การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีล ข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทย (ตอนที่ ๓)

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2547


 

โดย พระมหาสำรวย ญาณสํวโร (พินดอน) พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๒

 

.....สิ่งหนึ่งที่ปรากฏและเห็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนั้นคือ ลัทธิบริโภคนิยม ชีวิตของคนในสังคม การบริโภคจะอยู่ภายใต้การควบคุมของนักโฆษณาและสื่อสารมวลชนต่าง ๆ นักโฆษณา เป็นผู้คิดค้นตัณหา เป็นนักสร้างตำนานเรื่องราวให้กับสินค้าหรือกระตุ้นตัณหาและมีสื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นนักกระพือข่าว หรือกระพือตัณหา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นการสร้างกระแสแห่งความอยากความต้องการให้เกิดมีขึ้น จึงกลายเป็นกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่จะชักจูงโน้มน้าวจิตใจของคนในสังคมบริโภค ให้อยากมีและอยากเป็น และโดยส่วนมากแล้วก็กลายเป็นเห็นดีเห็นงามด้วย และที่สุดก็กลายเป็นค่านิยม ซึ่งเป็นไปในเชิงบวกก็มีเชิงลบก็มาก สิ่งเป็นของคู่กับการโฆษณา ก็คือสื่อ หรือสื่อสารมวลชน ที่มีทั้งคุณและโทษในขณะเดียวกัน หากนำไปใช้ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรหรือใช้โดยไม่พิจารณาถึงสภาพของบุคคลและสถานที่ย่อมก่อให้เกิดโทษมหันต์ สามารถสร้างและทำลายไปพร้อม ๆ กันได้

สิ่งแวดล้อมทางสังคม เป็นเสมือนห่วงโซ่ที่ร้อยรวมธรรมชาติ และมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และอาจเป็นปฐมเหตุของปัญหามนุษย์อย่างหนึ่งได้ เพราะสิ่งแวดล้อมมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกอารมณ์ และนิสัยใจคอ ตลอดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ในทางพระพุทธศาสนา ทรงเปรียบเทียบว่าตัวเรานี้ อยู่ตรงกลาง คือเป็นศูนย์กลางที่ต้องถูกแวดล้อมโดยสังคมมนุษย์ ทุกคนจึงต้องมีความสัมพันธ์ผูกพันกันเป็นนิจ ด้วยฐานะสภาวะต่าง ๆ กันทางสังคม แม้จะมีฐานะทางสังคมที่ต่างกัน และสิ่งแวดล้อมที่สังคมต้องการได้แก่ กัลยาณมิตร เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความอบอุ่น ความเป็นกันเอง ความมิตรสัมพันธ์อันถือว่า เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทและมีอิทธิพลที่สำคัญที่สุด ในบรรดาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย

จากการวิจัย นักสังคมวิทยาอธิบายไว้ กล่าวถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น อันได้แก่ ความไม่มีกัลยาณมิตร และการไม่มีการพิจารณาโดยแยบคาย ด้วยวิธีคิดโดยแยบยลด้วยตนเอง ซึ่งจักทำให้เห็นผลกระทบโดยตรง และโดยอ้อม จากเหตุแห่งนานาปัญหา ดังเช่น ความเชื่อและการยึดติดกับค่านิยมต่าง ๆ เป็นต้น

แรงจูงใจ เป็นสาเหตุหรือเป็นมูลเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง ที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพกายและจิต ปัญหาครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ และปัญหาสังคมโดยรวม

ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อสังคมไทยโดยรวม สรุปเป็น ๓ ประเด็นได้ ดังนี้

ปัญหา หมายถึง สถานการณ์ที่กำหนดไว้ว่า เป็นข้อขัดข้องที่จะต้องแก้ไข เอาชนะหรือปรับตัวตาม ตัวปัญหานี้เป็นเหตุเกิด หรือบ่อเกิดแห่งทุกข์

ผลกระทบ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งบวกและลบ คือเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และไม่พึงปรารถนา

ในการวิจัยนี้ ผลกระทบ หมายถึง ผลที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่ได้รับอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยที่เป็นไปในทางลบ คือไม่พึงประสงค์ จากการเสพสุราเมรัยและของเมา ที่ส่งผลต่อสังคมโดยตรงและโดยอ้อมในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเป็นผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งผลเสียหายแก่ประโยชน์ของชาติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับชั้น

ดังนั้นปัญหาและผลกระทบ หมายถึง สภาพที่ทนได้ยาก หรือสภาวะที่บีบคั้นเป็นข้อบกพร่อง ไม่ให้ความพึงพอใจและไม่มีแก่นสารแท้จริง ผลที่เกิดขึ้นเป็นความเดือนร้อนของสังคม และเป็นมูลเครื่องชี้วัดให้ทราบถึงสภาวะของสังคมในยุคนั้นเป็นอย่างดี

มักพบว่า สาเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เพราะเนื่องจากการเสพสุราเป็นต้นเหตุ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วมาจากสาเหตุต่อไปนี้

๑. ความเชื่อและความคิด โดยเชื่อว่า ช่วยเจริญอาหารจากการที่แอลกอฮอล์เข้าไปช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างน้ำย่อย จึงทำให้อยากอาหาร หรือเชื่อว่า เป็นเครื่องช่วยบำรุงความรู้สึกทางเพศ จึงทำให้จิตใจเข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก จนทำให้เกิดความผิดพลาดง่าย

๒. สภาพแวดล้อมและพื้นเพทางสังคม สภาพทางเศรษฐกิจ ที่ประสบความทุกข์ยากจนขัดสน จึงหันมาดื่มสุรา โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องปลอบใจ คลายวิตกกังวล หรือลืมความทุกข์ยากนั้น ๆ

๓. ค่านิยมของท้องถิ่นที่กล่าวว่า เป็นลูกผู้ชายต้องดื่มเหล้า และงานเลี้ยงต้องมีสุราเป็นเครื่องดื่มในการสังสรรค์

ผลกระทบ อันเกิดจากปัญหาที่เนื่องมาจากการเสพสุราเมรัยและของเมา เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญของครอบครัว และสังคม เพราะสถาบันนี้เป็นหลักของสังคมโลกนี้ ได้แก่

ผลกระทบต่อตนเอง

๑. ทำให้ครอบครัวแตกสลาย ขาดที่พึ่ง ไม่มีผู้นำ หรือชี้ทางที่ถูกที่ควรให้

๒. ทำให้ครอบครัวขาดวินัยในการครองเรือน โดยเฉพาะความไม่รู้หน้าที่ของกันและกัน เป็นส่วนสำคัญ

๓. ทำให้ครอบครัวขาดปัจจัย ๔ หลักสำหรับการดำรงชีพ หรือประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี

๔. ทำให้ครอบครัวล่มสลาย เพราะการมีค่านิยมที่ผิด ๆ ในเรื่องการเสพสุรายาเสพย์ติด และที่สุดกลายเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหลาย ก็เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันแรกของมนุษย์ทุกคน สังคมไม่ดี จึงผลสะท้อนออกมาเป็นความเดือดรอนทุกข์ยากของสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ยังมีกรอบแนวความคิดของประเด็นวิจัย ที่ทำให้เห็นผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมที่เกิดขึ้น ได้แก่

๑. ขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องสุราเมรัยและของเมา เป็นต้น

๒. การมีพฤติกรรมการเสพสุรา หรือการเลียนแบบ

๓. การให้คุณค่า หรือการมองประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากสุรายาเสพย์ติดในทางที่ผิด เนื่องจากความเชื่อและความหลงผิด

ความคิดทั้ง ๓ ประเด็นนี้ ทำให้มองเห็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะความสัมพันธ์สำคัญ ๓ ประการดังนี้ คือ คน สุราเมรัยและของเมา และสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทและมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกและพฤติกรรมของคนที่เป็นผลกระทบอันส่งผลอยู่ในปัจจุบัน

โดยสรุปผลกระทบต่อตนเองนั้นคือ สติปัญญาเสื่อมถอย ทำให้เสียสุขภาพกายและจิต เสียทรัพย์ เกิดโรคและเสียชื่อเสียง ที่สำคัญที่สุดทำให้หมดความละอาย หมดความเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วทั้งปวง

ผู้เสพของเมาเป็นนิตย์ เมื่อตายไป ย่อมมีนรกภูมิ เปรตภูมิ และเดรัจฉานภูมิ เป็นที่หวังได้ โทษอย่างเบาที่สุด แม้เมื่อได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็กลายเป็นคนบ้า

อ้างอิง สำรวย ญาณสํวโร, ( พินดอน) พระมหา, การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทย , วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

 

 

สุมินต์ตรา


 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0077372670173645 Mins