ไม่ฝึกจิตเพราะไม่เห็นทุกข์

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2568

15-7-68_5b%281%29.png

ไม่ฝึกจิตเพราะไม่เห็นทุกข์

 

ปรับกาย

               เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ

 

               ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ

 

               หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

ปรับใจ

               แล้วทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ

 

               แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้นปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เหมือนลูกโป่งที่เราเป่าลมเข้าไป เป็นที่โล่งๆว่างๆ กลวงภายใน คล้ายท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

วางใจ

               คราวนี้ เราก็นึกน้อมใจของเรากลับมาหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจําง่ายๆ ว่าอยู่ที่บริเวณกลางท้องของเรา ให้ทำความรู้จักว่า ศูนย์กลางกายอยู่กลางท้องเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ

 

ทางมรรคผลนิพพาน

               นักเรียนใหม่จะต้องจำตรงนี้เอาไว้ให้ดี เพราะ ฐานที่ ๗ นี้เป็นที่ตั้งของใจอย่างถาวรและสำคัญมาก นอกเหนือจากเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นแล้ว ยังเป็นทางไปสู่อายตนนิพพานที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเสด็จไปทางนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของท่าน ของเราก็ต้องฐานที่ ๗ เช่นกัน ท่านเสด็จไปสู่อายตนนิพพาน หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายก็เพราะเริ่มต้นที่ฐานนี้ ซึ่งทำให้ท่านได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว

 

               เมื่อใจของท่านหยุดนิ่งได้สนิท ก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายในเข้าถึงกายในกาย

 

               เริ่มจากกายมนุษย์หยาบ ก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด

               กายทิพย์หยาบ-กายทิพย์ละเอียด

               กายรูปพรหมหยาบ-กายรูปพรหมละเอียด

               กายอรูปพรหมหยาบ-กายอรูปพรหมละเอียด

               กายธรรมโคตรภูหยาบ-กายธรรมโคตรภูละเอียด

               กายธรรมพระโสดาบันหยาบ-กายธรรมพระโสดาบันละเอียด

               กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ-กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด

               กายธรรมพระอนาคามีหยาบ-กายธรรมพระอนาคามีละเอียด

               กายธรรมพระอรหัตหยาบ-กายธรรมพระอรหัตละเอียด

 

 

               จนกระทั่งได้ตรัสรู้ด้วยกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากายทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของท่านและของทุกๆ คน ท่านเริ่มจากตรงนี้ด้วยวิธีหยุดนิ่งอย่างเดียว

 

               เมื่อใจละความผูกพันใดๆ ในโลก ในภพภูมิทั้งหลาย ในคนในสัตว์ ในสิ่งของ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ท่านปลด ท่านปล่อยท่านวางหมดแล้ว ใจก็ไม่ติดอะไร ไม่ผูกพันกับอะไร ก็จะนิ่งๆ อยู่ภายในตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอถูกส่วนก็จะเคลื่อนเข้าไปตกศูนย์ แล้วก็มีดวงธรรมลอยขึ้นมาเกิดในกลางกายท่าน อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้นหรือโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย หรือใสกว่านั้น อย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำหรือเหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้า

 

               นั่นคือจุดเริ่มต้น เมื่อได้เข้าถึงดวงธรรมดวงแรก ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค คือหนทางเบื้องต้นของอริยมรรค ทางของพระอริยเจ้าทางสายกลางภายใน ซึ่งเป็นทางที่สงบสงัดจากบาปอกุศลธรรมเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ บางทีก็เรียกว่า วิสุทธิมรรค เป็นทางหลุดพ้น บางทีก็เรียกว่า วิมุตติมรรค แล้วก็เข้าถึงกายในกายตามลำดับ

 

               เมื่อท่านได้รู้แล้ว เห็นแล้ว พ้นแล้ว จากกิเลสอาสวะที่เข้ามาบังคับบัญชา เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็นำความรู้นี้มาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้รับทราบกันว่าภายในตัวมีสิ่งนี้ ท่านบรรลุอย่างไร ท่านก็บอกอย่างนั้นว่า

 

               มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ อยู่ในตัว โดยเริ่มต้นจากการฝึกใจให้หยุดนิ่ง แต่ปกติใจไม่ค่อยจะหยุดนิ่ง เพราะไปติดในรูป เสียงกลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ท่านก็สอนให้เห็นความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่เป็นสาระแก่นสารไปผูกพันไปหมกมุ่นมัวเมาก็ไม่เกิดประโยชน์ แถมเกิดโทษ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งสามบ่อยๆ วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

 

               การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ มีทั้งทุกข์ประจำและทุกข์ที่จรมาแปลว่า มีทุกข์ทุกวันที่อยู่กันไปอย่างนั้นจนกระทั่งชาชิน ทุกข์บางอย่างถ้ามากก็เห็นชัดเจน หรือบางอย่างก็ชาชินกันไป แต่ทั้งหมดพื้นฐานของชีวิตเป็นทุกข์เมื่อใจหมกมุ่นพัวพันกับสิ่งเหล่านั้นเพราะว่าทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมและกฏไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็จะพร่ำสอนอย่างนี้เพื่อให้คลายความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่น

 

               มื่อเข้าใจความจริงอย่างนี้ ผู้มีบุญ มีดวงปัญญาเข้าใจก็จะคลายความผูกพัน คลายความยึดมั่นในคน สัตว์ สิ่งของ หรือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูได้กลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยกาย หรือคิดด้วยใจเหล่านั้น ให้คลายลง พอคลายไปไม่ผูกพัน ใจก็มาหยุดนิ่งตรงนี้จะคลายคือต้องเห็นทุกข์เห็นโทษจริงๆ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายอย่างสุดขีด พอเบื่อหน่ายก็คลาย นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ หลุดพ้น วิสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ สันติ นิ่ง หยุดในหยุดอย่างเดียว นิพพานก็ไปสู่อายตนนิพพานได้ มีขั้นมีตอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นตัวสําเร็จ เป็นภารกิจที่สำคัญที่เราจะต้องฝึกฝนกัน

 

เหตุที่คนเราไม่ฝึกจิต

               แต่ที่เราไม่ฝึกฝนการหยุดนิ่ง เพราะเราไม่เห็นทุกข์โทษของชีวิตกับสิ่งที่เราไปผูกพันหมกมุ่น ไม่เห็นเพราะไม่ได้ศึกษา หรือศึกษาแล้วไม่ได้นำมาใคร่ครวญพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ คือพิจารณาอย่างจริงจัง เหมือนนักวิทยาศาสตร์มาค้นคว้าเพื่อให้แจ่มแจ้ง เพื่อให้เข้าใจ พอแจ่มแจ้งแล้ว เราก็จะเบื่อหน่ายอย่างสุดขีด เราขาดตรงนี้กัน เพราะมัวแต่ไปทำมาหากิน กับสนุกสนานเพลิดเพลินในสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลิน ที่ได้เห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรสสัมผัส อะไรต่างๆ เหล่านั้น จนหมดเวลาของชีวิต

 

               เพราะเราไม่ได้ไปพิจารณาไปศึกษาอย่างแท้จริง เราขาดตรงนี้กัน แต่ถ้าเราได้พิจารณาแล้วจะเกิดอาการเหมือนกัน คือเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เบื่อหน่าย หรือถ้าบุญเก่าตามมาเตือน เราก็จะเบื่อบ้างอยากบ้าง เบื่อๆ อยากๆมันก็ไม่คลายตัวจริงจากสิ่งเหล่านั้น

 

               กับไม่เห็นอานิสงส์หรือประโยชน์ของการฝึกใจหยุดนิ่งพลอยเข้าใจผิดคิดว่า คนที่หยุดนิ่งคือคนที่เกียจคร้าน ไม่สู้โลกไม่สู้ชีวิต เอาเปรียบสังคมอะไรกันไปอย่างนั้น หรือเสียเวลาทํามาหากิน จึงมีคำว่า ไม่มีเวลาสําหรับการฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพราะไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นความสำคัญ และไม่เห็นทุกข์โทษภัยของชีวิต

 

               คําสอนของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเราไปศึกษาดูจะเห็นว่า ท่านชี้ให้เห็นโทษของชีวิต ในคน สัตว์ สิ่งของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ กระทั่งถึงกฎแห่งกรรมว่า

 

               การกระทําทั้งปวงนี้ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนแต่มีวิบากทั้งสิ้น ซึ่งทำให้วนเวียนเสียเวลาอยู่ในภพและท่านชี้อานิสงส์ของการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ตั้งแต่จะได้ความสุขที่แท้จริงเมื่อใจหยุดนิ่ง เป็นความสุขที่แตกต่างจากที่เราเคยเจอและจะหาได้จากเพียงประการเดียวคือหยุดนิ่ง โดยมีบาลีรับรองว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุข์ หยุดนิ่งเป็นบรมสุข

 

               ทีนี้ เราไม่รู้จักบรมสุขตรงนี้ เพราะเราไม่เคยหยุดนิ่งเลยถ้าหยุดนิ่งเมื่อไร ก็จะมีบรมสุข ได้เข้าถึงสุข สุขอื่นยิ่งกว่าหยุดนิ่งไม่มี ไม่มีก็แปลว่าไม่มี ให้หาจนตลอดชีวิตก็ไม่มี จากทรัพย์ก็ดีจากสิ่งของก็ดี จากเรื่องเพศ เรื่องยาเสพติด น้ำเมา เป็นต้น ไม่มีหาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ หมดเวลาของชีวิตไปเปล่าๆ แต่หยุดนิ่งประหยัดสุด ประโยชน์สูง

 

               ประการแรก จะได้ความสุขอย่างแท้จริง ความสุขที่แท้จริงที่ได้นี้จะดึงดูดให้เราอยากจะอยู่กับความสุขตรงนี้นานๆ จนก้าวเข้าไปถึงความรู้ภายใน เห็นไปตามลำดับ เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราที่เรียกว่าเห็นไปตามความเป็นจริง บางครั้งเราก็ได้ยินว่าเห็นด้วยปัญญา ปกติเราจะรู้ด้วยปัญญา แต่นี่เห็นด้วยปัญญาแปลว่าเห็นแล้วจึงรู้ เห็นแจ้งแล้วจึงรู้

 

               ที่เห็นแจ้งเพราะว่า ใจหยุดนิ่งมันสว่าง พอสว่างเกิดขึ้นก็ทําให้เกิดการมองเห็น ดวงตาภายในก็เกิดการเห็น สว่างถึงไหนก็เห็นถึงนั่น เห็นถึงไหนก็รู้ถึงนั่น สว่างจนกระทั่งเห็นว่า มีดวงธรรมอยู่ในตัว มีกายภายในอยู่ในตัว มีพระธรรมกายอยู่ในตัว

 

               พระธรรมกาย คือ กายที่ประกอบไปด้วยธรรมล้วนๆ หรือหมวดหมู่แห่งธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ล้วนๆ รู้ด้วยว่าเป็นกายที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริงเพราะเป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เข้าถึงแล้วอบอุ่นใจ ปลอดภัย มีความสุขมีความเข้าใจรอบรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต มีธัมมจักขุมีญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

 

               เพราะฉะนั้น จึงแจ่มแจ้งในโลกทั้งหลาย ในชีวิตทั้งปวงเมื่อแจ่มแจ้งแล้วก็ไม่ผูกพันยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด จะมีแต่พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และพระรัตนตรัยจะพาข้ามพ้นฝั่งวัฏฏะไปสู่ฝั่งนิพพานได้

 

               ลูกทุกคนผู้มีบุญได้มาประชุมพร้อมกันในทุกๆ วันอาทิตย์ ก็เพื่อจะมาปฏิบัติธรรม มาฝึกใจให้หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นกรณียกิจ เป็นกิจที่ควรทํา เป็นงานที่แท้จริงของชีวิต ในพรรษาแห่งการบรรลุธรรม ก็ขอให้ลูกทุกคนตั้งใจฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง

 

บริกรรมนิมิต

               สําหรับนักเรียนใหม่ สมาชิกใหม่ก็ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เพื่อเป็นจุดเชื่อมใจของเรากับศูนย์กลางกายและท่านผู้รู้ภายใน

 

               กําหนด คือ นึกภาพทางใจว่าที่กลางท้องของเรามีดวงแก้วใสๆ เหมือนเพชร หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งแต่ว่าขนาดใหญ่ กลมรอบตัว ไม่ได้เจียระไนเป็นเหลี่ยม กลมๆ ใสๆ นึกอย่างเบาๆ สบายๆ คล้ายๆ เรานึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวในอากาศ คล้ายๆ พระจันทร์วันเพ็ญ นึกถึงดวงใสๆ ให้คล้ายกับนึกถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศอย่างนั้น นึกอย่างสบายๆ นึกได้แค่ไหน เราก็เอาแค่นั้นไปก่อน

 

บริกรรมภาวนา

               ประคองใจให้หยุดนิ่ง ไม่ซัดส่าย ไม่คิดเรื่องราวอื่นๆ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยไม่ใช้กำลังในการภาวนา เหมือนเสียงสวดมนต์ที่เราคุ้นเคยในใจ แต่ให้ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา ภาวนาว่าสัมมาอะระหังอย่างนี้เรื่อยไป จะกี่ครั้งก็ได้แต่ทุกครั้งจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสควบคู่กันไปอย่างนี้ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดนิ่งเฉยๆ เพราะรู้สึกสบายกว่า ชอบมากกว่า เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่

 

               ให้รักษาใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้ใส อย่างนี้เรื่อยไป แล้วถ้ามีปรากฏการณ์หรือมีภาพอะไรให้ดู เราก็ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น มีความมืดให้ดู เราก็ดูความมืดไปความมืดแปรเปลี่ยนไปเป็นสีม่วงบ้าง สีเทาบ้าง เราก็ดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งความสว่างเกิดขึ้นเหมือนฟ้าสางๆ เราก็ดูไป เหมือนดูทิวทัศน์ข้างทางเมื่อเรานั่งรถไป ดูไปอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นอย่างที่มันอยากจะเป็นไปปล่อยนิ่งๆ หยุดกับนิ่งอย่างเดียวเรื่อยไปเลย ให้ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น อย่าทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้

 

               เมื่อเห็นภาพดวงใสก็ดี องค์พระก็ดี กายภายในก็ดี อย่าลิงโลดใจ อย่าตื่นเต้นจนเกินงาม เกินดี ให้ทำเฉยๆ แม้ไม่เห็นอะไรก็อย่าท้อใจ ให้นิ่งเรื่อยไป หยุดกับนิ่งจะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว

 

               เพราะฉะนั้น อย่ากลัวว่า เราทำไม่ได้ ไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวถ้าเราทําถูกหลักวิชชา และมีความเพียรดังที่ได้แนะนำไปแล้วจะต้องเข้าถึงกันทุกคนไม่มีเว้นแม้แต่เพียงคนเดียว ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างนี้ มีสติ สบาย สม่ำเสมอ แล้วก็หมั่นสังเกตเมื่อออกจากสมาธิแล้ว อีกทั้งต้องสมัครใจ มีฉันทะในการฝึก เดี่ยวเราก็จะสมความปรารถนากันนะลูกนะ

 

               เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ จนกว่าจะถึงเวลาสว่างที่เราจะได้พร้อมใจกันประกอบพิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน แด่ภิกษุสามเณรผู้ประพฤติธรรมกัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.076610863208771 Mins