เรื่องของโอโม กล่องที่4: สอบชิงทุน
ในระดับประถมผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ซึ่งมีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก(อนุบาล) จนถึงชั้น ป.7 ทุกชั้นปีที่เรียนผมเป็นหัวหน้าห้องตลอด ยกเว้นชั้นเด็กเล็กที่ไม่น่าจะมีหัวหน้าห้อง ช่วงชั้น ป.1- ป.4 ผมอยู่ห้อง ค. เวลากลางวันจะมีรถขายอาหารเข็นผ่านมา หัวหน้าห้อง ป.4 ค. มีหน้าที่ลงไปประจำที่รถเข็นของแม่ค้า ครูที่อยู่ที่ห้องพักครูชั้น2 ซึ่งเป็นมุขยื่นมาตรงหน้าอาคาร จะชะโงกหน้าออกมาพร้อมเพื่อนๆครูคนอื่น แล้วถามว่าวันนี้มีอะไรบ้าง เราก็จะรายงานไปว่ามีกับข้าวอะไรบ้าง ขนมหวานมีอะไร ครูก็จะสั่งลงมา แม้ค้าก็ตักใส่ถุง เราจ่ายตังค์แล้วนำอาหารขึ้นไปที่ห้องพักครู เป็นอันจบหน้าที่หัวหน้าห้องช่วงกลางวัน
ช่วง ป.4 นี้เองจะมีการสอบชิงทุนของจังหวัด โดยส่วนตัวเราก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พี่ชายคือพี่ฑูรย์ก็เชียร์จัง จนเราต้องไปสมัครสอบโดยชวน วิชชุ(บี้)เพื่อนสนิท ไปสมัครสอบด้วย พ่อของบี้ทำงานรถไฟเช่นเดียวกับพ่อเรา บ้านก็อยู่ใกล้กัน ตกลงโรงเรียนเรามีตัวแทนไปสอบ 2 คน ครูอุดมซึ่งเป็นครูใหญ่เลยฝากฝังให้ครูประสิทธิ์ช่วยติวให้ ในส่วนของครูประสิทธิ์แล้ว สามีท่านก็ทำงานรถไฟ บ้านก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก ที่บ้านครูประสิทธิ์จะเปิดเป็นร้านโชห่วย แถมมีที่รับสอนพิเศษด้วย แต่ผมกับบี้ไปเรียนฟรีเพราะครูใหญ่ฝากมา วิชาที่จะใช้สอบเท่าที่จำได้ก็แนว สังคม-ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง -ศีลธรรม ซึ่งไม่มีในหลักสูตรสมัยนี้แล้ว อีกวิชาที่สอบคือคณิตศาสตร์หรือวิชาเลขที่เราเรียก
ถึงวันสอบ มีผู้เข้าสอบมาจากอำเภอต่างๆรวมทั้งเรากับบี้ เท่ากับ 20 คน แอบไปหาข้อมูลแต่ละคนว่าในการสอบแต่ละเทอมที่ผ่านมาได้กันกี่% ส่วนใหญ่ก็เฉียด 90 หรือไม่ก็ 90% กว่า อันตัวเราก็ 80 ปลายๆ การสอบจะสอบเฉพาะช่วงเช้า ข้อสอบที่ยังจำได้ถึงทุกวันนี้คือวิชาเลข มีข้อหนึ่งถามว่า ถ้าสร้างบ้านแบบนี้ๆ มีห้องอะไรบ้าง กว้างยาวเท่าไหร่ จะใช้กระเบื้องขนาดเท่านี้มุงหลังคา ต้องใช้กระเบื้องกี่แผ่น ดูง่ายใช่ไหมสำหรับผู้ใหญ่ แต่เด็ก ป.4 อย่างเราก็เอาการอยู่ ต้องคำนวณหาพื้นที่หลังคาทั้งหมดมารวมกัน หารด้วยพื้นที่ต่อแผ่นของกระเบื้องก็จะได้คำตอบ สอบเสร็จภาคเช้าก็เดินกลับบ้านกัน มาช่วงบ่ายมีคนมาแจ้งข่าวว่า โมสอบได้ที่ 1ได้รับทุนของจังหวัด พ่อสุนทรดีใจมาก เจอใครถ้ามีเราอยู่ด้วยก็จะแนะนำว่าโมสอบได้ที่ 1 ของจังหวัด ได้ทุนจังหวัดปีนี้นะ เราก็ดีใจอย่างน้อยก็มีเรื่องให้พ่อปลื้มใจ
ทุนอันนี้ก็แปลกดีเป็นทุนของกระทรวงศึกษาธิการ สอบทีเดียวได้รับทุนไปเลย 6 ปี ปีละ 600 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดๆละ 300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยคือเฉลี่ยเราได้เงินทุนใช้เดือนละ 50 บาท ในขณะที่พ่อเราให้เงินไปโรงเรียนเป็นรายสัปดาห์ๆละ 10 บาท (เดือนละ 40 บาท)เป็นแบ็งค์ 10 สีน้ำตาล ที่เรียบกริบ หอมหมึกพิมพ์ เพราะเป็นแบ็งค์ใหม่จากเงินเดือนของพ่อ จำได้ว่าก๋วยเตี๋ยวที่โรงเรียนตอนอยู่ ป.7 ชามละ 1บาท มีเส้น มีถั่วงอก มีลูกชิ้น2ลูก ราดด้วยน้ำซุป
ผมรับทุนที่อุตรดิตถ์ถึงชั้น ป.7 พ่อสุนทรก็มาเสีย เลยต้องย้ายมาสอบเข้าเรียนที่สุรศักดิ์มนตรี ที่กรุงเทพ ทุนก็โอนตามมา ต้องไปรับที่กระทรวงศึกษาธิการ อีก 3 ปี จนจบ ชั้น ม.ศ.3
ที่นี้เด็กต่างจังหวัดพักอยู่แถวเกษตร รู้จักแต่รถเมล์สาย 29 รังสิต-สนามหลวง วิ่งเส้นถนนวิภาวดีรังสิต ก็ต้องมาศึกษาเส้นทางที่จะไปรับทุนที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องนั่งรถสาย 92 หน้าโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นำชีวิตมาตั้งต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามสูตรของเด็กต่างจังหวัด มาค้นคว้าว่ารถเมล์สายไหนผ่านถนนราชดำเนินนอก อันเป็นที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการบ้าง พบว่าสายที่ผ่าน และสะดวกน่าสนใจคือสาย 201 ก็เลยได้ใช้บริการ ไปรับทุนที่กระทรวงได้สำเร็จ กระทรวงจะมีรั้วเป็นกำแพงใหญ่มีด้านบนเป็นรูปใบเสมา เพราะสถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของวังมาก่อน วังที่จะมีใบเสมาที่กำแพงแบบนี้ต้องเป็นวังที่ประทับของเจ้านายระดับเจ้าฟ้าขึ้นไป และที่นี้ รัชกาลที่ 5 ท่านทรงสร้างวังพระราชทานแก่รัชกาลที่ 6 สมัยครองพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช การสร้างวังยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ท่านก็มาสร้างต่อจนเสร็จ แต่ไม่ได้เสด็จมาประทับ ท่านพระราชทานให้ใช้เป็นที่ทำงานของหน่วยงานราชการ จนมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน กระทรวงนี้จึงมีชื่อเล่นว่า กระทรวงเสมา
จากการมากับรถเมล์สาย201ทำให้รู้ว่า รถผ่านไปสนามหลวงด้วย ความบันเทิงก็เกิดขึ้น สมัยนั้นบางช่วงมีการเรียนแบบแบ่งเป็นภาคเช้าภาคบ่าย เราเรียนภาคเช้า เที่ยงก็กลับบ้านได้ ทีนี้บ่ายวันเสาร์แบบที่กลับบ้านเลยก็ไม่กลับ ชวนกันไปอนุสาวรีย์ชัย กินก๋วยเตี๋ยวเรือ แล้วไปตลาดนัดสนามหลวง(ซึ่งต่อมาภายหลังตลาดนัดถูกย้ายมาที่สวนจตุจักร) เดินเที่ยว ชิม ช็อป จนอ่อนล้า ก็เข้าไปนั่งเล่นที่วัดพระแก้ว ก็ทำเช่นนี้ประจำ นี่เป็นผลจากการไปรับทุนที่กระทรวง