มหามิตร

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2567

มหามิตร

670808_b135.jpg


                   พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพระพุทธองค์ได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน และมอมเหล้าเสีย ๑๖ หม้อ ช้างนาฬาคิรียิ่งคะนองมากขึ้นวันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงแปนแปรนของช้างนาฬาคิรีดังขึ้นประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทาง ซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมาด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชาเดินล้ำมายืนเบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาคด้วยคิดจะป้องกันชีวิตของพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง

                 “หลีกไปเถิด-อานนท์ อย่าป้องกันเราเลย” พระศาสดาตรัสอย่างปกติ
 

                 “พระองค์ผู้เจริญ!” พระอานนท์ทูล “ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทรเป็นที่พึ่งของหมู่นกเหมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา และป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์จตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อยขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อย เพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้องเพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

                  “อย่าเลย อานนท์! บารมีเราได้สร้างมาตีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

                   ขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของหมู่สตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้แล้วเป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดาผู้บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตา ซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติ ซ่านออกจากพระหฤทัย กระทบเข้ากับใจอันคลุกเคล้าด้วยความมึนเมาของนาฬาคิรีช้างใหญ่หยุดชะงักเหมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อนกระวนกระวายเพราะโมหะของมันสงบเย็นลงเหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตรซึ่งสำเร็จมาด้วยบุญญาธิการ ลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า
 

                  “นาฬาคิรีเอย! เธอถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน” นาฬาคิรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปลาสนาการไปสิ้นจํานวนมาก นี่แล พุทธานุภาพ!! ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันสักการะบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้และของหอมครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวรด้วยโรคลมในพระอุทรพระอานนท์เป็นห่วงยิ่งนักจึงได้ปรุงยาคู (ข้าวต้ม ต้มจนเหลว) ด้วยมือของท่านเอง แล้วน้อมนำเข้าไปถวาย เพราะพระพุทธองค์เคยตรัสว่า ยาคูเป็นยาไล่ลมในท้องในลำไส้ได้ดีพระพุทธองค์ตรัสถามว่า
 

“อานนท์!เธอได้ยาคูมาจากไหน?”
 

“ข้าพระองค์ปรุงเอง พระเจ้าข้าฯ”
“อานนท์! ทำไมเธอถึงทำอย่างนี้ เธอทำสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ เธอทราบมิใช่หรือว่าสมณะไม่ควรปรุงอาหารเองทำไมเธอจึงมักมากถึงปานนี้ เอาไปเทเสียเถิดอานนท์ เราไม่รับยาคูของเธอดอก”

พระอานนท์คงก้มหน้านิ่งท่านมิได้ปริปากโต้แย้งเลยแม้แต่น้อย ท่านเป็นผู้น่าสงสารอะไรเช่นนั้น!

                 ครั้งหนึ่ง พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งเป็นโทษ เป็นเหตุให้ทรงอึดอัดมีพุทธประสงค์จะเสวยยาระบาย พระอานนท์ทราบแล้วจึงไปหาหมอชีวกโกมารภัจแจ้งเรื่องนี้ ให้ทราบหมอเรียนท่านว่า ขอให้ท่านกราบทูลให้พระองค์ทรงพักผ่อน เพื่อให้พระกายชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วันพระอานนท์กระทำตามนั้นได้เวลาแล้ว ท่านก็ไปหาหมออีก หมอชีวกได้ปรุงยาระบายพิเศษอบด้วยก้านอุบลสามก้านถวายให้พระผู้มีพระภาคสูดดมมิใช่เสวย ปรากฏว่าทรงระบายถึงสามสี่ครั้ง

                 ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์ พระองค์เพิ่งทรงฟื้นจากไข้หนักไม่นาน ท้าวมหานามเข้าเฝ้าและทูลถามปัญหาหนัก ๆ เช่น ปัญหาว่า ญาณเกิดก่อนสมาธิหรือสมาธิเกิดก่อนญาณท่านอานนท์เห็นว่าจะเป็นการลำบากแก่พระผู้มีพระภาคจึงจับพระหัตถ์ท้าวมหานาม นำเสด็จออกไปข้างนอกและแก้ปัญหานั้นเสียเอง

                 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับ ณ นครเวสาลี ทรงประชวรหนัก และทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้นจนหาย พระอานนท์ทูลความในใจของท่านแด่พระผู้มีพระภาคว่าพระองค์ผู้ทรงเจริญ! เมื่อพระองค์ทรงประชวรอยู่นั้น ข้าพระองค์กลุ้มใจเป็นที่สุด กายของข้าพระองค์เหมือนงอมระงมไปด้วยความรู้สึกเหมือนว่า ทิศทั้งหลายมืดมน แต่ข้าพระองค์ก็เบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่าพระองค์คงจักไม่ปรินิพพาน จนกว่าจะได้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

พระอานนท์นี่เอง เป็นผู้ออกแบบจีวรของพระสงฆ์ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่มาจนบัดนี้ นับว่าเป็นแบบเครื่องแต่งกายเก่าแก่ที่สุดในโลกและยังทันสมัยเสมอ เข้าได้ทุกการทุกงาน

ครั้งหนึ่ง ท่านตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปสู่ทักขิณาคีรีชนบท พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่างแล้วตรัสถามพระอานนท์ว่า
 

“อานนท์!เธอจะทำจีวรแบบนาของชาวมคธนี้ได้หรือไม่?”
“ลองทำดูก่อน พระเจ้าข้าฯ” ท่านทูลตอบ

                ต่อมา ท่านได้ทําการตัดเย็บจีวรแบบคันนาของชาวมคธนั้นแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายให้พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาพระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วเห็นชอบด้วย รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายใช้จีวรที่ตัดและเย็บแบบที่ท่านอานนท์ออกแบบนั้น พร้อมกันนั้นได้ตรัสชมเชยท่านอานนท์ท่ามกลางสงฆ์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์เป็นคนฉลาดมีปัญญาสามารถเข้าใจในคำที่เราพูดแต่โดยย่อได้โดยทั่วถึง”

                 พูดถึงเรื่องประหยัด หรือใช้สิ่งของให้คุ้มค่า พระอานนท์ก็เป็นผู้ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังครั้งหนึ่งหลังพุทธปรินิพพาน ท่านเดินทางโดยทางเรือไปสู่นครโกสัมพี เพื่อประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะพระหัวดื้อตามรับสั่งของพระผู้มีพระภาค ขึ้นจากเรือแล้วท่านเข้าอาศัยพัก ณ อุทยานของพระเจ้าอุเทนราชาแห่งนครนั้น ขณะนั้นพระเจ้าอุเทนและพระมเหสีประทับอยู่ ณ พระราชอุทยาน พระมเหสีทรงทราบว่าพระอานนท์มาก็ทรงโสมนัสทูลลาพระสวามีไปเยี่ยมพระอานนท์สนทนาพอเป็นสัมโมทนียกถาแล้วพระอานนท์แสดงธรรมเป็นที่เลื่อมใสจับจิต ยิ่งนัก พระนางได้ถวายจีวร ๕๐๐ ผืน แด่พระอานนท์ ในเวลาต่อมาพระเจ้าอุเทนทรงทราบเรื่องนี้แทนที่จะทรงพิโรธพระมเหสี กลับทรงตำหนิ พระอานนท์ว่า รับจีวรไปทำไมมากมายหลายร้อยผืน จะไปตั้งร้านขายจีวรหรืออย่างไร เมื่อมีโอกาสได้พบพระอานนท์พระองค์จึงเรียนถามว่า

“พระคุณเจ้า! ทราบว่า พระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ?” 
 

“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด” พระอานนท์ทูล
 

“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก?”
 

“เพื่อแบ่งถวายภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า
 

“จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร?”
 

“เอาไปทําเพดาน”
 

“จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทําอะไร?”
 

“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”
 

“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร?”
 

“เอาไปทําผ้าปูพื้น”
 

“จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร?”
 

“จะเอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”
 

“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”
 

“เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี”
 

“จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?”
 

“เอาไปโขลกขย่ากับโคลนแล้วฉาบทาฝา?”
 

                   พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า สมณศากยบุตรเป็นผู้ประหยัด ใช้ของไม่ให้เสียเปล่า จึงถวายจีวรแก่พระอานนท์อีก ๕๐๐ ผืน พระอานนท์นอกจากเป็นผู้กตัญญูต่อผู้ใหญ่แล้ว ยังสำนึกแม้ในอุปการะของผู้น้อยด้วยศิษย์ของท่านเองที่กระทำดีต่อท่านเป็นพิเศษ ท่านก็อนุเคราะห์เป็นพิเศษเช่น คราวหนึ่งท่านได้จีวรมาเป็นจำนวนร้อย ๆ ผืน ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลถวายท่านระลึกถึงศิษย์รูปหนึ่งของท่านซึ่งทำอุปการะปฏิบัติต่อท่านที่มีการถวายน้ำล้างหน้า ไม้ชำระฟัน ปัดกวาดเสนาสนะ ที่อาศัย เวจกุฎี เรือนไฟ นวดมือนวดเท้า เป็นต้น แปลว่าศิษย์ผู้นี้ปฏิบัติดีต่อท่านมากกว่าศิษย์อื่น ๆ และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอท่านจึงมอบจีวรที่ได้มาทั้งหมดแก่ศิษย์รูปดังกล่าวนี้

                   เนื่องจากพระภิกษุรูปนี้เป็นพระดีจริง ๆ จึงนำจีวรที่อุปฌายะมอบให้ ไปแจกภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะเดียวกันจนหมดสิ้น ดูเหมือนจะเป็นความประสงค์ของพระอานนท์ที่จะให้เป็นเช่นนั้นด้วยภิกษุทั้งหลายไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า“พระเจ้าข้า-อคติ หรือความเห็นแก่หน้ายังมีแก่พระโสดาบันหรือ?”  “มีเรื่องอะไรหรือ-ภิกษุ?”

                   เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! การทำเพราะเห็นแก่หน้าหรืออคติ หามีแต่อานนท์ไม่ แต่ที่อานนท์ทำเช่นนั้นก็เพราะระลึกถึงอุปการะของศิษย์ผู้นั้น ซึ่งปฏิบัติชอบต่อเธอเหลือเกิน ภิกษุทั้งหลาย ! ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่น แม้แต่น้อย อันบันฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร”
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014680465062459 Mins