จดหมายมาราธอน

วันที่ 27 มีค. พ.ศ.2568

10c27-3-68.jpg

เรื่องของโอโม กล่องที่ 11 : จดหมายมาราธอน

                 ที่ผ่านมามีหนังไทยเรื่องไปรษณีย์ 4โลก ซึ่งพระเอกเป็นบุรุษไปรษณีย์ มีบทสนทนาตอนหนึ่งที่พูดคุยกับป้าท่านหนึ่งที่เค้าอาศัยอยู่ด้วย ป้าลุกไปหยิบกล่องสังกะสีสี่เหลี่ยมแบบกล่องคุ๊กกี้ที่เก็บจดหมายเก่าไว้ในนั้นมาให้ดู แล้วพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาทำให้พระเอกได้หยุดคิด ประโยคนั้นก็คือ "โทรศัพท์น่ะมันก็ไวดี แต่ข้อความในจดหมายเนี่ย อย่างไงมันก็อยู่ในนั้น ถึงหมึกมันจะซีด แต่ว่าความทรงจำมันชัดเจน" อย่าว่าแต่พระเอกจะหยุดคิดเลย ผู้ช่วยพระเอกอย่างเราก็หยุดคิดเหมือนกัน เพราะมีประสบการณ์เรื่องราวเกี่ยวกับจดหมายไม่น้อยเลย

 

                   เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว ในสมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ยังไม่มี Line สิ่งที่สื่อสารได้ดีที่สุดขณะนั้นคือจดหมาย หากมีเรื่องด่วนก็โทรเลขซึ่งคนปัจจุบันไม่รู้จักแล้ว ในส่วนของจดหมายผมได้มีประสบการณ์อย่างต่อเนื่องโดยมี 3 คนที่ผมเขียนถึง

 

                   คนที่ 1 คือ ครูอรพรรณ เป็นครูฝึกสอนจากวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ มาฝึกสอนที่ชั้น ป.5 หลังจากฝึกสอนเสร็จ ผมก็ได้ติดต่อกับครูทางจดหมาย จนครูจบการศึกษากลับไปสอนที่ลำปาง ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนของครอบครัว ผมเขียนจดหมายถึงครูอยู่หลายปี

 

                    คนที่ 2 คือเพื่อนที่เรียนชั้นม.ปลายที่สุรศักดิ์มนตรี ผมเรียกชื่อเล่นว่า อัจ หลังจบ ม.ปลายแล้ว อัจไปเรียนที่ มศว.บางแสน ผมเรียนที่รามคำแหง ก็เขียนจดหมายติดต่อกันอยู่หลายปี

 

                     คนที่ 3 เป็นคนที่เขียนจดหมายถึงกันยาวนานมาราธอนที่สุดคือเป็นช่วงเวลาประมาณ 40 เกือบ 50 ปี เป็นเพื่อนเรียนตอนประถมปลาย ชื่อเล่นว่า ต้อย ตอนเรียนก็ไม่สนิทกันเท่าไหร่ เพราะตอนโรงเรียนเลิกทุกวัน ที่บ้านต้อยซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเขียนที่ใหญ่ที่สุดในอุตรดิตถ์ ในขณะนั้น จะส่งคนขี่มอเตอร์ไซด์มารับกลับบ้านเลย เลยไม่ค่อยได้เล่นกันเหมือนเพื่อนๆคนอื่น อีกเรื่องหนึ่งการเรียนเราสอบได้ที่ 1ประจำ ส่วนต้อยได้ประมาณที่ 3-4 ก็คิดว่าต้อยคงไม่ค่อยชอบเราเท่าไหร่ มาภายหลังได้คุยกัน ต้อยบอกว่าไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย กลับชื่นชมว่าเรียนเก่งจัง เป็นสมัยนี้เรียกว่าเป็นไอดอล เลย

 

                     อีกเรื่องที่จำไม่ได้ทั้งคู่ว่าทำไมถึงเขียนจดหมายถึงกัน แล้วทำไมผมถึงเขียนส่งไปที่โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิง จดหมายส่วนใหญ่จะถูกเซ็นเซ่อร์ โดยอาจารย์ฝ่ายปกครอง แต่ก็แปลก ต้อยเล่าว่าจดหมายที่เราส่งถึงต้อยไม่ถูกเซ็นเซอร์เลย อาจจะเป็นเพราะต้อยเรียนดีและนิสัยดีก็ได้

 

                       เราเขียนจดหมายถึงกันตั้งแต่ ม.ศ.1 เมื่อต้อยจบ ม.ศ.5 ก็ไปต่อที่คณะบัญชี ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จดหมายของเราจะเขียนเล่ากันทุกสิ่งอย่าง อารมณ์สมัยนี้ก็เหมือนโทรศัพท์คุยกัน มีช่วงหนึ่ง ต้อยเล่าว่ามีคนมาจีบแล้ว เป็นเพื่อนของเพื่อนอยู่ต่างมหาวิทยาลัย

 

                      เมื่อจบจากเชียงใหม่แล้ว ต้อยมาทำงานที่ธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพ มีวันหนึ่งมีธุระที่ผ่านไปทางนั้นและเป็นวันเกิดต้อยด้วย เลยได้นัดเจอกันที่ชั้น 1ของธนาคาร ได้เจอกันเป็นครั้งแรกหลังจากจบ ป.7 มา ต้อยหน้าตาคล้ายเดิม ต่างจากเป็นเด็กมาเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น

 

                       หลังจากนั้นต้อยก็แต่งงาน เมื่อมีลูกสาวคนแรก ต้อยก็ลาออกจากธนาคารมาดูแลลูกโดยเฉพาะ แล้วก็มีลูกสาวคนที่ 2 คนที่ 3 ตามมา เป็นสามสาว สามใบเถา ต้อยดูแลดีมาก ทั้งไปรับ ทั้งไปส่งที่โรงเรียน อาหารการกิน และสิ่งที่จะมีแม่น้อยคนได้ทำคือ ต้อยเหมือนกับจะเรียนกับลูกไปด้วย มีการออกข้อสอบให้ลูกทำ ก่อนที่จะไปสอบจริงที่โรงเรียน ผลสำเร็จสุดท้ายของต้อยคือ ลูกสาวคนโต จบสถาปัตย์จุฬา ลูกสาวคนกลาง และคนเล็ก จบแพทย์ศิริราชทั้งคู่

 

                        ต้อยได้พาครอบครัวมาร่วมงานบุญที่วัดตั้งแต่เด็กๆยังเล็ก ได้มีโอกาสเห็นหลานๆจากเด็กๆจนจบมหาวิทยาลัย

 

                         แม้ปัจจุบัน เรามีโทรศัพท์มือถือ มี Line ที่เราสามารถที่จะติดต่อกันได้ตลอดเวลา แต่ไม่กี่ปีมานี้เราก็ยังเขียนจดหมายคุยกันบ้างเป็นบางครั้ง ดูเหมือนเป็นงานอดิเรกของเราไปแล้ว มานั่งนึกดูเราเขียนจดหมายคุยกันระยะเวลากว่า 40 กว่าปี เป็นจดหมายมาราธอนจริงๆ

 

1c27-3-68.jpg

 

2c27-3-68.jpg

 

3c27-3-68.jpg

 

4c27-3-68.jpg

 

5c27-3-68.jpg

 

6c27-3-68.jpg

 

7c27-3-68.jpg

 

 

8c27-3-68.jpg9c27-3-68.jpg

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.055903466542562 Mins