ตัวอย่างเทศนาของพระมหาเถระในอดีต

วันที่ 25 กค. พ.ศ.2567

ตัวอย่างเทศนาของพระมหาเถระในอดีต

670725_b106.jpg

                   เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงวิธีการตีความเพื่อการเทศนาต่อไปนี้จึงจักขอนำเทศนาที่พระมหาเถระในอดีตของไทยได้แสดงไว้ในยุคต่างๆ มาเป็นตัวอย่าง เพื่อผู้ต้องการศึกษาเรื่องการตีความเพื่อการเทศนาจักได้เห็นรูปแบบและพิเคราะห์ว่าในเทศนานั้นๆประกอบด้วยประเด็นสำคัญอันใดบ้าง และท่านอธิบายขยายความหรือตีความเรื่องนั้นๆ ไปในแนวใด แต่จักไม่นำเนื้อความทั้งหมดมาแสดงติดต่อกันไป หากจักตัดต่อแสดงเฉพาะประเด็นหลักๆ แต่ว่าได้เนื้อหาตรงประเด็น ซึ่งจักไม่กระทบทำให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อความของเทศนานั้นๆ โดยภาพรวม และในตอนท้ายแห่งตัวอย่างจักได้แสดงความคิดเห็นประกอบทำนองเป็นหมายเหตุไว้ด้วยเพื่อให้ได้แนวในการพิจารณาเทศนาอื่น ๆ ของท่านผู้รู้ทั้งหลายซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาแตกฉานเป็นอุปการะแก่การตีความของตนต่อไป

 

                   ตัวอย่างที่ ๑ พระธรรมเทศนา เรื่อง สติสัมปชัญญูกถาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ไม่ปรากฏปีที่ทรงแสดง)“ความเป็นผู้ระลึกได้ ชื่อว่า สติ ความเป็นผู้รู้ตัว ชื่อว่าสัมปชัญญะ สตินั้นเป็นไปในกิจดังนี้ เมื่อจะสำเร็จอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ให้ระลึกถึงได้ก่อนว่าตนจะสำเร็จอิริยาบถนั้นๆ ไม่ลืมตัว
ทำผลุนผลันไป บุคคลลุกขึ้นหน้ามืดหรือโดนอะไร จะเดินก็หกล้ม ดังนี้ เป็นต้นเพราะขาดสติ อีกอย่างหนึ่งเป็นไปในกิริยาที่ทำ กิริยาที่พูด กิริยาที่คิด เมื่อจะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เมื่อจะพูดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เมื่อจะคิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดีให้นึกได้ก่อนจึงทำ จึงพูด จึงคิดบุคคลทำพลาด พูดพลาด คิดพลาดก็เพราะขาดสติ อีกอย่างหนึ่งเป็นไปในกิริยาที่ทำ การใดที่ได้ทำไว้แล้ว วาจาใดที่ได้พูดไว้แล้วแม้
ล่วงกาลนาน ให้นึกถึงการนั้นวาจานั้นได้ไม่ลืมเสีย....

 

                  สัมปชัญญะนั้นเป็นไปในกิจอันเดียวกับสติ แต่โดยอาการต่างกัน สตินั้นให้นึกได้เมื่อทำ เมื่อพูด เมื่อคิด สัมปชัญญะนั้นให้รู้ตัวในเวลากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด บุคคลผู้เดินไปโดนคนหรือของ ยืนไม่ตรง ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ยั้งไม่อยู่ จำไม่ได้ เช่นนี้เพราะขาดสัมปชัญญะ สติและสัมปชัญญะนี้เป็นประโยชน์แก่ชนทุกจำพวกไป...ใจอันหาสติสัมปชัญญะควบคุมมิได้ย่อมแล่นไปในอารมณ์ต่างๆ สุดแต่จะใคร่ ไม่มียั้งเลือกว่าอย่างไรควร ส่วนใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับย่อมรู้จักที่จะยั้งและเลือกแต่ส่วนดี เปรียบเหมือนรถหาสารถีมิได้ม้าพาวิ่งไปตามลำพัง ย่อมแล่นไม่ตรง โดนนั่นโดนนี่ไปตามทางทำความเสียหายให้แก่ตนบ้าง แก่คนอื่นบ้าง ไม่มีดี ส่วนรถมีสารถีผู้ฉลาดกำกับ ย่อมเดินตรงไม่เสียระเบียบ แล่นโดยเรียบร้อยไม่ทำอันตรายให้แก่ใคร ยังประโยชน์แห่งการใช้รถให้สำเร็จเป็นอันดี อุปมานี้ฉันใด ความเป็นไปของบุคคลก็ฉันนั้น บุคคลผู้มีใจหาสติสัมปชัญญะควบคุมมิได้ย่อมประพฤติกายวาจาผิดๆ พลาดๆ ทำความเสียหายให้เกิดแก่ตนและผู้อื่น

 

                  ฝ่ายบุคคลผู้มีใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับย่อมประพฤติกายวาจาในทางที่ถูกนำความดีให้เกิดผล สติสัมปชัญญะเป็นอุปการะแก่ชนทุกจำพวกฉะนี้ บุคคลผู้หวังความดีความงามแก่ตนควรเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ แม้จะมักพลั้งเผลอ หมั่นอบรมเข้าก็คงดีขึ้น เมื่อจะสำเร็จอิริยาบถ จะทำ จะพูด จะคิด ควรนึกก่อนว่าตนจะทำกิจนั้นๆ เมื่อทำก็พินิจดูว่าตนทำอย่างนั้นๆ ครั้นคุ้นเช้า สติสัมปชัญญะก็จะคงมั่น และทางที่จะใช้สติสัมปชัญญะนั้นมีหลายอย่างจักวิสัชนาพอเป็นทางสันนิษฐานสติสัมปชัญญะนั้นควรให้เป็นไปในธรรม ๓ ประการคืออัปปมาทะ อัตตสัมมาปณิธิ และสามัคคี...” พระธรรมเทศนานี้ ย่อมได้เทศนาหาระ ๕ ประการหลัก คือได้อัสสาทะคือคุณหรือประโยชน์อันเป็นส่วนดีของสติสัมปชัญญะอาทีนวะคือโทษที่เกิดจากการขาดสติสัมปชัญญะ ได้อุปายะคือวิธีทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ ได้ผละคือผลที่ได้จากการปฏิบัติตามวิธีนั้นและได้อาณัตติคือการเชิญชวนให้มีสติสัมปชัญญะ

 

                   ตัวอย่างที่ ๒ พระมงคลวิเสสกถา เรื่อง กาลัญญุตา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร (ร.ศ.๑๒๕) “กาลัญญุตา นั้น มีพรรณนาว่า เวลาคือคราวครั้งอันสมควรหรือเป็นโอกาส ชื่อว่ากาลในที่นี้บุคคลผู้รู้จักกาลเช่นนั้นชื่อว่ากาลัญญูความเป็นผู้เช่นนั้นชื่อว่ากาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล คุณข้อนี้เป็นสำคัญในอันประกอบการงานนั้นๆ ถ้าบุคคลไม่เป็นกาลัญญูถึงคราวที่ควรทำก็หาทำไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะคลาดจากประโยชน์ที่ควรได้ควรถึงประโยชน์ซึ่งได้อยู่แล้วก็กลับจะเสื่อมเสียไป ภัยอันตรายก็ได้ช่องที่จะเกิดมี ข้อนี้จึงสาธกด้วยที่ฆาวุกุมารชาดกตอนต้น....
 

                   อีกประการหนึ่ง ชนผู้ไม่รู้จักกาล แม้เมื่อทำกิจ แต่ทำให้ผิดสมัยคือด่วนทำเสียแต่เมื่อยังไม่ทันถึงเวลา การงานก็หาสำเร็จผลดีไม่ข้อนี้พึงเห็นอุทาหรณ์เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองมคธรัฐทำสงครามกับพวกกษัตริย์ลิจฉวีผู้ครองแคว้นวัชชี...บุคคลไม่รู้กาล แม้ถึงคราวก็ไม่ประกอบกิจ หรือทำก็ให้ผิดเวลาด่วนไปบ้าง ช้าไปบ้าง ย่อมดำเนินในทางแห่งความเสื่อมเสีย.....บุคคลผู้เป็นกาลัญญู รู้จักกาลสมัย ทำธุระให้สบเวลา ได้ชื่อว่าปฏิรูปการีผู้ทำสมควร ย่อมจะได้บรรลุความเจริญด้วยผลตั้งแต่โภคสมบัติ...

 

                   อีกบรรยายหนึ่ง ความเป็นผู้รู้จักใช้เวลาในวันๆ ก็ชื่อว่าเป็นคุณที่จะพึงปรารถนาในนิพัทธกิจคือธุระอันจะพึงทำเนื่องไป ความปล่อยเวลาให้เสียไปเพียงใด เป็นความเสียประโยชน์เพียงนั้น......” พระธรรมเทศนานี้แม้จะมีประเด็นตามเทศนาหาระเพียง ๒-๓ ประเด็น คือ อัสสาทะ แสดงข้อดีของกาลัญญุตา อาทีนวะ แสดงโทษของการไม่มีกาลัญญุตา และผละ ผลแห่งการมีกาลัญญุตา แต่ก็สื่อไปถึงประเด็นอื่นๆ คือ อุปายะ แนวปฏิบัติกาลัญญุตา และอาณัตติ การจูงใจเพื่อเป็นผู้กาลัญญูด้วยตัวอย่างที่สาธกยกมาอ้างเป็นต้นด้วย

                   ตัวอย่างที่ ๓ พระมงคลวิเสสกถา เรื่อง ขันติ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรมหาเถร) วัดเทพศิรินทราวาส (พ.ศ.๒๔๗๖)“ขันติ นั้นคือความอดกลั้นต่อวัตถุไม่เป็นที่พึงพอใจอันมาถึงเฉพาะหน้า คุณข้อนี้เป็นธรรมเกื้อกูลแก่ฆราวาส เป็นเครื่องรักษา
สามัคคีในหมู่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญไว้ในอาฬวกสูตรโดยชื่อว่า ธิติ คือความหยุดใจไว้ได้ดังนี้

 

ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา          สทฺธสฺส ฆรเมสิโน
    สจฺจํ ทโม ธิติ จาโค            ส เว เปจฺจ น โสจติ ฯ

 

                   ความว่า ธรรม ๔ ประการนี้คือ ความสัตย์ ๑ ความข่มใจไว้ได้ ๑ ความหยุดใจไว้ได้ ๑ ความเผื่อแผ่ ๑ ของคฤหัสถชนใดผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมเชื่อผลมีอยู่ คฤหัสถชนนั้นแลละโลกนี้ไปย่อมไม่เศร้าโศก ฯ อธิบายความว่า อันคนผู้เนื่องในหมู่ต่างคนต่างซื่อตรงต่อกันย่อมรักษาไมตรีอยู่ได้ ถ้าคิดคดต่อกันขึ้นเมื่อใด ไมตรีย่อมแตกเมื่อนั้นคนมีใจร้าย มักโกรธง่าย ข่มใจไว้ไม่อยู่ มักทำหุนหันไม่รู้จักยั้งมักเป็นคนทำให้ไมตรีแตก ถ้ามีอุบายข่มใจ ก็จะได้ห้ามความหุนหันนั้นเสีย แม้ผู้หนึ่งทำเกินด้วยความหุนหัน แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีขันติอยู่ก็รักษาไว้ได้ ถ้าไม่อดทนและทำตอบ ไมตรีก็จำแตก คนมีใจคับแคบมีปกติคิดเอาเปรียบผู้อื่น ย่อมผูกไมตรีไม่ยั่งยืนถึงไหน ต่างมีใจเผื่อแผ่ถ้อยทีเกื้อกูลแก่กัน ไมตรีจึงจะมั่นคง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงยกขันติขึ้นตรัสว่าเป็นธรรมประการหนึ่งซึ่งเกื้อกูลแก่ฆราวาส รักษาความสามัคคีไว้ได้ดังนี้โดยนัยนี้ วัตถุอันเป็นอารมณ์แห่งขันตินั้น คือวาจาที่บุคคลกล่าวด้วยตั้งใจจะเสียดแทงหรือให้ร้ายแลกิจการที่เขาทำก้ำเกินหรือมุ่งอนัตถะต่อ วัตถุเช่นนี้กระทบบุคคลใดเข้า บุคคลนั้นดำริหาทางระงับด้วยอดกลั้นไม่ทำตอบ ได้ชื่อว่าขันติวาที ผู้มีปกติกล่าวสรรเสริญขันติ...

 

                   ขันตินั้นไม่ใช่ธรรมสำหรับผู้ขาดความสามารถจะสู้เขาเท่านั้นย่อมเป็นธรรมสำหรับท่านผู้เป็นใหญ่ด้วย ในฝ่ายคฤหัสถ์ ขันติจัดเป็นราชธรรมประการหนึ่ง มาในคาถาแสดงทศพิธราชธรรมพระเจ้าแผ่นดินผู้ขาดพระคุณสมบัติข้อนี้จะพึงปรากฏว่ามีพระราชจรรยา อันหุนหันไม่ละมุนละไม ปราศจากพระเมตตาในประชาชนพสกนิกร... ในฝ่ายบรรพชิต ขันติก็จัดเป็นพระบารมีธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการหนึ่งในพระบารมี ๓๐ ทัศขันติเป็นธรรมของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ ทั้งฝ่ายบรรพชิต ด้วยประการฉะนี้ แม้เป็นธรรมที่ดีก็จริง ถึงอย่างนั้นให้เป็นไปไม่ถูกทาง ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ หรือกลับจะให้โทษก็ได้ต่อให้เป็นไปถูกทาง จึงจักให้ผลข้างดี อุปมาเหมือนเภสัชลางขนานอันเป็นเครื่องแก้โรคลางอย่าง เอาไปใช้วางแก้โรคชนิดอื่น ไม่พึงระงับโรคนั้นได้ ถ้าเป็นยาแสดงก็อาจยังโรคนั้นให้กำเริบขึ้นได้ ต่อใช้ยาถูกโรคจึงจะระงับ ขันติก็มีอุปไมยฉันนั้น....”

                   พระธรรมเทศนานี้ ตีความแบบขยายความ อธิบายความและวินิจฉัยความประกอบด้วยเทสนาหาระหลายประการ คือ อัสสาทะ แสดงคุณสมบัติของขันติ อาทีนวะ แสดงโทษของการใช้ขันติไม่ถูกทางอุปายะ แสดงวิธีปฏิบัติขันติ และ แสดงผลแห่งขันติ และอาณัตติแสดงข้อแนะนำชักชวนให้มีขันติโดยอ้อม

 

                    ตัวอย่างที่ ๔ พระธรรมเทศนาเรื่อง บุญ ของสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร ทรงแสดงที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา(พ.ศ.๒๕๐๔) “คำว่า บุญกุศล เป็นคำเดียวกันก็ว่าได้ มีอรรถรสอันสืบเนื่องต่อกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน เพราะคำว่า กุศล แปลว่า ฉลาด คือฉลาดรู้ผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ แล้วปฏิบัติตนให้สมควร
นี่คือความฉลาดที่เป็นตัวกุศล ท่านจำแนกลักษณะของความฉลาดที่เป็นตัวกุศลไว้ ๓ ประการ คือ

 

๑. อายโกศล ฉลาดรู้จักทางเจริญ คือรู้ว่าทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้จักลุถึงความเจริญ ความดี ความงามที่ตนปรารถนาในทางที่ชอบ

๒. อปายโกศล ฉลาดรู้ในทางเสื่อม คือรู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ดำเนินทางนี้จักเสื่อมเสียหาย ไม่เป็นสิริมงคลแก่ตนเลย

๓. อุปายโกศล ฉลาดรู้ปฏิบัติตน คือทำตนให้เข้าใกล้ทางเจริญ เดินในแนวแห่งความเจริญ หลีกหนีจากทางเสื่อมทางเสียหายต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ ประการ คือรู้ดี รู้ชั่ว รู้ปฏิบัติตนหลีกจากชั่วสู่ความดี นี่เป็นตัวกุศลคือความฉลาด คนฉลาดอย่างนี้ย่อมมีบุญอยู่ในตัวด้วย ย่อมเป็นบุญเกิดขึ้นแก่ตนด้วย เพราะ บุญ นั้นแปลว่า คุณความดีอันชำระอัธยาศัยให้บริสุทธิ์สะอาด คือเมื่อรู้อย่างนั้นแล้วปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว ตนก็จะเป็นคนดีคนเจริญขึ้น นี่เป็นบุญ...บุญนั้นย่อมเกิดมาจากอโลภะ อโทสะ อโมหะ นี่เป็นสมุฏฐานก่อให้เกิดบุญ ในหมวดธรรมท่านแสดงว่าเป็นกุศลมูล คือมูลเหตุก่อให้เกิดกุศล เกิดความฉลาด เป็นมูลเหตุก่อให้เกิดบุญเป็นตัวบุญขึ้นในตน

 

                    อโลภะ คือความไม่โลภ ไม่โลภนั้นคือไม่ละโมบ โลภมากจนปฏิบัติไปในทางที่ผิดที่ไม่ชอบธรรม... อโทสะ ความที่เป็นข้าศึกแก่โทสะคือไม่คิดประทุษร้ายไม่ริษยาเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน....  อโมหะ ธรรมเป็นข้าศึกแก่ความหลง คือปัญญา ปัญญาความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ปัญญามีไว้สำหรับรู้ รู้ในสิ่งที่ควรรู้...ปัญญานี้ไม่ใช่จะคุ้มครองได้แต่ตนเท่านั้น คนมีอัธยาศัยกว้างขวางย่อมสามารถคุ้มครองคนอื่นได้ด้วย ช่วยอำนวยประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย เป็นผู้นำที่เป็นผู้นำอันจะพาคนอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนดำเนินไปในทางที่ชอบ ไม่ประกอบให้เสื่อมเสียหายอโมหะความไม่หลง ไม่เขลา มีปัญญาคุ้มครองตนรักษาตนนี้เป็นปราการสำคัญยิ่ง เมื่อมีอยู่ในจิตใจของบุคคลใดก็เป็นบุญ เมื่อทำอะไรจากนี้ก็เป็นบุญยิ่งๆ ขึ้นไป

 

                   กุศลคือความฉลาด เป็นบ่อเกิดให้เกิดบุญ บุญคือคุณความดีที่ชำระอัธยาศัยของตนให้บริสุทธิ์สะอาด เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสอนให้ปฏิบัติต่อไปว่า ทานญฺจ สมจริยญฺจเมตฺตจิตฺตญฺจ ภาวเย บุคคลพึ่งอบรมทาน คือความให้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ประโยชน์แก่บุคคลอื่น จึงอบรมสมจริยา ความประพฤติให้สม่ำเสมอ ไม่ให้ผิดศีลธรรมสัมมาปฏิบัติ ดำเนินอยู่ในแนวที่ชอบที่เป็นสุจริต พึงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วยเมตตาจิต จิตที่รักใคร่ปรารถนาความสุขให้ผู้อื่น จิตที่สงสารช่วยบำบัดทุกข์ให้พ้นจากคนอื่นเมื่อทำได้อย่างนี้เป็นบุญแท้ แล้วทรงแสดงผลของบุญนั้นต่อไปว่าผู้ฉลาดอบรมบุญทั้งสามประการนี้แล้วย่อมจะเข้าถึงโลกอันไม่เบียดเบียนกัน เป็นความสุขแก่กันและกัน โลกที่จะเป็นสุขได้ก็เพราะต่างฝ่ายต่างไม่เบียดเบียนกัน เมื่อยังมีเบียดเบียนกันอยู่ ก็ยังไม่เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ฉะนั้น เมื่อบำเพ็ญตนให้มีบุญอยู่ในใจ อบรมลักษณะของบุญทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว ย่อมจะเข้าถึงโลกที่ไม่เบียดเบียนกัน เป็นความสุขโดยแท้ เป็นที่พึงประสงค์ของบุคคลทั่วๆไป เป็นสันติสุข สุขคือความสงบที่แท้จริง...”
 

                            พระธรรมเทศนานี้ แสดงการตีความด้วยการจำกัดความ ขยายความ อธิบายความ และแสดงเนื้อหาสาระตามแนวเทสนาหาระหลายประการ คือ มีทั้งอัสสาทะคือคุณสมบัติของบุญ อุปายะคือเหตุให้เกิดบุญ นิสสรณะและผละคือผลแห่งบุญทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ และอาณัตติคือแนะนำเชิญชวนให้ทำบุญ

 

                        ตัวอย่างที่ ๕ พระมงคลวิเสสกถา เรื่อง สมาธิกถา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถร)วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.๒๕๒๖) “ อันสมาธินั้นเป็นข้อปฏิบัติกันมาแต่ก่อนพุทธกาล ท่านผู้ปฏิบัติได้สมาธิอย่างดียิ่งดังที่เรียกว่าได้ฌาณสมาบัติก็ได้มีมาแล้วเป็นอันมาก โดยมากเป็นฤษีดาบสบำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ในป่าพระพุทธเจ้าก่อนแต่ตรัสรู้ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์สิทธัตถราชกุมารได้เสด็จออกทรงผนวชเพื่อแสวงหาพระโพธิญาณ เริ่มแรกได้เสด็จไปทรงศึกษาปฏิบัติได้ฌานสมาบัติในสำนักสองดาบส เป็นการทรงศึกษาได้จบและปฏิบัติได้เสมอท่านดาบสอาจารย์ทั้งสอง แต่ยังไม่สิ้นกิเลส ยังยึดถือเพลิดเพลินอยู่ในฌานสมาบัติ ... เป็นอันมิใช่ทาง
แห่งพระโพธิญาณที่ทรงมุ่งหวัง

 

                        จึงเสด็จหลีกลาออกไปทางแสวงหาทางใหม่ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานกายให้ลำบากมีประการต่างๆ ก็ทรงเห็นอีกว่ามิใช่ทางจึงทรงหยุด ทรงระลึกได้ถึงสมาธิจิตที่ทรงเคยได้เมื่อยังทรงเป็นพระราชกุมารน้อย... เมื่อทรงระลึกได้ดังนั้นก็ได้ทรงพระดำริว่าสมาธิจะเป็นทางแห่งแห่งพระโพธิญาณคือความตรัสรู้จึงทรงเริ่มทำสมาธิตามวิธีที่ทรงได้เมื่อทรงเป็นพระราชกุมารน้อยท่านแสดงว่าทรงทำอานาปานสติ ทรงตั้งสติกำหนดลมพระหทัยเข้าออก ทรงได้สมาธิตามลำดับจนถึงฌาน ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธิดีแล้วนั้นไปเพื่อญาณคือความหยั่งรู้ ก็ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ไปตามลำดับ...

 

                            พระพุทธประวัติตรัสเล่าด้วยพระองค์เองตอนตรัสรู้โดยสังเขปนี้แสดงว่าสมาธิเป็นหลักสำคัญแห่งพระโพธิญาณคือความตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้ามีปัญหาว่า สมาธิของท่านดาบสทั้งสองก็เป็นสมาธิถึงฌาน สมาบัติ สมาธิของพระโพธิสัตว์ก็เป็นสมาธิถึงฌานสมาบัติ แต่เหตุไฉนจึงต่างกัน ไฉนสมาธิของฝ่ายหนึ่งไม่เป็นทางของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นทางคำตอบก็คือ เพราะมีบริขารคือองค์ประกอบต่างกัน สมาธิของท่านดาบสทั้งสองมีองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ด้วยมุ่งพรหมโลกส่วนสมาธิของพระโพธิสัตว์มีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมุ่งพระโพธิญาณ...จึงกล่าวได้ว่า

 

                     สมาธิที่เป็นพุทธศาสนานั้นจึงเป็นสมาธิเป็นไปเพื่ออบรมปัญญา ให้รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง เพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด สงบราคะหรือโลภะ สงบโกรธ สงบหลง แม้จะไม่ถึงฌานสมาบัติก็ใช้ได้ คือทำสมาธิเพียงให้จิตสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย กำหนดอยู่แต่ในอารมณ์ของสมาธิ เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ...การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาทั้งสาม จุดมุ่งหมายที่แท้จริงอยู่ที่ความได้ปัญญาอย่างยิ่งเป็นลำดับไปจนถึงปัญญาสูงสุด ดังนั้นจึงเป็นความสำคัญที่จะต้องตั้งไว้ให้ถูกให้ตรง ปฏิบัติสมาธิในทางพุทธศาสนา เพื่ออบรมปัญญาให้เป็นความรู้ความเห็นเหตุผลที่ถูกชอบในทุกด้าน....พระธรรมเทศนานี้แสดงการตีความแบบวินิจฉัยความไว้ด้วยและแสดงประเด็นหลักๆ ไว้หลายอย่างคือ แสดงอัสสาทะคือคุณสมบัติของสมาธิ แสดงนิสสรณะและผละคือผลหรือวัตถุประสงค์ของสมาธิตั้งแต่ผลในระดับต้นจนถึงผลสูงสุดคือพระนิพพาน แสดงอุปายะคือวิธีทำสมาธิให้เกิด และแสดงอาณัตติคือข้อแนะนำให้ปฏิบัติสมาธิเพื่อบรรลุผลระดับต่างๆ

 

                             ตัวอย่างที่ ๖ พระธรรมเทศนา เรื่อง สติกถา ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธรมหาเถร) วัดสามพระยา (ปีที่แสดงไม่ปรากฏ) “ ตัวสตินี้เป็นธรรมสำคัญนัก และเป็นธรรมะจำเป็นในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ทั้งชาววัดชาวบ้าน ชีวิตประจำวันของบุคคลหากขาดสติหรือสติขาดเมื่อใดเป็นเสียการเมื่อนั้น จะมากหรือน้อยเพียงใดสุดแต่ว่าการนั้นเล็กหรือใหญ่ เป็นการเฉพาะตัวหรือเป็นการทั่วไปแก่ชนทั้งปวง....มารดาบิดามีอุปการะแก่บุตรธิดาหรือครูบาอาจารย์มีอุปการะแก่ศิษย์ฉันใด สติก็มีอุปการะแก่บุคคลผู้มีสติฉันนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ความเจริญย่อมมีแก่บุคคลผู้มีสติทุกเมื่อ (สติมโต สุทาภทฺทํ) หมายความว่าสติเป็นคุณธรรมสกัดกั้นหรือป้องกันความเสื่อมและความเสียมิให้บังเกิดขึ้น เมื่อไม่มีความเสื่อมและความเสียแล้วความเจริญจะไปไหนเสีย ต้องมีต้องเกิดอยู่วันยังค่ำ ... มิใช่ตรัสสอนไว้เพียงแค่นี้ ยังได้ตรัสสอนไว้อีกว่า คนมีสติย่อมได้รับความสุข (สติมา สุขเมธติ) หมายความว่า คนมีสติมีความสุขเสมอ ไม่ว่าในยามสุขหรือยามทุกข์ ....

 

                          ความประเสริฐย่อมมีแก่ผู้มีสติทุกวัน (สติมโต สุเว เสยฺโย) หมายความว่า ความดีงามอันจะเป็นเหตุทำบุคคลให้เป็นผู้ประเสริฐได้นั้นต้องอาศัยสติเป็นเครื่องค้ำจุน เพราะสติเป็นทำนบเครื่องป้องกันน้ำคือกิเลสมิให้เข้ามาท่วมทับใจของบุคคลเมื่อกิเลสมิได้โอกาสเพื่อท่วมทับใจแล้ว มูลเหตุที่จะทำให้บุคคลเสียหายต่ำทรามย่อมเกิดมีไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงมีแต่ความดีงาม....ธรรมะคือสติเป็นกำลังหน่วงสำคัญที่สุด และเป็นกำลังคอยสกัดกั้นที่สำคัญยิ่ง เมื่อกำลังนำเป็นฝ่ายข้างเสีย สติเท่านั้นที่จะคอยหน่วงให้ยับยั้งหรือกลับตัวมาในทางข้างดี เมื่อกำลังนำเป็นฝ่ายข้างดีสติอีกเหมือนกันที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดกำลังหน่วงที่เป็นฝ่ายเสีย อันกำลังหน่วงที่เป็นฝ่ายข้างเสียนั้นล้วนเป็นจำพวกกิเลสทั้งสิ้นมีปัญหาสืบต่อไปว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีสติทันกับเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อหลักปฏิบัติที่ย่อที่สุดก็คือต้องฝึกให้รู้ตัวอยู่เสมอในทุกขณะเวลาทำ เวลาพูด เวลาคิด วิธีปฏิบัติเช่นนี้จะให้สำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้หาได้ไม่ ต้องทำกันไปจนกว่าสติจะติดหรือใกล้ชิดกับตัว ตามธรรมดาสตินั้นเป็นสิ่งขาดง่ายเหมือนด้ายที่เปื่อย พาลแต่จะขาดอยู่เรื่อยไปผู้ใดทำสติให้เหนียวแน่นได้ไม่ขาดง่ายน่าจะต้องยอมรับนับถือว่าผู้นั้นเป็นคนอยู่ในจำพวกวิเศษแท้...

 

                         บุคคลผู้มีสติอยู่แล้วย่อมเป็นผู้มีความรู้สึกเท่าทันในสิ่งทั้งหลายย่อมรับรู้ในสิ่งที่ต้องรู้หรือควรรู้ เป็นผู้ตั้งอยู่ในอำนาจแห่งเหตุ พร้อมทั้งมีเหตุมีผล ไม่เชื่อง่าย ไม่งมงาย รู้เท่าทันเหตุการณ์ตามเป็นจริงไม่มีใครสามารถจะหลอกได้ ไม่มีใครสามารถจะลวงได้ รู้ถึงสิ่งที่เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ รู้จักกาลสมัย รู้จักได้รู้จักเสีย ตลอดจนไปถึงรู้จักบาปบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ บุคคลที่จะเป็นผู้อื่นได้เช่นนี้ต้องมีสติเป็นเดิมพันทั้งสิ้น เมื่อได้พบเห็นสิ่งใดเมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร บางครั้งบางคราวเกิดความคิดอะไรที่ใหม่ขึ้นจะต้องใช้สติเข้าจับก่อนในสิ่งที่ได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังหรือคิดนึกเมื่อตั้งสติไว้เป็นหลักได้ ปัญญาหรือความใคร่ครวญพินิจพิจารณาย่อมจะตามมาเอง เมื่อสติตั้งปัญญาตามอยู่เช่นนี้ บุคคลจะมิได้ถูกขนานนามว่าเป็นคนหลับ แต่กลับจะได้รับขนานนามว่าเป็นคนตื่น....”

 


                         พระธรรมเทศนานี้อธิบายขยายความเรื่องสติในอีกปริยายหนึ่งแต่ประกอบด้วยประเด็นความที่เป็นหลักคือ อัสสาทะ อาทีนวะอุปายะ และผละไว้ชัดเจน แม้จะยังขาดนิสสรณะและอาณัตติโดยตรงแต่ก็ชื่อว่าได้แสดงไว้โดยอ้อมเพราะเมื่อชี้ให้เห็นถึงคุณโทษ แนวปฏิบัติและผลแล้วเท่ากับเป็นการเชิญชวนให้ปฏิบัติเพื่อให้สติเกิดมีไปในตัวพระธรรมเทศนาของพระมหาเถระในอดีตที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ย่อมมีแนวการตีความคือมีการจำกัดความ ขยายความ อธิบายความและวินิจฉัยความต่างกันไปตามเชิงชั้นโวหารแห่งความรู้ความเข้าใจและความกว้างแคบแห่งการอธิบายเท่านั้น แต่ประเด็นความแห่งข้อธรรมนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือในแนวแห่งเทสนาหาระทั้ง ๖ ประการ แม้จะไม่เต็มสมบูรณ์ทั้งหมด แต่ก็ถือได้ว่าสามารถนำไปเป็นแบบอย่างแห่งการเทศนา การบรรยายธรรม และการประพันธ์เรื่องธรรมะได้เป็นอย่างดี และพระธรรมเทศนาเหล่านี้ผู้ที่สนใจต้องการทราบเนื้อหาทั้งหมดจนตลอดสายก็สามารถหาได้โดยไม่ยากนักเพราะได้กล่าวถึงเรื่อง ผู้แสดง และแหล่งที่มาไว้แล้วข้างต้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010490500926971 Mins