ไหว้พระพุทธ

วันที่ 12 กค. พ.ศ.2567

 

 

 

2567_07_12_b__1.jpg

 


ไหว้พระพุทธ


ท่านผู้เจริญ


                       แม้จะห้อยพระเครื่องอยู่รอบคอ สะสมพระพุทธรูปจนเต็มบ้าน สร้างพระประธานไว้หลายโบสถ์ และสวดมนต์ไหว้พระทุกเช้าค่ำ ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้นั้นเข้าถึงพระพุทธหรือไหว้ถูกพระพุทธได้เลย เพราะการจะเข้าให้ถึงและไหว้ให้ถูกพระพุทธนั้น ต้องอาศัยการตั้งใจให้ถูกส่วนเป็นสำคัญ ถ้าไม่รู้จักวิธีตั้งใจ ก็ไหว้ถูกแต่เพียงเศษอิฐเศษโลหะเท่านั้น ถ้าจะไหว้ให้ถูก เข้าให้ถึงพระพุทธ ต้องทำดังนี้
                        เบื้องต้น ต้องทำตัวให้ใกล้พระ คือ ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดด้วยการ สมาทานศีลห้า ถึงพร้อมด้วยการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น


                       ต่อไปนี้นั่ง ขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรงตามสบาย ไม่เกร็งตัว หลับตาพอดี ๆ ให้เปลือกตาปิดสนิทเหมือนนอนหลับ แต่ไม่ต้องเม้มเปลือกตา ทำใจให้สงบ และทำความรู้สึกให้มีสติรู้ทั่วตัว กายจึงจะเบาเท่ากับใจเมื่อใจสงบ แสงสว่างก็เริ่มปรากฏทั้งที่หลับตาอยู่ ถ้าเห็นแสงสีใดก็ตามอย่าพะวงเอาใจใส่ ถ้าพะวงแสงสว่างจะหายไป แต่ถ้าวางเฉยก็จะสว่างเช่นเดิมหรือสว่างกว่า
                       ให้พิจารณาพระพุทธรูปบูชาองค์ใดองค์หนึ่ง ที่จำได้ติดตาติดใจแล้วน้อมอาราธนาองค์พระนั้น ไปตั้งไว้ในกลางตัวฐานที่ 7 ตรงเหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้ว แต่อยู่ข้างใน ซึ่งเป็นศูนย์กลางกายของคนเรา
                       ขณะที่นึกน้อมองค์พระไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายนั้นให้บริกรรมภาวนาประคองใจให้หยุดนิ่งไปพร้อมกัน ด้วยคำว่า สัมมา อะระหัง นึกให้เห็นองค์พระเหมือนกับเห็นด้วยนัยน์ตาจริง ๆ ยิ่งนึกหนักขึ้นก็จะเห็นชัดขึ้น จนชัดแจ้งกับตา การเห็นนั้นมิใช่เห็นด้วยตามนุษย์ แต่เห็นด้วยตาของกายทิพย์ (อย่ากังวลในเรื่องนี้) เมื่อเห็นชัดแจ้งดังนี้แล้วก็ต้องมองไว้เสมอ ๆ ในอิริยาบถทั้งสี่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อเห็นอยู่ดังนี้เสมอพระท่านจะโปรด ท่านจะปาฏิหาริย์องค์ของท่านให้โตออกไปบ้าง เล็กเข้ามาบ้าง แล้วเปลี่ยนสีเป็นสีต่าง ๆ ขาวเป็นเงินยวงบ้าง เป็นปรอทบ้างเป็นสีทองคําบ้าง เป็นสีเหลืองบ้าง สีขาวสะอาดบ้าง สีเขียวมรกตบ้างขาวใสเหมือนเพชรบ้าง เหมือนกระจกส่องหน้าบ้าง เมื่อเห็นชัดดังนี้แล้วก็ อย่ายินดียินร้าย ทำใจให้เฉย นึกว่านั่นเป็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธท่านโปรดเรา เราต้องเคารพระลึกถึงท่านเสมอ เมื่อทำได้ดังนี้ ชื่อว่าไหว้ถูกองค์พระแล้ว นับเป็นการบูชาอย่างยิ่ง ไม่มีการบูชาอื่นใดเทียบได้ในขั้นนี้ องค์พระจะปาฏิหาริย์จนเต็มส่วนของท่าน เป็นแก้วหมดทั้งองค์งามไม่มีที่ติ ท่านจะประทับอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเราตามเดิมและประทับผินพระพักตร์ออกตามกายของเรา หมั่นทำใจให้หยุดอยู่กลางองค์พระจนชำนาญ เมื่อเข้าถึงองค์พระดังนี้ ชื่อว่าได้ เดินไปสู่ความสุขขั้นแรกในฐานะของฆราวาสแล้ว ได้บรรลุธรรมกายขั้นต้น แล้ว และจะได้พบกับความสงบร่มเย็นใจอย่างที่ในชีวิตไม่เคยพบมาก่อนเลย

                 การไหว้พระวิธีนี้ เมื่อทดลองปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่เห็นองค์พระทันทีก็อย่างเพิ่งท้อแท้ใจล้มเลิกการฝึกเสียเพราะไม่ว่าวิชาทางโลกหรือทางธรรม ก็จำต้องอาศัยเวลาบ้างพอสมควร เช่น กว่าจะอ่านหนังสือออกก็ต้องหัดอ่านอยู่หลายวัน บางคนอาจจะถึงปี โดยทั่วไปสำหรับท่านที่ตั้งใจฝึกตามวิธีข้างต้นอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน วันละประมาณ 20-30นาที จะต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 เดือน จึงจะเห็นได้ สำหรับผู้ที่มีสมาธิเดิมเป็นทุนอยู่แล้ว อาจจะทำได้ภายใน 15 นาที บางท่านที่จิตฟุ้งซ่านมากอาจจะนานมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านปฏิบัติแล้วถึงแม้จะยังไม่เห็นองค์พระ ก็จะได้ความสงบกาย ความสงบใจ เป็นอานิสงส์ทันตาความกังวลในหน้าที่การงานก็ลดลงและเป็นการสะสมสมาธิไปในตัว(ผู้เขียนเองเนื่องจากขาดกัลยาณมิตรคอยแนะนำตักเตือนจึงต้องเสียเวลา ก็ขอให้ลองฝึกประมาณ 12 ปี)

สําหรับท่านที่ไม่เชื่อว่าจะเห็นองค์พระในตัวได้ พิจารณาพระพุทธอุทาหรณ์ดังนี้


                  “คนตาบอดมาแต่กำาเนิดไม่สามารถเห็นสีดำ ขาว แดง น้ำเงินเหลือง ฯลฯ ได้ ไม่สามารถเห็นแผ่นดิน ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวได้ คนตาบอดจึงยืนยันว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี และไม่มีใครอื่นเห็นสิ่งเหล่านั้นได้เลย เพราะเขาไม่เห็นจึงเข้าใจว่าไม่มี ส่วนผู้สามารถมองเห็นจึงเชื่อว่า สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ คนตาบอดต่างหากที่ไม่เห็นเอง”


                   องค์พระที่เห็นในตัว คือ พุทธรัตนะ หรือที่เรียกว่า ธรรมกายมีลักษณะเช่นเดียวกับพระปฏิมากร เกตุเป็นรูปดอกบัวตูม เกตุเช่นนี้บุคคลธรรมดาไม่มี พระสิทธัตถะก็ไม่มี แต่พุทธรัตนะในกายพระสิทธัตถะนั้นมี ในกายของทุกคนที่ไหว้พระเป็นก็มี กายเนื้อพระสิทธัตถะมีรูปพรรณสัณฐานเหมือนมนุษย์ทั่วไป (พร้อมด้วยลักษณะของมหาบุรุษ) กายเนื้อพระกัจจายนะก็รูปร่างคล้ายและใกล้เคียงกับกายเนื้อพระสิทธัตถะ เพราะมีบารมีมาก เคยปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามาก่อนแต่ละเสียในภายหลัง กายเนื้อพระอานนท์ก็คล้ายพระสิทธัตถะเพราะเป็นพระอนุชา แต่พุทธรัตนะในกายเนื้อของพระสิทธัตถะก็ดี ในกายพระกัจจายนะก็ดี ในกายพระอานนท์ หรือในกายพระอรหันต์องค์อื่น ๆก็ดี ย่อมเหมือนกันทั้งสิ้น คือเหมือนพระปฏิมากร เกตุเป็นรูปดอกบัวตูม องค์ใสเป็นแก้ว
                    กายมนุษย์ของพระสิทธัตถะยังเน่าเปื่อยอยู่ จึงเป็นพุทธรัตนะไม่ได้ แต่ธรรมกายของพระสิทธัตถะไม่เน่าเปื่อยจึงเป็นพุทธรัตนะได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ธัมมกาโย อา อิติปิ แปลว่า เราตถาคตคือธรรมกาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าก็คือธรรมกาย
                    ผู้ถึงพุทธรัตนะคือผู้บรรลุธรรมกายแล้ว เมื่อมีปัญหาทางโลกให้อาราธนาธรรมกายช่วยคุ้มครอง เมื่อมีปัญหาทางธรรมก็สนทนาซักถามธรรมที่ติดขัด เมื่อยามเจ็บไข้ก็อาราธนาให้รักษา ด้วยอำนาจบุญแห่งการถึงพระพุทธรัตนะเป็นที่พึ่ง โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จักพินาศไปโลกุตรปัญญานับเวลาจะยิ่งเจริญ


                     สรณะอื่นข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธรัตนะเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

                     บุญใดที่ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธรัตนะ ขวนขวายแล้วในที่นี้ แม้สรรพอันตรายทั้งหลายอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชะบุญนั้นเทอญ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011897007624308 Mins