ศีลเป็นหลักประกันสังคม

วันที่ 26 กค. พ.ศ.2567

2567_07_26%20b.jpg

 

ศีลเป็นหลักประกันสังคม

 

            ในปัจจุบันมีการพูดกันทั่วไปว่า  “ศีลเป็นหลักประกันสังคม”  และดูเหมือนว่าจะเข้าใจกันได้ว่าหมายความว่าอย่างไร เพระาเราได้ยินคำว่าประกันกันอยู่ประจำ เช่น ประกันชีวิต ประกันภัย ประกันตัว

 

2567_07_26b.jpg

 

        คำว่า ประกัน ในคำนี้นั้นหมายถึง การรับรองว่าจะไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น หรือ เป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายต่างๆ มิให้เกิดขึ้น จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ


           หลักประกันสังคม ก็คือ ข้อหรือกฎเกณฑ์ที่รับรองได้ว่าจะเป็นเครื่องป้องกันสังคมมิให้เกิดภัยอันตราย เกิดความหายนะใดๆ แก่สังคม


           ศีล  ๕  เป็นหลักประกันสังคมอย่างหนึ่ง  เมื่อถามว่า ศีล  ๕  เป็นหลักประกันสังคมได้อย่างไร ก็กล่าวได้อย่างสั้นๆ ว่าศีล ๕ เป็นหลักประกันความมั่นคงของสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนของคนทั้งหลายในสังคม เพราะสังคมเป็นภาพรวมของคนที่อยู่ร่วมกัน คนที่อยู่ร่วมกันเมื่อมีศีลแล้วก็จะมีหลักประกันตัวเองและคนรอบข้าง รวมทั้งทรัพย์สินอันเป็นที่รักของตัวได้เป็นอย่างดี


             ศีล ๕ เป็นหลักประกันสังคมอย่างไรบ้าง


             เมื่อกล่าวปลีกย่อยออกไปย่อมกล่าวได้ว่า


             ศีลข้อ ๑ เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต


           คือศีลข้อ  ๑  นั้นเป็นเครื่องรับรองความมั่นคง ความปลอดภัย ความอยู่ดีมีสุขของชีวิต เพราะชีวิตจะมีความปลอดภัย ไม่ถูกฆ่า ไม่ถูกเบียดเบียน ด้วยคนในสังคมด้วยกันละเว้นปาณาติบาต ไม่เข่นฆ่ากัน ชีวิตทุกชีวิตไม่ว่าชีวิตคนและชีวิตสัตว์ย่อมเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุขตลอดชีวิตของแต่ละประเภท อยู่ได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงภัยที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตแต่ประการใด ศีลข้อนี้จึงถือว่าเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต


               ศีลข้อ ๒ เป็นหลักประกันความมั่นคงของทรัพย์สิน


          คือทรัพย์สินที่ทุกคนมีอยู่ซึ่งล้วนหามาได้ด้วยความยากลำบาก   ด้วยการลงทุนลงแรง ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานไม่น้อย ย่อมเป็นที่รักหวงแหนของทุกคนและเมื่อคนในสังคมรักษาศีลข้อที่ ๒ ไม่ละเมิดอทินนาทานแล้ว ทรัพย์สินเหล่านั้นก็ปลอดภัย ไม่ถูกลักถูกขโมย ไม่ถูกคนอื่นนำไปกินไปใช้หรือไปเป็นสมบัติส่วนตัวของเขา และทรัพย์สินที่เป็นของกลาง เป็นของสาธารณะส่วนรวม ซึ่งคนเราเสียภาษีให้หรือเสียสละให้ ก็จะไม่ถูกเบียดบังยักยอก หรือถูกคอร์รัปชั่นไปด้วยอาการต่างๆ ทรัพย์สินที่มีหลักประกันด้วยศีลข้อที่ ๒ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเอง ครอบครัว ตลอดถึงส่วนรวมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


               ศีลข้อที่ ๓ เป็นหลักประกันความมั่นคงของครอบครัว


            คือเมื่อครอบครัวที่มีผู้นำมีผู้อยู่ในครอบครัวด้วยกันต่างก็มีศีลรักษาศีลข้อที่    ๓   ไม่ละเมิดกาเมสุมิจฉาจารด้วยกัน คนในครอบครัวก็จะวางใจกันได้ไว้ใจกันได้ ไม่แตกร้าว ไม่อยู่กันอย่างวิตกหรือรังเกียจเดียดฉันท์กัน ทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข มองหน้ากันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสพูดคุยกันอย่างสนิทใจอย่างมีความสุข


               ศีลข้อที่ ๔ เป็นหลักประกันความมั่นคงของสิทธิในการรับรู้ความจริง


          คือคนเราทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับฟังได้รับรู้ความจริงอันเป็นเรื่องจริง   เป็นข้อมูลข่าวสารจากทุกหนแห่งที่เป็นจริงด้วยกัน การพูดไม่จริง การพูดโกหกเหลวไหล หรือการพูดหลอกลวง อันเป็นข้อเท็จไม่จริงนั้นเป็นการทำลายสิทธิของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังรับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันทำให้เกิดความเสียหายได้ตลอดเวลา การพูดด้วยมีสัจจะ ละเว้นมุสาวาทด้วยการมีศีลข้อที่ ๔ จึงเป็นหลักประกันว่าผู้ฟังจะไม่เสียสิทธิเช่นนั้น จะได้ฟังแต่ความจริง ทำให้ตัดสินได้ว่าควรเชื่อควรถือปฏิบัติตามได้


               ศีลข้อที่ ๕ เป็นหลักประกันความมั่นคงของสติปัญญาและสุขภาพ


            คือการดื่มสุราและเมรัยตลอดถึงของมึนเมาทั้งปวงนั้น     เป็นการทำให้สติปัญญาฟั่นเฟือน หลงลืม  หรือทำให้กล้าบ้าระห่ำไปทำสิ่งที่เลวร้ายต่างๆ โดยขาดความรู้สึกว่าผิด ขาดความรับผิดชอบ และทำให้สุขภาพอ่อนด้อย ไม่คล่องแคล่วอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นเมื่องดดื่มกินสุราเมรัยและสิ่งเสพติดต่างๆ อันทำให้มึนเมาได้ จึงเป็นเครื่องรับรองให้ผู้งดได้ยังคงมีสติปัญญาดำเนินไปได้ตามปกติไม่หลงลืมง่าย และมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังต่อสู้ต่อการงานต่างๆ ได้ตามปกติและทำให้พ้นจากโรคร้ายที่ทำให้ทุกข์ทรมานและสิ้นชีวิตคือโรคตับแข็ง ถ้างดสูบบุหรี่ได้ก็จะไม่ต้องเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพองซึ่งก็เป็นโรคร้ายที่มองเห็นโทษกันอยู่


                ศีล  ๕  แต่ละข้อเป็นหลักประกันสังคมในรูปแบบต่างๆ   อย่างที่แสดงมาโดยย่ออย่างนี้ จึงถือได้ว่าศีลทุกข้อมีประโยชน์ต่อมนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสังคมได้เป็นอย่างดี หากมนุษย์ไม่สนใจเรื่องศีล ไม่รักษาศีล ไม่สนับสนุนคนมีศีล คนที่รักษาศีลก็จะมีน้อย ไม่พอที่จะมีหลักประกันอะไรให้สังคม สังคมก็จะวุ่นวายเดือดร้อน จะเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ จะไม่เห็นอกเห็นใจใคร ความสงบสุขในสังคมก็จะหมดไปในที่สุด

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017655531565348 Mins