคอยกำหนดเพื่อนำไปเป็นแบบอย่างด้วย จึงต้องทำให้ถูกต้องและงดงามเข้าไว้เป็นดี จะกราบไม่ถูกหลักอย่างที่ทำมาจนเคยชินหาควรไม่ เว้นแต่ว่าได้ฝึกฝนและปฏิบัติได้ถูกต้องมาโดยตลอดแล้วเท่านั้น

             -ซักซ้อมขึ้นและลงธรรมาสน์ คือทดลองขึ้นธรรมาสน์โดยใช้ธรรมาสน์จริงในวัดเป็นที่ฝึก ทดลองก้าวเท้า ทดลองนั่งบนธรรมาสน์ ทดลองลงจากธรรมาสน์ ฝึกให้คล่องแคล่ว เพราะธรรมาสน์มิใช่สถานที่ที่ใช้ปกติและมีหลายแบบ คือ ธรรมาสน์ชั้นเดียว ธรรมาสน์สองชั้น และธรรมาสน์บุษบก ถ้าไม่เคยขึ้นจะขึ้นไม่เป็นและไม่ถูก ดูเก้งก้างเก้ๆกังๆ จึงต้องฝึกขึ้นฝึกลงธรรมาสน์ทุกแบบให้คล่องแคล่ว ถ้าไม่เคยชินอาจผิดจังหวะถึงกับหงายท้องหรือหัวทิ่มลงมาก็ได้

             -ซักซ้อมอนุโมทนา ยถา-สัพพี คือเมื่อเทศน์จบแล้วต้องอนุโมทนายถา-สัพพีต่อกันไปด้วย การว่ายถา-สัพพีนั้นก็มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ คือว่าให้ถูกจังหวะวรรคตอน หยุดเว้นวรรคตรงที่ต้องหยุด ไม่หยุดกลางศัพท์หรือว่าคาบเกี่ยวไปถึงวรรคต่อไปและว่าช้าๆ เนิบนาบ ไม่รีบร้อน เหมือนรถไฟที่กำลังแล่นเข้าสถานีซึ่งค่อยๆชลอความเร็วลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดสนิท ถ้าซักซ้อมมาดีแล้วจะว่าได้ดี  ไพเราะ ทำให้เกิดความดื่มประทับใจแก่เจ้าภาพได้ไม่น้อยเหมือนกัน

              การเตรียมซักซ้อมสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก และจะซักซ้อมกับใครนั่นก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพราะเรื่องเทศน์นี้เป็นเรื่องที่มีครูมีหลักมีแบบแผนให้ปฏิบัติ และมีการฝึกอบรมเป็นกิจลักษณะมิใช่ว่าไปตามใจชอบ ดังนั้นจึงต้องซักซ้อมฝึกฝนจากครูผู้เป็นผู้รู้เรื่องนี้ ซึ่งสามารถนำไปเป็นแบบปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตำหนิติติงจากผู้รู้ และนำให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่ผู้เห็นได้ ผู้เทศน์จึงควรมีครูที่เป็นตัวเป็นตน มิใช่ครูพักลักจำ ควรฝึกฝนโดยผ่านคำแนะนำและคำติติงจากครูโดยตรง เมื่อออกงานก็จะคงอาจผึ่งผายมั่นใจแสดงธรรม ด้วยรู้สึกเสมอว่าตนก็เป็นศิษย์มีครูเหมือนกันระเบียบปฏิบัติบางเรื่องที่ต้องเตรียมซักซ้อมนั้นจักได้แสดงในลำดับถัดไป
 

               (๖) เตรียมอุปกรณ์ คือเตรียมสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นการส่วนตัวในขณะเทศน์ เช่นคัมภีร์เทศน์ ตาลปัตร แว่นตานาฬิกา ผ้าเช็ดหน้า โดยเฉพาะถ้าเป็นการเทศน์ในงานที่จัดในบ้านสิ่งเหล่านี้จะต้องเตรียมไปเอง จะวางใจว่าเจ้าภาพคงหาไว้ครบถ้วนแล้วย่อมไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เจ้าภาพมักคิดว่าพระท่านจะนำไปเอง แม้เป็นการเทศน์ในวัดก็ไม่ควรวางใจ อาจไม่จัดไว้ให้ก็ได้การเตรียมเผื่อไว้เป็นการดีที่สุด ถึงเจ้าภาพหรือทางวัดจะจัดไว้ให้แล้วก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องนำออกของตนมาใช้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าไม่ได้เตรียมไป เกิดเขาไม่จัดไว้ ความฉุกละหุกและความโกลาหลวิ่งหาย่อมมีตามมาแน่นอนในกรณีเช่นนี้ย่อมส่อความไปถึงว่า เจ้าภาพก็ดี วัดก็ดีที่จัดให้มีเทศน์จำต้องจัดเตรียมอุปกรณ์การเทศน์ไว้ให้พร้อม ซึ่งมิใช่เฉพาะคัมภีร์และตาลปัตรเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ต้องเตรียมอีกมากเพราะเป็นพิธีการใหญ่ เช่น ธรรมาสน์หรืออาสนะสำหรับนั่งเทศน์เทียนส่องธรรม โต๊ะหรือตั้งสำหรับตั้งกระถางธูปเชิงเทียน โต๊ะหมู่บูชา อาสนะสำหรับรับรองพระเทศน์ก่อนขึ้นธรรมาสน์ ตลอดถึงน้ำดื่มเป็นต้นด้วย สิ่งเหล่านี้หากไม่คิดไว้ล่วงหน้าหรือไม่เคยจัดแล้วจะบกพร่อง เกิดความวุ่นวายวิ่งหาเมื่อผู้รู้จักว่าสิ่งนั้นยังขาดสิ่งนี้ยังไม่มีเป็นต้น

 

ส่วนศาสนพิธีและระเบียบปฏิบัติ
                 ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางศาสนาซึ่งปฏิบัติเป็นแบบธรรมเนียมสืบต่อกันมา เพื่อความเรียบร้อยสวยงามเป็นแบบเดียวกัน ศาสนพิธีนั้นแม้จะมิใช่สัจธรรมอันเป็นตัวแก่นแท้แห่งศาสนา แต่ก็ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบห่อหุ้มสัจธรรมไว้ เหมือนเปลือกนอกของต้นไม้ทำหน้าที่ห่อหุ้มแก่นเข้าไว้ หากขาดเปลือกหุ้ม มีเพียงแก่นอย่างเดียว ต้นไม้นั้นก็เป็นอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยกันและกันจึงจะอยู่ได้ สัจธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยพิธีกรรมช่วยสนับสนุนอยู่ด้วยจึงจะแพร่หลายขยายตัวได้ เพราะพิธีกรรมจะเป็นเครื่องดึงดูดตาดึงดูดใจผู้คนให้เข้าหาแก่นธรรมต่อไป เหมือนกล่องหรือหีบห่อสินค้าที่ออกแบบสวยงามเตะตาย่อมเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้มากกว่าสินค้าที่ไม่บรรจุกล่องหรือหีบห่อซึ่งแม้จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีก็ตามการเทศน์ก็เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีเรื่องศาสนพิธีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนไป โดยเฉพาะผู้เทศน์จะต้องปฏิบัติศาสนพิธีหลายประการ ซึ่งศาสนพิธีต่างๆที่ต้องปฏิบัตินั้นส่วนใหญ่ที่เป็นศาสนพิธีที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ เช่นการกราบ การให้ศีล การประนมมือ เป็นต้น

               อนึ่ง นอกจากศาสนพิธีแล้วยังมีระเบียบปฏิบัติที่ผู้เทศน์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด ไม่สุกเอาเผากิน เพื่อดึงดูดศรัทธาและสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแก่เจ้าภาพและผู้คนในงานทั้งแสดงว่าเป็นผู้เอาใจใส่ต่อธรรมเนียมการเทศน์ ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว เป็นผู้เหมาะสมกับการเป็นผู้แทนพระพุทธองค์แสดงธรรมสำหรับศาสนพิธีและระเบียบที่พึงปฏิบัติในขั้นตอนนี้ได้แก่เรื่องเหล่านี้คือ


(๑) การนุ่งห่ม
(๒) การขึ้นอาสน์สงฆ์
(๓) การกราบพระ
(๔) การขึ้นธรรมาสน์
(๕) การปฏิบัติบนธรรมาสน์ในแต่ละเรื่องนั้นมีรายละเอียดที่พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

(๑) การนุ่งห่ม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเทศน์มีธรรมเนียมปฏิบัติดังนี้
               -นิยมนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลตามพระวินัย ถ้าเทศน์ในวัดให้ห่มลดไหล่และพาดสังฆาฏิ จะรัดอกหรือไม่อยู่ที่ธรรมเนียมวัดของตน ถ้าเทศน์ในบ้านให้ห่มคลุม จะพับสังฆาฏิเป็นสองทบแล้วพาดไว้บนบ่าซ้ายก็ได้
               -นิยมนุ่งห่มผ้าสีเดียวกันและสีเสมอๆกันทั้งสามผืน ทำให้ดูงดงาม เรียบร้อย ไม่ขัดตา ไม่นิยมนุ่งห่มผ้าสีที่ตัดกันชัดเจนซึ่งทำให้ดูลักลั่น ไม่สวยงาม
               -นิยมนุ่งห่มผ้าใหม่หรือผ้าที่ซักใหม่ เพราะกำลังไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระพุทธเจ้า จึงควรให้ดูเรียบร้อย เพื่อการนี้ในที่บางแห่ง จึงมีธรรมเนียมถวายผ้าไตรแก่พระเทศน์เพื่อให้เปลี่ยนใหม่ก่อนขึ้นเทศน์
               -ไม่พึงนุ่งห่มผ้าที่ไม่สะอาด มีกลิ่นอับหรือกลิ่นเหงื่อไปเทศน์ดูเป็นการไม่พิถีพิถัน ไม่เคารพธรรม และไม่เคารพคนฟังนักเทศน์ก็ดี พระสงฆ์ทั่วไปก็ดี หากพิถีพิถันเรื่องการนุ่งห่มนุ่งห่มเรียบร้อยเป็นปริมณฑลไปเทศน์ ไปในพิธีทำบุญทั้งในวัดและนอกวัด ย่อมทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็นและเจ้าภาพได้ อย่างเช่นกรณีพระสารีบุตรสมัยที่เป็นอุปติสสปริพาชกเห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ด้วยอาการอันสำรวม นุ่งห่มเรียบร้อยจึงเข้าไปถามถึงครูอาจารย์และฟังธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม

 

(๒) การขึ้นอาสน์สงฆ์ ในการขึ้นอาสน์สงฆ์หรืออาสนะที่เขาจัดเตรียมไว้สำหรับพระเทศน์นั้นมีธรรมเนียมปฏิบัติดังนี้

               -ในกรณีที่เทศน์ในวัดเช่นในศาลา หากเป็นงานศพพระและในงานนั้นมีพระผู้ใหญ่นั่งอยู่ในพิธีด้วย นิยมกราบพระผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ก่อนเป็นการแสดงคารวะแล้วไปกราบศพในกรณีที่เป็นศพพระผู้ใหญ่กว่าผู้เทศน์ ถ้าเป็นพระผู้น้อยจะแค่ยืนตรงหน้าศพทั้งสองห้อยประสานกันข้างหน้า สำรวมจิตไว้อาลัยสักครู่หนึ่งก็ได้หากเป็นศพคฤหัสถ์นิยมยื่นสำรวมจิตหน้าศพเท่านั้น แล้วนั่ง ณ ที่สมควรเพื่อรอเวลาขึ้นนั่งบนอาสน์สงฆ์ต่อไป

              - ในงานเช่นนี้ หากพระผู้ใหญ่นั่งบนเก้าอี้ ส่วนประชาชนนั่งอยู่กับพื้น นิยมกราบพระผู้ใหญ่ดังกล่าวแล้ว หากท่านนั่งเก้าอี้และประชาชนที่นั่งเก้าอี้อยู่ด้านหลัง เช่นนี้นิยมน้อมตัวลงไหว้ก็พอหากจะนั่งคุกเข่ากราบอาจดูไม่เหมาะสมเพราะมีคฤหัสถ์นั่งอยู่ด้านหลังด้วย แต่ถ้าคฤหัสถ์นั่งเก้าอี้อยู่คนละด้าน จะกราบพระผู้ใหญ่ก็ควร กรณีเหล่านี้ดูความเหมาะสมเป็นดีที่สุดก่อนถึงเวลาเทศน์เล็กน้อยผู้เทศน์จึงเตรียมตัวขึ้นอาสน์สงฆ์ก่อนขึ้นธรรมาสน์

              - ในการขึ้นอาสน์สงฆ์ในงานเช่นนี้หรือในงานอื่นทั่วไป นิยมยืนตรงหน้าอาสนะที่นั่งบนอาสน์สงฆ์ก่อนแล้วตะแคงตัวหันหน้าไปทางโต๊ะหมู่หรือโต๊ะที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วยกเท้าข้างที่ติดกับอาสน์สงฆ์ขึ้นก่อน ตามด้วยเท้าอีกข้างหนึ่ง ไม่นิยมหันหลังไปทางพระพุทธรูป เมื่อขึ้นอาสน์ทั้งตัวแล้วเดินเข่าเข้าไปยังอาสนะหมุนตัวนั่งพับเพียบ โดยพับเท้าหันออกไปทางท้ายอาสน์สงฆ์ ไม่นิยมหันเท้าที่พับไปทางพระพุทธรูปข้อพึงระวังในการขึ้นและลงอาสน์สงฆ์คือ

             -ไม่นิยมหันหลังไปทางที่พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงความไม่เคารพอย่างยิ่ง การปฏิบัติให้ถูกต้องอยู่ที่การหันหน้าตะแคงตัวยกเท้าขึ้นครั้งแรก หากหันผิดก็จะหันหลังเข้าหาพระพุทธรูปทันที จำต้องระวัง
             -ไม่นิยมยกเท้าขึ้นอาสน์สงฆ์ตรงๆเหมือนขึ้นบันไดแล้วเดินบนอาสน์สงฆ์ไปนั่งบนอาสนะ นิยมเดินเข่าตลอดแม้การลงอาสน์สงฆ์ที่นิยมปฏิบัติเช่นเดียวกันการขึ้นและลงอาสน์สงฆ์นี้หากฝึกจนชำนาญแล้วจะดูงดงามเป็นธรรมชาติ มีสง่าด้วยท่าทางที่เป็นไปตามจังหวะที่ควรเป็นไม่ผิดติดขัดเงอะงะ

 

(๓) การกราบพระ

             -เมื่อขึ้นอาสน์สงฆ์แล้ว ก่อนจะนั่งบนอาสนะ นิยมนั่งคุกเข่าหันหน้าไปทางโต๊ะที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วกราบพระพุทธรูปก่อน แต่ในกรณีที่เทศน์ในบ้านหรือในสำนักงานบริษัทเป็นต้นไม่นิยมกราบพระพุทธรูป

             -การกราบพระพุทธรูปในการเทศน์ก็ดี ในกรณีอื่นก็ดีนิยมกราบ ๓ ครั้ง ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เบญจางคประดิษฐ์”โดยให้อวัยวะ ๕ ส่วน คือเข่าทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสอง และหน้าผากจรดลงให้ติดกับพื้น

             -วิธีการกราบแบบนี้ สำหรับพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชายให้นั่งคุกเข่าตั้งตัวตรง เรียกว่านั่งท่าพรหมหรือท่าเทพบุตร ประนมมือไว้ที่หน้าอกแล้วยกมือขึ้นไหว้โดยให้หัวแม่มืออยู่ระดับจมูกแล้วหมอบลง ทำหลังให้แอ่นแบนราบลง มิให้โก่งโค้งงอดูไม่งาม พร้อมทอดฝ่ามือไว้บนพื้น ให้ฝ่ามือทั้งสองห่างกันเล็กน้อย วางหน้าผากลงจรดพื้นระหว่างฝ่ามือ เมื่อหน้าผากถึงพื้นแล้วเงยหน้าตั้งตัวตรงใหม่ เริ่มต้นกราบครั้งที่สองและครั้งที่สามติดต่อกันไปเมื่อกราบครบ ๓ ครั้งแล้วหันตัวนั่งบนอาสนะรอเวลาขึ้นธรรมาสน์ต่อไป

               การกราบพระที่ถูกวิธีเป็นเรื่องที่ควรพิถีพิถันฝึกฝนทำให้เป็นและให้ถูกต้อง ไม่มักง่าย โดยเฉพาะนักเทศน์ซึ่งต้องเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ด้วย เพราะขณะที่ขึ้นอาสน์สงฆ์และกราบพระนั้น ผู้อยู่ในที่ชุมนุมนั้นจะหันมองทุกอิริยาบถว่าท่านกำลังทำอะไร จึงต้องแสดงให้ถูกต้องเป็นแบบ หากแสดงได้ถูกต้อง ผู้ที่เป็นเขาก็จะนึกนิยมยกย่องว่าพระเทศน์ฝึกฝนมาดี ผู้ยังไม่เป็นเขาก็จะจดจำไปทำตาม แต่หากแสดงไม่ถูกต้อง ผู้รู้ก็จะนึกตำหนิได้ว่ามักง่ายหรือไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียม ผู้ที่ยังไม่เป็นเขาก็จะจำนำไปปฏิบัติอย่างผิดๆ โดยเข้าใจว่าถูกต้องเพราะได้แบบมาจากพระเทศน์หรือพระผู้ใหญ่ การที่พระภิกษุสามเณรทั่วไปก็ดี คฤหัสถ์ทั่วไปก็ดี กราบพระไม่ถูกหลักถูกธรรมเนียมอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น นอกจากจะไม่เคยฝึกกันแล้วยังเป็นผลพวงมาจากการได้เห็นแบบที่ผิดๆที่พระสงฆ์ปฏิบัติกันเป็นอาจิณ ทำให้เขานำไปใช้บ้างนั่นเอง
 

(๔) การขึ้นธรรมาสน์
                พระเทศน์ควรขึ้นธรรมาสน์ตอนไหนมีธรรมเนียมนิยมว่า เมื่อเจ้าภาพหรือประธานจุดเทียนส่องธรรมก็ให้ขึ้นธรรมาสน์ทันทีเทียนส่องธรรม คือเทียนที่จุดให้แสงสว่างสำหรับพระเทศน์อ่านบทเทศน์ เป็นเทียนที่เขาตั้งไว้บนธรรมาสน์หรือที่พิธีกรเชิญไปให้ประธานจุดแล้วเชิญไปตั้งบนธรรมาสน์การจุดเทียนส่องธรรมเป็นการให้สัญญาณแก่พระเทศน์ว่าขึ้นธรรมาสน์ได้ ธรรมเนียมนิยมนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่นักเทศน์ที่มีครูหรือที่ได้รับการฝึกฝนมาดีแล้ว หากไม่รู้ธรรมเนียมก็มักจะขึ้นธรรมาสน์ตอนเจ้าภาพหรือประธานจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาหรือตอนที่พิณพาทย์ทำเพลงขณะเจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาบ้างตอนที่พิธีกรหรือโฆษกนิมนต์ให้ขึ้นธรรมาสน์บ้าง ซึ่งเป็นการผิดธรรมเนียมนิยมอยู่ ความจริงการขึ้นธรรมาสน์ไม่นิยมนิมนต์และมิใช่ขึ้นตอนที่เขาจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา แต่ดูการจุดเทียนส่องธรรมเป็นหลัก หากพิธีกรหรือเจ้าภาพไม่ทราบ เป็นหน้าที่ของพระเทศน์จักได้ช่วยอนุเคราะห์บอกให้เขาทราบธรรมเนียมเพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไปเว้นไว้แต่ว่าพระเทศน์จะไม่รู้ธรรมเนียมแล้วปฏิบัติผิดเสียเองธรรมเนียมการขึ้นธรรมาสน์มีว่า

 

             - เมื่อเขาจุดเทียนส่องธรรมแล้ว พระเทศน์พึงลุกจากอาสนะนั่งคุกเข่าหันหน้าไปทางพระพุทธรูปแล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้งเหมือนตอนขึ้นนั่งบนอาสนะ จากนั้นให้เดินเข่าหรือเบี่ยงตัวลงจากอาสนะและอาสน์สงฆ์โดยหันหน้าไปทางพระพุทธรูปแล้วยื่นขาซ้ายหรือขวาแล้วแต่กรณีลงไปก่อน
 

             -ถ้าในงานนั้นเจ้าภาพถวายพัดรองด้วย หลังจากกราบพระแล้วให้ถือพัดรองลงไปด้วย โดยถือด้วยมือซ้ายให้ใบพัดแนบกับไหล่ซ้าย มือขวาว่างไว้สำหรับจับผ้าห่มในกรณีที่อาจดูรุ่มร่ามขณะเดินเข่าหรือเบี่ยงตัวถอยหลัง
 

             -ในการเทศน์ไม่นิยมนำย่ามขึ้นไปบนธรรมาสน์ด้วย หากต้องใช้ของในย่าม เช่นแว่นตา นาฬิกา ผ้าเช็ดหน้า นิยมนำออกจากย่ามถือขึ้นไปต่างหาก

             -ก่อนขึ้นธรรมาสน์ หากมีพระเถระนั่งอยู่ในพิธี พึงประนมมือไหว้ก่อนเป็นการขอโอกาสแสดงธรรมตามพระวินัย หากไม่ขอโอกาสท่านปรับเป็นผิด
             -ก่อนขึ้นธรรมาสน์พึงสังเกตดูว่าธรรมาสน์เป็นแบบใด และพระพุทธรูปอยู่ด้านขวาหรือซ้ายของตน
             -ขณะขึ้นธรรมาสน์นิยมหันหน้าไปทางพระพุทธรูป ไม่นิยมหันหลังให้พระพุทธรูป ถ้าเป็นธรรมาสน์แบบชั้นเดียว มีม้ารองเท้าอยู่ด้านหน้า และพระพุทธรูปอยู่ด้านขวา นิยมยกเท้าขวาขึ้นเหยียบม้ารองก่อนแล้วยืนบนม้ารอง พร้อมใช้มือทั้งสองจับที่หัวเม็ดธรรมาสน์เพื่อยึดพยุงตัว มั่นคงดีแล้วยกเท้าซ้ายงอเข่าขึ้นพาดบนอาสนะพื้นธรรมาสน์ พร้อมพยุงตัวยกเท้าขวาขึ้นพาดตามคุกเข่าหมุนตัวแล้วนั่งพับเพียบ จัดระเบียบผ้านุ่งผ้าห่มปิดเท้าปิดแข้งให้มิดชิด
             -เนื่องจากธรรมาสน์มีหลายแบบ แต่ละแบบมีวิธีการขึ้นไม่เหมือนกัน จำต้องฝึกฝนหัดขึ้นธรรมาสน์ทุกแบบให้คล่องแคล่วไม่เก้ๆกังๆ และดูเป็นระเบียบมีข้อที่พึงระวังอย่างสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นธรรมาสน์คือ
๑.ไม่นิยมหันหลังให้พระพุทธตอนขึ้นธรรมาสน์
๒.ไม่นิยมยืนบนธรรมาสน์ก่อนแล้วจึงนั่ง

(๕) การปฏิบัติบนธรรมาสน์ เมื่อขึ้นธรรมาสน์แล้วมีข้อที่พึงปฏิบัติดังนี้

-นิยมนั่งพับเพียบ ไม่นิยมนั่งขัดสมาธิ นอกจากสังขารไม่อำนวยจริงๆ
-นั่งให้เรียบร้อยโดยเร็ว หากจะจัดผ้านุ่งผ้าห่มให้ปิดแข็งมิดชิด นิยมทำโดยเร็ว
-นิยมนั่งตัวตรง ซึ่งทำให้ดูองอาจผึ่งผายและมีความตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่เทศน์ และนั่งสำรวมสงบนิ่งให้มากที่สุด ทอดสายตาลงต่ำ ไม่เหลียวดูซ้ายขวาหลุกหลิกขาดความสำรวม
-ไม่นิยมจัดระเบียบผ้านุ่งผ้าห่มขยุกขยิกไป หรือขยับตัวเพื่อให้นั่งสบาย หรือนั่งทับผ้าอยู่ก็ขยับตัวดึงผ้าทางโน้นที่ทางนี้ที่ดูวุ่นวายไม่เรียบร้อยไปหมด หากจะจัดจะทำก็พึ่งทำเพียงหนเดียวให้เรียบร้อยทุกอย่าง
-ไม่นิยมเช็ดหน้า ลูบหน้า ลูบศีรษะขณะนั่งอยู่บนธรรมาสน์มองดูเป็นการแต่งตัวไป ไม่เรียบร้อย หากมีเหงื่อหรือจะฝุ่นจับหน้าควรจัดการเช็ดหรือลูบออกเสียก่อนขึ้นธรรมาสน์
-เมื่อต้องการเปลี่ยนอิริยาบถนั่งพับเพียบ นิยมสลับขาทางด้านหลัง โดยใช้มือทั้งสองยันที่หัวเข่า หรือที่พื้นข้างตัว หรือที่พื้นข้างหน้า โน้มตัวไปข้างหน้ากระหย่งตัวขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับเปลี่ยนพลิกขาสลับกันแล้วนั่งลงตามเดิม การเปลี่ยนอิริยาบถไม่นิยมยกขาขึ้นมาเปลี่ยนข้างหน้า เป็นกิริยาไม่สุภาพและดูไม่เรียบร้อย การเปลี่ยนอิริยาบถนั่งพับเพียบเช่นนี้นำไปปฏิบัติได้ในทุกแห่งทุกงาน เช่นในขณะนั่งสนทนากับแขก ในการสวดมนต์ในพิธีต่างๆ
-พัดรองที่ถือไปด้วย มีธรรมเนียมวางไว้ด้านซ้ายมือ โดยวางตะแคงพิงกับหมอนอิงหรือพนักธรรมาสน์ หันหน้าพัดเข้าหาตัวหากเขาวางพัดรองไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่วางไว้ด้านขวาหรือวางหันหน้าพัดออกด้านนอก นิยมหยิบวางใหม่ด้านซ้ายให้ถูกธรรมเนียม
-คัมภีร์เทศน์นิยมวางไว้ด้านขวามือของพระเทศน์ โดยวางไว้บนกล่องหรือหีบใส่คัมภีร์ พานรอง หรือที่รองรับอันสมควรอื่นไม่นิยมวางไว้บนพื้นที่ต่ำกว่าอาสนะหรือบนอาสนะ ดูเป็นการไม่ยกย่องพระธรรมและไม่งามเพราะคัมภีร์เทศน์จัดเป็นของสูง ควรให้ความเคารพ ยิ่งวางบนปากกระโถนด้วยแล้วยิ่งน่าตำหนิ ไม่พึงทำเด็ดขาด เพราะกระโถนเป็นที่รองรับของสกปรกและของทิ้งแล้ว
-คัมภีร์เทศน์นี้หากเขาวางไว้ด้านซ้ายมือ พระเทศน์จึงหยิบมาวางด้านขวามือเพื่อให้ถูกต้องตามธรรมเนียมปฏิบัติ แม้จะดูว่าหยุมหยิมเกินไป ก็ดีกว่าปล่อยให้ทำผิดธรรมเนียมกันไปเรื่อยๆจนกลายเป็นวางอย่างไรก็ได้ ทำให้เสียธรรมเนียมที่ดีๆไป
-ขณะนั่งอยู่บนธรรมาสน์จึงทำใจให้มั่นคง ให้มีสมาธิ แต่ไม่ต้องถึงกับหลับตาหายใจเฮือกๆเพื่อสำรวมจิตไม่พึงหวาดหวั่นครั่นคร้าม พึงคิดว่าตนก็เป็นศิษย์มีครู ได้ฝึกมาดีแล้ว และตั้งใจให้แน่วแน่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนองค์พระศาสดาให้ดีที่สุด

ขั้นตอนที่ ๒ ขณะเทศน์
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เริ่มเข้าสู่พิธีการเทศน์หลังจากที่พระเทศน์นั่งบนธรรมาสน์เรียบร้อยแล้วจนกระทั่งเทศน์จบ ซึ่งมีธรรมเนียมนิยมสำหรับปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

(๑) การจับพัด
(๒) การให้ศีล
(๓) การคลี่ห่อคัมภีร์
(๔) การถือคัมภีร์
(๕) การบอกศักราช
(๖) การตั้งนโมเทศน์
(๗) การตั้งบทอุเทศ
(๘) การปฏิบัติขณะเทศน์

(๑) การจับพัด เมื่อพิธีกรอาราธนาศีลถึงคำว่า ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต พึงเอี้ยวตัวหยิบพัดด้วยมือขวามาตั้งไว้ด้านหน้า

- การจับพัด นิยมจับใต้ใบพัดลงมาประมาณหนึ่งฝ่ามือหรือประมาณ ๔ นิ้ว โดยนิ้วหัวแม่มือทาบขึ้นไปตามด้ามพัด ที่เหลือ ๔ นิ้วกำโอบด้ามพัด โดยกำหลวมๆ ไม่แน่นจนเกินไปซึ่งจะทำให้เมื่อยมือ
- การตั้งพัด พึงระวังอย่าให้หน้าพัดกลับด้านคือหันด้านหลังพัดออกไปด้านหน้า เว้นไว้แต่พัดที่มีหน้าเหมือนกันทั้งสองหน้าเช่นพัดสมณศักดิ์ จึงไม่ต้องระวัง
- ตั้งพัดให้อยู่ตรงหน้าระหว่างเข่าทั้งสองและให้อยู่ระดับเข่าอย่าให้ออกไปจนสุดแขนหรือล้ำเข้ามาจนชิดหน้า
- ตั้งใบพัดให้ตรง ระวังใบพัดมิให้เอนไปทางซ้ายหรือทางขวาหรือโย้หน้าโย้หลัง
- ในขณะจับพัดอยู่ พึงระวังใบพัดมิให้ไหวไปมา โดยออกแรงกดให้น้ำหนักถ่วงลงที่ด้ามพัดเล็กน้อยเพื่อให้พัดทรงตัวได้ดีไม่ไหวไปมา

 

(๒) การให้ศีล เมื่อพิธีกรอาราธนาศีลจบแล้ว พึงเว้นระยะเล็กน้อย แล้วเริ่มตั้งนโมให้ศีลต่อไป
-การตั้งนโมและให้ศีล นิยมว่าดังๆ ช้าๆ ชัดๆ ออกเสียงดังกว่าปกติเล็กน้อย แต่ไม่ดังจนเกินไป และวางเสียงไม่สูงหรือต่ำเกินไป
-นิยมให้จังหวะออกเสียงพอเหมาะ ไม่เร็วเกินจนลุกลนไปไม่ช้าจนเนิบนาบไป กะจังหวะให้พอดีกับลมหายใจ
-นโมให้ศีลนั้น นิยมว่า นโม ๓ ชั้น คือว่าไปทีละจบโดยไม่หยุดในระหว่างเมื่อยังไม่ถึงคำสุดท้าย และไม่ว่าคาบเกี่ยวกันให้หยุดหายใจนิดหน่อยเมื่อถึงคำสุดท้าย ดังนี้

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺมพุทฺธสฺส/
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส/
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส/
(ดูภาคผนวกเรื่องการตั้งนโม)


-เมื่อว่าตั้งนโมแล้ว พึงต่อด้วยสรณคมน์ คือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ จนถึง ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ


-เมื่อจบสรณคมน์แล้ว นิยมให้ศีลต่อเนื่องกันไป โดยไม่ต้องเพิ่มคำว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ เข้ามา


- สำหรับคำว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ นี้มีธรรมเนียมนิยมอยู่คือ ถ้าให้ศีล ๕ ธรรมดา ไม่นิยมว่าเพิ่มเข้ามาคือไม่ต้องใช้ เมื่อตั้งนโมแล้วก็ให้ศีลต่อได้เลย เว้นให้ศีล ๕ ในพิธีแสดงตนเป็น พุทธมามกะ ในพิธีนั้นต้องเพิ่มคำนี้เข้ามา ถ้าให้ศีล ๘ ศีลอุโบสถ และศีล ๑๐ ต้องเพิ่มเข้ามาทุกครั้ง


-การให้ศีล ๕ นิยมหยุดเว้นวรรคเพื่อหายใจ ๒ ครั้ง คือครั้งแรกหยุดที่ เวรมณี ครั้งหลังหยุดที่ สมาทิยามิ มีรูปดังนี้


ปาณาติปาตา เวรมณี / สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ//
อทินฺนาทานา เวรมณี /สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ//
กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี/ สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ//
มุสาวาทา เวรมณี /สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ//
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี /สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ//

 

          ที่นิยมหยุดเว้นวรรคอย่างนี้เป็นไปตามหลักเดิมของศีล ๕ กล่าวคือในพระบาลีระบุไว้ว่า “ปาณาติปาตา เวรมณี อทินฺนาทานา เวรมณี ... สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี” เท่านี้ ไม่มีคำว่า สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ต่อท้าย ที่มีต่อท้ายนั้นท่านเพิ่มเข้ามาใน ภายหลัง การหยุดเว้นวรรคที่ เวรมณี จึงเป็นการแยกของเก่า กับของใหม่ออกอย่างชัดเจน และเป็นการแยกความที่ถูกต้องแม้ในการอุปสมบทแบบเดิม เวลาคู่สวดให้ศีลสามเณรที่กำหนดให้หยุดที่ เวรมณี วรรคหนึ่ง ต่อด้วย สิกฺขาปทํ สมาทิยามิอีกวรรคหนึ่ง (รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “คู่มือพระอุปัชฌาย์”ซึ่งคณะสงฆ์ใช้เป็นแบบให้การฝึกอบรมพระอุปัชฌาย์ทั่วประเทศ)แต่ที่นิยมหยุดเว้นวรรคกันทั่วไปคือหยุดที่ ปาณาติปาตา/อทินฺนาทานา/ เป็นต้น แล้วต่อด้วย เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามินั้นเป็นไปตามความเคยชินและความคล่องปาก ทั้งที่หลักภาษาท่านว่าเป็นการฉีกความ คือนำความข้างต้นไปรวมกับข้างท้ายเหมือนการฉีกคำในบทอนุโมทนาตอนท้าย ที่บาลีมีว่า มณิ  โชติรโส  ยถา แต่ออกเสียงเว้นวรรคผิดเป็น มณิโช   ติรโส  ยถา บ้าง มณิโชติ  รโส ยถา บ้าง ผู้ตระหนักในธรรมเนียมและผู้มีความรู้เรื่องภาษาบาลีดีย่อมมองเห็นความบกพร่องเช่นนี้ในที่ทั่วไป

              ด้วยเหตุดังนี้ การให้ศีลและรับศีลจึงยังลักลั่นกันอยู่ ผู้ที่ยึดหลักเดิมอยู่ก็หยุดที่ เวรมณี ผู้เคยชินก็หยุดที่ ปาณาติปาตาเป็นต้น สำหรับพระผู้ให้ศีล ฟังแล้วไม่ขัดหูเท่าใดนักเพราะมีเสียงเดียว แต่สำหรับชาวบ้านผู้รับศีล บ้างก็ยึดแบบเดิม บ้างก็ยึดความเคยชิน ทำให้เสียงรับศีลลักลั่นกัน คือหยุดบ้างไม่หยุดบ้างทำให้ไม่เป็นเอกภาพ ไม่พร้อมเพรียง และไม่ไพเราะสำหรับในโครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์นั้นได้มีข้อยุติว่าให้หยุดที่ เวรมณี เพื่อรักษาความถูกต้องอันเป็นของเดิมไว้ ก็อยู่ที่พระนักเทศน์จักรักษาต้นแบบอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นต้นแบบกันได้หรือไม่เท่านั้น

-ส่วนสำหรับคำสรุปศีลนั้น นิยมว่าไปที่ละประโยค เมื่อจบแต่ละประโยคนิยมหยุดทอดเสียงพอให้เขารับว่า สาธุ ได้ ดังนี้
อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ/
สีเลน สุคติ ยนฺติ /       (สาธุ)
สีเลน โภคสมฺปทา /    (สาธุ)
สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ/    (สาธุ)
ตสฺมา สีลํ วิโสธเย ฯ

- ในท่อนสุดท้ายที่ว่า ตสฺมา สีลํ  วิโสธเย นั้น นิยมทอดเสียงตรงคำว่า วิโส นิดหน่อยแล้วก่อนจะลง ธเย เป็น วิโส...ธเย

(๓) การคลี่ห่อคัมภีร์ ในขณะเทศน์นั้นไม่ว่าจะเทศน์สดหรือเทศน์อ่านคัมภีร์ นิยมประคองถือคัมภีร์ไว้ด้วย จึงมีธรรมเนียมนิยมที่เกี่ยวกับเรื่องคัมภีร์เทศน์ดังนี้

-นิยมวางคัมภีร์ไว้ด้านขวามือของพระเทศน์และวางให้อยู่สูงเป็นการแสดงความเคารพและยกย่องว่าเป็นของสูงดังกล่าวมาแล้ว
ข้างต้น

-เมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาธรรมว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี....พึงหยิบคัมภีร์ขึ้นมาทันที

-ก่อนหยิบคัมภีร์นั้น มีถือปฏิบัติต่างกันอยู่ บางแห่งให้ยกมือไหว้คัมภีร์เสียก่อนเป็นการแสดงความเคารพพระธรรม บางแห่งไม่นิยมทำเช่นนั้น แต่นิยมแสดงความเคารพโดยยกคัมภีร์ขึ้นจบก่อนตั้งนโมเทศน์ ซึ่งจะถือปฏิบัติอย่างไรไม่เป็นข้อผิด หรือจะทำทั้งสองระยะคือไหว้ก่อนหยิบคัมภีร์และยกขึ้นจบก่อนตั้งนโมอีกครั้งหนึ่งเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงก็ย่อมทำได้

-การคลี่ห่อคัมภีร์มีธรรมเนียมอยู่ว่า ต้องไม่ใช้ฝ่ามือข้ามผ้าห่อคัมภีร์เพื่อไปแกะหรือปลดสายรัดผ้าห่อ นิยมหงายฝ่ามือซ้ายจับผ้าห่อคัมภีร์ไว้แล้วสอดมือขวาลงข้างล่างผ้าห่อแล้วใช้นิ้วมือแกะหรือปลดสายรัด พร้อมทั้งพลิกผ้าห่อเปิดให้คัมภีร์ออกมา ไม่นิยมเปิดห่อคัมภีร์โดยใช้มือแก้ตามปกติ วิธีการเช่นนี้ต้องฝึกฝนปฏิบัติจากของจริง ทำจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้วจึงจะทำได้ง่ายและคล่องตัวไม่ติดขัด หากทำโดยไม่ได้ฝึกมาก่อนจะดูเก้ๆกังๆไม่คล่องตัว

-การคลี่ห่อคัมภีร์นี้นิยมทำให้คล่องแคล่วและทำให้เสร็จก่อนที่เขาจะอาราธนาธรรมจบ เมื่ออาราธนาธรรมจบแล้วสามารถจะตั้งนโมเทศน์ต่อได้ไปทันที

-พึงระวังอย่าให้เขาอาราธนาธรรมจบเสียก่อนจึงค่อยหยิบคัมภีร์ขึ้นมา หรือคลี่คัมภีร์เนิบนาบจนเขาอาราธนาธรรมจบไปหลายอึดใจ แล้วจึงคลี่เสร็จ อาจทำให้ผู้ฟังสงสัยหรือรู้สึกอึดอัดเงยหน้าขึ้นมองพระเทศน์ว่ากำลังทำอะไรอยู่จึงไม่เทศน์ทันทีหลังจากอาราธนาธรรมจบ ทำให้เสียคะแนนโดยใช่เหตุ

(๔) การถือคัมภีร์ เกี่ยวกับการถือคัมภีร์เวลาเทศน์มีธรรมเนียมนิยมดังนี้
-เมื่อเขาอาราธนาธรรมจบแล้ว จึงเริ่มตั้งนโมเทศน์ต่อในทันที ขณะตั้งนโมนั้น นิยมประนมมือประคองคัมภีร์ไว้ที่หน้าอกเหมือนประนมมือสวดมนต์ โดยใช้หัวแม่มือทั้งสองหนีบคัมภีร์ไว้ยังไม่เปิดคัมภีร์ก่อน


-เมื่อตั้งนโมครั้งที่ ๓ จึงขยายมือที่ประชุมออกทั้งสองข้างให้ห่างกันประมาณ ๑ คืบ ใช้หัวแม่มือขวาทั้งสองข้างดุนพลิกคัมภีร์หน้าแรกขึ้น พร้อมทั้งก้มหน้าดูคัมภีร์พอเป็นพิธี ปากก็ว่านโมไป เมื่อว่านโมจบแล้วก็ขึ้นบทอุเทศเทศนาต่อ โดยที่ตายังจับอยู่ที่คัมภีร์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าได้อ่านตามพระบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ แม้จะเป็นการเทศน์ปฏิภาณปากเปล่าโดยไม่ต้องอาศัยข้อความในคัมภีร์ที่เปิดอยู่ก็ตาม


- เมื่อตั้งบทอุเทศแล้ว หากเทศน์แบบปฏิภาณ จะเงยหน้าเทศน์ไปตามลำดับก็ได้ หรือจะก้มหน้าเหมือนดูคัมภีร์เทศน์ตลอดไปก็ได้แล้วแต่ความถนัด และจะประคองถือคัมภีร์ที่เปิดอยู่เหมือนตอนเริ่มต้นไปจนเทศน์จบโดยไม่เปิดหน้าอื่นอีกก็ได้


-หากเป็นการเทศน์แบบอ่านคัมภีร์ก็จำต้องประคองคัมภีร์อ่านไปตามลำดับตามปกติจนจบอยู่แล้ว


- ข้อที่พึงปฏิบัติเกี่ยวกับคัมภีร์เทศน์ในขณะเทศน์ก็คือ นิยมถือคัมภีร์เทศน์ด้วยการประคองสองมือ ไม่นิยมถือคัมภีร์มือเดียวเป็นการแสดงความไม่เคารพเอื้อเฟื้อพระธรรม


- นิยมประคองคัมภีร์ไว้ระดับอกหรือราวนม ไม่ลดต่ำลงถึงระดับสะดือหรือวางมือไว้กับหน้าตัก ไม่ยกสูงจนเสมอคาง ดูให้เหมาะให้งามเป็นพอดีและใช้ได้


- ไม่นิยมถือคัมภีร์แกว่งโยกไปมา หรือใช้นิ้วเคาะคัมภีร์ให้จังหวะในกรณีเทศน์มหาชาติหรือเทศน์แหล่


-ไม่นิยมวางคัมภีร์ไว้บนตัก หากจำเป็นต้องวางเช่นในกรณีเทศน์คู่ ตัวเองหมดหน้าที่แล้ว คู่เทศน์กำลังเทศน์อยู่ ต้องการดื่มน้ำหรือต้องการพักชั่วคราว นิยมวางคัมภีร์ไว้ที่เดิม เมื่อถึงหน้าที่ของตนค่อยหยิบคัมภีร์ขึ้นมาประคองไว้ใหม่โดยไม่ต้องไหว้คัมภีร์เหมือนหยิบคัมภีร์ครั้งแรกอีก


-ถ้าเป็นคัมภีร์ใบลาน ต้องฝึกพลิกใบลานให้เป็นและคล่องแคล่ว โดยใช้หัวแม่มือทั้งสองและนิ้วมือทั้งหมดให้สัมพันธ์กันจะเปิดพลิกใบลานได้คล่องและไม่ทำให้อ่านสะดุด หากพลิกไม่เป็นจะทำให้ต้องหยุดอ่านจนกว่าจะพลิกเสร็จ


-เมื่อใบลานแต่ละใบไม่เสมอกัน นิยมใช้นิ้วชี้งอดันเลื่อนให้เสมอกัน ไม่นิยมเคาะคัมภีร์กับขอบธรรมาสน์หรือเคาะลงกับพื้นดูเป็นการไม่สมควรและไม่เคารพพระธรรม
 

(๕) การบอกศักราช
                  การบอกศักราช คือการบอกวันเดือนปีปัจจุบันให้ผู้ฟังทราบว่าวันนี้เป็นวันอะไร วันที่ เดือน และปีอะไร โดยนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในสมัยโบราณ ยังไม่มีปฏิทินหรือมีแต่ไม่แพร่หลาย ชาวบ้านย่อมรู้วันเดือนปีได้จากพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์จะเรียนรู้เรื่องเลขผานาทีดีกว่าชาวบ้าน ทำให้พระต้องบอกศักราชนี้ได้ โดยเฉพาะจะบอกในวันเทศน์ เพราะเป็นวันที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันมาก ธรรมเนียมการบอกศักราชก่อนเทศน์จึงเกิดขึ้น

 

- การบอกศักราช เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระเทศน์ คือหลังจากให้ศีลจบแล้ว ก่อนที่จะตั้งนโมเทศน์ นิยมบอกศักราชก่อนวิธีบอกศักราชนิยมว่าทั้งคำบาลีและคำแปล ซึ่งมีคำว่าโดยเฉพาะแต่ต้องเปลี่ยนวันเดือนปีไปตามจริง ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้เริ่มต้นศึกษาการบอกศักราชและผู้ไม่รู้ภาษาบาลีไม่น้อยเหมือนกันแต่หากจำแบบได้แม่นและว่าได้คล่องแล้วก็จะไม่ยุ่งยากอะไรเหมือนการสวดนาค เมื่อรู้วิธีเปลี่ยนฉายาอุปัชฌาย์และฉายาอุปสัมปทาเปกข์ได้แล้วก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ
 

- คำบอกศักราชมีรายละเอียดอยู่ในภาคผนวกแล้วในปัจจุบัน ไม่นิยมบอกศักราชกันแล้ว อาจเป็นเพราะความจำเป็นมีน้อยเนื่องจากมีปฏิทินให้ดูกันทั่วไป หรืออาจเป็นเพราะพระเทศน์ไม่ชำนาญในการบอกก็เป็นได้ แต่ในงานสำคัญๆ เช่นงานของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ งานเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ งานเทศน์แจง ยังมีธรรมเนียมบอกศักราชกันอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีพระเทศน์ที่หนักในธรรมเนียมและมีความชำนาญยังรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ได้ โดยบอกศักราชทุกครั้ง ซึ่งน่ายกย่องเป็นอย่างยิ่งและน่าถือปฏิบัติเป็นแบบอย่าง หากไม่รักษาไว้ ทั้งพระทั้งชาวบ้านจะไม่รู้เรื่องบอกศักราชก่อนเทศน์ด้วยประการทั้งปวง เมื่อได้ยินพระบอกศักราชเข้าอาจสงสัยก็ได้ว่าท่านว่าอะไร ต้องถามกันให้วุ่นไปน่าสลดใจเหมือนกันหากต้องเป็นกันอย่างนั้นจึงสรุปเรื่องนี้ได้ว่า หากสามารถบอกศักราชได้หรือไปเทศน์ในงานที่เป็นพิธีการหน่อย ทั้งพอมีเวลา จึงบอกศักราชเถิด จะเพิ่มพูนศรัทธาได้มากขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านที่รู้ธรรมเนียมเขาจะปลื้มปิติและชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะเขาถือว่าพระเทศน์ปฏิบัติต่อเขาเต็มรูปแบบของการเทศน์ ไม่ตัดลัด และไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นของเก่าแม้ว่าจะไม่จำเป็นนักก็ตาม
 

(๖) การตั้งนโมเทศน์
                การตั้งนโมเทศน์ มีข้อที่พึงศึกษาและฝึกให้ชำนาญ เพราะมีกลเม็ดเล็กน้อย หากว่าเป็นย่อมได้รับยกย่องว่าฝึกมาดีและเป็นหากไม่พิถีพิถันย่อมฟังออกว่าไม่เคยผ่านการฝึกฝนมาก่อนหรือไม่พิถีพิถันในธรรมเนียมปฏิบัติ อาจถูกมองว่ามักง่ายสุกเอาเผากินไปเลยก็ได้เมื่อพิธีกรอาราธนาธรรมจบแล้ว พระเทศน์หยิบคัมภีร์มาประคองถือในมือที่ประนมแล้ว ต่อนั้นจึงสำรวมจิตให้นิ่งแน่ว จะหลับตาหรือก้มหน้าเล็กน้อยมองดูที่คัมภีร์ก็ได้ ตั้งนโม ๓ จบ แบบนโม ๕ ชั้นซึ่งเป็นนโมสำหรับเทศน์ ดังนี้

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส นโม ตสฺส/ (๑)
ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส/     (๒)
นโม ตสฺส ภควโต/                           (๓)
อรหโต สมฺมา/                                (๔)
สมฺพุทฺธสฺส/                                    (๕) 

ในการว่านโมนี้มีกลวิธีและกลเม็ดโดยเฉพาะดังนี้
-การตั้งนโมเป็นการไหว้ครูที่สำคัญ จึงเปล่งเสียงให้หนักแน่นดังชัดเจน แสดงถึงความมั่นใจและแน่วแน่ เป็นการปลุกใจผู้ฟังให้ตื่นตัว และสะกดให้หยุดพูดคุยหรือหยุดหยิบโน่นทำนี่แล้วตั้งใจฟังถ้าออกเสียงค่อยๆ ไม่หนักแน่นชัดเจน ไม่อาจปลุกใจและสะกดคนเช่นนั้นได้ หรือหากดังเกินไปจนผิดปกติ ก็อาจถูกมองเป็นตัวตลกไป

-รักษาจังหวะอักขระวรรคตอนให้เท่าๆกัน วางเสียงให้เสมอกันทุกคำ ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเนิบนาบเกินไป มีลีลาสละสลวยน่าฟัง

-ช่วงต่อระหว่างคำว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส กับคำว่า นโมในชั้นแรก (๑) นิยมว่า ส กับ น ให้ติดกันและเร็วกว่าปกติ เป็น ธสฺสนโม ตสฺส/ ซึ่งกลเม็ดนี้ต้องฝึกเป็นพิเศษจึงจะสามารถว่าได้เมื่อรู้และฝึกดีแล้วย่อมว่าได้คล่องแคล่วไม่ติดและไพเราะ

-ในชั้นที่ (๓) นิยมลากเสียงที่ ภควโต ให้ยาวกว่าวรรคอื่นเล็กน้อย
-ในชั้นที่ (๔) นิยมลากเสียงที่ สมฺมา ให้ยาวกว่าปกติ เช่นกัน
-ในชั้นที่ (๕) นิยมลากเสียงที่ สมฺ เป็น สมฺ-พุทฺธสฺส

นโมเทศน์นี้เป็นแบบนโมคู่สวดนั่นเอง ต่างกันในโมคู่สวดวางเสียงสูงออกเสียงเป็นทำนอง แต่นโมเทศน์วางเสียงต่ำเป็นปกติและไม่มีทำนอง

              การตั้งนโมเทศน์ เป็นเรื่องที่ผู้เทศน์พึงตระหนักและให้ความสำคัญอันดับต้นๆของการเทศน์ และพึ่งฝึกว่าให้ถูกให้คล่อง ทั้งจังหวะ การวางเสียง การให้น้ำหนักเสียง การหยุด การเอื้อนหรือลากเสียง ตลอดถึงกลเม็ดเล็กๆน้อยๆ เพราะนอกจากจะเป็นการไหว้ครูแล้วยังจะสามารถเรียกความสนใจและสะกดผู้ฟังให้นิ่งได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
 

(๗) การตั้งบทอุเทศ
               บทอุเทศ คือบทพระบาลีที่ยกขึ้นมาตั้งไว้เป็นหัวข้อเพื่อจะขยายความต่อไป ซึ่งเรียกกันในชื่ออื่นก็มี คือเรียกว่า อุเทศบท บ้าง นิกเขปบท บ้าง บทตั้ง บ้างบทอุเทศนี้จึงตั้งหรือว่าต่อจากนโมทันที คือเมื่อว่านโมครบ ๓ จบแล้วจึงต่อด้วยบทอุเทศทันที ไม่นิยมหยุดนาน บทอุเทศที่ยกขึ้นมาตั้ง เมื่อจบแล้วนิยมลงท้ายด้วย อิติ ศัพท์ที่แปลว่า ดังนี้ แต่ในทางภาษา ท่านให้สนธิคือนำไปคำว่า อิติ นี้เชื่อมต่อกับคำต้น เมื่อเชื่อมแล้ว จะเหลือเพียงคำหลังคือ ติ ส่วนคำว่า อิ จะถูกเชื่อมกับคำหน้าไม่ปรากฏรูปให้เห็น โดยมีหลักจำง่ายๆ ดังนี้
- ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อ จะมีรูปเป็น อา เช่น
ตสฺส + อิติ เป็น ตสฺสาติ


-ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อิ จะมีรูปเป็น อี เช่น
อโหสิ + อิติ เป็น อโหสีติ


- ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อุ จะมีรูปเป็น อู เช่น
ครุ + อิติ เป็น ครูติ


- ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อา อี อู เอ โอ จะถูกลบเหลือเพียง ติ เช่น
ภควา + อิติ เป็น ภควาติ
นารี + อิติ เป็น นารีติ
กตัญฺญู + อิติ เป็น กตญฺญูติ
ภิกฺขเว + อิติ เป็น ภิกฺขเวติ
นาโถ + อิติ เป็น นาโถติ


- ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อํ จะถูกลบแล้วแปลง อํ เป็น -นฺ (อัน) เช่น
จรํ + อิติ เป็น จรนฺติ
กมฺมํ + อิติ เป็น กมฺมนฺติ


- ถ้าคำหน้าลงท้ายด้วย อึ อุํ จะถูกลบแล้วแปลง อํ ที่ อึ และ อุํ เป็น นฺ เช่น

ธมฺมจารึ + อิติ เป็น ธมฺมจารินฺติ
กาตุํ + อิติ เป็น กาตุนฺติ

 

การตั้งบทอุเทศ มีธรรมเนียมนิยมในการว่าดังนี้
-พึงว่าช้าๆ ชัดๆ เป็นจังหวะ ออกเสียงปกติ อ่านหรือว่าให้ถูกต้องอักขระ ให้ถูกต้องวรรคตอน เพราะเป็นพระพุทธพจน์หรือเป็นภาษิตของพระอริยบุคคลในอดีต ถือว่าเป็นบทสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ จำต้องเคารพและให้ความสำคัญ มิใช่ว่าไปตามใจชอบหรือว่าผิดๆ ถูกๆ ว่าโดยไม่มีลีลาหรือจังหวะจะโคนใดๆ ซึ่งจะไม่เกิดความไพเราะและความประทับใจแต่เบื้องต้น

 

-คำสุดท้ายของบทอุเทศ นิยมลากเสียงให้ยาวนิดหน่อยก่อนที่จะลง ติ เช่น
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถติ ฯ


-ให้ลากเสียงที่ โถ นิดหน่อยก่อนที่จะลง ติ เป็น โถ..ติ
ขนฺติ หิตสุขาวหาติ ฯ


ให้ลากเสียงที่ หา นิดหน่อยก่อนที่จะลง ติ เป็น หา....ติ

- คำสุดท้ายคือ ติ นิยมว่ากันหลายแบบ ที่นิยมว่า ติ เฉยๆ แล้วหยุดก็มี ที่นิยมว่า ติ แล้วเอื้อนต่อไปอีกนิดหน่อย เป็น ติ-อิ ก็มี เป็น ติ-อิ-อิ ก็มี ยาวกว่านั้นก็มี เรียกกันว่าใส่เม็ด หรือมีเม็ด จะใส่กี่เม็ดก็ได้ตามต้องการ จะไม่ใส่เลยก็ได้เช่นกัน ข้อนี้ไม่เป็นประมาณ เป็นเพียงลีลาของแต่ละท่านเท่านั้น

(๘) การปฏิบัติขณะเทศน์
                  การปฏิบัติขณะเทศน์ คือการปฏิบัติตนในขณะที่เทศน์อยู่ถือเป็นกิริยานักเทศน์หรือมารยาทนักเทศน์ที่สำคัญ เพราะขณะนั้นผู้เทศน์กำลังทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระพุทธเจ้าดังกล่าวแล้ว หากแสดงกิริยาอาการอันไม่เหมาะไม่ควรอันใดออกมา ก็จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิหรือถูกมองว่าทำตัวไม่เหมาะสมกับความเป็นนักเทศน์ดังนั้นนักเทศน์ผู้ตระหนักในธรรมเนียมจึงถือกันมาเคร่งครัด และแนะนำสั่งสอนธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระนักเทศน์สืบๆกันมาซึ่งพอที่จะสรุปกล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติในขณะที่อยู่บนธรรมาสน์ได้ดังนี้

 

-พึงนั่งตัวตรง องอาจ เป็นสง่าผ่าเผย รักษากิริยาอาการให้เป็นสมณสารูป
-ไม่พึงนั่งโยกไปโยกมาหรือง้ำหน้าเอนหลัง เป็นกิริยาหลุกหลิกหรือทำตัวหดหู่ท้อแท้หมดแรง
-ไม่พึงสอดส่ายสายตาไปมาหรือเหลียวดูทางโน้นที่ทางนี้ทีแบบไม่สำรวมสายตา หากต้องการมองเพื่อดูว่ามีใครมาฟังเทศน์บ้างก็มองเพียงให้พอรู้แล้วมองผ่านไป ไม่พึงเพ่งมองเฉพาะคนเฉพาะจุด หรือส่งยิ้มให้ หรือพยักหน้ารับเมื่อเขาสบตาแล้วยกมือไหว้ เพราะเวลานั้นมิใช่เวลาทักทายหรือรับรู้ว่าใครมาบ้าง
-ในกรณีเทศน์สดหรือเทศน์ปากเปล่า ไม่นิยมหลับตาขณะเทศน์ แต่นิยมก้มหน้ามองที่คัมภีร์ หรือเงยหน้ามองตรงไปข้างหน้าและจับนิ่งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ปกติจะใช้เทียนบูชาธรรมที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเป็นจุดหมาย
- ในกรณีเทศน์ดูคัมภีร์ นิยมวางหน้าให้อยู่ตรงกลางคัมภีร์ตลอดเวลา ไม่ส่ายสายตาไปตามความยาวของคัมภีร์ แต่นิยมเลื่อนมือที่ถือคัมภีร์ให้อักษรที่ต้องการอ่านมาอยู่ตรงกลางระดับสายตาพอดี โดยไม่ต้องเหลือบหรือสายตาไปดู กล่าวคือนิยมเลื่อนคัมภีร์แทนการเลื่อนสายตาไปตามอักษรนั่นเอง
- ไม่พึงหยุดบ้วนน้ำลาย บ้วนน้ำหมาก หรือขากเสลดไปเทศน์ไป เป็นการแสดงความไม่สำรวมหรือไม่จริงจังในการแสดงธรรม ซึ่งควรจริงจัง เป็นพิธีการ มิใช่การทำเล่นหรือพอให้ผ่านไปที่
-ไม่พึงกระแอมไอหรือจามไปเทศน์ไป หากจำเป็นเพราะเกิดขึ้นกะทันหัน ก็พึ่งให้เสียงดังเบาที่สุด และจึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษป้องปากก่อนทุกครั้ง อนึ่ง ในขณะเทศน์นั้นมีธรรมเนียมนิยมที่พึงปฏิบัติเพิ่มเติมจากมารยาทดังกล่าวแล้วอีกหลายประการคือ
- นิยมวางเสียงสม่ำเสมอ ไม่ดังเกินไป ไม่ค่อยเกินไป ทำให้น่าฟัง ดึงดูดความสนใจได้
- นิยมว่าอักขระถูกต้องตามหลักภาษา ถูกวรรคถูกตอนและชัดถ้อยชัดคำา
- นิยมใช้สำนวนภาษาที่เหมาะสม เป็นภาษาสุภาพ ไม่หยาบโลน (พึ่งดูรายละเอียดในหนังสือ ภาษาเทศน์ภาษาไทย)
- นิยมเรียงลำดับความให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดสายทําให้เข้าใจตามได้ง่าย
- นิยมรักษาเวลาให้เหมาะแก่งาน ไม่เทศน์นานเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่นไม่เกิน ๔๕ นาที และไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาทีนานเกินไปจะทำให้คนฟังเบื่อและอึดอัดได้ เพราะปกติคนเราทั่วไปจะสามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งๆหรือฟังคนอื่นพูดเรื่องเดียวได้ประมาณ ๒๐-๓๐ นาทีเท่านั้น ต่อจากนั้นจะค่อยๆเบื่อ นอกจากจะเปลี่ยนเรื่องพูดที่เรียกความสนใจได้ใหม่เท่านั้น พึงสังเกตผู้ฟังว่ากระสับกระส่ายหรือพลิกไปพลิกมาหรือไม่ หากเห็นอาการอย่างนี้พึ่งรีบสรุปจบในเวลาอันสมควรโดยเร็ว
- นิยมรักษาประเด็นหัวข้อ คือเทศน์อธิบายขยายความบทอุเทศที่ยกมาเป็นบทตั้ง ชี้แจงไปตามลำดับให้กระจ่างชัด ไม่เป็นพระธรรมกถูกย่านไทร คือยกบาลีขึ้นตั้งไว้อย่างหนึ่ง แต่ไปอธิบายอีกอย่างหนึ่ง หรืออธิบายบาลีนั้นออกไปเรื่อยจนจับประเด็นบาลีเดิมไม่ได้ เหมือนย่านไทรที่ขยายตัวกว้างออกไปเรื่อยๆ จนมองไม่ออกว่าต้นไหนเป็นต้นแม่
- นิยมรักษาแบบธรรมเนียมการอธิบายความตามหลักการตีความพุทธศาสนสุภาษิต เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาได้ทั้งหมด และทำให้เกิดความกระจ่างชัดในหัวข้อที่ยกขึ้นตั้งไว้เป็นบทอุเทศ

 

ขั้นตอนที่ ๓ หลังเทศน์จบ
                หลังจากแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว มีธรรมเนียมนิยมที่พึงปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ดังนี้
(๑) การอนุโมทนา ยถา-สัพพี
(๒) การลงธรรมาสน์
(๓) การรับประเคนเครื่องกัณฑ์
(๔) การปฏิบัติต่อเครื่องกัณฑ์

(๑) การอนุโมทนา ยถา-สัพพี
                หลังจากเทศน์จบแล้ว ถ้าเป็นงานปกติ ไม่มีพระสวดรับเทศน์นิยมอนุโมทนา ยถา-สัพพี บนธรรมาสน์ต่อเลยทันทีการอนุโมทนาบนธรรมาสน์นั้น นิยมเป็น ๒ แบบคือแบบรวบคัมภีร์ประคองไว้ระหว่างอกเหมือนตอนตั้งนโมแล้วอนุโมทนา อีกแบบหนึ่งวางคัมภีร์ไว้ที่เดิมแล้วตั้งพัดเหมือนตอนให้ศีลแล้วอนุโมทนา จะใช้แบบใดก็ได้แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละที่หรือตามถนัด แต่หากในงานนั้นเจ้าภาพเขาถวายพัดรองที่ระลึกในงานและถือขึ้นไปให้ศีลแล้วก็ควรใช้อนุโมทนาด้วย เป็นการรักษาศรัทธาได้อย่างดีถ้าเป็นงานพิเศษ มีพระสวดรับเทศน์ด้วย ไม่ต้องอนุโมทนาบนธรรมาสน์ จึงเก็บคัมภีร์ไว้ที่เดิมแล้วประนมมือฟังเมื่อพระสวดรับเทศน์ตั้งนโมเมื่อจบนโมแล้วจึงค่อยลงจากธรรมาสน์ กลับมานั่งบนอาสนสงฆ์ ประนมมือฟังไปจนกว่าจะจบ ต่อจากนั้นจึงรับประเคนเครื่องกัณฑ์แล้วอนุโมทนายถา-สัพพีพร้อมกับพระสวดรับเทศน์การกล่าวอนุโมทนายถา-สัพพีนั้นนิยมว่าให้ถูกอักขระและถูกวรรคตอน เพราะเป็นฉันทลักษณ์คือมีข้อกำหนดวรรคตอนอยู่เหมือนกลอนแปด ควรหยุดตรงไหน ควรเอื้อนตรงไหน ต้องกำหนดให้แม่นยำ มิเช่นนั้นจะว่าคาบเกี่ยววรรคตอนกันคำอนุโมทนาว่าดังนี้ 

 

ยถา วาริวหา ปูรา                       ปริปูเรนฺติ สาครํ/
เอวเมว อิโต ทินฺนํ                      เปตานํ อุปกปฺปติ/
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ                     ชิปฺปเมว สมิชฺฌตุ/
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงกปฺปา/               จนฺโท ปณฺณรโส ยถา/
                                             มณิ โชติรโส ยถา/
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ/                    สพฺพโรโค วินสฺสตุ/
มา เต ภวตฺวนฺตราโย/                   สุขี ทีฆายุโก ภว/
อภิวาทนสีลิสฺส/                         นิจจํ วุฑฺฒาปจายิโน/
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ                อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ

               ในคำอนุโมทนานี้ มีเครื่องหมาย / อยู่ท้ายของแต่ละวรรคแสดงว่าให้หยุดเว้นวรรคและหายใจตรงนั้นทุกครั้ง ไม่ควรว่าคาบเกี่ยวไปยังวรรคอื่น จำต้องฝึกว่าให้คล่องปากและให้ถูกต้องตามวรรคตอนเป็นดีที่สุด และแสดงถึงความเป็นผู้รู้และผ่านการฝึกฝนมาแล้วในวรรคสุดท้ายที่ว่า อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ นั้น นิยมว่าช้าๆไปทีละคำ และไปเอื้อนที่คำว่า สุขํ กับคำว่า พลํ ให้ยาวกว่าคำอื่นนิดหน่อยการอนุโมทนานี้หากไม่ฝึกฝนว่าให้ดีมักจะว่าไม่ถูกอักขระบ้างไม่ถูกวรรคตอนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสทางฉันทลักษณ์ไป เหมือนอ่านกลอนแปดไม่ถูกวรรคตอน ย่อมเสียอรรถรสทางกวีไปฉะนั้นอักขระที่มักจะว่าผิดกันเป็นส่วนใหญ่นั้น เป็นต้นว่า
 

- ยถา วาริวหา ปูรา ว่าเป็น ยะถา วะริวะหา ปุรา
- อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ  ว่าเป็น อิจชิตัง ปัตทิตัง
- ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ ว่าเป็น คิบปะเมวะ สะมิญชะตุ
- สพฺพีติโย ว่าเป็น สัพพีตีโย
- ภวตฺวนฺตราโย ว่าเป็น ภะวัด-วัน-ตะราโย

                (คำว่า ภวตฺวนฺตราโย ให้อ่านว่า ภะ-วัด-ตวัน-ตะราโย โดย ตฺ ที่ วตฺ ออกเสียงเป็นตัวสะกดของตัวหน้าด้วย เป็นตัวนำของตัวหลังคือ วนฺ ด้วย และให้ออกเสียงกึ่งหนึ่งของปกติ เหมือนออกเสียง สฺ ในคำว่า สฺวากฺขาโต หรือออกเสียง ตฺ ในคำว่า ปูเรตฺวา หรือออกเสียง พฺ ในคำว่า พฺรูถ มงฺคลํ เป็นต้น) สำหรับวรรคตอนที่มักจะว่าผิดกันเป็นส่วนใหญ่นั้น เป็นต้นว่า
 

๑. ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ/สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ/
๒. สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงกปฺปา จนฺโท/ปณฺณรโส ยถา มณิ โช/ติรโส ยถา หรือ ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติ/รโส ยถา/
๓. สัพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ / สพฺพโรโค วินสฺสตุ มา เต/ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก
๔. ภว อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํวุฑฺฒาปจายิโน/
๕. จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺ/ฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ

                การกล่าวอนุโมทนานี้นอกจากฟังว่าให้ถูกอักขระและวรรคตอนแล้ว นิยมว่าช้าๆ ไม่เร่งรีบ เพราะขณะนั้นเจ้าภาพกำลังกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลอยู่ หากว่าเร็วเกินไปทำให้เขานึกอุทิศส่วนกุศลไม่ทันหรือเร่งกรวดน้ำ บางครั้งกว่าจะกรวดน้ำเสร็จ พระก็ให้พรจบไปแล้ว เลยไม่ได้รับพรเพราะมัวแต่กรวดน้ำเพื่อให้ทันพระว่าดังนั้นจึงควรลากเสียงพอสมควรเพื่อให้เจ้าภาพไม่ต้องเร่งกรวดน้ำและพอมีเวลารับพร

(๒) การลงธรรมาสน์
ในการลงธรรมาสน์ที่พึงปฏิบัติเหมือนกับการขึ้นธรรมาสน์คือต้องระวังและลงให้ถูกความนิยม คือ
-นิยมคุกเข่าขึ้นก่อนแล้วตะแคงตัวหันหน้าไปทางพระพุทธรูปขยับตัวออกมาจนชิดขอบธรรมาสน์ด้านหน้า แล้วยื่นเท้าที่อยู่ด้านนอกหย่อนลงมาเหยียบพื้นธรรมาสน์ชั้นสองหรือม้ารองก่อน เมื่อเหยีบบเต็มเท้าดีแล้วจึงค่อยๆยึดตัวยกเท้าอีกข้างหนึ่งตามลงมา
- ไม่นิยมขยับตัวออกมาชิดขอบธรรมาสน์ตรงๆ แล้วเหยียดเท้าข้างใดข้างหนึ่งออกมาตรงๆ หย่อนลงมาเหยียบพื้นด้านล่างแล้วหย่อนอีกเท้าหนึ่งตามลงมา อย่างนี้จะเป็นการหันฝ่าเท้าให้ผู้อยู่ด้านหน้าตรงๆ มองดูไม่งาม
-ไม่นิยมยืนบนธรรมาสน์แล้วหย่อนเท้าลงมาเหมือนลงบันไดทั่วไป
-ขณะที่ยื่นเท้าลงมานั้น จึงใช้มือทั้งสองจับขอบธรรมาสน์หรือที่หัวเม็ดขอบธรรมาสน์ เพื่อช่วยพยุงตัวและป้องกันการพลาดที่อาจเกิดขึ้น
-นิยมระวังผ้านุ่งผ้าห่มมิให้ชะเวิกชะวากในขณะลงจากธรรมาสน์ พึงจัดให้เรียบร้อยเข้ารูปก่อนที่จะยื่นเท้าลงมาข้อพึงระวังในตอนนี้คือไม่หันหลังหรือเท้าไปทางพระพุทธรูปพึงปฏิบัติลักษณะเดียวกันกับตอนขึ้นธรรมาสน์การลงธรรมาสน์นี้นักเทศน์ที่ดีนิยมฝึกควบคู่กันไปกับการ
ฝึกขึ้น คือฝึกขึ้นและลงธรรมาสน์ทุกแบบจนคล่องแคล่วก่อนที่จะเทศน์จริง จะฝึกตอนไหนก็ได้ พระเทศน์ที่คิดว่าการขึ้นและลงธรรมาสน์เป็นเรื่องหยุมหยิม ใครๆก็ขึ้นลงได้ ไม่จำเป็นต้องฝึกเป็นการคิดผิดโดยแท้ เพราะเมื่อปฏิบัติจริงแล้ว ผู้คิดเช่นนี้ย่อมขึ้นลงธรรมาสน์ไม่ถูกและเก้ๆกังๆ ดูไม่งามตานัก บางรูปขึ้นไปยืนตระหง่านบนธรรมาสน์ก่อนแล้วจึงนั่งและยืนก่อนก้าวลงจากธรรมาสน์ เป็นที่น่าสลดใจและน่าขันของผู้พบเห็นก็มี

(๓) การรับประเคนเครื่องกัณฑ์
               เมื่อลงจากธรรมาสน์แล้ว นิยมไหว้พระเถระที่อยู่ในที่นั้นก่อน แล้วขึ้นอาสน์สงฆ์ และกราบพระพุทธรูปก่อนนั่งบนอาสนะโดยปฏิบัติเช่นเดียวกับตอนก่อนขึ้นอาสน์สงฆ์
-เมื่อนั่งบนอาสน์สงฆ์ นิยมนั่งอย่างสำรวม วางสีหน้าท่าทางให้เป็นปกติ ไม่แสดงท่าทางเหนื่อยหน่ายหรืออิดโรยหมดแรงเพราะการเทศน์ เพื่อรอรับประเคนน้ำหรือเครื่องกัณฑ์เทศน์ต่อไป
-เมื่อเจ้าภาพนำเครื่องกัณฑ์มาประเคน นิยมรับประเคนตามหลักแห่งการประเคนทางพระวินัย คือถ้าผู้ชายประเคนจึงรับด้วยมือทั้งสองได้เลย หากผู้หญิงประเคนหรือชายกับหญิงประเคนร่วมกัน จึงใช้ผ้าสำหรับรับประเคนทอดไปข้างหน้า หงายมือทั้งสองจับชายผ้าโดยให้หัวแม่มือทั้งสองอยู่บนผ้า สอดนิ้วมือที่เหลือไว้ใต้ผ้า

                ในการรับประเคนเครื่องกัณฑ์ก็ดี รับประเคนสิ่งของอื่นในงานต่างๆก็ดีนิยมปฏิบัติเช่นนี้ แต่ที่ไม่พึงปฏิบัติคือ ไม่นิยมรับประเคนด้วยมือข้างเดียว ไม่นิยมใช้ผ้าเช็ดหน้ารับประเคน เพราะถือว่าผ้าเช็ดหน้าเป็นผ้าสำหรับเช็ดเหงื่อไคลและน้ำมูกน้ำลายไม่เหมาะจะนำมารับไทยธรรมที่บริสุทธิ์ แม้จะเป็นผ้าเช็ดหน้าใหม่และพับเรียบร้อยก็ไม่สมควร เพราะผ้าสำหรับรับประเคนโดยตรงมีอยู่แล้ว และไม่นิยมใช้ของอื่นเช่นกระดาษ หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งของอื่นรับประเคนแทนผ้ารับประเคน เพราะดูเป็นการมักง่ายและไม่พร้อมดังนั้น นักเทศน์ที่ดีจึงนิยมพกผ้ารับประเคนที่สะอาดและพับเรียบร้อยติดย่ามไว้เสมอ จะได้ไม่ต้องใช้สิ่งอื่นรับประเคน เป็นการแสดงถึงความพร้อมและเป็นตัวอย่างที่ดีในฐานะเป็นผู้แนะนำสั่งสอนคนอื่นเมื่อเจ้าภาพประเคนเครื่องกัณฑ์หมดแล้ว จะทักทายหรือสนทนากับเจ้าภาพบ้างก็ได้ตามอัธยาศัย

(๔) การปฏิบัติต่อเครื่องกัณฑ์
               เครื่องกัณฑ์หรือกัณฑ์เทศน์และดอกไม้ธูปเทียนอันเป็นเครื่องบูชาธรรมถือว่าเป็น ปริสุทธุปปัจจัย คือเป็นปัจจัยที่มีความเกิดขึ้นบริสุทธิ์ เพราะเกิดจากความบริสุทธิ์หลายประการ คือพระธรรมที่แสดงก็เป็นคำสอนที่บริสุทธิ์ของผู้บริสุทธิ์คือพระพุทธองค์ผู้เทศน์ก็เทศน์ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นหลักมิได้แสดงเพราะเห็นแก่ลาภ เครื่องกัณฑ์ที่เป็นของบริสุทธิ์ควรแก่สมณบริโภคและได้มาโดยธรรม ผู้ถวายก็มีจิตศรัทธาประกอบด้วยเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาลคือก่อนถวาย ขณะถวาย และหลังจากถวายแล้ว ดังนั้นพระเทศน์จึงให้ความสำคัญต่อเครื่องกัณฑ์และใช้ประโยชน์จากเครื่องกัณฑ์ในทางที่เหมาะสมและเป็นบุญเป็นกุศลการปฏิบัติต่อเครื่องกัณฑ์นั้นมีธรรมเนียมนิยมว่าเมื่อกลับถึงวัดแล้ว ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปจุดบูชาพระพระรัตนตรัย พร้อมทั้งนึกถึงครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ทางธรรมตลอดถึงวิธีการเทศน์จนสามารถเทศน์ได้ ตลอดถึงเจ้าภาพและบุคคลที่เจ้าภาพจัดงานอุทิศส่วนกุศลให้ แล้วแผ่เมตตาหรืออุทิศส่วนกุศลให้ท่านเหล่านั้น พร้อมทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งปวง ปฏิบัติเสมือนตนได้ทำบุญเองสำหรับสิ่งของเครื่องใช้นั้น นิยมเก็บไว้ใช้เองส่วนหนึ่ง ส่วนที่ตนเองไม่ใช้นิยมแจกจ่ายผู้อื่นเป็นอามิสทานต่อไป สำหรับย่ามและพัดรอง นิยมใช้ฉลองศรัทธาหลังจากรับประเคนแล้ว และนิยมเก็บไว้แล้วนำกลับมาใช้ใหมเมื่อไปในงานของเจ้าภาพนั้นอีก หากเป็นงานสำคัญนิยมเก็บไว้เป็นที่ระลึกประจำวัดต่อไป เพราะเมื่อผ่านไปนานเข้าย่อมกลายเป็นของมีค่าหายากและสามารถบอกเล่าอดีตของงานนั้นๆได้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0064968983332316 Mins