เพื่อนไม่ค่อยมีธรรมะ ทำให้เราไม่มีความสุข
โยม : มีปัญหากับกลุ่มเพื่อนมาโดยตลอด เพื่อนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีธรรมะทำให้เราไม่มีความสุข คิดฟุ้งซ่านไปหมด
พระอาจารย์ตอบ : เราควรพิจารณาตนเองก่อนว่า เราทำดีกับเพื่อนแล้วหรือยัง ถ้าเราทำดีแล้ว ทําไมเขาจึงยังไม่น่าดีตอบกลับมา ซึ่งการทำดีกับเพื่อนในที่นี้เพราะเราหวังให้เพื่อนเปิดใจยอมรับแล้วทำดีตอบแทน หรือเอ่ยค่านิยมชมชอบเราบ้าง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใหัหลัก "สังคหวัตถุ 4" มีข้อควรปฏิบัติ 4 ประการได้แก่
(1) ทาน
นำใจแบ่งปัน โดยไม่จําเป็นต้องเป็นของราคาแพงก็ได้
(2) ปิยวาจา
การพูดจาให้เกียรติ แสดงกริยาท่าทางอาการ สีหน้า และแววตาให้เกียรติผู้อื่น
(3) อัตถจริยา
ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนมีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็นำความรู้ความสามารถที่มีไปสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้อื่นด้วย พอเห็นเขามีการงานอะไรที่เราพอจะช่วยได้ ก็พยายามช่วยเหลือเขา เป็นต้น
(4) สมานัตตตา
วางตัวเหมาะสมกับฐานะ เช่น เราเป็นเด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นเพื่อน หรือเราเป็นหัวหน้า เรามีสถานภาพอย่างไร ก็ควรวางตัวให้เหมาะสมกับ
สถานภาพนั้น ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บางวันดี บางวันแย่ คนรอบข้างก็ไม่อยากเข้าใกล้
หากเราคิดว่าตนเองทำดีกับเพื่อนๆ แล้ว แต่เพื่อนๆ ไม่ทำดีตอบ ก่อนอื่นให้เราสำรวจตนเองก่อนว่า เราปฏิบัติต่อเขาครบทั้ง 4 ข้อ แล้วหรือไม่ ขาดเกินตรงจุดใดก็พยายามปรับปรุงแก้ไขให้พอดี
อีกเรื่องที่ควรพิจารณาให้มาก คือ การเลือกคบคน หากเพื่อนเป็นคนไม่ดี เช่น เพื่อนชวนกันไปกินเหล้า แล้วเราไม่อยากไป เอ่ยปากเตือนเขา เขาจึงไม่ชอบใจหงุดหงิดใส่เราอยู่เสมอ เพื่อนประเภทนี้ให้ปล่อยไป
ถ้าเราปฏิบัติตนให้ดี ไม่นานก็จะมีเพื่อนดีๆ เข้ามาหา อย่าไปทนคบเพื่อนไม่ดีเพราะจะนำพาเราให้เสียคนไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเราสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกข้อแล้ว โดยไม่ได้คิดเข้าข้างตนเองว่าดีแล้ว เพื่อนๆ ยังจะ
ไม่ชอบเราอีก ก็คงเป็นเพราะอายตนะต่างกัน จึงไม่ดึงดูดกัน
ถ้าเราอยากทำความดี อยากเป็นคนมีศีล แต่คบหาเพื่อนที่ชอบดื่มเหล้า เล่นไพ่ รังแกสัตว์อย่างนี้ไม่ชวนกันเจริญ เพื่อนประเภทนี้อย่าไปนึกเสียดาย คบหาใกล้ชิดมีแต่จะพาให้เราไปทางเสื่อม เราหันกลับมาหาตนเองให้ดีอยู่ในศีลธรรม ไม่นานก็จะมีคนดีๆ เข้ามาเป็นเพื่อนกับเรา
เจริญพร.