กับพระนางมหาปชาบดี

วันที่ 09 สค. พ.ศ.2567

กับพระนางมหาปชาบดี

670809_b138.jpg

 

                  พระอานนท์เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา ทนเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่นไม่ได้ คอยเป็นธุระช่วยเหลือเท่าที่สามารถ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ดังเช่น เรื่องเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นต้น

                  พระนางทรงเลื่อมใส และรักใคร่ในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก คราวหนึ่งทรงปรารภว่าศากยวงศ์อื่น ๆ ได้ถวายสิ่งของแด่พระผู้มีพระภาคบ้าง ได้ออกบวชตามบ้าง แต่ส่วนพระนางเองยังมิได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อพระพุทธองค์เลย จึงตัดสินพระทัยจะถวายจีวรแด่พระผู้มีพระภาค พระนางเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายทอง ทอเอง ตัดและเย็บเองย้อมเองเสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปถวายพระศาสดา

                “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทำจีวรผืนนี้ด้วยมือของตนเองโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นขอพระผู้มีพระภาคทรงรับเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันด้วยเถิด”
 

“อย่าเลย อย่าถวายตถาคตเลย ขอพระนางได้นำไปถวายพระภิกษุรูปอื่นเถิด ตถาคตมีจีวรใช้อยู่แล้ว” พระศาสดาทรงปฏิเสธอย่างอ่อนโยน
 

                  พระนางอ้อนวอนถึงสามครั้ง แต่พระศาสดาก็หาทรงรับไม่ คงยืนยันอย่างเดิม พระนางถึงแก่โทมนัสเป็นอย่างยิ่งไม่อาจทรงกลั้นอัสสุชลไว้ได้ ทรงน้อยพระทัยที่อุตส่าห์ตั้งพระทัยทำเองโดยตลอดยิ่งระลึกถึงความหลังครั้งอดีต ที่เคยโอบอุ้มเลี้ยงดูพระพุทธองค์มาตั้งแต่เยาว์วัยด้วยแล้วยิ่งน้อยพระทัยหนักขึ้นพระนางทรงกันแสง นำจีวรผืนนั้นไปสู่สำนักพระสารีบุตร เล่าเรื่องให้ท่านทราบและกล่าวว่า

                  “ขอพระคุณเจ้าได้โปรดรับจีวรผืนนี้ไว้ด้วยเถิดเพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า”พระสารีบุตรทราบเรื่องแล้วก็หารับไม่ แนะนำให้นำไปถวายพระภิกษุรูปอื่น และปรากฏว่าไม่มีใครรับจีวรผืนนั้นเลย พระนางยิ่งเสียพระทัยเป็นพันทวีในที่สุดพระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วให้พระนางถวายแก่ภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่งแล้วทรงปลอบให้พระนางคลายจากความเศร้าโศก และให้ร่าเริงบันเทิงด้วยบุญญกิริยาอันยิ่งใหญ่นั้นว่า

                 “ดูก่อนโคตมี! ผ้าที่ท่านถวายแล้วนี้ ได้ชื่อว่าถวายสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขผลานิสงส์มีมากกว่าการถวายเป็นส่วนบุคคล แด่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือกว่าการถวายแด่พระพุทธเจ้าเอง โคตมีเอย! การที่ตถาคตไม่รับจีวรของท่านนั้น มิใช่เพราะใจไม้ไส้ระกำอะไร แต่เพราะมุ่งประโยชน์อันสูงสุดที่จะพึงมีแก่ท่านเอง ปาฏิบุคลิกทานใด ๆ จะมีผลเท่าสังฆทานหาได้ไม่”

                 “อานนท์เอย!” พระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาตรัสแก่พระอานนท์ “ข้อที่เธออ้อนวอนเราเพื่อรับจีวรของพระนางโคตมี โดยอ้างว่าพระนางมีอุปการะมากแก่เรา เคยเลี้ยงดู เคยให้น้ำนมและถือว่าเป็นผู้มีอุปการะมากนั้น เราก็เห็นอยู่ แต่เพราะเห็นอย่างนั้นนั่นเอง เราจึงต้องการให้พระนางได้รับประโยชน์อันไพศาล โดยการนำจีวรถวายแด่สงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขอานนท์เอย! การที่บุคคลได้อาศัยผู้ใดแล้ว ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์เป็นต้น การที่จะตอบแทนผู้นั้นมิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายเลย การทำตอบแทนด้วยการถวายข้าวน้ำและเครื่องใช้ต่าง ๆ และการเคารพกราบไหว้ เป็นต้น ยังเป็นสิ่งเล็กน้อย คือไม่สามารถตอบแทนคุณความดีของท่านผู้นั้นได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

 

“อานนท์! ปาฏิบุคลิกทานมีอยู่ ๑๔ ชนิด คือ


๑. ของที่ถวายแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. ของที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. ของที่ถวายแด่พระอรหันตสาวก
๔. ของที่ถวายแด่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุอรหัตตผล
๕. ของที่ถวายแด่พระอนาคามี
๖. ของที่ถวายแด่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุอนาคามิผล
๗. ของที่ถวายแด่พระสกทาคามี
๘. ของที่ถวายแด่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุสกทาคามิผล
๙. ของที่ถวายแด่พระโสดาบัน
๑๐. ของที่ถวายแด่ผู้ปฏิบัติ เพื่อบรรลุโสดาปัตติผล
๑๑.ของที่ให้แด่คนภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งปราศจากกามราคะ
๑๒. ของที่ให้แด่ปุถุชนผู้มีศีล
๑๓. ของที่ให้แด่ปุถุชนผู้ทุศีล
๑๔. ของที่ให้แด่สัตว์ดิรัจฉาน

                 “อานนท์! ของที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉานยังมีผลมาก ผลไพศาลอานนท์! คราวหนึ่งเราเคยกล่าวแก่ปริพาชกผู้หนึ่งว่า บุคคลเทน้ำล้างภาชนะลงในดินด้วยตั้งใจว่า ขอให้สัตว์ในดินได้อาศัยอาหารที่ติดน้ำล้างภาชนะนี้ได้ดื่มกินเถิด แม้เพียงเท่านี้เราก็ยังกล่าวว่าผู้กระทำได้ประสบบุญแล้วเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจะกล่าวไปไย ในทานที่บุคคลให้แล้วแก่ปุถุชนผู้ทุศีล หรือผู้มีศีล จนถึงแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีผลมากเล่า แต่ทั้งหมดนี้เป็นปาฏิบุคลิกทาน คือทานที่ให้เจาะจงบุคคล เรากล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานใด ๆ จะมีผลเท่าสังฆทานมิได้เลย”

 

                 “อานนท์เอย! ต่อไปเบื้องหน้าจักมีแต่โคตรภูสงฆ์คือสงฆ์ผู้ทุศีล มีธรรมทราม สักแต่ว่ามีกาสาวพัสตร์พันคอ การให้ทานแก่ภิกษุทุศีลเห็นปานนั้นแต่อุทิศสงฆ์ก็ยังเป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาลประมาณมิได้”  แล้วทรงหันไปตรัสแก่พระนางผู้มีจีวรอันจักถวายว่า
 

                 “ดูก่อนโคตมี! เพราะฉะนั้นการที่ท่านได้ถวายจีวรแด่สงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในครั้งนี้จึงจัดเป็นโชคลาภอันประเสริฐยิ่งแล้ว”

 

                  พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเลื่อมใสศรัทธา ปรารถนาจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเคยทูลอ้อนวอนขออนุญาตบวชเป็นภิกษุณี ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามกรุงกบิลพัสดุ์ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ทรงอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พระพุทธองค์ก็หาทรงอนุญาตไม่ จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปประทับ ณ กรุงเวสาลีประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

 

                  พระนางโคตมีพร้อมด้วยสตรีศากยวงศ์หลายพระองค์ทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะบวชเป็นภิกษุณีจึงพร้อมกันปลงพระเกศานุ่งห่มผ้ากาสายะเสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยพระบาทเปล่าไปสู่นครเวสาลีที่ประทับของพระศาสดา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาตตามเคย พระนางเสียพระทัยและขมขื่นยิ่งนักมาประทับยืนร้องไห้อยู่ที่ประตูป่ามหาวัน

                  พระอานนท์มาพบพระนางเข้า ทราบเรื่องโดยตลอดแล้วมีใจกรุณาปรารถนาจะช่วยเหลือจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลอ้อนวอนเพื่อขอประทานอุปสมบท แก่พระนางโคตมี

                  “พระองค์ผู้เจริญ!” ตอนหนึ่งพระอานนท์ทูล “พระนางโคตมี พระน้านางของพระองค์บัดนี้ปลงพระเกษาแล้วนุ่งห่มผ้ากาสายะ มีพระวรกายขะมุกขะมอมเพราะเสด็จโดยพระบาทมาจากนครกบิลพัสดุ์พระวรกายแปดเปื้อนไปด้วยธุลี แต่ก็หาคำนึงถึงความลำบากเรื่องนี้ไม่ มุ่งพระทัยแต่ในเรื่องบรรพชาอุปสมบท พระนางเป็นผู้มีอุปการะมากต่อพระองค์ เป็นผู้ประทานขีรธาราแทนพระมารดา ขอพระองค์ได้ทรงอนุเคราะห์พระนางเถิดขอให้พระนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีตามพระประสงค์เถิด"

                   พระผู้มีพระภาคประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสว่า “อานนท์! เรื่องที่พระนางมีอุปการะมากต่อเรานั้น เราสำนึกอยู่ แต่เธอต้องไม่ลืมว่า เราเป็นธรรมราชาต้องรับผิดชอบในสังฆมณฑล จะเอาเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับเรื่องความเสื่อมความเจริญของส่วนรวม ก็ต้องตรองให้ดีก่อน อานนท์!ถ้าเปรียบสังฆมณฑลของเราเป็นนาข้าว การที่ยอมให้สตรีมาบวชในธรรมวินัยนี้ ก็เหมือนปล่อยตัวเพลี้ยตัวแมลงลงในนาข้าวนั้น รังแต่จะทำความพินาศวอดวายให้แก่นาข้าวอย่างไม่ต้องสงสัย

                   อานนท์!เราเคยพูดเสมอมิใช่หรือว่า สตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปข้องนั้น เป็นมลทินอย่างยิ่งของพรหมจรรย์อานนท์เอย! ถ้าศาสนาของเราจะพึงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่หากมีสตรีมาบวชด้วยจะอยู่ได้ ๕๐๐ ปีเท่านั้นหรือสมมติว่า ศาสนาของเราจะพึงดำรงอยู่ได้ ๕๐๐ ปี เมื่อมีสตรีมาบวชในธรรมวินัยด้วยก็จะทอนลงเหลือเพียงครึ่งเดียว คือ ๒๕๐ ปี อย่าเลย อานนท์! เธออย่าพอใจขวยขวายให้มีภิกษุณีขึ้นในศาสนาเลย จะเป็นเรื่องลำบากในภายหลัง"

พระอานนท์ ผู้อันเมตตา กรุณา เตือนอยู่เสมอ กระทำความพยายามต่อ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า
 

“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าสตรีได้บวชในธรรมวินัยของพระองค์ นางจะสามารถหรือไม่ ที่จะบรรลุคุณวิเศษมีโสดาปัตติผลเป็นต้น”
 

“อาจทีเดียว-อานนท์! นางสามารถจะทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น”
 

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์โปรดประทานอนุญาตให้พระนางโคตมีบวชเถิดพระเจ้าข้าฯ”
 

               พระพุทธองค์ ประทับนิ่งอยู่อีกครู่หนึ่ง แล้วตรัสว่า “อานนท์ ถ้าพระนางโคตมีสามารถรับครุธรรม ๘ ประการได้ ก็เป็นอันว่าพระนางได้บรรพชาอุปสมบทสมปรารถนาครุธรรม ๘ ประการนั้นมีดังนี้

๑. ภิกษุณีแม้บวชแล้วตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องทำการอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรม แก่ภิกษุแม้ผู้บวชแล้วในวันนั้น
๒. ภิกษุณีต้องไม่จำพรรษาในอาวาส ที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณีต้องถามวันอุโบสถ และเข้าไปรับโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้ตักเตือนสั่งสอนจากสำนักทั้งสองคือทั้งจากภิกษุณีสงฆ์และจากภิกษุสงฆ์
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก เช่น สังฆาทิเสสแล้ว ต้องประพฤติมานัดตลอด ๑๕ วันในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือทั้งในภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
๖. นางสิกขมานา คือสตรีที่เตรียมจะบวชเป็นภิกษุณี จะต้องประพฤติปฏิบัติศีล ๖ ข้อคือ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ ให้ครบบริบูรณ์ตลอดเวลา ๒ ปี ขาดไม่ได้ ถ้าขาดลงจะต้องตั้งต้นใหม่ เมื่อทำได้ครบแล้วต้องอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๗. ภิกษุณีต้องไม่ด่าว่าเปรียบเปรย หรือบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ
๘. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ ให้ภิกษุว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุณีได้ฝ่ายเดียว

 

                 “ดูก่อนอานนท์! นี่แลครุธรรมทั้ง ๘ ประการ ซึ่งภิกษุณีจะต้องสักการะเคารพนับถือบูชาตลอดชีวิต จะล่วงละเมิดมิได้”

                  พระอานนท์จำครุธรรม ๘ ประการได้แล้ว ทูลลาพระผู้มีพระภาคไปเฝ้าพระนางโคตมีเล่าบอกถึงเงื่อนไข ๘ ประการตามพระพุทธดำรัส แล้วกล่าวว่า “โคตมี ท่านพอจะรับครุธรรม ๘ ประการนี้ได้อยู่หรือ? ถ้าท่านรับได้อันนี้แหละเป็นบรรพชาอุปสมบทของท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสมาอย่างนี้”พระนางโคตมีปลื้มพระทัยยิ่งนัก พระนางเป็นเหมือนสุภาพสตรีซึ่งอาบน้ำชำระกายอย่างดีแล้ว นุ่งห่มด้วยผ้าใหม่มีราคาแพง ประพรมน้ำหอมเรียบร้อยแล้ว มีพวงมาลัยซึ่งทำด้วยดอกไม้หอมลงสวมศีรษะสตรีนั้นหรือจะไม่พอใจ ฉันใดก็ฉันนั้น พระนางทรงรับครุธรรม ๘ ประการทันที และปฏิญาณว่าจะประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

 

                 ทำไมพระพุทธองค์ จึงไม่ประสงค์ให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณี? เหตุผลแจ่มแจ้งอยู่แล้วในพระดำรัสของพระองค์ น่าจะทรงเกรงความยุ่งเหยิงอันจะพึงเกิดขึ้นในภายหลัง ในครุธรรม ๘ ก็มีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งบัญญัติว่าภิกษุณีจะต้องอยู่อาวาสเดียวกับพระสงฆ์ แยกสำนักไปตั้งเป็นอิสระอยู่ต่างหากไม่ได้ แต่คงจะให้แบ่งเขตกัน มิใช่อยู่ปะปนกัน เรื่องที่ทรงห้ามมิให้ภิกษุณีแยกไปตั้งสำนักต่างหากนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย คือภิกษุณีคุ้มครองรักษาตัวเองไม่ได้ พวกอันธพาลอาจจะบุ่มบ่ามเข้าไปก่อกวน ให้ได้รับความเดือดร้อนคราวนี้มาถึงปัญหาอีกข้อหนึ่งว่า ทีแรกดูเหมือนจะเป็นความประสงค์ของพระพุทธองค์จริง ๆ ที่จะไม่ยอมให้ภิกษุณีมีขึ้นในศาสนา แต่มายอมจำนนต่อเหตุผลของพระอานนท์หรืออย่างไรจึงยอมให้ภายหลังเรื่องนี้กล่าวแก้กันว่า

 

                  พระพุทธองค์จะยอมจำนนต่อเหตุผลของพระอานนท์ก็หามิได้แต่พระองค์ต้องการให้เป็นเรื่องยาก คือให้บวชได้โดยยาก เพื่อภิกษุณีจะได้ถนอมสิ่งที่ตนได้มาโดยยากนั้น และต้องการพิสูจน์ความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวของพระนางโคตมีด้วยว่าจะจริงใจแค่ไหนอย่างไรก็ตามเรื่องนี้ พระพุทธองค์น่าจะไม่ประสงค์ให้ภิกษุณีมีขึ้นในศาสนาจริง ๆ แต่ที่ยอมนั้นยอมอย่างขัดไม่ได้ และจะเห็นว่า เมื่อยอมโดยขัดไม่ได้แล้ว พระองค์ก็ทรงวางระเบียบไว้อย่างถี่ยิบ เพื่อบีบคั้นให้ภิกษุณีหมดไปโดยเร็วสิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์มีเพียง๑๕๐ ข้อหรือที่รู้ๆ กันว่า พระสงฆ์มีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ภิกษุณีมีถึง ๓๑๑ ข้อ อาบัติเบาๆ ของพระแต่เมื่อภิกษุณีทำเข้ากลายเป็นเรื่องหนักแปลว่าพระพุทธองค์ประสงค์ให้ภิกษุณีหมดไปโดยเร็ว และความประสงค์ของพระองค์ก็สัมฤทธิ์ผล

 

                  ปรากฏว่าในสมัยที่พระองค์นิพพานนั้น มิได้มีเรื่องกล่าวถึงภิกษุณีเลย สันนิษฐานกันว่าภิกษุณีอาจหมดแล้วก็ได้ มาโผล่ขึ้นอย่างไรในสมัยพระเจ้าอโศกอีกไม่ทราบ ข้อที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปวัตตินี (หมายถึงอุปัชฌายะผู้ให้ภิกษุณีบวช) รูปหนึ่งบวชภิกษุณีได้ ๑ รูปต่อ ๑ ปีและต้องเว้นไป ๑ ปีจึงจะบวชได้อีกรูปหนึ่งแบบนี้หมดแน่บางท่านให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ให้มีภิกษุณีนั้น เพราะต้องการให้สตรีเป็นกองเสบียงการบวชเหมือนการออกรบ กองทัพถ้าไม่มีเสบียงก็ไปไม่ไหว ให้ผู้หญิงอยู่เป็นกองเสบียงบำรุงศาสนจักร ซึ่งมีพระเป็นทหารและพระพุทธองค์นั้นเป็นพระธรรมราชาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ทรงยอมให้บวช ก็เพราะมีพระกรุณาต่อสตรีไม่ต้องการให้สตรีต้องลำบากการบวชเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องผจญภัยนานาประการผู้บวชอยู่ได้ต้องเป็นคนเข้มแข็งมิใช่คนอ่อนแอ สตรีเป็นเพศอ่อนแอ พระพุทธองค์ไม่ต้องการให้ลำบากเรื่องที่มีสิกขาบทบัญญัติมาก สำหรับภิกษุณีนั้น บางท่านให้เหตุผลว่า เพราะภิกษุณีเป็นลูกหญิงของพระพุทธเจ้า ธรรมดาลูกหญิงพ่อต้องเป็นห่วงมากกว่าลูกชายและมีข้อห้ามมากกว่าจะปล่อยเหมือนลูกชายไม่ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังดี หวังความสุขความเจริญนั่นเอง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0028320471445719 Mins