ความรัก-ความร้าย

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2567

ความรัก-ความร้าย

670811_b142.jpg


                 นอกจากมีเมตตากรุณา หวั่นใจในความทุกข์ยากของผู้อื่นแล้ว พระอานนท์ยังเป็นผู้สุภาพอ่อนโยนอย่างยิ่งอีกด้วย ความสุภาพอ่อนโยน และลักษณะอันน่ารัก มีรูปงามผิวพรรณดีนี่เอง ได้เคยคล้องเอาดวงใจน้อย ๆ ของสตรีผู้หนึ่งให้หลงใหลใฝ่ฝัน โดยที่ท่านมิได้มีเจตนาเลย เรื่องเป็นดังนี้คราวหนึ่ง ท่านเดินทางจากที่ไกลมาสู่วัดเชตวัน อากาศซึ่งร้อนอบอ้าวในเวลาเที่ยงวันทำให้ท่านมีเหงื่อโทรมกาย และรู้สึกกระหายน้ำ พอดีเดินมาใกล้บ่อน้ำแห่งหนึ่ง เห็นนางทาสีกำลังตักน้ำ ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า

“น้องหญิง! อาตมาเดินทางมาจากที่ไกล รู้สึกกระหายน้ำ ถ้าไม่เป็นการรบกวน อาตมาขอบิณฑบาตน้ำจากท่านดื่มพอแก้กระหายด้วยเถิด”นางทาสีได้ยินเสียงอันสุภาพอ่อนโยน จึงเงยหน้าขึ้นดู นางตะลึงอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอยออกห่างท่านสองสามก้าวพลางกล่าวว่า


“พระคุณเจ้า! ข้าพเจ้าถวายน้ำแก่ท่านมิได้ดอก ท่านไม่ควรดื่มน้ำจากมืออันต่ำช้าของข้าพเจ้า ท่านเป็นวรรณกษัตริย์ ข้าพเจ้าเป็นเพียงนางทาสี”

 

“อย่าคิดอย่างนั้นเลย น้องหญิง! อาตมาไม่มีวรรณะแล้ว อาตมาเป็นสมณศากยบุตร อาตมามิได้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ สูทร หรือจัณฑาลอย่างใดอย่างหนึ่งเลย อาตมาเป็นมนุษย์เหมือนน้องหญิงนี่แหละ”
 

“ข้าพเจ้าเกรงแต่จะเป็นมลทินแก่พระคุณเจ้า และเป็นบาปแก่ข้าพเจ้าที่ถวายน้ำ การที่ท่านจะรับของจากมือของคนต่างวรรณะ และโดยเฉพาะวรรณที่ต่ำอย่างข้าพเจ้าด้วยแล้ว ข้าพเจ้าไม่สบายใจเลย ความจริงข้าพเจ้ามิได้หวงน้ำดอก” นางยังคงยืนกรานอยู่อย่างเดิม ขณะพูดมีเสียงสั่นน้อย ๆ
 

“น้องหญิง! มลทินและบาปจะมีแก่ผู้มีเมตตากรุณาไม่ได้ มลทินย่อมมีแก่ผู้ประกอบกรรมชั่ว บาปย่อมมีแก่ผู้ไม่สุจริต การที่อาตมาขอน้ำ และน้องหญิงจะให้น้ำนั้นเป็นธรรม ธรรมย่อมปลดเปลื้องบาปและมลทินเหมือนน้ำสะอาดชำระสิ่งสกปรกฉะนั้น น้องหญิง! บัญญัติของพราหมณ์เรื่องบาปและมลทิน อันเกี่ยวกับวรรณะนั้นเป็นบัญญัติที่ไม่ยุติธรรม เป็นการแบ่งแยกมนุษย์ให้เหินห่างจากมนุษย์ เป็นการเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกัน เรื่องนี้อาตมาไม่มีแล้ว อาตมาเป็นสมณศากยบุตร สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่มีวรรณะ เพราะฉะนั้น ถ้าน้องหญิงต้องการจะให้น้ำก็จงเทลงในบาตรนี้เถิด”


                   นางรู้สึกจับใจในคําพูดของพระอานนท์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของนางที่ได้ยินคำอันระรื่นหูจากชนซึ่งสมมติเรียกกันว่า “ชั้นสูง” มืออันเรียวงามสั่นน้อย ๆ ของนางค่อย ๆ ประจงเทน้ำในหม้อลงในบาตรของพระอานนท์ ในขณะนั้นนางนั่งคุกเข่า พระอานนท์ยืนโน้มตัวลงรับน้ำจากนาง แล้วดื่มด้วยความกระหาย นางช้อนสายตาขึ้นมองดูพระอานนท์ซึ่งกำลังดื่มน้ำ ด้วยความรู้สึกปีติซาบซ่าน แล้วยิ้มอย่างเอียงอาย
 

“ขอให้มีความสุขเถิด น้องหญิง!” เสียงอันไพเราะจากพระอานนท์ หน้าของท่านยิ่งแจ่มใสขึ้น เมื่อได้ดื่มน้ำระงับความกระหายแล้ว
 

“พระคุณเจ้าดื่มอีกหน่อยเถิด” นางพูดพลางเอียงหม้อน้ำในท่าจะถวาย
 

“พอแล้วน้องหญิง! ขอให้มีความสุขเถิด”
 

“พระคุณเจ้า! ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะทราบนามของพระคุณเจ้าพอเป็นมงคลแก่โสตและความรู้สึกของข้าพเจ้าบ้าง” นางพูดแล้วก้มหน้าด้วยความขวยอาย

“น้องหญิง! ไม่เป็นไรดอก น้องหญิงเคยได้ยินชื่อพระอานนท์ อนุชาของพระพุทธเจ้าหรือไม่?"
 

“เคยได้ยิน พระคุณเจ้า”
 

“เคยเห็นท่านไหม?”


“ไม่เคยเลย พระคุณเจ้า เพราะข้าพเจ้าทำงานอยู่เฉพาะในบ้าน และมาตักน้ำที่นี่ ไม่มีโอกาสไปที่ใดเลย”

“เวลานี้ น้องหญิงกำลังสนทนากับพระอานนท์อยู่แล้ว”

 

นางมีอาการตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วแววแห่งปีติค่อย ๆ ฉายออกมาทางดวงหน้าและแววตา
 

“พระคุณเจ้า” นางพูดด้วยเสียงสั่นน้อย ๆ “เป็นมงคลแก่โสต และดวงตาของข้าพเจ้ายิ่งนักที่ได้ฟังเสียงของท่าน และได้เห็นท่านผู้มีศีล ผู้มีเกียรติศัพท์ระบือไปไกล ข้าพเจ้าเพิ่งได้เห็นและได้สนทนากับท่านโดยมิรู้มาก่อน นับเป็นบุญอันประเสริฐของข้าพเจ้ายิ่งแล้ว”
 

                  แลแล้ว พระอานนท์ก็ลานางทาสีเดินมุ่งหน้าสู่วัดเชตวันอันเป็นที่ประทับของพระศาสดาเมื่อท่านเดินมาได้หน่อยหนึ่ง ได้ยินเสียงเหมือนมีคนเดินตามมาข้างหลัง ท่านเหลียวดู ปรากฏว่าเป็นนางทาสีที่ถวายน้ำนั่นเองเดินตามมา ท่านเข้าใจว่าบ้านของนางคงจะอยู่ทางเดียวกับที่ท่านเดินมา จึงมิได้สงสัยอะไรและเดินมาเรื่อย ๆ จนจวนจะถึงซุ้มประตูไม่มีทางแยกไปที่อื่นอีกแล้วนอกจากทางเข้าสู่วัด ท่านเหลียวมาเห็นนางทาสีเดินตามมาอย่างกระชั้นชิด นัยน์ตาก็จ้องมองดูท่านตลอดเวลา ท่านหยุดอยู่ครู่หนึ่ง พอนางเข้ามาใกล้ท่านจึงกล่าวว่า
 

“น้องหญิง! เธอจะไปไหน?”


“จะเข้าไปในวัดเชตวันนี่แหละ” นางตอบ


“เธอจะเข้าไปทำไม?”


“ไปหาพระคุณเจ้า สนทนากับพระคุณเจ้า”


“อย่าเลยน้องหญิง เธอไม่ควรจะเข้าไป ที่นี่เป็นที่อาศัยอยู่ของพระสงฆ์ เธอไม่มีธุระอะไรอย่าเข้าไปเลย เธอกลับบ้านเสียเถิด”


“ข้าพเจ้าไม่กลับ ข้าพเจ้ารักท่าน ข้าพเจ้าไม่เคยพบใครดีเท่าพระคุณเจ้าเลย”


“น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่าปกติของคนเราอาจจะรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนาน ๆ ต้องมีโยนิโสมนสิการ และต้องมีปัญญา จึงจะรู้ว่าคนนั้นคนนี้มีปกติอย่างไร คือดีหรือไม่ดี ที่น้องหญิงพบเราเพียงครู่เดียว จะตัดสินได้อย่างไรว่าอาตมาเป็นคนดี อาตมาอาจจะเอาชื่อพระอานนท์ มาหลอกเธอก็ได้ อย่าเข้ามาเลย กลับเสียเถิด”


“พระคุณเจ้าจะเป็นใครก็ช่างเถิด” นางคงพร่ำต่อไป มือหนึ่งถือหม้อน้ำซึ่งบัดนี้นางได้เทน้ำออกหมดแล้ว “ข้าพเจ้ารักท่านซึ่งข้าพเจ้าสนทนาอยู่ด้วยเวลานี้”


“น้องหญิง! ความรักเป็นเรื่องร้ายมิใช่เป็นเรื่องดี พระศาสดาตรัสว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โศก และทรมานใจ เธอชอบความทุกข์หรือ?”
 

“ข้าพเจ้าไม่ชอบความทุกข์เลยพระคุณเจ้า และความทุกข์นั้นใคร ๆ ก็ไม่ชอบ แต่ข้าพเจ้าชอบมีความรัก โดยเฉพาะรักพระคุณเจ้า”
 

“จะเป็นไปได้อย่างไร น้องหญิง! ในเมื่อทำเหตุก็ต้องได้รับผล การที่จะให้มีรักแล้วมิให้มีทุกข์ติดตามมานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย”


“แต่ข้าพเจ้ามีความสุข เมื่อได้เห็นพระคุณเจ้าได้สนทนากับพระคุณเจ้า ผู้เป็นที่รักอย่างยิ่งของข้าพเจ้า รักอย่างสุดหัวใจเลยทีเดียว”
 

“ถ้าไม่ได้เห็นอาตมา ไม่ได้สนทนากับอาตมา น้องหญิงจะมีความทุกข์ไหม?”
 

“แน่นอนทีเดียว ข้าพเจ้าจะต้องมีความทุกข์อย่างมาก”
 

“นั่นแปลว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วใช่ไหม?”
 

“ไม่ใช่พระคุณเจ้า นั่นเป็นเพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักต่างหากเล่า มิใช่เพราะความรัก”
 

“ถ้าไม่มีรัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักจะมีได้หรือไม่”
 

“มีไม่ได้เลย พระคุณเจ้า”
 

                 “นี่แปลว่าน้องหญิงยอมรับแล้วใช่ไหม ว่าความรักเป็นสาเหตุชั้นที่หนึ่งที่จะให้เกิดทุกข์” พระอานนท์พูดจบแล้วยิ้มน้อย ๆ ด้วยรู้สึกว่ามีชัย แต่ใครเล่าจะเอาชนะความปรารถนาของหญิงได้ง่าย ๆ ลองจะเอาอะไรก็จะเอาให้ได้ เพราะธรรมชาติของเธอมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ถ้าผู้หญิงคนใดใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาชีวิตหรือในการดำเนินชีวิต หญิงคนนั้นจะเป็นสตรีที่ดีที่สุดและน่ารักที่สุด เหตุผลที่กล่าวนี้ มิใช่มากมายอะไรเลย เพียงไม่ถึงกึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แม้นางจะมองเห็นเหตุผลของพระอานนท์ว่าคมคายอยู่ แต่นางก็หายอมไม่ นางกล่าวต่อไปว่า
 

“พระคุณเจ้า! ความรักที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ดังที่พระคุณเจ้ากล่าวมานั้น เห็นจะเป็นความรักของคนที่รักไม่เป็นเสียละกระมัง คนที่รักเป็น ย่อมรักได้โดยมิให้เป็นทุกข์”


“น้องหญิงเคยรักหรือหมายถึงเคยรักใครคนใดคนหนึ่งมาบ้างหรือไม่ในชีวิตที่ผ่านมา”
 

“ไม่เคยมาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และคงจะเป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย”
 

“เมื่อไม่เคยมาเลย ทำไมเธอจึงจะรักให้เป็นโดยมิต้องเป็นทุกข์เล่าน้องหญิง! คนที่จับไฟนั้นจะจับเป็นหรือจับไม่เป็น จะรู้หรือไม่รู้ ถ้าลองได้จับไฟด้วยมือแล้ว ย่อมร้อนเหมือนกัน ใช่ไหม?”
 

“ใช่ พระคุณเจ้า”
 

“ความรักก็เหมือนการจับไฟนั่นแหละ ทางที่จะไม่ให้มือพองเพราะไฟเผามีอยู่ทางเดียวคืออย่าจับไฟเล่นกับไฟ ทางที่จะปลอดภัยจากรักก็ฉันนั้น มีอยู่ทางเดียวคืออย่ารัก”
 

“พระคุณเจ้าจะว่าอย่างไรก็ตามเถิด แต่ข้าพเจ้าหักรักจากพระคุณเจ้ามิได้เสียแล้ว แม้พระคุณเจ้าจะไม่ปรานี้ข้าพเจ้าเยี่ยงคนรัก ก็ขอให้พระคุณเจ้ารับข้าพเจ้าไว้ในฐานะผู้ซื่อสัตย์ ข้าพเจ้าจักปฏิบัติพระคุณเจ้า บำรุงพระคุณเจ้า เพื่อความสุขของท่านและของข้าพเจ้าด้วย”
 

                  “น้องหญิง! ประโยชน์อะไรที่เธอจะมารักคนอย่างอาตมา อาตมารักพระศาสดาและพรหมจรรย์หมดหัวใจเสียแล้ว ไม่มีหัวใจไว้รักอะไรได้อีก แม้เธอจะขอสมัครอยู่ในฐานะเป็นทาสก็ไม่ได้ พระศาสดาทรงห้ามมิให้ภิกษุในพระศาสนามีทาสไว้ใช้ ยิ่งเธอเป็นทาสหญิงด้วยแล้วยิ่งเป็นการผิดมากขึ้น แม้จะเป็นศิษย์คอยปฏิบัติ ก็ไม่ควรจะเป็นที่ตำหนิของวิญญูชน เป็นทางแห่งความเสื่อมเสีย อาตมาเห็นใจน้องหญิง แต่จะรับไว้ในฐานะใดฐานะหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น กลับเสียเถิดน้องหญิงพระศาสดาหรือภิกษุสามเณรเห็นเข้าจะตำหนิอาตมาได้ นี่ก็จวนจะถึงพระคันธกุฎีแล้ว อย่าเข้ามานะ” พระอานนท์ยกมือขึ้นห้ามในขณะที่นางทาสีจะก้าวตามท่านเข้าไป

 

พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงเถียงกันระหว่างพระอานนท์กับสตรี จึงตรัสถามมาจากภายในพระคันธกุฎีว่า
 

“อะไรกันอานนท์?”


“ผู้หญิงพระเจ้าข้า เธอจะตามข้าพระองค์เข้ามายังวิหาร”


“ให้เธอเข้ามาเถอะ พามานี่ มาหาตถาคต” พระศาสดาตรัสพระอานนท์พานางทาสีเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคมีพระวาจาว่า


“อานนท์! เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ทำไมเขาจึงตามเธอมาถึงนี่?” เมื่อพระอานนท์ทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า


“ภคินี! เธอรักใคร่พอใจอานนท์หรือ?”


“พระเจ้าข้า” นางทาสียกมือแค่อกรับตามเป็นจริง


“เธอรักอะไรในอานนท์?”


“ข้าพระพุทธเจ้า... รักนัยน์ตาพระอานนท์ พระเจ้าข้า”
 

“นัยน์ตานั้น ประกอบขึ้นด้วยเส้นประสาทและเนื้ออ่อน ต้องหมั่นเช็ดสิ่งสกปรกในดวงตาอยู่เป็นนิตย์ มีขี้ตาไหลออกจากนัยน์ตาอยู่เสมอ ครั้นแก่ลงก็จักฝ้าฟางขุ่นมัวไม่แจ่มใส อย่างนี้เธอยังรักนัยน์ตาของอานนท์อยู่หรือ?”


“ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักหูของพระอานนท์พระเจ้าข้า”
 

“ภคินี! หูนั้นประกอบด้วยเส้นเอ็นและเนื้อ ภายในช่องหูมีของโสโครกเป็นอันมาก มีกลิ่นเหม็นต้องแคะได้อยู่เสมอ ครั้นชราลงก็หนวก จะฟังเสียงอะไรก็ไม่ถนัดหรืออาจไม่ได้ยินเลยดังนี้แล้ว เธอยังจะรักอยู่หรือ?” นางเอียงอายเล็กน้อย แล้วตอบเลี่ยงต่อไปว่า


“ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์รักจมูกอันโด่งงามของพระอานนท์พระเจ้าข้า”
 

“ภคินี! จมูกนั้นประกอบขึ้นด้วยกระดูกอ่อนที่มีโพรง ภายในมีน้ำมูกและเส้นขนกับของโสโครก มีกลิ่นเหม็นเป็นก้อน ๆ อย่างนี้เธอยังจะรักอยู่อีกหรือ”


                  ไม่ว่านางจะตอบเลี่ยงไปอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แจงให้พิจารณาเห็นความเป็นจริงของร่างกายอันสกปรกเปื่อยเน่านี้ ในที่สุดนางก็นั่งก้มหน้านิ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภคินีเอย! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้ง ๔ มีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บมูตรและกรีส อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่าง ๆ เข้าไว้ และซึมออกมาเสมอ ๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน กลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่รังเกียจ เป็นของน่าขยะแขยง
 

                  “ภคินี ร่างกายนี้เป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทาที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้น เป็นเพียงผิวหนังเท่านั้น เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพอันวิจิตรตระการตา ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น แต่ผู้รู้ เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงไร ก็หาพอใจยินดีไม่ เพราะทราบชัดว่าภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลฟังรังเกียจ”
 

                   แม้พระศาสดาตรัสอยู่อย่างนี้ ความรักของเธอที่มีต่อพระอานนท์ก็หาลดลงไม่ แม้บางคราวแสงสว่างฉายวูบเข้ามาสู่หทัยของนาง จนทำให้นางมองเห็นความเป็นจริง ตามพระศาสดาตรัสก็ตาม แต่มันมีน้อยเกินไป ไม่สามารถจะข่มความเสน่หาที่เธอมีต่อพระอานนท์เสียได้ เหมือนน้ำน้อยไม่พอที่จะดับไฟโดยสิ้นเชิง ไฟคือราคะในจิตใจของนางก็ฉันนั้นคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา นางคิดว่าจะทำไฉนหนอจักสามารถอยู่ใกล้พระอานนท์ได้ เมื่อไม่ทราบจะทำประการใด จึงทูลลาพระศาสดาและพระอานนท์กลับบ้าน ก่อนกลับนางไม่ลืมที่จะชำเลืองมองพระอานนท์ด้วยความเสน่หาเนื่องจากมาเสียเวลาในวัดเชตวันเสียนาน นางจึงกลับไปถึงบ้านเอาจวนค่ำ นางรู้สึกตะครั่นตะครอทั้งกายและใจ เกรงว่าระหว่างที่นางหายไปนานนั้นนายอาจจะเรียกใช้ เมื่อไม่พบนางคงถูกลงโทษอย่างหนักอย่างที่เคยถูกมาแล้ว อนิจจา! ชีวิตของคนทาส ช่างไม่มีอิสระและความสุขเสียเลยเป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่นางหายไปนั้นนายมิได้เรียกใช้เลย ผิดจากวันก่อน ๆ นี่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากพุทธานุภาพ โอ! พุทธานุภาพ ช่างน่าอัศจรรย์อะไรเช่นนั้น!


                   คืนนั้นนางนอนกระวนกระวายอยู่ตลอดคืน จะข่มตาให้หลับสักเท่าใดก็หาสำเร็จไม่ พอเคลิ้ม ๆ นางต้องผวาตื่นขึ้น ด้วยภาพแห่งพระอานนท์ปรากฏทางประสาทที่ ๖ หรือมโนทวารนางนอนภาวนาชื่อของพระอานนท์เหมือนนามเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธคุณก็คอยไหลวนเวียนเข้ามาสู่ความสำนึกอันลึกซึ้งนางคิดว่าภายใต้พุทธฉายาน่าจะมีความสงบเย็นและบริสุทธิ์น่าพึงใจเป็นแน่แท้ แต่จะทำอย่างไรหนอจึงจะประสบความสงบเย็นเช่นนั้นเสียงไก่โห่อยู่ไม่นาน ท้องฟ้าก็เริ่มสาง ลมเย็นตอนรุ่งอรุณพัดแผ่วเข้ามาทางช่องหน้าต่าง นางสลัดผ้าห่มออกจากกาย ลุกขึ้นเพื่อเตรียมอาหารไว้สำหรับนาย นางภาวนาอยู่ในใจว่าเช้านี้ขอให้พระอานนท์บิณฑบาตผ่านมาทางนี้เถิดแสงแดดในเวลาเช้าให้ความชุ่มชื่นพอสบาย นางเสร็จธุระอย่างอื่น ออกมายืนเหม่ออยู่หน้าบ้าน มองไปเบื้องหน้าเห็นภิกษุณีรูปหนึ่งมีบาตรในมือ เดินผ่านบ้านของนางไป ทันใดนั้นความคิดแวบเข้ามา ทำให้นางดีใจจนเนื้อเต้น ภิกษุณี! โอ! ภิกษุณี เราบวชเป็นภิกษุณีซิ จะได้อยู่ในบริเวณวัดเชตวันกับภิกษุณีทั้งหลาย และคงมีโอกาสได้อยู่ใกล้และพบเห็นพระคุณเจ้าอันเป็นที่รักของเราเป็นแน่แท้นางลานายไปเฝ้าพระศาสดา และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งนางแล้ว ประทานอนุญาตให้อุปสมบทอยู่ ณ สำนักแห่งภิกษุณีในวัดเชตวันนั่นเอง


                เมื่อบวชแล้วภิกษุณีรูปใหม่ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่องบ่นพระธรรมวินัย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยดี สำรวมอยู่ในสิกขาบทปาฏิโมกข์ มีสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุณีทั้งหลาย เป็นที่รักใคร่ชอบพอของภิกษุณีอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะนางเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตนและพอใจในวิเวกอีกด้วยถึงกระนั้นก็ตาม ทุกเวลาบ่ายเมื่อนางได้เห็นพระอานนท์ ขณะให้โอวาทแก่ภิกษุณีบริษัทความรัญจวนใจก็ยังเกิดขึ้นรบกวนนางอยู่มิเว้นวาย จะพยายามข่มด้วยอสุภกัมมัฏฐานสักเท่าใด ก็หาสงบราบคาบอย่างภิกษุณีอื่น ๆ ไม่คราวนี้นางได้ฟังโอวาทจากพระศาสดาเรื่องกิเลส ๓ ประการ คือ ราคะ โทสะ และโมหะพระพุทธองค์ตรัสว่า


                 “กิเลสทั้งสามประการนี้ย่อมเผาบุคคลผู้ยอมอยู่ใต้อำนาจของมันให้รุ่มร้อนกระวนกระวายเหมือนไฟเผาไหม้ท่อนไม้และแกลบให้แห้งเกรียม ข้อแตกต่างแห่งกิเลสทั้งสามประการนี้ก็คือ ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วยคลายช้าด้วย บุคคลซึ่งออกบวชแล้วประพฤติตนเป็นผู้ไม่มีเรือน เรียกว่าได้ชักกายออกห่างจากกามราคะ แต่ถ้าใจยังหมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามก็หาสำเร็จประโยชน์แห่งการบวชไม่ คือเขาไม่สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้ อุปมาเหมือนไม้สดชุ่มอยู่ด้วยยางแม้จะวางอยู่บนบก บุคคลผู้ต้องการไฟก็ไม่อาจนำมาสีให้เกิดไฟได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุ ภิกษุณีผู้ชักกายออกจากกามแล้ว ควรพยายามชักใจออกจากกามความเพลิดเพลินหลงใหลเสียด้วย”


                   นางได้ฟังพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ให้รู้สึกละอายใจตนเองสุดประมาณ ที่นางเข้ามาบวชก็มิได้มุ่งหมายเพื่อกำจัดทุกข์ให้สูญสิ้น หรือเพื่อทำลายกองตัณหาอะไรเลย แต่เพื่อให้มาอยู่ใกล้คนอันเป็นที่รัก คิดดูแล้วเหมือนนำน้ำมันมาวางไว้ใกล้เพลิง มันมีแต่จะลุกเป็นไฟกองมหึมาขึ้นสักวันหนึ่งเมื่อปรารภดังนี้ นางยิ่งกระวนกระวายใจมากขึ้น พระอานนท์หรือก็ไม่เคยทักทายปราศรัยเป็นส่วนตัวเลย การได้เห็นคนอันเป็นที่รักเป็นความสุขก็จริง แต่มันเล็กน้อยเกินไป เมื่อนำมาเทียบกับความทรมานในขณะที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ กาสาวพัสตร์เป็นกำแพงเหลืองมหึมาที่คอยกันมิให้ความรักเดินถึงกัน

                    ถึงกระนั้นก็ยังมีภิกษุและภิกษุณีบางท่านกระโดดข้ามกำแพงนี้ ล่วงละเมิดสิกขาบทวินัยของพระพุทธองค์จนได้ นางคิดมาถึงเรื่องนี้แล้วเสียวสันหลังวาบเหมือนถูกก้อนหิมะอันเยือกเย็นโดยไม่รู้สึกตัวมาก่อนนางพยายามสะกดใจมิให้คิดถึงพระอานนท์ พยายามท่องบ่นสาธยายพระธรรมวินัยแต่ทุกขณะจิตที่ว่างลง ดวงใจของนางก็จะคร่ำครวญรำพันถึงพระอานนท์อีก นางรู้สึกปวดศีรษะและวิงเวียน เพราะความคิดหมกมุ่นสับสนนี่เองกระมังที่พระอานนท์พูดไว้แต่วันแรกที่พบกันว่าความรักเป็นความร้าย
 

                   วันหนึ่ง นางชวนเพื่อนภิกษุณีรูปหนึ่งไปหาพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้มีอัธยาศัยงาม จึงต้อนรับนางด้วยเมตตาธรรม นางรู้สึกชุ่มชื่นขึ้นบ้างเหมือนข้าวกล้าที่จวนจะแห้งเกรียมเพราะขาดน้ำ ชุ่มชื่นขึ้นเพราะฝนผิดฤดูกาลหลั่งลงมา แต่เมื่อนางจะลากลับนั่นเอง พระอานนท์พูดว่า “น้องหญิง! ต่อไปเมื่อไม่มีธุระอะไรก็อย่ามาอีก ถ้ามีความสงสัยเกี่ยวกับข้อธรรมวินัยอันใด ก็ให้ถามเมื่ออาตมาไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อให้โอวาท”


คืนนั้นนางนอนร้องไห้ตลอดคืน น้อยใจเสียใจและเจ็บใจตนเอง “พระอานนท์หรือก็ช่างใจไม้ไส้ระกำเสียเต็มประดา จะเห็นแก่ความรักของเราบ้างก็ไม่มีเลย” นางยิ่งคิดยิ่งช้ำและน้อยใจ

ภิกษุณีผู้พักอยู่ ณ ที่ใกล้ ได้ยินเสียงสะอื้นในยามดึก จึงลุกมาหาด้วยความเป็นห่วงถามนางว่า
 

“โกกิลา! มีเรื่องอะไรหรือ?”


“เอ้อ, ไม่มีอะไรดอก สุมิตรา ข้าพเจ้าฝันร้ายไป รู้สึกตกใจมากจึงร้องไห้ออกมา ขอบใจมาก ที่ท่านเป็นห่วงข้าพเจ้า” นางตอบฝืนสีหน้าให้ชุ่มชื่นขึ้น


“พระศาสดาสอนเราว่าให้เจริญเมตตา แล้วจะไม่ฝันร้าย ท่านเจริญเมตตาหรือเปล่าก่อนนอนน่ะ” ภิกษุณีสุมิตราถามอย่างกันเอง

“อื้อ! เมื่อเจริญเมตตาแล้วจะไม่ฝันร้ายอย่างนั้นหรือ?"


“ใช่”


                 ก่อนนอนคืนนี้ ข้าพเจ้าลืมไป ท่านกลับไปนอนเถิด ข้าพเจ้าขออภัยด้วยที่ร้องไห้ดังไปจนท่านตื่น” เมื่อภิกษุณีสุมิตรากลับไปแล้ว ภิกษุณีโกกิลาก็คิดถึงชีวิตของตัว ชีวิตของนางเต็มไปด้วยความเป็นทาส เมื่อก่อนบวชก็เป็นทาสทางกาย พอปลีกจากทาสทางกายมาได้ก็มาตกเป็นทาสทางใจเข้าอีก แน่นอนทีเดียว ผู้ใดตกอยู่ในความรัก ดวงใจของผู้นั้นย่อมเป็นทาส ทาสของความรักทาสรักนั้นจะไม่มีใครสามารถช่วยปลดปล่อยได้ นอกจากเจ้าของดวงใจจะปลดปล่อยเอง นางหลับไปด้วยความอ่อนเพลียเมื่อจวนจะรุ่งสางอยู่แล้ว..

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0082011977831523 Mins