บทสรุปแห่งการตีความ

วันที่ 26 กค. พ.ศ.2567

670726_b110.jpg

บทสรุปแห่งการตีความ
                การตีความพระพุทธพจน์และพุทธศาสนสุภาษิตนั้นเมื่อกล่าวโดยรวบยอดก็คือการตีความธรรมนั่นเอง และหลักการหรือแนววิธีการตีความทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเมื่อกล่าวโดยรวบยอดย่อมได้ข้อสรุปว่า ในการตีความธรรมนั้นจะใช้หลักการหรือแนววิธีอย่างไรก็ตามจึงต้องให้เป็นไปใน ๒ ลักษณะคือ


(๑) ขบให้แตก
(๒) ไขให้ตก

 

(๑) ขบให้แตก คือขบธรรม ย่อยธรรม แยกแยะธรรมที่จะตีความออกมาเป็นส่วนย่อย เป็นประเด็น โดยคิดวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนว่าธรรมข้อนั้นๆ มีความหมายเช่นไร มีความตื้นลึกกว้างแคบอย่างไรมีประเด็นหลักๆ ที่จะต้องอธิบายขยายความอย่างไรบ้าง เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือสาระเนื้อแท้อันเป็นเป้าหมายหลักของธรรมนั้นคืออะไรผู้ที่ความต้องขบต้องคิดให้แตกก่อนแล้วค่อยตั้งประเด็นอธิบายไขความไปตามลำดับ ให้เกี่ยวเนื่องเชื่อมประสานกันเรื่อยไป
 

(๒) ไขให้ตก คือไขความ ขยายความ อธิบายความที่ขบแตกและแยกแยะประเด็นหัวข้อ ประเด็นหลักไว้แล้วให้กระจ่างชัดเจน ทุกแง่ ทุกมุม ไม่คลุมเครือ เหมือนตั้งรหัสหรือตั้งปัญหาไว้ให้ฉงนแล้วก็ต้องถอดรหัสหรือเฉลยปัญหานั้นให้เปิดเผยความจริงและข้อเท็จจริงออกมา โดยอาศัยหลักการและแนววิธีตีความแบบต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น
 

                   ลักษณะการตีความ ๒ ประการนี้จำต้องเกี่ยวเนื่องสอดประสานรับกันไป ขบธรรม ย่อยธรรม หรือแยกแยะประเด็นหัวข้อไว้แล้วต้องอธิบายขยายความประเด็นนั้นๆ ไปตามลำดับจนหมดสิ้นกระแสความ ไม่ตัดข้ามไปมา หรือไขความในบางประเด็น ปล่อยทิ้งบางประเด็น หรืออธิบายแบบคลุมเครือ ไม่ใช่ความให้กระจ่าง ทำให้เกิดความสงสัยแก่ผู้ฟัง อย่างนี้ย่อมได้แต่ขบธรรมแตกแต่ไขความไม่ตก การตีความย่อมไม่มีความสมบูรณ์ อีกอย่างหนึ่ง อธิบายความไปโดยไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ เพียงยกข้อธรรมนั้นๆ ขึ้นมาแล้วอธิบายไขความไปเรื่อยๆ เหมือนลมพัดชายเขา ว่าไปตามความคล่องปากตามความเคยชิน นึกอะไรได้แสดงไป นึกไม่ได้ก็ข้ามไป

                   พอนึกขึ้นได้ก็วกกลับมาอธิบายเพิ่มเติม ลักษณะนี้ย่อมทำให้เกิดความไขว้เขวสับสน แม้บางครั้งจะสามารถอธิบายเนื้อหาสาระได้ดี แต่ผู้ฟังมักจะจับต้นชนปลายไม่ถูก จับประเด็นไม่ได้เพราะตามไม่ทัน อย่างนี้การตีความก็ชื่อว่าไม่สมบูรณ์เช่นกัน เพราะไม่ได้ขบให้แตก ได้แต่ไขตกอย่างเดียว ทำให้ขาดๆ เกินๆ อยู่ในตัวผู้ที่ความที่เชี่ยวชาญและติดอันดับย่อมไม่ละเลยลักณะ ๒ ประการคือขบให้แตกกับไข่ให้ตกนี้ จึงทำให้การเทศน์ การบรรยายการเขียนของตนได้รับความสนใจและการยอมรับกันทั่วไปอนึ่ง เพื่อความสมบูรณ์แห่งการตีความธรรมและเพื่อความสมบูรณ์แห่งธรรมที่นำมาตีความ ผู้มีความพึงวางกรอบไว้เป็นหลักสำหรับเรื่องนี้ อันกรอบแห่งการตีความธรรมที่พึงกำหนดไว้เป็นหลักนั้นมี ๔ ประการคือ


(๑) ที่ให้เข้าธรรม
(๒) ที่ให้ถูกธรรม
(๓) ที่ให้ถึงธรรม
(๔) ที่ให้ได้ธรรม

 

                 ตีให้เข้าธรรม หมายความว่า ตีความโดยยึดข้อธรรม ยึดข้อเท็จจริงแห่งธรรม มุ่งเข้าหาธรมมมุ่งตรงไปทางธรรมเป็นหลัก คือมุ่งให้ถูกธรรม มุ่งให้ถึงธรรม และมุ่งให้ได้ธรรมเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งไปตามความคิดความรู้สึกของตน ยึดทักษะความรู้ความสามารถส่วนตัวเป็นหลัก หรือตีความออกไปนอกแนวนอกกรอบแห่งธรรมที่ตั้งเป็นหัวข้อไว้ เหมือนย่านไทรที่ย้อยงอกออกไปเรื่อยๆ จนมองไม่ออกว่าต้นไหนเป็นต้นแม่ที่ให้ถูกธรรม หมายความว่า ตีความโดยคำนึงถึงที่มาที่ไปหลักฐาน ข้อมูล ข้ออ้างอิงแห่งข้อธรรมนั้นๆ ว่าเป็นธรรมของใคร เป็นพระพุทธภาษิตหรือเป็นเถรภาษิตเป็นต้น แล้วอธิบายไขความให้ตรงประเด็น และธรรมนั้นๆ ก็เป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่ควรรู้ควรเห็นจริงมิใช่ธรรมเทียมหรือธรรมปฏิรูป เพราะเมื่อยกธรรมแท้ขึ้นแสดง

                 การตีความก็ถูกธรรมและสามารถทำให้เกิดผลจริงได้หากมิใช่ธรรมแท้ก็มิได้ผลตามที่ต้องการ อาจนำพาให้เสียหายก็เป็นได้ เหมือนหมอให้ยาคนไข้ถูก ก็ทำให้คนไข้หายจากโรคได้ หากให้ยาผิด นอกจากจะไม่ทำหายโรคแล้วยังอาจก่อพิษภัยให้เกิดแก่คนไข้ด้วยที่ให้ถึงธรรม หมายความว่า อธิบายไขความให้กระจ่าง ให้ได้ความชัดเจนให้รู้ถึงสาระอันเป็นแก่นเป็นเนื้อแท้และเป็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายแห่งข้อธรรมนั้นๆ กล่าวคือให้ผู้ฟังผู้อ่านสามารถจับหลักจับประเด็นความแห่งข้อธรรมนั้นๆ ได้ ทั้งอาจนำไปปฏิบัติจนเข้าถึงผลแห่งธรรมตามสมควรแก่ธรรมได้ที่ให้ได้ธรรม

                 หมายความว่า เก็บประเด็นความต่างๆ มาสรุปให้ได้อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ให้ได้ความรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นซึ่งยกขึ้นมาแสดง ให้ได้ความรู้สึกที่จะนำไปปฏิบัติเป็นการคั้นกะทิแห่งข้อธรรมออกมาให้เห็นประจักษ์ มุ่งไปที่ให้ได้ทั้งความเข้าใจและเข้าถึงหรือบรรลุถึงเป้าหมายหลักของข้อธรรมนั้นๆเป็นสำคัญที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นบทสรุปแห่งการตีความ เป็นการมองเรื่องนี้ในวงกว้าง ต้องการให้เห็นแนวการตีความโดยภาพรวม คือมองในแง่ผลสัมฤทธิ์แห่งการตีความ ไม่ว่าจะตีความแบบไหน ตีความอย่างไร หากได้ผลสัมฤทธิ์ดังเช่นที่กล่าวนี้ก็นับว่าการตีความนั้นมีประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์แล้ว แต่การที่จะเกิดผลระดับที่ต้องการได้ก็จำต้องอาศัยหลักการและแนววิธีต่างๆ ข้างต้นมาเป็นเครื่องมือในการตีความอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะออกนอกลู่นอกทางไปดังกล่าวแล้ว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0036186178525289 Mins