ทีฆชาณุสูตร-หลักเศรษฐศาสตร์ของพระพุทธเจ้า

วันที่ 01 มค. พ.ศ.2557

 

.....เมื่อมนุษย์ตระหนักว่า พวกตนต่างต้องดิ้นหา เก็บ ใช้ และหากไม่ระมัดระวังมักไม่ได้นำความสุขมากให้เสมอไป ก็ทำให้มีผู้นำคำถามไปทูลถามพระพุทธเจ้า ผู้นั้นก็คือ นายทีฆชาณุ

 

.....ทีฆชาณุเป็นชายชาวเมืองโกฬิยะ มีชีวิตร่วมในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ ถึงแม้ทีฆชาณุไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เขารู้สถานภาพของตัวเองว่าเป็นคฤหัสถ์ ยังแสวงหาความสุขอย่างชาวโลก ยังต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย เลี้ยงลูกน้อง เลี้ยงเพื่อนอยู่ ยังไม่สามารถออกบวชได้อย่างพระองค์ แต่เขาสงสัยอยู่ ๒ ข้อ ว่าทำอย่างไร ถึงจะพอมีความสุขในชีวิตนี้ได้ และเมื่อตายไปแล้วก็ยังมีสุขในชีวิตหน้าได้อีกด้วย

 

.....ทีฆชาณุจึงกราบทูลถามว่า ข้อสงสัยนี้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะพึ่งเป็นไปเพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุข ทั้งในภพนี้และในภพหน้าแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด

 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตอบ และคำตอบที่ทรงตอบง่ายๆ นี่แหละได้กลายมาเป็นหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
 

 

.....หลักเศรษฐศาสตร์เพื่อความสุขในภพนี้

 

.....สำหรับความสุขในภพนี้ พระพุทธองค์ได้ให้หลักธรรม ๔ ประการ อันเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่กุลบุตร
หลักธรรม ๔ ประการอันได้กลายเป็นเสมือนหนึ่งหลักเศรษฐศาสตร์ของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ

.....๑. อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร พูดง่ายๆ คือ "หา" เป็น

.....๒. อารักขสัมปทา คือ "เก็บ" เป็น

.....๓. กัลยาณมิตตตา คือ "สร้างคน" เป็น

.....๔. สมชีวิตา คือมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมซึ่งก็คือ "ใช้" เป็น

.....ใครก็ตามที่รักษาธรรม ๔ ข้อนี้ได้ รับรองเป็นสุขแน่ๆ เจริญแน่ๆ เพราะนี่คือหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ซึ่งเปลี่ยนจากที่ว่ามีเพียง ๓ ประการ คือการหา การเก็บ การใช้ มาเป็นเป็นการหา การเก็บ การสร้างเครือข่ายของคนดี แล้วจึงถึงการใช้

 

.....๑. อุฏฐานสัมปทา

.....หมายถึงการเป็นผู้ขยันในการหา ไม่เกียจคร้าน ในการงานที่จะต้องทำ แล้วช่วยกันทำเป็นทีม ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณางานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ให้สามารถทำได้ สามารถจัดได้ แล้วก็บริหารงานเป็น เหล่านี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

 

....๒. อารักขสัมปทา

 

.....อารักขสัมปทาเป็นเรื่องของการเก็บ กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัยพ์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม ซึ่งก็หมายถึงว่าตอนหานั้นต้องหาด้วยความเป็นธรรม ต้องให้ได้มาด้วยความเป็นธรรมด้วย จากนั้นกุลบุตรพึงรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยการคิดว่า จะอารักษ์โภคทรัพย์เหล่านี้ของเราอย่างไร ไม่ให้ถูกราชภัย ไม่ถูกโจรภัย ไม่ถูกภัยธรรมชาติ และไม่ให้ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักมาลักไป

.....ก็คือการรักษาทรัพย์เอาไว้ให้ได้นั่นเอง

 

.....๓. กัลยาณมิตตตา

 

.....กัลยาณมิตตตา หมายถึง กุลบุตรผู้วางตัวเหมาะสม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยจาคะ ด้วยปัญญา นอกจากนั้นยังคอยศึกษาสัมปทา ศึกษาศีล ศึกษาจาคะ ศึกษาปัญญาจากท่านผู้ถึงพร้อมตามสมควร

 

.....สิ่งเหล่านี้เป็นไปก็เพื่อการทำงานเป็นทีม คือ ในระหว่างที่ทำมาหากินอยู่นั้น ไม่ได้แสวงหาคนเดียว แต่ให้หากันเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมอย่างชนิดมีลูกน้องมีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือจะเป็นเครือข่ายบริษัทห้างร้านข้ามชาติก็ตามที ต่างถือว่าเป็นทีมด้วยกันทั้งสิ้น

 

.....การหากินเป็นทีมนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องทำงานร่วมคนที่มีศีลมีธรรม แล้วก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถึงพร้อมด้วยจาคะ เป็นผู้เสียสละ ไม่เลือกคบหรือสร้างเครือข่ายเดียวกับคนที่ตระหนี่ เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ แต่เลือกคบผู้ที่มีนิสัยเห็นแก่ส่วนรวม

 

.....พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า โลกียทรัพย์นั้นใช้พักเดียวก็หมด แต่อริยทรัพย์ใช้เท่าไรก็ไม่หมด แล้วอริยทรัพย์จะได้มาจากไหน ก็ต้องได้มาจากกัลยาณมิตรนั่นเอง ได้มาแล้วก็ใช้ไม่หมดหรอก ชีวิตนี้ขอให้ได้มีอริยทรัพย์เช่นที่ว่านี้ก็นับว่าวิเศษ

 

.....เพราะฉะนั้นในเชิงเศรษฐศาสตร์ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งไว้นักหนาทีเดียวว่า ไม่ใช่เพียงการหา การเก็บ การใช้เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการสร้างมิตรดี สร้างเครือข่ายดีด้วย มีสิ่งเหล่านี้แล้ว จึงค่อยมาว่ากันถึงการใช้ และในการใช้ก็ให้ใช้ร่วมกับคนดีเข้าไป ถ้าเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจมีแต่จะเฟื่องฟู

 

.....๔. สมชีวิตา

 

.....สมชีวิตา คือ กุลบุตรผู้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว เลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยการคำนวนการใช้จ่ายให้พอดี

 

.....ถ้าผู้ใดมีรายรับน้อย แต่เลี้ยงชีพอย่างฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาว่า ผู้นั้นใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ซึ่งโบราณก็เล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า คนที่ไม่รู้จักกินผลมะเดื่อนั้น จะเขย่ามะเดื่อทั้งต้นให้ผลสุกๆ ร่วงลงมาจำนวนมาก แต่แล้วก็กลับหยิบมากินเป็นบางผลเท่านั้น แต่ถ้าผู้ใดมีรายรับมากแต่กลับเลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาได้ว่า กุลบุตรผู้นั้นตายอย่างไม่สมฐานะ

 

.....การรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป แต่ก็ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไปด้วย จึงเรียกว่า สมชีวิตา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011084834734599 Mins