กับโกกิลาภิกษุณี

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2567

กับโกกิลาภิกษุณี

670813_b146.jpg


                 ในที่สุดเมื่อเห็นว่าจะสะกดใจไว้ไม่อยู่แน่แล้ว นางจึงตัดสินใจลาพระศาสดาพระอานนท์ และเพื่อนภิกษุณีอื่น ๆ จากวัดเชตวันเมืองสาวัตถี มุ่งหน้าสู่โฆสิตารามเมืองโกสัมพี ด้วยคิดว่า การอยู่ห่างอาจจะเป็นยารักษาโรครักได้บ้างกระมัง!นางจากเชตวันด้วยความอาลัยอาวรณ์เป็นที่ยิ่ง อุปมาเหมือนมารดาต้องจำใจจากบุตรสุดที่รักของตัวฉันใดก็ฉันนั้น นางอยู่จำพรรษา ณ โฆสิตาราม ซึ่งโฆสิตมหาเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธองค์ สามเดือนที่อยู่ห่างพระอานนท์ ดวงจิตของนางผ่องแผ้วแจ่มใสขึ้น การท่องบ่นสาธยายและการบำเพ็ญสมณธรรมก็ดีขึ้นตามไปด้วย นางคิดว่าคราวนี้คงตัดอาลัยในพระอานนท์ได้เป็นแน่แท้แต่ความรักย่อมมีวงจรของมันเอง จนกว่ารักนั้นจะสุดสิ้นลง ชีวิตมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ เมื่อใครคนหนึ่งพยายามดิ้นรนหาความรัก

 

                 เขามักจะไม่สมปรารถนาแต่พอเขาทำท่าจะหนีความรักก็ตามมา ความรักจึงมีลักษณะคล้ายเงา เมื่อบุคคลวิ่งตาม มันจะวิ่งหนี แต่เมื่อเขาวิ่งหนีมันจะวิ่งตามด้วยกฎอันนี้กระมัง เมื่อนางหนีรักออกจากเชตวันและมาสงบอยู่ ณ กรุงโกสัมพีนี้ เมื่อออกพรรษาแล้ว ข่าวการเสด็จสู่กรุงโกสัมพี่ของพระผู้มีพระภาคก็แพร่สะพัดมา ซึ่งเป็นการแน่นอนว่าพระอานนท์จะต้องตามเสด็จมาด้วยชาวโกสัมพี่ทราบข่าวนี้ด้วยความชื่นชมโสมนัส ภิกษุสงฆ์ต่างจัดแจงปัดกวาดเสนาสนะเตรียมพระคันธกุฏีที่ประทับของพระศาสดา พระเจ้าอุเทนเองซึ่งไม่ค่อยจะสนพระทัยในทางธรรมนัก ก็อดที่จะทรงปรีดาปราโมชมได้ เพราะถือกันว่า พระศาสดาเสด็จไป ณ ที่ใด ย่อมนำความสงบสุขและมงคลไปสู่ที่นั้นด้วย

 

                 การสนทนาเรื่องการเสด็จมาของพระศาสดามีอยู่ทุกหัวระแหงแห่งกรุงโกสัมพี ศาสดาคณาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ ก็เตรียมผูกปัญหาเพื่อทูลถาม บางท่านก็เตรียมถามเพื่อให้พระศาสดาจนในปัญหาของตน บางท่านก็เตรียมถามเพียงเพื่อเทียบเคียงความคิดเห็นเท่านั้น หมู่ภิกษุสงฆ์ปีติปราโมชเป็นอันมาก เพราะการเสด็จมาของพระศาสดาย่อมหมายถึงการได้ยินได้ฟังมธุรภาษิตจากพระองค์ด้วย และบางท่านอาจจะได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง เพราะธรรมเทศนานั้นใครจะทราบบ้างเล่าว่า ดวงใจของโกกิลาภิกษุณีจะเป็นประการใด เมื่อบ่ายวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุณีนำข่าวมาบอกนางว่า


“นี่ โกกิลา! ท่านทราบไหมว่าพระศาสดาจะเสด็จมาถึงนี่เร็ว ๆ นี้”


“อย่างนั้นหรือ?” นางมีอาการตื่นเต้นเต็มที


“เสด็จมาองค์เดียวหรืออย่างไร?”


“ไม่องค์เดียวดอก ใคร ๆ ก็รู้ว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาจะต้องมีพระเถระผู้ใหญ่มาด้วยหรืออาจจะมาสมทบทีหลังก็ได้ แต่ท่านที่ต้องตามเสด็จแน่คือพระอานนท์ พุทธอนุชา”


“พระอานนท์!” นางอุทาน พร้อมด้วยเอามือทาบอก


“ทำไมหรือ โกกิลา ดูท่านตื่นเต้นมากเหลือเกิน?” ภิกษุณีรูปนั้นถามอย่างสงสัย


“เปล่าดอก ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้เฝ้าพระศาสดาและฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ดีใจจนควบคุมตัวไม่ได้” นางตอบเลี่ยง


“ใคร ๆ เขาก็ดีใจกันทั้งนั้นแหละโกกิลา คราวนี้เราได้ฟังธรรมกถาอันลึกซึ้ง และได้ฟังมธุรภาษิตของพระมหาเถระเช่นพระสารีบุตร และพระมหากัสสปหรือพระอานนท์เป็นต้น” ภิกษุณีรูปนั้นกล่าว


                    วันที่รอคอยก็มาถึง พระศาสดา มีพระภิกษุสงฆ์อรหันต์หมู่ใหญ่แวดล้อมเสด็จถึงกรุงโกสัมพี พระราชาธิบดีอุเทนและเสนามหาอำมาตย์ พ่อค้าประชาชน สมณพราหมณาจารย์ ถวายการต้อนรับอย่างมโหฬารยิ่ง ก่อนถึงซุ้มประตูโฆสิตารามประมาณกึ่งโยชน์มีประชาชนจำนวนแสนคอยรับเสด็จ มรรคาดารดาษไปด้วยกลีบดอกไม้นานาพันธุ์หลากสีที่ประชาชนนำมาโปรยปรายเพื่อเป็นพุทธบูชาในบริเวณอารามก่อนเสด็จถึงพระคันธกุฎี มีภิกษุและภิกษุณีจำนวนมากรอรับเสด็จ ทุกท่านมีแววแห่งปีติปราโมช ถวายบังคมพระศาสดาด้วยความเคารพอันสูงสุด พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธองค์ด้วยกิริยาที่งดงาม มองดูน่าเลื่อมใส ทุกคนต่างชื่นชมพระศาสดาและพระอานนท์และผู้ที่ชื่นชมในพระอานนท์เป็นพิเศษ ก็เห็นจะเป็นโกกิลาภิกษุณีนั่นเองทันใดนางได้เห็นพระอานนท์ ความรักซึ่งสงบตัวอยู่ก็ฟังขึ้นมาอีก คราวนี้ดูเหมือนจะรุนแรงยิ่งกว่าคราวก่อน เพราะเป็นเวลาสามเดือนแล้วที่นางมิได้เห็นพระอานนท์

 

                    ความรักที่ทำท่าจะสงบลงนั้น มันเป็นเหมือนติณชาติซึ่งถูกริดรอน ณ เบื้องปลาย เมื่อขึ้นใหม่ย่อมขึ้นได้สวยกว่ามากกว่า และแผ่ขยายโตกว่า ฉะนั้นนางรีบกลับสู่ห้องของตน บัดนี้ ใจของนางเริ่มปั่นป่วนรวนเรอีกแล้ว จริงทีเดียว ในจักรวาลนี้ ไม่มีไฟอะไรร้อนแรงและดับยากเท่าไฟรัก ความรักเป็นความเรียกร้องของหัวใจ มนุษย์เราทำอะไรลงไปเพราะเหตุเพียงสองอย่างเท่านั้น คือเพราะหน้าที่อย่างหนึ่ง และเพราะความเรียกร้องของหัวใจอีกอย่างหนึ่ง ประการแรก แม้จะทำสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง มนุษย์ก็ไม่ค่อยจะเดือดร้อนเท่าใดนัก เพราะคนส่วนมากหาได้รักหน้าที่เท่ากับความสุขส่วนตัวไม่

 

                    แต่สิ่งที่หัวใจเรียกร้องนี่ซิ ถ้าไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถสนองได้ หัวใจจะร่ำร้องอยู่ตลอดเวลา มันจะทรมานไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของมัน หรือมนุษย์ผู้นั้นตายจากไปโกกิลาภิกษุณีกำลังต่อสู้กับสิ่งสองอย่างนี้อย่างน่าสงสาร หน้าที่ของนาง คือการทำลายความรักความใคร่ บัดนี้นางเป็นภิกษุณี มิใช่หญิงชาวบ้านธรรมดา นางจึงต้องพยายามกำจัดความรักความใคร่ระหว่างเพศให้หมดไป แต่หัวใจของนางกำลังเรียกร้องหาความรัก หน้าที่กับความเรียกร้องของหัวใจอย่างไหนจะแพ้จะชนะ ก็แล้วแต่ความเข้มแข็งของอำนาจฝ่ายสูงหรือฝ่ายต่ำผู้หญิงนั้นลงได้ทุ่มเทความรักให้แก่ใครแล้วก็มั่นคงเหนียวแน่นยิ่งนัก ยากที่จะถ่ายถอน และความรักที่ไม่มีทางสมปรารถนาเลยนั้น เป็นความปวดร้าวอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ดวงใจของเธอจะระบมบ่มหนอง

 

                    ในที่สุด ก็แตกสลายลงด้วยความชอกช้ำนั้น อนิจจา! โกกิลา แม้เธอจะรู้ว่าความรักของเธอไม่มีทางจะสมปรารถนาได้เลย แต่เธอก็ยังรักสุดที่จะหักห้ามและถ่ายถอนได้อีกคืนหนึ่งที่นางต้องกระวนกระวายรัญจวนจิตถึงพระอานนท์ นอนพลิกไปพลิกมานัยน์ตาเหม่อลอยอย่างไร้จุดหมาย นาน ๆ จึงจะจับนิ่งอยู่ที่เพดานหรือขอบหน้าต่าง นางรู้สึกว้าเหว่เหมือนอยู่ท่ามกลางป่าลึกเพียงคนเดียว ทำไมนางจึงว้าเหว่ ในเมื่อคืนนั้นเป็นคืนแรกที่พระศาสดาเสด็จมาถึง ราชามหาอำมาตย์และพ่อค้าคหบดีมากหลายมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนสายน้ำที่หลั่งไหลอยู่มิได้ขาดระยะ มันเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ผู้ชายน้อยคนมักจะเข้าใจและเห็นใจ
 

                    ภิกษุณีโกกิลาถอนสะอื้นเบา ๆ เมื่อเร่าร้อนและกลัดกลุ้มถึงที่สุด น้ำตาเท่านั้นที่จะช่วยบรรเทาความระทมขมขื่นลงได้บ้าง เพื่อนที่ดีในยามทุกข์สำหรับผู้หญิงก็คือน้ำตา ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอีกแล้วจะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจได้เท่าน้ำตา แม้มันจะหลั่งไหลจากขั้วหัวใจ แต่มันก็ช่วยบรรเทาความอึดอัดลงได้บ้างเนื่องจากผู้หญิงถือว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ตรงกันข้ามกับผู้ชาย ซึ่งมักจะเห็นว่าความรักเป็นเพียงบางส่วนของชีวิตเท่านั้น เมื่อเกิดความรัก ผู้หญิงจึงทุ่มเททั้งชีวิต และจิตใจให้แก่ความรักนั้น ทุ่มเทอย่างยอมเป็นทาส โกกิลาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในโลก เธอจะหลีกเลี่ยงความจริงในชีวิตหญิงไปได้อย่างไรพระดำรัสของพระศาสดาซึ่งทรงแสดงแก่พุทธบริษัทเมื่อสายัณห์ ยังคงแว่วอยู่ในโสตของนางพระองค์ตรัสว่า
 

                  “ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นเรื่องทรมาน และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพรากก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง” พระพุทธดำรัสนี้ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร แต่เธอจะพยายามหักห้ามใจมิให้คิดถึงพระอานนท์สักเท่าใดก็หาสำเร็จไม่ เธอตกเป็นทาสแห่งความรักแล้วอย่างหมดสิ้นหัวใจรุ่งขึ้นเวลาบ่าย นางเที่ยวเดินชมโน่นชมนี่ในบริเวณโฆสิตาราม เพื่อบรรเทาความกระวนกระวายกลัดกลุ้มรุ่มร้อน

 

                    เธอเดินมาหยุดยืนอยู่ริมสระซึ่งมีบัวบานสะพรั่ง รอบ ๆ สระมีม้านั่งทำด้วยไม้และมีพนักพิงอย่างสบาย เธอชอบมาเล่นบริเวณสระนี้เสมอ ๆ ดูดอกบัวดูแมลงซึ่งบินวนไปเวียนมาอยู่กลางสระ ลมพัดเฉื่อยฉิวหอบเอากลิ่นดอกบัวและกลิ่นน้ำคละเคล้ากันมาทำให้นางมีความแช่มชื่นขึ้นบ้าง ธรรมชาติเป็นสิ่งมีคุณค่าต่อชีวิต ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมักจะเป็นชีวิตที่ชื่นสุขเบาสบายยิ่ง มนุษย์ทอดทิ้งห่างเหินจากธรรมชาติมากเท่าใด เขาก็ยิ่งห่างความสุขออกไปทุกทีมากเท่านั้นขณะที่นางกำลังเพลินอยู่กับธรรมชาติอันสวยงาม และดูเหมือนความรุ่มร้อนจะลดลงได้บ้างนั้นเอง นางได้ยินเสียงเหมือนมีคนเดินอยู่เบื้องหลัง ทันทีที่นางเหลียวไปดู ภาพ ณ เบื้องหน้านางเข้ามาทำลายความสงบราบเรียบเสียโดยพลัน...

 

                    พระอานนท์และโฆสิตมหาเศรษฐีเจ้าของอารามนั่นเอง นางรู้สึกตะครั่นตะครอ มือและริมฝีปากของนางเริ่มสั่นน้อย ๆ เหมือนคนเริ่มจะจับไข้เมื่อพระอานนท์เข้ามาใกล้ นางถอยหลังไปนิดหนึ่งโดยมิได้สำนึกว่า เบื้องหลังของนาง ณ บัดนี้คือสระน้ำ บังเอิญเท้าข้างหนึ่งของนางเหยียบดินแข็งก้อนหนึ่ง นางเสียหลักและล้มลงพระอานนท์และโฆสิตมหาเศรษฐีตกตะลึงยืนนิ่งเหมือนรูปปั้นศิลา สักครู่หนึ่งจึงได้สติแต่ไม่ทราบจะช่วยนางประการใด นางเป็นภิกษุณีอันใคร ๆ จะถูกต้องมิได้ อย่าพูดถึงพระอานนท์เลย แม้โฆสิตมหาเศรษฐีเองก็ไม่กล้ายื่นมือประคองนางให้ลุกขึ้น นางพยายามช่วยตัวเองจนสามารถลุกขึ้นมาสำเร็จแล้วคุกเข่าลงเบื้องหน้าพระอานนท์ ก้มหน้านิ่งด้วยความละอาย
 

“น้องหญิง...”


                เสียงทุ้ม ๆ นุ่มนวลของพระอานนท์ปรากฏแก่โสตของนางเหมือนแว่วมาตามสายลมเสียงเรียบ ๆ แต่แฝงไว้ด้วยความห่วงใยของพระอานนท์ ได้เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจนางให้ชื่นบาน อะไรเล่าจะเป็นความชื่นใจของสตรีมากเท่ารู้สึกว่าชายที่ตนพะวงรักมีความห่วงใยในตน สตรีเป็นเพศที่จำความดีของผู้อื่นได้เก่งพอ ๆ กับการให้อภัย และลืมความผิดพลาดของชายอันตนรักเหมือนเด็กน้อย แม้จะถูกเฆี่ยนมาจนปวดร้าวไปทั้งตัว แต่พอมารดาผู้เพิ่งจะวางไม้เรียวแล้วหันมาปลอบด้วยคำอันอ่อนหวานสักครู่หนึ่ง และแถมด้วยขนมชิ้นน้อย ๆ บ้างเท่านั้น เด็กน้อยจะลืมเรื่องไม้เรียว กลับหันมาชื่นชมยินดีกับคำปลอบโยนและขนมชิ้นน้อย

 

                เขาจะซุกตัวเข้าสู่อ้อมอกของมารดาและกอดรัดเหมือนอาลัยอย่างที่สุด การให้อภัยคนที่ตนรักนั้นไม่มีที่สิ้นสุดในหัวใจของสตรี และบางทีก็เป็นเพราะธรรมชาติอันนี้ด้วย ที่ทำให้เธอชอกช้ำแล้วชอกช้ำอีก แต่มนุษย์ทั้งบุรุษและสตรีเป็นสัตว์โลกที่ไม่ค่อยจะรู้จักเข็ดหลาบ จึงต้องชอกช้ำด้วยกันอยู่เนือง ๆ นางช้อนสายตาขึ้นมองพระอานนท์แวบหนึ่งแล้วคงก้มหน้าต่อไป ไม่มีเสียงตอบจากนาง เหมือนมีอะไรมาจุกที่คอหอย นางพูดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าดีใจหรือเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
 

“น้องหญิง” เสียงพระอานนท์ถามขึ้นอีก “เธอเจ็บบ้างไหม? อาตมาเป็นห่วงว่าเธอจะเจ็บ”
 

“ไม่เป็นไร พระคุณเจ้า” เสียงตอบอย่างยากเย็นเต็มที่

 

“เธอมาอยู่นี่สบายดีหรือ?”

 

“พอทนได้ พระคุณเจ้า”
 

“แม่นางต้องการอะไรเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ขอให้บอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอปวารณาไว้”

 

ท่านเศรษฐีพูดขึ้นบ้าง แล้วพระอานนท์และโฆสิตเศรษฐีก็จากไปนางมองตามพระอานนท์ด้วยความรัญจวนพิศวาส นางรู้สึกเหมือนอยากให้หกล้มวันละห้าครั้ง ถ้าการหกล้มนั้นเป็นเพราะเธอได้เห็นพระอานนท์อันเป็นที่รัก นางเดินตามพระอานนท์ไปเหมือนถูกสะกด ความรักทำให้บุคคลทำสิ่งต่าง ๆ อย่างครึ่งหลับครึ่งตื่น ครู่หนึ่งนางจึงหยุดเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ แล้วเหลียวหลังกลับสู่ที่อยู่ของนางนางกลับสู่ภิกขุนปัสสยะที่พักของภิกษุณีด้วยหัวใจที่เศร้าหมอง ความอยากพบและอยากสนทนาด้วยพระอานนท์นั้นมีมากสุดประมาณ บุคคลเมื่อมีความปรารถนาอย่างรุนแรง ย่อมคิดหาอุบายเพื่อให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนานั้น เมื่อไม่ได้โดยอุบายที่ชอบก็พยายามทำโดยเล่ห์กลมารยาแล้วแต่ความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้โดยประการใด โดยเฉพาะความปรารถนาในเรื่องรักด้วยแล้วย่อมหันเหบิดเบือนใจของผู้ตกอยู่ภายใต้ อำนาจของมันให้กระทำได้ทุกอย่าง พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเมื่อใดความรักและความหลงครอบงำจิต เมื่อนั้นบุคคลก็มืดมน เสมือนคนตาบอดประตูเรียกนางปิดประตูกุฏินอนเหมือนคนเจ็บหนัก ภิกษุณีผู้อยู่ห้องติดกันได้ยินเสียงครางจึงเคาะ


“ท่านเป็นอะไรไปหรือ โกกิลา?” สุนันทาภิกษุณีถามด้วยความเป็นห่วง
 

“ไม่เป็นไรมากดอกสุนันทา ปวดศีรษะเล็กน้อย แต่ดูเหมือนจะมีอาการไข้ ตะครั่นตะครอเนื้อตัวหนักไปหมด” โกกิลาตอบ
 

“ฉันยาแล้วหรือ?”
 

“เรียบร้อยแล้ว”
 

“เอ้อ มีอะไรจะให้ข้าพเจ้าช่วยท่านบ้าง ไม่ต้องเกรงใจนะ ข้าพเจ้ายินดีเสมอ”
 

“มีธุระบางอย่าง ถ้าท่านเต็มใจจะช่วยเหลือก็พอทำได้” โกกิลาพูดมีแววแช่มชื่นขึ้น
 

“มีอะไรบอกมาเถิด ถ้าข้าพเจ้าพอช่วยได้ ก็ยินดี” สุนันทาตอบด้วยความจริงใจ
 

“ท่านรู้จักพระอานนท์มิใช่หรือ?”
 

“รู้ซิ โกกิลา พระอานนท์ใคร ๆ ก็ต้องรู้จักท่าน เว้นแต่ผู้ไม่รู้จักพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นท่านมีธุระที่พระอานนท์หรือ?”
 

                 “ถ้าไม่เป็นการลำบากแก่ท่าน ข้าพเจ้าอยากวานให้ท่านช่วยนิมนต์พระอานนท์มาที่นี่ข้าพเจ้าอยากฟังโอวาทท่าน เวลานี้ข้าพเจ้ากำลังป่วย ชีวิตเป็นของไม่แน่ พระพุทธองค์ตรัสไว้มิใช่หรือว่า ความแตกดับแห่งชีวิต ความเจ็บป่วย กาลเป็นที่ตาย สถานที่ทิ้งร่างกายและคติในสัมปรายภพเป็นสิ่งที่ไม่มีเครื่องหมายใคร ๆ รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอท่านอาศัยความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้าว่าโกกิลาภิกษุณีขอนมัสการท่านด้วยเศียรเกล้า เวลานี้นางป่วยไม่สามารถลุกขึ้นได้ ถ้าพระคุณเจ้าจะอาศัยความกรุณาไปเยี่ยมไข้ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่นางหาน้อยไม่เวลาบ่ายมากแล้ว ความอบอ้าวลดลง

 

                  บริเวณอารามซึ่งมีพันธุ์ไม้หลายหลากดูร่มรื่นยิ่งขึ้นนกเล็ก ๆ บนกิ่งไม้วิ่งไล่เล่นกันอย่างเพลิดเพลิน บางพวกร้องทักทายกันอย่างสนิทสนมและชื่นสุขดิรัจฉานเป็นสัตว์โลกที่มีความรู้น้อยและความสามารถน้อย มันมีความรู้ความสามารถเพียงแต่หากินและหลบหลีกภัยเฉพาะหน้า แต่ดูเหมือนมันจะมีความสุขยิ่งกว่ามนุษย์ ซึ่งถือตนว่าฉลาดและมีความสามารถเหนือสัตว์โลกทั้งมวล เป็นความจริงที่ว่า ความสุขนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจ มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหนและภาวะอย่างใดถ้าสามารถพอใจในภาวะนั้นได้ เขาก็มีความสุข คนยากจนหาเช้ากินค่ำ อาจจะมีความสุขกว่ามหาเศรษฐีหรือมหาราชผู้เร่าร้อนอยู่เสมอ เพราะความปรารถนาและทะยานอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด มนุษย์เราจะมีสติปัญญาฉลาดปานใดก็ตาม ถ้าได้เสียแล้วซึ่งปัญญาในการหาความสุขให้แก่ตนโดยทางที่ชอบ เขาผู้นั้นควรจะทะนงตนว่าฉลาดกว่าสัตว์ละหรือ? มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ความอยากความดิ้นรนออกหน้าแล้ววิ่งตาม

 

                  เหมือนวิ่งตามเงาของตนเองในเวลาบ่าย ยิ่งวิ่งตาม ก็ดูเหมือนเงาจะห่างตัวออกไปทุกที ทุกคนต้องการและมุ่งมั่นในความสุข แต่ความสุขก็เป็นเหมือนเงานั่นเอง ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสวงหาและมุ่งมอง หน้าที่โดยตรงที่มนุษย์ควรทำนั้นคือ การมองทุกข์ให้เห็น พร้อมทั้งตรวจสอบพิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น แล้วทำลายสาเหตุแห่งทุกข์เสีย โดยนัยนี้ ความสุขก็เกิดขึ้นเอง เหมือนผู้ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ประเทศชาติ ถ้าปราบเสี้ยนหนามและเรื่องร้ายในประเทศมิได้ ก็อย่าหวังเลยว่า ประเทศชาติจะเจริญและผาสุก หรือเหมือนผู้ปรารถนาสุขแก่ร่างกาย ถ้ายังกำจัดโรคในร่างกายมิได้ ความสุขกายจะมีได้อย่างไร แต่ถ้าร่างกายปราศจากโรค มีอนามัยดี ความสุขกายก็มีมาเอง ด้วยประการฉะนี้ปรัชญาเถรวาทจึงให้หลักเราไว้ว่า มองทุกข์ให้เห็นจึงเป็นสุข

 

                   อธิบายว่า เมื่อเห็นทุกข์ กำหนดรู้ทุกข์และค้นหาสมุฏฐานของทุกข์นั้นเสีย เหมือนหมอทำลายเชื้ออันเป็นสาเหตุแห่งโรค ยิ่งทุกข์ลดน้อยลงเท่าใด ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความทุกข์ที่ลดลงนั่นเองคือความสุข เหมือนทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าความสุขไม่มี มีแต่ความร้อนที่ลดลงถึงที่สุด ก็กลายเป็นความเย็นที่สุด ความสุขนั้นมีขึ้นตามขั้นแห่งความทุกข์ที่ลดลง คำสอนทางศาสนาเมื่อว่าโดยนัยหนึ่งจึงเป็นเรื่องของ ศิลปะแห่งการลดทุกข์นั่นเองพระอานนท์ได้รับคำบอกเล่าจากสุนันทาภิกษุณีแล้ว ให้รู้สึกเป็นห่วงกังวลถึงโกกิลาภิกษุณียิ่งนัก ท่านคิดว่า หรือจะเป็นเพราะนางหกล้มเมื่อบ่ายนี้กระมัง จึงเป็นเหตุให้นางป่วยลง อนิจจา โกกิลา เธอรักเรา เราหรือจะไม่รู้ แต่เธอมาหลงรักคนที่ไม่มีหัวใจจะรักเสียแล้ว เหมือนเด็กน้อยผู้ไม่ประสาต่อความตาย นั่งร่ำร้องเร่งเร้าขอคำตอบจากมารดาผู้นอนตายสนิทแล้ว ช่างน่าสงสารน่าสังเวชเสียนี่กระไร

 

                    ผู้หญิงมีความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ พระศาสดาจึงกีดกันหนักหนาในเบื้องแรกที่จะให้สตรีบวชในพระศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะพระมหากรุณาของพระองค์ที่ไม่ต้องการให้สตรีลำบากมีเรื่องเดียวเท่านั้นที่สตรีทนได้ดีกว่าบุรุษ นั่นคือการทนต่อความเจ็บปวดพระอานนท์มีพระรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะไปสู่สำนักภิกษุณีเพื่อเยี่ยมไข้ แต่เมื่อเห็นอาการไข้ของโกกิลาภิกษุณีแล้ว ความสงสารและกังวลของท่านก็ค่อย ๆ คลายตัวลง ความฉลาดอย่างเลิศล้ำของพระพุทธอนุชาแทงทะลุความรู้สึกและเคลัญญาการของนาง ท่านรู้สึกว่าท่านถูกหลอกท่านไม่เชื่อเลยว่านางจะเป็นไข้

 

“แต่เอาเถิด” พระอานนท์ปรารภกับตัวเอง

 

“โอกาสนี้เป็นโอกาสดีเหมือนกันที่จะแสดงบางอย่างให้นางทราบ เพื่อนางจะได้ละความพยายาม เลิกรัก เลิกหมกมุ่นในโลกีย์วิสัย หันมาทำความเพียรเพื่อละสิ่งที่ควรละ และเจริญสิ่งที่ควรทำให้เจริญ ให้เหมาะสมกับเพศภิกษุณีแห่งนาง คงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่นางไปตลอดกาลนาน และคงจะเป็นปฏิการอันประเสริฐสำหรับความรักของนางผู้ภักดีต่อเราตลอดมา”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0072325348854065 Mins