ความถูกต้องของ “วันมหาปวารณา” และ “วันออกพรรษา”

วันที่ 30 ตค. พ.ศ.2547

ความถูกต้องของ

“วันมหาปวารณา” และ “วันออกพรรษา”

ความถูกต้องของ “วันมหาปวารณา” และ “วันออกพรรษา”

      ในปฏิทินของเมืองไทย ที่บอกชาวโลกว่า “ เมืองไทยเมืองพุทธ” นั้น แต่ยังมีความสับสนในเรื่องวันสำคัญ ๒ วันในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา นั่นคือ ในปฏิทินมักระบุว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันออกพรรษา อย่างเช่นในปีนี้ก็จะเขียนว่า วันที่ ๒๘ ตุลาคม เป็นวันออกพรรษา ซึ่งไม่ถูกต้อง

      ที่ถูกคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันมหาปวารณาของพระภิกษุ ส่วนวันออกพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นปีนี้ “ วันมหาปวารณา” ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ส่วน “ วันออกพรรษา” ต้องตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม
 

ความเป็นมาของ “ วันมหาปวารณา”

ความเป็นมาของ “ วันมหาปวารณา”

      วันมหาปวารณา เป็นวันสุดท้ายของการเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะต้องประชุม ทำปวารณากันในโบสถ์ และต้องอยู่จำพรรษาที่อารามนั้นๆ อีก ๑ คืน จนกระทั่งรุ่งอรุณของวันใหม่ จึงได้ชื่อว่า สิ้นสุดการเข้าพรรษา หรือออกพรรษาที่แท้จริง ทั้งนี้คนในปัจจุบันสับสน เพราะคนทำปฏิทินสับสนและเข้าใจผิด

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หรือ ยอมมอบตนให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อให้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญในพระธรรมวินัย และความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน

      ที่มา คือ ครั้งหนึ่ง ภิกษุจำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาไม่พูดกัน ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระศาสดา พระองค์ทราบความแล้ว ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือการอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ โดยภิกษุจำพรรษาแล้วปวารณาด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. โดยได้เห็น ๒. โดยได้ยิน ได้ฟัง ๓. โดยสงสัย ( ปวารณาขันธกะ วิ. ม. สมันตาปาสาทิกา มก. ๖/ ๕๖๘ , มจ. ๔/ ๓๓๑)
 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำปวารณาต่อหมู่สงฆ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำปวารณาต่อหมู่สงฆ์

      น่าสังเกตว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วยังมีการทำปวารณาซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นว่า การทำปวารณาของสงฆ์นั้น เป็นสิ่งจำเป็นทั้งระดับบุคคลและหมู่สงฆ์ ดังนี้

      คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระศาสดาประทับอยู่กับพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เพื่อจะทรงทำปวารณา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่ พระสารีบุตรทูลตอบปฏิเสธ จากนั้นพระสารีบุตรก็กล่าวปวารณาให้พระศาสดาติเตียนท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวปฏิเสธ เพราะพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก พระสารีบุตรทูลถามอีกว่า พระองค์จะไม่กล่าวติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจา ของเหล่าภิกษุบ้างหรือ พระองค์กล่าวปฏิเสธ เพราะเหล่าภิกษุนี้ได้บรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ได้อุภโตภาควิมุตติ และได้ปัญญาวิมุตติเป็นพระอรหันต์ ( ปวารณาสูตรสัง. ส. วังคีสสังยุต มก. ๒๕/ ๓๒๕, มจ. ๑๕/ ๓๑๒)
 

 อานิสงส์การอยู่จำพรรษา

อานิสงส์การอยู่จำพรรษา

      ส่วนเมื่อออกพรรษาแล้ว นั่นหมายถึง พระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ย่อมได้อานิสงส์พรรษา ๕ ข้อ คือ

๑.เที่ยวไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา

๒.ไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ

๓.ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นกลุ่มได้)

๔.ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา และ

๕. จีวรที่สาธุชนถวายมานั้น สามารถรับเป็นของตนได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องส่งเข้ากองกลางให้เป็นของสงฆ์ (วิ.ม. มก.๗/๑๙๓, มจ.๕/๑๔๕)

      ด้วยอานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ทำให้เกิดความสะดวกในการบำเพ็ญสมณะธรรมอย่างมาก เพราะช่วง ๓ เดือนในพรรษา เป็นเสมือนการศึกษาภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติโดยมีอุปัชฌาย์อาจารย์คอยดูแลชี้แนะข้อบกพร่อง เมื่อออกพรรษาจึงต่างแยกย้ายกันหาที่สงัดสงบและวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมให้เข้มข้นด้วยตนเอง อีก ๙ เดือน ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันใหม่พรรษาหน้า เพื่อเช็คสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและรับการชี้แนะต่อไป
 

 เทโวโรหนะ “ วันพุทธเจ้าเปิดโลก”

เทโวโรหนะ “ วันพุทธเจ้าเปิดโลก”

      ในวันออกพรรษาชาวไทยมี “ ประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลกของพระศาสดา มีเรื่องราวบันทึกในพระไตรปิฎกเช่นกัน ( ขุ. ธ. พุทธวรรค มก. ๔๒/ ๓๑๖, มจ. ๒๕/ ๘๙)

      เหตุการณ์ในวันนั้น คือ “ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้พุทธานุภาพเปิดโลก” เริ่มจากเมฆที่มีมากมายหายไป ท้องฟ้าเริ่มเปิดออก มีลำแสงฉัพพรรณรังสีพุ่งออกมา ท้องฟ้ากลวงเข้าไป เหมือนไม่มีท้องฟ้า ท้องฟ้าเปิดจนมอง เห็นสวรรค์ ในลำแสงนั้นก็จะเห็นเหล่าทวยเทพทั้งหลายในภพ ๓ เต็ม ไปหมดเลย ยกเว้นอรูปพรหม ๔ ชั้น และอสัญญีสัตตาพรหม หรือพรหมรูปฟัก ที่ไม่ได้มา นอกนั้นมาหมดเลย

      ท้าวมหาราชทั้ง ๔ พร้อมด้วย นาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ โดยเฉพาะคนธรรพ์จะร้องรำทำเพลง ประโคม ดนตรีตลอด เวลา พลุสวรรค์หลากสี ดังเป็นเสียงดนตรีสวรรค์ ดอกไม้ทิพย์สวยสดงดงาม หอมฟุ้ง ตลบอบอวลไป ทั่วบริเวณสองข้างทาง ก็เต็มไปด้วยทวยเทพทุกชั้น เทพอัปสร เรียงกันลงมาเป็นกระบวน ถัดจากนางเทพอัปสรก็จะมีเหล่าเทวดายืนเรียงรายกันเต็มไปหมดเลย มีบันไดทองคำใส บันไดแก้ว เพชร บันไดเงิน ทอดลงมาจากดาวดึงส์จนถึงพื้นโลกมนุษย์

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ อยู่ตรงกลางบันไดแก้วเพชรที่มี หลากสี ทั้งม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ตามหลังมาด้วย ปัญจสิกขเทวบุตร และมาตุลีเทพ สารถี

เทโวโรหนะ “ วันพุทธเจ้าเปิดโลก”

      ส่วนบันไดทองคำใส เป็นของเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีท้าวสุยามาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นยามา ถือพัดวีชนี ท้าวสักกเทวราชหรือ พระอินทร์ถือปาริฉัตกะ ถัดมาเป็นท้าวสันตดุสิต ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวนิมมานรมิต ผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนิมมานรดี ถัดมาก็ท้าวปรนิมมิต ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี และตามด้วยเหล่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย

      บันไดเงินเป็นของพรหมผู้มีศักดิ์ใหญ่ ทั้ง ๑๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่งชุดขาว มีอานุภาพมาก ผู้มีศักดิ์ ใหญ่มากที่สุดก็อยู่ข้างหน้า เนรมิตฉัตรสีขาว ๙ ชั้น ลอยอยู่เบื้องบน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งฉัพพรรณรังสี สว่างไสว เนรมิตพระวรกายให้ใหญ่ กว่าเทวดาและพรหม ในระดับที่มนุษย์เห็นพอดี ใกล้หรือไกลก็เห็นเท่ากันด้วยพุทธานุภาพ
 

 “ บั้งไฟพญานาคา บูชาองค์พระสัมมา”

“ บั้งไฟพญานาคา บูชาองค์พระสัมมา”

      เหตุการณ์วันพุทธเจ้าเปิดโลก ได้มาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบัน คือ ปรากฏการณ์ “ บั้งไฟพญานาค” ซึ่งมีแห่งเดียวในโลก ณ แผ่นดินแม่น้ำโขง บริเวณ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หรือ ปากน้ำงึมของฝั่งลาว ตรงกับวันออกพรรษาของไทย หรือวันมหาปวารณาของลาว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม

      ตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี และมีข้อมูลปัจจุบัน คือ พญานาคใต้ลำน้ำโขงจะขึ้นมาพ่นบั้งไฟเป็นดวงประทีปถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งที่พระศาสดาทรงเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ และทรงใช้พุทธานุภาพ “ เปิดโลก” เพื่อให้มนุษย์ เทวดา พรหม และสัตว์ในอบายภูมิได้เห็นกันหมด

“ บั้งไฟพญานาคา บูชาองค์พระสัมมา”

      พญานาคที่ลุ่มน้ำโขงก็เป็นท่านหนึ่งที่เห็นพุทธานุภาพนั้น บังเกิดความเลื่อมใส และยิ่งตอกย้ำถึงความปรารถนาดั้งเดิมที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จึงอธิษฐานซ้ำไปอีก และเมื่อถึงวันเข้าพรรษาทุกปี พญานาคก็จะออกมาจาก นาคพิภพมาจำศีลภาวนาใต้ลำน้ำโขง ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนตลอดเวลา ๓ เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษา แล้วก็ระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ด้วยใจที่ปลื้มปีติ แล้วพ่นไฟที่กลั่นจากใจใสๆ ลอยขึ้นไปในอากาศ พร้อมทั้งอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์ Œ นี้ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ดวงไฟออกมาอย่างนุ่มนวลเป็นฟองอยู่ใต้น้ำก็กลม ๆ เนื่องจากเป็นของกึ่งหยาบกึ่งละเอียด ทำให้เวลาลอยพ้นน้ำขึ้นมา ผิวน้ำจะไม่กระเพื่อม คือ เหมือนผ่านอากาศ แล้วลอยขึ้นไปสว่างวาบบนท้องฟ้า

      ตอนแรกท่านก็มาตามลำพังตนเดียว ต่อมาบริวารเกิดศรัทธา ตามขึ้นมาจำศีลด้วย บั้งไฟที่ส่องสว่างขึ้นบนท้องฟ้า ช่วงสั้นบ้าง ยาวบ้าง ดวงโตบ้าง ดวงเล็กบ้ ‰ าง แล้วแต่อานุภาพของแต่ละท่าน ใครกำลังบารมีอ่อนก็พ่นได้ไม่กี่ดวง แล้วก็สูงไม่มาก แต่ของพญานาคจะสูงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ บั้งไฟพญานาคจึงเกิดขึ้นในวันออกพรรษาทุกปี และเริ่มมีมากขึ้นตาม ห้วยหนองคลองบึงต่าง ๆ

      พุทธศาสนามีเรื่องราวให้ศึกษามากมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังเช่น เหตุการณ์ “ พระพุทธเจ้าเปิดโลก” “ บั้งไฟพญานาค” หรือ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างวันมหาปวารณาและวันออกพรรษาดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องทั้งในส่วนของเรื่องราว เวลา และสถานที่ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังที่ตามมา ศึกษาได้อย่างถูกต้องและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกกันต่อไป

 

วุฑฒิวงศ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0066423654556274 Mins