บทที่ ๗ สถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม

วันที่ 09 ตค. พ.ศ.2567

 

2567_10_09_b_02.jpg

 

บทที่ ๗

สถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม

 

2567_10_09_01.jpg



สถานที่เหมาะแก่ "การบรรลุธรรม"

      "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสถึงลักษณะของสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมไว้ใน "เสนาสนสูตร" ว่า

      “อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานกระทบน้อย”

จากข้อความข้างต้นนี้พอสรุปได้ ๔ ประเด็นหลัก ดังนี้

       ๑. ภูมิประเทศดี คือทำเลที่ตั้งของวัดต้องอยู่ไม่ไกลไม่ใกล้ชุมชน มีการเดินทางสะดวกทั้งทางในวัดและทางนอกวัด ซึ่งเป็นข้อดีในการเดินบิณฑบาตและการเดินทางในกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่นมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นต้น

        ๒. บรรยากาศสงบวิเวก คือ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อยไม่อึกทึก มีความสงบปลอดจากเสียงรบกวน

       ๓. สภาพแวดล้อมดี คือ มีความสะอาด เป็นระเบียบ และปลอดภัย จึงจะมีเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานกระทบน้อย โดยจะต้องดูแลไม่ให้มีมุมลับหรือมุมอับที่จะเป็นที่ซ่อนของแมลงสัตว์ร้ายมีการจัดข้าวของในวัดอย่างเป็นระเบียบ มีการดูแลสุขลักษณะด้านสถานที่และสุขอนามัยด้านความเป็นอยู่ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค หรือเป็นที่เพาะพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนูแมลงวัน เป็นต้น

       ๔. ภูมิอากาศดี คือ มี ลม แดด กระทบน้อย อากาศถ่ายเทดี อุณหภูมิพอเหมาะพอดีไม่ร้อน ไม่เย็นเกินไป ร่มรื่นสบายมีความสว่างไม่มืดครึ้มเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

       จากข้อสังเกตทั้ง ๔ ประเด็นนี้ ก็เป็นการยืนยันว่า การเลือกทำเลปฏิบัติธรรม หรือการดูแลวัดให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม คือ สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหากสิ่งแวดล้อมจากมภายนอก อันเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการบรรลุธรรมไม่ลงตัวก่อนแล้ว ความสงบใจภายในเป็นสมาธิย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย

       ดังนั้น การที่ใครจะได้สถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมอย่างนี้ขึ้นมาได้ จึงมีอยู่ ๒ ทาง

      ทางแรก คือ ออกแสวงหาไปตามสถานที่ต่างๆ จนกว่าแล้วลงมือสร้างวัดหรือสถานที่ จะพบทำเลที่เหมาะสมปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่

   ทางที่สอง คือ ดูแลวัดที่มีอยู่แล้วให้เป็นสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม โดยต้องเผยแผ่ความรู้ให้คณะสงฆ์ในวัดนั้น อีกทั้งชาวบ้านในชุมชนนั้น เกิดความเข้าใจเจตนาดั้งเดิมในการสร้างวัดว่า วัดคือสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม การรณรงค์ฟื้นฟูวัดให้เป็นสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมจึงจะประสบผลสําเร็จ

 

การเลือกสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญของการเลือกสถานที่ตรัสรู้อย่างมาก เพราะนั่น คือ สถานที่ที่จะประกาศธงรบกับอวิชชาอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งเป็นการรบกับหัวหน้ากิเลสในขั้นแตกหัก หากชัยภูมิไม่ดีจริง การรบกับกิเลสย่อมเท่ากับแพ้ตั้งแต่ยังไม่ลั่นกลองรบ แต่เพราะเมื่อพระองค์ทรงได้พบชัยภูมิที่ดีจริง นั่นคือ ณ "โคนไม้ศรีมหาโพธิ์" พระองค์จึงทรงได้สถานที่ เหมาะแก่การตรัสรู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ดังปรากฏใน "ปาสราสิสูตร" ดังนี้



"ปาสราสิสูตร"



    "ภิกษุ" ทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็น "กุศล" ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐ คือ ความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่าเมื่อเที่ยวจาริกไปใน "แคว้นมคธ" โดยลำดับ ได้ไปถึงตำบล "อุรุเวลาเสนานิคม" ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจมีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสายมีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ

     เราจึงคิดว่า 'ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์มีราวป่าเป็นที่น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร' เราจึงนั่ง ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า 'ที่นี่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร'

  เมื่อพระองค์ทรงได้สถานที่ตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงทรงทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันบำเพ็ญภาวนาตลอดราตรี และได้ตรัสรู้ธรรมมาตามลำดับๆ ดังปรากฏในโพธิราชกุมารสูตร ดังนี้



"โพธิราชกุมารสูตร"

ว่าด้วย "โพธิราชกุมาร"



      .....“ราชกุมาร อาตมภาพฉันอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจากกามและอกุศลธรรม ทั้งหลายแล้ว "บรรลุปฐมฌาน" ที่มี "วิตก วิจาร ปีติ และ สุข" อันเกิดจาก "วิเวก" อยู่

     เพราะ "วิตก วิจาร สงบระงับไป" "บรรลุทุติยฌาน" มีความผ่องใสใน ภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้นไม่มีวิตก ไม่มีวิจารมีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่

    เพราะ "ปีติ" จางคลายไป "มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ" เสวยสุขด้วยนามกาย "บรรลุตติยฌาน" ที่ "พระอริยะ" ทั้งหลายสรรเสริญว่า 'มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข'

   เพราะ "ละสุข และ ทุกข์ได้" เพราะ "โสมนัส และ โทมนัส" ดับไปก่อนแล้ว "บรรลุจตุตถฌาน" ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะ "อุเบกขา" อยู่

     เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งานตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้

    "อาตมภาพ" นั้นน้อมจิตไปเพื่อ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

    "อาตมภาพ" ได้ บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ใน "ปฐมยามแห่งราตรี" กำจัดอวิชชาได้แล้ววิชชาก็เกิดขึ้นกำจัดความมืดได้แล้วความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่

     เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้

   "อาตมภาพ" นั้นน้อมจิตไปเพื่อ "จุตูปปาตญาณ" เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ

   "อาตมภาพ" ได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ใน "มัชฌิมยามแห่งราตรี" กำจัดอวิชชาได้แล้ววิชชาก็เกิดขึ้นกำจัดความมืดได้แล้วความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่

     เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้

  อาตมภาพนั้นน้อมจิตไปเพื่อ "อาสวักขยญาณ" รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า 'นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา'

   เมื่ออาตมภาพรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจาก "กามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ" เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า 'หลุดพ้นแล้ว' รู้ชัดว่า 'ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป'

  "ราชกุมาร" อาตมภาพบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ใน "ปัจฉิมยามแห่งราตรี" กำจัด "อวิชชา" ได้แล้ววิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่

ข้อสังเกตจากพระสูตรนี้ ก็คือ

  ๑. "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงบำเพ็ญภาวนารวดเดียว ตั้งแต่หัวค่ำาจนถึงรุ่งสว่างโดยไม่ลุกขึ้นไปที่ใดเลย เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า สถานที่ตรัสรู้ธรรม นั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการบรรลุธรรม

  ๒. การที่ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสถึงลักษณะของสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมไว้ใน "เสนาสนสูตร" นั้น เท่ากับเป็นการยืนยันว่า บรรยากาศของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ต้องเป็นบรรยากาศเดียวกับโคนไม้ศรีมหาโพธิ์ ในวันตรัสรู้ของพระองค์

   ๓. บรรยากาศที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมภายในวัดนั้น ต้องเป็นบรรยากาศที่ สงัดจากกาม และ ไม่ชักชวน ให้เกิดอกุศลธรรม ขึ้นในใจ จึงจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย เพราะไม่มีสิ่งยั่วเย้าจากภายนอกมากระตุ้น ข้อนี้เอง จึงเป็นที่มาของประเพณีการแบ่งเขตหญิงชาย และ การแต่งชุดขาวมาปฏิบัติธรรมที่วัด ซึ่งหลายๆวัดได้สืบปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้

 

การเลือกทำเลสร้างวัดในสมัยพุทธกาล

   จากเหตุผลดังกล่าว มาในข้างต้น ทำให้พบหลักฐาน ที่ตรงกันหลายแห่งในพระไตรปิฎกว่า เมื่อถึงคราวสร้างวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดในแว่นแคว้นใดก็ตาม จะต้องเลือกทำเล ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเหมือนกัน นั่นคือ

  “อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานกระทบน้อย”

   ดังปรากฏในเรื่องราวหลายเหตุการณ์ใน "พระไตรปิฎก" ดังนี้


   ๑. "พระเจ้าพิมพิสาร" ถวาย "อุทยานเวฬุวัน" ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา



"พิมพิสารสมาคมกถา"



    ครั้งนั้น "พระผู้มีพระภาค" ได้เสด็จไปยัง "พระราชนิเวศน์" ของ "พระเจ้าพิมพิสาร" "จอมทัพมคธรัฐ" ครั้นถึง แล้วจึงประทับนั่งบน "อาสนะ" ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วย "ภิกษุสงฆ์" ขณะนั้น "พระเจ้าพิมพิสาร" จอมทัพมคธรัฐ ทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มี "พระพุทธเจ้า" เป็นประมุขด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงประทับนั่ง ณ ที่สมควร

     "ท้าวเธอ" ทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคควรประทับที่ไหนหนอ ที่แห่งใดอยู่ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านนักคมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์จึงเข้าเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนสงัด เสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่กระทำกรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น”

      จึงมีพระราชดำริว่า “อุทยานเวฬุวัน ของเรานี้ ไม่ไกลและไม่ใกล้ จากหมู่บ้านนัก คมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์จึงเข้าเฝ้าได้กลางวันไม่พลุกพล่านกลางคืนสงัดเสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่ กระทำกรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น อย่ากระนั้นเลย เราจึงถวายอุทยานเวฬุวันแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข”

       แล้วทรงจับ "พระสุวรรณภิงคาร" หลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยพระราชดำรัสว่า “หม่อมฉันขอถวายอุทยานเวฬุวันนั้นแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขพระพุทธเจ้าข้า”

       "พระผู้มีพระภาค" ทรงรับอารามแล้วทรงชี้แจงให้ "พระเจ้าพิมพิสาร" จอมทัพมคธรัฐ เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชะโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับเสด็จกลับ ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนั้นเป็นต้นเหตุรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม”

    ๒. อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันถวายเป็นวัดแห่งแรกใน "แคว้นโกศล"



"เสนาสนขันธกะ"



        สมัยนั้น "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" เป็นคนมีมิตรมาก มีสหายมาก ประชาชนเชื่อถือคำพูด ครั้น "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ทำธุระใน "กรุงราชคฤห์" เสร็จแล้วก็เดินทางกลับไป "กรุงสาวัตถี" ระหว่างทางก็ได้ชวนคนทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันสร้างอาราม สร้างวิหาร เตรียมทาน เวลานี้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว และข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้วพระองค์จะเสด็จมาที่นี้

        ครั้งนั้น คนทั้งหลายที่ "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ชักชวนไว้ได้พากันสร้างอาราม สร้างวิหารเตรียมทาน

        ครั้น "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ถึง "กรุงสาวัตถี" เที่ยวตรวจดูรอบๆ กรุงสาวัตถีคิดว่า 'พระผู้มีพระภาคควรประทับที่ไหนดีซึ่งไม่ไกลหมู่บ้านเกินไปไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป การคมนาคมสะดวกผู้อยากจะเข้าเฝ้าไปมาได้ง่าย กลางวันคนไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงรบกวนน้อย ไม่มีเสียงอึกทึกไร้ผู้คน เป็นสถานที่พวกมนุษย์จะทำกิจที่ลับได้เป็นสถานที่เหมาะแก่การหลีกเร้น'

      "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ได้เห็น "พระอุทยานพระเจ้าเชตราชกุมาร" เป็นสถานที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเกินไป ไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป การคมนาคมสะดวก ผู้อยากจะเข้าเฝ้า ไปมาได้ง่าย กลางวันไพลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงรบกวนน้อยไม่มีเสียงอึกทึก ไร้ผู้คน เป็นสถานที่พวกมนุษย์จะทำกิจลับได้เป็นสถานที่เหมาะแก่การหลีกเร้น ครั้นแล้วจึงเข้าเฝ้า "พระเชตราชกุมาร" ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูล "เจ้าเชตราชกุมาร" ดังนี้ว่า

       'พระลูกเจ้า ขอพระองค์ทรงโปรดประทานพระอุทยานแก่กระหม่อมเพื่อจะจัดสร้างพระอารามเถิดพระเจ้าข้า'

       "เจ้าเชตราชกุมาร" รับสั่งว่า 'คหบดี ถึงใช้ "กหาปณะ" มาเรียงให้ริมจดกันเราก็ให้อุทยานไม่ได้'

       "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ทูลถามว่า 'พระลูกเจ้าพระองค์ขายอุทยานแล้วหรือพระเจ้าข้า'

       "พระเชตราชกุมาร" รับสั่งว่าเรายังไม่ได้ขายอุทยาน

       "เชตราชกุมาร กับ อนาถบิณฑิกคหบดี" ถามพวก "มหาอำมาตย์" ผู้พิพากษาว่า

       “อุทยานเป็นอันขายแล้วหรือยังไม่ได้ขาย”

        พวก "มหาอำมาตย์" ตอบว่า 'พระลูกเจ้า เพราะพระองค์ตีราคาแล้ว อุทยานจึงเป็นอันขายแล้ว'

      จากนั้น "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" สั่งให้คนงานนำเกวียนบรรทุกเงินออกมา เรียงลาดให้ริมจดกันในเซตะวันเงินที่ขนออกมาครั้งเดียวยังไม่เพียงพอแก่พื้นที่อีกหน่อยหนึ่งใกล้ซุ้มประตู "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" จึงสั่งพวกคนงานว่าพวกท่านจงไปขนเงินมาเราจะเรียงให้เต็มในที่นี้

      ขณะนั้น "พระเชตราชกุมาร" ได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า 'การกระทำนี้ไม่ใช่ของต่ำต้อย เพราะ "คหบดี" นี้บริจาคเงินมากมายถึงเพียงนี้' ลำดับนั้น "เจ้าเชตราชกุมาร" รับสั่งกับ "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ว่า “พอเถอะ ท่าน "คหบดี" ที่ว่างตรงนั้นท่านอย่าลาดเงินเลย ให้โอกาสแก่เราบ้าง ส่วนนี้ข้าพเจ้าจะขอร่วมถวายด้วย”

     ครั้งนั้น "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ดำริว่า 'เจ้าเชตราชกุมารพระองค์นี้ ทรงเรืองพระนาม ประชาชนรู้จัก ความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ ของผู้ที่ประชาชนรู้จักเช่นนี้ มีประโยชน์มาก' จึงได้ถวายที่ว่างนั้นแก่ "เจ้าเชตราชกุมาร" ลำดับนั้น "เจ้าเชตราชกุมาร" รับสั่งให้สร้างซุ้มประตูที่ตรงนั้น”

    ต่อมา "ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี" ได้สร้างวิหารไว้หลายหลังใน "เชตวัน" สร้างบริเวณ สร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี สร้างวัจจกุฎี สร้างสถานที่จงกรม สร้างศาลาจงกรม ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ สร้างศาลาเรือนไฟขุดสร้างโบกขรณีสร้างมณฑป

   
  ๓. "หมอชีวก" ถวายสวนมะม่วงให้เป็น "วัดอัมพวัน"



"อรรถกถาสามัญญผลสูตร"



    "หมอชีวก" นี้ สมัยหนึ่ง ทำให้พระวรกายของ "พระผู้มีพระภาคเจ้า" ซึ่งหมักหมมด้วยโรค ให้หายเป็นปรกติ แล้วถวายผ้าคู่หนึ่งซึ่งทอจาก "แคว้นสีพี"

     "พระพุทธองค์" ทรงอนุโมทนา เวลาอนุโมทนา การถวายผ้าจบลง "หมอชีวก" ตั้งอยู่ใน "โสดาปัตติผล" แล้วจึงคิดว่า

   เราควรจะไปเฝ้าดูแล "พระพุทธเจ้า" วันละ ๒-๓ ครั้งก็ "เขาคิชฌกูฏ" นี้ และ "พระวิหารเวฬุวัน" อยู่ไกลเหลือเกิน แต่ "สวนอัมพวัน" ของเราใกล้กว่า อย่ากระนั้นเลย เราจะสร้างวิหารถวายแด่ "พระผู้มีพระภาคเจ้า" ใน "สวนอัมพวัน" ของเรานี้

    "หมอชีวก" นั้นจึงสร้างที่อยู่ กลางคืนที่อยู่กลางวัน ที่พัก "กุฎี และ มณฑป" เป็นต้น แล้วให้สร้าง "พระคันธกุฎี" ที่สมควรแด่ "พระผู้มีพระภาคเจ้า" ใน "สวนอัมพวัน" นั้น ให้สร้างกำแพง มีสีเหมือนผ้าแดง สูง ๑๘ ศอก ล้อม "สวนอัมพวัน" เลี้ยงดู "ภิกษุสงฆ์" มี "พระพุทธเจ้า" เป็นประธาน ด้วยจีวรและภัตตาหาร ได้ "หลั่งน้ำทักษิโณทก" มอบถวายสวน "อัมพวัน" เป็นพระวิหารแล้ว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022047519683838 Mins